ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานอียิปต์ โอม...

    ลำดับตอนที่ #39 : ตอนที่ 3(1) : ศพอาบยา และ มรณะคัมภีร์

    • อัปเดตล่าสุด 18 ธ.ค. 49


    ตอนที่ 3(1) : ศพอาบยา และ มรณะคัมภีร์


    นักปราชญ์กรีก ชื่อ เฮโรโดตุส เล่าถึงวิธีอาบศพของชาวอียิปต์ไว้ว่า

    ผู้รับจ้างอาบยาศพ มีผู้ช่วยหลายคน คนหนึ่งมีหน้าที่ล้างมันสมอง คนหนึ่งมีหน้สที่ฉีดยา อีกคนหนึ่งมีหน้าที่คอยเจาะ คอยล้างส่วนต่างๆของรางกายที่จำเป็น ขั้นแรกเอาขอเหล็กชักเข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้าง เพื่อเอามันสมองออก แล้วฉีดยาเข้าไปในหัวกระโหลก ขั้นต่อไปเจาะสีข้าง ดึงไส้ออกมาล้างด้วยเหล้า หรือยาชนิดหนึ่งที่ทำจากต้นปาล์ม(อินทผลัม?) แล้วเอาไส้นั้นมาคลุกกันกับเครื่องยาหรือเครื่องหอมที่ป่นคอยไว้ เอาไส้คลุกกับยายัดกลับลงไปในร่างพร้อมกับเครื่องยาชนิดหนึ่ง เสร็จแล้วเย็บสีข้างให้ติดกันไว้ตามเดิม แล้วเอาร่างแช่ในน้ำยาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรสเค็ม แช่ไว้เป็นเวลานาน 60 วัน แล้วเอาออกตากแดด ร่างนั้นแห้งพร้อมไปกับยา ไม่มีกลิ่น
    ครั้นทุกอย่างเสร็จ เอาผ้าแถบเล็กๆ ชุบน้ำยาสมานกระดูกพันศพตามส่วนต่างๆ เป็นข้อต่อและส่วนสำคัญของศพที่เห็นว่าจะหักหรือหลุดได้ง่าย แล้วห่อศพด้วยผ้าเนื้อดี ซึ่งชุบน้ำยาแล้ว อีก 3 ชั้น เสร็จแล้วใช้ผ้าสีแดงอย่างดีทับชั้นหนึ่ง เอาศพนั้นใส่ไว้ในหีบไม้ 2 ชั้น ซึ่งตามปรกติเป็นหีบคล้ายรูปคน คือตอนหัวแกะเป็นรูปคล้ายหน้าของผู้ตาย

    ศพที่อาบยาดีแล้ว จะต้องนำไปฝังไว้ที่เชิงภูเขา หรือใน อุโมงค์ ซึ่งก่อเป็นเจดีย์สามเหลี่ยม เรียกว่า ปิรามิด(pyramid) เพื่อความคงอยู่ถาวรของศพ

    พิธีการจัดการศพ เป็นไปตามฐานะของผู้ตาย พิธีปกติที่ทำกันคือ เมื่อผู้ใดสิ้นชีพ อาบยาศพแล้ว มีพิธีแสดงความเศร้าโศกที่บ้านผู้ตาย 70 วัน (นับว่านานมาก) หลังจาก 70 วันแล้ว นำศพลงเรื่องซึ่งถือเป็นพาหนะของมหาเทพเจ้าโอสิริส(ตามนิยามมีว่า โอสิริส เมื่อถูกลอบสังหารแล้ว ศัตรูยกหีบศพลงเรือไปถ่วงที่ปากแม่น้ำไนล์) ข้ามไปถึงโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำไนล์ฝั่งตะวันตก สมมติเป็นการนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปให้การต่อหน้ามหาเทพโอสิริส ซึ่งถือเป็นผู้พิพากษาในโลกหน้าอีกครั้ง

    ในครั้งโบราณ ชาวอียิปต์เคยใช้วิธีฝังศพลงในแผ่นดินเหมือนคนเผ่าโบราณอื่นๆ แต่เมื่อความนิยมนับถือว่าดวงวิญญาณจะกลับมาอาศัยร่างเดิม ซึ่งไม่เน่าเปื่อย จึงจำเป็นต้องทำที่เก็บศพไม่ให้เป็นอันตราย เลิกวิธีฝังศพลงใต้ดิน เพราะมีคติเพิ่มเติมว่า ถ้าร่างเปื่อยเสียแล้ว ดวงวิญญาณไม่มีร่างเข้าสิง จะต้องล่องลอยไป เข้าสิงร่างสัตว์ร่างใดร่างหนึ่งได้ (ส่วนมากจะเป็นร่างสุนัข) ซึ่งกำหนดเวลาย้ายที่สิงของวิญญาณ ตั้งแต่ผ่านออกจากร่างสัตว์จนกว่าจะมาเข้าร่างมนุษย์ได้ดังเดิม สิ้นเวลาประมาณ 3,000 ปี (ตัวเลขนี้ นัยว่าได้มาจากจักรราศีของดาวสุนัขคือ Dog Star ซึ่งมีกำหนดรอบละ 1,640 ปี)

    ชาวอียิปต์นับถือการหมุนเวียนของดวงวิญญาณอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์ อธิบายว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งได้รับสมมติให้เป็นมหาเทพ (รา หรือ เอเมนรา) มีเวลาอุทัยและอัสดงคตโดยลำดับ สัมพันธ์กันไปไม่ขาด การหมุนเวียนเป็นนิรันดรของดวงอาทิตย์มีสภาพฉันใด สภาพของดวงวิญญาณย่อมเป็นไปเช่นเดียวกัน คือมีการคงอยู่ หมุนเวียนอยู่เป็นนิรันดร

    ถ้าเจ้าของดวงวิญญาณ เมื่อมีชีวิตอยู่ในภพนี้ ประกอบกรรมทำดีไว้ ดวงวิญญาณจะได้รับคำพิพากษา ให้ไปสู่ที่ดี และไปสู่ที่ชั่วถ้าเคยทำกรรมชั่วไว้ อียิปต์เปรียบเทียบความมืดและความสว่างของดวงวิญญาณไว้ เหมือนกับดวงอาทิตย์อุทัยและอัสดงคต

    ด้วยการอธิบายภาพของดวงวิญญาณ ที่ล่องลอยหรือวนเวียนอยู่เช่นนี้เอง ชาวอียิปต์โบราณจึงทำรูปแสดงลักษณะล่องลอยของดวงวิญญาณเป็นรูปพญาเหยี่ยว หน้าเป็นคน มีปีก มีเท้า 2 ข้าง เท้านั้นจิกวงกลม เหมือนวงแหวนไว้ข้างละวง

    การที่ทำเป็นรูปพญาเหยี่ยว หมายความว่า ดวงวิญญาณล่องลอยหรือโผผินไปในโลกได้ เช่น พญาเหยี่ยว และติดตามการโคจรดวงอาทิตย์ไปได้ เพราะเหตุนี้กระมัง ภายหลังชาวอียิปต์จึงทำรูปพระอาทิตย์ติดปีกด้วย เพื่อหมายว่าอะไรก็ตาม ต้องมีฤทธิ์เหาะได้เอง เมื่อเหาะได้ ก็ต้องมีปีกสำหรับเหาะ

    การทำเป็นรูปวงแหวน 2 วง ที่เท้าพญาเหยี่ยว หมายถึงการเวียน 2 รอบของดวงวิญญาณ คือรอบหนึ่งเวียนกลางวัน และรอบหนึ่งเวียน กลางคืน (เช่น ดวงอาทิตย์) มีอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่าการเวียน 2 รอบของดวงวิญญาณ คือรอบหนึ่งได้แก่ตอนที่สิงอยู่ในร่างสัตว์ และ อีกรอบหนึ่งเป็นตอนที่สิงอยู่ในร่างมนุษย์ การจะทราบว่าดวงวิญญาณในภพอื่น จะได้รับคำพิพากษาการกระทำในกาลก่อนของตนอย่างไร มีหลักฐานจากหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญของชาวอียิปต์ หนังสือเล่มนั้นเรียกว่า “มรณะคัมภีร์” หรือ คัมภีร์บรรพบุรุษ (Book of Dead)

    มรณะคัมภีร์ ทำด้วยแผ่นปาปิรุส นักโบราณคดีขุดค้นได้ในหลุมฝังศพ ปรากฏเป็นคำจารึกมีข้อความสารภาพผิด และคำให้การต่างๆ ของดวงวิญญาณต่อหน้า มหาเทพ ข้อความบางอย่าง ค้นพบตามกำแพงหลุมฝังศพก็มี

    คัมภีร์เล่มนี้ ตัวเจ้าของวิญญาณ และญาติพี่น้องเตรียมทำไว้ขณะยังไม่ตาย ให้เอาไปฝังไว้รวมกับหีบศพ การสร้างมรณะคัมภีร์ เกิดจากความคิดของผู้อยู่เบื้องหลัง ว่าถึงอย่างไร ผู้ตายไม่สามารถพึ่งพาอาศัยใครต่อไปได้ เมื่อตายไปแล้ว ดวงวิญญาณจะถูกนำเข้าห้องพิพากษาก่อน ผู้อยู่ข้างหลังจึงต้องช่วยกันทำคัมภีร์เล่มที่กล่าว จารึกข้อความตามที่มุ่งหมาย ให้ผู้ตายท่องจำไว้ก่อนสิ้นชีพครั้งหนึ่งก่อน เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว เวลาให้การในยมโลก จะได้กล่าวไม่ผิดพลาด

    ข้อความในคัมภีร์มรณะ มีต่างๆกัน ตามฐานะการกระทำ ตามถิ่นประเทศและอาชีพของผู้ตาย มีคำให้การบอกการกระทำของตน มีเรื่องบอกพิธีกรรมต่างๆ มีคำสอนอ้อนวอนต่อมหาเทพ และอื่นๆ จารึกไว้ด้วยความประณีตบรรจง ถ้าผู้ตายเป็นเศรษฐี หรือ กษัตริย์ คำให้การเหล่านี้ มักจารึกไว้บนแผ่นหินตามกำแพงหลุมฝังศพ เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง มีข้อความตรงกันกับข้อความในคัมภีร์

    มรณะคัมภีร์ ทำไว้เป็นม้วน ม้วนละเรื่อง เรื่องละบท ม้วนที่ 125 หรือ บทที่ 125 ถือว่าเป็นม้วนที่สำคัญมาก เพราะจารึกเรื่องการกระทำของผู้ตาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่โดยตลอด

    คัมภีร์ม้วนนี้ เรียกชื่อบทว่า “ห้องพิพากษาสัจจะ” (Hall of Truth) 2 ประการ คือ สัจจะอันเป็นส่วนตัว และสัจจะที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mysmallroom&group=5
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×