คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : คำนำ(ทุกบทความในนี้มีสาระ แนะนำให้อ่านค่ะ)
คำนำ
การเขียนนิยายนั้นไม่มีแบบฝึกหัดที่ตายตัว ไม่มีนิยามที่ชัดแจ่มแจ้ง หรือมีขั้นตอนเหมือนเมื่อสมัยก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องพูดว่า ‘มันเป็นเรื่องของยุค และเทรนใหม่ๆ ตามสมัยนิยม’
หลายคนคงสงสัยว่าจะเริ่มเขียนได้อย่างไร ขั้นตอนมันมีแบบไหน หรือแค่เปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแล้วพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวตามที่คิดได้เลย?
แต่เนื้อหาในบทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า มันมีศาสตร์แสนง่ายที่ผู้เขียนนิยายไม่เป็นก็สามารถเริ่มได้ และสามารถพาฝันของตัวเองเข้าใกล้ความจริงอย่างที่เคยคิดเอาไว้
ต้องให้เข้าใจกันก่อนว่าผู้เขียนบทความนี้ไม่ได้เป็นปรมาจารย์จากที่ไหน ไม่ได้เป็นคุณครูสอนศาตร์แขนงนี้เฉพาะทาง แต่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการนี้มานานแล้วเท่านั้น
ผู้เขียนมีความตระหนักถึงวิธีส่งมอบข้อมูลให้ผู้อ่านซึมซับแบบเป็นกันเอง ด้วยภาษาบ้านๆ ที่เรียกกันว่า ‘ภาษาพูด’ และต้องการเผยแพร่บทความนี้ให้เป็นขั้นต้นๆ ของนักเขียนนิยายฝึกหัดทั้งหลาย ที่ไม่มีความรู้ว่าจะเริ่มอย่างไร และจบลงได้อย่างไร
เอาล่ะ! เกริ่นมาเสียนาน ทั้งๆ ที่จริงเพียงอยากฝากฝังไว้ให้ผู้เริ่มต้นได้คิดเป็นอุทาหรณ์เผื่อไว้
“การเขียนนิยายให้สนุก ต้องอย่ากำหนดเป้าหมายให้มัน” ซึ่งบางทีผู้เขียนก็เดาเรื่องไม่ได้เช่นกัน เพียงแต่ปลดปล่อยให้เป็นไปตามบุคลิกที่ตัวละครของตัวเองเป็นคนกำหนด แล้วตีกรอบหรือเส้นทางผจญภัยให้ตัวละครแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกคนจะได้ทราบว่ามันสนุกแค่ไหน จนกว่าภารกิจสุดท้ายที่เรากำหนดให้ตัวละครเผชิญจะจบลง
การกำหนดเป้าหมายว่าต้องมีคนอ่าน ต้องมีความสนุก ต้องมีครบทุกรสชาติ ส่วนมากเราจะพบว่านิยายเหล่านั้นมักเขียนไม่จบ เพราะคิดว่าเรื่องของตนมีข้อบกพร่อง และไม่กล้าที่จะเขียนต่อ เนื่องจากอยากทำให้มันดีกว่าเดิม
“คนเราไม่มีใครที่เพอร์เฟค หรือสมบูรณ์พร้อม นิยายก็เช่นกัน” ถ้ามัวแต่คิดว่านิยายของตนมีข้อเสีย ก็จะไม่ได้เริ่มเขียนต่อ หรือละทิ้งไว้ จนมันไม่เคยเขียนเสร็จเลยสักเรื่อง
“อย่าตั้งเป้าว่าต้องได้ตีพิมพ์ หรือมีคนเข้ามาอ่านมากๆ” อย่าลืมข้อแรกที่พวกคุณหวังไว้ ถ้าคุณตั้งเป้าหมายแบบนั้น การเขียนนิยายที่เพ้อฝัน หรือเขียนเพื่อความสนุก มันจะจบลงโดยทันที (เพราะเป้าหมายในการได้รับตีพิมพ์ ต้องหมายถึงการเขียนให้จบเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งควรมองว่ามันเป็นประเด็นสุดท้ายเสมอ)
อย่าเอานิยายคนอื่นมาเปรียบเทียบกับเรื่องของตนเอง เพราะต่างคนต่างก็มีเป้าหมายกันคนละแบบอยู่แล้ว
มันคงเหมือนการขีดเส้นด้วยมือเปล่า ที่เราเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า(Free hand) เราจะพบว่าการลากเส้นตรงบนกระดาษจะทำได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อลากเส้นนั้น ด้วยความเร็ว และน้ำหนักมือที่สม่ำเสมอ หากลากเส้นช้าไปก็จะพบว่าเส้นที่เราขีดนั้นเบี้ยวไม่ตรง แต่หากเราขีดเร็วมากเกินไป ก็จะพบว่าเส้นที่ขีดมีโอกาสที่จะพลาดเขเกได้เช่นกัน (สามารถทดสอบได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ถึงวิธีการขีดเส้นตรงได้ดีที่สุด ลองทำบนกระดาษดูสิ)
ถ้าเปรียบนิยายเหมือนการลากเส้นตรงแล้ว ผู้เขียนก็ควรจะกระทำมันโดยสม่ำเสมอ จนมันเสร็จสิ้น ไม่ช้าไป หรือไม่เร็วเกินไป เมื่อทำได้อย่างนั้น นิยายก็จะมีจุดจบลงอย่างดี(ซึ่งบางส่วนก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เขียนของแต่ละคนด้วย)
อยากให้ทุกคนคิดว่านิยายเรื่องแรกๆ คือการฝึกปรือฝีมือ เพราะไม่มีใครเริ่มครั้งแรกแล้วเขียนได้ดีเลย(ถ้ามีก็คงเป็นพรสวรรค์อันแท้จริง) ซึ่งนักเขียนระดับแนวหน้าของโลกหลายๆ คน ก็ไม่ได้ดีเด่ไปกว่านักเขียนฝึกหัดทั้งหลายในยามที่เขาเขียนเรื่องแรกๆ เลยเช่นกัน และต้นฉบับที่ดีควรมีการกลับมาแก้ไข ตรวจทาน ปรับแต่งอยู่ตลอดเวลา(ให้อ่านแล้วได้ใจความที่สุด)
หากวันใดวันหนึ่ง ท่านผู้อ่านสามารถเอาคำว่า “ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ” ฝังเข้าไปในหัวได้ เราก็จะพบว่า ทุกเรื่องเป็นไปได้เสมอ และนักเขียนที่ดี "ชอบการอ่านทุกคน"
สวัสดีค่ะ อัญยา
ความคิดเห็น