ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลการเขียนนวนิยายสืบสวนสอบสวน

    ลำดับตอนที่ #21 : ตามรีเควส : อาวุธปืน ลักษณะบาดแผล การเก็บหลักฐานและการตรวจสอบ (2)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.1K
      1
      11 เม.ย. 54

              พอดีมีคนเมลเข้ามาคุยด้วยเรื่องคดีเกี่ยวกับปืนผาหน้าไม้ ลองค้นๆ ดูด้วยความอยากรู้จนเจอข้อมูล คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยเอาข้อมูลมาลงรวมเอาไว้ให้ค่ะ


    ระยะยิง / การตรวจหาคราบเขม่าดินปืน / การประเมินผลจากบาดแผล

     

    ระยะยิง(range of fire)
             ระยะยิงหมายถึงระยะจากปากกระบอกปืนถึงบาดแผลทางเข้า
             ในการยิงแต่ละครั้ง  สิ่งที่ออกจากปากกระบอกปืนนอกจากหัวกระสุนปืนแล้วยังมีกลุ่มของเขม่าดินปืน หรือควันปืน (soot) ประกายดินปืนที่กำลังเผาไหม้ (unburnt particle) และความร้อน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยบอกระยะห่างระหว่างปากกระบอกปืนกับผิวหนังได้
             เขม่าปืนเป็นควันประกอบด้วยผงถ่านที่เผาไหม้แล้ว จะเบา และพุ่งไปได้ไม่ไกลกว่า  6 นิ้วฟุต เมื่อสัมผัสผิวหนังจะเปื้อนอยู่บนผิวหนังเป็นคราบดำๆ  ซึ่งถ้าใช้น้ำล้างจะถูกล้างออกได้ 
             ส่วนดินปืนที่กำลังเผาไหม้นั้นเป็นสะเก็ดไฟ สามารถพุ่งไปได้กว่าฟุตครึ่ง และเมื่อสะเก็ดไฟกระทบผิวหนังจะเกิดเป็นแผลถลอกเล็กๆบนผิวหนังจึงล้างไม่ออกและจะติด    ที่ผิวหนังจนกว่าจะเน่าสลายไป  และพบว่าระยะทางที่ใกล้ที่สุดที่ไม่พบจุดดินปืนที่ระยะ 1.5 ฟุต
             ฉะนั้น ถ้าที่บาดแผลทางเข้าพบเขม่าปืนอยู่ และในมีรอยจุดดินปืนค่อนข้างหนาแน่น ระยะยิงอยู่ที่ไม่เกิน 6 นิ้วฟุต ถ้าไม่พบเขม่าพบแต่รอยจุดดินปืนระยะยิงอยู่ประมาณ  6 - 18 นิ้ว  แต่ถ้าพบมีบาดแผลทางเข้าอย่างเดียวแสดงว่าน่าจะยิงมาจากระยะเกิน18นิ้ว ยกเว้นแต่ผู้ยิงเจตนานำวัสดุใดมาขวางกั้นเขม่าและดินปืนไม่ให้เปื้อนผิวหนัง
             การยิงระยะจี้ติดตามที่กล่าวแล้วเขม่าและดินปืนจะอัดกันเข้าไปในบาดแผลทั้งหมดจึงไม่พบคราบเขม่าหรืดรอยจุดดินปืนบนผิวหนังด้วย นอกจากนั้นยังพบว่าที่เนื้อเยื่อ ด้านในมักมีสีแดงสด กว่าส่วนอื่นเพราะ คาร์บอนโมน๊อกไซด์ที่เกิดขึ้นในการเผาไหม้ของดินปืนเข้าไปรวมกับเลือดในบริเวณดังกล่าว และอาจตัดเนื้อเยื่อส่วนนั้นหาปริมาณ คาร์บอนโมน๊อกไซด์ได้
             มีผู้ศึกษาว่าในกรณียิงระยะใกล้คือ 2 - 3 นิ้วฟุตนั้น ถ้าบริเวณนั้นมีขนอยู่ อาจจะพบว่าขนมีการหงิกงอจากความร้อนได้ แต่ถ้าเป็นเส้นผม จะสังเกตได้ยากกว่า
     

    ระยะยิงของปืนลูกซอง
             ระยะยิงของปืนลูกซองมีความแตกต่างกันมากในแต่ละกระบอก แต่ละรุ่น  ฉะนั้นการจะบอกระยะยิงที่แน่นอนจะต้องได้ปืนกระบอกนั้นมายิงทดสอบเท่านั้น
             อาจจะประมาณระยะยิงของปืนลูกซองดังนี้
             ระยะใกล้มากคือระยะต่ำกว่า 1 เมตร รูทางเข้าจะเป็นโพรงขนาดใกล้เคียงกับปากกระบอกปืน และถ้าต่ำกว่า 6นิ้วจะพบเขม่าและจุดดินปืนเช่นกัน ส่วนระยะที่พบจุดดินปืนอย่างเดียวมีความแตกต่างกันมากดังกล่าวและอาจจะถึงระยะเกือบ1เมตรก็ได้
             ระยะประมาณ1 เมตร แผลทางเข้ายังเป็นรูเดียว แต่ขอบอาจะเริ่มเป็นหยักเหมือนขนมคุ้กกี้
             เกินจากระยะ 1 เมตร แผลจะเริ่มกระจายออกให้มีหลายแผล
             เมื่อพบกลุ่มทางเข้าของกระสุนปืนสามารถวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของกลุ่ม   เพื่อเปรียบเทียบเป็นระยะทางได้โดยประมาณ โดยวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของกลุ่มได้หน่วยเป็นนิ้วจะได้ระยะทางเป็นหลา เช่นกลุ่มทางเข้าของกระสุนวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 6 นิ้ว ระยะยิงจะประมาณ 6 หลา(หรือศก.เป็นซม.หาร 3 ได้ระยะทางเป็นเมตร)
             ในการทดลองของ พลตำรวจตรีทัศนะและพวก ได้ทดสอบการยิงในปืนลูกซองที่ประดิษฐ์เองในประเทศพบว่ากลุ่มกระสุนกระจายออกมากกว่าปืนลูกซองมาตรฐานมากโดยได้สูตรดังนี้ คือเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นนิ้วหาร2ได้ระยะทางเป็นเมตร (ถ้าศก.6 นิ้วระยะยิงอยู่ที่ 3 เมตรเท่านั้น)
             ศพที่สงสัยว่าถูกกระสุนปืนควรได้รับการ x-rays ทุกราย เพื่อเป็นแนวทางว่ามีสิ่งแปลกปลอมใดอยู่ในร่างกายหรือไม่เป็นจำนวนเท่าใดก่อนการผ่าศพเพื่อเป็นแนวทางของการผ่าหากระสุนปืน

             แต่จะใช้การกระจายของหัวกระสุนปืนลูกซองในร่างกายเป็นเครื่องหาระยะยิงไม่ได้ เพราะการกระจายของกลุ่มกระสุนในร่างกายจะมากกว่าความเป็นจริงมาก
     


    การประเมินผลการตรวจบาดแผลกระสุนปืน

             จำนวนบาดแผล  ทิศทางการยิง  และระยะยิงอาจจะช่วยการแปลผลเกี่ยวกับพฤติการณ์การตายเช่น
             1. ถ้าเป็นอุบัติเหตุ บาดแผลกระสุนปืนมักจะมีนัดเดียว
             2. การฆ่าตัวตายจะยิงที่จุดตาย 2 ครั้งไม่ได้ เช่น ยิงเข้าสมองทั้ง 2 นัด
             3. การฆ่าตัวตายวิถีกระสุนมักจะหน้าไปหลัง และวิถีกระสุนจะไม่ตรงแต่เอียงซ้ายขวาหรือเฉียงขึ้นลงเสมอ
             4. การยิงตนเองให้เกินระยะ 1.5 ฟุตได้ยาก ยกเว้นปืนขนาดเล็กมาก
             5. การยิงจนหมดแม็กกาซีนจนขึ้นแม็กฯใหม่ (reloaded) แสดงเจตนาในการฆ่า
             6. บางครั้งอาจจะพบบาดแผลฆ่าตัวตายยิงทะลุเสื้อผ้า
             7. การแตกของกะโหลกศีรษะอาจจะบอกได้ว่านัดไหนยิงก่อนยิงหลัง
             8.ในสมัยก่อน สอนว่าการยิงตัวตาย กระสุนตัดจุดศูนย์กลางการเคลื่อนไหว(Motor area)ในสมองทันที ทำให้เกิดคาดาเวอริค สปัสซั่ม(Cadaveric spasm)กำปืนอยู่ในมือนั้น ในปัจจุบัน นิติพยาธิแพทย์ไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะจากการชันสูตรพลิกศพ ในรายยิงตัวตาย(ที่สมอง) เกือบไม่พบคาดาเวอริค สปัสซั่มเลย ปัจจุบันคงเชื่อว่าคาดาเวอริคสปัสซั่มเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากก่อนตายเพียงอย่างเดียว
             9.การยิงตัวตายมีโอกาสพบปืนยังคงอยู่ในมือศพ(โดยที่ไม่ใช่การเกิดคาดาเวอริคสปัสซั่ม) ประมาณ 25%(เป็นการยิงตัวตายในท่านั่งหรือนอน 76%)และ 69%ปืนยังติดอยู่บนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง

     

    การตรวจหาธาตุต่างๆที่ที่เกิดจากการยิง(ตรวจเขม่า) (detection of gun shot residues)
             การตรวจหาธาตุหรือสารประกอบต่างๆที่เกิดจากการยิง
             1. ตรวจจากบาดแผลทางเข้ากระสุนปืน เช่นอาจจะพบดินปืน แร่พลวง หรือแบเรี่ยมได้ที่ปากแผลหรือในบาดแผลในการยิงระยะใกล้
             2. ตรวจจากมือผู้ยิงหรือผู้ต้องสงสัย ซึ่งการระเบิดของกระสุนจะเกิดการกระจายของธาตุและสารประกอบต่างๆเหล่านี้กระจายอยู่บนมือผู้ยิงได้

             การตรวจในปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้พาราฟินเทสแล้วเพราะเกิดผลบวกปลอมได้ง่าย วิธีการตรวจที่ยังใช้ตรวจคือ
             1. NAA (NEUTRON ACTIVATION ANALYSIS)
             ใช้ตรวจหาธาตุแบเรี่ยม(Ba) พลวง(Sb=Stibium=Antimony) และตะกั่ว(Pb) ทำโดยใช้พาราฟินพอกไปในส่วนที่สงสัยแล้วนำไปล้างด้วยกรดไนตริกเจือจาง แล้วนำสาร ที่ได้ไปยิงด้วยอนุภาคนิวตรอน เมื่อสารนั้นจับอนุภาคนิวตรอนไว้และกลายสภาพเป็นสารกัมมันตภาพ ปล่อยรังสีออกมา สามารถเปรียบเทียบกับสารที่มีอยู่สามารถทราบว่า     เป็นสารใด
             เครื่องมือมีราคาแพง วิธีการยาก และเสียเวลามาก จึงไม่ค่อยนิยมใช้

             2. F.A.A.S.(FLAMELESS ATOMIC ABSORPTION)
             นำสารที่ได้จากมือหรือที่สงสัยมาเผาไฟ อะตอมของธาตุที่ต่างกันจะดูดแสงในความยาวคลื่นที่จำเพาะ ซึ่งเมื่อตรวจด้วยเครื่องSPECTOPHOTOMETER (เครื่องมือที่ใช้  วัดความถี่ของคลื่นแสง)ก็จะสามารถบอกได้ว่าเป็นสารใด ซึ่งกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจใช้อยู่

             3. S.E.M.(SCANING ELECTRON MICROSCOPE)
             ใช้ตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์อีเล็คตรอน เพื่อตรวจดูผลึกของธาตุนั้นโดยเฉพาะ

             4. วิธี SODIUM RHODIZONATE
             ทำได้โดยนำผ้าฝ้ายชุบ 1% HCl เช็ดบริเวณที่สงสัย ผึ่งให้แห้ง หยดด้วยน้ำยา SODIUM RHIZONATE แล้วหยดด้วย 5%HCC อีกครั้งหนึ่ง ถ้าพบว่าเป็นสีม่วงเป็นตะกั่ว  เป็นสีแดงเป็นแบเรี่ยม แต่วิธีนี้มีความไวต่ำ ตรวจพบเพียง 60%ของที่มีอยู่จริง
            การตรวจเขม่าที่มือดังกล่าว กองพิสูจน์หลักฐานพบว่าการพบเขม่าทั้งสองมือมีเปอร์เซ็นต์สูง

     
     


    **จากบทความบาดแผลกระสุนปืนและวัตถุระเบิด   โดย พลตำรวจตรี เลี้ยง  หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ**

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×