คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #156 : พบปูมกำเนิด
พบปูมกำเนิด "คลีโอพัตรา" ผู้เลอโฉม มีเชื้อสายแอฟริกัน
รูปปั้นพระนางคลีโอพัตราที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม (British Museum) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (เอเอฟพี)
พลิกประวัติศาสตร์ "คลีโอพัตรา" ราชินีผู้เลอโฉมแห่งไอยคุปต์ นักวิทย์เชื่อกันมานานว่าเดิมเป็นชาวกรีก แต่หลักฐานใหม่จากการพิสูจน์พระศพของ "เจ้าหญิงอาร์สินี" พระขนิษฐาร่วมสายโลหิตของพระนาง บ่งชี้ว่ามีเชื้อสายชาวแอฟริกัน
สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เตรียมฉายภาพยนตร์สารคดีไขปริศนาชีวิตของ "คลีโอพัตรา" (Cleopatra) ราชินีผู้เลอโฉมและผู้ปกครองอาณาจักรอียิปต์โบราณองค์สุดท้าย โดยเอเอฟพีรายงานว่า ในสารดคีดังกล่าวมีการวิเคราะห์ผลการพิสูจน์โครงกระดูกที่พบในสุสานเมืองโบราณของประเทศตุรกี ชี้ว่าแท้ที่จริงแล้วพระนางคลีโอพัตรา ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) มีเชื้อสายแอฟริกันร่วมด้วย
รายงานข่าวจากยูพีไอระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศออสเตรียร่วมกันวิเคราะห์โครงกระดูกที่พบในสุสานแห่งเมืองเอเฟซุส (Ephesus) ประเทศตุรกี เมื่อปี 2469 ซึ่งเป็นพระศพของเจ้าหญิงอาร์สินี (Arsinoe) พระขนิษฐาของพระนางคลีโอพัตรา ซึ่งบ่งชี้ว่าพระมารดาของเจ้าหญิงเป็นชาวแอฟริกัน
ฟาเบียง คานซ์ (Fabian Kanz) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เวียนนา (Medical University of Vienna) เปิดเผยผลการศึกษาว่า โครงกระดูกของเจ้าหญิงอาร์สินี มีลักษณะผสมผสานระหว่างชาวยุโรปผิวขาว, ชาวอียิปต์โบราณ และชาวแอฟริกันผิวดำ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า โครงกระดูกของพระนางคลีโอพัตราจะมีลักษณะผสมผสานแบบเดียวกัน
ด้านฮิลเก้ ธูร์ (Hilke Thuer) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรีย (Austrian Academy of Sciences) หัวหน้าทีมวิจัย เผยว่าการค้นพบครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีอย่างมาก
"มันเป็นอะไรที่พิเศษมากๆ ในชีวิตของนักโบราณคดี ที่ค้นพบสุสานและพระศพของผู้ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ปโตเลมี ซึ่งผลการพิสูจน์โครงกระดูกของเจ้าหญิงอาร์สินีชี้ชัดว่าพระองค์มีพระมารดาเป็นชาวแอฟริกัน มันช่างน่าตื่นเต้นเหลือเกิน เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจถึงสายเลือดของพระนางคลีโอพัตรา และความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องของพระนางคลีโอพัตรากับเจ้าหญิงอาร์สินีได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น" ธูร์ กล่าว
พระนางคลีโอพัตราและเจ้าหญิงอาร์สินีมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคปลายของอียิปต์โบราณ ที่เต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย เมื่อจักรวรรดิโรมันได้แผ่ขยายอำนาจมาถึงในแถบเมดิเตอร์เรเนียน พระนางคลีโอพัตราจึงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักร ด้วยการอภิเษกสมรสกับจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) จอมทัพผู้ปกครองโรมัน แต่ภายหลังพระนางได้ร่วมมือกับมาร์ก แอนโทนี (Mark Antony) แม่ทัพคู่ใจของจูเลียนส ซีซาร์ เพื่อลอบปลงพระชนม์พระสวามี และอภิเษกสมรสใหม่กับเขา
นีล โอลิเวอร์ (Neil Oliver) นักโบราณคดีผู้ดำเนินรายการในภาพยนตร์สารคดีของบีบีซี เปิดเผยว่า คลีโอพัตรา, จูเลียส ซีซาร์ และมาร์ก แอนโทนี พวกเขาล้วนเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
"เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะจดจำว่าพวกเขาเป็นบุคคลที่เคยมีตัวตนอยู่จริง และไม่ใช่บุคคลกึ่งเทพที่ริชาร์ด เบอร์ตัน (Richard Burton) และเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) เคยแสดงร่วมกัน ในภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตรา มันเหมือนกับว่าเอาน้ำเย็นมาสาดบนใบหน้า เพื่อย้ำให้เรายอมรับความจริงว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์ปุถุชนจริงๆ" โอลิเวอร์บอกความรู้สึกถึงการค้นพบครั้งนี้
"แต่เมื่อผมยืนอยู่ในห้องแล็บ และในมือของผมถือกระดูกของน้องสาวร่วมสายโลหิตของพระนางคลีโอพัตรา ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าช่วงชีวิตของพระองค์นั้น เกี่ยวพันกับพระนางคลีโอพัตรา และบางทีอาจรวมถึงจูเลียส ซีซาร์ และมาร์ก แอนโทนี ด้วย ในตอนนั้นผมรู้สึกขนลุกบริเวณท้ายทอย และทันใดนั้นก็เหมือนกับว่าบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เหล่านั้นมีเลื้อดเนื้อมีตัวตนขึ้นมาทันที" โอลิเวอร์เล่าประสบการณ์ของตัวเอง
นักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงอาร์สินีและพระนางคลีโอพัตราเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน และพระนางคลีโอพัตราเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงอาร์สินี โดยสั่งให้มาร์ก แอนโทนี ลอบสังหารน้องสาวของตัวเอง
ทั้งนี้ ภาพยนตร์สารดีไขปริศนาชีวิตของพระนางคลีโอพัตราเรื่อง "คลีโอพัตรา: พอร์เทรต ออฟ อะ คิลเลอร์" (Cleopatra: Portrait of a Killer) จะฉายทางสถานีโทรทัศบีบีซี วัน (BBC One) ในวันที่ 23 มี.ค. 52 เวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับวันที่ 24 มี.ค. 52 เวลา 04.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ผู้สวมบทบาทเป็น "คลีโอพัตรา" ราชินีอียิปต์ผู้เลอโฉม ในภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตรา (บีบีซีนิวส์)
ที่มา :
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000032372
ความคิดเห็น