คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : เดินเพื่อสุขภาพ
เดินเพื่อสุขภาพ นายแพทย์ ช.ศรีพิชญ์ เพ็ชญไพศิษฏ์ 14 มิถุนายน 2554 ถ้าต้องการเดินให้ได้ประโยชน์มากกว่านั้น จะต้องเดินเร็วสักนิด ต่อเนื่องกันให้ได้เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งคงจะได้ราว 5,000 ก้าว จะให้ได้ประโยชน์มากขึ้นอีก ก็ให้เดินเร็วๆต่อเนื่องกัน 10,000 ก้าว ราวชั่วโมงเศษ ถ้าเหนื่อยก็ผ่อนความเร็วลงได้ แต่อย่าหยุดเดิน มีคนมาซักถามคุยกัน ก็ให้ซอยเท้าไว้เรื่อยๆ เดินได้แบบนี้วันเว้นวัน หรือ ทุกวันยิ่งดี จะช่วยระบบการไหลเวียนเลือด ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ง่ายขึ้น ใช้ยาน้อยลง ถ้าเป็นไม่มาก อาจหยุดการใช้ยาได้ ภายใต้การแนะนำของแพทย์ประจำตัว แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีการศึกษาแล้วว่า การออกกำลังกายต่อเนื่องพร้อมกับมีสมาธิ เช่น รำไท๊เก๊ก รำมวยจีนแบบต่างๆ รำกระบอง แอโรบิค ร่างกายนอกจากจะเผาผลาญสารอาหารส่วนเกิน น้ำตาลและไขมันแล้ว ยังสร้างสารเอนดอร์ฟิน หรือสารแห่งความสุขจากต่อมพิตูอิตารี ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และถ้ามีการสร้างสารเอนดอร์ฟินนี้มากพอ จะไปกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้สิ่งแปลกปลอม เช่น เซลล์ร่างกายส่วนที่กลายเป็นเซลล์มะเร็ง เราสามารถเอามาดัดแปลงในการเดินแบบมีสมาธิก็ได้ เช่น เดินไม่คุยกัน สายตามองพื้น ใจอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หรือจะเดินไปสวดมนต์ภาวนาของศาสนาที่ตนนับถือไปก็ได้เช่นกัน ขอให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตลอดระยะเวลาที่เดิน ร่างกายก็จะสร้างสารเอนดอร์ฟินออกได้เช่นกัน แต่ถ้าเดินธรรมดาคุยกันไป ตาดูสิ่งแวดล้อมที่โน่นที่นี่ ก็จะไม่ได้สารแห่งความสุขตัวนี้
ร.พ.จุฬาลงกรณ์เป็นหน่วยงานแห่งแรกในประเทศไทยที่ผมทราบว่า ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพของเขาได้จัดให้มีการรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้เดินหนึ่งล้านก้าวในหนึ่งร้อยวัน เฉลี่ยก็วันละ 10,000 ก้าว มีรางวัลต่างๆแจก มีการให้ยืมเครื่องนับก้าวไว้ติดตัวด้วย แบ่งเป็นทีมเล็กๆ ทีมละ 4-5 คน เพื่อให้หัวหน้ากลุ่มคอยกระตุ้นลูกทีม ตรวจสอบเร่งรัด ซึ่งทุกคนเมื่อผ่านคอร์สนี้แล้ว คงจะเห็นว่า เดินวันละ 10,000 ก้าวไม่ยากเย็นนัก สามารถทำได้ทุกวัน ถ้าทำสำเร็จสุขภาพของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ร.พ.จุฬาฯ จะต้องดีขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง ใช้ยาน้อยลง ลดงบประมาณเบิกจ่ายค่ายาลงได้ ถ้าร.พ.อื่นนำแบบอย่างไปขยายทั่วประเทศ และแนะนำคนไข้ไปด้วย ถึงจะอีกหลายปีก็ตาม สุขภาพส่วนรวมควรจะดีขึ้น เรื่องเดินล้านก้าวในร้อยวันจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพได้อย่างไร ลองติดต่อ "ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ ร.พ.จุฬาฯ" ห้อง 605/2 ชั้น 6 อาคารอปร. โทร 02-256-4000 ต่อ 3540 น่าเสียดายที่โครงการเต้นแอโรบิคช่วงเย็นที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ริเริ่มไว้เงียบหายไป ที่เคยเห็นคนเต้นตามสวนของหมู่บ้านต่างๆ ก็น้อยลงมาก ยังมีบ้างตามจุดใหญ่ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะใหญ่ๆ ที่มีผู้อุดหนุนค่าไฟและค่าใช้จ่ายของครู ถ้ารมต.คนใหม่เข้ามาก็ช่วยหางบประมาณมาดูแลผู้สูงอายุตามหมู่บ้านต่างๆ ให้รวมตัวกันออกกำลังกายทุกวัน จะช่วยลดงบประมาณค่ายาโรคเรื้อรังต่างๆได้เป็นจำนวนมาก และยังลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลลงได้ |
ความคิดเห็น