ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กลเม็ดเคล็ดลับการแต่งนิยาย สไตล์ K.W.E.

    ลำดับตอนที่ #3 : แนวไหนดี?

    • อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 56


     

    จะแต่งแนวไหนดีคะ แนวไหนนิยมสุดครับ...?

     

    นี่คงเป็นอีกคำถามที่มักได้ยินจากนักเขียนใหม่ผู้ที่คิดจะเริ่มลองเขียนนิยายดูบ้าง

    ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากผู้เขียนนั้นจะจับหลักไม่ถูก ไม่รู้ว่างานเปิดตัวงานแรกจะเอาแนวไหนดี อีกทั้งตลาดนิยายในปัจจุบันมีมากมายหลายแนวเหลือเกิน ลองยกตัวอย่างคร่าวๆจากเว็บ dek-d ก็มีให้เพียบแล้ว เช่น สบายๆ คลายเครียด , รักหวานแหวว , ซึ้งกินใจ , รักเศร้าๆ , นิทาน, ผจญภัย, สืบสวน, ระทึกขวัญ, สงคราม, ตลก-ขบขัน, กลอน , อดีต ปัจจุบัน อนาคต, จิตวิทยา, สังคม, หักมุม , แฟนตาซี, กำลังภายใน, วิทยาศาสตร์

     

    เยอะเอาเรื่องเลยทีเดียว แต่ละนิยายก็มีจุดเด่นจุดขายที่แตกต่างกันออกไปด้วย หากยังไม่มีแนวทางที่ถนัดหรือไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเราชอบเขียนแนวไหน คำถามนี้ก็คงเวียนวนอยู่ในหัวผู้เขียนอยู่นานกว่าจะตัดสินใจได้เป็นแน่

     

    สำหรับมือเริ่มแต่งบางท่านที่ลำบากใจเลือกไม่ถูกว่าจะหัดเขียนแนวไหนดี ผมแนะนำได้เลยว่า 'แต่งแนวที่คุณชอบ' นั่นล่ะครับใช่เลย

    ว่ากันตามตรงแล้วประเด็นนี้แนะนำยากครับ เพราะทางใครก็ทางมัน ความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อมูลสำหรับแต่งนิยายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ส่วนนี้มีผลมากนะครับ คือถ้าใครชอบอะไรมากๆ ก็มักจะศึกษา เรียนรู้ มีข้อมูล หรือผ่านตาในเรื่องนั้นๆมากตามไปด้วย ซึ่งมันก็จะเป็นทุนตั้งต้นที่ดีสำหรับนิยายของท่านครับ

     

    ดังนั้นแล้วคนที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุดไม่ใช่ใครอื่น แต่ควรเป็นตัวของผู้เขียนเอง

    ยามที่ท่านเริ่มรัวนิ้วลงบนคีย์บอร์ด หรือสะบัดดินสอปากกาลงบนกระดาษเพื่อเขียนนิยายแล้ว นาทีนับจากนั้นไป ท่านถือเป็นผู้สร้างเรื่องและผู้เล่าเรื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงแค่ข้อมูลและวิธีนำเสนอเท่านั้น แต่ท่านยังต้องต่อสู้กับตัวเองด้วย กรณีที่แต่งนิยายตอนยาวๆ ซึ่งก็มีไม่น้อยกับที่แต่งได้ไม่กี่ตอนแล้วเบื่อ หรือทนลากไปได้ครึ่งเรื่องแล้วดอง เพราะผู้เขียนหมดไฟ หรือแต่งแล้วรู้สึกไม่สนุก...

     

    ดังนั้นแล้วผมจึงเสนอว่า หากคิดจะเลือกแนวนิยายสักเรื่องแล้วล่ะก็ ควรเลือกเรื่องที่เราชอบและถนัดไว้ก่อนครับ เราจะรู้สึกเบื่อได้ช้ากว่าแนวที่เราฝืนแต่ง ตรงข้ามเพราะเป็นแนวที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะอ่านการ์ตูนหรือนิยายคนอื่น การสร้างเหตุผลของเรื่อง การจินตนาการ ก็จะง่ายกว่ากันด้วย

     

    การเริ่มต้นจากกระดาษว่างๆไม่ใช่งานง่าย แม้แต่ผู้ที่มีประสบการณ์งานเขียนมานาน เวลาหัวตื้อๆแล้วเจอกระดาษขาวๆ มันก็พาลทำให้นึกอะไรไม่ออกเหมือนกัน

    แต่สำหรับมือใหม่แล้ว ก็อย่าได้กลัวครับว่าแต่งแล้วจะไม่สนุก แต่งแล้วจะไม่จบ แต่งแล้วจะไม่มีคนอ่าน เรื่องนั้นเอาไว้ว่ากันภายหลังจากที่นิยายเขียนจบตอนแล้วจะดีกว่า สิ่งสำคัญที่ผมมองก็คือก้าวแรกนี่ล่ะครับ ถ้าไม่เริ่มก้าวก็ไม่อาจเดินได้ และไม่มีทางที่จะวิ่งต่อได้แน่นอน ฉะนั้นแล้วถ้าอยากเขียนล่ะก็ วางแผนและลงมือได้เลยอย่าลังเล

     

    ถ้าอ้างอิงจากตอนที่แล้วที่ผมพูดในเรื่องการสร้างโลกส่วนตัวนั้น ผมก็คิดว่าผู้เขียนแต่ละคนก็น่าจะมีโลกส่วนตัวในแบบที่ถนัดที่สุดอยู่... เคยมีคนกล่าวว่าบุคลิกหนึ่งของนักเขียนนิยายคือต้องช่างเพ้อฝัน ซึ่งผมก็เห็นด้วยครึ่งหนึ่งนะครับ

    คำถามครับ... ท่านๆทั้งหลายเคยมีช่วงเวลาแห่งการจินตนาการบ้างไหม?

    ยกตัวอย่างเช่นเวลาผมนั่งรถไกลๆเงียบๆนิ่ง พอได้ใส่หูฟังเพลงมองวิวไป สักพักก็จะนึกถึงนิยายขึ้นมาเอง หรือการคิดฉากเด่นๆบางฉาก ก็มักมาตอนช่วงเวลาที่นอนเหยียดแข้งเหยียดขาหลับตาสบายๆบนเตียง... การสร้างจินตนาการหรือการคิดเพ้อฝันนี้ ผมเชื่อว่านักเขียนไม่ว่ามือเก่าหรือมือใหม่ย่อมมีกันครับ แต่จะด้วยวิธีไหนหรือมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลไป

    ถ้ามีแล้วล่ะก็... ให้ใช้จุดนี้ล่ะครับในการคิดพล็อต การเดินเรื่อง ในแนวที่ตัวเองชอบ จากนั้นแล้วก็เริ่มเขียนกันเลย แนะนำว่าแต่งให้มาก แต่ต่อเนื่องเข้าไว้ครับ จะเป็นตอนสั้นหรือตอนยาวก็ได้อันนี้ไม่เกี่ยง แต่ขอให้แต่งไปเรื่อยๆจนจบหรืออิ่มตัว แล้วเราก็จะเห็นแนวโน้มหรือทิศทางที่ถนัดของตัวเอง

    ระหว่างที่แต่งถ้าจะให้ดีก็ควรให้ผลงาน นั้นผ่านสายตาผู้อ่าน จะให้เพื่อน พ่อ แม่ พี่น้องอ่านแล้ววิจารณ์หรือจะโพสในเน็ตแล้วรอรับฟังคอมเม้นต์ก็ตาม พอรู้สึกว่าเข้าที่ดีพอแล้วจะเปลี่ยนมาเป็นเรื่องยาวหลายภาคก็ได้ ถ้าคิดว่าแต่งไหวน่ะนะ

     

    พูดถึงแนวเรื่องที่แต่งนั้นผมว่าไม่จำเป็นเสมอไปว่าคนๆหนึ่งจะแต่งได้แค่แนวเดียว โดยส่วนตัวผมมองว่านักแต่งนิยายที่ดีควรแต่งให้เป็นหลายสไตล์เข้าไว้ครับ... คือบางทีแล้วตอนเริ่มต้นเราอาจคิดว่าเราถนัดแนวหนึ่ง แต่พอแต่งๆไปมันก็ไม่แน่ว่าเราอาจถนัดอีกแนวหนึ่งแทนก็ได้... เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ครับและไม่ใช่เรื่องแปลกด้วย เพราะไม่ว่าการ์ตูน หรือภาพยนตร์สมัยนี้ ก็หาใช่แนวเดียวตลอดทั้งเรื่องเสมอไปครับ เช่นถ้าแอ็กชัน ก็อาจมีดราม่า หักมุมผสมอยู่ แต่งแนวผีก็อาจมีตลกร้ายปนอยู่ด้วย แนวแฟนตาซีก็อาจพ่วงความรักอยู่บางทีแต่งแนวหนึ่งแล้วเราอาจค้นพบความถนัดอีกแนวหนึ่งได้ครับ ซึ่งเราจะไม่มีทางรู้เลยจนกว่าจะได้เริ่มแต่งแนวดังกล่าว หรือแต่งบทที่มีการเชื่อมต่อกันแนวที่ว่านั้น

     ถ้ามีเวลาแล้วยังสนุกกับงานเขียนล่ะก็ จะเปลี่ยนแนวเรื่องไปเรื่อยๆดูก็ได้ครับ ถือว่าเพิ่มพูนประสบการณ์กันไป  อ้อ... แนะนำว่าอย่าใจร้อนแต่งทีหลายเรื่อง ไม่งั้นเราจะจับอะไรไม่ได้เลย ถ้าคิดจะแต่งแบบเป็นจริงเป็นจังขอให้เลือกแต่งสักสไตล์ไปเลยจะดีกว่า พออิ่มตัวแล้วค่อยย้ายก็ไม่สาย เพราะผมเชื่อว่าในแต่ละเรื่องที่เราเขียนนั้น จะต้องมีแฟนนิยายที่หวังว่าจะได้อ่านนิยายไปจนจบบริบูรณ์แน่ๆครับ

     

    ส่งท้ายกับสำหรับประเด็นที่ว่าแนวไหนดี คำตอบก็คือแนวที่เราแต่งแล้วมีความสุข แต่งแล้วสนุกทั้งคนแต่งและคนอ่านครับ แต่ละคนก็จะมีความรู้สึกสนุกที่แตกต่างกันไป ดังนั้นอะไรที่คุณทำแล้วสบายใจสนุกและมีความสุขผมว่านั่นล่ะครับแนวทางของคุณ

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×