เลาะรั้วขอบวัง ตอนคดีพญาระกา - เลาะรั้วขอบวัง ตอนคดีพญาระกา นิยาย เลาะรั้วขอบวัง ตอนคดีพญาระกา : Dek-D.com - Writer

    เลาะรั้วขอบวัง ตอนคดีพญาระกา

    โดย Jinrawee

    กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงแต่งบทละครปักษีปกรณัม เรื่องพญาระกา ตอนพิศมาตุคาม ที่นางไก่ญี่ปุ่นเมียตัวหนึ่งของพญาระกาหนีออกจากฝูงไปอยู่กับพญานกเค้าแมว มีนัยว่าเนื้อหาละครเสียดสีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

    ผู้เข้าชมรวม

    1,417

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    10

    ผู้เข้าชมรวม


    1.41K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  19 เม.ย. 54 / 14:33 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    คดีพญาระกา

    เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2453 กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงแต่งบทละครปักษีปกรณัม เรื่องพญาระกา ตอนพิศมาตุคาม พญาระกามีเมียมาก เมียตัวหนึ่งเป็นไก่ญี่ปุ่น หนีออกจากฝูงไปอยู่กับพญาเหยี่ยว พญาเหยี่ยวเอาตัวนางไก่ญี่ปุ่นไปถวายพญานกเค้าแมว นกเค้าแมวได้เสียกับนางไก่ญี่ปุ่น แล้วยกทัพไปปราบพญาระกา ตอนที่พญานกเค้าแมวยกทัพไปถึงจวนรุ่งพอดี พญาระกาได้เวลาขัน...ตะวันก็ขึ้นพญานกเค้าก็ตาฟาง พ่ายแพ้เลิกทัพกลับ

    บทละครเรื่องนี้ มีผู้นำไปถวายกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีนัยว่า เนื้อหาละครเสียดสีพระองค์ท่าน ในชั้นต้นไม่ทรงว่ากล่าวแต่อย่างใด....ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามเป็นเหตุใหญ่โตในภายหลัง
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      คดีพญาระกา

      โดย กิเลน ประลองเชิง ไทยรัฐ

      เดือนพฤษภาคม ๒๔๕๓ กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงแต่งบทละครปักษีปกรณัม เรื่องพญาระกา ตอนพิศมาตุคาม พญาระกามีเมียมาก เมียตัวหนึ่งเป็นไก่ญี่ปุ่น หนีออกจากฝูงไปอยู่กับพญาเหยี่ยว พญาเหยี่ยวเอาตัวนางไก่ญี่ปุ่นไปถวายพญานกเค้าแมว นกเค้าแมวได้เสียกับนางไก่ญี่ปุ่น แล้วยกทัพไปปราบพญาระกา ตอนที่พญานกเค้าแมวยกทัพไปถึงจวนรุ่งพอดี พญาระกาได้เวลาขัน...ตะวันก็ขึ้นพญานกเค้าก็ตาฟาง พ่ายแพ้เลิกทัพกลับ

      บทละครเรื่องนี้ มีผู้นำไปถวายกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีนัยว่า เนื้อหาละครเสียดสีพระองค์ท่าน ในชั้นต้นไม่ทรงว่ากล่าวแต่อย่างใด

      เรื่องเดิม...เค้าบทละคร...ปลายธันวาคม ๒๔๕๒ หม่อมคนหนึ่ง ตัวละครเอกในคณะละครของกรมพระนราฯ หนีออกจากวังไปขอพักพิงอยู่ในสถานีตำรวจ  เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล...พูดจาว่ากล่าวให้กลับวัง  แต่หม่อมก็ไม่ยอมกลับ  เจ้าพระยายมราชจะปล่อยให้หม่อมอยู่โรงพักต่อไปก็ไม่เหมาะ กราบทูลขอกรมหลวงราชบุรีฯ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ให้รับตัวไปไว้ เรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองพระทัยให้กรมพระนราฯมาก  ต่อมา กรมพระนราฯ ทรงเตรียมละครถวายให้พระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตร กรมหลวงราชบุรีฯเกิดความโทมนัสเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าหลวงไม่ทรงเมตตาทรงยอมให้กรมพระนราฯ เล่นละครด่า

      อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ เขียนเรื่องคดีพญาระกา ไว้ในหนังสือศรีชไมยาจารย์ นิพนธ์เชิดชูเกียรติ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ ศ.วิสุทธิ์ บุษยกุล ในโอกาสอายุครบ ๘๔ ปีว่า

      กรมหลวงราชบุรีฯ ปรับทุกข์ศิษย์วิชากฎหมาย ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม...ทรงปรารภถึงความโทมนัส จนอยู่ดูหน้าผู้คนไม่ได้ ทรงเขียนจดหมายถึงเจ้าพระยายมราช... แล้วก็เสด็จลงเรือไปประทับที่ตำหนักองครักษ์ ปลายคลองรังสิต

      ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการขึ้นชำระคดีพญาระกา แทนที่ปัญหาจะคลี่คลาย กลับยิ่งบานปลาย  ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมนับแต่ปลัดทูลฉลอง ไปถึงอธิบดีศาลฯ รวม ๒๘ คน เข้าชื่อกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรีฯ  พระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้วมาก ทรงสั่งให้เขียนชื่อพวก ๒๘ มงกุฎเหล่านี้ ปิดไว้ปลายพระแท่นบรรทม เพื่อทรงสาปแช่ง ประจวบชาวจีนกรุงเทพฯ ปิดร้านค้าบอยคอตทางการไทย ทรงโทมนัสมากขึ้น  โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีฯ พ้นจากตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงยุติธรรม

      คดีพญาระกาคืบหน้า ศาลตัดสินกรมพระนราฯ หมิ่นประมาทกรมหลวงราชบุรีฯ จริง โปรดฯ ให้ขังกรมพระนราฯไว้ในพระบรมมหาราชวัง ๑ ปี  คดีพญาระกา เริ่ม ๑ มิถุนายน ๒๔๕๓ ต่อมากรมหลวงราชบุรีฯ ได้ รับพระราชทานอภัยโทษ และทรงขอพระราชทานอภัยโทษให้กรมกรมพระนราฯ เมื่อ ๕ กรกฎาคม ๒๔๕๓  ส่วน ๒๘ ข้าราชการยุติธรรมที่ลาออก เมื่อรับผิด พระพุทธเจ้าหลวงทรงยกโทษให้  ยกเว้นขุนหลวงพระไกรสีคนเดียว โปรดฯให้ปลดและถอดยศ เพราะใช้โวหารกราบทูลแบบเจ้าถ้อยหมอความเกินไป.

      ข้อมูลเพิ่มเติมจาก วิชาการ.คอม

      เรื่องที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ มีทั้งหมด ๖๒ หน้า (หน้า ๓๑๕-๓๗๖) คุณเทาชมพูแห่งเว็บวิชาการได้สรุปเรื่องไว้ดังนี้

      เจ้านายที่มีบทบาท อยู่ในคดี "พญาระกา" องค์แรกก็คือพระองค์เจ้าวรวรรณ  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์   ท่านเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ซึ่งเรียกกันว่าเขียนอิเหนา เพราะเป็นละครหลวง รำเป็นตัวอิเหนาได้งดงามไม่มีใครสู้  กล่าวกันว่าเป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานท่านหนึ่ง เมื่อประสูติพระราชโอรส สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็พระราชทานกริชแถมมาให้นอกเหนือจากพระแสงดาบที่พระราชทานพระราชโอรสทุกพระองค์  รับสั่งว่า "เป็นลูกอิเหนา"

                                                               

      กรมพระนราธิปฯ ต้นราชสกุลวรวรรณทรงได้เลือดศิลปินทางเจ้าจอมมารดาเขียนมาไม่น้อย  โปรดนิพนธ์บทละคร บทกวีและการแสดง    พระนิพนธ์สำคัญๆที่เรารู้จักกันก็อย่างเช่น "สาวเครือฟ้า "ซึ่งทรงดัดแปลงจากอุปรากร  Madame Butterfly ทรงเป็นเจ้าของโรงละครนฤมิตร์ ที่ได้เข้าไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังบ่อย ๆ

                                                               

      ใน รัชกาลที่ ๖  พระธิดา ๒ พระองค์ในกรมพระนราธิปฯ ได้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระวรกัญญาปทาน พระคู่หมั้น    และพระนางเธอลักษมีลาวัณย์ พระมเหสี   ทั้งสององค์ทรงรับมรดกศิลปินจากพระบิดา  ในพระปรีชาด้านการแต่งบทประพันธ์

      แต่เรื่องที่จะเล่านี้เป็นเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลที่ ๕    ซึ่งละครนฤมิตร์กำลังเฟื่องฟู

      เช่นเดียวกับเจ้านายในสมัยนั้น กรมพระนราธิปฯ ทรงมีหม่อมหลายคน และในจำนวนนี้ก็มีนางละครโด่งดังในคณะละครนฤมิตร์ที่ได้เป็นหม่อมด้วย ชื่อพักตร์  หม่อมพักตร์ (ซึ่งคงเป็นสาวสวย) ไม่ได้เป็นสุขกับฐานะของตน จึงทิ้งตำแหน่งหม่อม หนีออกจากวังไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๔๕๒ ไปอาศัยอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรี แต่กรมพระนราธิปฯ เองก็ไม่เต็มพระทัยจะสูญเสียหม่อมพักตร์ จึงทรงติดตามไปเพื่อจะเอาตัวกลับมา เกิดเรื่องราวกับเจ้าของบ้าน เป็นเรื่องอื้อฉาวถึงขั้นพวกเขาพร้อมใจกันทำเรื่องถวายฎีกาว่ากรมพระนราธิปฯ ทรงบุกรุกเข้าไปถึงในบ้าน เอะอะใหญ่โตเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากฎีกา ก็มีพระราชดำรัสห้ามกรมพระนราธิปฯ ไม่ให้ทำอีก

      แม้ว่ากรมพระนราธิปฯ ไม่ได้ตัวหม่อมพักตร์กลับไปอย่างพระประสงค์ แต่เธอก็อยู่บ้านนั้นต่อไปอีกไม่ได้ จำต้องออกจากบ้านฝั่งธน มาอาศัยการอารักขาของตำรวจพระนครบาลทางฟากพระนคร ซึ่งขึ้นกับเสนาบดีคือเจ้าพระยายมราช   เจ้าพระยายมราชเห็นผู้หญิงคนเดียวจะเป็นชนวนให้เดือดร้อนกันไปทั้งกรม ก็เกลี้ยกล่อมให้หม่อมพักตร์กลับเข้าวังสวามีของเธอไปเสียให้หมดเรื่อง แต่เธอก็ยืนกรานไม่สมัครใจกลับท่าเดียว  เจ้าพระยายมราชเห็นเป็นภาระยืดเยื้อแก่นครบาล ก็เลยไปทูลปรึกษาเจ้านายที่คิดว่ามีบารมีพอจะคุ้มครองหม่อมพักตร์ได้ คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  กรมหลวงราชบุรีฯ ทราบเรื่องก็ทรงต้อนรับและให้การคุ้มครองด้วยดี เรื่องก็สงบไป แต่ว่ากรมพระนราธิปฯ ไม่พอพระทัย ยังกริ้วหนักและทรงบ่นกับใครต่อใครว่าเสนาบดีนครบาลเป็นใจให้หม่อมของท่านหนี  ดังนั้นแทนที่เรื่องจะจบ ก็เลยเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา

      มาถึงเดือนพฤษภาคม ปี ๒๔๕๓ บทละครเรื่องใหม่ของนฤมิตร์ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปฯ ที่จะไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง มีชื่อว่า "ปักษีปะกรนัม เรื่องพญาระกา" เมื่อนิพนธ์เสร็จ กรมพระนราธิปฯทรงนำไปให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากร ต้นราชสกุล อาภากร ณ อยุธยา) เพื่อขอให้ทรงแต่งทำนองขับร้องให้ กรมหลวงชุมพรฯทรงอ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องพิกล ๆ ก็ไม่ทรงรับทำ แต่ทรงคัดบทกลอนบางตอนไว้แล้วนำไปหารือกรมหลวงพระจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ต้นราชสกุลทองใหญ่ ฯ ณ อยุธยา พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) กรมหลวงประจักษ์ฯ อ่านแล้วก็นำไปถวายให้กรมหลวงราชบุรีฯ อ่านบ้าง

      เนื้อเรื่องของ" พญาระกา" อย่างย่อๆ มีอยู่ว่า พญาระกามีเมียมาก มีเมียตัวหนึ่งเป็นนางไก่ญี่ปุ่นซึ่งไม่พอใจตัวพญาระกา พอได้โอกาสก็แยกฝูงไป พบไก่ชนที่ปลายนาเกิดรักใคร่เป็นชู้กัน พอรู้ถึงพญาระกา ก็ตามไปตีไก่ชนจนแพ้และหนีไป นางไก่ญี่ปุ่นก็หนีเตลิดไปพบตาเฒ่านกกระทุงริมบึง ตาเฒ่าเอาไปเลี้ยงไว้ แต่ยายเฒ่านกกระทุงหึงหวง ประกอบกับได้ข่าวว่าพญาระกาผู้มีฤทธิ์กำลังติดตามค้นหา นกกระทุงจึงไล่นางไก่ญี่ปุ่นไปหาพญาเหยี่ยว พญาเหยี่ยวเห็นว่ารับไว้จะเกิดปัญหา จึงส่งนางไปถวายเจ้านกเค้าแมว เจ้านกเค้าแมวเกิดความปฏิพัทธ์นางไก่ญี่ปุ่น ไม่รังเกียจว่าเสียเนื้อตัวมาแล้ว เพราะนกเค้าแมวก็กินของโสโครกอยู่แล้ว จึงได้นางไก่เป็นเมีย

      ในบทตอนนี้มีกล่าวติเตียนชัดเจนว่า พญาเค้าแมวเป็นผู้หลงระเริงในราคะ จนลืมความละอายต่อบาป เอาเมียของอาเป็นเมียได้ ฝ่ายนางนกเค้าแมวมเหสีได้ข่าวก็มาหึง แต่พญาระกากลับเข้าข้างนางไก่ ไล่ตีนางนกเค้าแมวหนีกลับเข้ารังไป  ต่อมาพญาเค้าแมวยกทัพจะไปรบกับพญาระกา แต่เมื่อเผชิญหน้ากันยังไม่ทันรบพุ่ง ก็พอดีจวนรุ่งเช้า พญาระกาขันขึ้นมา ส่วนนกเค้าแมวตาฟางเพราะแสงอรุณเลยแพ้ เลิกทัพหนีไป

      กรมหลวงราชบุรีฯ อ่านแล้ว ทรงเห็นว่า เป็นเรื่องแต่งว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรยพระองค์ในกรณีหม่อมพักตร์ ก็กริ้วมาก ประกอบกับทรงได้ข่าว (ซึ่งรู้ภายหลังว่าไม่จริง) ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรบทละครแล้ว มิได้ทรงทักท้วงแต่อย่างใด ซ้ำยังกำหนดจะให้เล่นถวายในวันที่ ๓ มิถุนายน เสียอีก  ถ้าหากว่าเล่นขึ้นมาเมื่อไรก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต พระองค์คงจะได้รับความอัปยศอย่างมาก ทรงเห็นพระเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่ทรงพระเมตตาพระราชโอรสเสียแล้วถึงปล่อยให้ละครเล่นเรื่องนี้ต่อหน้าราชสำนักได้

        

      อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่ากรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเป็นผู้มีพระทัยเร็ว เมื่อกริ้วเรื่องนี้มาก ก็ถึงขั้นบรรทมไม่หลับทั้งคืน เช้าก็ทรงประชุมข้าราชการกระทรวงยุติธรรมมาแจ้งเรื่องให้ทราบ และ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยายมราชเล่าเรื่องนี้พร้อมส่งบทละครไปด้วย  ทรงเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นไปถึงขั้นนี้ ก็ทรงโทมนัสเกินกว่าจะอยู่ดูหน้าผู้คนได้ ขอให้เจ้าพระยายมราชจัดการตามแต่เห็นสมควร แล้วก็เสด็จลงเรือไปแต่ลำพัง ไปอยู่ที่ศาลเจ้าองครักษ์ที่ปลายคลองรังสิต

      ก่อนหน้าเกิดเรื่องนี้ ราววันที่ ๒๐ เมษายน กรมหลวงราชบุรีฯ เคยทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี  ทรงแถลงเหตุผลว่า ประชวร มีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลัง ในสมองร้อนเผ็ดเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย  หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าจำต้องหยุดงานพักรักษาพระองค์ จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี  พระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บลายพระหัตถ์ฉบับนี้ไว้เฉย ๆ ไม่มีพระบรมราชโองการลงมา และไม่เปิดเผยให้ผู้ใดทราบ จนเกิดเรื่อง "พญาระกา" ขึ้น

      วันรุ่งขึ้นหลังจากกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จออกจากพระนครไปโดยมิได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรมรวม ๒๘ คนก็ประชุมกัน แล้วลงชื่อถวายฎีกาขอลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรีฯ  ซึ่งถ้าหากว่าออกไปจริง ๆ กระทรวงและศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะขาดข้าราชการสำคัญถึง ๒๘ คน เรียกว่ายกกระทรวงออกไปก็ว่าได้  ในฎีกานี้ ผู้ลงชื่อเป็นอันดับต้นคือ พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธ์ิ (ลออ ไกรฤกษ์) ปลัดทูลฉลอง และอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) อธิบดีศาลต่างประเทศ

      เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องวุ่นวายที่สุดเรื่องหนึ่งในปีนั้นก็ว่าได้ ประจวบเหมาะกับบ้านเมืองมีเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพะวงอยู่ถึง ๒ เรื่อง

      เรื่องแรก คือ ท่ายดยุคโยฮันน์ อัลเบร็คต์ แห่งเม็คเคล็นเบอร์ก เชวริน กำลังจะเสด็จเยือนสยาม ทางไทยไม่ต้องการให้มีเหตุขลุกขลักอะไรในบ้านเมืองเมื่อแขกเมืองมาถึง  

      เรื่องที่สอง คือ คนจีนในพระนครพร้อมใจกันประท้วงหยุดงานตั้งแต่ ๑ มิถุนายน รัฐบาลกำลังเฝ้าระวังเต็มที่ไม่ให้เกิดเหตุร้ายแทรกแซง   ก็ไม่มีใครนึกว่าจะเกิดเหตุที่สาม คือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรมลุกขึ้น "สไตร๊ค์"  ราวกับจะแข่งกับคนจีนเสียเอง แล้วสาเหตุเรียกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ว่าได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับระบบงานในกระทรวง

      พอฎีกาทูลลาออกของข้าราชการ ๒๘ คนหลุดจากมือไปถึงทางการ ก็วุ่นวายกันไปทั้งกระทรวงและพระบรมมหาราชวัง คนกลางในเรื่องนี้คือเจ้าพระยายมราชได้พยายามห้ามปรามไกล่เกลี่ยเท่าไร ข้าราชการทั้ง ๒๘ (ซึ่งว่ากันว่าขุนหลวงพระยาไกรสีเป็นแกนนำ) ก็ยืนกรานจะทำจนได้

      ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องฎีกา ก็ทั้งพิโรธและโทมนัสอย่างมาก ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เข้าเฝ้าด่วนเพื่อสอบสาวราวเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด   ส่วนข้าราชการทั้ง ๒๘ คนนั้น พระเจ้าอยู่หัวพิโรธมาก ถึงกับทรงเรียกว่า '๒๘ มงกุฎ' และให้เขียนชื่อปิดไว้ที่ปลายพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสาปแช่ง

      จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจดพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ไว้ว่า

      "ไม่มีแบบแผนอะไรเลยที่จะทำเช่นนี้ ทั้งในเมืองไทยเมืองฝรั่ง จะหาอะไรที่จะแก้แทนคนพวกนี้ไม่ได้จนนิดเดียว เปนอย่างที่สุดที่แล้ว หาอะไรเปรียบไม่ได้ เอาการส่วนตัวมายกขึ้นเปนเหตุที่จะงดไม่ทำการตามน่าที่ราชการ นับว่าปราศจากความคิด ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน และต่อแผ่นดิน ถือนายมากกว่าเจ้า'"

      พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธ์ิ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยามหิธร" บิดาของท่านผู้หญิงดุษฏี มาลากุล) นับว่าโชคดีมากที่มีกัลยาณมิตรแท้จริง คือ กรมขุนศิริธัชสังกาศ ทรงยื่นมือเข้ามาช่วยในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่มีใครอื่นช่วยเหลือได้  พอทราบเรื่อง กรมขุนศิริธัชฯ ก็เสด็จมาที่บ้านพระยาจักรปาณีฯ ทันทีกลางดึก ปลุกเจ้าของบ้านขึ้น บังคับให้เขียนหนังสือสารภาพผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ และขอถอนหนังสือกราบถวายบังคมลาออก

      กรมขุนศิริธัชนำหนังสือของพระยาจักรปาณีฯ ทูลเกล้าฯถวายพระเจ้าอยู่หัวทันที ไม่ให้รอช้าข้ามวัน

      ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ธิดาของเจ้าพระยามหิธร เล่าว่าสามีของท่านคือ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้พบหลักฐานที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ แล้วนำมาให้ท่าน ท่านบันทึกไว้เกี่ยวกับหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากราชการว่า

       

      "คุณพ่อเขียนหนังสือดี ไม่มีการหมิ่นพระบรมราชานุภาพแม้แต่น้อย คุณพ่อเขียนว่าการที่รับราชการอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า แต่ในทางวิชาการนั้นต้องพึ่งพระปัญญาของกรมหลวงราชบุรีฯ เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯ ทูลลาออก คุณพ่อก็หมดปัญญาที่จะฉลองพระเดชพระคุณต่อไป   ส่วนหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษนั้น คุณพ่อเขียนว่า ได้กระทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา และถ้าแม้บังอาจกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เช่นนี้อีกแล้ว ก็ขอพระราชทานถวายชีวิต"

      กรมขุนศิริธัชสังกาศได้นำหนังสือของพระยาจักรปาณีฯ เข้าไปทูลเกล้าฯถวาย พระเจ้าอยู่หัวก็ค่อยคลายพระพิโรธลง ข้าราชการอื่น ๆ อีก ๒๖ คนก็ได้ทำตามคือทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษหมดทุกคน เว้นแต่คนเดียวคือขุนหลวงพระยาไกรสี ซึ่งมีหนังสือกราบบังคมทูลด้วยโวหารว่าตนมิได้เป็นผู้ผิด

      บันทึกส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ ทรงกล่าวถึงขุนหลวงพระยาไกรสีไว้ว่า

      "หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ (กฤดากร) เล่าต่อไปว่า ขุนหลวงพระยาไกรสีนั้นไม่เรียบร้อยเช่นคนอื่น ๆ แสดงตนกระด้างกระเดื่อง และว่าได้มีหนังสือทูลเกล้าฯแก้ตัวไปโดยโวหารหมอความ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วมาก จะลงพระราชอาญาให้เป็นตัวอย่าง"

      เรื่อง ๒๘ มงกุฎที่ว่านี้ ปรากฏว่าคนต้นคิดไม่ใช่พระยาจักรปาณีฯ แต่เป็นขุนหลวงพระไกรสี ท่านจึงถูกถอดจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และเคราะห์ร้ายซ้ำสอง ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ เพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆได้กลับเข้ารับราชการทั้งหมด แต่ก็แน่ละว่าอนาคตทางราชการไม่มั่นคงเท่าเดิม

      เจ้านายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพญาระกา ต่างก็ได้รับผลกระทบคนละอย่าง

      กรมหลวงราชบุรีฯ กลับเข้ามากราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่โปรดเกล้าฯ ให้ทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีไปตามที่เคยกราบถวายบังคมลามาก่อน หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแทน

      ส่วนกรมพระนราธิปฯ ทรงถูกลงโทษอย่างเจ้านาย เรียกว่าติดสนมคือต้องเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังออกไปไหนไม่ได้มีกำหนด ๑ ปี มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล แต่ว่าหม่อมและพระโอรสธิดาเจ้าไปเยี่ยมได้เป็นเวลาตามสมควร  เจ้านายพระองค์ที่สามคือกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีส่วนให้กรมหลวงราชบุรีฯ เข้าพระทัยผิด ถูกห้ามเข้าเฝ้าจนสิ้นรัชกาล  แต่กรมพระนราธิปฯ นั้นติดสนมอยู่ไม่นาน แค่ถึงเดือนกรกฎาคม กรมหลวงราชบุรีฯ ก็ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ท่านก็เลยได้พ้นโทษ กลับไปวังของท่านเวลาล่วงมาถึงเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต

      ขอบคุณที่มาของบทความ: คุณเทาชมพู, vcharkarn.com, คุณกังหันลู่ลม และ คุณเพ็ญชมพูจากเว็บไซต์ pantip.com


      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×