ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Democrat บทความทางการเมืองที่น่าสนใจ

    ลำดับตอนที่ #8 : นโยบายปชป. ปี2549 : วาระประชาชน กับอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ(2)

    • อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 49



    ·     
    ว่าด้วยเศรษฐกิจคุณภาพคืออะไร?

     

    ดร.สมเกียรติ์ : พรรคประชาธิปัตย์โดยคุณอภิสิทธิ์ ใช้คำว่าเศรษฐกิจคุณภาพ ช่วยอธิบายนิดนึง ผมเลยมีความรู้สึกว่า สงสัยจะเป็นคำใหม่

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ที่ผ่านมาเรายุ่งกับตัวเลขเยอะ อย่างที่ผมบอก พอพูดถึงเศรษฐกิจปั๊บก็ GDP แล้วเราก็เร่งให้คนใช้จ่าย แต่สุดท้ายชีวิตความเป็นอยู่จริงอาจจะไม่ได้ดีขึ้น แล้วเรามาพูดกันบอกว่ากู้เงินกันไป ใช้กันเสร็จแล้วตอนนี้มีความทุกข์กับหมุนหนี้สินต่าง ๆ ฉะนั้นคุณภาพทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ก็คือเราไปสร้างอาชีพ ไปสร้างรายได้ ไปสร้างโอกาส นโยบายต้องกลับมาตรงนี้ เพราะฉะนั้นนโยบายบางเรื่องซึ่งรัฐบาลนี้เขาเริ่มไปแล้ว จะเรียกประชานิยมอะไรก็แล้วแต่ เราต้องมาทำให้เป็นนโยบายที่หมุนไปสู่เศรษฐกิจคุณภาพ

     เช่น ถามว่าเอาเงินไปอยู่ในหมู่บ้านดีไม๊ ผมบอกดี แต่ต้องให้เขาเอาไปใช้และเกิดประโยชน์กับส่วนรวมหรือสร้างโอกาส สร้างอาชีพจริง แล้วก็ต้องไปปรับปรุงกองทุนทั้งหลายเหล่านี้ นโยบายทั้งหลายเหล่านี้เป็นการไปทำแล้ว ทำให้คนของเราสามารถที่จะมีอาชีพมีรายได้ขึ้นจริง หน้าที่หลักของรัฐบาลต้องไปดู คือส่งเสริมในเรื่องของพื้นฐาน ส่งเสริมเชิงนโยบาย ทั้งการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นมาก

    สามสี่ปีที่ผ่านมาทำน้อยมาก เพราะรัฐบาลเอาเงินไปทำโครงการประเภทไปให้กู้เป็นส่วนใหญ่ จริง ๆ แล้วการมีถนนหนทางหรือการมีระบบขนส่ง จะเป็นด้วยรางด้วยอะไร เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่จัดลำดับความสำคัญเสีย และเปิดการลงทุนให้โปร่งใส และผมอยากจะเสนออาจารย์อย่างนี้ครับว่า เราอาจจะต้องเลิกมองว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนเป็นเศรษฐกิจเดี่ยว ๆ ทำไมเราไม่มองบ้างว่าแต่ละพื้นที่นั้นเขามีจุดแข็งของเขา รัฐบาลเขาชอบใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษเรื่อง
    Cluster แต่ Cluster เขาเนี่ยจะพูดถึงแต่อุตสาหกรรม รถยนต์บ้าง ซอฟต์แวร์บ้าง ไม่ว่ากันนะครับเรื่องอุตสาหกรรมก็ส่งเสริมไป แต่ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเราที่จะหนุนขึ้นมาได้ ภาคเกษตร ภาคบริการ ที่อยู่ในภาคต่าง ๆ ทำไมไม่คิดทำเป็น Cluster บ้าง

    ผมยกตัวอย่างว่า อีสาน ทุ่งกุลา ทำเป็นจะบอกว่า
    Cluster เรื่องข้าวหอมมะลิ เกาะกลุ่มผลผลิต เขาเด่นเรื่องข้าวหอมมะลิ ก็ไปเลย มีรูปธรรมเลยการส่งเสริมเรื่องสิทธิประโยชน์อะไรอย่างไร เมืองที่อยู่ชายแดนจะเป็นหนองคาย ค้าขายชายแดน เอาเลยส่งเสริมเลยว่าเขาได้สิทธิอะไรพิเศษเพื่อหนุนการค้าตรงนั้น อันนี้คือวิธีการในการสร้างรายได้โอกาสจริง ทำให้เขาไม่ต้องทิ้งวิถีชีวิตท้องถิ่นเขา แต่เข้าไปทำในลักษณะนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าผมหรือใครนั่งอยู่กรุงเทพฯ แล้วมานั่งชี้นิ้ว เราทำเลยว่าทำอย่างไรมันมีสมัชชา

    เพราะว่าผมเพิ่งไปทำสมัชชาประชาชนมาระดับชาติ เขามาช่วยกำหนดเป็นนโยบาย และก็ทุกส่วนเข้าไปสนับสนุนเช่น สถาบันที่เป็นมหาวิทยาลัย ราชมงคล ราชภัฎ ต้องเข้าไปช่วยเลยชุมชนเนี่ย เหมือนเป็นบริษัทที่ปรึกษา เหมือนเป็นหน่วยวิจัยให้ ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เราต้องพูดของจริง ที่ผ่านมาเราไปให้ความหวังกับคนว่าเราจะรวยขึ้นมาได้เพราะว่ามีเงินไปให้เขากู้ มันไม่ใช่

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ผมก็มาเรื่องประสบการณ์ตรงส่วนตัวก็คือว่า 110 ตำบล สุพรรณบ้านผม ผมไปมาหมดแล้วในฐานะที่เป็น ส.ว. เนี่ย จำนวนมากหรืออาจจะเรียกส่วนใหญ่พูดได้เลยว่า คนสุพรรณเขาไม่ว่าหรอก ไม่จ่ายหนี้ ยิ่งตอนนี้ชะงักงันทางการเมือง เปอร์เซนต์กระเป๋านิ่งเลย ไม่ยอมจ่ายหนี้ มันไม่มีจริง ๆ นะครับ

     

    คุณอภิสิทธิ์ : นี่ก็จะเป็นปัญหาไงครับ ในที่สุดเราก็จะทำให้เกิดค่านิยมว่า รอมีสตางค์มาและก็ในที่สุดก็ยอม ๆ กันไป และตราบใดที่ยังคิดว่า เอาหนี้ใหม่ไปล้างหนี้เก่า มันก็ไม่มีวันจบ เราถึงบอกว่า เราต้องไปดูละ แต่ละพื้นที่เนี่ย เขามีโอกาสของเขา แต่ว่าต้องเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน แต่ว่าคนที่อยู่กรุงเทพฯ หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ไม่มีทางรู้ดีไปกว่าพื้นที่จริง ๆ หรอก เพียงแต่ว่าเราต้องให้โอกาสเขาในการทำสิ่งเหล่านี้

     

    ดร.สมเกียรติ์ : แต่ประชาชนที่เขาชอบ เอาอะไรไปให้เขา เอาเงินไปให้กู้ เอาเงินไปให้ยืม แล้วก็อืดอาดไม่ต้องจู้จี้นัก แล้วตอนเอาคืนก็ปล่อย ๆ ไปเนี่ย ที่เขาเรียกประชานิยม เมื่อประมาณ กลางเดือนพฤษภา ที่มีการประชุมสุดยอดพวกละตินอเมริกา กับยุโรป ประธานาธิบดี อาเจนติน่า เขาบอกว่า ประชานิยม นโยบาย Populist เนี่ย พิสูจน์แล้วว่ามันเสียหายระยะยาว คือกว่าจะรู้ว่านักการเมือง ก็สายเกินไปแล้ว ก็เดือดร้อนกันไปประมาณ 8 ปี เขาก็พูดนะ

     

    คุณอภิสิทธิ์ : เราก็จะบอกกับประชาชนว่า เราอยากจะเดินไปตรงนั้นนะ แต่ว่าเราต้องเห็นใจประชาชนนะครับ ประชาชนเขาก็อยากจะเห็นรัฐบาลที่เข้าไปตอบสนองความต้องการเขา แต่ว่ารัฐบาลก็ต้องมีความรับผิดชอบไม่ใช่ว่าพอบอกว่า คือพูดอย่างที่อาจารย์(สมเกียรติ) พูดนะว่าประชานิยม เสียหาย ก็เลยไม่ทำอะไรให้เขาเลยมันไม่ใช่ สิ่งที่ผมบอกว่าเราจะต้องไปทำก็คือ ไปปรับปรุงโครงการนโยบายต่าง ๆ ซึ่ง มันจะเสียหายได้ จริง ๆ มันก็มีส่วนดีของมันอยู่บ้าง

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ปรับอย่างไร สมมติว่าให้เงินกู้ เอาเงินไป 1 ล้านกองอยู่ที่หมู่บ้าน แล้วก็กู้กันคนละ 2 หมื่นอย่างนี้ จะบอกเขาอย่างไร

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ผมก็จะบอกเขาบอกว่า ผมก็จะทำโครงการที่จะทำอย่างไรให้เขามีโอกาสที่จะใช้หนี้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ซึ่งจะมีรายละเอียดของแผนออกมา ขณะนี้ก็กำลังจะไปทำวาระประชาชน


    ·     
    แนวคิดด้านนโยบายการเกษตร

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เรียกว่ากลุ่มผลิต หรือเรียกว่า Cluster เป็นกระจุกเศรษฐกิจ

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ใช่ครับ กระจุกเศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสและทำตรงนี้ออกมา โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำ

     

    ดร.สมเกียรติ์ : คือถ้าพูดเรื่องเกษตรในทัศนะผมก็คือ ดูกลุ่มการผลิตที่เขาเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Cluster แต่ว่าโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำ คือทำหรือไม่ผมไม่รู้ แต่นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวก็คือเรื่องน้ำเรื่องใหญ่

     

    คุณอภิสิทธิ์ : น้ำ คุณภาพดิน พันธุ์พืช

     

    ดร.สมเกียรติ์ : นั่นคือโครงสร้างการผลิต นอกนั้นก็เป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศ ใครว่า ไม่เกี่ยว เกี่ยวนะครับ เพราะว่าฝรั่งเขาหลอกล่อเราอยู่เรื่อย ว่าเขาไม่ช่วย ที่แท้เขาก็อุปถัมภ์อยู่ตลอด เรานี่อุดหนุนให้เกษตรกรมีหนี้ เราไม่ได้ช่วยเกษตรกรแบบฝรั่งช่วย ทั้งสองเรื่องนะ เรื่องน้ำ กับการอุดหนุน


    คุณอภิสิทธิ์
    :
    ที่จริงถึงตรงนี้ก็แถมเลยว่า นี่เป็นตัวอย่างเลยว่า พอพูดถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ถ้าเราไปบอกว่ามีนโยบายรากหญ้า แก้ปัญหาให้เขา แต่ปรากฏว่านโยบายเขตการค้าเสรีฆ่าเขาอยู่ จริงๆม่ทางอ้อมนะ ฆ่าเขาตรงๆเลย ไม่มีประโยชน์ อย่างที่ตอนนี้เกษตรกรภาคเหนือเจออยู่ จากเขตการค้าเสรีจีน นโยบายที่จะไปช่วยบอกเอาเงินไปให้ ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะวิถีชีวิตตรงนั้น การทำเกษตรตรงนั้นมันล่มสบายไปเลย  เพราะฉะนั้นนโยบายเศรษฐกิจที่จะไปถึงชาวบ้านวันนี้  มันจะต้องเป็นนโยบายที่สอดคล้องกันทั้งระบบ  คำพูดที่ว่ามีคู่ขนานมันไม่ใช่

     

    ดร.สมเกียรติ์ : คือโครงสร้างพื้นฐานว่ารัฐจัดการลดต้นทุนการผลิต ถ้าเป็นเกษตรกรคือเอาน้ำไปให้เขาเต็มที่ลงทุนเยอะๆโดยลงทุนของรัฐ โครงสร้างทางนโยบายคือว่า อุดหนุนการเกษตรแบบที่บอกกับชาวโลกได้ว่าไม่ได้อุดหนุนนะ

     

    คุณอภิสิทธิ์ : แล้วตอนนี้สินค้าเกษตรหลายตัวสิ่งที่เราทำได้เลยคือว่า ในวิกฤติน้ำมันก็คือการมาทำพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก มันจะมีผลิตทางการเกษตรที่สามารถป้อนไปได้ อันนี้จะเป็นตัวสำคัญ ถ้าเราจริงจังในการลงทุนเรื่องนี้ ที่จะชวยเปิดโอกาสให้มีช่องทางของการระบายหรือการใช้สินค้าเกษตร

     

    ดร.สมเกียรติ์ : โครงสร้าวเชิงนโยบายคือ การที่จะเจรจาถ่วงเวลาหรือต่อรองเรื่องการค้าเสรี แล้วก็สามารรถบอกกับชาวโลกได้ว่าเราไม่ได้อุดหนุนการเกษตรแบบผิด อันนี้ประชาธิปัตย์จะทำทั้ง 2 อย่างหรืออย่างไร คือผมยังมีความรู้สึกเศร้าใจมากกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ขออภิปรายเรื่องการค้าเสรีในสภาก็ไม่ได้สักครั้งเดียว

     

    คุณอภิสิทธิ์ : คือเขตการค้าเสรี ข้อตกลงลักษณะนี้ หละกของประชาธิปัตย์คือมันต้องมีส่วนร่วมทั้งหมด เพราะไปเซนต์การมีคนที่ได้ก็มี คนเสียก็เยอะ ถ้าไม่รู้กันก่อนเลย คนที่จะได้ก็ไม่เตรียมตัว คนที่เสียพอได้รับผลกระทบก็สายไปแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ดีต้องมีส่วนร่วม ดูง่ายๆ สหรัฐ เจรจากับเรา เรามองจากสายตาภายนอก สหรัฐไม่เห็นต้องกลัวอะไรเราเลย แต่กระบวนการเจรจาของเขา ทั้งสภา ทั้งองค์กรธุรกิจ ทั้งเกษตรกร ทั้งประชาชน ต้องรู้เลย และมาช่วยกำหนดให้รัฐบาลเลยว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้ แล้วเสร็จแล้วเวลาคนของเราเจรจากับสหรัฐ สหรัฐอ้างเลยบอก เรื่องนี้อยากจะยอมให้ แต่ว่าผู้แทนประชาชนเขาไม่ยอม แต่เราไม่ได้ใช้เลย เราอยู่ดีๆ ปล่อยให้รัฐบาลไปเจรจา ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าต้องมีการปรับ

     

    ดร.สมเกียรติ์ : บอกให้เอาเข้าสภา เพื่อาเราจะได้ช่วยอภิปรายและถ่สงให้ช้าลงเพื่อความรอบคอบ ปรชาชนจะได้มีส่วนร่วม ก็ไม่ทำ ผมรู้จักตัวแทนเจรจาการค้าระดับล็อบบี้ คือว่าคนที่เฝ้าระวังให้ เขาบอกว้าขาจะถ่วงเวลา ไม่ให้รัฐบาลทำเนียบขาวลงนามกับไทยเกิน 1-2 ปี หลังจากประชุมเอเปคที่กรุงเทพ  เพราะว่าประเทศไทยมีปัญหาที่อเมริกาต้องการให้แก้เช่น ระบบกฎหมาย ระบบยุติธรรม การทุจริต ทรัพย์สินทางปัญญา เขาบอกว่าถ้าเราไม่ทำ เขาก็ถ่วง เพราะว่าเขามีสภา เขาบอกผมมีสภาเป็นเครื่องมือของรัฐบาล

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ของเราบอกว่าคนในสภาไม่รู้เรื่อง

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เสียเวลา แล้วประชาธิปัตย์จะเอาใจสภาหรือไม่

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ผมยืนยันเลยว่า พรรคในการเป็นรัฐบาลในอดีต จะเห็นว่าเรามีความรับผิดชอบต่อสภาสูง การตอบกระทู้ แต่ว่านโยบายสำคัญ โดยเฉพาะตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ข้อตกลงลักษณะนี้ ต้องมาอาศัยกระบวนการของสภา

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ฟังดูเหมือนยประชาธิปัตย์ยังยึดเสรีนิยม ประชาธิปไตย ทุนนิยม แต่จะมากขึ้น

     

    คุณอภิสิทธิ์ : มีธรรมาภิบาล มีส่วนร่วม

     

    ดร.สมเกียรติ์ : งั้นปะยี่ห้อให้เป็นกลางซ้ายได้หรือไม่

     

    คุณอภิสิทธิ์ : แล้วแต่ยี่ห้อที่จะปะ

     

    ดร.สมเกียรติ์ : คือมันทิ้งประชาชนไม่ได้  แต่เอาใจจนไม่มีโครงสร้างให้

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ถูกต้อง แล้วที่พูดว่าแล้วเราจะไปช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆของประชาชนอย่างที่บอก คือคำว่าวาระประชาชนอย่างที่ผมบอกคือ ถ้านโยบายมีผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ และผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น หลายเรื่องจะไปด้วยกัน เราอย่าไปแยกส่วนเราอย่าไปคิดว่า เราอยากได้คะแนนเสียงจากคนหลุ่มนี้เราก็เอาใจเขาเรื่องนี้ เราอยากได้คะแนนเสียงจากคนอีกกลุ่มหนึ่งเราก็ไปเอาใจเรื่องนั้น แล้วในที่สุดก็ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน

     

    ·      จัดการปัญหาผลประโยชน์ที่ทับซ้อนต้องเริ่มจากพรรคฯ

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เรื่องหนึ่ง บังเอิญผมฟังตอนที่ท่านพูดในที่ประชุมใหญ่ พูดเรื่องวาระประชาชน พูดถึงเรื่องวคอร์รัปชั่น และประกาศแบบจะทำเหรอ คือ สมาชิกพรรค ส.ส. รัฐมนตรีทั้งหลายจะประกาศทรัพย์สิน ผลประโยชน์ทับซ้อน

     

    คุณอภิสิทธิ์ : คือทรัพย์สินเวลานี้เขาประกาศอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องให้ประชาชนรู้คือ แต่ละคน ครอบครัวมีผลประโยชน์ในทางธุรกิจหรือทางอื่น อะไรบ้าง บางประเทสเขาก็จะให้บอกเลยว่าคุณมีอาชีพอะไร มีรายได้จากไหน ไม่ได้ห้ามทำ

     

    ดร.สมเกียรติ์ : อันนี้ไม่คอยกฎหมาย คือจะทำเอง

     

    คุณอภิสิทธิ์ : จริงๆ ถ้ากฎหมายทำได้ยิ่งดี แต่ว่าไม่ต้องคอยกฎหมาย ผมคิดว่าจะให้ส.ส.ของพรรคเป็นตัวอย่างเสียก่อน

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ทั้งหมดเลย ประกาศแล้วลงหน้าหนังสือพิมพ์ ส.ส.ทุกคน O.K. นะ เพราะว่าจะได้รู้ว่าใครทำมาหากินตรงไหนอย่างไร แล้วเกิดไปประมูลที่ไหนจะได้รู้

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ซึ่งถ้าเขามีสิทธิประมูลเขาก็ทำได้  เพียงแต่ว่ามันจะเป็นความโปร่งใสให้คนไปคอยตรวจสอบได้

     

    ดร.สมเกียรติ์ : โยงไปถึงญาติด้วยหรือไม่ สมมติลูกสะใภ้ ลูกเขย

     

    คุณอภิสิทธิ์ : พยายามดูว่าครอบครัว ดูตามความเป็นจริงว่าใครที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เอาอย่างนั้นเป็นหลัก

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เพราะเวลา อบต.เขาทุจริตกัน เขาไม่ได้ทำตรง คือจะมีหลานสะใภ้ปนๆกันอยู่

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ตรงนี้จะไปเสริมเรื่องแนวทางวการปราบปรามการทุจริต ซึ่งผมไปเสนอไว้ ตอนนั้นผมไปบรรยายที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งคดีทางการเมือง เขาก็เชิญไปว่า จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น ผมก็คิด 2 เรื่อง 1. ปัจจุบันศาลเขาบอกว่าเขาอึดอัด เขาเห้นว่าหลายเรื่องพูดกันอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ว่าคนนั้นโกงคนนี้โกง เรื่องไปไม่ถึงเขา พอไปไม่ถึงเขา เขาก็จะเอาคนเหล่านี้เข้าคุก เป็นไปไม่ได้ ต้องมีการฟ้อง
     
    ปรากฎว่าที่ผ่านมาเวลาเขาทุจริตอะไรกัน เขาบอกคนเสียหายคือส่วนราชการ ถ้าส่วนราชการไม่ยอมไปฟ้อง ไม่มีใครทำอะไรได้ นอกจากจะไปร้องทุข์กล่าวโทษ  แล้วถ้าตำรวจเกิดกลัวผู้มีอำนาจ เรื่องก็ไม่ไปไหนส่วนใหญ่หายไปเลย สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเราแก้กฎหมายเสียใหม่ว่าความผิดที่เป็นการทุจริตโดยเฉพาะในส่วนนักการเมือง ประชาชนเป็นผู้เสียหาย เพราะจำนวนนักการเมืองไม่ได้มีเยอะอยู่แล้ว ศาลเขารับได้ แทนที่จะปล่อยรอว่าไปขอท่านปลัด ช่วยเป้นผู้เสียหายเซนต์เพื่อฟ้องร้อง ประชาชนฟ้องเลย

    ผมเปรียบเทียบเพื่อให้เห็น ทุจริตยา ในที่สุดเกิดขึ้นได้เพราะบังเอิญยุคนั้นและปลัดสาธารณสุขเขายอมทำ  ทุจริตคอมพิวเตอร์กระทรวงศึกษาไม่เกิดขึ้นเ พราะในกระทรวงศึกษาไม่ยอมมาเป็นผู้เสียหายที่จะทำ เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนเป็นผู้เสียหาย 2.ทุจริตรูปแบบใหม่ที่รู้กันคือทุจริตเชิงนโยบาย  ก็มาจากปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ผมว่าเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่เปิดเผยและผิด ต้องเป็นความผิดเลย

    ซึ่งเราจะได้ไม่ต้องมาแก้ตอนมันสายไปแล้ว เพราะทุจริตเชิงนโยบาย เขาก็บอกว่าเป็นการทุจริตที่ไม่ ผิดกฎหมาย คือใช้อำนาจของตัวเองและเอื้อประโยชน์  แต่ว่าถ้าการมีผลประโยชน์ทับซ้อนมันผิดกฎหมาย ซึ่งความจริงมันผิดกฎหมาย ปปช.อยู่  แต่ขณะนี้มันมีช่องว่างเยอะ ผิดตรงนี้เสีย ก็จะเป็นแนวทางที่จะช่วย

     

    ·      ปฏิรูปการเมือง ต้องผูกมัดได้แล้ว!

     

    ดร.สมเกียรติ์ : คือมาตรฐานการกระทำความผิดของภาคเอกชนที่ทำมาค้าขายกับผู้นำของสังคมและนักการเมือง มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำความไม่ดี แม้จะไม่ผิดกฎหมาย ถือเป็นความผิดของผู้ที่เป็นนักปฏิรูปการเมือง เพราะฉะนั้นอะไรที่รู้สึกว่าไม่ดี ไม่ต้องไปตรวจกฎหมายหรอก ก็ลาออก หรือไม่ก็รับผิด

     

    คุณอภิสิทธิ์ : นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ผมว่าเรายังไม่เจริญ ไม่ใช่เรา ผมว่านักการเมืองไม่จำเป็นต้องมองมาทางนี้ คือพูดคำว่าปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการเมืองต้องแก้รัฐธรรมนูญ จริงๆไม่ต้องแก้ก็ได้ ไม่ต้องมีเลยก็ได้ ก็คือปฏิรูปนักการเมือง ประเด็นปฏิรูปการเมือง ประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไร จะกลับเข้าไปและดูตัวหนังสือและแก้ตามรัฐธรรมนูญหรือว่าแก้ที่คน คือแก้ทั้งตัวนักการเมือง ให้รู้ว่าการทำความไม่ดีไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่เป็นความผิดแล้ว ต้องเอาออก ให้รู้ว่าอันนี้ไม่ได้ ไม่ควรสนับสนุนคนไม่ดี ไม่ควรรับเงินขายเสียง ถ้าทำแล้วมันเป็นความทุกข์ตลอดชีวิต ปฏิรูปความรู้สึกนึกคิด

     

    คุณอภิสิทธิ์ : เอาอย่างนี้ก่อนว่า ปฏิรูปการเมืองผมเห็นว่าทุกพรรคควรจะผูกมัดตัวเองได้แล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญเรื่องอะไร แล้วเราก็อยากให้คนกลางมาทำก็ว่ากันไป แต่ประเด็นที่พูดเรื่องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเรื่องจิตสำนึก ผมมองว่าเรื่องจิตสำนึก แล้วการเรียกหาความรับผิดชอบ แต่จริงๆแล้วในต่างประเทศก็ไม่มีที่ไหนเขียนในกฎหมาย

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เป็นความรับผิดชอบ เป็นวัฒนธรรม

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ถามว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมมองว่าสื่อมีบทบาทสำคัญ สื่อสารมวลชน ถ้าไม่เป็นอิสระ ถ้าไม่เป็นกลางในความหมายคือว่า สามารถที่จะนำเสนอได้ทุกแง่ทุกมุม ถ้าตรงนี้ไม่เกิด ผมว่ายาก เพราะว่าความเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้น ถ้าผู้มีอำนาจจะเป็นอำนาจเงิน หรืออำนาจรัฐมาบอกให้สื่อปิดเงียบไว้ กระแสสังคมมันไม่เกิด วัฒนธรรมที่ต้องมารับผิดชอบต่อสังคมมันไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นเรื่องปฏิรูปสื่อมีความสำคัญมาก และต้องทำ ต่อมาให้ความเป้นธรรมกับนักการเมืองบ้าง เพราะนักการเมืองเขาก็อยู่ในระบบ ถ้าระบบมันแข่งขันกันอย่างไร มันก็สร้าง ตรงนี้มันมีอีกหลายอย่างที่ต้องแก้ โดยเฉพาะหัวใจสำคัญที่สุดคือเรื่องของการใช้สตางค์ในทางการเมือง ระดมมาอย่างไร รับบริจาคอย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง ตรงนี้ก็ต้องแก้ไข ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว การมาเป็นนายทุนพรรคการเมือง เขาไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองพึ่งเงินจากคนไม่กี่คน เพราะนั้นจะทำให้พรรคการเมืองไม่ใช่พรรคการเมืองของประชาชนอันนี้ต้องแก้ ของเราไม่มีเพดานเลย ใครอยากจะบริจาคเป็นเจ้าของพรรคการเมืองสมบูรณ์แบบทำได้เลย อันนี้ประเทศประชาธิปไตยไม่มีที่ไหนเขายอมให้ทำ

    การใช้จ่าย ความจริ งไม่ใช่ทางการเมือง แต่ว่าเราเรียกภาษีสังคม ซึ่งภาระของส.ส.-ส.ว.ในพื้นที่มันเป็นภาระมหาศาล ถ้าเรายังอยู่ในวงการอย่างนี้เราก็ไปโทษนักการเมืองยากเหมือนกันว่าเขาก็ต้องดิ้นรนว่าเขาจะไปหามาจากไหน เราต้องแก่ตรงนี้

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ถ้าเราแก้กฎหมายว่าไม่ต้องใช้จ่ายเงินทองก็ช่วยได้

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันเรื่องการกระตุ้นเรื่องค่านิยม เรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งมันต้องมาจากการปฏิรูปสือ และจากการตรวจสอบทำได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันเราถอยหลังไปเหมือนกัน  เพราะว่าพอรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างเข้มแข็ง เราไม่ถือสารัฐบาลที่ไม่มาตอบกระทู้ รัฐบาลก็ต้องเกิน 300 เสียงไว้นายกฯจะได้ไม่ถูกอภิปราย เดี๋ยวนี้สื่อสารมวลชน เสนอข่าวบางข่าวยังต้องถามก่อนว่าเสนอได้หรือเปล่า ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ไม่มีทาง

     

    ดร.สมเกียรติ์ : บางทีไม่ถามมีคนโทรมาจากทำเนียบรัฐบาลว่าอันนี้ไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะชุดปัจจุบันนี้อย่างเดียว ผมว่ามันไม่ได้พัฒนาคน คือเขียนกฎหมายก็เขียนไป  แต่ว่าทำอย่างไรเราจะได้หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค สมาชิกชั้นแนวหน้าของพรรคทุกพรรค มาร่วมกันแล้วบอกว่าเราจะไม่ใช่เงินซื้อเสียง เราจะบอกกับประชาชนว่าเบือกนโยบาย เราจะบอกว่าถ้าใครรับเงินจากเราอย่ามาคบกับเรา ประกาศไปเลยแล้วก็ไม่ทำสิ่งที่เลวร้ายเหล่านั้น และให้ประชาชนรู้ว่าเขาเป็นเจ้าของตัวเรา

     

    คุณอภิสิทธิ์ : กฎกติกาต่างๆมันก็สำคัญ ผมต้องพูดอีกนิดว่า เวลานี้เราไปดูต่างประเทศเขาก็จะพูดอย่างหนึ่งว่า การคอร์รัปชั่นบางทีเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะนักการเมืองจะทำให้ตัวเองร่ำรวยขึ้น แต่เพราะนักการเมืองบอกว่ามันต้องใช้จ่ายเงิน เพื่อที่จะเป็นนักการเมืองกันต่อไป อันนี้อันตราย

     

    ดร.สมเกียรติ์ : คือเราไม่เปลี่ยนตัวเอง และเราก็ไม่เปลี่ยนประชาชน

     

    คุณอภิสิทธิ์ : นี่คือพื้นฐานที่ผมบอกว่าถ้าเราทำการเมืองมีส่วนร่วม และเราพูดถึงสังคมคุณธรรมด้วย  เราก็จะสามารถที่จะทำให้คนได้แยกแยะบทบาทของนักการเมืองว่าควรจะเป็นอย่างไร และสิ่งต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนให้นโยบายออกมาดีด้วย

     

    ดร.สมเกียรติ์ : วาระประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เหี่ยวโยงกับการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาคือหัวใจของการสร้างประเทศของประชาธิปัตย์ เรื่องที่ละเลยไม่พูดถึงคือศีลธรรม จริยธรรม 

     

    ·      จังหวัดตัวอย่าง กับเรื่องจริยธรรม

     

    คุณอภิสิทธิ์ : 1.เรื่องสื่อ พอคิดว่าจะปฏิรูปสื่อ คนจะคิดถึงเรื่องการเมืองว่าทำอย่างไรฝ่ายค้าน รัฐบาล NGO นักวิชาการได้แสดงออกไม่ใช่เท่านั้น คุณภาพ สื่อในแง่ของคุณธรรมจริยธรรมมีผลมากต่อเยาวชน วันนี้ผมว่าลูกหลานเราได้รับอิทธิพลมากจากสื่อ มากกว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์มากกว่าทุกอย่าง เพราะฉะนั้นวาระเรื่องการปฏิรูปสื่อ ซึ่งผมว่าเป็นส่วนหนึ่งของวาระประชาชนต้องทำอันนี้ 

    2. จะเห็นว่าเราไปทำเรื่องผู้ว่า
    CEO และไปกำหนดเลยว่า เป้าหมายของผู้ว่าฯคือ เรื่องเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้จังหวัดมายได้มากที่สุด ผมว่าเราต้องเริ่มให้เขาแข่ง แต่ผมดจะยึดรูปแบบ CEO

    แต่ผมคิดรูปแบบว่าเวลาเราทำจังหวัดตัวอย่าง ทำให้มันหลากหลาย ทำไมไม่เอาจังหวัดที่ปลอดภัยที่สุด ตั้งเป็นเป้า ไปดูพฤติกรรมหรือโครงสร้าง ครอบครัวหย่าร้างน้อยที่สุด รัฐบาลต้องคิดถึงเป้าหมายอย่างนี้บ้าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็รายได้ต่อหัว การเติบโตทางเศรษฐกิจ
     

    พอเราเริ่มตั้งเป้า แล้วเราเริ่มพูดถึงนโยบายอย่างนี้แล้ว มันจะค่อยๆตามมา เราเริ่มสร้างแรงจูงใจ เราก็เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องความดีงาม ความถูกต้อง ความสงบสุข ยกตัวอย่าง 3 จังหวัดภาคใต้ ถามว่าเขาอยากมีเศรษฐกิจที่ดีหรือไม่ อยากมี แต่ถามว่าอะไรมาก่อน เขาอยากมีชีวิตที่ปลอดภัยกว่า หยุดความหวาดระแวง สภาพอย่างนี้ผมคิดว่านโยบายต้องกำหนดลงไปว่ามีเป้าหมายอื่นด้วย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำนโยบายสังคม

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เรื่องสื่อ เราเหมือนไม่มีเสรีภาพ

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ที่จริงผมมองว่าเสรีภาพมันเป็นพื้นฐานของเกือบทุกเรื่อง อย่างที่พูดเรื่องปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่มีการศึกษาที่ไหนปฏิรูปได้ถ้าไม่มีการเรียนรู้  เรื่องเศรษฐกิจ เราอยากจะให้คนของเราเข้มแข็งมันก็เป็นเรื่องเสรีภาพ หากการประกอบธุรกิจยังต้องมีการจ่ายใต้โต๊ะ ถ้าอย่างนี้มันก็เข้มแข็งไม่ได้

     

    ดร.สมเกียรติ์ : เสรีภาพของสื่อมี 2 แบบคือ โอกาสทำมาหากิน เสรีภาพทางธุรกิจ บริหารสาธารณะ 2.คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การนำเสนอเนื้อหาสาระ 2 อย่างนี้จะผสมกัน

     

    คุณอภิสิทธิ์ : เสรีภาพเรื่องการนำเสนอก็ไปโยงถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งประชาธิปัตย์ยืนยันอยู่แล้ว สิทธิเสรีภาพที่พูดว่าโอกาสไปทำไม่ใช่ปัญหาของสื่อ ผมว่าคือหัวใจของการทำเศรษฐกิจที่ดี คือว่าถ้าเราอยากส่งเสริมให้คนใช้ความสามารถของตัวเองให้มากที่สุด  แล้วจริงๆแล้วความเจริญทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจมันก็มาจากฝีมือของคนทำธุรกิจ เขาต้องมีเสรีภาพ หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่ต้องไปเที่ยวสอนเขาหรือไปแข่งกับเขา หน้าที่คือต้องวางกติกาว่าเวลาเขาแข่งขันแล้วคนที่เก่งที่สุด ทำประโยชน์ได้มากที่สุด และดีไปกว่านั้นคือถ้าวางกติกาดีเป็นประโยชน์กับสังคม อันนี้ก็มาใช้กับสื่อ ก็เป็นความหมายอย่างที่พูด อันนี้คือแนวนโยบายที่ผมคิดว่าเป็นหลักการสำคัญที่เราจะต้องหันเหให้ทิศทางการพัฒนาประเทศกลับมา

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ถ้าเป็นรัฐบาลจะต้องไม่ใช่พรรคภาคใต้หรือภาคใดภาคหนึ่ง คือประชำธิปัตย์ได้คะแนนภาคใต้เยอะ แล้วใครตั้งยี่ห้อให้ก็ไม่ร็ว่าเป็นของภาคใต้ ทั้งที่ส่วนอื่นก็พอมีบ้าง จะทำอย่างไรให้ประชาธิปัตย์กระจายได้ความนิยม สัดส่วนในภาคอื่น

     

    ·      นโยบายเฉพาะภาค

     

    คุณอภิสิทธิ์ : เรื่องการแข่งขันเป็นการแข่งขันทั้งประเทศ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคใต้มาก จากคนกรุงเทพก็มาก แต่ภาคอื่นก็เป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องไป และนโยบายที่พูดถึงวาระประชาชน ผมได้ย้ำว่าเราจะไปคิดถึงแต่นโยบายประเภทสำเร็จรูป เหมาเข่งทุกแห่งเหมือนกันคงไม่ได้

    เราต้องเข้าไปดูแล มีนโยบายของภราคหยิบความเข้มแข็ง หยิบโอกาสที่มีเฉพาะแต่ละพื้นที่ไปนำเสนอให้เป็นรูปธรรม อันนี้ก็ตั้งใจจะทำอยู่นะครับ แต่ว่าสิ่งที่ผมได้พูดในวันนั้นมันไม่ใช่เรื่องคนเหนือ คนใต้อะไรหรอกครับ แต่ผมอยากจะย้ำเตือนนะครับว่า พรรคการเมืองที่เข้าไปบริหารประเทศทรัพยากรที่ใช่ไม่ใช่ของตัวเอง เป็นของคนทั้งประเทศ และก็อย่ามาแบ่งเหนือ แบ่งใต้ แบ่งไทย
    พุทธ ไทย มุสลิม

    คือต้องเป็นคนของประชาชนทั้งประเทศ จัดสรรงบประมาณด้วยความเป็นธรรม และถ้าซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีผลประโยชน์อื่น ๆ แอบแฝง ก็จะไม่รั่วไหล ผมยืนยันได้นะครับ จริง ๆ แม้อาจารย์จะบอกว่า ถ้ามาบอกพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของคนใต้ แต่ว่าเวลาพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลผ่านมา 2 ครั้ง ให้ความเป็นธรรมกับทุกภาค และก็คนใต้เขาก็คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

     

    ดร.สมเกียรติ์ : ตอนนายกฯ ชวนเป็นนายกฯ ผมไปเที่ยวจังหวัดตรังน่ะ ถนนยังสู้สุพรรณฯ ไม่ได้น่ะเอาสิ ผมก็ว่าเอ.. ทำไมนายกฯ ชวนไม่สั่งการ

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ต้องทำเท่าเทียมกัน ตอนนั้นทำโครงการถนน 4 เลน ก็ต้องได้ทุกภาค

     

    ดร. สมเกียรติ์ : (หัวเราะ) ผมไปแล้วยังบ่น ทำไม เอาคุณบรรหาร มาอยู่ตรังดีมั๊ย (หัวเราะ) ทีนี้ก็โอเค ถ้าอย่างนั้นขอทิ้งท้าย คำถามสำคัญมาก ๆ เลย แม้ว่าจะมีเวลาให้ผมเหลือนิดเดียว คือ ภาคใต้นะครับ ไหน ๆ ก็เป็นที่นิยมของคนภาคใต้ ปัญหาภาคใต้เราไม่ต้องพูดเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งต้องพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว แต่เรื่องความรุนแรงและไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ มันมากขึ้น ๆ ในช่วง 4 5 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์จะกลับไปทำอะไรที่ภาคใต้ ที่มันแปลกไปจากเดิม

     

    ·      ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้

     

    คุณอภิสิทธิ์ : หัวใจที่เมื่อกี้ผมแปะไว้นิดนึงก็คือว่า มันเกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจกันมันหายไป มันหายไปเพราะความผิดพลาด หนึ่งในการยุบหน่วยงาน ศอบต. สองก็คือว่ามีการไปละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น และสามมันมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ที่ไม่น่าจะเกิดและก็กลายเหมือนกับกลายเป็นแผลความค้างคาใจอยู่

    จนกระทั่งมันก็เป็นเหยื่อให้คนที่เขามีวาระของความรุนแรง มีเป้าหมายในเรื่องอื่น ๆ และชาวบ้านก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะมาไว้ใจกลไกของรัฐที่จะมาช่วยแก้ปัญหา ฉะนั้นการฟื้นตรงนี้แน่นอนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าผมว่ารัฐบาลและผู้นำต้องทำให้เห็นว่าจริงใจ ผมถึงประกาศในวันนั้นว่า
    อุ้มฆ่า จะต้องหมด นะครับ

    และขณะเดียวกันทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เท่าเทียมกัน แล้วจะต้องมีการรื้อฟื้นกลไกซึ่ง ทำให้ทุกหน่วยงานและที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้ามาช่วยกันพัฒนามาบริหารพื้นที่ตรงนั้นจริง ๆ นั่นคือสิ่งที่ ศอบต. ตั้งไว้ เพื่อการนี้ ไปยุบมันเสีย มันก็เสียดุลย์ และก็กลายเป็นเรื่องของตำรวจบ้าง กลายเป็นเรื่องของทหารบ้าง จริง ๆ มันไม่ใช่ถ้าเราดึงทุกคนมาช่วยทำ แล้วก็ยอมรับความหลากหลายในวิถีชีวิต

    แล้วความจริงแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์นะครับว่า โดยพื้นฐานอย่างเราพูดเรื่องศาสนา หลายพื้นที่เลย ไทย
    พุทธ ไทย มุสลิม เขาอยู่ด้วยกันด้วยดีมาโดยตลอด นะครับ มีงานวัดมุสลิมก็ไป มีงานของทางมัสยิส คนไทย พุทธ ก็ไปช่วย อยู่กันได้ เราอย่าไปทำอะไรให้มันเกิดความแตกแยก เราให้เขาใช้วิถีชีวิตของเขา บนความไว้เนื้อเชื่อใจกันและก็มีคนเข้าไปพัฒนาบริหาร บนความเข้าใจและการมีส่วนร่วมนั่นคือหัวใจ

     

    คุณสมเกียรติ์ : คิดว่าถ้าชาวพุทธทุกคนที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ โดยเฉพาะผู้บริหารและนักการเมือง อ่านพระคำภีร์อัลกุระอาน ชาวพุทธนะ แล้วก็ชาวมุสลิมอ่านพระไตรปิฎก อาจจะอ่านเล่มย่อหน่อยเพราะของเราหลายสิบเล่ม 2 อ่านแล้วมานั่งคุยกัน

     

    คุณอภิสิทธิ์ : แล้วมันจะหมด ความหวาดระแวงมันจะหมด แล้วก็จะรู้ว่าจริง ๆ เนี่ย ทุกคนก็ต้องสิ่งเดียวกันคือความสงบสุข ความสันติสุข

     

    คุณสมเกียรติ์ : สมัยก่อนเนี่ย มุสลิมเขาก็ยังคุยกับพวกซูดาห์ได้เพราะพระคัมภีร์ใกล้เคียงกัน ของเรานี่ ทั้งสองพระศาสดาก็เป็นมนุษย์เป็นบุคคลที่มาสร้างโลกให้เกิดสันติสุข ก็อ่านซะหน่อย และก็ไม่ต้องปล้นต้องจี้ ต้องฆ่า โกหกหรือว่ามีลับลมคมในอะไร ก็จบแล้ว

     

    คุณอภิสิทธิ์ : มันก็อาจจะไม่ง่ายอย่างนั้นนะครับ แต่ว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่าง ๆ

     

    คุณสมเกียรติ์ : คนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็พูดง่ายอย่างผมเนี่ยครับ ก็ขอบคุณครับ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

     

    คุณอภิสิทธิ์ : ขอบคุณครับ

     

     

    **********************************************

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×