คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : งานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 29 เมษายน 2549 (อภิสิทธิ์)
(ค่อนข้างยาวนะคะ แต่น่าสนใจ ลองอ่านกันดูนะ)
คำต่อคำ “วาระประชาชน เศรษฐกิจคุณภาพ สังคมคุณธรรม ทิศทางอนาคตประเทศไทย”
ปราศรัยโดย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 29 เมษายน 2549
ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัล
พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน วันนี้เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากปีนี้ค่อนข้างพิเศษ คือมีคณะทูตานุทูตและผู้แทนจากสถานทูตต่าง ๆ ได้มาร่วมสังเกตการณ์และฟังการพูดจาปราศรัยของผมในวันนี้ ผมขออนุญาตสักนิดที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการกล่าวต้อนรับท่านทั้งหลายเหล่านี้นะครับ
Your excellencies; On behalf of the democrat party, Let me express to you all, a very warm welcome to the Annual Meeting of the Democrat Party. We are very honestly very happy to have you with us today.
ตบมือต้อนรับคณะทูตานุทูต (เสียงตบมือ)
พี่น้องที่เคารพครับ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคในวันนี้มีขึ้นในบรรยากาศของความหวัง หลังจากที่ประเทศชาติ บ้านเมือง พี่น้องประชาชน มีความวิตกกังวลสับสนอยู่กับความขัดแย้งและหลายคนมองว่าเป็นความวุ่นวายทางการเมือง
แต่สืบเนื่องมาจากคืนวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำรัสต่อคณะบุคคลโดยเฉพาะคือคณะตุลาการศาลปกครอง และคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้เข้าเฝ้าซึ่งถือได้ว่าเป็นการพระราชทานแนวทางเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความสับสนและวิกฤติทางการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์ ขอน้อมรับพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดแจ้งว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามแนวทางที่ฝ่ายตุลาการ คือศาลทั้ง 3 จะได้กำหนดเพื่อเป็นแนวทางของการคลี่คลายหรือหาทางออกสำหรับปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน และความร่วมมือนั้นจะรวมไปถึงว่าในกรณีที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ หากการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมานั้นไม่ชอบหรือเป็นโมฆะ พรรคฯ ก็พร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อที่จะเสนอตัวเป็นทางเลือกของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
พี่น้องที่เคารพครับ วันนี้จึงไม่ใช่เวลาที่ฝ่ายต่าง ๆ จะมาวิจารณ์และตอบโต้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง หรือสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ แต่ผมถือว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องทำคือน้อมนำรับพระราชดำรัสและร่วมมือในการปฏิบัติเพื่อคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ
แต่ไม่ว่าการคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ในช่วง 3 4 วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองก็คือการเสนอตัวเป็นทางเลือกของประชาชน และจะต้องมีคำตอบสำหรับประชาชนในปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมือง วันนี้หลายคนอาจจะมองวิกฤติชาติว่าเป็นเรื่องของปัญหาทางการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง
แต่ที่จริงแล้ว ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนที่ได้สัมผัสกับพี่น้องประชาชนจะทราบว่ามันยังมีอยู่อีกหลายวิกฤติที่ซ่อนอยู่ในสภาวะปัจจุบัน เป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชน เป็นความทุกข์ของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของสังคม ถ้ามองในภาพของเศรษฐกิจ
แน่นอนที่สุดวันนี้ไปพบพี่น้องประชาชนที่ไหนก็บ่นในเรื่องของข้าวของแพง วิตกกังวัลกับสภาวะน้ำมันแพง กังวลว่าจะมีการขึ้นค่าไฟ ประชาชนทั่วประเทศที่ต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ยังมีภาระที่เกิดขึ้นจากหนี้สินที่ได้สะสมมาเป็นระยะเวลาหลายปีเป็นความทุกข์ของทุกครัวเรือน มีคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองซึ่งมีภาระหนี้สินอยู่แล้ว แต่ก็ยังอยากที่จะต้องตามใจลูก ๆ หลาน ๆ ที่ติดกับค่านิยม บริโภคนิยม ความฟุ่มเฟือย และก็มีความกังวลวิตกว่าจะทำอย่างไร จะตอบสนองความต้องการของลูกหลาน จะแบกรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นไหวหรือไม่
ลูกหลานของเราวันนี้ก็มีความทุกข์ครับ ทุกคนที่มุ่งหวังจะมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยก็เผชิญกับวิกฤติการสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ปัญหาที่เรียกกันว่า โอเน็ต เอเน็ต ซึ่งก็สะท้อนอีกหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเยาวชนของเรา ฐานะการคลังของประเทศแม้ว่าตัวเลขทางการจะเป็นอย่างไรก็ตาม ข่าวคราวและความเป็นจริงที่ออกมาโดยตลอดว่ามีการระงับการจ่ายเงินจะได้แก่ ผู้ทำสัญญากับรัฐ ผู้รับเหมา หรือแม้กระทั่งพนักงานราชการ ลูกจ้าง ก็เป็นสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลในความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ
และสำหรับเพื่อนร่วมชาติของเราที่ 3 จังหวัดภาคใต้ สภาวะของความรุนแรง สภาวะของความสูญเสียผู้บริสุทธิ์ก็ยังไม่ได้ยุติลง ปัญหาเหล่านี้แน่นอนครับ ไม่ใช่ปัญหาใหม่จะไปบอกว่าเพิ่งเกิดขึ้นคงไม่ได้ และหลายปัญหาก็อาจจะมีปัจจัยที่มาจากภายนอก อยู่เหนือการควบคุมซึ่งมีส่วนที่จะสร้างหรือสะสมปัญหาเหล่านี้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า ปัญหาที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นที่ผมพูดถึงนั้น ก็มีความเชื่อมโยงอยู่กับทิศทาง และนโยบายที่ผิดพลาด เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการที่ผู้แก้ไขปัญหามีผลประโยชน์ส่วนตัว มีผลประโยชน์แอบแฝง จึงไม่สามารถนำพาการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์ของประชาชนเต็มร้อย
ดังนั้นวันนี้สิ่งที่บ้านเมือง สิ่งที่สังคม สิ่งที่ประเทศชาติ และเหนือสิ่งอื่นใด คือสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนคือเราต้องการผู้แก้ไขปัญหา ต้องการรัฐบาล ต้องการผู้นำที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของประชาชน และมีเฉพาะผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ อยู่ในหัวใจครับ (เสียงตบมือ)
ผมให้ความมั่นใจครับว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีโอกาสแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เราจะทำโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเต็มร้อย ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงแม้แต่น้อยนิดครับ (เสียงตบมือ)
ผมอยากจะชี้ในวันนี้ว่า การแก้ไขปัญหาที่เป็นความทุกข์ร้อนทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องใช้มุมมอง จำเป็นต้องใช้แนวคิดที่แตกต่างไปจากผู้แก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเราได้ทำหน้าที่ของฝ่ายตรวจสอบ และทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านคุณภาพ เราก็ได้ใช้เวลาในการออกพบปะกับประชาชนหลายกลุ่มในรูปแบบต่าง ๆ กิจกรรมของพรรคการเมืองตามปกติบ้าง กิจกรรมของเยาวชนบ้าง
และที่สำคัญที่สุดก็คือเราได้ริเริ่มกระบวนการสมัชชาประชาชน เราได้สัมผัสไม่เพียงแต่ปัญหาครับ แต่เราได้สัมผัสถึงมุมมองความคิดและข้อเสนอที่มาจากประชาชน ที่ทำให้เราในฐานะผู้แทนของประชาชนพร้อมที่จะนำเสนอให้เป็นทางเลือก ทางออกการแก้ไขปัญหาของเขา
ฉะนั้นจากวันนี้เป็นต้นไปครับ พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันสิ่งที่เราเรียกว่า “วาระประชาชน” คือนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน และเพื่อประชาชน เท่านั้น เราจะเริ่มต้นในการนำเสนอนโยบายด้านต่าง ๆ โดยทยอยเสนอนโยบายแต่ละด้าน ๆ เป็นลำดับไป ควบคู่กับการเดินหน้าพบปะพี่น้องประชาชน เหมือนที่ผมจะเริ่มต้นด้วยการจะทำสมัชชาระดับจังหวัดที่จังหวัดลพบุรีในวันพรุ่งนี้
พี่น้องที่เคารพครับเพื่อให้เห็นภาพของมุมมองที่แตกต่างเพื่อให้เห็นความชัดเจนของการวิเคราะห์ปัญหา และการวางวาระประชาชน ผมอยากจะได้ไล่ลำดับปัญหาที่ผมได้กล่าวมา เริ่มต้นจากเรื่องของเศรษฐกิจ วันนี้เวลาเราพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจหลายคนคิดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีดีพี หลายคนอาจจะพูดตัวเลขเงินเฟ้อ หลายคนอาจจะบอกดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตลาดหุ้น หลายคนอาจจะบอกเงินบาทแข็งอ่อน
แต่ที่จริงเศรษฐกิจของประชาชนคืออะไร ทุกข์ที่สุดวันนี้เหมือนกันทุกประเทศนักเศรษฐศาสตร์อาจจะเรียกว่าเงินเฟ้อ แต่ก็คือของแพง แม่บ้านกำเงินไปตลาดร้อยบาทกลับมาบ้านแทบไม่มีอะไรติดไม้ติดมือแล้ว และของที่แพงขึ้นนัวันนี้มันไม่ใช่ตามสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมันร้อนแรงจะไปแก้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ด้วยการชลอตัวในการใช้จ่ายไม่ใช่ แต่เป็นเป็นสภาวะของแพงหรือเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากเรื่องของต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วิตกกังวลกันมาก เพราะเป็นต้นทุนของเกือบทุกสิ่งคือน้ำมัน กับค่าไฟ
สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันหลายเรื่องเป็นสิ่งที่เรานำเสนอ และผมขอขอบคุณที่ได้ตอบสนองต่อแนวคิด และข้อเสนอของเรา เช่น ความจำเป็นที่ต้องไปดูแลกลุ่มต่าง ๆ เช่น ประมง ขนส่ง เป็นการเฉพาะ เพราะกลุ่มเหล่านี้มีเรื่องค่าใช้จ่ายของน้ำมันสูงเป็นพิเศษ และผมขอบคุณรัฐบาลว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากที่ผมชี้ให้เห็นว่าน้ำมันแต่ละลิตรนั้นที่จริงแล้วรัฐบาลเก็บเงินไปจากประชาชนลิตรละ 5 บาท 6 บาท รัฐบาลอยู่ในฐานะที่จะลดภาระของประชาชน
ตรงนี้ได้ขอบคุณที่รัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาระของประชาชนลงไป 1 บาท ในการลดนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้พี่น้องประชาชนเห็นในวันนี้ก็คือว่ามันมีความคิดนโยบายที่ลึกลงไปกว่านั้นที่กำลังท้าทายว่าเราจะออกแบบนโยบายเรื่องจะทำงานเพื่อประชาชนอย่างไร
กรณีของน้ำมันและไฟฟ้าเป็นกรณีที่ทำให้เราต้องคิดถึงนโนบายที่เหมาะสมในเรื่องของรัฐวิสาหกิจ เพราะรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของประชาชนภาระของประชาชนอย่างน้อย ๆ ที่มองเห็นคือปตท. และกฟผ.และทั้ง 2 องค์กรนี้ก็คือองค์กรที่กำลังอยู่ภายใต้การดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล
เขาอาจจะบอกว่าแปรรูปปตท.แล้วประสบความสำเร็จยุคนี้เป็นยุคที่พี่น้องประชาชนดูโฆษณาหรูหรามากว่ามีรัฐวิสาหกิจที่ชื่อปตท.ขนาดใหญ่โตระดับภูมิภาคกำไรมหาศาลตรงนั้นจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยของประเทศจริงหรือไม่เราต้องกลับมาคิด
กำไรปตท.วันนี้ปีที่ผ่านมา 85,000 ล้านบาท แต่เป็นกำไรที่ไม่ได้นำส่งรัฐกลับมาเป็นเงินของประชาชนทั้งหมดอีกต่อไปเกือบครึ่งจะไปอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นสักจะมีสักกี่คนกี่ราย และจะเป็นประโยชน์กับคนจำนวนมากแค่ไหน แต่กำไร 85,000 ล้าน ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นได้จากธุรกิจที่ผูกขาดของปตท.กล้าพูดได้ว่ามันไม่ใช่กำไรที่เป็นตัวสะท้อนประสิทธิภาพ แต่มันสะท้อนสถานะของความเป็นธุรกิจผูกขาด ผูกขาดจากธุรกิจก๊าซป้อนเข้าสู่ผู้ผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรม
และกำไรเหล่านี้คือภาระที่ส่งต่อมาในรูปของค่าไฟ และราคาน้ำมันในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ผมได้นำเสนอมา และขอยืนยันว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของวาระประชาชนที่เราต้องผลักดันต่อไป ก็คือเราต้องคิดเรื่องนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน
ในเบื้องต้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องทันทีคือรัฐต้องไปดำเนินการให้ปตท.คืนกำไรให้ประชาชนในรูปแบบของภาระที่ลดลง ราคาน้ำที่ถูกลงทันที และเราเรียกร้องว่านโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่าผิดซ้ำรอย อย่าเดินหน้าดึงดันหลังคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาของศาลปกครองที่จะยังไปสร้างธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ในมือของเอกชนอีก
และก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลคิดทำอย่างนี้ รัฐบาลได้ไปปรับสูตรค่าไฟเพื่อที่จะไปรับประกันว่าคนที่จะซื้อหุ้นจะได้ผลตอบแทนทางการลงทุนที่ดี วันนี้ถ้าเราทบทวนกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชนมันไม่มีความจำเป็นแล้ว เมื่อไม่มีความจำเป็นแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าสูตรค่าไฟปรับเปลี่ยนได้ทันทีเช่นการลดภาระให้แก่ประชาชนในเรื่องค่าไฟทันทีได้เช่นเดียวกัน
บทเรียนจากกฟผ.และปตท.นั้นจะทำให้นโยบายการแปรรูปที่ดีหรือนโยบายรัฐวิสาหกิจที่ดีต้องใช้ประชาชนเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรที่เราจะปรับปรุงคุณภาพของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่ใช่เอารัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะทางด้านสาธารณูปโภคที่เป็นรัฐวิสาหกิจผูกขาดไปอยู่ในมือของเอกชน
ประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่าเราจะไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคในส่วนที่ผูกขาดไปสร้างภาระให้ให้แก่ประชาชน แต่เราจะระฐวิสาหกิจบนแนวทางของการส่งเสริมการแข่งขันจากภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจด้วย และไม่เป็นภาระสำหรับพี่น้องประชาชนด้วย
พี่น้องที่เคารพครับนโยบายรัฐวิสาหกิจที่ผมพูดนั้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ตัวอย่างเดียวของภาคใหญ่ของนโยบายเศรษฐกิจที่เราต้องมาปรับมุมมองปรับแนวทางกันใหม่เพื่อให้เป็นนโยบายเพื่อประชาชน คำพูดว่ามันมีนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานแล้วทำให้คนทุกกลุ่มไปประโยชน์มันไม่เป็นจริง
ที่บอกว่ามีนโยบายสำหรับเศรษฐกิจที่จะต้องอยู่กับการแข่งขันของโลกชุดหนึ่ง แล้วมีนโยบายเศรษฐกิจสำหรับรากหญ้าชุดหนึ่งแล้วทุกคนได้ประโยชน์มันไม่จริง และไม่มีตัวอย่างอะไรที่ชัดเจนไปกว่านโยบายเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ การเจรจาเขตการค้าเสรีเอฟทีเอที่ผ่านมา รัฐบาลได้ไปทำข้อตกลงแล้วก็บอกว่านโยบายนั้นจะช่วยธุรกิจไทยผู้ส่งออก
ขณะเดียวกันก็บอกว่าถ้ารากหญ้ามีเศรษฐกิจของตัวเองก็จะมีนโยบายอีกชุดหนึ่งเพื่อที่จะไปยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ แต่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เกิดขึ้นแม้จะเพียงเริ่มต้นเท่านั้นก็ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรภาคเหนือไปถามพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกหอม กระเทียม หรือส้ม
และก็จะทราบว่านโยบายอีกชุดหนึ่งมันไม่สามารถมาช่วยมาบรรเทาความเสียหายหรือวิถีชีวิตที่แทบล่มสลายจากข้อตกลงที่ไปทำโดยขาดความรอบครอบ ประชาธิปัตย์เข้าใจดีว่าเศณาฐกิจปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจเสรีประชาธิปัตย์เข้าใจเงื่อนไขของโลกาภิวัฒน์ดี
หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าคนเป็นรัฐบาล คนเป็นผู้นำจะเลือกอะไร เลือกให้ประชาชนไปใช้ทุนนิยม และเศรษฐกิจเสรี หรือเลือกที่ทำให้ทุนนิยม และเศรษฐกิจเสรีมารับใช้ประชาชน เราไม่ปฏิเสธแนวคิดเรื่องการเปิดการค้าเสรี แต่นโยบายการค้าจะต้องเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาประเทศ และการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ข้อตกลงไหนมีผลกระทบรุนแรงเราจะหยิบยกขึ้นมาอาศัยช่องในสัญญานั้น ๆ ขึ้นมาทบทวนเพื่อบรรเทาความเสียหาย การเจรจาเขตการค้าเสรีก็จะยังเดินหน้า
แต่จะเป็นการเดินหน้าที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะจะผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียจะเป็นภาคอุตสาหกรรม จะเป็นภาคเกษตร และเป็นภาคบริการ หรือจะเป็นในส่วนของผู้บริโภคกระบวนการตรงนี้เดินได้ ทำได้ โดยเฉพาะถ้าผู้เป็นตัวแทนไปเจรจาไม่มีผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้องแอบแฝง สิ่งนี้คือตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่านโยบายทั้งหลายนั้นถ้าเราวางวาระประชาชนเป็นตัวตั้งไม่ใช่เอานโยบายไปสร้างภาระประชาชนแล้วเราสามารถที่จะทำให้คนทั้งประเทศยังได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง
(อ่านต่อตอน2)
ความคิดเห็น