ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สร้างเสริมสุขภาพชีวิตกับ Doctor Chor

    ลำดับตอนที่ #3 : วิธีเลิกบุหรี่ของผม

    • อัปเดตล่าสุด 12 ก.ค. 54


    วิธีเลิกบุหรี่ของผม

    นายแพทย์ ช.ศรีพิชญ์ เพ็ชญไพศิษฏ์
    อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแพทย์แผนไทยประยุกต์
    กองการประกอบโรคศิลป กระทรวงสาธารณสุข

              บุหรี่ มีสารเสพติดที่สำคัญคือ นิโคติน และยังมีสารพิษที่ทำอันตรายต่อร่างกายอีกหลายชนิด รวมทั้งสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง     การสูบบุหรี่ระยะยาวจะทำร้ายตัวเองด้วยโรคหลายชนิด เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำใส้ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด เส้นเลือดแดงที่ขาตีบ ที่ทำให้ต้องตัดขาทิ้ง และ อีกหลายโรค นอกจากนั้นยังทำให้ลูกและภรรยารวมทั้งคนใกล้ชิดได้รับควันบุหรี่มือสองที่มีพิษไม่แพ้กับที่สูบเข้าไปเองอีกด้วย ควันบุหรี่มือสามในห้องพักโรงแรมหรือห้องประชุมซึ่งพิษภัยยังติดอยู่ในห้องนั้นไปอีกหลายวัน

              สารเสพติดทั้งหลายต้องการกำลังใจเป็นอย่างมากในการละเลิก  บุคคลใกล้ชิดต้องให้กำลังใจเป็นอย่างมาก และจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีจึงจะเลิกได้ขาด ไม่อย่างนั้นฤทธิ์ของสารเสพติดจะทำให้ได้กลิ่นควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบมีกลิ่นหอมหวล ชวนให้กลับไปลองสูบใหม่อีกครั้ง เมื่อหงุดหงิดใจเล็กน้อยมีงานยุ่ง หรือเมื่อเครียดเรื่องต่างๆ ก็จะหาเหตุผลให้กับตัวเองให้กลับไปสูบอีกครั้ง

              แม้แต่เห็นคนอื่นควักบุหรี่ออกมาสูบ หรือเห็นคนสูบบุหรี่ก็จะมีความรู้สึกอยากจะสูบด้วยทันที สมัยก่อนในโรงภาพยนต์ พอดาราควักบุหรี่ออกมาสูบ ประเดี๋ยวก็จะเห็นควันบุหรี่ลอยขึ้นมา เขาจึงทำฉากบังเวลาฉายภาพยนต์ทางโทรทัศน์ เพื่อไม่ให้กระตุ้นความอยากสูบบุหรี่ภายในบ้าน

              บุหรี่นอกจากจะติดด้วยสารเสพติดข้างต้นแล้ว ยังติดการคาบการคีบจึงยิ่งเลิกได้ยากขึ้น คนจำนวนมากเมื่อทดลองหยุดสูบบุหรี่สัก 1 สัปดาห์ก็หยุดได้โดยไม่มีอาการลงแดงกระวนกระวายใจมากนัก ไม่เหมือนการเลิกสารเสพติดอื่นๆ เช่น เหล้า, ฝิ่น, เฮโรอีน, ยาบ้า จึงกลับมาสูบบุหรี่ใหม่ง่าย เพราะคิดว่า จะเลิกสูบเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งไม่จริง การเลิกได้ถาวรถึงจะชี้แจงถึงพิษร้ายอย่างไรก็ไม่ฟังง่ายๆ ต้องมีแรงจูงใจอย่างสูง มีความตั้งใจที่จะเลิกอย่างมาก

              จะเลิกนิสัยการคาบบุหรี่กับการคีบบุหรี่ก็ต้องหาของทดแทน ผมแนะนำคนไข้ว่า 2-3 เดือนแรกในการเลิกบุหรี่ ให้ใช้ก้านต่อบุหรี่หรือหาปากกาหมึกแห้ง มาคาบกับคีบแทน เมื่อเกิดอยากสูบบุหรี่มากๆก็ให้คาบวัตถุนั้นแล้วกัดกึ๊กๆแรงๆหลายๆครั้ง ความอยากสูบจะลดลงไปได้ การทำแบบนี้ช่วยตัวผมได้มากจนเลิกได้ในที่สุด แต่กว่าจะหมดความรู้สึกว่าควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบไม่หอม ก็ใช้เวลาเป็นปีทีเดียว

              ผมสูบบุหรี่ตั้งแต่เป็นนักศึกษา เริ่มต้นเมื่อระหว่างพักชั่วโมงบรรยาย เพื่อนที่ติดบุหรี่อยู่แล้วจะจุดสูบช่วงพักเวลาสั้นๆจะสูบคนเดียวก็คงไม่หมด จึงส่งต่อๆกันในกลุ่ม ก็เริ่มคุ้นเคยกับควันบุหรี่จะไม่สูบก็คงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ สี่สิบกว่าปีก่อนก็ยังไม่รู้เรื่องโรคเอดส์หรือไวรัสตับอักเสบบี ที่ติดต่อกันทางน้ำลายด้วย ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่ต้องหัดปฏิเสธในสิ่งที่เรารู้ว่าไม่ดี   เมื่อขึ้นปี 3 ก็ต้องย้ายที่พักไปนอนกับเพื่อนนักศึกษาแพทย์รุ่นเดียวกันห้องละ 2 คน รูมเมทคนนี้ติดบุหรี่อยู่แล้ว พอเขาจุดบุหรี่ของเขา เขาจะจุดและส่งให้ผมด้วยทุกครั้ง นั่งดูหนังสือในห้องคืนหนึ่งก็ต้องสูบ 2-3 มวน  นักศึกษาแพทย์ต้องสอบทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์สอบสองวิชา ก็ต้องอ่านหนังสือและติวหมู่กันแทบทุกคืน แค่ 2-3 เดือน ผมก็ติดบุหรี่ ต้องซื้อสูบเอง สูบอยู่วันละไม่เกิน 10 ม้วนราว 10 ปี ผมตั้งใจไว้ว่า ต้องสูบห่างกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 10 มวน   ภรรยาขอให้ผมเลิกบุหรี่อยู่บ่อยๆ ผมก็เลิกช่วงสั้นๆไปหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล  เมื่อมีการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ทางโทรทัศน์ ลูกสาวผมดูแล้วชี้ให้ผมดูพิษจากควันบุหรี่ และขอให้ผมหยุดสูบเถอะ ทำให้ผมมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเลิกให้ได้ และได้ภรรยาที่คอยให้กำลังใจลูกๆที่คอยชื่นชมที่คุณพ่อหยุดบุหรี่ได้กี่วันๆแล้ว จนเห็นคนสูบบุหรี่ก็ไม่มีความรู้สึกอยากสูบอีก ต้องใช้เวลาร่วมๆปีทีเดียวครับ

              ปัจจุบันมีการให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการหยุดสูบบุหรี่ ผู้ใดสนใจลองติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ 1600 เพื่อขอคำแนะนำดูซิครับ จะได้รับคำชี้แจงเป็นรายบุคคลคราวละราว 20-30 นาที ควรจะโทรก่อน 19.00น. เพราะศูนย์จะเลิกงานตอน 20.00น.

              นอกจากการมีความตั้งใจมุ่งมั่นและครอบครัวสนับสนุนแล้ว ยังมีวิธีช่วยอื่นๆนอกจากการคาบและคีบก้านต่อบุหรี่ที่พูดไปแล้วคือ

                                             1. บริโภคนิโคตินเข้าร่างกายทางอื่น เช่น หมากฝรั่งนิโคติน แผ่นนิโคตินแปะ แล้วค่อยๆลดปริมาณลง (ควรปรึกษาแพทย์)

                                             2. ใช้น้ำยาสีฟ้าเพื่อลดความอยากสูบของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ลองติดต่อกันเองครับ เคยเห็นแจกอยู่ตามงานต่างๆ

                                             3. เครื่องมือกระตุ้นจุดศูนย์ในร่างกายด้วยไฟฟ้า เหมือนกับการฝังเข็ม ให้หลั่งสารแห่งความสุข เคยเห็นศูนย์บำบัดยาเสพติดของกทม.เอามาทดลองใช้ในผู้ติดเฮโรอิน ไม่ทราบว่าได้ผลเพียงใด เครื่องนี้สามารถใช้ในการเลิกบุหรี่ได้ด้วย ต้องทำทุกวันติดต่อกันหลายเดือน

                                             4. ทางแพทย์แผนไทย ใช้หญ้าสมุนไพรหมอน้อย หรือ หญ้าดอกขาวบดละเอียด ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันหลายเดือน จะทำให้สูบบุหรี่ไม่มีความรู้สึกอร่อย ไม่โปร่งโล่งเหมือนเดิม ก็จะทำให้ลดการอยากไปจนถึงเลิกได้ หญ้าหมอน้อยนี้มีขายที่ร้านสมุนไพรที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านเจ้ากรมเป๋อ ร้านเวชพงศ์ อยู่ใกล้ๆกันแถวสี่แยกวัดตึก

              ลองดูสิครับ ท่านที่อยากเลิกสูบบุหรี่ ไม่ต้องรอจนมีลูกแล้วลูกขอร้องแบบผม เริ่มได้ทันทีเดี๋ยวนี้ หมุนโทรศัพท์ 1600 หลังอ่านจบ จะมีผู้ให้กำลังใจกับคุณมากมาย

              ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการกำหนดอายุของผู้ที่จะซื้อและสูบบุหรี่ ถ้าจำไม่ผิดกำหนดเป็น 20 ปี สมัย 10 กว่าปีก่อน ตามสถานีรถไฟจะเห็นวัยรุ่นใส่ชุดนักเรียนมัธยมทั้งผู้หญิงและผู้ชายนั่งกับพื้นสูบบุหรี่ควันโขมง หลังๆนี้ไม่เห็นภาพนี้แล้ว เขากำหนดอายุและดูแลกันอย่างจริงจัง กำหนดจุดและสถานที่ให้สูบ แถวถนนย่านการค้าหรือตามสวนเล็กๆใกล้ๆจะมีผู้สูบบุหรี่เหม็นไปหมด เขาไม่ทิ้งก้นบุหรี่เพ่นพ่าน มีที่ดับและที่ทิ้งเรียบร้อย ถ้ามีใครทิ้งบุหรี่ที่อื่น อาจมีลุงแต่งตัวเรียบร้อยมาคีบก้นบุหรี่ไปทิ้งให้ทันที พอมีการกำหนดอายุผู้ซื้อบุหรี่ บริษัทบุหรี่ก็จัดทำตู้ขายอัตโนมัติแต่ต้องมีการ์ดแสดงตนว่าอายุถึงเสียบเข้าก่อน จึงจะหยอดเงินซื้อได้ หรือ หักเงินจากบัตรเงินสดได้ การทำบัตรซื้อบุหรี่แถวย่านการค้าก็จะมีบริการทำบัตรถ่ายรูปลงบัตรให้ฟรีอีกด้วย จะได้ไปซื้อบุหรี่สะดวกกันมากๆ ปีที่แล้วที่เคยเห็นวัยรุ่นในชุดนักเรียนเดินสูบบุหรี่ก็ไม่พบอีกเลย แสดงว่าเขาควบคุมเด็กไม่ให้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้อย่างดี แต่อย่าเข้าไปในร้านปาจิงโกะนะครับ ควันบุหรี่ลอยเต็มไปหมด   ไทยมีกฏควบคุมการซื้อแล้ว น่าจะมีการควบคุมว่า อายุต้องเกิน 20 ปีจึงจะสูบบุหรี่ได้ด้วย ให้มีวุฒิภาวะที่จะรับรู้พิษภัยบุหรี่เมื่ออายุมากขึ้น ตัวเองและรัฐจะต้องเสียเงินรักษาโรคมากกว่ารัฐได้ภาษีจากบุหรี่ ขึ้นภาษีบุหรี่เหมือนต่างประเทศมากเท่าไหร่ บุหรี่หนีภาษีเมืองไทยก็ขายดีมากขึ้นเท่านั้น เมืองไทยปราบไม่สำเร็จ ต้องรณรงค์วัยรุ่นไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ ไม่ให้เห็นเป็นของโก้เก๋ ไม่ใช่ของที่ใช้คลายเครียด จึงจะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ไปได้

              การที่มีผู้รณรงค์จนเลิกนำบุหรี่ถวายพระ เป็นการรณรงค์ที่ประสพผลสำเร็จมาก เดิมพระไปงานสวดที่ไหน ก็จะได้รับบุหรี่มาด้วย ที่ไม่เคยสูบก็ได้หัดสูบและติดไปเลย โรคปอดถุงลมโป่ง หลอดลมเรื้อรังก็ติดตามมา

              ในไทยนอกจากการกำหนดอายุผู้ซื้อบุหรี่แล้ว น่าจะมีกฏกำหนดอายุผู้สูบบุหรี่ด้วย การลงโทษไม่จำเป็นต้องจำขังหรือกักขังหรือปรับ เอาแค่ไปทำประโยชน์ให้สังคมก็พอ จะมีหน่วยงานใดออกมาเป็นเจ้าภาพ ก่อนที่บริษัทบุหรี่จะใช้ยุทธวิธีดึงเยาวชนให้ติดมากขึ้นกว่านี้

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×