คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : วางโครงเรื่อง
วางโครงเรื่อง
-------------------------------------------------
โครงเรื้องนั้นสำคัญไฉน?
พูดถึงโครงเรื่องแล้ว ผมว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่านิยายนั้นจะสั้นหรือยาว เพราะมันจะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของเรื่องไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง
เปรียบดั่งไม้เลื้อยครับ ต่อให้ดอกมันจะสวยแค่ไหนแต่หากเราไม่ปักไม้ไว้ให้มัน ไม้เลื้อยนั้นก็ทำได้เพียงแค่เติบโตโดยการไหลไปตามพื้นอย่างไร้ทิศทาง ดอกที่เบ่งบานแนบพื้นคลุกฝุ่นจะหมดคุณค่าลงไปอย่างน่าเสียดายความงามโดยเนื้อแท้
แต่ถ้าหากเราปักไม้หรือวางโครงไว้ให้ข้างๆ ไม้เลื้อยก็จะเติบโตแล้วพันเลื้อยไปตามทางที่กำหนดไว้ ใบสีเขียวจะทำให้โครงนั้นดูหนักแน่น ดอกสีแสดที่บานออกมาจะดูมีคุณค่าน่าจับต้องมากกว่าการที่บานแนบพื้นเป็นไหนๆ
สำหรับนิยายที่ดีแล้วความสนุกของผู้อ่านคือการได้ลุ้นในตัวเนื้อเรื่องและเกิดความรู้สึกว่าอยากอ่านต่อ นิยายควรมีอะไรที่มากกว่าประเด็นหลักอย่าง ใคร ทำอะไร ที่ไหน ยังไง เมื่อไหร่ หรือที่เราคุ้นกับในศัพท์ว่า What Who When Where How
สิ่งที่ต้องมีเหนือกว่าจุดหลักก็คือปมประเด็นขัดแย้ง ซึ่งหักมุม สิ่งเหล่านี้จะทำให้นิยายเราเกิดมนตร์เสน่ห์ลึกลับ...
ผมเชื่อว่าคนเราเกิดมาด้วยสัญชาตญาณนักวิทยาศาสตร์ คืออะไรที่ไม่รู้ก็ย่อมอยากจะรู้ให้ได้...
แน่นอนว่าถ้าเราวางโครงเรื่องนิยายให้ดีผู้อ่านก็จะเกิดความสนใจและอยากอ่านต่อเพื่อไขปริศนาที่เราวางไว้ หรืออาจมีการหักมุมให้คนอ่านหลงทางแล้วอยากไขความจริง
การต้องผูกเรื่องราวๆต่างแบบนี้ย่อมทำให้เกิดความยาวในตัวนิยาย ยิ่งมีหลายเหตุการณ์หลายตัวละคร นิยายก็ยิ่งจำเป็นต้องมีโครงเรื่องเป็นอย่างยิ่ง
ขึ้นชื่อนิยายตอนยาว แน่นอนเลยว่าเวลาในการแต่งก็จะยาวตามไปด้วย
ยิ่งถ้าต้องแต่งกันข้ามปีหากคุณไม่กำหนดโครงเรื่องไว้ล่ะก็ ฟันธงได้เลยข้อมูลจะปนกันมั่วไปหมด หรือพอถึงบทที่คิดว่าอยากใช้ไอเดียนี้ก็กลับลืมไปเสียได้
ดังนั้นแล้วเรามาดูกันว่าจะวางโครงเรื่องยังไงให้เป็นเรื่องเป็นราวไม่งงและสับสน
เรื่องของการวางโครงนั้นถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไงผมแนะนำให้วางแบบคร่าวๆไว้ก่อนว่าเริ่มยังไง
เอาหลักๆก่อนนะครับคือให้แบ่งเป็น 3 ช่วงคือคิดไว้เลยว่า
1. อยากให้เริ่มต้นเรื่องยังไง เปิดตัวแบบไหน?
2. ช่วงดำเนินเนื้อเรื่อง (ส่วนนี้เว้นไว้ก่อน)
3. อยากให้จบยังไง?
ที่แนะนำแบบนี้เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาคิดเรื่องเรามักมองว่าจะเปิดตัวแบบไหนให้อลังการหรือลึกลับน่าติดตาม แล้วเราก็มักมองข้ามซีนมาเลยว่าตอนจบมักจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามฝัน
ดังนั้นแล้วให้เราสองส่วนในข้อ 1 กับ 3 ให้เราตัดสินใจให้แน่เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเรื่อง เหมือนกับการปักหลักว่าจะเริ่มจุดไหนแล้วไปหยุดที่จุดไหน
สำหรับตอนต้นก็ไม่พูดลงลึกละกันเพราะแต่งครั้งเดียวก็ถือว่าปักหลักเริ่มต้นไปแล้ว กลับมาแก้ไม่ได้แล้วคือถ้าแก้ก็เหมือนกับการรีไรท์ใหม่เลย
อย่างไรเสีย ก่อนปักเสาก็ขอให้มั่นใจนะครับว่าเราจะให้เรื่องเป็นแบบนี้จริงๆ เกิดเปลี่ยนใจมาทีหลังมันจะดูไม่จืดเอา คนอ่านคงไม่สนุกนักหากจะต้องกลับมาอ่านส่วนเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก
สำหรับตอนจบนั้นถึงจะปักธงไว้แล้วว่าน่าจะเป็นแบบนี้ แต่เราก็บิดได้บ้างตามสมควรครับตราบที่การแต่งนิยายยังไม่ถึงตอนจบและยังไม่หลุดจากโครงที่วางไว้นะครับ
ตั้งใจอะไรไว้ก็ให้มันลงแบบนั้นจะดีกว่า ผู้แต่งลังเลไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ เพราะผู้อ่านเองก็จะลังเลตามไปด้วย
ส่วนการที่ผมยังไม่ได้กำหนดช่วงกลางไว้ นั้นก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นครับ เพราะว่าเรายังไม่รู้ว่าจะเพิ่มเติมอะไรได้อีก ตอนแรกกำหนดเนื้อเรื่องไว้แบบหนึ่ง แต่พอแต่งไปสักพักเราอาจนึกประเด็นอื่นออกก็ได้
ผมมีประสบการณ์ตรงมาจากนิยายเรื่อง TAM ในตอนนั้นผมวางโครงไว้แบบทุกอย่างต้องตามนั้นหมดตอนนี้ต้องอย่างงั้น ตอนต่อมาต้องอย่างงี้ และสุดท้ายต้องแบบโน้นทุกอย่างตายตัวแก้ส่วนของเนื้อเรื่องไม่ได้เลยเพราะจะเพี้ยนไปหมด
ทีนี้พอแต่งไปสักพักได้รับคอมเม้นต์มา หลังๆเข้าพอได้รับคำติชมและได้ประสบการณ์แต่งเพิ่มอีกระดับหนึ่งก็พบว่าโครงเรื่องค่อนข้างไม่สวย... แต่ครั้นอยากมาแก้ทีหลังก็ทำไม่ได้แล้วล่ะครับ เพราะมันผูกมัดกันเป็นทอดๆไปหมด แก้โครงเรื่องทีก็เหมือนกับล้มเรื่องเลย
ก็ด้วยเหตุผลฉะนี้ล่ะครับ...
ในส่วนของกลางเรื่องนั้นผมแนะนำไว้ให้วางแบบหลวมๆคือลงแบบคร่าวๆไว้ก่อนว่าจะให้ตัวเอกดำเนินเรื่องยังไง
ในส่วนนี้อาจมีเหตุการณ์ต่างๆเข้ามามากมายเช่น มีการต่อสู้ พบเพื่อน บทรักอะไรก็ว่าไป ให้ลองวางแล้วก่อน แล้วมองแบบผ่านๆดูความต่อเนื่องว่าเป็นเนื้อเดียวกันไหม
เอาง่ายๆว่ามองแบบตอนต่อตอนแล้วรู้สึกยังไง ถ้ารู้สึกว่า 'เออ! เข้าท่าไม่หลุดคอนเซฟท์ ต่อเนื่อง น่าสนใจ' แบบนี้ฉลุยครับดำเนินการลงรายละเอียดในตอนได้เลย
แต่ถ้าอ่านแล้ว 'ทะแม่งๆวุ้ย... มันกระโดดแปลกๆ ไม่สัมพันธ์กันเล้ย ดูๆแล้วงง ไม่มันส์เลย' ออกแนวนี้ล่ะก็ กลับมาแก้โครงเรื่องก่อนพิมพ์ก็ไม่สายนะครับ
ในประเด็นแนวไหนดีผมได้อ้างว่านิยายเรื่องหนึ่งสามารถมีได้หลายแนว ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ในส่วนของโครงเรื่องนี้เอง ในช่วง 2. (เว้นไว้ก่อน) นี่ล่ะ โดยเราสามารถแทรกเหตุการณ์ในอารมณ์ต่างๆเข้ามาเพื่อเพิ่มรสชาติได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้มันเกิดความรู้สึกว่าสอดคล้องกับเนื้อเรื่องนะครับ
สำคัญคืออย่าให้หลุดแนวของเรื่อง ถ้าตั้งเป้าไว้อยากให้เป็นแนวแฟนตาซีเป็นหลักสัดส่วนตอนที่เป็นแฟนตาซีควรเยอะที่สุด พยายามอย่าเติมแนวเรื่องอื่นจนเกินพอดี ขืนมากกว่านั้นแนวนิยายเราจะหลุดเอาครับ
มีบ่อยๆเลยล่ะกับนิยายที่เติมหลายแนวจนกลายเป็นเกาเหลาแกงโฮะ คนอ่านงงว่าตกลงจะเอาแนวไหน ตอนแรกก็ขำขัน ไปๆมาๆกลายเป็นรัก อ่านไปอีกอ้าวแนวสยองขวัญ อ่านไปอีกเฮ้ยแนวหลุดโลก ยิ่งอ่านยิ่งเละเทะ แบบนี้ไม่ไหวนะครับ
กำหนดสัดส่วนตอนย่อยที่จะเติมเสียบเข้ามาให้ดี ใส่มาพอเป็นรสชาติแฝงนะครับ อย่ามากจนกลบรสชาติหลักเราไป
ขอให้แน่ใจว่าโครงเรื่องที่เราวางไว้นั้นสวยงามต่อเนื่องไม่โหว่เกินไปนักดีแล้ว คุณจะเริ่มต้นการเขียนก็ไม่สายครับ อย่าฝืนเขียนไปวางโครงไป
ถ้าจะเพี้ยนก็ให้มันเพี้ยนที่ขั้นตอนวางโครงนี่ล่ะ หาจุดบอดและแก้ไขเสีย ถ้าออกมาเป็นตัวนิยายแล้วถึงตอนนั้นหมดสิทธิ์แก้นะครับ...
เพราะของบางอย่างถ้าเริ่มต้นไปแล้วกลับมาแก้ใหม่มันจะดูไม่งาม อย่างน้อยผู้อ่านคงไม่อยากกลับมาอ่านเรื่องเดิมซ้ำสองในรูปแบบที่ผิดไปล่ะครับ
เราจะเห็นว่ามีนิยายหลายเรื่องที่แต่งมาได้ครึ่งทางก็ทุบทิ้ง บางทีก็โละเขียนใหม่ แต่นิยายบางเรื่องกลับแต่งยาวมาเป็นปีๆโดยไม่มีการแก้โครงเรื่อง ออกตัวยังไง ก็พุ่งมาตามทางจนจบได้
ผมชี้ได้เลยว่าความแตกต่างของสองตัวอย่างนี้ก็มาจากโครงเรื่องเป็นประเด็นใหญ่ ตอนวางโครงเรื่องขอให้เรามองในมุมมองของผู้อ่านด้วยว่ามันดีไหม เนื้อหาเปิดตัวดึงดูดไหม จบเรื่องประทับในหรือเปล่า เนื้อหากระตุ้นให้อยากอ่านต่อเนื่องดีไหม...
เอาให้ชัวร์ก่อนเริ่มเรื่อง คำพูดหนึ่งของคุณผู้กำกับเป็นเอกที่มารายการจับเข่าคุยถูกใจผมมากเลย 'ถ้าจะทำหนังสักเรื่องหนึ่งแล้วล่ะก็ คนที่ต้องชอบและถูกใจกับหนังเรื่องนั้นมากที่สุดคือตัวผู้ทำ'
ครับชัดเจนตามนั้น ถ้าคนทำไม่สนุกก็อย่าหวังเลยว่าคนดูคนอ่านจะสนุกไปด้วย อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงมันจะถูกถ่ายทอดออกมา ผู้ที่ควรตื่นตัวมากที่สุดคือตัวผู้เขียน
แถมท้ายสักนิดละกัน เคยมีคนถามว่าผมใช้หลักวางโครงเรื่องแบบไหน?
ก็อธิบายรวบในนี้เลยละกัน ผมเองก็อาศัยรูปแบบข้างบนที่กล่าวมานั่นล่ะครับ แต่จะมีการเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยให้เป็นรูปร่างมากขึ้น
เนื่องจากนิยายเรื่องตำนานรักอามัตสึจะมีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกันหลายรุ่นอายุ หลายภาค หลายตัวละคร มีเรื่องของช่วงเวลาเข้ามาคาบเกี่ยว ดังนั้นแล้วการวางโครงเรื่องจึงต้องละเอียดอ่อนมากกว่าเรื่องอื่นที่เคยแต่งมาอย่างพวกแฟนฟิคโทโฮหรือเรื่องสั้นสยองขวัญ
สำหรับตำนานรักอามัตสึ 2 นี้ใช้การวางโครง 2 ส่วนครับ คือโครงใหญ่ และโครงย่อย
วิธีการก็คือผมจะสร้าง File Notepad ออกมาจำนวนหนึ่งครับ กำหนดตอนแรกคือเลขและชื่อตอนแล้วก็ตอนสุดท้ายกำหนดไว้เยอะๆไว้ก่อนเลย
ยกตัวอย่างเช่น
001 - เริ่มต้นตำนานบทใหม่
202 - ตอบจบ - บทสรุปของตำนานอันยิ่งใหญ่
พอวางโครงใหญ่แล้วก็เริ่มทำการเขียนตอนต้นกับตอนจบไว้แบบคร่าวๆให้เป็นแนวทางและเตือนตัวเองว่า เราจะเอาแบบนี้นะ แล้วจะให้จบแบบนี้นะ
จากนั้นขั้นต่อมาคือเติมเต็ม ในตอนนี้ถ้ามีไอเดียต่อก็สร้าง File Notepad ขึ้นมาอีกกำหนดชื่อตอนแล้วก็หมายเลขที่ประมาณว่าน่าจะลองตอนนี้
สมมติเช่นผมอยากให้นางเอกเข้าเรียนในสมาคมแล้วก็น่าจะมาสักตอนหลังจากที่เดินทางข้ามเมืองมา ผมก็จะสร้างไฟล์ขึ้นมาแล้วกำหนดเลขตอนให้ข้ามจากตอนแรกแล้วให้ชื่อตอนกำกับว่า
003 - สมาชิกอโคไลท์
อะไรประมาณนี้ครับ คือไม่จำเป็นต้องล็อคตายตัวว่าเลขตอนจะเรียงแบบเป๊ะๆ เอาเป็นแค่ให้เราเข้าใจว่าอะไรมาก่อนอะไรมาหลังก็พอ แล้วค่อยมาปรับเลขให้ต่อเนื่องที่หลังก็ได้ครับ
สำหรับตำนานรักอามัตสึ ผมค่อนข้างมีไอเดียการเดินทางและต่อสู้มากมาย ดังนั้นผมก็จะสร้างไฟล์ออกมาแล้วตั้งชื่อคร่าวๆแบบนี้
048 -ไดเมนชัน พอร์ทรอล
072 - ที่สุดของการควบคุม
090 - พื้นฐานขั้นสูงสุด
096 - คืนวันคริสมาตส์
120 - รับตำแหน่ง
134 - ราชาแห่งผีดิบ
140 - เฟรย์ ซอร์ด
175 - Rejection
199 - ดอกไม้แห่งความหวัง
จะสังเกตได้ว่าผมมักกำหนดมุกแต่ละตอนไว้แบบเว้นช่วงกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความยืดหยุ่นที่ว่ามาครับ แต่ละตอนที่คิดได้จะเว้นช่วงมาก
เพราะบางครั้งเราก็แต่งให้จบในตอนเดียวไม่ลง โดยเฉพาะฉากต่อสู้ที่ไม่แน่นอนว่าจะลงภายในสองหรือสามตอน แล้วแต่อารมณ์ของเนื้อเรื่องในตอนนั้นด้วย
เหลือดีกว่าขาดครับ ผมมักใส่เลขตอนให้มากไว้ก่อน แล้วปรับลดเรียงทีหลังเอา ในตอนนี้ผมใช้หลักถึง 3 หลักเลย จริงๆแล้วไม่ถึงพันตอนหรอกครับ สักสามร้อยก็เก่งแล้ว...
คือมีบทเรียนมาที ผมใช้เลข 2 หลัก 01 02 03 แบบนี้แต่พอแต่งไปนานๆเข้า นิยายดูท่าจะเกินร้อยตอนเข้าให้ ทีนี้คอมมันก็เรียงแบบความเข้าใจมันก็จะกลายเป็น 09 100 10 11 เลขหลักร้อยจะแทรกกับเลขหลักสิบมั่วไปกันหมด เลยต้องมาปรับทีหลัง
ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆครับ สร้างไฟล์ กำหนดชื่อตอนหลักๆไว้ตามความต่อเนื่อง จากนั้นเข้าไปเขียนไอเดียคร่าวๆพอเป็นโครงร่างๆ ที่สุดแล้วเราก็จะได้โครงเรื่องนิยายที่แน่นและยืดหยุ่นได้มาเรื่องหนึ่ง
คือนิยายที่ยาวเป็นร้อยๆตอนนั้น เป็นไปไม่ได้หรอกครับว่าจะกำหนดช่วงรอยต่อระหว่างตอนต่อตอนได้ทั้งหมดในคราวเดียว
ส่วนใหญ่ก็ต้องแต่งไปคิดไป บางทีดูหนัง อ่านการ์ตูน เกิดติดใจท่าหรือแนวเรื่องก็เอามาปรับใช้ได้
บางทีผมได้ไอเดียมา แต่ยังแต่งไม่ถึงก็ไม่เป็นปัญหา เปิด Notepad กำหนดตอนนั้นล่วงหน้าแล้วใส่ข้อความหรือมุกไอเดียคร่าวๆลงไปไว้ก่อน แล้วพอถึงเวลาที่เนื้อเรื่องมาถึงจุดนั้น พอเราเปิดมาก็จะจำได้เองล่ะครับ สะดวกนี้ไม่ต้องไปค้นว่าเก็บคำพูด วลีสุดเด็ด ไอเดียสุดแปลกไว้ที่ไหน
เป็นวิธีที่สะดวกมากครับในกรณีที่คุณมีคอมเป็นของตัวเองน่ะนะ หรือถ้าจะเก็บลงแฮนด์ดี้ไดรฟ์ก็เข้าท่า เพราะ File Notepad นั้นจะกินเนื่อที่น้อยมากครับ เปิดก็ไว เซฟก็สะดวก เสียตรงที่ไม่มีลูกเล่นเหมือน MSWord เท่านั้นเอง
แล้ววิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีคือถึงใครจะเข้ามาแอบอ่านก็ไม่ต้องกลัวว่าเนื้อเรื่องจะรั่วไหล หรือโดนลอก เพราะเนื้อเรื่องล่วงหน้านั้นจะเป็นเพียงแค่รูปแบบโครงคร่าวๆที่ไม่ต่อเนื่อง จะมีก็เพียงคนเขียนเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเต็มเป็นยังไง และจะเดินเรื่องต่อไปยังไง
ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ผมว่ามาข้างบน คนอื่นมองอาจไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่สำหรับผมแล้วมันคือทิศทางของเรื่องที่เป็นช่วงรอยต่อสำคัญครับ แต่เนื้อเรื่องจริงๆทั้งหมดอยู่ในหัวผมครบถ้วนครับ และถึงจะลืมส่วนที่เขียนไว้ก็จะคอยเตือนให้จำได้เองเมื่อเขียนไปถึงตรงนั้น
ถึงจะทิ้งหน้านิยายไปครึ่งปีกลับมาเปิดอารมณ์คนแต่งก็ยังอยู่ครับ ไม่มีหลงตอนด้วย ถือว่าเป็นวิธีที่เข้าท่าเลยสำหรับคนที่คิดจะแต่งนิยายตอนยาวๆ
ก็ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ลองแต่งใหม่ไม่น้อย อย่างน้อยแล้วก็น่าจะเป็นผลดีในเรื่องของระเบียบตอนนิยายล่ะเอ้า
-------------------------------------------------
ความคิดเห็น