ลำดับตอนที่ #6
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : กฎหมายทาส11ฉบับสมัยชวน หลีกภัย
(จากบอร์ด เสรีไทย ขอเก็บไว้เป็นข้อมูล)
“ขายชาติ อย่างไร”
( บทความหมอสันต์ )
มติชนรายวัน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2545
หลังจากกลุ่ม "พันธมิตรกู้ชาติ" (45 องค์กร) ได้รวมพลังจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 20 กันยายน และ 25 ตุลาคม 2545 กระแสความตื่นตัวของประชาชนเรื่อง "กฎหมายขายชาติ" ก็เริ่มขึ้นใหม่ หลังจากได้ซบเซามานาน แล้วรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็ "โยนกลอง" กันว่า ใคร "ขายชาติ" มากกว่ากัน
อันที่จริง "วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่ได้บานปลายกลายเป็น "วิกฤตชาติ" นั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่มีการเปิดระบบเงินเสรี(BIBF) อย่างโง่เขลา ใน พ.ศ.2536 ทำให้เอกชนหลงกลกู้เงินจำนวนมากจากต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายกันอย่างฟุ่มเฟือย(ปั่นหุ้น ปั่นที่ดิน ปั่นคอนโดฯ) หรือกินส่วนต่างดอกเบี้ย(ดอกเบี้ยนอกถูก ดอกเบี้ยในแพง) อยู่หลายปี
ในปี พ.ศ.2540 "เจ้าหนี้ต่างชาติ" และ "หมาป่าการเงิน" เช่น นายจอร์จ โซรอส ก็ได้มีโอกาสเรียกหนี้คืน และ "ทุบ" ค่าเงินบาท จนหนี้สินทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่าตัวภายในเวลาข้ามคืน เมื่อรัฐบาลพลเอกชวลิต "ลอยตัว" ค่าเงินบาทหลังจากธนาคารชาติผิดพลาดเอาเงินทุนสำรองไป "สู้ศึก" ค่าเงินบาทแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะต่างชาติมี "ไส้ศึก"(ที่ปรึกษา) อยู่ในธนาคารชาติและกระทรวงการคลังไม่น้อย
เมื่อประเทศกำลังจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายจาก "หนี้สินของภาคเอกชน" รัฐบาลพลเอกชวลิตจึงสั่งปิดสถาบันการเงิน(ไฟแนนซ์) 58 แห่ง (ที่ไปกู้เงินนอกมากินส่วนต่างของดอกเบี้ยแล้วไม่มีปัญญาใช้คืน) และกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อพยุงสภาวะการเงินการคลัง ของประเทศไว้ โดยต้องทำหนังสือแสดงเจตจำนงฯ (แสดงความจำนน) ฉบับที่ 1 ยอมรับเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟแบบกว้างๆ (ไม่ผูกมัดตนเองในรายละเอียด และไม่ยอมรับเอา "หนี้สินของภาคเอกชน" มาเป็น "หนี้สินของรัฐ")
แต่เมื่อรัฐบาลพลเอกชวลิตลาออกเพราะ "เกมการเมือง" ของพรรคชาติพัฒนาในปลายปี 2540 รัฐบาลชวนสองก็เข้ามาบริหารแผ่นดิน และได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนงฯ(letters of intent) ฉบับที่ 3-6 ร่วมกับ side letters แสดงความจำนนอย่างสิ้นเชิงต่อเงื่อนไขของต่างชาติ โดยยอมรับเอา "หนี้สินของภาคเอกชน" มาเป็น "หนี้สินของรัฐ" ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย ต้องมี "หนี้" ติดตัวทันทีคนละหลายหมื่นบาท
นอกจากนั้น เพื่อเอาใจต่างชาติ และเพื่อผลักดันรองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ขึ้นเป็นผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก(WTO) รัฐบาลได้ใช้ภาษีอากรของประชาชนไปหลายสิบล้านบาท ในการสนับสนุนและหาเสียงให้นายศุภชัย ได้เปิดการค้าเสรีแบบเสียเปรียบต่างชาติ และได้ออก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ทำลายเอกราชอธิปไตยในด้านเศรษฐกิจ ด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการไปพร้อมๆ กัน
"กฎหมายขายชาติ" ที่รัฐบาลชวนสองเรียกว่า "กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ" สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มดังนี้
กลุ่ม 1 มี 5 ฉบับ คือ กฎหมายล้มละลาย กฎหมายจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย กฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในคดีมโนสาเร่ กฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในกรณีขาดนัด และกฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในการบังคับคดี
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ ต้องการให้เจ้าหนี้(นายทุนต่างชาติในขณะนั้น) สามารถฟ้องล้มละลายลูกหนี้(ไทย) ได้อย่างง่ายดาย และให้โอกาสเจ้าหนี้ มากกว่าลูกหนี้ในการต่อสู้คดี ร่วมกับการบังคับยึดทรัพย์ และขายทอดตลาดได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ เป็นคนกำหนด
ด้วยกฎหมายกลุ่มนี้ ทำให้ "คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"(ปรส.) นำทรัพย์สินของประชาชน ที่รัฐบาลยึดมาจากสถาบันการเงินต่างๆ ไป "ล็อกสเป๊ก" ขายให้ต่างชาติในราคาถูกๆ(เพียง 1 ใน 5 ของราคาทุน) โดยไม่ยอมให้คนไทยซื้อ จนขาดทุนไปประมาณ 6 แสนล้านบาท แล้วต่างชาติที่ "จับเสือมือเปล่า" เหล่านั้นก็ขายคืนให้คนไทยทันที และได้กำไรไปหลายแสนล้านบาท จนยอมจ่าย "เศษเนื้อ" เป็นโบนัสให้พนักงานของตน(รวมทั้งคนไทยที่ขายตัวเป็นทาสรับใช้ฝรั่ง) 100 เท่าของเงินเดือน และเบี้ยบ้ายรายทางแก่คนร่วมขายชาติอื่นๆ
ด้วยกฎหมายกลุ่มนี้ ประชาชนที่ผ่อนบ้านผ่อนรถผ่อนเครื่องมือหากินและอื่นๆ กับสถาบันการเงินต่างๆ จึงถูกยึดทรัพย์สิน ทั้งที่ตนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส
ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยที่กู้เงินมาขยายกิจการกันมากมายในยุค "ฟองสบู่" ก็ต้องล้มละลาย กลายเป็นของต่างชาติ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งด้วย
กลุ่มที่ 2 มี 3 ฉบับ คือ กฎหมายที่ดิน กฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดให้เป็นทรัพย์สิทธิ์ และกฎหมายอาคารชุด
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ ต้องการให้ต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินได้ เช่าที่ดินเป็น 100 ปีได้ เป็นเจ้าของอาคารชุดได้ทั้งหมด(100%) และสามารถใช้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ตนเช่ามา เป็น "ทรัพย์สิทธิ์" ได้ นั่นคือ นำไปจำนองได้ นำไปค้ำประกันได้ ยกให้ผู้อื่นได้ เป็นต้น
กลุ่ม 3 มี 1 ฉบับ คือ กฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้เท่าเทียมกับคนไทยหรือมากกว่าคนไทย(ส่งเสริมพิเศษ) ให้ต่างชาติแอบแฝงเข้ามาเปิดบริษัทที่เป็นสัญชาติไทยประกอบธุรกิจได้ทุกอย่าง โดยต่างชาติควบคุมการบริหารอยู่ข้างหลัง แล้วยังเปิดช่องให้ "ทุนยักษ์ข้ามชาติ" ใช้วิธีการทุ่มตลาดและกลเม็ดพลิกแพลงต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้ผลิตไทยและผู้ซื้อไทยด้วย (ดู "ค้าปลีกไทยหายนะ = ไทยหายนะ" ในมติชน 4 ก.ย. 45)
กลุ่ม 4 มี 1 ฉบับ คือ กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ ให้ขายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของชาติ(ของประชาชน) เพราะเกิดจากภาษีอากร และความเดือดร้อนของประชาชน (จากการถูกเวนคืนที่ ถูกน้ำท่วมจากเขื่อน ฯลฯ) โดยแปลงเป็นหุ้นเพื่อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแน่นอนว่าต่างชาติ จะรี่เข้ามาซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร (โดยรวมแล้วกำไรประมาณหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี) แล้วโกยกำไรนั้นออกไป ปล่อยให้คนไทยถูก "ขูดรีด" จากค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ และอื่นๆ ที่จะแพงขึ้นๆ ตามลักษณะของธุรกิจที่ต้องการค้ากำไรสูงสุด
แล้วผู้ที่ดำเนินการขายรัฐวิสาหกิจ ก็จะได้ "คอมมิสชั่น" ไม่ว่าในรูปของเงิน ค่าการตลาด ค่าพิจารณาวิธีจำหน่าย หุ้นลม หุ้นต่ำกว่าราคาจริง กำไรจากการปั่นหุ้นในระยะแรก และอื่นๆ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศนิการากัว ในครั้งที่มาร่วมเสวนากับแกนนำแรงงานไทยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2545 จึงกล่าวว่า "Privatization is Iegalized corruption"(การขายรัฐวิสาหกิจ คือ การทุจริตคอร์รัปชั้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) จนประเทศนิการากัว ต้องล้มละลายในปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศเม็กซิโก อาร์เจนตินา และบราซิล (ดู "ขายรัฐวิสาหกิจ = ทุจริตนโยบาย" ในมติชน 7 ส.ค. 45)
กลุ่ม 5 มี 1 ฉบับ คือ กฎหมายประกันสังคม
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ ไอเอ็มเอฟรู้ว่า กฎหมาย 10 ฉบับจะทำให้ธุรกิจและโรงงานต้องล้มละลายเป็นจำนวนมาก คนจะตกงานมหาศาล และจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อนายทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย จึงจำเป็นต้องหาทางให้รัฐต้องอุ้มชูคนงานเหล่านั้น ไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมที่จะทำให้นายทุนต่างชาติต้องขาดทุนได้
จากเนื้อหาโดยสรุปของ "กฎหมาย 11 ฉบับ" คงพอจะทำให้เห็นว่าเขา "ขายชาติ" กันอย่างไร แต่ในวันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีกลับแก้ตัวว่า "ที่ต้องทำอย่างนั้น เพราะรัฐบาลพลเอกชวลิตทำหนังสือแสดงเจตจำนงฯฉบับที่ 1 ผูกพันไว้ รัฐบาลได้ต่อรองจนลดเงื่อนไขลงได้มากแล้ว"
แต่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยและเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในขณะนั้น ได้ต่อว่านายฮิวเบิร์ต ไนซ์ (Hubert Neiss) ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟภาคพื้นเอเชีย และนายรีซา โมกาดัม (Reza Moghadam) ผู้แทนไอเอ็มเอฟประจำไทย เมื่อพบกันที่ธนาคารชาติใน พ.ศ.2541 ว่า "ทำไมไอเอ็มเอฟจึงโหดร้ายกับไทยนัก" ซึ่งเขาตอบว่า "รัฐบาลของคุณเป็นผู้เสนอให้เรามากกว่าที่เราต้องการเสียอีก"
ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง ทำไมรัฐบาลประชาธิปัตย์จึงทำเช่นนั้น แล้วจะแก้ตัวไปทำไม เมื่อหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับที่ 3-6 ที่เกิดขึ้นในสมัยตน มีเนื้อหาผูกมัดประเทศไทยและประชาชนไทยร้ายแรงกว่าหนังสือแสดงเจตจำนงฯฉบับที่ 1 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพอเอกชวลิต แล้วรัฐบาลยังออก "กฎหมาย 11 ฉบับ" ด้วยมือของตนเองท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนอีกด้วย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายไม่ขายรัฐวิสาหกิจ และจะยกเลิกหรือแก้ไข "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" และเมื่อถูกทวงถามหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จใหม่ๆ ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
ผ่านไปเกือบ 2 ปี "ไม่มีอะไรในกอไผ่" แถมยังดำเนินการขายรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถูกรุกเร้าหนักเข้า ในปลายเดือนตุลาคม 2545 กลับแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษากฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ" ในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร(วิปรัฐบาล) ขึ้นมา "พิจารณาศึกษา"
แสดงว่า ที่หาเสียงไว้ ไม่ได้ "พิจารณาศึกษา" ไว้ก่อนเลย (หาเสียงแบบมั่วๆ ไปก่อนหรืออย่างไร) และเมื่อได้เป็นรัฐบาลมาเกือบ 2 ปี ก็ไม่ได้ "พิจารณาศึกษา" เลยใช่ไหม?
ถ้าเช่นนั้นการตั้งคณะกรรมการที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็เป็นเพียงการหลอกลวงประชาชนให้ตายใจเท่านั้นหรือ?
ถ้ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจริงใจที่จะไม่ "ขายชาติ" รัฐบาลต้องรีบหยุดยั้งการดำเนินการต่างๆ ตาม "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" เช่น การขายรัฐวิสาหกิจ การให้ต่างชาติซื้อ/เช่าที่ดิน และแย่งการทำมาหากินของคนไทย(ให้ร้านค้าปลีกยักษ์ต่างชาติขยายสาขาในต่างจังหวัด และใช้กลเม็ดพลิกแพลงต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้ผลิต และผู้บริโภคไทย ส่งเสริมการลงทุนแก่ทุนยักษ์ต่างชาติ เช่น กรณีปลูกและส่งออกกล้วยไม้ ฯลฯ) การให้ต่างชาติเข้า "ฮุบ" ธุรกิจและอุตสาหกรรมของคนไทยอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น
ถ้ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่หยุดยั้งการ "ขายชาติ" ไว้ก่อนจนกว่าจะ "พิจารณาศึกษา" เสร็จ ย่อมแสดงว่าการตั้งคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการต่างๆ เป็นเพียงการถ่วงเวลา จะได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยชั่วนิรันดรว่าเป็น "รัฐบาล....." สืบต่อจากรัฐบาลก่อน...
ประชาชนจะยอมให้เขา "ขายชาติ" กันอย่างนี้หรือ?
*******************
ผมหมายเหตุต่อท้ายหมอสันต์ อีกนิด จากการต่อสู้ในช่วงนั้น
รัฐบาลหน้าเหลี่ยมก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อศึกษาลู่ทางแก้ไขกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ
โดยเฉพาะ กฎหมาย "ทุนรัฐวิสาหกิจ" โดยมีกลุ่ม หมอสันต์ หมอเหวง ปละกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมเป็นกรรมการ
มี นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกเป็นประธานคณะกรรมการ
ผลการศึกษา มีเรียบร้อย โดยจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจเป็น 3 กลุ่ม ถ้าจำไม่ผิด
กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ห้ามขาย คือกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภค...เช่น น้ำ ไฟ อะไรพวกนี้ ( ว่าง ๆ คงค้นได้ )
นายกได้ลงนาม เห็นชอบในหลักการไปแล้ว แต่มิได้ดำเนินการใด ๆ
แล้ววันดีคืนร้าย รัฐบาลก็ไปออก พระราชกฤษฎีกา ออกมา ปรรูป กฟผ.
ซึ่งภายหลัง ศาลปกครองได้วินิจฉัยแล้วว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ กฟผ. กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามเดิม
หลังจากจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว
เรื่องราว "มหากาพย์" เรื่อง "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ยังคงเป็นตราบาปของใครหลาย ๆ คน
เราก็คอยแต่จะดูว่า เมื่อใดที่ข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาชนจึงจะสัมฤทธิ์ผล
สมัยหนึ่ง พวกเราในราชดำเนิน ให้คำจำกัดความว่า
ถ้า ปชป. เป็นคนเปิดหน้าต่างไว้ แต่โจรที่เข้าทางหน้าต่าง ก็คือ ไทยรักไทย
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น