ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Deszytonia’s Tales

    ลำดับตอนที่ #1 : Prologue Story

    • อัปเดตล่าสุด 6 พ.ย. 48


    Deszytonia’s Tales

    เรื่องเล่าแห่งเดสซิโทเนีย

    Prologue Story

    บทนำ



        เมื่อนานมาแล้วในยุคที่มนุษย์เริ่มเรียนรู้การนำพลังธรรมชาติมาใช้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ แล้วแบ่งพลังนั้นออกตามลักษณะของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นดินที่สร้างสิ่งมีชีวิตที่เป็นพืช น้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิต ไฟที่สร้างความอบอุ่น ลมที่ใช้เป็นพลังให้เรือสำหรับเดินทาง สายฟ้าฟาดที่มีพลังทำลายล้าง มนุษย์ทั้งนับถือและเกรงกลัวต่อพลังธรรมชาติ เพื่อขจัดความหวาดกลัวต่อธรรมชาติ มนุษย์จึงศึกษาธรรมชาติ และหลังจากได้ทำการศึกษาพลังของธรรมชาติมาถึงจุดที่มนุษย์รู้ว่า มนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ภายในร่างกายของมนุษย์ก็มีพลังธรรมชาติไหลเวียนอยู่ และสามารถใช้พลังภายในร่างกายสร้างให้เกิดพลังธรรมชาติได้ มนุษย์จึงได้สร้างพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้สร้างพลังธรรมชาติอีกทอดหนึ่ง



        มนุษย์เรียกมันว่า “พลังธาตุ” เรียกแบ่งธาตุที่ก่อให้เกิดพลังงานที่เหมือนพลังธรรมชาติ แบ่งเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุสายฟ้า มีการพัฒนารูปแบบของการศึกษาพลังธาตุมาอย่างต่อเนื่อง แล้วผู้คนที่มีความนับถือต่อธรรมชาติเหมือนๆกันได้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน จนสร้างประเทศขึ้นมาแบ่งตามความนับถือที่มีต่อธรรมชาติ เป็นประเทศของผู้คนที่นับถือธาตุทั้ง 5 กับอีกหนึ่งประเทศที่นับถือธรรมชาติทั้งหมด



        ชีวิตความเป็นอยู่ที่มนุษย์สามารถสร้างและควบคุมพลังธรรมชาติได้ สร้างวิถีชีวิตที่สะดวกสบายให้กับผู้คน ไม่มีความเดือดร้อนจากความแห้งแล้งที่ฝนไม่ตก ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม หรือสิ่งก่อสร้างที่ต้านทานต่อความรุนแรงของลมพายุ แผ่นดินไหวและสายฟ้าฟาดได้เป็นต้น จากความสะดวกสบายที่ได้จากการควบคุมพลังธรรมชาติได้นี่เอง ทำให้มนุษย์คิดที่จะแย่งชิงพลังงานจากธรรมชาติเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง



        ประเทศต้นคิดที่จะใช้พลังของสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น แย่งชิงพลังงานจากธรรมชาติโดยตรงกลับเป็นประเทศที่นับถือธรรมชาติทั้งหมด สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ถูกเรียกว่า “เครื่องจักรพลังธาตุ” ที่สามารถดึงพลังธรรมชาติออกมาเป็นพลังงานให้กับเครื่องจักรได้โดยตรง สิ่งนี้ทำให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก แผ่นดินแตกระแหง แม่น้ำแห้งขอด ป่าไม้แห้งตายเพราะถูกแย่งชิงพลังธรรมชาติ สายลมไม่สามารถพัดได้อีก สายฟ้าไม่ปรากฏบนท้องฟ้าและสายฝนไม่โปรยปรายยามเมฆครึมอีกต่อไป แต่ผู้คนกลับไม่รู้สึกตัว ยังคงตักตวงความสุขสบายให้กับตนเองโดยไม่สนใจธรรมชาติ

        

        ลางร้ายเริ่มจากแผ่นดินเกิดรอยแตกร้าวลึกลงไปเป็นรอยยาวล้อมรอบประเทศที่ทำร้ายแผ่นดิน สายลมกลับมาอีกครั้งด้วยความเกลี่ยวกราด ท้องฟ้าเหนือประเทศแห่งเครื่องจักรดำมืดไร้แสงตะวันดังค่ำคืนทั่งที่เป็นเวลากลางวัน ผู้คนรู้สึกถึงความโกรธของธรรมชาติเมื่อภัยมาถึงตัวแต่นั่นก็สายไปเสียแล้ว เสียงคำรามของสายฟ้าฟาดดังขึ้นอีกครั้ง เป้าหมายคือรอยแยกของแผ่นดิน สายฟ้าฟาดลงครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ล่ะครั้งที่ฟาดลงจะทำให้รอยแยกกว้างออก สายฟ้าที่ฟาดลงมาเสมือนกำแพงที่ไม่ให้เหล่าผู้ทำร้ายธรรมชาติสามารถหลบหนีได้ ผู้คนของประเทศแห่งเครื่องจักรเริ่มอ้อนวอนต่อธรรมชาติแต่ไม่เป็นผล สายฟ้าฟาดลงมาไม่ขาดสาย สายลมกรรโชกแรงขึ้นเรื่อยๆ น้ำทะเลเริ่มไหลทะลักเข้ามาตามร่องของรอยแยกบนแผ่นดิน เหมือนกับว่าธรรมชาติจะทำการขับไล่ผู้ทำร้ายตนไปสู่ท้องทะเลแห่งความตายที่ไม่สามารถมีสิ่งชีวิตใดดำรงอยู่ได้



        หลังจากความวินาศมาเยือนแล้วผ่านไปในวันที่ 7 ความสงบที่น่ากลัวก็ปรากฏ ทุกอย่างหยุดนิ่งเหมือนเหตุการณ์เมื่อ 6 วันก่อนเป็นเรื่องโกหก แต่ความโกรธของธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดมาเยือนเมื่อเหล่าผู้โง่เขลาหลงระเริงในความสงบ สายฟ้าฟาดลงมาอีกครั้ง ลำแสงของสายฟ้าแทบจะกลืนกินประเทศแห่งเครื่องจักร สายลมก่อตัวเป็นพายุที่คลุ้มคลั่ง แผ่นดินค่อยๆแยกออกแล้วลอยออกสู่ทะเลตามแรงลม ทะเลเกิดความเปลี่ยนแปลงที่น่าสยดสยอง ก่อเกิดน้ำวนขนาดใหญ่นับร้อยล้อมรอบประเทศแห่งเครื่องจักร นำพาผู้คนของประเทศที่ทำร้ายธรรมชาติผู้ให้กำเนิดลงสู่ท้องทะเลแห่งความตายที่มืดมิดไร้ซึ่งแสงตะวัน บนฟากฟ้ามีแต่เพียงแสงของสายฟ้าที่แลบออกมาไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด กับเสียงคำรามของสายฟ้าที่แล่นผ่านท้องฟ้าไปมาไม่ขาดสาย เสียงกรีดร้องของผู้คนดังไม่ขาดสายจนได้ยินไปทั่วทั้งทวีป เหล่าผู้คนของประเทศข้างเคียงรวมตัวกันอ้อนวอนขอการให้อภัยจากธรรมชาติ ความหวังของผู้คนที่สวดภาวนาคือสิ่งเดียวกัน ขออย่าให้ประเทศต่อไปเป็นแผ่นดินที่ตนอาศัยอยู่



        หลังจากธรรมชาติขับไล่เหล่าผู้ทำร้ายตนลงสู่ทะเลที่บ้าคลั่ง เสียงกรีดร้องของผู้คนเงียบหาย แผ่นดินแห่งเครื่องจักรลอยห่างออกไปจากแผ่นดินใหญ่ เมื่อแผ่นดินสงบนิ่งอยู่ในทะเลที่บ้าคลั่งน้ำวนเริ่มเกิดการเคลื่อนไหว น้ำวนนับร้อยวิ่งมาล้อมแผ่นดินไว้เหมือนมีชีวิต แล้วรวมตัวกันก่อเกิดน้ำวนขนาดมหึมาหลายสิบลูกที่ไม่ว่าเรือหรือเครื่องจักรใดๆก็ไม่สามารถฝ่าออกไปได้ หมุนวนล้อมรอบแผ่นดินแห่งเครื่องจักรเสมือนปราการยักษ์ที่ไม่มีใครสามารถหลบหนีออกมาได้ หลังจากความวินาศที่เกิดขึ้นกับแผ่นดินแห่งเครื่องจักรสงบลง น้ำวนยังคงอยู่ ท้องฟ้ายังคงมืดมิดมีเพียงแสงของสายฟ้าที่พาดผ่านและเสียงคำรามเป็นระยะๆแล้ว แผ่นดินใหญ่กลับสงบลง แต่ผู้คนยังคงหวาดกลัว เฝ้าสวดอ้อนวอนกันทุกเช้าค่ำ ผ่านไป 7 วันสิ่งที่เหมือนกับปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นธรรมชาติทุกอย่างเป็นปกติราวกับเหตุการณ์แห่งความวินาศเมื่อ 7 วันก่อนเป็นความฝัน แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นความจริง ประเทศแห่งเครื่องจักรที่ถูกธรรมชาติขับไล่ไปพร้อมกับแผ่นดินที่ผู้คนอาศัยอยู่ให้ล่องลอยในทะเลที่บ้าคลั่งยังคงอยู่



        หลังจากเหตุการณ์แห่งความวินาศผ่านพ้นไป ผู้คนบนแผ่นดินใหญ่ต่างสวดอ้อนวอนขอบคุณธรรมชาติที่ให้อภัย และถือเหตุการณ์วันนั้นเป็นบทเรียนไม่ทำร้ายและแย่งชิงพลังธรรมชาติอีกต่อไป เครื่องจักรทั้งหมดที่ยังคงเหลืออยู่บนแผ่นดินใหญ่ถูกทำลายจนหมดสิ้น ผู้คนไม่คิดจะควบคุมพลังธรรมชาติอีกต่อไป ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ส่วนแผ่นดินของประเทศแห่งเครื่องจักรถูกเรียกเป็นแผ่นดินต้องคำสาป ไม่มีใครคิดจะย่างกรายเข้าไปใกล้ และไม่มีใครรู้ชะตากรรมของผู้คนในประเทศแห่งเครื่องจักร ผู้คนพยายามไม่พูดถึงเนื่องจากความเกรงกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้เรียกแผ่นดินต้องคำสาปว่า ไรดอส (Laidoss) ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่ได้สร้างประเทศของตนให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ แล้วแบ่งอาณาเขตเป็น 5 ประเทศที่นับถือธาตุทั้ง 5 และตั้งชื่อให้กับประเทศของตน แผ่นดินใหญ่เองก็ได้ผู้คนที่อาศัยอยู่ขนานนามให้ว่า ทวีปเดสซิโทเนีย



    ทวีปเดสซิโทเนีย (Continent Deszytonia)

        หลังจากเหตุการณ์แห่งความวินาศผ่านมา 500 ปี ทวีปเดสซิโทเนียในปัจจุบันเป็นทวีปที่ประกอบไปด้วย 5 ประเทศที่แบ่งคุณลักษณะเด่นตามภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม ความเคารพนับถือในธาตุต่างๆทั้ง 5 ของประชาชนในประเทศนั้นๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และ สายฟ้า

        การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศและภายในประเทศจะใช้วิธีส่งจดหมายมากับพิราบสื่อสาร หรือเหยี่ยว หากเป็นการติดต่อธรรมดา แต่ถ้าหากเป็นการติดต่อธุระสำคัญจะส่งคนนำสารมาด้วย ประเทศทั้ง 5 มีดังนี้



            ประเทศแห่งสายลมและทุ่งหญ้า คีรียา (Kereya) ประเทศทางตอนเหนือของทวีป ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีทุ่งหญ้าเขียวขจี ป่าโปร่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์กับการเกษตร มีสังคมแบบชนเผ่า ทุกครอบครัวมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ประชาชนในดินแดนนี้ให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยสร้างมาจากวัสดุตามธรรมชาติทั้งหมด โดยจะสร้างที่อยู่อาศัยเป็นกระโจม (เหมือนชาวอินเดียแดง)



            เครื่องแต่งกายทำมาจากผ้าฝ่ายกับหนังสัตว์ มีลวดลายตกแต่งตามชายเสื้อ กระโปรง กางเกง แขนเสื้อ ลวดลายดังกล่าวมีลักษณะเป็นเหมือนสายลมพัดหมุนวน หรือ เป็นลวดลายที่แสดงความแข็งแกร่งของพายุ ซึ่งลวดลายเหล่านี้จะนำมาใช้ในโอกาสต่างๆกันไป เนื่องจากชาวคีรียานับถือธาตุลม ส่วนอาวุธที่ใช้ในการล่าสัตว์จะเป็นธนู หน้าไม้ บูมเมอแรง เป็นต้น



            ชาวคีรียามีศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเรียกว่า อาปัติ (Arputt ; ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของชาวคีรียา คล้ายจิวจิตสึของญี่ปุ่นผสมกับมวยจีน) ที่ใช้ในการรบระยะประชิดควบคู่กับบูมเมอแรง และใช้ธนูในระยะไกล โดยผู้ชายเผ่าคีรียาจะต้องฝึกอาปัติทุกคน และผู้หญิงก็สามารถฝึกได้เช่นกัน แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจฝึกสักเท่าไหร่



            เผ่าคีรียาจะมีวิหารนักรบอยู่สำหรับใช้ฝึกอาปัติ กับการประลองฝีมือกันเองของผู้ชายในเผ่า และตามฝ้าผนังของวิหารที่สร้างจากหินนั้นจะมีภาพกระบวนท่าต่างๆของอาปัติวาดอยู่ด้วย โดยวิหารนักรบนี้จะตั้งอยู่บริเวณกลางประเทศคีรียา และรอบๆวิหารก็จะมีคนมาอาศัยอยู่จำนวนมากเพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่บรรพบุรุษเคยอยู่อาศัยมาก่อนนั่นเอง



            วิธีการเดินทางที่ชาวคีรียาใช้เดินทางไปมาระหว่างเผ่าคือ มาชีฟ (Masheap ; สัตว์พาหนะของชาวคีรียา หัวกับลำตัวเป็นจิงโจ้แต่ไม่มีกระเป๋าหน้าท้อง ดวงตาสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนขาเหมือนกระต่ายโดยที่ขาหน้าจะสั้นกว่าขาหลังมากดังนั้น มาชีฟจะวิ่ง 2 ขา โดยขณะวิ่งจะโน้มตัวไปข้างหน้าที่นั่งของคนขี่จะอยู่บริเวณสะโพกของมาชีฟ โดยจะทำอานไว้สำหรับนั่งโดยเฉพาะ แต่ถึงจะไม่มีอานก็ขี่ได้แต่ขนของมาชีพจะลื่นทำให้ขี่ได้ลำบากสักหน่อย ขนของมาชีฟจะมีหลายสี โดยรวมแบ่งได้ 3 สี คือ น้ำตาลเข้ม น้ำตาลแดง และสีครีม)



            แม้ว่าชาวคีรียาจะอยู่กันแบบชนเผ่าแยกจากกัน แต่ถ้าถึงคราวขับขันก็จะสามารถรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็งเพราะแต่ล่ะเผ่าจะไม่อยู่ห่างจากกันมากนัก



            ชาวคีรียาที่แต่งงานกับคนประเทศอื่นจะไม่สามารถนำคนรักมาอยู่ในเผ่าได้เนื่องจากว่าคนจากประเทศอื่นไม่ค่อยเข้าใจในวัฒนธรรมของชาวคีรียานัก และในอดีตเคยเกิดปัญหาเนื่องจากความไม่เข้าใจนี้จึงได้เกิดเขตเป็นกลางขึ้นมาทางตอนล่างของประเทศแถบชายแดนติดต่อกับจักรวรรดิดันส์เซ็น ซึ่งเขตเป็นกลางนี้จะเป็นเหมือนเมืองหน้าด่านและศูนย์กลางการค้าที่สินค้าจำพวกเนื้อ หนัง กระดูกสัตว์ ผลไม้ป่าต่างๆจะถูกนำมาขายที่นี้และเตรียมส่งไปยัง อคูร่าที่นิยมเสื้อผ้าจากหนังสัตว์อีกด้วย นักเดินทางจากประเทศอื่นที่จะไปคีรียา ต้องผ่านที่นี้ทุกคนและเป็นเหมือนแหล่งรวมของทุกวัฒนธรรมเพราะเป็นที่อยู่ที่จัดไว้ให้ชาวคีรียาที่แต่งงานกับคนประเทศอื่นนั่นเอง ที่นี้จึงมีคนจากแทบทุกประเทศ



            ไม่เพียงชาวคีรียาที่แต่งงานกับคนประเทศอื่นเท่านั้นที่มาอยู่ที่เขตเป็นกลาง คนจากประเทศต่างๆก็สามารถเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเป็นกลางนี้ได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ของคีรียากับดันส์เซ็นที่ควบคุมเขตเป็นกลางซะก่อนจึงจะเข้ามาตั้งรกรากได้ แต่ชาวคีรียาที่แต่งงานกับคนประเทศอื่นจะไปอยู่ที่ประเทศของคู่แต่งงานก็ได้ไม่มีกฎห้าม และแม้ว่าจะไม่อนุญาตให้คนจากประเทศอื่นมาอยู่อาศัยในเผ่าได้ แต่นักเดินทางสามารถเดินทางมาที่เผ่าของชาวคีรียาและพักแรมได้ไม่เกิน 7 วันแล้วให้ออกจากเผ่าเดินทางต่อไปเผ่าอื่นได้ หากเกินนั้นจะถูกลงโทษด้วยการล่าสัตว์มาเลี้ยงคนทั้งเผ่าด้วยตัวคนเดียวเท่านั้นห้ามคนในเผ่า หรือนักเดินทางคนอื่นที่เดินทางผ่านมาช่วยเหลือ หากทำไม่ได้จะต้องถูกห้ามเข้าประเทศคีรียา ให้อยู่ได้แค่เขตเป็นกลางเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะตัดสินโทษให้ประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ยกเว้นว่าสาเหตุที่เกินเนื่องมาจาก ป่วย บาดเจ็บ 2 กรณีนี้เท่านั้น



            ชาวคีรียา มีผิวสีขาวซีดเนื่องจากอยู่ทางทิศเหนือที่อากาศเย็น สีผมที่พบมากที่สุดคือ สีเทาดำ น้ำตาลแดง แดง สิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นชาวคีรียาคือ ดวงตาสีแดง สัตว์ประจำชาติของคีรียาคือ เหยี่ยวคีรียา (เป็นเหยี่ยวที่มีขนสีน้ำตาลแดง ดวงตาสีทองแดง จะงอยปากสีดำ ตัวใหญ่เป็น 2 เท่าของเหยี่ยวปกติ ความกว้างของปีกนั้น เท่าที่มีคนเคยเห็นเหยี่ยวคีรียากางปีกทั้ง 2 ข้างจนสุด ได้เปรียบเทียบว่าเท่ากับการให้คนมายืนเรียงหน้ากระดานแล้วกางแขนออกโดยเอาปลายนิ้วมือชนกัน 10 คน) เป็นสัตว์พิทักษ์แห่งธาตุลม ซึ่งโดยส่วนมากจะไม่เชื่องกับคนแต่ก็ไม่เคยมีชาวคีรียาหรือนักเดินทางถูกเหยี่ยวคีรียาทำร้าย บางครั้งยังช่วยเหลือคนอีกด้วย ส่วนใหญ่เหยี่ยวคีรียาจะทำรังอยู่บนต้นไม้สูง หรือหน้าผาที่คนไปไม่ถึง





            ประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล อคูร่า (Akura) ประเทศทางตะวันออกของทวีป ภูมิประเทศเป็นเกาะที่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่หลายกิโลเมตร การเดินทางไป อคูร่า ต้องใช้เรือในการเดินทางเท่านั้น ใช้เวลาในการเดิน 1-2 วันในการเดินทางแล้วแต่สภาพอากาศ

            สภาพแวดล้อมของอคูร่า ที่ล้อมรอบไปด้วยทะเลดังนั้นประชาชนส่วนมากจึงประกอบอาชีพการประมง มีการเพาะปลูกอยู่บ้างแต่ด้วยพื้นที่จำกัดจึงเพาะปลูกแต่ข้าว ที่เป็นอาหารหลักของชาวอคูร่าพร้อมกับส่งออกไปขายให้ประเทศอื่น ส่วนพืชผลด้านอื่นต้องนำเข้ามาจาก นิวอาดิออนเท่านั้น



            เครื่องแต่งกายของชาวอคูร่าจะเป็นวัสดุที่ทำมาจากผ้าไหมนิยมนำมาทำเป็นเสื้อ เนื้อผ้าจะโปร่งเย็นสบาย นิยมวาดลวดลายด้วยสีน้ำเงินกับสีแดงด้านหลังของเสื้อ สาเหตุหนึ่งมาจากการทำประมงหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะสามารถใช้เสื้อเป็นสัญลักษณ์เพื่อขอความช่วยเหลือได้ แต่ในตัวเมืองนิยมทำเพื่อความสวยงามมากว่า แต่กางเกงกับกระโปรงผ้าไหมไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากจะขาดง่ายไม่ทนทานซึ่งไม่เหมาะกับการทำประมงที่ต้องอยู่บนเรือเป็นเวลานานหลายวันกว่าจะกลับเข้าฝั่ง กางเกงกับกระโปรงทำจากหนังสัตว์ที่นำเข้าจากคีรียากับนิวอาดิออน จะเป็นที่นิยมกันมากกว่า และนำเข้าผ้ายีนจากนิวอาดิออนบ้างเล็กน้อย ส่วนเสื้อ กางเกง กระโปรงผ้าไหมจะส่งออกไปขายเนื่องจากเป็นที่นิยมกันมากที่รัฟซูด้า



            ระบบการปกครองของอคูร่าจะเป็นระบบที่ให้ความนับถือผู้อาวุโสคล้ายของคีรียา และเนื่องจากเป็นเกาะจึงรวมตัวกันได้ง่ายระบบการปกครองจึงเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบโดยเหล่าผู้อาวุโสจะค่อยให้คำแนะนำ (เหมือนประเทศกรีซในสมัยโบราณ) กำลังทหารในกองทัพเรือมาจากความสมัครใจและวัดความสามารถกับผลงานเพื่อให้ได้ตำแหน่งในกองทัพ



            อคูร่าเป็นประเทศที่มีเกาะรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน 3 เกาะด้วยกัน เรียกรวมทั้ง 3 เป็น อคูร่า โดยที่จะมีชื่อเฉพาะนำหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากทั้ง 3 เกาะมีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นและเดินทางติดต่อไปมากันตลอดเวลา โดยเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นเหมือนเมืองหน้าด่านของอคูร่า เรียกว่า อาเร่ อคูร่า (Aray Akura) เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและท่าเรือหลักของอคูร่า อาเร่จึงมีผู้คนจากหลายประเทศมารวมกัน ดังนั้นกฎระเบียบของเมืองนี้จึงปรับให้เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งของนักเดินทาง



            หลังจากได้ตั้งปรับให้กฎเข้มงวดขึ้นปัญหาเกี่ยวกับนักเดินทางจึงลดลงอย่างมาก ประกอบกับชาวอคูร่าเป็นชนชาติที่ใจกว้างถ้าหากเป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆก็จะใช้วิธีการไกล่เกลี่ยกันมากกว่าใช้กฎลงโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยผู้กระทำผิด



            หากผู้กระทำผิดคิดขัดขืนหรือไม่สำนึกตัวจะได้รับโทษสถานหนักและไร้ความปราณี ซึ่งทหารรักษาน่านน้ำของอคูร่าจะมีการตรวจตราที่เข้มงวดในน่านน้ำทั้งหมดของเกาะทั้ง 3 ส่วนบริเวณเกาะจะมีทหารลาดตระเวนเดินตรวจตราตลอด 24 ชม.



            การจับกุมจะทำให้ผู้กระทำผิดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถต่อสู้ได้ไม่ว่าจะด้วยอาวุธ หรือพลังธาตุ นั้นคือ ทำให้สลบก่อนแล้วจึงนำตัวไปคุมขังรอการไต่สวน ดังนั้นหากโดนจับกุมก็ค่อยไปพูดกันต่อเมื่อฟื้นขึ้นมาในห้องขังนั้นเอง จะไม่มีการรับฟังการขอร้องหรือติดสินบนขณะจับกุมเด็ดขาด



            เนื่องจากว่าบทลงโทษสำหรับทหารที่ทำผิดกฎการจับกุมคือ ประหารชีวิตด้วยการถ่วงน้ำ และหลังจากประหารแล้วก็จะเนรเทศครอบครัวอีกด้วย นี้เป็นสาเหตุให้ปัญหาในอาเร่ลดลงอย่างมาก



            ชาวอคูร่ามีวิชาการต่อสู้ที่ใช้พลอง ทวน หอก (ทวนนั้นจะเหมือนขวานด้ามยาวแต่มีคมทั้ง 2 ด้านมีปลายแหลมยื่นออกมาประมาณ 15-20 เซน ด้านที่เป็นใบมีดทั้ง 2 ด้านนั้นจะทำออกมาหลายรูปแบบทั้งโค้งเป็นเหมือนขวานด้ามยาว รูปพระจันท์เสี้ยว หรือเป็นใบดาบยื่นออกมาเป็นกากบาท แต่ขวานด้ามยาวมีคมด้านเดียวไม่มีปลายแหลม ส่วนหอกจะมีใบดาบความยาวตั้งแต่ 30-45 เซน ต่อด้วยพลองไม่มีใบดาบด้านข้าง) ในการรบเนื่องจากเป็นประเทศที่ถ้าจะสู้รบจะเป็นการรบทางน้ำมากกว่าจึงนิยมใช้อาวุธที่มีความสามารถโจมตีได้ในวงกว้าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องข้ามไปลงเรื่อของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่จำเป็นหากเกิดการสู้รบ  



            เกาะที่ 2 เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกข้าว เรียกว่า  แวเรีย อคูร่า (Warelia Akura) ส่วนสุดท้ายเป็นที่ตั้งของวิหารธาตุน้ำ สถานที่ทางศาสนาของชาวอคูร่าที่นับถือธาตุน้ำและยังเป็นเกาะแรกที่ชาวอคูร่าอาศัยอยู่มาก่อนจะขยายไปยัง แวเรีย และ อาเร่ อย่างในปัจจุบันเรียกว่า เทมเปีย อคูร่า (Tempia Akura ; ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่ที่ แวเรีย กับ อาเร่ ทำให้มีคนอาศัยอยู่ในเทมเปียเพียงเล็กน้อยและไม่ได้ทำประมงอีกแล้ว เพราะการประมงหลักย้ายไปอยู่ที่อาเร่)



            สังคมของชาวอคูร่าดังเดิมเป็นสังคมของชาวเลที่อาศัยอยู่ริมทะเล หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการประมง ส่วนการปลูกข้าวนั่นเริ่มมีการเพาะปลูกเป็นหลักแหล่งเมื่อ 600 ปีก่อนหลังจากสามารถข้ามไปตั้งถิ่นฐานในเกาะถัดไปก็คือแวเรีย เนื่องจากความหนาแน่นของประชากรทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่แค่เกาะเดียวได้ และขยายอาณาเขตไปยังอาเร่ จนมาเป็น อคูร่าในปัจจุบัน

            ปัจจุบันชาวอคูร่ามีสังคมอยู่ 3 รูปแบบคือ สังคมแบบชาวเลในอดีต สังคมเกษตรกรรม และสังคมเมือง โดยที่สังคมทั้งหมดผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัวพึ่งพาอาศัยกัน



            สิ่งปลูกสร้างสำหรับอยู่อาศัยของชาวอคูร่า แรกเริ่มนั้นจะเป็นลักษณะกระโจมเหมือนชาวคีรียา ต่อมาเมื่อเริ่มทำการเกษตรจึงได้สร้างยุ้งฉางที่สร้างจากดินเหนียวตากแห้งกับไม้เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานสำหรับเก็บข้าวและอยู่อาศัย แล้วย้ายมาอยู่ในบริเวณที่ทำการเกษตรมากขึ้นโดยอยู่อาศัยกันเป็นหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อมีเมืองท่าอาเร่ สังคมรูปแบบเมืองที่สิ่งก่อสร้างใช้โลหะที่นำเข้าจากดันส์เซ็น ผสมกับสิ่งก่อสร้างจากดินเหนียวกับไม้ตามแบบฉบับดังเดิมจึงเกิดขึ้น รูปแบบสิ่งก่อสร้างจะสร้างบ้านเป็นรูปทรงเลขาคณิตไม่ค่อยตายตัว ส่วนมากนิยมสร้างเป็น 4 เหลี่ยมกับ 6 เหลี่ยมหลังคาใช้ไม้ทำเป็นคานปูด้วยกระเบื้องที่ทำจากดินเหนียวเผา



            การเดินทางไปมาระหว่าง อาเร่ แวเรีย เทมเปีย นั้นจะใช้ ชาชากูร่า (Shashagura ; มอสเตอร์ที่มีหัวกับลำตัวเหมือนช้าง ดวงตาใสสีชา ขาทั้ง 4 ข้างเป็นครีบเหมือนปลาวาฬส่วนหางเหมือนปลาโลมา ไม่มีเกล็ด ทั้งตัวมีสีน้ำเงินอ่อน) เป็นพาหนะในการเดินทางระหว่างเกาะทั้ง 3 เนื่องจากบริเวณเกาะทั้ง 3 มีหินโสโครกอยู่เยอะทำให้ไม่สะดวกที่จะใช้เรือในการข้ามฝากและบางบริเวณก็แคบเกินกว่าที่จะนำเรือมาใช้ได้ ถ้าจะนำเรือไปเทียบท่าเล็กของ แวเรีย กับ เทมเปีย จะต้องเดินเรืออ้อมอาเร่ไปซึ้งเสียเวลามากกว่าการใช้ ชาชากูร่ามากจึงไม่ค่อยมีนักเดินทางลงเรือไป จะมีก็แต่เรือสินค้าที่จะนำข้าวจากแวเรียไปส่งให้กับประเทศที่สั่งซื้อเท่านั้นเอง



            ชาวอคูร่ามีผิวสีเหลืองอ่อนๆจนไปถึงสีเหลืองแดง เนื่องจากการตากแดดตอนทำประมง ดวงตาสีเทาเกือบดำซึ่งคล้ายกับชาวดันส์เซ็น สีผมส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำเงิน น้ำเงินอ่อน ฟ้า เทาฟ้า ส่วนสีผมที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ดึงดูดมากสำหรับชาวอคูร่าคือ สีน้ำเงินเข้ม ซึ่งหาได้ยากนั่นเอง และสีผมนี้ถือเป็นสิ่งบ่งบอกความเป็นชาวอคูร่าด้วย



            สัตว์ประจำชาติของอคูร่า คือ มังกรทะเลชูโกร่า (Shugora Sea Dragon ; มังกรที่มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของปลาวาฬสีน้ำเงิน ขาทั้ง 4 ข้างเป็นครีบเหมือนปลาวาฬแต่มีเกล็ดแข็งและมีเล็บยื่นออกมาข้างล่ะ 5 อัน ลำตัวยาวเหมือนจระเข้ ส่วนหางเหมือนปลาตะเพียนแต่เรียวยาว ลำคอยาวเหมือนยีราฟ ส่วนหัวเป็นมังกรมีเขา 2 อันเหมือนเขากวาง ทั้งตัวเป็นเกล็ดที่มีสีน้ำเงินอมเขียว) เป็นสัตว์พิทักษ์แห่งธาตุน้ำ



            ปัจจุบันได้สูญพันธ์ไปแล้ว (ถึงจะไม่มีหลักฐานยืนยันแต่มังกรทะเลชูโกร่าก็ไม่เคยมีใครพบเห็นมากว่า 300 ปีแล้วจึงคิดกันว่าสูญพันธ์ไปแล้ว) แต่ผู้คนของอคูร่าก็ยังนับถือมังกรทะเลชูโกร่าเปรียบเหมือนเทพเจ้า ในวิหารน้ำจะมีรูปสลักบนกำแพงเป็นมังกรทะเลชูโกร่าแทนสิ่งป้องกันอันตรายด้วย โดยในวิหารน้ำจะเป็นสถานที่รักษา “ธาตุบริสุทธิ์แห่งน้ำ” โดยจะมีคนทรงทำหน้าใช้พลังธาตุน้ำของตนเองทำให้ “ธาตุบริสุทธิ์แห่งน้ำ” บริสุทธิ์อยู่เสมอ (ลักษณะเป็นลูกแก้วสีน้ำเงินที่มีแสงสีน้ำเงินส่องแสงอยู่ภายในอยู่ตลอดเวลาและถ้าแสงหมองไปหมายถึงจะต้องรีบหาคนทรงคนใหม่มาแทนทันทีและสาเหตุที่ต้องใช้คนทรงเพราะว่ามังกรทะเลชูโกร่าหายไปนั่นเอง)





            ดินแดนแห่งเกษตรกรรม สาธาณรัฐนิวอาดิออน (Republic of Newardeoon)  ประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำจึงเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างมาก ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรกับฟาร์มปศุสัตว์เป็นหลัก มีการประมงบ้างเล็กน้อยแถบชายทะเลที่เป็นเมืองท่าส่งพืชผลทางการเกษตรไปให้อคูร่า และรับข้าวจากอคูร่า เพราะว่าข้าวจาก อคูร่ามีกลิ่นที่หอมกว่าและเมื่อนำไปหุงก็จะนุ่มอร่อยกว่าข้าวที่นิวอาดิออนปลูกนั่นเอง พืชผลหลักของนิวอาดิออนจะเป็นพืชล้มลุกกับพืชไร่ เช่น มันฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น



            เครื่องแต่งกายของชาวนิวอาดิออนจะเรียบง่าย ไม่มีการแต่งเติมลวดลาย จะเป็นวัสดุที่ทำจากผ้าไหมกับหนังสัตว์ และเป็นประเทศที่ไม่ต้องนำเข้าผ้าไหมหรือหนังสัตว์เหมือนคีรียา ชาวนิวอาดิออนจะมีเทคนิคการนำผ้าไหมมาทอรวมกันเพื่อเพิ่มความหนา เรียกว่า ผ้ายีน นิยมนำมาตัดเป็นกระโปรงกับกางเกง หรือทำเป็นเสื้อคลุมใส่ทับเสื้อผ้าไหมด้านในอีกที่ ผ้ายีนเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่จะทำการส่งออกนอกจากผลผลิตทางการเกษตร และดันส์เซ็นจะมีการสั่งซื้อมากที่สุดเนื่องจากชาวดันส์เซ็นนิยมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำมากจากผ้ามากกว่าหนังสัตว์ รองลงมาคือเขตเป็นกลาง และ อคูร่า ตามลำดับ ส่วนรัฟซูด้าไม่มีการสั่งซื้อผ้ายีน  



            การปกครองของนิวอาดิออนใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเลือกผู้ปกครองของเมืองเรียกว่า หัวหน้าเมือง โดยชาวเมืองทุกคนจะต้องลงคะแนนเสียงให้กับคนที่ตนคิดว่าดีที่สุดจากผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมด โดยประชาชนจะเสนอชื่อคนที่อยากให้เป็นหัวหน้าเมืองก่อนแล้วให้คนทั้งเมืองลงคะแนนให้ว่าคนไหนเหมาะจะเป็นหัวหน้าเมืองที่สุด แต่ถ้าผู้ถูกเสนอชื่อมีคนเดียวก็ไม่ต้องลงคะแนนให้คนๆนั้นเป็นหัวหน้าเมืองได้เลย โดยที่จะมีการเลือกหัวหน้าเมืองใหม่ทุกๆ 10 ปี



            สังคมของนิวอาดิออนจะเป็นสังคมแบบชนบทจะมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางทั้งหมดอยู่ 5 เมืองโดยนักเดินทางทุกคนจะเข้านิวอาดิออนได้ต้องผ่านเมืองเหล่านี้ก่อน แบ่งเป็นเมืองทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ใต้ ตามเขตที่ติดกับประเทศต่างๆและศูนย์กลางประเทศเป็นเมืองหลวง แต่ล่ะเมืองจะเรียกด้วยชื่อประเทศกับทิศที่ตั้งของเมือง ไม่มีการตั้งชื่อเมืองเหมือนอคูร่า จะเรียกเป็น นิวอาดิออนเหนือ นิวอาดิออนตะวันออก นิวอาดิออนตะวันตก นิวอาดิออนใต้ และนิวอาดิออน จะใช้เรียกเมืองหลวงเป็นที่รู้กันทั้งทวีปเดสซิโทเนีย แต่ชาวนิวอาดิออนนิยมเรียกว่า เมืองหลวง เสียมากกว่า



            เมื่อออกจากตัวเมืองประชาชนจะรวมกลุ่มกัน 10-15 ครอบครัวอยู่ใกล้กันเหมือนหมู่บ้านแล้วออกไปทำไร่ จะเป็นการอยู่อาศัยรูปแบบนี้ทั่วทั้งประเทศ และจะอยู่ไม่ห่างกันมากนักระหว่างหมู่บ้านเพื่อความสะดวกในการติดต่อกัน



            การเดินทางในนิวอาดิออนส่วนใหญ่จะเป็นการเดินเท้าระหว่างหมู่บ้าน ถ้าจะไปยังเมืองทั้ง 5 จะใช้วัวนิวอาดิออน (วัวขนาดใหญ่มีขนหนาบริเวณลำคอเหมือนแผงคอ หลังโหนก ดวงตาสีดำ เขาเหมือนแพะผสมแกะมีขนาดใหญ่มากใช้สำหรับป้องกันตัวและโจมตีศัตรู ขนหยาบมีหลายสีแต่จะพบมาก 2 สีคือ สีดำ กับ น้ำตาล หางยาวมีขนตรงปลายเป็นพู่สีน้ำตาล) เทียมเกวียนในการเดินทางซึ่งจะค่อนข้างช้า



            หากต้องการความรวดเร็วในการเดินทางจะต้องใช้ ม้านิวอาดิออน (ม้าขนาดใหญ่มีแผงคอยาวถึงกลางหลัง มีขนหนาบริเวณข้อเท้า ดวงตามีหลายสีส่วนมากที่จะพบคือสีดำ สีน้ำตาล สีเทา สีที่หายากคือสีฟ้า ขนของม้านิวอาดิออนค่อนข้างหยาบและแข็งไม่เหมือนขนของมาชีฟ จึงทำให้ขี่ได้ง่ายมากถึงจะไม่มีอานก็ตาม แต่ถ้าไม่ใส่อานคนขี่จะบาดเจ็บได้เนื่องจากเวลาวิ่งจะเกิดแรงกระแทกอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่นิยมจะขี่ถ้าไม่ใส่อาน สามารถวิ่งได้ 1-2 วันได้โดยไม่ต้องหยุดพัก ขนจะมีอยู่ 2 สี คือ สีดำ กับ สีน้ำตาลเข้ม หางยาวจรดพื้นมีขนสีดำเป็นมัน) ซึ่งจะสามารถทำให้เดินทางถึงเมืองได้อย่างรวดเร็วแต่ไปได้ครั้งหนึ่งคน หรือ 2 คน จะใช้เวลามีเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น (ม้านิวอาดิออนไม่สามารถนำมาเทียมเกวียนได้เนื่องจากเวลาวิ่งจะทำให้เกวียนคว่ำได้)



            ชาวนิวอาดิออนเป็นชนชาติที่ตัวสูงใหญ่ บึกบึน ผิวสีขาวเหลือง สีผมเป็นสีทอง น้ำตาล ถ้าเป็นลูกครึ่งก็จะแตกต่างออกไปอีกแต่ที่บ่งบอกว่าเป็นชาวนิวอาดิออนคือ ดวงตาสีเขียว ผู้ชายจะมีความสูงที่ 180-220 เซน ส่วนผู้หญิงจะมีความสูงที่ 170-200 เซน



            ชาวนิวอาดิออนจะมีศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเรียกว่า การิออน (Garlioon ; ศิลปะการต่อสู้มือเปล่าของชาวนิวอาดิออน คล้ายมวยปล้ำผสมชกมวยและใช้การเตะได้) ซึ่งในปัจจุบันนิยมนำการิออนมาประลองกันเหมือนเกมกีฬาเสียมากกว่าที่จะนำมาใช้สู้รบ และมีการแข่งขันการิออนตามเมืองทั้ง 5 บ่อยครั้ง และจะมีการแข่งใหญ่ประจำทุกปีที่เมืองหลวงศูนย์กลางประเทศ



            กำลังทหารของนิวอาดิออนถือได้ว่าอ่อนแอที่สุดในทวีปเดสซิโทเนียเนื่องจากความสงบสุขที่ยาวนานและแต่ล่ะประเทศไม่ปรารถนาที่จะก่อสงครามกัน ทำให้กำลังทหารของ นิวอาดิออนมีไว้เพียงตรวจตราชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าเมือง กับรักษาความสงบภายในเมืองทั้ง 5 เท่านั้น



            สิ่งก่อสร้างในนิวอาดิออนจะทำจากอิฐและไม้ ซึ่งไม้จะนิยมนำมาสร้างบ้าน ส่วนอิฐจะใช้สร้างสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนากับกำแพงเมือง และใช้สร้างบ้านเรือน ร้านค้าที่อยู่ในเขตเมือง และที่เป็นจุดเด่นของเมืองทั้ง 5 ในนิวอาดิออนก็คือ โบสถ์ ใจกลางเมืองที่สร้างขึ้นสำหรับพิธีทางศาสนาของชาวนิวอาดิออนที่นับถือธาตุดิน



            โบสถ์ที่นักเดินทางนิยมไปเที่ยวชมมากที่สุดคือโบสถ์ของเมืองหลวง โดยภายในโบสถ์จะมีกระจกสีตกแต่ง (กระจกที่นำเอากระจกสีต่างๆมาประกอบกันเป็นลวดลายรูปภาพต่างๆที่พบเห็นได้ในโบสถ์ของอิตาลี ; กระเบื้องโมเสก) เป็นภาพสัตว์ประจำชาติของนิวอาดิออนคือ ม้ายูนิคอน (ม้านิวอาดิออนที่มีเขาบนหัว ดวงตาสีฟ้า มีขน แผงคอและหางสีขาวเงินยวงนั่นเอง) เป็นสัตว์พิทักษ์แห่งธาตุดิน



            ตามเอกสารที่บันทึกไว้ในอดีตบอกว่า ม้ายูนิคอนตัวสุดท้ายที่มีคนเคยเห็นคือเมื่อ 50 ปีก่อน ปัจจุบันนี้ยังไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน และสถานที่ชาวนิวอาดิออนเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของม้ายูนิคอนคือ ถ้ำในภูเขาทิศเหนือซึ่งไม่มีใครคิดจะไปสำรวจเนื่องจากแถบภูเขาเป็นแหล่งอยู่อาศัยของมอนสเตอร์ดุร้าย





            ดินแดนทะเลทรายแห่งเปลวเพลิง รัฟซูด้า (Rubzuda) ประเทศทางตอนใต้ของทวีป ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายเสียส่วนใหญ่ มีที่ราบสำหรับเพาะปลูกเล็กน้อยบริเวณชายแดนที่ติดกับนิวอาดิออน กับการประมงแถบชายฝั่งทางตอนใต้ ภูเขาตอนกลางของประเทศมีแร่อัญมณีอยู่มากจึงสามารถหารายได้จากการขายอัญมณีให้กับประเทศอื่นๆ



            ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพ่อค้าอัญมณีและทำเหมืองแร่อัญมณี แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้นไม่สามารถเพาะปลูกได้พอเพียงกับความต้องการของประชาชนในประเทศ จึงต้องเดินทางติดต่อซื้อขายกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับนิวอาดิออนกับ อคูร่า อาศัยการขนส่งจากท่าเรือทางตะวันออกของประเทศในการนำเข้าอาหารทะเล ข้าว ผ้าไหมจากอคูร่า และการขนส่งพืชผลจากนิวอาดิออนผ่านทางเมืองนิวอาดิออนใต้และตะวันตก จึงจะเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในประเทศ



            เครื่องแต่งกายของชาวรัฟซูด้าจะทำมาจากผ้าไหมทั้งชุดเพราะเนื้อผ้าจะโปร่งเย็นสบาย เวลาออกกลางแจ้งจะมีผ้าคลุมอีกชั้นหนึ่งเพื่อใช้บังแดด เพราะแดดที่รัฟซูด้าจะร้อนแรงมาก เสื้อของชาวรัฟซูด้าจะมีทั้งแขนสั้นและแขนยาว แต่กางเกงจะมีแต่กางเกงขายาวเพราะส่วนขาผ้าคลุมจะบังแดดไม่ถึง ผู้หญิงชาวรัฟซูด้าจะไม่นิยมใส่กระโปรงในชีวิตประจำวัน มักจะใส่ในงานแต่งงาน หรืองานพิธีทางศาสนามากกว่า



            การปกครองของรัฟซูด้าเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์เป็นประมุขสืบทอดตามสายเลือด เมืองหลวงของรัฟซูด้าอยู่ทางตอนบนของประเทศและพระราชวังของกษัตริย์ก็อยู่ที่นี้ด้วย ด้านพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศเป็นเขตที่ประชาชนทำประมงนั้น ประชาชนที่นั่นเป็นนักโทษที่โดนเนรเทศทั้งหมด ไม่สามารถเข้าเมืองรัฟซูด้าได้จึงต้องทำประมงหาเลี้ยงปากท้องของตัวเอง นี้เป็นสาเหตุหลักที่รัฟซูด้าต้องนำเข้าอาหารทะเลจากอคูร่า เรียกได้ว่าประเทศรัฟซูด้านั้นมีอาณาเขตประเทศเท่ากับเมืองหลวงนั่นเอง



            เขตเมืองกินอาณาบริเวณถึงภูเขาที่เป็นเหมืองอัญมณี และเมืองหลวงรัฟซูด้าเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีปเดสซิโทเนียรองจากจักรวรรดิดันส์เซ็น



            สิ่งปลูกสร้างจะใช้อิฐในการก่อสร้างผสมกับโลหะที่นำเข้ามาจากดันส์เซ็น รูปแบบสิ่งก่อสร้างจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมหลังคาเรียบ เพื่อง่ายในการสร้างและซ่อมแซมหากเกิดความเสียหายจากสงครามกลางเมือง สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาจะใช้ในการทำพิธีแต่งงาน ซึ่งชาวรัฟซูด้าที่นับถือธาตุไฟจะประกอบพิธีทางศาสนาอื่นๆภายในบ้านของตนเอง



            พาหนะที่ใช้ในการเดินทางระหว่างเมืองกับเหมืองแร่ หรือท่าเรือ คือ ม้ารัฟซูด้า (ม้าที่มีขนาดเล็กสามารถให้คนขี่ได้คนเดียวเท่านั้น แต่มีความทนทานสูง สามารถเดินทางได้เป็นสัปดาห์โดยที่ไม่ต้องกินน้ำและอาหาร

            

            หากมันล้มลงเพราะไม่ได้กินนั้นคือมันตายแล้วนั่นเอง ดังนั้น ชาวรัฟซูด้าจึงพกน้ำไปปริมาณมากพอที่จะให้คนและม้ากินได้ใน 1 สัปดาห์ถ้าหากจะเดินทาง เพราะถ้าหากม้าตายกลางทางคนก็ตายด้วยแน่นอน ม้ารัฟซูด้าจะมีแผงคอสีน้ำตาลแดงยาวถึงต้นคอ ดวงตาสีดำ ขนสั้นจนติดหนัง มีสีเดียวคือสีน้ำตาล หางสั้นขนสีดำหม่น ชาวรัฟซูด้าไม่นิยมใส่อานให้ม้ารัฟซูด้า เนื่องจากอานจะทำให้ม้าร้อน ทำให้เดินทางได้ช้าเพราะม้าจะเหนื่อยเร็ว และการขี่ม้ารัฟซูด้าไม่ได้ต้องการความรวดเร็ว แต่ต้องการความทนทานให้ถึงที่หมาย)



            การติดต่อสื่อสารจะใช้เหยี่ยว หรือนกพิราบในการส่งจดหมายไม่ว่าจะสำคัญหรือไม่เนื่องจากเป็นวิธีส่งข่าวที่รวดเร็วที่สุดแล้วในประเทศรัฟซูด้า



            ชาวรัฟซูด้าเป็นชนชาติที่มีการรบอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากสงครามกลางเมืองที่เกิดจากการโค่นล้มกษัตริย์ หรือผู้ทรงอำนาจในขณะนั้น จึงทำให้ชาวรัฟซูด้าเป็นชนชาติที่ทรหดอดทน ไม่ใช้เพียงเพราะสภาพภูมิประเทศ และสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองบ่อยครั้งก็มาจากมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจที่ผู้มีอำนาจกดขี่ประชาชนนั่นเอง



            ชาวรัฟซูด้าเชี่ยวชาญการต่อสู้ด้วยอาวุธมีคมเช่น ดาบยาวโค้ง ลักษณะเฉพาะของดาบรัฟซูด้า เป็นดาบที่มี 2 คมความกว้างเสมอกันทั้งเล่ม ความกว้างจะอยู่ที่ 3-4 เซน ความยาวจะอยู่ที่ 50-100 เซน ตัวดาบมีความหนาประมาณ 1 เซน ตรงกลางตัวดาบจะทำให้เรียบแล้วตีด้านข้างให้มีคมทั้ง 2 ด้าน หรือ กริชสั้น เป็นต้น และประชาชนรัฟซูด้าทุกคนไม่ว่าหญิงชายจะสามารถใช้อาวุธมีคมได้เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองบ่อยครั้งจึงจำเป็นต้องป้องกันตัว และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากวัฒนธรรมของชาวรัฟซูด้าที่จะให้กริชลูกตอนอายุครบ 10 ขวบไม่ว่าลูกจะเป็นหญิงหรือชายเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว



            ชาวรัฟซูด้ามีผิวสีน้ำตาลแดง เนื่องมาจากสภาพแวดล้อม แต่ชาวรัฟซูด้าที่อาศัยอยู่ที่เขตเป็นกลางมีผิวสีน้ำตาลอ่อนๆ จึงจำแนกสีผิวจริงๆของชาวรัฟซูด้าได้ยาก สีผมส่วนมากเป็นสีดำ น้ำตาลแดง น้ำตาลเข้ม ถ้าเป็นลูกครึ่งส่วนมากผมจะออกสีแดงเข้ม แต่สิ่งที่บ่งบอกความเป็นชาวรัฟซูด้าคือ ดวงตาสีน้ำตาลอ่อน สัตว์ประจำชาติของรัฟซูด้าคือ เสือรัฟซูด้า (เสือที่มีขนาดเท่ากับเสือปกติ เพียงแต่ว่าลวดลายบนตัวจะเป็นสีเหลืองแดง โดยสีแดงจะเป็นลายเหมือนเปลวไฟลุกโชน ขนสั้น ดวงตาเป็นสีแดงเข้ม หางยาวมี 2 หาง กงเล็บมีสีดำ มีเขี้ยวยาวออกมา 2 อัน เหมือนเสือเขี้ยวดาบ เขี้ยวสีเงินยวง) เป็นสัตว์พิทักษ์แห่งธาตุไฟ และเป็นสัตว์ที่จะเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ของกษัตริย์รัฟซูด้าตามธรรมเนียมที่กษัตริย์ทุกพระองค์ของรัฟซูด้าปฏิบัติสืบต่อกันมา





            มหาอำนาจแห่งสายฟ้า จักรวรรดิดันส์เซ็น (Dunzzen Empire) ประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดบนทวีปเดสซิโทเนีย มีอาณาเขตติดต่อกับทั้ง 4 ประเทศ ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีป ภูมิประเทศมี 2 ลักษณะคือ ทางตอนบนที่ติดกับคีรียาเป็นพื้นที่ราบสูงประชาชนแถบนี้จะทำฟาร์มปศุสัตว์และติดต่อซื้อขายวัตถุดิบจากธรรมชาติจากคีรียา ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ป่าที่หายาก หนังและกระดูกสัตว์ เป็นต้น ทางตอนใต้ที่ติดกับนิวอาดิออนและรัฟซูด้า เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประชาชนทำการเกษตรแต่มีจำนวนไม่มากนัก จะเป็นการเกษตรในครัวเรือนมีส่งไปที่ตัวเมืองเล็กน้อย ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่นำเข้าจากนิวอาดิออนและข้าวกับอาหารทะเลนำเข้าจาก อคูร่า มีท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก อาเร่ อคูร่า



            อาชีพหลักของชาวดันส์เซ็นคือ การตีเหล็ก การส่งออกวัสดุที่ทำมาจากโลหะให้กับ อคูร่า นิวอาดิออน รัฟซูด้า ส่วนคีรียาที่เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติจะไม่มีการนำเข้าโดยตรง แต่จะส่งไปขายที่เขตเป็นกลางแล้วหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โลหะชาวคีรียาจะมาหาซื้อที่เขตเป็นกลาง ซึ่งเหมืองแร่เหล็ก และแร่โลหะมีอยู่มากในแนวภูเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศด้านที่ติดกับนิวอาดิออน แต่การทำเหมืองไม่ได้ข้ามไปถึงเขตของประเทศนิวอาดิออน จะอยู่ในบริเวณของประเทศดันส์เซ็น



            แนวภูเขาจะขว้างกั้นระหว่างดันส์เซ็นกับนิวอาดิออนเป็นแนวยาว การติดต่อซื้อขายกับนิวอาดิออนจะทำกันระหว่างเมืองท่าของดันส์เซ็นกับเมืองนิวอาดิออนเหนือ พื้นที่เขตเมืองของดันส์เซ็นจะกินบริเวณที่กว้างใหญ่ที่สุดในทวีปอีกด้วย โดยรองลงมาคือเมืองหลวงของรัฟซูด้า



            พาหนะหลักที่ใช้ในการเดินทางของชาวดันส์เซ็นคือรถม้า โดยจะทำรถสำหรับเทียมกับม้าเพื่อที่จะสามารถเดินทางได้ครั้งล่ะหลายๆคน รถที่มีขนาดใหญ่ก็จะใช้ม้าในการเทียมมากขึ้นไปด้วย และสามารถนำรถมาต่อพ่วงกันได้อีกด้วย โดยม้าที่ใช้ลากรถคือ ม้าดันส์เซ็น (ม้าที่มีขนาดใหญ่รองจากม้านิวอาดิออน แต่มีความทนทานและฉลาดมาก จึงนิยมนำมาฝึกสอนเพื่อใช้ในการเทียมรถม้า เพราะในการเทียมรถม้า ม้าจะต้องวิ่งด้วยความเร็วที่พอเหมาะไม่มากเกินไป เพราะหากวิ่งเร็วเกินไปจะทำให้รถม้าคว่ำได้ ลักษณะเด่นของม้าดันส์เซ็นคือ แผงคอสีดำบริเวณหัวที่หนาและนุ่มเหมือนผมของคนแล้วยาวลงมาถึงต้นคอ ดวงตาสีดำ ขนนุ่มลื่นเหมือนมาชีฟ ดังนั้นการขี่ม้าดันส์เซ็นจะต้องใช้อานในการขี่เหมือนมาชีฟ ขนจะสั้นแต่ไม่สั้นถึงขนาดติดหนังเหมือนม้ารัฟซูด้า และม้าดันส์เซ็นถือเป็นม้าที่มีความสวย สง่างามที่สุดในทวีปเดสซิโทเนียด้วย สีขนจะมีหลากหลายมาก สีที่สวยและเป็นที่นิยมมากคือ สีดำนิล สีขาว สีน้ำตาลแก่ ซึ่งลักษณะรูปลักษณ์ของรถม้าและม้าที่ใช้รากจะบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของอีกด้วย)



            ในปัจจุบันได้มีการผสมพันธุ์ม้าดันส์เซ็นกับม้านิวอาดิออนเพื่อให้ได้ความทนทานมากยิ่งขึ้นและมีความฉลาดด้วย จึงได้ม้าพันธุ์ใหม่ เรียกว่า ม้านิวดันส์เซ็น ซึ่งมีลักษณะเหมือนม้าดันส์เซ็นทุกประการแต่มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า และมีขนบริเวณข้อเท้า ที่ได้ลักษณะเด่นมาจากม้านิวอาดิออนนั้นเอง จะนิยมนำม้านิวดันส์เซ็นมาใช้ในการลากรถม้า



            ม้าดันส์เซ็นจะนิยมนำมาขี่เพื่อความรวดเร็วในการเดินทางและสามารถขี่ได้ครั้งล่ะ 1 ถึง 2 คนเท่านั้น และการขี่ม้าดันส์เซ็นที่มีลักษณะสวยสง่างามที่เป็นที่นิยมก็เป็นการบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของอีกด้วย เครื่องแต่งกายของชาวดันส์เซ็นจะใช้วัสดุที่ทำมาจากผ้าไหม และผ้ายีนนำเข้าจาก  นิวอาดิออนเป็นหลัก มีการนำเข้าหนังสัตว์บ้างเพื่อใช้สำหรับทำรองเท้า โดยรองเท้าของดันส์เซ็นจะทำมาจากหนังสัตว์ หรือผ้าผสมกับโลหะเพื่อเพิ่มความทนทาน และการส่งออกรองเท้าเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้ดันส์เซ็นได้ดี เนื่องจากความทนทานนั่นเอง โดยประเทศที่สั่งซื้อเข้ามามากที่สุดคือ นิวอาดิออน รองลงมาคือ อคูร่า รัฟซูด้าตามลำดับ แต่ไม่มีการสั่งซื้อจากคีรียา เนื่องจากชาวคีรียาจะนิยมเครื่องแต่งกายจากธรรมชาติที่ไม่มีโลหะ



            เครื่องแต่งกายของชาวดันส์เซ็นจะนิยมนำมาย้อมสีและสีที่นิยมนำมาย้อมผ้าก่อนตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายมี 4 สีแบ่งได้ดังนี้ สีดำ สีขาวและสีน้ำเงินจะเป็นสีที่ใช้ในราชการและการทหาร สีน้ำเงินเข้มจะเป็นสีที่ใช้ทางศาสนา สีเทาจะใช้ในพิธีศพ จะใส่สีดำ หรือสีขาวก็ได้ แต่สีที่เป็นทางการคือสีเทา ส่วนสีอื่นๆนอกจากนี้จะใช้ตัดเย็บเป็นชุดงานเลี้ยงรื่นเริง ใช้ทำชุดทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และวัฒนธรรมเกี่ยวกับสีของเครื่องแต่งกายในทวีปเดสซิโทเนียก็ได้รับอิทธิพลมาจากดันส์เซ็น



            ในการสู้รบชาวดันส์เซ็นจะชำนาญการสู้บนหลังม้าโดยอาวุธที่ใช้จะมีหลากหลายแต่อาวุธที่เป็นอาวุธของชาวดันส์เซ็นดั่งเดิมคือ ดาบเดนส์เซน ซึ่งตั้งตามชื่อของผู้ก่อตั้งดันส์เซ็นในอดีต ตัวดาบจะเป็นดาบคมเดียว มีปลายแหลมแล้วจะค่อยๆกว้างขึ้นโดยบริเวณโคนดาบที่ติดกับด้ามจับจะกว้างและหนาที่สุด ความกว้างมากที่สุดเท่าเคยมีคนตีออกมาคือ 15 เซน ซึ่งโดยปกติความกว้างด้านโคนดาบจะประมาณ 7-12 เซนเท่านั้น มีความยาวตั้งแต่ 80-150 เซน แล้วแต่ความต้องการใช้งาน ถ้ามีความยาวตั้งแต่ 80-100 เซนจะนิยมใช้สู้ประชิดตัว ความยาวตั้งแต่ 100-150 เซนจะใช้สู้บนหลังม้า คมดาบโค้งลงเล็กน้อยจากปลายดาบลงมาถึงโคนดาบ ส่วนด้านไม่มีคมเป็นเส้นตรง



            บนตัวดาบด้านไม่มีคมนิยมประดับโลหะเป็นลวดลายต่างๆที่ดูแล้วคล้ายสัญลักษณ์ของธาตุต่างๆ แบบที่นิยมจะเป็นลายที่เหมือนสัญลักษณ์หรือรูปแบบของธาตุสายฟ้า กับ ธาตุลมเนื่องจากได้รับอิทธิพลมากจากคีรียาส่วนหนึ่งแต่จะมีการดัดแปลงไม่ให้เหมือนของชาวคีรียาซะทีเดียว



            ช่างบางคนนิยมจะทำให้โคนดาบที่เรียบหนาดูไม่ค่อยสวยมาเจาะเป็นลักษณะต่างๆ เช่น ฟันหมาป่า จะงอยปากนก เป็นต้น ต่อมาได้มีการนำอาวุธประเภทต่างๆเข้ามาใช้ด้วย เช่น หอก ทวน ขวานด้ามยาว เป็นต้น กำลังทหารของดันส์เซ็นถือได้ว่ายิ่งใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในทวีปเดสซิโทเนีย รองลงมาคือ รัฟซูด้า อคูร่า คีรียา และ นิวอาดิออนตามลำดับ



            การปกครองของดันส์เซ็นใช้ระบบจักรพรรดิปกครองจากส่วนกลาง สืบทอดตำแหน่งตามสายเลือดโดยจะให้ลูกชายคนโตสืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิ



            สิ่งก่อสร้างในดันส์เซ็นมีลักษณะเป็นวัสดุที่สร้างจากโลหะผสมอิฐ สร้างให้มีรูปลักษณ์ภายนอกดูเข้มแข็ง สง่างาม

            รูปทรงสิ่งก่อสร้างเป็นทรงเลขาคณิตและนิยมทำเป็นทรงกระบอก และทรงเหลี่ยมที่มีเหลี่ยมเป็นเลขคู่ เช่น 4 เหลี่ยม 6 เหลี่ยม 8 เหลี่ยมเป็นต้น โครงสร้างเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย สังคมเป็นแบบสังคมเมือง อยู่อาศัยแบบ 1 ครอบครัวแยกจากกัน มีวิหารสำหรับพิธีทางศาสนาอยู่ทั่วไปซึ่งชาวดันส์เซ็นนับถือธาตุสายฟ้า



            ชาวดันส์เซ็นเป็นชนชาติที่มีความเป็นระเบียบแบบแผน เคร่งครัดต่อกฎระเบียบข้อบังคับ แต่ก็มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ระดับหนึ่ง และนี้เป็นสาเหตุให้ประเทศดันส์เซ็นเป็นประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดและบทลงโทษที่รุนแรงที่สุด นักเดินทางจะเข้าประเทศดันส์เซ็นได้จะต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองซะก่อน ซึ่งด่านนี้จะมีอยู่ทุกชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน



            ชาวดันส์เซ็นมีผิวสีขาวซีด จนถึง สีขาวเหลือง ดวงตามี 2 สี คือสีดำ กับ เทาดำที่มีความคล้ายคลึงกับสีดวงตาของชาวอคูร่า ลักษณะเด่นที่บ่งบอกความเป็นชาวดันส์เซ็นคือสีผมที่มีสีเดียวเท่านั้นคือสีดำ ลูกครึ่งชาวดันส์เซ็นจะมีสีผมแตกต่างออกไปแต่สีจะเข้มมาก บางคนก็จะมีผมสีดำเลย



            สัตว์ประจำชาติของดันส์เซ็นคือ หมาป่าดันส์เซ็น (หมาป่าที่มีขนาดใหญ่เท่ากับหมาพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด บางตัวก็จะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ขนสีเงินดำหนานุ่ม ดวงตาสีน้ำเงินเข้ม จมูกสีดำ หูตั้งชัน หางยาวเป็นพวงหนาจรดพื้น เขี้ยวสีเงิน อาศัยอยู่ในป่าต้องห้ามทางทิศเหนือของประเทศใกล้ๆกับพระราชวังดันส์เซ็น) เป็นสัตว์พิทักษ์แห่งธาตุสายฟ้า ไม่เชื่องกับคน และจะแสดงความดุร้ายออกมาหากมีคน หรือ สิ่งที่คิดว่าอันตรายเข้ามาใกล้ แต่มีคำบอกเล่าว่าหมาป่าดันส์เซ็นจะเชื่องกับคนที่พลังธาตุสายฟ้าสูงมากๆ เหมือนเช่นผู้ก่อตั้งดันส์เซ็นในอดีตที่เคยมีบันทึกไว้ว่าเลี้ยงหมาป่าดันส์เซ็นไว้เป็นเพื่อน



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×