ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    โรงเรียนคือสัญลักษณ์ของการบังคับ การขู่ให้กลัวและการทำโทษ

    ลำดับตอนที่ #1 : 1. เด็กๆควรเรียนอะไร ?

    • อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 53




            ผมมีความเชื่อว่า โดยธรรมชาติเด็กทุกคน(หมายถึงเด็กปกติ)มีศักยภาพเต็มเปี่ยมอยู่แล้วในตัว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเสริมอะไรขึ้นมาอีก เด็กที่ดูเหมือนว่าขาดศักยภาพในบางเรื่อง(โดยเฉพาะในเรื่องที่ผู้ใหญ่คาดหวัง) เช่น อ่อนวิชาคณิตศาสตร์ ผมเชื่อว่านั่นเป็นเพราะเด็กคนนั้นยังไม่สนใจวิชาคณิตศาสตร์ ดังนั้นศักยภาพในด้านนี้จึงยังไม่แสดงออกมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีศักยภาพในด้านนี้


    ผมใช้คำว่ายังไม่สนใจซึ่งหมายความว่า สิ่งที่เขาไม่สนใจในวันนี้ พออีกวันเขาอาจสนใจมันขึ้นมาก็ได้ หรืออาจไม่สนใจตลอดไปเลยก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เช่นกัน นี่อาจดูเป็นเรื่องน่าห่วงที่ทำให้มีคำถามว่า แล้วถ้าเกิดเด็กคนนี้ไม่สนใจวิชาคณิตศาสตร์ตลอดชีวิตของเขา เขาจะอยู่อย่างไรในสังคมที่ยังต้องอาศัยการบวกเลขลบเลขฯเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต

    ด้วยความเชื่อของผมที่ว่า ความสนใจทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ ทำให้ผมไม่ห่วงเรื่องนี้เลย

    ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง....


    เด็กคนหนึ่ง พออายุถึงเกณฑ์ก็ต้องเข้าโรงเรียน ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับตำรับตำราที่เขาแทบไม่สนใจเอาเสียเลย ต้องเจอกับครูดุๆ เขาและเด็กๆอีกหลายคนไม่ได้อยากมาอยู่ที่นี่เลย เพราะที่นี่มีแต่การออกคำสั่ง การบังคับ การทำให้กลัว การทำโทษ ไม่มีอิสระที่จะเลือก ที่นี่มีแต่เรื่องที่น่ากลัวและน่าเบื่อมากเกินไป เรื่องสนุกและน่าสนใจที่พอจะมีก็น้อยเกินไป แต่ถึงไม่อยากอยู่ก็ต้องอยู่ เพราะพ่อแม่ของเขาบอกว่า "เด็กที่ไม่เรียนหนังสือเป็นคนเถื่อน ตำรวจจะจับ"

    ......เวลาผ่านไปเด็กคนนี้ก็เคยชินกับการต้องไปโรงเรียน และยอมรับเสมือนหนึ่งว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต ก็เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ต้องตื่นขึ้นมาในตอนเช้าเพื่อออกไปทำงาน หรือค้าขายอยู่ในร้านค้าของตน

    ......วันหนึ่งเด็กคนนี้พบว่าเขาชอบวิชาวาดเขียน จิตใจเขาจดจ่ออยู่แต่เรื่องนี้ ในเวลาเรียนแทนที่เขาจะสนใจบทเรียน แต่กลับแอบหัดวาดรูปจากภาพประกอบในหนังสือเรียน เขาอยากให้ทุกชั่วโมงทุกวันที่เรียนมีเพียงวิชาวาดเขียนวิชาเดียว และเขาจะมีความสุขมาก แต่เขาก็รู้ว่านั่นเป็นแค่ความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง

    เมื่อความรักชอบเป็นแรงบันดาลใจ จะมากจะน้อยเขาก็ใคร่กระเสือกกระสนเพื่อให้ได้มันมา หลังเลิกเรียนแต่ละวัน ไม่ผิดอะไรกับการหลุดออกจากคุก ได้อยู่กับการวาดเขียนที่รักอย่างเต็มที่ แต่กับสิ่งที่รักเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ไม่ทันไรก็ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนอีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาไม่พอใจก็คือ ทำไมวิชาที่เขารักจึงถูกทำให้ต่ำต้อยด้อยค่าถึงเพียงนี้ เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ

    ตลอดทั้งสัปดาห์วิชาวาดเขียนมีเพียงหนึ่งชั่วโมง ทั้งยังอยู่ในชั่วโมงสุดท้ายของวันอีกด้วย เขาคิด มันคงเป็นวิชาที่สำคัญน้อยที่สุดเป็นแน่! แต่แม้นมันจะไม่สำคัญกับใครก็ช่าง แต่กับเขาแล้วมันสำคัญที่สุด ส่วนวิชาอื่นๆเขาก็ทนๆเรียนไปอย่างนั้น เมื่อผู้ใหญ่บอกว่ามันสำคัญที่เด็กต้องเรียน เขาก็เชื่อตามนั้น และประคับประคองให้ผ่านมาได้

    สามสี่ปีผ่านไปเขาก็ได้สิ่งที่เขารัก เสาร์-อาทิตย์หรือปิดเทอม เขาสามารถหารายได้พิเศษด้วยการเขียนคัตเอ๊าท์โฆษณาหนังได้ด้วยฝีมือเท่าๆกับช่างอาชีพ

    .......วันนี้เด็กคนนั้นได้ตระหนักว่า เวลาที่ระบบเอาไปจากเขานั้นทำให้เขาต้องสูญเปล่าไปเพียงใด ถ้าเขาไม่ถูกกักขังอยู่ในห้องเรียน เขาอาจใช้เวลาน้อยกว่านี้กว่าครึ่ง เพื่อจะได้สิ่งที่รักมา

    อย่าถามถึงสิ่งที่เขาต้องฝืนเรียนมาเลย ว่าเขาได้อะไรมาบ้าง วิชาคณิตศาสตร์น่ะหรือ แค่บวกลบคูณหารกับเทียบบัญญัติไตรยางศ์ได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง และมันก็รับใช้ความจำเป็นของชีวิตในแบบที่เขาเลือกได้เพียงพอแล้ว วิชาอื่นๆไม่ต้องพูดถึง เขานึกไม่ออกเลยว่าถ้าเขาไม่เคยเรียนมาก่อน ชีวิตวันนี้ของเขาจะเดือดร้อนอันใด

    แต่จะว่าแปลกหรือไม่ก็ตาม หลังพ้นออกมาจากระบบ เขากลับเริ่มสนใจวิชาความรู้อื่นๆอีกหลายอย่าง อย่างที่ระบบเองก็ไม่อาจให้กับเขาได้ เมื่อเขาสนใจใครรู้เรื่องใดอย่างจริงจัง มันย่อมไม่เกินกำลังที่เขาจะไปไขว่คว้าเอามันมา และเขาบอกกับตัวเองว่า นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ระบบจะมาอ้างเอาความดีความชอบกับเขาได้ว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเขาได้ผ่านระบบมาก่อนแล้ว

    ผมเชื่อว่าเรื่องเล่านี้ไม่ได้เกินไปกว่าชีวิตจริงของใครอีกหลายคน และเราอาจตั้งคำถามทำนองเดียวกันนี้ได้กับตัวเราเอง กับลูกหลานของเรา

    การที่คนเราเกิดความสนใจอะไรสักอย่าง บางเรื่องเราไม่อาจบอกสาเหตุที่แท้จริงได้ว่า ทำไมเราจึงสนใจสิ่งนั้น บางทีวิชาจิตวิทยาอาจให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ เช่นคนที่สนใจดูนก สนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไก สนใจศิลปะการต่อสู้ สนใจการขีดเขียน เหล่านี้ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นความสนใจโดยสมัครใจ ใครจะมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นเรื่องความรักชอบของแต่ละคน และมีความสนใจอีกแบบหนึ่ง

    ที่ผมขอเรียกว่าเป็นความสนใจโดยจำเป็น เช่นการเรียนรู้การพูดการฟังของเด็กทารก ซึ่งโดยสัญชาตญาณเด็กรู้ว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นกับชีวิตของเขา เขาเห็นพ่อแม่พยายามสื่อสารกับเขาด้วยการพูดและใครๆที่อยู่แวดล้อมเขาก็ใช้วิธีนั้น ดังนี้เขาจึงสนใจเรียนรู้และค่อยๆพัฒนาไปตามลำดับ (ตรงนี้ผมอยากเน้นว่า กระทั่งเด็กทารกก็ยังมีศักยภาพในการเรียนรู้ และเราคงไม่ลืมหรอกว่า ไม่มีใครเรียนการพูดมาจากห้องเรียนที่ไหน แต่จากชีวิตประจำวันนั่นเอง)

    ความสนใจแบบแรกเป็นเรื่องคุณค่าทางใจ เป็นความพอใจเฉพาะตัว ไม่ใช่ถูกบังคับจากภายนอก ขณะที่ความสนใจแบบที่สองเป็นเงื่อนไขจากภายนอก เช่นเราต้องสนใจเรื่องความสะอาดในการกินอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเจ็บป่วย, ความจำเป็นต้องพูดภาษาจีนได้ถ้าต้องติดต่อกับคนจีน เราทุกคนมีความสนใจทั้งสองแบบนี้อยู่ในตัว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่

    ที่ผมบอกว่าผมไม่ห่วงเรื่องเด็กไม่สนใจวิชาคณิตศาสตร์นั้น เพราะผมเชื่อว่าไม่มีเด็กปกติคนไหนที่ไม่สนใจคณิตศาสตร์ไปตลอดชีวิตของเขา ผมเชื่อว่าจะช้าหรือเร็ว วันหนึ่งเขาจะพบเองว่ามันจำเป็นกับชีวิตและเขาจะกระตือรือร้นเรียนรู้เอง

    ถ้าเด็กมีอิสระในการเลือกเรียนตามความสนใจ และเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่รู้จักอดทนรอ เมื่อถึงเวลาของมันศักยภาพก็จะแสดงตัวออกมาเอง และเด็กก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุข เพราะการมีอิสระก็คือการมีความสุข

    นี่คือปัญหาสำคัญอันหนึ่งในระบบการศึกษาของเรา เพราะเราชอบที่จะคิดว่าเรารู้ดีไปเสียหมดทุกอย่าง และเด็กไม่รู้อะไรเลย เราจึงเอาแต่ออกคำสั่งว่าต้องสนใจเรื่องนั้น ต้องเรียนวิชานี้ ต้องทำอย่างนั้นและห้ามทำอย่างนี้

    มีใครที่มีข้อพิสูจน์ได้ว่า เด็กวัยใดสามารถเรียนเรื่องใดได้บ้าง และใครด้วยข้ออ้างอะไรจึงคิดว่าตนมีสิทธิ์บังคับเด็กว่าต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้ เด็กๆจึงเหมือนถูกฉีดยาเร่ง ต้องเรียนให้เร็วขึ้นและมากขึ้น มีใครในระบบการศึกษานี้ที่ได้สร้างผลวิจัยที่เชื่อถือได้ พอที่จะยึดเป็นตัวความรู้ได้ว่าเด็กในวัยใดสามารถหรือควรเรียนรู้เรื่องใดบ้าง ? สนใจอะไร ? ในระดับใด ? เราเคยมีอะไรอย่างนี้ให้อ้างอิงพอเป็นแนวทางบ้างไหม?

    การที่เด็กไม่สนใจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะวัยยังไม่ถึง หรือวัยถึงแล้วแต่เด็กยังไม่มีความสนใจเองก็ตาม เด็กก็ไม่ควรถูกบังคับ เด็กที่ถูกบังคับจะต่อต้านขัดขืนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อ่อนๆจนถึงขั้นรุนแรง เริ่มจากเฉื่อยเรียน เหม่อลอย ไม่สนใจ มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎ ในแบบต่างๆเช่น หนีโรงเรียน

    เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะไปบังคับเด็กๆให้สนใจในสิ่งที่เขายังไม่สนใจ ลองนึกดูว่าถ้ามีใครมาบังคับให้เราทำอะไรที่เราไม่อยากทำ ถูกบังคับให้สนใจในสิ่งที่เราไม่สนใจว่าเป็นเรื่องเลวร้ายเพียงใด เด็กก็เช่นกัน ใครลองไปบังคับคนที่เท่าๆกันจะกล้าไหม? ที่เรายังบังคับเด็กๆได้ก็เพราะเรารู้ว่าเด็กสู้เราไม่ได้นั่นเอง และนี่คือสิ่งที่เด็กๆต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในโรงเรียน เด็กจึงมีพฤติกรรมหลบเลี่ยง เล่นละครตบตาครูเอาตัวรอดไปวันๆ สุดท้ายเพื่อจะได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการเรียนอันตื้นเขินปลอมๆ

    เพราะการบังคับคือการไม่มีความสุข และเราก็รู้อยู่ว่าเด็กที่ไม่มีความสุขไม่มีวันที่จะเรียนรู้ได้ดี แต่ที่น่าตลกก็คือ การบังคับนี่เองคือหัวใจของระบบการศึกษาของเรา และโรงเรียนก็คือสัญลักษณ์ของการบังคับ การขู่ให้กลัว การทำโทษ ผมจึงไม่แปลกใจที่เด็กๆทุกวันนี้ออกมาทำอะไรแปลกๆแบบนักทำลายกฎ ซึ่งนั่นคือการประท้วงชีวิต ชีวิตปลอมๆที่ระบบตั้งหน้าตั้งตายัดเยียดให้เขามานานปี และในที่สุดย่อมมีสักวัน วันที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาสลัดสิ่งที่กดหัวเขามาตลอดออกไป และมักออกมาในรูปของความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับใครเลย

    หลายคนยังต้องส่งลูกหลานไปโรงเรียน ทั้งที่ในใจมีข้อค้านอยู่ เพราะไม่รู้จะเอาลูกไปไว้ที่ไหนดี เมื่อเรายังไม่อาจวางใจในระบบ สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ จงวางใจในตัวเด็กและอยู่ข้างเขา คนที่เป็นพ่อแม่ไม่ควรหันกลับมาทำร้ายลูกหลานของตนซ้ำลงไปอีก จากที่ระบบกระทำอยู่แล้ว

    เพื่อนผมคนหนึ่งพยายามฝืนออกมาอยู่นอกระบบ เขาเลี้ยงลูกเองสอนหนังสือลูกเอง ในร้านค้าที่เขาเป็นเจ้าของ เขาและภรรยามีเวลาให้ลูกมากพอ ทั้งให้อิสระที่จะเล่นหรือเรียนก็ได้ตามใจชอบ ดูแล้วเด็กก็น่าจะมีความสุขดี แต่เพื่อนบ้านในละแวกไม่มีใครทำอย่างเขา เพราะเด็กๆถูกส่งไปโรงเรียนกันหมด ลูกของเขาจึงไม่มีเพื่อนเล่น ไม่มีสังคม ทนอยู่ได้ไม่เท่าไหร่ ในที่สุดก็ต้องเข้าโรงเรียนตามเด็กอื่นๆไป

    นี่คือระบบ มันยึดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเรา!

    ผมมีสารานุกรมความรู้สำหรับเด็กอยู่ชุดหนึ่ง มันยืนเด่นเป็นสง่า(น่าจะเรียกว่ายืนตายมากกว่า)อยู่ในตู้หนังสือมานานปี จนลืมไปแล้วว่ามีมันอยู่ ทั้งๆที่เดินผ่านทุกวัน ความจริงควรเป็นผมเองที่น่าหยิบมันมาเปิดๆให้เจ้าหลานชายได้เห็นบ้าง เผื่อว่าเขาจะสนใจ และผมจะได้ถือเป็นโอกาสเล่าอะไรๆในนั้นให้เขาฟัง แต่ก็เปล่า สารานุกรมชุดนั้นคงยังต้องหลับใหลอยู่ตรงนั้นต่อไปโดยไม่มีใครสนใจ ถ้าไม่ใช่เพราะเจ้าหลานชายผมที่ไปปลุกมันขึ้นมา รื้อมันออกมาเปิดดู แต่เพราะเขาอ่านมันไม่ออก จึงถือเดินมาขอให้ผมอ่านให้ฟัง.....

    เรามักคิดว่าเด็กๆเอาแต่เล่นเหลวไหลอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจการเรียน ?

    เด็กก็เหมือนสัตว์ตัวเล็กๆที่อยู่ไม่สุข ถ้าไม่ได้สนใจจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง ก็ชอบที่จะรื้อค้นสิ่งของ ถามโน่นถามนี่ เพราะอยากรู้หรือหาอะไรที่น่าสนใจทำ จนผู้ใหญ่เบื่อรำคาญ เราเคยชินกับภาพของการเรียนว่าคือการนั่งอยู่กับตำรับตำรา การทำการบ้าน แบบเดียวกับที่เราเห็นในห้องเรียน ภาพแบบนี้แหละที่เราชอบ ดูช่างน่าประทับใจ! แต่เวลาที่เด็กๆแสดงความอยากรู้อยากเห็นด้วยการถามโน่นถามนี่ รื้อข้าวของออกมาเล่น อะไรๆแบบนี้เรามักไม่เห็นว่าเป็นความอยากเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็ก

    เด็กไม่ว่าคนไหนย่อมไม่อยากทำอะไรที่เขาไม่รู้สึกสนุกด้วย สนุกหมายถึงน่าสนใจจนไม่อาจอยู่เฉยได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องออกมาในกิริยาเอะอะมะเทิ่งเสมอไป บ่อยๆที่ผมเห็นเด็กๆเล่นกันเอะอะเจี๊ยวจ๊าว แต่พอสักพักคงเบื่อ ก็มาขอกระดาษดินสอไปนั่งวาดรูป- หัดเขียนหนังสือกันเรียบร้อย

    อาจพูดได้ว่าโดยธรรมชาติเด็กๆมีความสนใจใคร่รู้อยู่เต็มเปี่ยม อยู่ที่ผู้ใหญ่จะเปิดโอกาส ให้ทางเลือกแก่เด็กๆเพื่อลองคิดลองเล่นลองทำมากเพียงใด เพื่อว่าเด็กๆจะได้ค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ

    ผมเห็นด้วยกับนีล (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิล - โรงเรียนที่ให้อิสระกับเด็ก) นีลพูดว่า " มีแต่คนที่อวดรู้เท่านั้นที่คิดว่าการศึกษามีอยู่ก็แต่ในโรงเรียนเท่านั้น" ผมอยากต่อให้อีกนิดว่าและการศึกษาก็ไม่ได้มีอยู่แต่ในตำราเท่านั้น โดยเฉพาะตำราที่ใช้กันอยู่ในโรงเรียน

    พูดถึงเรื่องตำราแล้ว ถ้าลองเปิดตำราของเด็กประถมดูจะเห็นว่ามากไปด้วยอุบายหลอกล่อแบบลูกกวาด ที่ศัพย์วิชาการเรียกว่า การสร้างแรงจูงใจในการเรียน ผมลองเปิดตำราคณิตศาสตร์ดูก็เห็นว่าแทบทุกหน้าเปรอะไปด้วยรูปการ์ตูนส์สารพัดสี จนดูเป็นหนังสือการ์ตูนส์มากกว่าตำราคณิตศาสตร์ ราวกับว่าถ้ายิ่งประโคมสิ่งล่อหลอกลงไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

    น่าคิดว่าระหว่างรูปการ์ตูนส์ที่เด็กๆชอบ กับตัววิชาที่เด็กๆแทบจะไม่สนใจนั้น ใครสามารถตอบลงไปให้ชัดได้ว่าเด็กจะไม่หลงเพลินไปกับตัวการ์ตูนส์ (คงไม่ลืมว่าเด็กวัยนี้มากไปด้วยจินตนาการ) จนเขวจากการสนใจตัววิชาไป และถ้าวิธีหลอกล่อแบบนี้ดีจริง ก็น่าสงสัยเหลือเกินว่า ทำไมประเทศของเราจึงยังมากไปด้วยเด็กที่ผลการเรียนกะพร่องกะแพร่งมากกว่าเด็กเรียนดี หรือเพราะเด็กไม่ดีเอง หรือเพราะสภาพแวดล้อมไม่อำนวย หรือมีปัจจัยอื่นๆให้อ้างได้อีกตั้งร้อยพัน หรือในที่สุดควรจะสรุปว่าถ้าไม่เพราะตำราดีๆ ! ที่มีที่เห็นอยู่นี้ เด็กๆจะย่ำแย่กว่านี้ขนาดไหน !

    ความจริงก็คือระบบมันฟ้องอยู่แล้วในตัวว่า "ฉันรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ฉันต้องการให้เธอนั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบ ฉันจึงต้องหลอกล่อเธอ แกล้งทำดีกับเธอ ทั้งนี้ด้วยความหวังดีแท้ๆ! แต่ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผลก็ต้องบังคับกันหละ และถ้าเธอยังเป็นคนดีไม่ได้ ก็เพราะเธอไม่รักดีนั่นเอง ไม่ใช่ฉัน(ระบบ)ไม่ดี" เรียกว่ามีทั้งไม้นวมไม้แข็ง มีทั้งพระเดชพระคุณ นี่คือวิธีที่เราใช้มาตลอด และยังเชิดชูมันอยู่จนทุกวันนี้

    นี่ยังไม่พูดถึงตัววิชาที่ยังมีความรู้แบบผิดๆถูกๆ ความรู้แบบขยะๆปะปนอยู่อีกมากที่เด็กๆต้องแบกไว้บนหลัง

    โดยสรุปผมไม่เชื่อว่าระบบที่เป็นอยู่จะ "ให้" หรือเสริมสร้างอะไรให้เด็กๆได้ ตรงข้ามมันกลับเป็นตัวบั่นทอน บอนไซ หรือกระทั่งทำลายด้วยซ้ำไป พูดอีกอย่างก็คือ นั่นหละคือหน้าที่ของระบบ.

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×