ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    โรงเรียนคือสัญลักษณ์ของการบังคับ การขู่ให้กลัวและการทำโทษ

    ลำดับตอนที่ #2 : 2. พ่อ...ทำไมเด็กเด็กต้องไปโรงเรียนด้วยครับ

    • อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 53


         คุณที่เป็นพ่อคนแม่คน เคยได้ยินคำถามนี้จากปากลูกๆของคุณบ้างไหม ? พ่อ...ทำไมเด็กเด็กต้องไปโรงเรียนด้วยครับ
    ผมได้ยิน "เด็กคนนั้น"ถามอย่างนี้จริงๆ ผมยังเชื่อต่อไปอีกว่า เด็กๆทั้งหลาย(น่าจะทั้งโลก)ที่อยู่ในระบบโรงเรียน น่าจะมีคำถามนี้อยู่ในสมอง ส่วนจะแค่คิดดังๆหรือพูดออกมาด้วยหรือไม่เท่านั้น

    และก่อนที่สมองสับปะรังเคของผมจะคิดตอบคำถามนี้ ผมน่าจะลองใช้สมองส่วนที่ยังพอเป็นสับปะรดเหลืออยู่ลองตรองดูว่า ก็แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้เด็กคนนั้นถามคำถามนี้ออกมา

    โดยไม่ต้องใช้สมองชั้นดีเลิศ ผมเชื่อว่า เราน่าจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า ก็เพราะเด็กคนนั้นไม่ชอบโรงเรียนที่เขาต้องไปอยู่ทุกวันนะสิ

    ทำไมเด็กเด็กต้องไปโรงเรียน?
    ถ้าเป็นคุณ คุณจะตอบอย่างไร

    สำหรับผมซึ่งสมองสับปะรังเคไปมากแล้ว คงคิดอะไรได้ไม่ไกลเกินกว่าประมาณว่า "ก็จะได้มีความรู้ จะได้ไม่โง่ ต่อไปจะได้ไม่ลำบาก จะได้ใช้สมองทำงาน ซึ่งสบายกว่าใช้มือใช้ตีนทำ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน จะได้และจะได้...อีกสารพัดยังไงล่ะ"

    นับแต่ที่ผมเริ่มประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า อันสมองของผมนี้มันช่างสับปะรังเคเสียจริง ผมก็เริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง(ก่อนนั้นผมไม่เคยเห็นสมองสับปะรังเคของผมว่าเป็นความสับปะรังเคเลยสักนิด)

    โรงเรียน! คุณเชื่อไหมว่า มันจริงแท้แน่นอนราวกับเป็นสัจธรรมนั่นเทียว แทบจะเทียบได้กับสัจธรรมที่ว่า ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องมีหนวด ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องมีนม ใช่! และถ้าเป็นเด็กก็ต้องไปโรงเรียนนั่นแหละ ทั้งที่มันไม่ควรจะต้องใช่เลย!

    พอลูกหลานของเราอายุถึงเกณฑ์ เดี๋ยวเราก็ต้องมานั่งวางแผนแล้วว่า จะให้มันไปอยู่โรงเรียนไหนดี จะเอาที่ใกล้บ้านเพราะสะดวกดี หรือไกลหน่อยแต่ดีกว่า จะต้องเตรียมเงินพิเศษไว้เผื่อต้องใช้สนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาของโรงเรียนสักเท่าไหร่ดี ถึงจะประกันได้ว่ามันจะมีที่เรียนแน่ๆ หมดปัญหาเรื่องที่เรียน ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะให้เรียนเก่งๆ ก็หาครูสอนพิเศษเก่งๆนะสิ เรื่องติวเข้มก็เหมือนกัน ควรจะเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ มองยาวไปถึงคราวเอ็นทรานซ์โน่น

    ชุดความคิดของผู้ใหญ่อย่างเรา มันก็วนเวียนอยู่ประมาณนี้ละครับ ผมกะหยาบๆสำหรับพ่อแม่ที่วางแผนการศึกษาอย่างอยู่ในร่องในรอยให้ลูกๆ ประมาณเก้าคนครึ่งในสิบคนที่คิดแบบนี้ อย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าเป็นสัจธรรมก็เกินไปหน่อยแล้ว

    โรงเรียนได้กลายมาเป็นสัจธรรมของชีวิตมาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?

    โดยสามัญสำนึก เราน่าจะพอจินตนาการได้ว่า แต่ก่อนเราไม่มีโรงเรียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะอย่างที่คุ้นกันนี่หรอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีที่ที่จะเรียนรู้อะไร ตรงข้าม ที่ที่จะเรียนรู้อะไรต่ออะไรที่จำเป็นแก่ชีวิต มันมีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว มันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ตามศาลาวัด ตามเรือนชานของหมอกลางบ้าน ตามป่าละเมาะ ตามอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

    ก็ในเมื่อสิ่งที่จะให้การเรียนรู้แก่เรา มันมีอยู่ทั่วไปเช่นนี้แล้ว แล้วด้วยเหตุอันใด ที่ในเวลาต่อมา โรงเรียนจึงได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี กลายเป็นสิ่งที่ชีวิตของเด็กๆจะขาดเสียมิได้

    ......เสียงร้องไห้จ้าอย่างขวัญเสียของเด็กๆ เพราะไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่ซึ่งเคยอยู่ใกล้ชิดเขามาตลอด จู่ๆวันหนึ่งกลับยัดเยียดเขาให้กับอีกคน ใครก็ไม่รู้ ซึ่งเขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน ถ้าการได้อยู่คลุกคลีกับพ่อแม่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นความอบอุ่นในความรู้สึกของเด็กๆ ช่วงขณะของการผลักไสนั้นมันคืออะไรเล่า ทำไมวันหนึ่งเหตุการณ์มันถึงได้เปลี่ยนไปอย่างกลับตาลปัตรเช่นนั้น พ่อแม่กำลังบอกอะไรกับเขาหรือ กำลังสอนบทเรียนอันสำคัญอะไรให้หรือ ทำไมจึงต้องกระทำสิ่งอันโหดร้ายต่อจิตใจของพวกเขาเช่นนั้น

    จากนี้ไปนานเป็นปีๆ อย่างกับไม่มีวันจะจบสิ้น ปีแล้วปีเล่าที่พวกเขาต้องยอมตนอยู่ใต้คำสั่ง ความกลัว และข้อปฏิบัตินานับประการ ราวกับนักโทษ ไม่ว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังข้อบัญญัตินั้นจะไร้เหตุผลเพียงใดก็ตาม พวกเขาจะต้องเรียนแต่สิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องเรียน(ตามเวลาที่กำหนด) ไม่ว่าจะอยากหรือไม่ก็ตาม ไม่มีสิทธิ์ที่จะอยากก่อนหน้าหรือหลังจากที่กำหนดมา จะต้องสนใจแต่สิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องสนใจ ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะน่าเบื่อเพียงใดก็ตาม

    เสียงร้องให้จ้าอย่างขวัญเสียนั้น คือบทเรียนแรกที่พวกเขาได้รับ จากสถานที่ใหม่อันน่าพรั่นพรึง นั่นคือบทเริ่มต้นของความโหดร้าย ซึ่งยังจะมีตามมาอีกหลายบท โลกรายรอบอันโหดร้ายนี้จะคอยสั่งสอนและให้บทเรียนแก่พวกเขา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จงเก่งกว่าคนอื่น จงขยันกว่าคนอื่น จงเร็วกว่าคนอื่น จงเอาให้มากกว่าคนอื่น โลกคือสถานที่แห่งการแก่งแย่งและคว้าเอามา โลกไม่ใช่ของเราเพื่อเรา แต่เป็นของฉันเพื่อฉัน

    คงไม่มีพ่อแม่คนใดที่ไม่สะเทือนใจต่อเสียงร้องจ้านั้น มนุษย์จะฝืนสัญชาตญาณของตนได้หรือ หากแต่พื้นภูมิแต่หนหลังของเขานั่นเอง จะรีบออกมาปกป้องการกระทำอันโหดร้ายนั้น มันทั้งปลุกและปลอบให้เชื่อว่า นี่เป็นกฎของชีวิตราวกับบัญญัติมาจากสวรรค์นั่นเทียว

    ".....ที่ฉันเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้เช่นทุกวันนี้(บางคนถึงกับใช้คำว่าได้ดิบได้ดี) หาใช่เพราะฉันก็เคยร้องไห้จ้าอย่างนี้มาก่อนหรอกหรือ ชีวิตก็เป็นเช่นนี้แหละ และฉันก็ผ่านมันมาได้ มันทำให้ฉันแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ ฉันไม่ได้โหดร้ายกับเด็กๆ ฉันประสบกับมันมาก่อน มีเหตุผลอะไรหรือที่จะไปปกป้องพวกเขา จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งฉันก็ต้องประสบเช่นกัน ใช่! ฉันไม่ปฏิเสธหรอกว่า ฉันสะเทือนใจกับเสียงร้องจ้านั้น แต่ฉันจะไม่ยอมใจอ่อนให้กับความอ่อนแอ (อารมณ์สะเทือนใจ) นั้นมาเป็นเจ้าเรือนใจฉันได้หรอก เพื่ออนาคต พวกเขาต้องถูกฝึกให้เข้มแข็งอดทนเสียตั้งแต่ยังเป็นไม้อ่อนนี่แหละ......"

    ในนามแห่งความรักของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ ความรู้(ตามระบบของโรงเรียน)สำคัญกว่าความรัก อิสรภาพเป็นเรื่องเหลวไหล การบังคับขู่เข็ญ - การลงโทษเป็นเรื่องจำเป็น และอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์ต้องถูกตีค่าเสียใหม่อย่างเหยียดเยาะว่า เป็นแค่ความอ่อนแอปวกเปียก แต่การกดข่มอารมณ์สะเทือนใจให้กลายเป็นความเฉยชาแข็งกระด้างนั่นต่างหาก ที่สมควรได้รับการแปลความหมายและยกค่าให้เป็นความเข้มแข้งอดทน อันเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์อย่างพวกเราพึงฝึกให้มีให้เป็น

    พ่อแม่คือผู้ใหญ่คนแรกๆที่เด็กๆควรได้อยู่ด้วย แต่ในความเป็นจริงเด็กๆนั่นเองที่จำต้องถูกฝึกให้เสียสละแต่เนิ่นๆที่จะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ของเขา ถูกพรากออกจากบ้านอันอบอุ่น ผลักไสไปสู่คนอื่น ไปสู่ที่นั่น ที่ที่เรียกว่าโรงเรียน!เพื่อให้พวกผู้ใหญ่อย่างเราได้ออกไปจรจัด(แปลว่า - ไขว่คว้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า) เพื่อรับใช้และผดุงไว้ซึ่งระบบอุตสาหกรรม - ทุนนิยมตลาดเสรี

    โรงเรียนอย่างที่เราคุ้นกัน ก็คือสิ่งซึ่งรับใช้และให้บริการต่อระบบดังกล่าว โดยปริยาย น่าจะถูกต้องกว่าถ้าพูดว่า ระบบนั้นนั่นเองคือแม่บทใหญ่ที่ประดิษฐ์ระบบโรงเรียนขึ้นมา (รวมทั้งระบบย่อยๆอื่นๆด้วย) ซึ่งก็แน่ละว่า เป็นไปไม่ได้ที่มันจะประดิษฐ์สิ่งซึ่งจะไปขัดขวางและคัดค้านตัวมันเอง

    อะไรคือสิ่งที่ระบบอุตสาหกรรมต้องการ คุณสมบัติแบบใดที่ระบบนี้พึงหวัง นั่นคือสิ่งซึ่งระบบโรงเรียนพึงรับใช้และให้บริการ พึงสังเกตว่าระบบนี้ใช้คำว่า "ผลิต" ซึ่งต้องตรงกับชุดศัพท์ของมันโดยแท้ เช่นผลิตบุคลากรเพื่อสนองนโยบายพัฒนาประเทศ เป็นอาทิ

    มันก็ถูกต้องดีแล้วที่เด็กๆจะถูกตีค่าเป็นเพียงวัตถุดิบชนิดหนึ่ง เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบโรงเรียน อันมีกระบวนการที่จำลองมาจากระบบในโรงงานอุตสาหกรรม แปรรูปไปตามคำสั่ง ถูกจัดแบ่งเป็นระดับตามเกณฑ์ ถูกประทับตราว่าเก่งหรืออ่อนด้อย ฉลาดหรือโง่ และเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาถูกระบายออกจากระบบการศึกษาแล้ว ก็จะได้เข้าสู่สายพาน รับใช้และสืบทอดระบบอุตสาหกรรมสืบไป

    และไม่ว่าพวกเขาจะถูกตีตราให้อยู่ใน(สินค้า)ชนิดใดระดับใด สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ พวกเขาได้สูญสิ้นสิ่งอันน่าหวงแหนที่สุดของชีวิตไปแล้ว สูญสิ้นการตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ความมีชีวิตชีวา เหล่านี้อันรวมอยู่ในความหมายของคำเพียงคำเดียวคือ "อิสรภาพ" คำเพียงคำเดียวอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กๆควรจะได้รับ แต่กลับต้องยกให้กับโรงเรียนและเสียสละให้กับระบบไป

    ใครที่พูดว่า โรงเรียนตายแล้ว ผมไม่เชื่อ บางทีมันอาจไม่แม้แต่ถูกทำให้บาดเจ็บด้วยซ้ำ ยิ่งชุดความคิดแบบอุตสาหกรรมขยายใหญ่ขึ้นเพียงใด ระบบโรงเรียนอันเป็นดั่งทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของมัน ยิ่งต้องแข็งแรงและเด็ดขาดยิ่งขึ้นเพียงนั้น
    การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังทำกันอยู่นั่นไง เป็นสิ่งยืนยันว่า ประสิทธิภาพของการรับใช้ต้องเท่าทันกับแม่บทใหญ่ของมัน เมื่อวิธีท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองไม่อาจตอบสนองยุคสมัยได้อีกต่อไป วิธีที่ทันยุคกว่าจึงต้องถูกคิดค้นขึ้นมา

    - ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้
    - ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
    - ผู้เรียนสำคัญที่สุด

    พรรณนาความอันยืดยาวของหัวข้อเหล่านั้น (ซึ่งน่าเบื่อเกินกว่าจะนำมากล่าว ณ ที่นี้) อาจทำให้ใครสักคนต้องหัวเราะแบบขื่นๆ ถ้อยคำอันสวยงามเลิศลอยนั้น วาดภาพของสวนสวรรค์แห่งการศึกษาขึ้นมาตรงหน้าเรา ครูเป็นดั่งนางฟ้า - เทวดาที่สวรรค์ประทานมา เด็กๆดูช่างมีความสุขในการเรียน(ความสุขในแบบฉาบทาอยู่ภายนอก) นี่คือสวนสวรรค์ที่วาดขึ้น และฝันว่ามันจะผุดขึ้นมาได้จริงๆ ท่ามกลางความเสื่อมทรามที่อยู่รายรอบ อาจต้องจินตนาการเพิ่มเข้าไปอีกนิดว่ามีโดมแก้วครอบสวนสวรรค์นี่ไว้เสียหน่อย

    พึงสังวรว่า เราต้องไม่แปลความหมายของถ้อยคำเหล่านั้นอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะนี่ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ ไม่ใช่เป้าหมายใหม่ มันเป็นแค่วิธีการ(อุบาย)ใหม่เท่านั้น เป็นวิธีการทารุณกรรมเด็กแบบใหม่ที่โฆษณาว่ามีประสิทธิภาพกว่าแบบเก่า

    ขอให้สังเกตคำว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด (ถึงกับเน้นคำว่า"ที่สุด"กันเลยทีเดียว) ซึ่งเราต้องไม่หลงเคลิ้มไปว่า สวนสวรรค์แห่งการเรียนรู้ได้รับการสถาปนาขึ้นแล้ว ตราบใดที่เรายังไม่ทำโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ว่าจะใช้คำว่า " ที่สุด" ซ้ำลงไปอีกสักกี่ครั้ง ความหมายของมันก็ไม่มีวันเปลี่ยนมาอยู่ข้างเด็กๆได้เลย มันยังคงเป็นของ "สิ่งอื่น"ตลอดมา

    ไม่ใช่ผู้เรียนสำคัญที่สุดหรอก มันสำคัญน้อยที่สุดต่างหาก นโยบายสิที่สำคัญที่สุด มันก็เหมือนถ้อยคำอีกมากมายในระบบของเราเช่น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม คุณธรรมความดี ฯลฯ เหล่านี้หากว่ามันยังสามารถคงค่าแห่งความหมายของมันไว้ได้ ในท่ามกลางความเสื่อมทรามแห่งอารยธรรมของเราแล้ว ก็มีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะอธิบายมันได้ ในความเป็นจริงมันล้วนแต่กำลังเน่าในทั้งสิ้น

    ใช่! การปฏิรูปการศึกษาย่อมต้องเน้นเสียงดังๆว่า จากนี้ไปเด็กๆจะมีอิสระอย่างเต็มที่ ใครอยากจะเดินด้วยท่าทางแบบไหนก็ได้ตามสบาย เว้นแต่ต้องเดินไปสู่ "จุดนั้น" ตามคอกที่กั้นไว้แล้วเท่านั้น

    โรงเรียนไม่เคยตาย ทั้งที่ในความควรจะเป็นแล้ว โรงเรียนสมควรตาย โรงเรียนแบบนี้สมควรถูกทำให้ตายไปได้แล้ว และพระเจ้า! หากว่ามันจะตายไปเสียได้จริงๆ เราก็จะได้เห็นภาพในแบบฟิล์มภาพยนตร์เดินถอยหลัง เด็กๆครูและทุกสิ่งที่อยู่ในอาคารเรียนจะเดินถอยหลังพรั่งพรูออกมา ภาพตัวอาคารจะค่อยๆกร่อนลงๆและหายไปในที่สุด เวลาเดินย้อนกลับไปในอดีต เห็นเด็กๆวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานบนลานดิน บ้านที่มีแต่ความอ้างว้างก็กลับอบอุ่นขึ้น เพราะผู้ใหญ่ไม่ต้องออกไปจรจัดอีกต่อไป

    ความกลมเกลียวสงบสุขในชุมชนกลับคืนมา ไม่มีแม่น้ำเน่าๆ ไม่มีฝุ่นควันอุบาทว์ ไม่มีเด็กเร่ร่อนจรจัด-ติดยา-ขายกาม ไม่มีเด็กคลุ้มคลั่งที่ลากอาวุธออกไปฆ่าใครต่อใคร ไม่ต้องมีสถานพินิจ สถานสงเคราะห์ ไม่ต้องมีโรงพยาบาลบ้า บางทีอาจไม่ต้องมีตำรวจ!

    โอ....เป็นไปได้อย่างไรที่จะทำใจให้ยอมรับได้ว่า โรงเรียนอันสง่างามหลังนั้นหายวับไป เป็นไปได้อย่างไรที่จากนี้ไป คนที่เป็นพ่อแม่ไม่ต้องตื่นตีสี่ ไม่ต้องเตรียมกล่องข้าวไว้ป้อนลูกๆในรถ ไม่ต้องออกไปแย่งพื้นถนนให้รถมีที่คลานไปส่งลูกที่โรงเรียน ไม่ต้อง...ไม่ต้อง...

    นี่มันจะไม่สวยงามจนเกินทนไปหน่อยแล้วหรือ จะไม่ทำเอาเราต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงไปหรอกหรือ สวยงามเสียจนอาจทำให้ความเคยชินต่อความเสื่อมทรามของเราเจ็บปวดได้

    เป็นไปได้อย่างไรที่โรงเรียนจะถูกทำลายลงไป ระบบที่เรายึดถือนั่นด้วย เราจะทนได้อย่างไร หากมันถูกทำลายลงไปจริงๆ
    ใช่! เป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ว่า เราเริ่มสำนึกโดยนับเอาคำถามของเด็กคนนั้นว่า "เป็นปัญหา"ไม่ใช่ "ไม่เป็นปัญหา" และคนที่เป็นพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่อย่างเรานี่แหละ ที่ควรจะมีคำถามเสียทีว่า ทำไมเราต้องคิดและทำแต่สิ่งซ้ำซากเหล่านั้น และเพื่อเห็นแก่อะไรสักอย่าง อะไรก็ตามแต่ หากว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่จำต้องมีอยู่ต่อไป เรานั่นเองที่ควรถามตัวเองแรงๆว่า โรงเรียนมีแต่ "แบบนี้"เท่านั้นหรือ

    มันจะเป็นอีกอย่างที่ต่างไปจากนี้ไม่ได้หรือ???

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×