เลาะรั้วขอบวัง ตอนวังปารุสก์ - เลาะรั้วขอบวัง ตอนวังปารุสก์ นิยาย เลาะรั้วขอบวัง ตอนวังปารุสก์ : Dek-D.com - Writer

    เลาะรั้วขอบวัง ตอนวังปารุสก์

    โดย Jinrawee

    ผู้เข้าชมรวม

    15,101

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    8

    ผู้เข้าชมรวม


    15.1K

    ความคิดเห็น


    17

    คนติดตาม


    8
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  25 เม.ย. 54 / 17:56 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
     วังปารุสกวัน หรือย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      เจ้าวังปารุสก์
       
      เกร็ดความรู้ทั้งความรักและการเมืองของเจ้านายผู้ครองวังปารุสก์
       
       
      ย้อนอดีตไปถึงพ.ศ.๒๔๔๘

      ย้อนอดีตไปถึงพ.ศ.๒๔๔๘ ห้าปีก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๕ สถาปนิกชาวยุโรปสามคนออกแบบบ้านแบบอิตาเลียนวิลล่าหลังหนึ่งเสร็จ
                       

       

      สถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเป็นที่นิยมว่าสง่างามที่สุดสำหรับสยามในยุครับอิทธิพลตะวันตกเพื่อการอยู่รอดของประเทศ และยังดีตรงที่มีนายช่างอิตาเลียนเดินทางมาออกแบบและควบคุมการสร้างให้ถึงกรุงเทพฯอีกด้วย

      อิตาเลียนวิลล่าสองชั้นทาสีครีม สร้างขึ้นใกล้พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้ชื่อว่า "วังปารุสกวัน" มาจากชื่อสวนดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ ด้านหลังของวังเป็นสวนดอกไม้ จัดอย่างมีระเบียบ แวดล้อมด้วยไม้ใหญ่ร่มรื่นราวกับสวนในอังกฤษ บรรยากาศสวยงามน่าอยู่สำหรับครอบครัวเล็กๆประกอบด้วยพ่อแม่ลูก แต่มีมหาดเล็กเด็กชายข้าราชบริพารจำนวนมาก เพื่อสมพระเกียรติเจ้าของวังผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ประสูติแต่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ คือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

       

      ฐานะทางสังคมของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถถือว่าสำคัญในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นๆ ในรัชกาลที่ ๕ เพราะนอกจากทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้ว ยังเป็นพระราชอนุชาลำดับถัดมาจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธอีกด้วย

       

      สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งขอเอ่ยในที่นี้เพียงสั้นๆว่า "สมเด็จพระพันปี" ทรงมีพระราชโอรสธิดา ทั้งหมด ๙ พระองค์ ตามลำดับดังนี้

      ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๓๐ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระเทพนารีรัตน์

      ๒. พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

      ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตม์ธำรง

      ๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

      ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์

      ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ

      ๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

      ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

      ๙. พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

      สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตม์ธำรง สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์มาก แค่พระชนม์ได้ ๗ พรรษา ก็เท่ากับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นลำดับต่อมาในการสืบราชสันตติวงศ์ หากว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชไม่มีพระโอรส กล่าวกันว่าสมเด็จพระพันปีทรงทูลขอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า ขอให้ลำดับการสืบราชสมบัติตกอยู่กับสายพระราชินีนาถก่อนจะไปถึงสายพระมเหสีเทวีพระองค์อื่น มิได้ลำดับตามอายุของเจ้าฟ้าแม้ต่างพระราชชนนีอย่างแต่แรกเริ่ม เมื่อสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทราฯ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสธิราชพระองค์แรก

      เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๔ พระนิสัยเป็นอย่างไร พอจะมองเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระบรมราชชนก พระราชทานไปยังพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ผู้ดูแลพระราชโอรสทั้งปวงที่เสด็จไปศึกษาในยุโรป

      " ชายบริพัตร (หมายถึงเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระนางสุขุมาลมารศรี) แลชายเล็ก( เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก) นั้นเป็นคนคิดไม่นิ่ง ชายเล็กกล้ากว่าชายบริพัตร แต่มีพุ่งได้บ้าง ชายบริพัตรหย่อนข้างกล้าแต่ระวังมาก ความสังเกตทรงจำเข้าใจว่าเหมือนกัน แต่ถ้าในกระบวนเข้าสมาคมโต้เถียงเล่นฤาจริง เล็กคล่องกว่า แต่ชายบริพัตรละเอียดลออกว่า ทั้งในความคิดแลฝีมือทำการ ทางที่จะเสียของลูกชายเล็กมีอย่างเดียวแต่เรื่องจองหอง เพราะเป็นผู้ที่ไม่ใคร่จะได้เคยถูกปราบปราม แต่ก็เห็นว่าถ้ากลัวลานหนักไปก็ไม่ดีเหมือนกัน "

      พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ กราบบังคมทูลตอบว่า

      " ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปฟัง (โต้วาที) วันเสาร์หนึ่ง เห็นทูลกระหม่อมเล็กเก่งเต็มที่ ในการสปีชว่องไว เฉียบแหลม เกินคาดหมายที่จะทรงสปีชในภาษาอังกฤษดีดังนั้น ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความปีติยินดีขึ้นมา ไม่ต้องสงสัยว่าข้างหน้าต่อไปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้จะไม่ปราดเปรื่องเฉียบแหลมในราชการบ้านเมือง "

      แล้วก็เป็นจริงดังที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ ต่อมาเสด็จไปศึกษาต่อในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ จักรพรรดิรัสเซียได้ทรงขอไว้ ซึ่งทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวกดูแลทุกประการ

      การเรียนทหารในรัสเซียหนักไม่ใช่เล่น สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสได้รับสั่งใหัเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ ๙ ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด ๔ ปี เพราะฉะนั้นในการศึกษาชั้นต้นๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชาเพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น ๖ ทีเดียว คือ เริ่มจัดครูมาสอนในที่ประทับไปพลางก่อน ต่อมาจึงได้เริ่มทรงศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามกำหนด ๔ ปี (คือให้ได้ชั้น ๙) เมื่อครบตามกำหนดแล้ว จากผลการสอบ ได้ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของนักเรียนทั้งหลายในโรงเรียนนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ และทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของโรงเรียนอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘

      สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงพอพระทัยยิ่ง ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น พันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ กับพระราชทานสายสะพายเซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์อีกด้วย
       
       
      เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับสยาม
      เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เมื่อสำเร็จการศึกษา พร้อมเกียรติประวัติงดงาม เป็นที่ปลาบปลื้มพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพันปียิ่งนัก

      จนกระทั่งมีข่าวแพร่เข้ามาว่า ณ เมืองสิงคโปร์มีหญิงสาวตะวันตก เพิ่งมาพำนักอยู่ ใช้ชื่อว่า มาดาม เดอ พิษณุโลก พระเจ้าอยู่หัวทรงสอบถามพระราชโอรสว่า เจ้าฟ้าชายทรงมีหม่อมเป็นชาวตะวันตกหรือ ก็ได้รับคำทูล ว่าเป็นความจริง ทำให้ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพันปีกริ้วมาก

       

      แต่ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าซาร์ หรือพระเจ้าแผ่นดินสยาม หรือความเป็นตะวันตกและตะวันออกที่ขวางกั้นกันครึ่งโลก ก็ไม่ทำให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถหวั่นไหวได้ ทรงพาหม่อมคัทรินหรือชื่อเล่นๆว่าแคทยา หญิงสาวชาวรัสเซียที่รักกันตั้งแต่ทรงศึกษา เข้ามาในสยามอย่างไม่ปิดบังอีกว่าเป็นชายา จัดให้พักที่วังปารุสกวันร่วมกัน ในฐานะเจ้าของวังร่วมกันกับพระองค์

       

      แต่ปีทั้งปี แคทยาก็แทบจะไม่ได้ย่างเท้าออกจากวัง เว้นแต่ไปนั่งรถยนต์เล่นในตอนค่ำคืน เธอไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างสะใภ้หลวง ทั้งสองพระองค์มิได้ทรงยอมรับเธอ แต่ก็มิได้พระทัยร้ายถึงกับขับไล่ไสส่งหรือยื่นคำขาดให้พระราชโอรสทรงละทิ้งหม่อม

       

      ชีวิตในวังปารุสกวันผ่านไปด้วยความราบรื่น เจ้าฟ้าชายเห็นพระทัยหม่อมคัทริน ก็ทรงทำทุกอย่างที่จะให้เธออยู่อย่างเป็นสุขและสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ที่ช่วยเป็นกำลังใจสนับสนุนอีกแรงหนึ่งคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แคทยาเคารพและมองพระองค์ท่านด้วยความเชื่อมั่นในหลายๆด้าน

       
      เปลี่ยนแผ่นดินใหม่
      ในพ.ศ. ๒๔๕๓ เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงอยู่ในฐานะลำดับต่อไปในการสืบสันตติวงศ์ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็นโสด มิได้ทรงมีรัชทายาทโดยตรง

      ในรัชกาลนี้ ฐานะความสำคัญของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก็ยิ่งทวีมากขึ้น ทรงรับพระราชภารกิจทางการทหารมาเต็มมือตั้งแต่แรก เริ่มด้วยทรงเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก เสนาธิการทหารบก เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก และทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่๑มหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

      ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบกอันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบก็ได้ทรงปรับปรุงเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้นทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการบรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่

       

      นอกจากนั้นยังทรงเรียบเรียงตำราเรื่องพงษาวดารยุทธศิลปะ และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของ โรงเรียนเสนาธิการ สืบจนถึงปัจจุบัน
      เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯทรงจัดส่งทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลก ครั้งที่๑ ในทวีปยุโรป ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับการปรับปรุงขยับขยายเป็นกองทัพอากาศ ทรงริเริ่มก่อสร้าง ค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี

      นอกจากนี้พระองค์ยังได้เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสถานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งสภากาชาดสยามอีกด้วย เมื่อได้ตั้งเป็นกาชาดสยามขึ้นแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอุปนายกผู้อำนวยการ สภากาชาด ในด้านครอบครัวก็ทรงมีหม่อมเพียงคนเดียวเท่านั้น

      ความสุขของแคทยาดำเนินต่อไปเหมือนเทพนิยายอยู่หลายปี จนกระทั่งเหตุการณ์ภายนอกเข้ามากระทบเธออย่างหนัก เริ่มด้วยการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ ที่ทำให้เจ้านายและขุนนางในรัสเซียต้องหลบลี้หนีภัยการเมืองออกนอกประเทศ ความหวังของแคทยาที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเดิมก็จบสิ้นลง บ้านเกิดเมืองนอนกลายเป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับเธอไปเสียแล้ว

      สิ่งที่ตามมาคือสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ผู้นำทางการทหารของสยามก็คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงรับภารกิจด้านนี้ไว้เต็มมืออีกครั้ง ทำให้แคทยาหมดโอกาสจะเดินทางไปแม้แต่ประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรป

      ชีวิตสมรสดำเนินมาถึง ๑๒ ปี ใต้ความกดดันเพิ่มขึ้นทีละน้อยในปีหลังๆ สุขภาพของแคทยาก็เสื่อมโทรมลง เธอแท้งติดต่อกันถึง ๒ ครั้ง ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเดินทางไกล เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีขึ้น ด้วยการไปเยี่ยมพี่ชายที่อยู่ในปักกิ่ง เลยไปญี่ปุ่นและเดินทางต่อไปถึงแคนาดา

      ส่วนทางนี้ เมื่อไม่มีแคทยาอยู่ด้วย เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีเวลาว่างพอจะได้คุ้นเคยกับพระญาติสตรีจากวังอื่นๆมากขึ้น คือพระธิดาของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างชนนีกันนั่นเอง ในจำนวนหม่อมเจ้าหญิงจากราชสกุลรพีพัฒน์ หม่อมเจ้า(หญิง)ชวลิตโอภาส เพิ่งเข้าสู่วัยสาว พระชนม์ ๑๕ เป็นเด็กสาวสวยน่ารัก ร่าเริงเบิกบาน มีเสน่ห์ ขี้เล่น และทันสมัย กลายเป็นเสน่ห์ของหญิงไทยที่จับพระทัยเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถอย่างที่ไม่เคยเกิดกับผู้หญิงคนไหนเว้นแต่หม่อมคัทริน กว่าแคทยาจะเดินทางกลับมาสยาม ความรู้สึกของพระองค์ก็เปลี่ยนเกินกว่าจะถอยกลับมาที่จุดเดิมได้อีกแล้ว

       

      ความรู้สึกของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถและแคทยาสวนทางกัน ในเรื่องนี้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถทรงมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหนักหน่วงเรื่องหนึ่งที่แคทยาอาจจะช่วยพระองค์ ทำให้ลุล่วงไปได้ ด้วยการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อจะนำไปสู่ทางออกที่ลงตัว ส่วนแคทยามองว่าเป็นแผลร้ายที่ควรจะผ่าตัดให้เด็ดขาด เพื่อรักษาโรคมิให้ลุกลามไป

      เธออ้อนวอนให้พระสวามีเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นบาดแผลหนักสำหรับเธอเพียงใด แต่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับเห็นว่า ถ้าหากว่าจะยอมทำตามใจแคทยา ก็เท่ากับยอมให้เธอเอาแต่ใจและบงการพระองค์ได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยุติธรรมสำหรับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ในกรณีนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องทรงปกป้องท่านหญิงตามสมควรอยู่แล้ว

      รอยร้าวระหว่างเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถและแคทยาเป็นเรื่องที่พระญาติใกล้ชิดจับพระเนตรมองด้วยความห่วงใย รวมทั้งสมเด็จพระพันปี ทรงเวทนาสงสารเจ้าชายน้อยอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเรียกสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถและหม่อมไปไกล่เกลี่ย แต่ผลก็คงเดาได้...คือไม่สำเร็จ
       
       
      รอยรักร้าว
      รอยร้าวระหว่างเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถและแคทยาเป็นเรื่องที่พระญาติใกล้ชิดจับพระเนตรมองด้วยความห่วงใย รวมทั้งสมเด็จพระพันปี ทรงเวทนาสงสารเจ้าชายน้อยอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเรียกสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถและหม่อมไปไกล่เกลี่ย แต่ผลก็คงเดาได้...คือไม่สำเร็จ

      เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงมีลายพระหัตถ์ไปแสดงความเห็นใจแคทยา และรับสั่งว่าจะช่วยเหลือเธอเท่าที่ทำได้ แสดงว่าก็คงจะทรงเดาได้ว่าตอนจบจะออกมาในรูปใด

      ตั้งแต่แคทยากลับมาวังปารุสก์ หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสก็มิได้ย่างกรายเข้ามาเป็นแขกประจำเหมือนเดิม แต่ความสัมพันธ์ของเธอกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถแนบแน่นยิ่งกว่าเก่า เสด็จไปเยี่ยมเธอทุกวัน ไม่หวั่นไหวต่อใครหน้าไหน แคทยาตกอยู่ในห้วงความระทมขมขื่นเพียงไหน สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถมิได้ทรงรู้ (หรืออาจจะรู้แต่ไม่รับรู้) เธอแยกห้องบรรทมออกมาพักอยู่ในห้องนอนที่จัดไว้สำหรับแขก

      ในตอนเช้าเธอตื่นขึ้นมาสั่งงานมหาดเล็กและนางข้าหลวงในวังตามหน้าที่ ตกเที่ยงสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถเสวยพระกระยาหารที่วัง พอบ่ายก็เสด็จไป "ที่นั่น" (ตามที่แคทยาเรียก หมายถึงที่ประทับของ หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส )แล้วก็ทรงงานอยู่ ณ ที่ทำงาน ไม่กลับจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน ชีวิตก็วนเวียนซ้ำซากกันอย่างนี้ทุกวัน

      แคทยาตกอยู่ในความโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งกว่าครั้งใดๆ ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร เธอเผชิญปัญหาหนักหน่วงกลุ้มรุมอยู่รอบด้าน

      อย่างแรกคือถ้าเธอยินยอมให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถรับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสเป็นชายาอย่างเปิดเผยตามพระประสงค์ อย่างที่เมียหลวงคนไทยจะพึงทำถ้าเจอปัญหาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อรักษาสถานภาพตนเองเอาไว้ เธอก็รู้ว่าจุดอ่อนของเธอคือเป็นผู้หญิงต่างชาติ ที่ถูกรังเกียจโดยอคติทางเชื้อชาติจากคนรอบด้านอยู่แล้ว ส่วนหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสเป็นเจ้านายในราชตระกูล การยอมรับนับถือของบุคคลโดยรอบจะผิดกันมาก

      ถ้าท่านหญิงกลายเป็นพระชายาของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถอย่างถูกต้องเมื่อไร หม่อมแคทยาก็จะถูกต้อนให้ถอยเข้าสู่มุมอับเมื่อนั้น ฐานะของเธอจะลดลงจนไร้ความหมาย ถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสมีโอรส สายเลือดสยามแท้ขึ้นมา "หนู" ของเธอก็จะไร้ความสำคัญอีกเช่นกัน

      อย่างที่สองคือถ้าเธอทนภาวะบีบคั้นจิตใจต่อไปอีกไม่ได้ การหย่าก็เป็นทางเดียวที่จะรักษาศักดิ์ศรีเอาไว้ แต่เธอจะทำอย่างไรกับโอรสวัย ๑๑ ที่เป็นดังแก้วตาดวงใจของสมเด็จพระพันปี แม่ผัวผู้ทรงอำนาจราชศักดิ์จะไม่มีวันยอมให้เธอพาพระนัดดาองค์เดียวของท่านออกไปพ้นอ้อมพระกร ส่วนพระบิดาก็ต้องคิดอย่างเดียวกัน เพราะ"หนู" เป็นพระโอรสองค์เดียวในตอนนั้น นอกจากนี้เธอเองก็เป็นแค่หญิงรัสเซียที่บ้านเมืองล่ม ไร้ญาติขาดมิตรที่จะพึ่งพา ไร้เงินทองเกียรติยศที่จะมอบแก่โอรสให้สมพระเกียรติของเจ้าชาย ถ้าเธอพึ่งกฎหมาย ศาลที่ไหนจะตัดสินให้เธอชนะสมเด็จเจ้าฟ้าและสมเด็จพระชนนีของพระเจ้าแผ่นดิน

      ทางออกของเธอผู้สิ้นหวังคือเช้าวันหนึ่ง เจ้าชายน้อยตื่นบรรทมขึ้นมาพบความว่างเปล่าเหงาเงียบในวังปารุสก์

      หม่อมมารดาได้จากไปเมื่อไรก็ไม่รู้ ไร้เยื่อใย ไม่มีแม้แต่คำอำลา เธอหายไปกับสายลม ทิ้งไว้แต่ความว่างเปล่า

      ตลอดทั้งวันเจ้าชายได้แต่ดำเนินไปมาอยู่ในสวนดอกไม้ ว่างเปล่า เหมือนหัวใจขาดลอยไปจากตัว ไม่อาจจะเข้าพระทัยได้ว่าเหตุใดหม่อมแม่ซึ่งรักลูกสุดหัวใจทำเช่นนี้ได้ ไม่มีคำอธิบายจากข้าราชบริพาร พระบิดาก็ขังพระองค์เงียบอยู่ในห้องทำงานทั้งวัน ความเจ็บปวดกัดกร่อนกินพระทัยต่อมาอีกนาน ไม่มีใครเยียวยาได้

      เมื่อพบกันอีกครั้งหลายปีต่อมา เจ้าชายเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นหนุ่ม แคทยาอธิบายให้โอรสฟังว่าเธอจำต้องผละจากไป มิใช่ว่าไร้เยื่อใย แต่เป็นเพราะเธอไม่อาจทนใจแข็งเห็นหน้าลูกขณะกล่าวคำลา มันปวดร้าวเกินกว่าเธอจะทนทาน เธอจึงต้องหายไปโดยไม่มีคำลา อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีคำอธิบาย บาดแผลของเจ้าชายน้อยก็บาดลึกเป็นแผลเรื้อรังเกินกว่าจะทุเลาเสียแล้ว


      ความรู้สึกนั้นมีผลกระทบต่อมาตลอดพระชนม์ชีพ และยังมีผลบั่นทอนความสัมพันธ์ของแม่ลูกในระยะยาวด้วย
       
       
      วังปารุสกวันก็ได้เจ้าของคนใหม่
      เมื่อแคทยาจากไปแล้ว วังปารุสกวันก็ได้เจ้าของคนใหม่ เป็น "เจ้าวังปารุสก์" องค์ที่สาม คือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์

      ท่านหญิงอยู่ในราชตระกูล "ระพีพัฒน์" ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แต่ว่า ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจึงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า

      กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นใหญ่ พระชนม์มากกว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์ นอกจากนี้ก็ทรงมีเกียรติประวัติดีไม่น้อยหน้าใคร ทรงเรียนเก่ง ศึกษาจนจบวิชากฎหมายจากอังกฤษ ทรงกลับมาวางรากฐานกฎหมายไทยให้ทันสมัยจนได้ชื่อว่าเป็น"พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"

      กรมหลวงราชบุรีทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์ เป็นหม่อมเจ้าทั้งหมด มีพระนามคล้องจองและมีความหมายในทำนองเดียวกับพระนามของพระบิดา คือ เกี่ยวกับพระอาทิตย์

      ๑. พิมพ์รำไพ= แบบพระอาทิตย์

      ๒.ไขแสงรพี= พระอาทิตย์เริ่มฉายแสง

      ๓. สุรีย์ประภา = แสงอาทิตย์

      ๔. วิมวาทิตย์ = วิมว --> พิมพฺ+ อาทิตยฺ แบบพระอาทิตย์

      ๕. ชวลิตโอภาส = แสงอาทิตย์

      ๖. อากาศดำเกิง = ลูกไฟในอากาศ หมายถึงพระอาทิตย์

      ๗. เพลิงนภดล = ไฟในอากาศ หมายถึงพระอาทิตย์

      ผู้สนใจวรรณกรรมไทยย่อมเคยได้ยินพระนามหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์มากกว่าองค์อื่นๆ เพราะทรงเป็นนักประพันธ์แถวหน้าคนหนึ่งในวงวรรณกรรม เป็นผู้เริ่มต้นผลงานนิยายรูปแบบตะวันตก อย่าง ละครแห่งชีวิต ผิวขาวผิวเหลือง วิมานทลาย

      เมื่อแคทยาตกลงหย่าขาดและเดินทางออกจากสยามไป เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงตั้งพระทัยจะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ แต่ว่าทรงเจออุปสรรคขวางกั้นใหญ่อย่างที่นึกไม่ถึง คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดไม่ทรงยินยอมให้มีพิธีอภิเษกสมรส ทรงอ้างว่า ไม่สมควรเพราะหม่อมเจ้าชวลิตอยู่ในฐานะหลานสาวของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พูดง่ายๆอีกทีคือทรงไม่เห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสดังกล่าว

      เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถไม่ยอมแพ้ ทรงหันไปพึ่งสมเด็จพระพันปีซึ่งตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยกับพระราชโอรส แต่เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถอ้อนวอนหนักเข้าก็พระทัยอ่อน ยอมรับที่จะเจรจากับพระเจ้าอยู่หัวให้ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืนกรานเช่นเดิม สมเด็จพระพันปีกริ้วเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทรงโอนอ่อนลงได้ ผลคือไม่ใช่แต่แม่กับลูกชายเท่านั้นที่แตกร้าวกัน ความสัมพันธ์ของพี่ชายกับน้องชายก็ร้าวฉานกันลึกด้วย

      ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงรับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสเป็นพระชายาอย่างเปิดเผย เป็นที่รับรู้กันว่าทรงเข้ามาเป็นเจ้าของวังปารุสกวัน

      ข้าราชบริพารอยู่ในวังนั้นด้วยความปกติสุขกับเจ้านายผู้หญิงองค์ใหม่ ด้วยพระชนม์ ๑๕ เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนใดๆในวังให้ยุ่งยาก เคยใช้ธรรมเนียมกันมาอย่างไรก็อยู่กันต่อไปอย่างนั้น เธอเข้ากับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้เหมือนเป็นพี่น้องกันมากกว่าแม่กับลูก

      ความสนิทเสน่หาที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถมีต่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส พระชายาที่อ่อนกว่า ๒๐ ปี และแก่กว่าพระโอรสแค่ ๔ ปี มากมายแค่ไหน พอจะมีหลักฐานให้เห็นได้จากพินัยกรรม ทรงมอบทรัพย์สินมรดกทุกอย่างให้หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสเพียงผู้เดียว ทรงมอบพระโอรสให้อยู่ในความดูแลของท่านหญิง และจะมีสิทธิ์ในมรดกก็ในเมื่อท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัยแล้วเท่านั้น

      ไม่มีการเอ่ยถึงแคทยาในพินัยกรรม ไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินใดๆให้เธอ นอกจากเงินปีละ ๑,๒๐๐ ปอนด์ที่ทรงให้ไปเมื่อหย่าขาดจากกัน ไม่มีการมอบหมายให้พระโอรสอยู่ในความดูแลของหม่อมแม่ที่แท้จริง ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่แสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันหลงเหลืออยู่ระหว่างพระองค์กับแคทยา ความรักฉันชายหญิง ทรงมอบให้หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสเพียงองค์เดียว ด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอจะดูแลโอรสได้อย่างดี ส่วนแคทยา เมื่อเธอจากสยามไปก็เหมือนตายจากกันไปจากพระองค์

      แล้วต่อมาก็ตายจากกันจริงๆ ไม่มีโอกาสกลับมาพบหน้ากันอีกเลย
       
       
      สิ้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก
      จากนั้นแค่ปีกว่าๆต่อมาไม่ถึง ๒ ปี เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จสิงคโปร์พร้อมกับพระชายาและพระโอรส

      ทรงเกิดประชวรด้วยโรคไข้หวัดใหญ่กะทันหัน แล้วเสด็จทิวงคตกลางทางก่อนกลับมาถึงสยาม โดยไม่มีใครคาดคิด พระชนม์ได้แค่ ๓๘ ปี เท่านั้นเอง หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสทรงเป็นม่ายเมื่อพระชนม์ได้ ๑๘ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์กำพร้าพ่อเมื่อพระชนม์ได้ ๑๓ พรรษา

      เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถคงจะรักพระชายาของท่านอย่างลึกซึ้ง แต่หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสจะรู้สึกตอบมากเท่ากันหรือเปล่าไม่มีหลักฐานให้ค้นพบได้ รู้แต่ว่าหลังจากพระองค์ท่านทิวงคตได้เพียงปีเดียว ท่านหญิงก็เสด็จเข้าสู่ประตูวิวาห์กับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร พระโอรสในพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งกรมพระจันทบุรีนฤนาถเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รุ่นใหญ่ พระชนม์สูงกว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ถือกันว่าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๖

      กรมพระจันทบุรีนฤนาถ มิได้ทรงคัดค้านการเสกสมรส เพียงแต่ยื่นคำขาดว่า ให้ท่านหญิงคืนมรดกทั้งหมดของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถกลับไปให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสียก่อน เพื่อความยุติธรรมแก่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และไม่ให้เกิดเสียงครหานินทา เสียหายถึงหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ที่จะได้ครอบครองมรดกของพระสวามีเก่า ท่านหญิงก็ทรงคืนมรดกทั้งหมดให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไป

      ท่านหญิงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ ทรงครองคู่อยู่กันมาได้ด้วยดี มีโอรสธิดาหลายคน จนกระทั่งพระชนมายุมากขึ้น ทรงป่วยด้วยวัณโรค พระสวามีพาไปรักษาองค์ที่ปารีส แล้วก็เลยสิ้นพระชนม์ที่นั่น ในตอนนั้นแคทยาอาศัยอยู่ในปารีส เธออยากจะมาเยี่ยม แต่ก็ถูกทัดทานจากเอกอัครราชทูตไทยว่าจะทำให้อาการป่วยของท่านหญิงทรุดลง จึงไม่มีโอกาสพบกันจนกระทั่งท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัย

      พระเมตตาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มีต่อพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์ นับว่ามาก มีหลายอย่างที่แสดงว่าทรงห่วงใยเอาใจใส่เป็นพิเศษกว่าหลานอื่นๆ เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต พระเจ้าอยู่หัวก็กลายมาเป็นผู้ปกครองพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์ อย่างเป็นทางการ (ไม่ใช่ท่านหญิงชวลิตผู้มีพระชนม์เพียง ๑๘)

      สิ่งที่ท่านทำคือสถาปนาหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์ นี่ก็เรื่องหนึ่ง

      เรื่องที่สองคือ ทรงยื่นมือเข้ามาขวางพินัยกรรมของพระราชอนุชา ไม่ให้มรดกทั้งหมดตกเป็นของท่านหญิงชวลิตโอภาส โดยพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์แทบไม่มีสิทธิ์

        

      ข้อความในพินัยกรรมของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก ส่วนหนึ่งมีอยู่ว่า

      "...บรรดาทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้หรือมิได้ก็ดี ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้...ข้าพเจ้ามีความประสงค์ยกให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสทั้งสิ้นจนตลอดชีวิตของเธอ แลในระหว่างที่เธอยังมีชีวิตอยู่ ต้องเลี้ยงดูหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์บุตรของข้าพเจ้าให้มีความสำราญสุขเท่ากับเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่

      เมื่อหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์จะมีครอบครัวภายหน้า ก็เป็นหน้าที่ของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเลี้ยงดูให้พอสมควรกับฐานะเหมือนกัน เมื่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสสิ้นชีพิตักษัยและหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ยังอยู่ ทรัพย์สมบัติที่ว่ามาแล้วก็ให้ตกเป็นของหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ต่อไป "
       
       
      ผลของพินัยกรรม
      เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถอาจจะไม่ได้ทรงนึกเผื่อเอาไว้ ถึงตัวแปรหลายอย่าง เช่นถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสไม่สามารถจะอุปการะพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้อย่างดี พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะทำอย่างไร หรือว่าถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสทรงมีพระสวามีใหม่ ทรัพย์สินนั้นก็ย่อมตกในมือเจ้าของรายใหม่ แล้วพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ข้อนี้เชื่อว่าทรงนึกไม่ถึงเอาเลย เพราะคงไม่มีลางใดๆให้สังหรณ์ว่าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเป็นม่ายตั้งแต่ยังสาว พระชันษายังไม่ถึง ๒๐ ด้วยซ้ำ

      ผลจากกระทบจากพินัยกรรมที่เห็นได้อีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อยู่ในฐานะผู้พึ่งพาหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส ก็ไม่สามารถจะเกื้อหนุนค้ำจุนใครได้ง่ายๆ ใครเหล่านั้นก็อาจจะรวมหม่อมแม่ที่แท้จริงไว้ด้วยคนหนึ่ง

      พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วยกับพินัยกรรม ความไม่เห็นด้วยสะท้อนมาจาก ทรงยับยั้งพินัยกรรมไม่ให้มีผลบังคับใช้ ดังนั้นแทนที่หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเข้าครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด ก็กลายเป็นว่าทั้งแคทยา ท่านหญิงและพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ต่างได้รับเงินปันผลจากผลประโยชน์ของกองมรดก แต่มรดกส่วนใหญ่ยังอยู่เฉยๆ ต่อมาคือทรงเรียกวังปารุสกวันกลับคืนมาเป็นของพระมหากษัตริย์ ส่วนหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสต้องย้ายไปพำนักที่วังที่ท่าเตียน ซึ่งเคยอยู่มาก่อนจะได้เป็นชายา

      หนึ่งปีต่อมา เมื่อหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเสกสมรสใหม่กับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบที่จะให้คืนมรดกกลับไปให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสียก่อน จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสกสมรสได้

      กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ และพระเจ้าอยู่หัว คงจะทรงตกลงและรู้พระทัยกันในเรื่องนี้

         
       
      หลังจากนั้น พระเจ้าอยู่หัว ผู้เปรียบเหมือนเทวดาพ่อทูนหัวของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ส่งพระองค์ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เพื่อจะไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ ไม่ทรงมีพระบรมราชนุญาตให้แคทยาไปอยู่อังกฤษเพื่อดูแลโอรส แต่ทรงยอมให้เธอมาเยี่ยมได้ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน

      แคทยาได้กลับมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก่อนจะกลับไปเมืองจีนตามเดิม
       
       
      ย้อนมาเล่าถึงชีวิตช่วงต่อไปของแคทยา
      ย้อนมาเล่าถึงชีวิตช่วงต่อไปของแคทยา คนไทยเพิ่งจะมารู้จากการเปิดเผยของหม่อมราชวงศ์ นริศรา จักรพงษ์ ธิดาของพระองค์จุลจักรพงษ์ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่า เส้นทางของแคทยายังมีอะไรต่อมิอะไรให้ติดตามอีกมาก ก่อนหน้านี้เหมือนเธอสาบสูญไปเฉยๆ หลังแยกทางเดินกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถแล้ว


      นับแต่เธอเดินทางออกจากสยาม แคทยาก็ไปหาพี่ชายที่ปักกิ่ง พักอยู่ด้วยไม่นาน ก็ย้ายไปพำนักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เธอกลับไปใช้นามสกุลเดิม ใช้ชื่อว่า มาดามเดสนิทสกี้ อาศัยค่าเลี้ยงดูเดือนละ ๑๐๐ ปอนด์อันน้อยนิดที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถประทานให้เป็นค่าเลี้ยงดูหลังหย่าร้าง เช่าบ้านเล็กๆได้หลังหนึ่ง แล้วใช้ชีวิตตามลำพังด้วยความเข้มแข็งเท่าที่ผู้หญิงสาวตัวคนเดียวจะทำได้

       

      แคทยาไม่ได้ปล่อยชีวิตตัวเองให้หมกมุ่นน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา เธอใช้เวลาให้หมดไปกับการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ด้วยเข้าไปช่วยงานของสมาคมการกุศลของชาวรัสเซียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ เพราะแคทยาเคยฝึกงานเป็นนางพยาบาลมาก่อน จึงช่วยงานได้มาก ทำให้วันๆผ่านไปรวดเร็ว แต่พอกลับมาบ้านในตอนกลางคืน ความเปล่าเปลี่ยวเศร้าหมองก็กลับมาอีกสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว

      พี่ชายแนะนำว่าหญิงสาวอย่างเธอไม่ควรอยู่คนเดียว จะอันตรายเกินไป ควรมีคนอยู่ด้วยเป็นเพื่อนในบ้าน จะมีรายได้เพิ่มด้วย เธอก็เลยแบ่งห้องชั้นบนในบ้านให้คนเช่า หนึ่งในคนเช่าห้องชั้นบนเป็นวิศวกรชาวอเมริกันชื่อแฮรี่ คลินตัน สโตน

      แฮรี่ สโตน เป็นผู้ชายที่ตรงกันข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถแทบทุกอย่างก็ว่าได้ เขาเป็นผู้ชายธรรมดา ไม่เก่งกาจปราดเปรื่อง บ้านเดิมอยู่ที่พอร์ทแลนด์ ออเรกอนซึ่งสมัยนั้นถือว่าบ้านนอกไกลปืนเที่ยง เมื่อพบปะกันตั้งแต่แรก เขาก็หลงรักแม่ม่ายสาวสวยชาวรัสเซียอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เมื่อรู้จักกันดีขึ้น เขาขอแต่งงานกับเธอ แต่ว่าแคทยาขอผัดผ่อนคำตอบไว้ก่อน

      ตอนได้ข่าวว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถเสด็จทิวงคต เธอเดินทางกลับมาร่วมงานพระศพในกรุงเทพมหานคร เมื่อกลับมาเธอพบว่าโอรสของเธออยู่ในความดูแลของ "ทูลกระหม่อมลุง" เธอได้รับเงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมจากมรดกของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถด้วยพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว แต่ว่ากรุงเทพมหานครไม่มีที่อยู่ให้เธออีกต่อไปแล้ว เธอกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับทุกคน

      แคทยาเดินทางกลับไปแต่งงานกับแฮรี่สโตน แล้วเดินทางไปอเมริกากับเขา ทิ้งอดีตทุกอย่างในสยามให้จบสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จทิวงคตของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก

      **************

      ชีวิตของแคทยาในวัยกลางคน ทำท่าว่าจะไปด้วยดี สมกับรอดพ้นจากมรสุมลูกใหญ่ที่ซัดเธอล่มลงไปครั้งหนึ่งแล้วในสยาม แต่ชีวิตมนุษย์ก็มักมีอะไรกระท่อนกระแท่นไม่ลงตัวอยู่เสมอ ทั้งที่อเมริกาเป็นดินแดนในฝันของบรรดาผู้คนหนุ่มสาวจำนวนมากในยุโรป ที่จะละทิ้งถิ่นเดิมไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า จนหลั่งไหลข้ามแอตแลนติกกันไปไม่ขาดสาย แคทยากลับพบว่า เธอแปลกแยกกับอเมริกา น่าจะยิ่งกว่าสยามเสียด้วยซ้ำ

      เแคทยาไม่ชอบอเมริกา ยิ่งกว่านั้นเธอเข้ากับพ่อผัวแม่ผัวอเมริกันไม่ได้ ความสุขของเธอมีอย่างเดียวคือได้เดินทางไปอังกฤษ พบโอรสซึ่งย่างเข้าวัยรุ่นหนุ่ม ในที่สุดเธอกับสโตนก็ตัดสินใจอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ปารีส เพื่อจะได้พบพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ซึ่งข้ามจากอังกฤษมาพักด้วยตอนปิดเทอม แคทยาเองก็อบอุ่นจากการได้รวมญาติชาวรัสเซียซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในฝรั่งเศสอีกครั้ง

      แฮรี่ สโตน หรือ " หิน" ตามที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเรียก เป็นสามีที่อาจจะเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ในหลายๆด้าน หนังสือประวัติของแคทยาไม่ได้ให้ภาพเขาเป็นพระเอกตัวจริง ถ้าเป็นภาพยนตร์ ดาราที่รับบทน่าจะเป็นระดับรองๆ มีอะไรน่าสงสารแฝงอยู่ ด้านหนึ่งคือเขายอมแคทยาทุกอย่าง แบบไทยๆอาจเรียกว่ากลัวเมียก็ว่าได้ เขาทิ้งบ้านเดิม ทิ้งอาชีพการงานตามภรรยาไปอยู่ปารีสตามความประสงค์ของเธอ แม้ว่าเขาไม่มีความสุขที่นั่นเลยก็ตาม

      นิสัยอีกอย่างที่ตรงข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ คือสโตนไม่โรแมนติก เขามัธยัสถ์จนน่าจะเรียกว่าขี้เหนียว แม้แต่กับเงินที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ประทานให้เพื่อให้หม่อมแม่สุขสบาย เขาก็พยายามจะใช้ให้น้อยที่สุด อย่างเช่นประทานเงินให้ซื้อรถใหม่ เขาก็ไปซื้อรถเก่าแทนแล้วเก็บเงินที่ประหยัดเอาไว้ รถมันเก่าขนาดออกวิ่งครั้งแรกบานประตูก็หลุดผลัวะออกมาเสียแล้ว

      พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

       
      ส่วนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โร่ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของลูกผู้ดีมีตระกูล อีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจาก อีตัน แต่ว่าไม่ได้ทรงเข้าเรียนทหารตามพระราชประสงค์ของทูลกระหม่อมลุง หากแต่เบนเข็มไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่เคมบริดจ์ ทรงเรียนจบได้เกียรตินิยมอย่างน่าชื่นชม

       

      ในอังกฤษ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พบหญิงสาวสวยลูกผู้ดีชื่อเอลิซาเบธ ฮันเตอร์ หรือเรียกชื่อเล่นว่า "ลิสบา" เธอเป็นเพื่อนสนิทของหม่อมซีริล ในพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หลังจากรักกันยาวนานหลายปี ในที่สุดพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็เสกสมรสกับหม่อมลิสบา ทรงรอถึง ๑๘ ปีกว่าจะได้ธิดาคนเดียว คือหม่อมราชวงศ์ นริศรา จักรพงษ์

       
       
      เราคงจะเห็นจากประวัติว่าแคทยาไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนหวานนิ่มนวล แต่เป็นหญิงใจเด็ด และมีพลังบุคลิกอันแข็งแกร่งในตัว เพราะฉะนั้นก็ไม่อาจหวังได้เมื่อวัยมากขึ้น เธอจะกลายเป็นคุณยายแก่ๆใจดี คิดแต่จะถักเสื้อไหมพรมเป็นของขวัญให้ลูกชายลูกสะใภ้


      พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์รักหม่อมแม่ของท่านมาก แต่ในความรัก ก็ไม่ค่อยจะมีความราบรื่นระหว่างกันนัก เธอเป็นแม่ประเภทที่ไม่อยากเห็นลูกชายไปให้ความสำคัญกับใครมากกว่าแม่ อยากให้ลูกอยู่ในโอวาท อะไรที่เธอเห็นว่าดีเธอก็อยากให้ลูกชายเห็นตาม เหมือนสามีคนที่สองที่คล้อยตามเธอ โดยเฉพาะ เธอจะมองหญิงอื่นที่ได้ความรักจากลูกชายว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ

      ส่วนหม่อมลิสบาก็เป็นผู้หญิงที่พรั่งพร้อมทั้งความสวยสง่า มาจากตระกูลดี ต้อนรับแขกเหรื่อได้เก่ง ไม่ใช่ผู้หญิงที่แม่ผัวจะข่มได้ เพราะยังงั้น ไม่แปลกที่แม่ผัวกับลูกสะใภ้ไม่กลมเกลียวกัน การที่แคทยาปฏิเสธไม่มาร่วมงานสมรสของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และหม่อมลิสบา แม้มีข้อแก้ตัว แต่ก็น่าจะบอกอะไรได้ไม่น้อย

      อย่างไรก็ตาม ชีวิตสมรสของเธอกับสโตนผู้ไม่มีปากเสียงก็ดำเนินไปได้ แต่จะสุขแค่ไหนก็ไม่ทราบได้ แคทยากลับไปอเมริกาในช่วงอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งเธอถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่ออายุ ๗๒ ปี

      รายชื่อหนังสืออ้างอิง

      ๑.Katya and The Prince of Siam by Eileen Hunter with Narisa Chakrabongse

      ๒.ชีวิตเหมือนฝัน เล่ม ๑ ของ คุณหญิงมณี สิริวรสาร

      ๓.เจ้าชายดาราทอง ของ หม่อมราชวงศ์มาลินี จักรพันธ์
       
      ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
      ขอบคุณที่มาบทความ: ผู้เขียนโดย เทาชมพู, website วิชาการ.คอม และ Wikipedia
       
       
       

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×