ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลักการเขียนนิยาย(ฉบับปรับปรุง)

    ลำดับตอนที่ #4 : การพรรณนา และสำนวน

    • อัปเดตล่าสุด 20 มี.ค. 56


     




    พรรณนา และสำนวน

     

     

     

     

     

     

    นักเขียนนิยายส่วนมากมักมีการใช้ภาษาในรูปแบบของตนเอง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหลักให้ยึดจับ เพราะร้อยทั้งร้อย สำนวนในการเขียนบรรยายนั้นก็มีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน นั่นก็คือทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านเข้าใจได้
     

    ไม่มีนักเขียนคนไหนที่เขียนเอาไว้อ่านคนเดียว(ยกเว้นไดอารี่) ผู้ที่เป็นนักเขียนที่ดีควรเข้าใจถึงวิธีการบรรยายให้คนอ่านไม่สับสนวกวนไปมาเสียก่อน โดยพี่อัญจะขอชำแหละให้ฟังกันอีกครั้ง ว่าขั้นตอนแบบคร่าวๆ นั้นมีอย่างไรบ้าง

     

     

    เขียนอย่างไรให้เกิดรูปประโยค

     

     

    แน่นอนค่ะ! แค่เขียนให้เป็นรูปประโยค พี่อัญว่าเก้าในสิบคนทำได้ เช่น

     

     

    สุวรรณีเลี้ยงหมาอยู่ตัวหนึ่ง มันมีสีน้ำตาลปนขาว ขนของเรียบมันเป็นมันวับ มันชอบกินปลา และสุวรรณีก็รักมัน

     

     

    จากตัวอย่างจะเห็นว่า..รูปประโยคเกิดขึ้นแล้ว แต่แบบนี้เด็กประถมก็ทำได้!!

     

    แล้วความน่าสนใจในการบรรยายล่ะ คืออะไร?

     

    จริงๆแล้วพี่อัญจะบอกสำทับให้อ่านกันเข้าใจนะคะ การรพรรณนาเล่นสำนวนนั้น มันขึ้นอยู่กับการใช้คำให้เหมาะสม ยิ่งมีคำให้เลือกใช้มาก นักเขียนก็มีทางออกในการจัดเรียงประโยคมากขึ้นเป็นเท่าตัว

     

    ขอยกตัวอย่างนะคะ นี่คือรูปแบบประโยคที่ใช้การเล่นคำน้อย

     

    สุวรรณีเลี้ยงหมาที่น่ารัก มันเป็นหมาที่มีขนสีขาว ขนที่สีขาวของมันสวยงามมาก และทุกๆ ที่ ที่มันไป มันจะทำการปัสสาวะไว้ตรงที่นั้น เพื่อที่จะบ่งบอกความเป็นเจ้าของอาณาเขต

     

    สังเกตได้เลยว่า คำว่า ที่ ถูกยกนำมาเขียนบ่อยเกินไป และอะไรที่มันมากไป มันก็ต้องเลี่ยน เพราะนักเขียนรู้จักคำต่างๆ น้อย เลยไม่รู้ว่าจะใช้คำไหนแทนได้ จนเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น

     

    คราวนี้พี่อัญจะขอแก้ตัวอย่างใหม่ จากโครงเรื่องเดิม ด้วยประสบการณ์นักเขียนของพี่อัญมาเติมเต็มเสียใหม่ แล้วมาดูกันซิว่า รูปแบบประโยคจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร

     

     

    สุวรรณีมีสุนัขสีขาวขนปุกปุย ลำตัวของมันนุ่มลื่นดุจผืนกำมะหยี่แวววาว เด็กหญิงมักพามันออกไปเดินเล่นบ่อยๆ หลังเลิกเรียน ซึ่งทุกครั้งหากเจ้าตูบออกเดินทางไปพบสถานที่แปลกตา มันจะกระทำการประกาศอาณาเขตของตัวเองด้วยการปัสสาวะตรงจุดนั้นไว้

     

     

    จากตัวอย่างที่พี่อัญแก้ไขแล้ว น้องๆ จะสังเกตได้เลยว่ามันไหลลื่นน่าอ่าน และสิ่งจำเป็นที่สุดนั้นไม่ใด้มีเพียงการบรรยายอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการเล่นคำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกจำเจด้วย
     

    นิยายดีๆ จะมีรูปแบบประโยคที่สวยงาม อ่านได้ใจความง่าย(ไม่ใช่ว่าพรรณนาโวหารยืดเยื้อจนเกินไป เพราะมันจะทำให้น่าเบื่อลงทันที ตัวอย่างเช่นหมาสีขาวตัวเดียวเขียนไปสักห้าหกบรรทัด แต่ก็ยังบรรยายถึงตัวหมาอยู่นั่นแหละ เรื่องก็ไม่ไปไหนสักที แบบนี้จะชวนให้คนอ่านติดตามได้อย่างไรกัน)

     

    การบรรยายมากเกินไปใช่ว่าจะทำให้ทุกอย่างดูดีได้ นักเขียนมือใหม่ควรเข้าใจว่า
     

    1.พยายามใช้คำให้ไม่ซ้ำกันในประโยคบ่อยๆ

    2.จะพรรณนาทั้งที ไม่ต้องชักแม่น้ำทั้งห้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องมาบรรยายให้ดูอืดอาด(ไม่มีใครชอบความอืดอาดหรอก)

    3.เว้นวรรคให้เป็น(จากบทที่แล้วเคยแนะนำไว้)

    4.โครงเรื่องน่าสนใจ(เดี๋ยวจะมีแนะนำในบทต่อไป)

     

    มีเพียงแค่สี่ข้อหลักๆ เท่านั้น ที่พี่อัญอยากให้จำขึ้นใจ เพราะมันมีประโยชน์สูงสุด และเป็นกลเม็ดเคล็ดลับที่หลายๆ คนมองข้าม

     

    เช่นการใช้สรรพนามเรียกตัวละคร ดูตามตัวอย่างด้านล่างได้เลย

     

    โฮโม่วิ่งเล่นกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันอีกครั้ง หลังจากที่โฮโม่หายจากอาการบาดเจ็บเมื่อไม่นานมานี้ และโฮโม่ก็แทบไม่รู้สึกเลยว่าขาของตัวเองเคยโดนรถทับมาก่อน

     

     

     

    จะเห็นได้เลยว่าคำซ้ำมันดูน่าเบื่อแค่ไหน พี่อัญถึงพยายามบอกว่า ให้น้องๆ พยายามหาคำต่างๆ มาไว้ใช้สื่อแทนบ้าง เพื่อรูปประโยคที่น่าอ่านมากขึ้น

     

    ตัวอย่างที่แก้แล้ว

     

    โฮโม่วิ่งเล่นกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันอีกครั้ง หลังจากที่เด็กชายหายจากอาการบาดเจ็บเมื่อไม่นานมานี้ และเขาก็แทบไม่รู้สึกเลยว่าขาของตัวเองเคยโดนรถทับมาก่อน

     

    จากประโยคจะเห็นได้ว่าพี่อัญใช้คำแทนโฮโม่ได้ตั้งหลายแบบ ซึ่งสรรพนามแต่ละแบบก็ถอดมาจากลักษณะของโฮโม่ทั้งนั้น เช่นเด็กชาย(เพราะโฮโม่ในเรื่องยังเป็นเด็ก เพศชาย หรือ เขา ก็เป็นสรรพนามอีกชนิดที่ใช้เรียกในรูปประโยคจากคำนามจำเพาะ)

     

    การใช้คำสรรพนามไม่ซ้ำโดยดึงมาจากลักษณะของตัวละคร ก็ลดความน่าเบื่อของนิยายไปได้ห้าสิบเปอร์เซ็นแล้ว

     

    เดี๋ยวน้องๆ จะไม่เห็นภาพ พี่อัญเลยขอยกการทำงานในส่วนนี้มาให้อ่านกันเลย

     

    ตัวอย่างในการระบุสรรพนามเพื่อเรียกแทนตัวละคร

     

    ตัวละครของพี่อัญตัวนี้ชื่อ มินมิน

    เพศหญิง

    รูปร่างอ้วน

    สูงแค่ 112 เซนติเมตร

    มีนิสัยกินจุมาก(ถ้ากินบ้านได้คงกินไปด้วย)

    ผมสีเขียว เหมือนแมลงวันหัวเขียว

     

    เอาแค่นี้ก่อน! ทีนี้พี่อัญจะสร้างรูปประโยคให้น่าอ่านขึ้น โดยใช้สรรพนามเรียกแทนตัวละครให้ไม่ซ้ำแบบกัน ดูซิว่าจะเป็นยังไง จะเขียนสนุกขึ้นบ้างไหม?

     

    มินมินกินไส้กรอกขนาดยักษ์ รูปร่างของไส้กรอกชนิดนี้มีความยาวเท่ากับส่วนสูงของเธอ ซึ่งเวลากินเด็กหญิงต้องยืนอยู่บนเก้าอี้ตัวสูง เพื่อให้ไส้กรอกส่วนท้ายไม่ถูไถไปกับพื้นจนสกปรก
     

    คางอวบอูมของมินมินดูอวบอัด มันเป็นคางที่เต็มไปด้วยไขมัน และมันจะกระเพื่อมทุกครั้งที่เด็กอ้วนอย่างเธอเคี้ยวไส้กรอกแบบถี่ๆ  ซึ่งทุกคนในห้องเรียนรู้อยู่แล้วว่าควรตั้งฉายาให้เธออย่างไร?
     

    เด็กหญิงตุ้ยนุ้ยที่ทุกคนขนานนามว่า ยัยอ้วนเธอได้รับฉายานี้ตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล ซึ่งเธอก็ไม่เคยใส่ใจเลยว่าใครจะเรียกเธอแบบไหน เพราะคนอย่างมินมินเองก็ชอบที่จะให้ทุกคนเรียกฉายาของตัวเองแบบนั้นอยู่แล้ว

     

    เห็นไหมคะน้องๆ หากเรากำหนดลักษณะตัวละครอย่างแน่ชัดแล้ว การเขียนสรรพนามแทนตัวก็ยิ่งง่ายเข้าไปอีกขั้น ดังนั้นนิยายส่วนมากจึงจำเป็นต้องสร้างตัวละครขึ้นมาก่อน(ไม่ใช่อยู่ๆ นึกได้ก็เขียนเลย) พี่อัญเลยขอให้น้องๆ ลองวาดรูปขึ้นมา เพื่อใช้ในเวลาเขียนถึงตัวละครนั้นๆ และน้องๆ จะได้หยิบลักษณะในรูปวาดมาบรรยายลงรายละเอียดจนน่าอ่านขึ้นได้แบบไม่ต้องสงสัย(เพราะมันเห็นภาพ และตายตัว ไม่ใช่ว่าบทนี้อ้วน บทหน้าผอม ซึ่งมันดูขัดกัน)

     

    มาถึงตรงนี้พี่อัญบอกได้เลยว่า หากเล่นคำไม่ซ้ำแล้วล่ะก็ งานเขียนของน้องๆ ก็ต้องน่าอ่านขึ้นมาอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

     

     

    ในหนึ่งย่อหน้าหากน้องๆ เลี่ยงการใช้คำซ้ำเพื่อต่อประโยคได้ น้องๆ จะพบความไหลลื่นได้เอง โดยไม่ต้องไปยึดติดกับคำพรรณนาเพื่อชักแม่น้ำทั้งห้ามาเขียน เพียงเพราะต้องการให้นิยายน่าอ่าน

     

     

    ภาษาสวย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบเปรียบเปรยทางการพรรณนา แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้คำมาเขียน ยิ่งคำที่ใช้สวยเท่าไหร่(คำที่ใช้สื่อแทนน่ะ เช่นพระจันทร์ ใช้แทนว่า ดวงจันทร์ ฤดูฝน ใช้แทน ฤดูวสันต์  ซึ่งคำเหล่านี้ มันขึ้นอยู่กับการเลือกคำที่มีความหมายเดียวกันมาใช้ทั้งนั้น ไม่ได้พิเศษเท่าไหร่เลย ใครที่รู้จักคำในพจนานุกรมมากๆ ล้วนทำได้หมดค่ะ พี่อัญขอบอก)

     

     

    ตัวอย่างสุดท้าย การเล่นคำ

     

     

     

    ดวงจันทร์สีเงินปรากฏขึ้นหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ขณะที่เหล่าเมฆลอยเป็นกลุ่มก้อนพัดผ่าน ฉับพลันนั้นหยดน้ำเล็กๆ ก็หยดแหมะลงบนพื้นดิน ก่อให้เกิดต้นไม้ขนาดยักษ์ แลดูน่ากลัวอยู่ใกล้ๆกับปราสาทแม่มดศิริลานี

     

     

     

    จากตัวอย่างที่เห็น มันก็เป็นการเขียนบรรยายที่ดูทื่อๆ แบบนิยายแปลค่ะ(นิยมใช้กับแนวเรื่องแฟนตาซีค่ะ) แต่พี่อัญจะขอแก้ใหม่อีกรอบ ด้วยการแทนที่คำ ซึ่งคำที่เอามาแทนที่นั้นก็มีความหมายเดียวกัน (ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตัวอย่างแรกนั้นไม่ดีนะคะ แต่มันเหมาะสมกับนิยายแนวแฟนตาซีมากกว่านิยายรัก และในส่วนที่พี่อัญจะแก้ไขตัวอย่างนั้น ดูเหมือนมันจะเหมาะกับนิยายที่ต้องการพรรณนาเน้นอารมณ์ หรือรักๆ ใคร่ๆ แนวเรื่องประเภทชีวิตมากกว่าค่ะ ซึ่งทั้งสองตัวอย่างก็เป็นรูปแบบที่ดีทั้งคู่(ไม่มีตัวอย่างไหนที่ห้ามใช้นะ คะ) ขี้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้กับนิยายแนวไหนก็เท่านั้น)

     

     

     

    พระจันทร์สีเงินยวงปรากฎขึ้นหลังดวงตะวันลับขอบฟ้า ขณะที่เหล่าเมฆาลอยเป็นกลุ่มก้อนพัดผ่าน หยดวารีเม็ดหนึ่งก็ร่วงไหลรินลงสู่พื้นธรณี ก่อให้เกิดพฤษาขนาดมหึมาปกคลุมไปทั่วบริเวณปราสาทศิริลานี

     

     

    จากตัวอย่างเป็นการเล่นคำที่แสนจะธรรมด๊าธรรมดา ที่น้องๆ หลายคนอาจเคยคิดว่าเป็นฝีมือการเขียนระดับพระกาฬ(เหมือนนักเขียนสมัยก่อนที่เน้นแต่ภาษาสวย ซึ่งอาจจะเลี่ยนๆ ไปบ้าง) แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยค่ะ เพราะมันเป็นเพียงการรู้จักการเลือกใช้คำ ในความหมายเดียวกันมาแทนที่กันเท่านั้น (ต้องขอย้ำอีกว่า จากการเล่นคำในตัวอย่างที่สองนี้ เป็นการเล่นคำเพื่อแสดงให้เห็นข้อเปรียบเทียบเฉยๆ ค่ะ เพราะน้องๆ จะได้เห็นข้อแตกต่างชัดเจนขึ้น หากนำไปเปรียบเทียบกับแบบแรก และพี่อัญคิดว่าการใช้คำที่ดูเกินพอดี น้องๆ คงสัมผัสได้ว่า มันเลี่ยนเช่นกัน)

          อยากให้น้องๆ จำไว้ว่า อะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่ดีทั้งนั้น ทางสายกลาง คือความพอดี จะดีที่สุด

     

     การจะทำอะไรต้องคำนึงถึงความพอดีด้วยนะคะ และไม่ว่าจะเขียนด้วยสำนวนไหน "นิยายแปล" หรือ "นิยายพรรณนา"  ก็ต้องดูว่ามันเหมาะสมกับโครงเรื่อง แนวเรื่องของเราหรือเปล่า ซึ่งมันคือความจำเป็นที่สุด ในการทำให้นิยายน่าอ่าน
            
           บทความนี้เป็นเพียงบทความแนะนำเท่านั้นค่ะ(เพราะอะไรดีหรือไม่ดี น้องๆ น่าจะทราบอยู่แล้วหลังจากการอ่านบทนี้ไป ซึ่งพี่อัญคิดว่าทั้งสองแบบดีหมด แต่ก็ไม่ใช่ดีที่สุด  พี่อัญเลยอยากให้น้องๆ ลองเปลี่ยนมาอยู่กึ่งกลางมั่ง โดยเน้นให้ผู้อ่าน อ่านเข้าใจง่ายๆ ก็พอ) และตัวอย่างเหล่านี้ก็เขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ ไว้ให้น้องๆ นักเขียนมือใหม่สังเกตได้ง่ายๆ ซึ่งพี่อัญต้องการเปรียบเทียบให้เข้าใจในจุดต่างๆ ของการเขียนแต่ละแบบเท่านั้นค่ะ

     

    หวังว่าจากบทความนี้ น้องๆ หลายคนจะได้ประโยชน์จากมันนะคะ ซึ่งพี่อัญขอสนับสนุนทุกคนให้เขียนผลงานดีๆ มีคุณภาพตลอดนานเท่านาน (ตลอดกาลคงนานไปเผื่อน้องๆ อยากพักมั่ง) ส่วนบทหน้าคงเป็นเรื่องของโครงเรื่องนะคะ เพราะผลัดมาหลายครั้งแล้ว
     

     

    -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    คอมเม้นต์หรือติดต่อพี่อัญยาได้ที่ด้านล่างเลยค่ะ สำหรับน้องๆ ที่ต้องการรู้ให้ลึกกว่านั้น ก็สามารถถามไถ่กันได้แบบเป็นกันเอง แล้วพบกันในบทหน้านะคะ สวัสดีค่ะ (บทความนี้มีลิขสิทธิ์ โปรดให้เครดิตชื่อดิฉันในการเผยแพร่ข้อความด้วย ไม่ได้ต้องการประโยชน์อย่างอื่นมากมายไปกว่านั้น) นามแฝงปากกาบทความ อัญยา

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×