หนึ่งปีสำหรับรัฐประหาร - หนึ่งปีสำหรับรัฐประหาร นิยาย หนึ่งปีสำหรับรัฐประหาร : Dek-D.com - Writer

    หนึ่งปีสำหรับรัฐประหาร

    หนึ่งปีผ่านไปสำหรับรัฐประหาร

    ผู้เข้าชมรวม

    136

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    136

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  1 ก.ย. 66 / 17:57 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่การรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ครบรอบหนึ่งปีพอดี  จึงเป็นเรื่องปกติที่บรรดานักการเมือง  นักวิชาการ และ สื่อสารมวลชน จะมีการประเมินผลงานในรอบปีที่ผ่านมาของรัฐบาล  และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)  แม้แต่สื่อสารมวลชนต่างประเทศก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้  หนังสือพิมพ์ต่างชาติฉบับหนึ่งยังได้ตีพิมพ์บทความของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารด้วย


    คนจำนวนมากที่เคยสนับสนุนหรือดีใจกับการรัฐประหาร ยอมรับว่าผิดหวังกับหนึ่งปีที่ผ่านมา เพราะตั้งความหวังเอาไว้สูงเกี่ยวกับการสะสางปัญหาต่างๆของบ้านเมืองหลังการรัฐประหาร  ยิ่งเห็นสภาพการเมืองที่ยังคงเต็มไปด้วยการต่อรองและผลประโยชน์ ก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาอาจสูญเปล่า  สำหรับผมนั้นหากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงแรกที่ผมได้บันทึกไว้ในหนังสือ  การเมืองไทยหลังรัฐประหาร ผมไม่เคยตั้งความหวังไว้สูงเพราะผมไม่เชื่อว่าการรัฐประหารจะสามารถเป็นคำตอบที่ยั่งยืนได้ แม้ว่าจะถูกกระทำขึ้นด้วยความตั้งใจที่ดีเพียงไรก็ตาม และได้ย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเร่งกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยแก้ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นในเรื่องกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย  การวางรากฐานการเมืองที่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ การรักษาและเชิดชูสถาบันหลักของชาติ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงปัญหาการสืบทอดอำนาจ


    หนึ่งปีต่อมา บ้านเมืองกำลังกลับคืนสู่สภาวะปกติ  เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่แม้จะไม่สมบูรณ์  แต่จุดบกพร่องต่างๆก็คงจะได้รับการแก้ไขจากสภาที่มาจากการเลือกตั้ง  นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น  ผู้นำรัฐประหารหากจะเข้าสู่การเมืองและหวังจะดำรงตำแหน่งสูงสุด ก็ต้องเข้าสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็เชื่อมั่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา  ในแง่นี้ หากบ้านเมืองเดินเข้าสู่การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างสุจริต  เที่ยงธรรม และราบรื่น  อย่างน้อยที่สุดก็ถือได้ว่า คมช.และรัฐบาลได้มีส่วนช่วยนำพาบ้านเมืองให้คลี่คลายวิกฤติต่างๆไปได้ระดับหนึ่ง


    อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความรับรู้และความเข้าใจของโลกภายนอกจะยังมีความเคลือบแคลงใจต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะเป็นธรรมชาติของประเทศประชาธิปไตยที่ไม่คุ้นเคยกับการรัฐประหาร แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่อดีตนายกรัฐมนตรีเขียนถึงปัญหาการปิดกั้นสื่อและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งต่างชาติจะเชื่อว่าเกิดขึ้นแน่นอนในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร โดยอาจไม่ทราบว่าสภาพการณ์เหล่านี้เลวร้ายน้อยกว่าการบริหารงานภายใต้กลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชน หรือนักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยจะยืนยันได้


    แต่ประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือว่า การจะอ้างว่าปัญหาเหล่านี้ลดน้อยถอยลงนั้นไม่เพียงพอ  สิ่งที่น่าผิดหวังในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาก็คือ การแก้ปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ทำเป็นระบบ  มีแต่การดูถูกดูแคลนหวาดระแวงนักการเมือง พรรคการเมืองโดยรวม  โดยสะท้อนผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับ ที่กำลังจะมีการพิจารณาขั้นสุดท้ายในสัปดาห์หน้า แต่การสร้างระบบที่ราชการจะไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง สื่อที่เป็นอิสระ กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ตรงไปตรงมา หรือการเมืองที่จะหลุดพ้นจากอิทธิพลของเงิน  สิ่งเหล่านี้กลับมีความคืบหน้าน้อยมาก


    ในส่วนของคมช.และกองทัพนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสามารถสร้างความมั่นใจได้ก็คือท่าทีของท่านผบ.ทบ.คนใหม่ที่จะมีต่อปัญหากองทัพกับประชาธิปไตย หากท่านจะใช้จังหวะโอกาสในขณะนี้


    ๑. ทบทวนกฎหมายความมั่นคง  ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอำนาจ หรือ สร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยรอหารือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อสะสางปัญหานี้ ก็จะทำให้ความชัดเจนของคมช.และกองทัพที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยมีมากขึ้น


    ๒. ตั้งเป้าหมายที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกก่อนการเลือกตั้ง  ยกเว้นในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบจริงๆ  เพราะการทำเช่นนี้จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยและชาวโลกว่า คมช. สามารถทำให้สถานการณ์ในประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติจริงๆและจะไม่มีการใช้กฎหมายหรือ อำนาจพิเศษ ที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม


    หากเริ่มต้นได้อย่างนี้  สามปีของผบ.ทบ.คนใหม่จะเป็นสามปีที่เป็นการนำพากองทัพกลับเข้าสู่การปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ มีเกียรติ ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างดียิ่ง


    ในส่วนของคมช.นั้นนอกเหนือจากการนำบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ย่อมจะถูกประเมินตามเหตุผลสี่ข้อที่อ้างไว้ในการทำรัฐประหารด้วย (ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม การทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน การครอบงำองค์กรอิสระ และการจาบจ้วงหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ) สิ่งที่ผมต้องการจะเห็นชัดเจนขึ้นในระยะเวลาที่เหลือ คือ


    ๑. การเร่งสะสางคดีทุจริต เพื่อนำคดีต่างๆเข้าสู่กระบวนการของศาลต่อไป  ที่ผ่านมาถือว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายคดีที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งในฐานะของคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมาก่อนเห็นว่า น่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานใดก็ควรจะชี้ให้ชัดและรัฐบาลควรเร่งตอบสนอง


    ๒. การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์  เพราะขณะนี้ยังคงมีการใช้สื่อต่างๆทั้งในและ
    ต่างประเทศจาบจ้วงโจมตีสถาบันอันเป็นที่เคารพเทิดทูนของคนไทย  รวมทั้งการดำเนินการทางการเมืองในลักษณะที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันสูงสุด


    สำหรับรัฐบาลนั้น แม้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่จะมีความตั้งใจที่ดีแต่ต้องยอมรับว่า  ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความประทับใจในด้านผลงาน  ซึ่งปัญหาหลักมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง  ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการส่งสัญญาณที่ผิดต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะนักธุรกิจและนักลงทุนชาวต่างประเทศ  ที่ยังคงสับสน กังวลกับมาตรการของรัฐบาล และหวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะเข้ามาคลี่คลายแก้ไข
     
    ในระยะเวลาสั้นๆที่เหลือ  รัฐบาลควรระมัดระวังที่จะสร้างปัญหาเพิ่มเติม  กฎหมายใดที่จะเพิ่มความสับสนก็ควรจะชะลอไว้  เช่นเดียวกับการผูกมัดอนาคตของประเทศในเรื่องที่ต้องการการมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เช่น  พลังงานนิวเคลียร์  หรือ GMO


    ในการชี้แจงของรัฐบาลหลายครั้ง  สิ่งหนึ่งซึ่งมักมีการอ้างถึงเสมอคือ เรื่องอย่างน้อยรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่สุจริต  มีคุณธรรม  จริยธรรม  แต่ก็บังเอิญว่าสัปดาห์นี้มีประเด็นเรื่อง หุ้นรัฐมนตรี  ที่กลายเป็นบททดสอบสำคัญในเรื่องนี้


    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา  เรามีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นกฎหมายที่ห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทต่างๆเกิน ๕ % ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ จะมีบทเฉพาะกาลไว้คุ้มครองรัฐมนตรีในปัจจุบัน แต่รัฐมนตรีฯทั้งหลายจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐมนตรีฯในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นตัวอย่างไปก่อนแล้ว
     
    การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)(นายสิทธิชัย   โภไคยอุดม)  เพื่อรักษามาตรฐานของรัฐมนตรี  จึงสมควรแก่การชื่นชม เป็นแบบอย่างทางการเมือง  เพราะเป็นการแสดงถึงจิตสำนึกโดยไม่มีกฎหมายบังคับ  ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า รัฐมนตรีท่านนี้จะทุจริต  หรือ  แสวงประโยชน์จากอำนาจในช่วงที่มีการถือหุ้นอยู่  หรือ ท่านจะทำเช่นนั้นหากดำรงตำแหน่งต่อไป  แต่ผมก็เห็นว่าท่านได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องแล้ว  และแม้ผมจะไม่ได้เห็นด้วยกับหลายสิ่งที่ท่านทำในขณะดำรงตำแหน่ง  แต่ท่านเป็นรัฐมนตรีในจำนวนไม่กี่คนที่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาภารกิจในความรับผิดชอบชัดเจน  ตั้งแต่ปัญหาธุรกิจโทรคมนาคม  ปัญหา Youtube ฯลฯ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคนที่จะเข้ามารับผิดชอบงานของท่านจะกระตือรือร้นเหมือนท่านหรือไม่


    แต่ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ รัฐมนตรีฯที่อยู่ในข่ายเดียวกับท่านแต่ไม่ตัดสินใจเหมือนท่านโดยมีข้ออ้างต่างๆนาๆ


    จริงหรือที่หากรัฐมนตรีฯคนใดคนหนึ่งไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว การบิหารบ้านเมืองจะเดินต่อไม่ได้
     
    ผมคิดว่าประเทศไทย  การเมืองไทยเดินหน้าได้  ไม่มีนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนไหนที่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่ง
     
    ผมไม่เชื่อว่า ๓-๔ เดือนที่เหลือของรัฐมนตรีฯที่ยังอยู่จะสร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อประเทศมากกว่าการช่วยรัฐบาลนี้ยกระดับมาตรฐานทางการเมือง
     
    ผมไม่คิดว่าการเปิดเผยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จะเป็นผลพวงของการเล่นเกมการเมืองมีแต่การหย่อนมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรมเท่านั้นที่จะสร้างปัญหาการเมืองให้นายกรัฐมนตรี กับรัฐบาล


    ไม่มีใครตำหนิว่าท่านทุจริต  คิดร้าย  แต่ถ้าระดับมาตรฐานในเรื่องนี้ หรือข้ออ้างต่างๆเหมือนกับนักการเมืองที่ถูกรัฐประหารจนท่านได้มานั่งอยู่ตรงนี้ในวันนี้   การเมืองของเราจะไม่ย่ำอยู่กับที่ได้อย่างไร


    ผมไม่อยากเห็นการยึดติดกับตำแหน่งเป็นภาระของรัฐบาล เป็นภาระของนายกรัฐมนตรี เป็นภาระของบ้านเมือง


    ยังไม่สายเกินไปที่จะทบทวนการตัดสินใจของท่าน

    สำหรับพรรคการเมืองนั้น ผมก็อยากเชิญชวนว่า ต่อไปจะไม่มีการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติในเรื่องนี้


    แม้ในส่วนที่กฎหมายอนุญาต ก็อยากเชิญชวนให้ทุกคน ทั้งรัฐมนตรี และ สส.ทำความโปร่งใส  เปิดเผยว่า  คนและครอบครัวมีผลประโยชน์ทางธุรกิจในเรื่องใดบ้างเพื่อให้การดำเนินการต่างๆถูกตรวจสอบได้ง่าย


    สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของ วาระประชาชน ที่ผมประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว  
                                                                                                           
                                                                                                            นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
                                                                                                                                                            23 ก.ย. 2550 10:13:52

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×