คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : การเมืองการปกครองยุคปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก
การเมืองการปกครองยุคปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย
ตามแบบตะวันตก
การรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 ทรงมีโอกาสได้ศึกษาความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ของประเทศตะวันตก ตั้งแต่ในครั้งที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ โดยเฉพาะการศึกษา ภาษาละติน และภาษาอังกฤษ อีกทั้งมีโอกาสได้คุ้นเคยกับพ่อค้าชาวตะวันตก จึงทำให้ทรงทราบสถานการณ์ของโลกในขณะนั้นเป็นอย่างดี
แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น สรุปได้ 2 ประการ คือ
- ความเจริญก้าวหน้าในความรู้และวิทยาการของโลกตะวันตก เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับบ้านเมือง จึงสมควรที่คนไทยจะได้เรียนรู้ไว้
- การเผชิญหน้ากับภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ประเทศมหาอำนาจตะวันตกกำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้ารุกรานในอินเดีย จีน และพม่าสมควรที่ไทยต้องเร่งรีบปรับปรุงประเทศให้เข้มแข็งและเจริญก้าวหน้า เพื่อป้องกันมิให้ถูกบีบบังคับหรือข่มเหงเหมือนประเทศอื่นๆ
นโยบายของไทยที่มีต่อลัทธิจักรวรรดินิยม
ลัทธิจักรวรรดินิยม คือ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก มักจะเริ่มต้นด้วยการติดต่อเข้ามาค้าขายก่อน ต่อมาจึงอ้างความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ หรือความล้าหลังด้อยพัฒนาความเจริญของประเทศนั้นๆ และใช้กำลังเข้าควบคุมหรือยึดครองเป็นอาณานิคมในที่สุด การใช้กำลังเข้าต่อสู้มีแต่จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น ดังนั้น รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จึงทรงใช้พระบรมราโชบายเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ดังนี้
- การผ่อนหนักเป็นเบา หมายถึง การโอนอ่อนผ่อนตามให้ชาติมหาอำนาจเป็นบางเรื่อง คือการยอมทำสัญญาเสียเปรียบ จะเห็นได้จากการทำสนธิสัญญาเบาริง ระหว่างไทยกับอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่มาก
- การยอมเสียดินแดน สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ไทยเสียดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ตามนโยบายเสียส่วนน้อย เพื่อรักษาส่วนใหญ่
- การปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย
เพือมิให้มหาอำนาจตะวันตกใช้เงื่อนไขความล้าหลังด้อยพัฒนาของไทย เป็นข้ออ้างใช้กำลังเข้ายึดเป็นเมืองขึ้น และนำความเจริญมาสู่ชาวพื้นเมืองอาณานิคม เหมือนดังที่ทำกับทวีปแอฟริกา การปฏิรูปความเจริญของบ้านเมืองครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งด้านการปกครอง กฏหมาย การทหาร ฯลฯ - การเจริญไมตรีกับประเทศมหาอำนาจยุโรป
รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก ช่วยถ่วงดุลอำนาจมิให้ชาติใดชาติหนึ่งมาข่มเหงบีบคั้นไทย จึงเป็นวิธีการรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติอีกทางหนึ่ง
การพัฒนาทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินในปี 2417 ดังต่อไปนี้
- การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจำนวน 12 คน ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาข้อราชการแผ่นดินแด่พระมหากษัตริย์
- การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ประกอบด้วยสมาชิก 99 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในพระองค์
- ในปี พ.ศ.2427(ร.ศ.103) ได้มีเจ้านายและขุนนางข้าราชการกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก ได้เสนอคำกราบบังคมทูลความเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชี้ให้เห็นว่าการจะรักษาเอกราชของชาติได้นั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นแบบพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วย แต่ควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะต้องทำการปฏิรูปการปกครองเสียก่อน ดังนั้นในปี พ.ศ.2430 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์โรปการเสด็จไปศึกษาและดูงานเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะเสนาบดีตามแบบยุโรปที่ประเทศอังกฤษและหลังจากนั้นไม่นานก็มีการปฏิรูปการปกครองขึ้นในประเทศไทย
การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
- การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศจัดตั้ง "เสนาบดีสภา"และจัดตั้งกระทรวงแบบใหม่12 กระทรวง ได้แก่ กลาโหม, นครบาล, วัง, เกษตรพานิชการ, พระคลัง, การต่างประเทศ, ยุทธนาธิการ, โยธาธิการ, ธรรมการ, ยุติธรรม ,มุรธาธิการ และมหาดไทย แทนจตุสดมภ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 หลังจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2435 ทรงยุบกระทรวงที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ทำให้เหลือกระทรวงเพียง 10 กระทรวง คือ มหาดไทย กลาโหม นครบาล วัง ต่างประเทศ พระคลังมหาสมบัติ โยธาธิการ ยุติธรรม ธรรมการ เกษตราธิการ
- การปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดการรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนต่างๆ ขึ้นเป็นเขตการปกครอง เรียกว่า "มณฑล"โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองและขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกได้ดังนี้
- การปกครองแบบเทศาภิบาล หลักการปกครองแบบนี้คือ รัฐบาลจะทำการปกครองหัวเมืองตั้งแต่ชั้นต่ำสุดถึงสูงสุด โดยเริ่มต้นจากพลเมืองเลือกผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่บ้าน 10 หมู่บ้านมีสิทธิเลือกกำนันของตำบล ตำบลหลายๆ ตำบลมีพลเมืองประมาณ 10,000 คนรวมกันเป็นอำเภอ หลายอำเภอรวมกันเป็นเมือง และหลายเมืองรวมเป็นมณฑลโดยมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ดูแล
- การปกครองท้องที่ ในพ.ศ.2440 รัชกาลที่ 5 ทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ สำหรับการจัดการปกครองระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน
- การปกครองส่วนท้องถิ่น ทรงริเริ่มจัดการ "สุขาภิบาล"ในเขตกรุงเทพ และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดลองให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น
ผลของการปฏิรูปการเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
- ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในราชอาณาจักร เป็นผลจากการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปมณฑลเทศาภิบาล โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพ
- รัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ สามารถขยายอำนาจเข้าควบคุมพื้นที่ภายในพระราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ทำให้กลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปการปกครองพากันก่อปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากกบฏผู้มีบุญทางภาคอีสาน ร.ศ.121 กบฏเงื้ยวเมืองแพร่ ร.ศ.121 และกบฏแขกเจ็ดหัวเมือง แต่รัฐบาลก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
การปฏิรูปการยุติธรรมและการศาล
- ในพ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามริเริ่มปฏิรูปการศาลให้ดีขึ้น โดยการจัดตั้งศาลรับสั่งขึ้นตรงต่อพระองค์ เพื่อพิจารณาคดีความที่อยู่ในกรมพระนครบาล มหาดไทย กรมท่า เมื่อ รัชกาลที่ 5 ทรงรวมอำนาจศาลไปขึ้นกับส่วนกลาง ทำให้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ขุนนางเคยได้ลดลง และไม่เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจทางศาลในทางที่ผิดได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมในพ.ศ.2435 ด้วยเพื่อพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งตามแบบตะวันตก โดยมอบหมายให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งสำเร็จวิชากฏหมายจากประเทศอังกฤษเป็นผู้ดำเนินการ
การปฏิรูปการเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 6
- การเกิดกบฏ "ร.ศ.130" ในปี พ.ศ.2454 (ร.ศ.130) ซึ่งประกอบด้วยนายทหารและพลเรือน ซึ่งเรียกตัวเองว่า คณะพรรค ร.ศ.130 ต่อมาเรียกว่า ร.ศ.130 โดยมี ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ (ขุนทวยหาญพิทักษ์) เป็นหัวหน้า สาเหตุสำคัญของกลุ่มกบฏนี้ คือ ต้องการให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าโดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นแบบประชาธิปไตย โดยกฏหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ แต่ต้องประสบกับความล้มเหลวในที่สุด
- การจัดตั้งดุสิตธานี เมืองจำลองประชาธิปไตย หลังเกิดกบฏ ร.ศ.130 รัชกาลที่ 6 ได้ตั้งเมืองจำลองประชาธิปไตยขึ้นชื่อว่าดุสิตธานี การปกครองในเมืองดุสิตธานีก็ดำเนินรอยตามแบบประชาธิปไตย คือ มีการเลือกตั้ง "นครภิบาล" ซึ่งเปรียบได้กับ "นายกเทศมนตรี"นคราภิบาลจะต้องได้รับการเลือกตั้งจากเชษฐบุรุษมาก่อน เชษฐบุรุษ เปรียบได้กับ สมาชิกเทศบาล ซึ่งจะต้องได้รับการเลือกจาก "ทวยนาคร" หรือปวงประชานั้นเอง
การปฏิรูปการปกครองในส่วนกลาง
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงมุรธาธร กระทรวงทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์และทรงยุบกระทรวงนครบาล และเปลี่ยนชื่อกระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงคมนาคม ส่วนอำนาจหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ยังคงเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 5
การปรับปรุงการปกครองในส่วนภูมิภาค
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งมณฑลเพิ่มขึ้น คือ มณฑลร้อยเอ็ด ซึ่งมี 3 หัวเมือง ได้แก่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธ์ และเพื่อเป็นการประหยัด พระองค์ได้รวมมณฑล2-3มณฑลรวมกันเป็นภาค เรียกว่า "มณฑลภาค" เพื่อแบ่งเบาภาระของกระทรวง โดยให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นอุปราชประจำมณฑลภาค งานใดที่มณฑลภาคสามารถจัดการได้ก็ไม่ต้องส่งถึงกระทรวง
การปรับปรุงการเมืองการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงมีแนวคิดแบบประชาธิปไตย ดังเห็นได้จากพระราชกรณียกิจดังต่อไปนี้
- ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
- โปรดเกล้าฯให้อภิรัฐมนตรีสภา ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง "สภากรรมการองคมนตรี" เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือขอราชการซึ่งพระราชทานลงมาให้ศึกษา และที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปรึกษา
- ทรงจัดตั้งเสนาบดีสภา เพื่อเตรียมคนให้รับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะให้เหมือนคณะรัฐมนตรีแบบตะวันตก เช่นเดียวกับเสนาบดีสภาในสมัย ร.5
- ทรงมอบหมายให้อภิรัฐมนตรีสภาวางรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปเทศบาล
- พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิสารวาจา และนายเรย์มอนด์ บี.สตีเวนส์ คิดร่าง "รัฐธรรมนูญ" ตามพระราชดำริ
แต่ขณะเดียวกันแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 7 ที่เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพระราชทานต่อปวงชนชาวไทยนั้น ได้รับการคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภา เพราะเกรงว่าประชาชนยังไม่พร้อม จึงทำให้การเตรียมการต้องชะงักลง เป็นผลให้คณะราษฏรเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด
ความคิดเห็น