ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Review Light Novel โดยอคติล้วนๆ

    ลำดับตอนที่ #300 : ฉลอง 300 ตอนกับประวัติศาสตร์โดยย่นย่อของไลท์โนเวล

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.18K
      27
      5 ก.พ. 60


    แม้ว่าปัจจุบันไลท์โนเวลในประเทศไทยจะเป็นที่แพร่หลายมากแล้ว แต่ก็น่าบางคนที่ยังสงสัยว่า “ไลท์โนเวลคืออะไร” หรือ “ไลท์โนเวลกับนิยายทั่วไปมันแตกต่างกันยังไง” ดังนั้นผมจึงลองเขียนบทความนี้เพื่อบอกถึงลักษณะทั่วไปของไลท์โนเวล และประวัติความเป็นมา เพื่อทำให้คนอ่านได้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าไลท์โนเวล ก่อนอื่นผมจะขอพูดถึงลักษณะทั่วไปของไลท์โนเวลนะครับ

     

    ลักษณะทั่วไปของไลท์โนเวล

                    ไลท์โนเวล(Light Novel) เป็นนิยายญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง มักจะถูกนำไปสร้างเป็นมังงะหรือนิเม ชื่อไลท์โนเวลมาจากคำว่า Raito Noberu ที่คำญี่ปุ่นที่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษอีกที คนญี่ปุ่นมักจะเรียกนิยายชนิดนี้ว่า ลาโนเบะ(Ranobe) หรือ ไลโนเบะ (Rainobe) ขณะที่ชาวตะวันตกจะเรียก LN หรือ Japanese Novella ลักษณะที่พบบ่อยในนิยายประเภทนี้ก็มี

    ·       มีความยาวประมาณร้อยกว่าหน้าและมีจำนวนคำประมาณ 40,000-50,000 คำ

    ·       มักจะพิมพ์ด้วยกระดาษ A6 (10.5 cm × 14.8 cm)

    ·       หน้าปกวาดเป็นแนวมังงะ ภายในรูปเล่มมีภาพประกอบแทรกเป็นระยะ

    ·       มักจะใช้อักษรฟุรินางะมากกว่าตัวคันจิ เพื่อที่จะได้อ่านได้ง่าย

    ·       เน้นการใช้ประโยคสนทนาและประโยคสั้นๆ ย่อหน้าหนึ่งประกอบด้วย 2-3 ประโยคเท่านั้น

    ·       พล๊อตเรื่องมักจะมีกลิ่นอายแนวแฟนตาซี ไซไฟ การผจญภัย หรือความรัก มักจะมีส่วนคล้ายเกมส์หรือการ์ตูน

    ·       ตัวละครหลักมักจะเป็นวัยรุ่นอายุน้อย เพราะกลุ่มเป้าหมายของนิยายประเภทนี้คือวัยรุ่นเช่นนักเรียนมัธยมต้นหรือนักเรียนมัธยมปลาย (ลุงแก่สามสิบอัพอย่างตรูนี่หลุดกลุ่มเป้าหมายไปไกลเลย)

     

    เนื่องจากไม่ได้มีการบัญญัติข้อแตกต่างระหว่าง “ไลท์โนเวล” และ “นิยาย” ไว้อย่างชัดเจน ทำให้บางครั้งเกิดความสับสนแยกแยะได้ยาก แม้ว่านิยายบางเรื่องจะมีคุณสมบัติบางข้อแต่ก็ไม่ใช่ไลท์โนเวล ไลท์โนเวลบางเรื่องก็ไม่ได้มีคุณสมบัติบางข้อที่ว่า แม้แต่บทความนี้เองที่ตั้งชื่อว่า “Review Light Novel โดยอคติล้วนๆ” ก็มีการพูดถึงนิยายที่ไม่ใช่ไลท์โนเวล เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับไลท์โนเวลหรือผมอยากรีวิวเป็นการส่วนตัวก็มี

     

    และอีกจุดที่คนมักชอบสับสนก็คือคำว่า “Light” ในไลท์โนเวล ที่บางคนอาจคิดว่ามาจากรูปเล่มขนาดเล็กกะทัดรัดมีน้ำหนักเบา แต่จริงๆแล้วน่าจะมาจากการใช้ภาษาและเนื้อเรื่องที่อ่านง่ายๆสบายๆ เนื่องจากไลท์โนเวลในยุคแรกกต้องการฉีกสไตล์จากวรรณกรรมบริสุทธิ์ที่มีอ่านยากและมีเนื้อหาเคร่งเครียด

     

    ถ้าใครอยากรู้ว่าวรรณกรรมบริสุทธิ์อ่านยากยังไง บางเรื่องมีแบบแปลไทยวางจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ JLIT ที่น่าสนใจน่าจะเป็นเรื่องสูญสิ้นความเป็นคนของอ.ดะไซ โอซามุ ที่ได้สร้างเป็นภาพยนต์ฉบับคนแสดง และมีข่าวว่ากำลังทำเป็นฉบับมังงะโดยอ.อิโต้ จุนจิ แต่สำหรับผมแค่อ่านเรื่องย่อก็ทำเอาตะครั่นตะครอแล้วครับ

     

    ประวัติศาสตร์ของไลท์โนเวลแบบย่อๆ

                    ต้นกำเนิดของไลท์โนเวลนั้นเริ่มในยุค 70 ที่เริ่มมีนิตยสารที่วาดปกเป็นรูปการ์ตูน และตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับเกมหรืออนิเมเพื่อตอบสนองกับ Pop Culture ในยุคนั้น นิตยาสารในตอนนั้นเช่น  Faust, Gekkan Dragon, The Sneaker หรือ Dengeki hp ก็ได้ลงซีรี่นิยายที่มีเนื้อหาคล้ายการ์ตูนหรือเกม และเมื่อเรื่องไหนได้รับความนิยมก็ทำการรวมเล่มออกมาพิมพ์ขาย ซึ่งก็เป็นต้นกำเนิดของไลท์โนเวลนั่นเอง แต่ในยุคนั้นเขาจะเรียกว่า “วรรณกรรมเยาวชน” และจะตีพิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพต่ำขายในราคาถูกๆ

     

                    การจะบ่งบอกว่าไลท์โนเวลเรื่องแรกคือเรื่องอะไรนั้นทำได้ยากมาก (ก็ตอนที่มันตีพิมพ์ยังไม่มีคำว่าไลท์โนเวลไว้เรียกกันนี่นะ)  บางทฤษฎีว่าเรื่องที่เข้าเค้ามากที่สุดน่าเป็นนิยาย Space Battleship Yamato ฉบับปกอ่อนที่ตีพิมพ์ในปี 1975 (ฉบับปกแข็งออกตั้งแต่ปี 1974) ที่ทำจากอนิเมชื่อเดียวกันที่เป็นตำนานจนสร้างภาพยนต์มาแล้ว แต่อาจจะเพราะว่ามันดูเป็นนิยายไซไฟมากกว่าไลท์โนเวล ทำให้มีบางทฤษฎีแย้งว่าไลท์โนเวลเรื่องแรกน่าเป็นเรื่องอื่นมากกว่า

     


                    จากการสืบค้นของผมนิยายที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นไลท์โนเวล และได้รับการตีพิมพ์แรกสุดก็คือ Crusher Joe ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1977 เป็นแนวไซไฟตะลุยอวกาศ คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าไลท์โนเวลยุคแรกเป็นแนวแฟนตาซีซะเยอะ แต่ที่จริงแล้วไลท์โนเวลช่วงแรกๆส่วนมากเป็นแนวไซไฟครับ ซึ่งอาจจะมีไลท์โนเวลที่ตีพิมพ์ก่อนหน้าเรื่องนี้แต่ผมค้นไม่เจออ่ะนะ สำหรับเรื่อง Crusher Joe(ซ้าย) นี่ผมไม่ทันจริงๆ แต่ก็พอคุ้นตากับตัวละครในเรื่อง Dirty Pair(ขวา) ของคนเขียนคนนี้อยู่บ้าง   

       


                    ไลท์โนเวลแนวแฟนตาซีเรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่อง Guin Saga ในปี 1979 (น่าจะเป็นเรื่องแรกที่มีนางเอกโลลิด้วยมั้ง) และยังเป็นนิยายทีตีพิมพ์ต่อเนื่องยาวถึง 138 เล่ม (จริงๆอาจจะยาวกว่านี้อีกถ้าคนเขียนไม่มีปัญหาสุขภาพและรีบเข็นเรื่องนี้ให้จบซะก่อน) เป็นเรื่องเกี่ยวกับฝาแฝดเจ้าชายเจ้าหญิงที่อาณาจักรบ้านเกิดโดนรุกราน และได้รับการช่วยเหลือจากชายที่มีหัวเป็นเสือดาว(คิงในเทคเคนชัดๆ) เคยทำเป็นอนิเมแล้ว และมีฉบับมังงะแบบลิขสิทธ์ขายในบ้านเราด้วยนะ

     


                    จนกระทั่งปลายยุด 80 ไลท์โนเวลแนวแฟนตาซีก็เริ่มโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของเกม RPG อย่าง Final Fantasy และ Dragon Quest นิยายที่โด่งดังในยุคนี้ก็ได้แก่ The Heroic Legend of Arslan (1986)Fortune Quest (1989), Sorcerous Stabber Orphan (1994), The Weathering Continent (1988) เรื่องพวกนี้แม้จะไม่มีนิยายแปลขายในบ้านเรา แต่บางคนก็น่าจะพอผ่านตากับฉบับมังงะหรืออนิเมบ้างล่ะนะ

       

      


                    อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้เลยคือ Record of Lodoss War ตีพิมพ์ในปี 1988 ที่ถือได้เป็นลอร์ดออฟเดอะริงฉบับญี่ปุ่นเลยครับ และยังเป็นไลท์โนเวลเรื่องแรกๆที่ได้ทำเป็นอนิเม แม้ว่าจะเพื่อโปรโมทเกม TRPG ที่ชื่อ Dungeons & Dragons ก็ตาม นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังเป็นการบุกเบิกสาวเอลฟ์ให้กับวงการไลท์โนเวลแฟนตาซีอีกด้วย ถือเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงสำหรับคนอ่านทีเดียวครับ

     


                    และในปี 1990 ก็ได้เกิดนิยายที่ริเริ่มใส่ความเป็น Comedy เข้าไปในแนวแฟนตาซี ซึ่งก็เป็นผลงานที่หลายคนน่าจะรู้จักอยู่นามว่า Slayer นั่นเอง เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ให้กำเนิดท่าไม้ตายคลาสสิกแบบดราก้อนเสลฟ ผมเชื่อว่าน่าจะมีคนที่เกิดทันและยังจำบทร่ายของเวทนี้ได้อยู่นะ



                    ในยุคต่อๆมาสนพ.ต่างๆต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับไลท์โนเวล จึงจัดการประกวดพร้อมกับตั้งเงินรางวัลมหาศาลเพื่อเฟ้นหานิยายดีๆมาตีพิมพ์ ในปี 1994 ได้เริ่มมีการประกวดรางวัล Dengeki Novel Prize ขึ้นหลังจากนั้นไม่นานเรื่อง Boogiepop Series (1997) ที่ชนะเลิศรางวัลนี้ก็ได้รับความนิยมจนถูกสร้างเป็นอนิเม และเมื่อเรื่อง The Melancholy of Haruhi Suzumiya (2003) ที่ได้รับรางวัลสนิกเกอร์ได้รับความนิยมล้นหลาม จนได้ทำเป็นอนิเม เกม และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย ไลท์โนเวลก็ได้ลบภาพที่เคยเป็นนิยายราคาถูกไปในที่สุด

       


                    จนเริ่มเข้าสู่ปี 2000 กระแสไลท์โนเวลแฟนตาซีแบบบริสุทธิ์เริ่มตกลง เรื่องราวที่ผสมผสานความเป็นจริงกับแฟนตาซีเข้าด้วยกันเริ่มเป็นที่นิยม มากขึ้น พล็อตเรื่องที่พบบ่อยก็มีแบบที่พระเอกเป็นคนธรรมดาแต่ได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ หรือแนวโรงเรียนเป็นต้น ไลท์โนเวลที่เป็นที่นิยมในช่วงจุดเปลี่ยนศตวรรษนี้ก็ได้แก่ Full Metal Panic! (1998), Kino no tabi (2000), Shakugan no Shana (2002) และ Toaru Majutsu no Index (2004)

       

      


                    และระหว่างปี 2000 ถึงปี 2010 อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในปี 2004 ได้เกิดเว๊บไซต์ Shousetuka ni Narou (มาเป็นนักเขียนนิยายกันเถอะ) ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่นิยายดังหลายเรื่องอย่าง Sword Art Online (2009) หรือ Mahouka Koukou no Rettousei (2011) นิยายพวกนี้ถูกเรียกว่านิยาย Narou แต่บ้านเรามักจะเรียกว่านิยายเน็ต Web Novel หรือ WN  ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่อันดับนิยายขายดีเริ่มเปลี่ยนมือนิยายที่รางวัลในการประกวดมาเป็นนิยายที่ได้ยอดวิวในอินเตอร์เน็ตสูงแทน

       


                    และในช่วงปี 2010 นี้เองที่ได้เกิดกระแสตั้งชื่อไลท์โนเวลให้ยาวๆ แต่ต่อให้ตั้งยาวแค่ไหนเวลาคนพูดถึงเขาก็เรียกชื่อย่อไม่เกินสามสี่พยางค์อยู่นั่นล่ะ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะตั้งให้ยาวทำไมตั้งแต่แรก เช่น

    ·       Yahari Ore no Seishun Rabu-Kome wa Machigatteiru (Yahari)

    ·       Ore no Imouto ga Konna ni Kawaii Wake ga Nai (Oreimo)

    ·       Oniichan dakedo Ai saeareba Kankei naiyone (OniAni)

    ·       Ore no Kanojo to Osananajimi ga Shuraba Sugiru (OreShura)

    ·       Ore no Nounai Sentakushi ga, Gakuen Rabu-Kome wo Zenryoku de Jama Shiteiru (NouCome)

    ·       Yuusha ni Narenakatta Ore wa Shibushibu Shuushoku wo Ketsui Shimashita (Yu-Shiba)

     

    และหลังจากปี 2010 มาจนถึงปัจจุบัน พล็อตที่เป็นนิยมก็คือแนวต่างโลก ที่เป็นเรื่องคนธรรมดาไปหลุดหรือเกิดใหม่ ในโลกแฟนตาซีหรือโลกที่เหมือนเกมอย่างเช่น Overlord (2012), Gate: Jieitai Kanochi nite, Kaku Tatakaeri (2012), Kono Subarashii Sekai ni Shukufuku wo! (2013) และ Re:Zero kara Hajimaru Isekai Seikatsu (2014)

       

      


    จากที่กล่าวมาเราอาจจะสรุปกระแสของไลท์โนเวลได้เป็น 3 ช่วงดังนี้

    ·     ช่วงแรกนำเสนอโลกแฟนตาซีดินแดนที่ห่างไกล

    ·     ช่วงที่สองนำเรื่องราวของโลกแฟนตาซีมาผสมผสานกับโลกจริง

    ·     ช่วงที่สามนำบุคคลและวัฒนธรรมของโลกจริงไปยังโลกแฟนตาซี

     

    ซึ่งในอนาคตกระแสของไลท์โนเวลจะออกไปทางไหนก็คงได้แต่คาดเดาล่ะครับ ซึ่งผมก็ขอจบสำหรับประวัติศาสตร์แบบย่อๆของไลท์โนเวลไว้ตรงนี้ครับ ถ้าใครพบว่าข้อมูลส่วนไหนมีจุดผิดพลาดก็ขออภัยด้วยนะครับ และหวังว่าบทความนี้จะให้สาระแก่ท่านไม่มากก็น้อยนะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×