ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Democrat บทความทางการเมืองที่น่าสนใจ

    ลำดับตอนที่ #3 : อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นชั้นบัณฑิต "เกียรตินิยม อันดับ 1"ฯ

    • อัปเดตล่าสุด 20 เม.ย. 49



    อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นชั้นบัณฑิต "เกียรตินิยม อันดับ 1"หลังโชว์บทถนัดเขย่า"สุริยะ-รบ.แม้ว"

    บทความพิเศษ  มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1298

    เมื่อพิจารณาผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หลังการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ของพรรคประชาธิปัตย์

    สำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่า

    ส.ส. ที่สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อถือได้มากที่สุด คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 66 ตามมาด้วย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร้อยละ 11.3 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 7.5 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ร้อยละ 4.1 และ นายถาวร เสนเนียม ร้อยละ 2.2

    จากความเชื่อถือดังกล่าว ทำให้เมื่อประชาชนถูกถามว่าการทุจริตในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปรากฏว่า ร้อยละ 84.6 เชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ร้อยละ 4.2 ไม่เชื่อ ไม่มีความเห็น ร้อยละ 11.2

    ขณะที่ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ถามประชาชนว่าจากการติดตามชมการอภิปรายในครั้งนี้ "ประชาชน" ชื่นชอบใครมากที่สุด ปรากฏว่าในฝ่ายค้าน อันดับที่ 1 คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 43.84 ตามมาด้วย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร้อยละ27.98 และที่ 3 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ร้อยละ 8.00

    ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล บุคคลที่ได้รับคำชื่นชมกลับเป็น นายวิษณุ เครืองาม ร้อยละ 54.51 ส่วน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ลำดับที่สอง ร้อยละ 45.49

    เมื่อสวนดุสิตโพลถามว่า ถ้าคะแนนเต็ม 10 คะแนน "ประชาชน" ให้คะแนนแต่ละฝ่ายอย่างไร ปรากฏว่า "ฝ่ายรัฐบาล" ได้ 6.04 คะแนน ขณะที่ "ฝ่ายค้าน" ได้ 8.01

    เมื่อถามว่า หาก "ประชาชน" เป็น ส.ส. จะยกมือไว้วางใจนายสุริยะหรือไม่ ปรากฏว่า ไม่ไว้วางใจถึงร้อยละ 55.75

    และเห็นว่าไม่ควรมีตำแหน่งใน ครม. เลย ร้อยละ 52.15

    จากโพลทั้งสอง เด่นชัดอย่างยิ่งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการยอมรับอย่างสูง

    และความสูงส่งดังกล่าวทำให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ "สอบตก" ทุกด้านด้วย

    ความโดดเด่นของนายอภิสิทธิ์ ครั้งนี้ มีหลายประการ

    นับตั้งแต่ การนำพรรคฝ่ายค้านที่ถูกจำกัดบทบาทด้วยจำนว นส.ส. เพราะถึงจะรวม 96 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ กับ 25 ส.ส.ของพรรคชาติไทย เข้าด้วยกัน

    แต่ก็มีจำนวนเพียง 121 คนซึ่งสามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปได้ตามบทบัญญัติมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอภิปรายได้เพียงความบกพร่องทางด้านการบริหารและนโยบาย ไม่สามารถยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนได้ตามบทบัญญัติมาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงเรื่องการคอร์รัปชั่นได้

    แต่นายอภิสิทธิ์กลับสามารถทำให้การอภิปรายคราวนี้มีสีสัน และมีเนื้อหาที่หนักแน่นกว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 303 ที่เคยทำมาเสียด้วยซ้ำ

    และที่น่าชมเชยก็คือ สามารถควบคุมการอภิปรายให้อยู่ภายใต้กรอบความบกพร่องในการบริหาร ทำให้ปัญหาการถูกประท้วงจากองครักษ์รัฐมนตรี น้อยจนน่าประหลาดใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่า ฝ่ายรัฐบาลและรัฐมนตรี จะใช้ยุทธวิธี "ประท้วง" ในกรณีที่พรรคฝ่ายค้านก้าวล่วงไปสู่เรื่องการทุจริต อันจะส่งผลให้การอภิปรายไม่ราบรื่น และทำลายน้ำหนักของเนื้อหาลง

    ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์และพรรคฝ่ายค้าน สามารถสกัดจุดอ่อนตรงนี้ได้แทบสิ้นเชิง

    และที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ คือ ประสิทธิภาพในการบริหารข้อมูล ซึ่งแม้นายสุริยะ จะอุทานตามสคริปต์ อย่างดูหมิ่นดูแคลนว่า "พุทโธ่ เป็นเพียงข้อมูลเก่า"

    แต่ปรากฏว่า "ข้อมูลเก่า" ดังกล่าว กลับส่งผลในทางการเมืองต่อนายสุริยะมากอย่างคาดไม่ถึง ขนาดทีมงานของนายสุริยะเอง ยังยอมรับโดยดุษฎีว่า "เก็งข้อมูลผิด"

    ว่าที่จริงแล้ว สิ่งที่นายอภิสิทธิ์และพลพรรคประชาธิปัตย์นำมาอภิปรายไม่ได้เป็นข้อมูลลับ หากแต่เป็น "ข้อมูลสาธารณะ" ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึง เพียงแต่ได้มีการนำมาเรียบเรียง และชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากล อย่างเป็นระบบ และมีแง่มุมที่พุ่งเสียบเข้าไปยัง "หัวใจของปัญหา" อย่างตรงเป้า

    ซึ่งนี้เอง ทำให้การทำการบ้านอย่างหนักของนายสุริยะ แทบจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่อาจหักล้าง "ข้อมูลสาธารณะ" ที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์นำมาอภิปรายได้

    ในทางตรงกันข้าม นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ โน้มน้าวใจให้ประชาชนเชื่อว่า การจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดซีทีเอ็กซ์ มีความไม่ชอบธรรม และมีผลประโยชน์เข้าเกี่ยวข้องอย่างชัดแจ้งหลายประการ เช่น

    1) มีการล็อคสเปคตั้งแต่เริ่มต้น ภายหลังรัฐบาลขยายโครงการรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคน เพิ่มเป็น 45 ล้านคนต่อปี โดยตั้งตัวเลขงบฯ ติดตั้งระบบความปลอดภัย 4,500 ล้านบาท ต่อมาไอทีโอประมูลได้ในราคา 4,500 ล้านบาทพอดีกับตัวเลขดังกล่าว

    2) มีหลักฐานช่วงเดือนมกราคม 2546 - มกราคม 2547 ระบุบริษัท อินวิชั่น ใช้เครื่องมือสื่อสาร อาทิ อี-เมล และโทรศัพท์โดยทุจริตเพื่อเสนอจ่ายเงินหรือสิ่งของมีค่าให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในประเทศไทย

    3) กระบวนการซื้อขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ที่ผ่านผู้รับเหมาเป็นทอดๆ จาก บทม. มายังไอทีโอ จอยท์เวนเจอร์ และบริษัท แพทริออท บิซิเนส คอนซัลแตนส์ เกิดความไม่ชอบมาพากล เพราะมีการเพิ่มราคาขึ้นอย่างผิดสังเกต

    4) ส่วนต่างของราคา เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ถ้าบริษัท อินวิชั่น ขายให้กับบริษัทแพทริออทฯ และบริษัท แพทริออทฯ ขายให้ บทม. นำไปให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองใหญ่ โดยมูลค่าส่วนต่างประมาณ 600 ล้านบาท

    5) มีการสมคบกันทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์

    6) บทม. จ่ายเงินไปแล้ว 1,500 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้เครื่องซีทีเอ็กซ์ อาจกลายเป็นค่าโง่

    จากการขับเน้นประเด็นจาก "ข้อมูลเก่า-ข้อมูลสาธารณะ" ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรดังกล่าว แต่ด้วยความโดดเด่นทางยุทธวิธี วางแผนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอที่เป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้ประชาชน ซึ่งถูกเอแบคโพลถามว่า เชื่อว่ามีการทุจริตในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปรากฏว่า คำตอบออกมาว่าเชื่อ ถึงร้อยละ 84

    นี่ย่อมเป็นเครื่องการันตีถึงประสิทธิภาพในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านคราวนี้ อย่างดี

    แม้ว่า นายสุริยะ จะชนะในการโหวตอย่างท่วมท้น โดยจากจำนวน ส.ส. ที่มาร่วมโหวตทั้งหมด 493 เสียง มีผู้ให้ความไว้วางใจถึง 367 เสียง ไม่ไว้วางใจ 119 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง ก็ตาม

    แต่สถานะทางการเมืองของนายสุริยะ และพรรคไทยรักไทย กลับ "ไม่แข็งแกร่ง" ตามเสียงในสภาแต่อย่างใด

    ตรงกันข้าม กลับมีสภาพความ "คลอนแคลน" อย่างมากและคาดไม่ถึง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะการปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากสถานการณ์บีบบังคับให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคิดและทำทั้งที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ บริหารงานเพียง 3 เดือนเท่านั้น เนื่องเพราะภายนอกสภา โน้มเอียงไปทางฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่

    นี่ย่อมมองเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากยกเครดิตให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์

    ที่ต้องขับเน้นว่าอยู่ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ทั้งนี้ เนื่องจากนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อ 4 ปีก่อน พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาแล้ว 2 ครั้ง

    โดยครั้งที่ 1 - มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2546 จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ, น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, อดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์, สรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม

    และครั้งที่ 2 - ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2547 จำนวน 8 คน ประกอบด้วย วันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี, อดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี, วัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์, ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรี, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง, น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

    การเปิดอภิปรายทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว แม้เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เพียงพอที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องทุจริตและถอดถอนได้ ขณะเดียวกัน จำนวนรัฐมนตรีที่ถูกยื่นซักฟอกก็มีจำนวนมาก

    แต่เมื่อมาเทียบในเชิงคุณภาพกับการเปิดอภิปรายคราวนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเสียง ที่ทำให้อภิปรายไม่ไว้วางใจได้เฉพาะเรื่องการบริหารและความบกพร่อง ไม่อาจก้าวล่วงไปถึงเรื่องทุจริตได้ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายก็มีเพียงคนเดียว

    ปรากฏว่าครั้งนี้ กลับ "หมัดหนักกว่า" "มีผลสะเทือนสูงกว่า" "ได้รับการขานรับจากสังคมมากกว่า" และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่มากและเร็วกว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา

    ซึ่งก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า ถึง "จํานวน" จะมีบทบาทและความหมายเป็นอย่างสูงในระบอบประชาธิปไตยซึ่งตัดสินชี้ขาดชัยชนะกันที่เสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการดำรงอยู่ของเสียงข้างน้อยจะไร้ความหมาย

    ถ้าหากฝ่ายที่วางแผนทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้ว่าดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพ กลมกลืน ดีพอแล้ว กลับสร้างผลสะเทือนทางการเมืองได้รุนแรงกว่า ซึ่งจะว่าไปก็คงต้องยกให้เครดิตให้กับ พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นเอง

    ในนาทีนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า เป็น "คุณภาพใหม่" ที่เชื่อถือได้ จากนักศึกษามหาวิทยาลัย ก็ก้าวไปสู่การเป็นบัณฑิต แบบพาสชั้น และที่สำคัญได้เกียรตินิยม อันดับ 1 ด้วย

    เพราะนอกจากจะบั่นเซาะฐานของพรรคการเมืองเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างพรรคไทยรักไทย ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ "เกินคาด" แล้ว

    ยังได้สั่งสม "บารมี" และ "ความน่าเชื่อถือ" ให้กับตนเอง เพื่อที่จะขึ้นไปเทียงเคียงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในอนาคตอันใกล้ด้วย

    ซึ่งก็ต้อง "จับตา" กันต่อไปว่า นายอภิสิทธิ์ จะยังคงพัฒนาคุณภาพของตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ ให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้อีกมากเพียงใด จะเทียบเท่าหรือมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และไทยรักไทย หรือไม่

    แต่ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ก็คงไม่อาจจะหลงเพริดไปกับความสำเร็จนี้ เพราะว่าไปนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และที่สำคัญนี่เป็นความสำเร็จบนเกม "ที่ถนัด" ของตนเอง นั่นคือ ความเป็นฝ่ายค้าน ขณะเดียวกัน ผลสะเทือนรุนแรงที่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่อาจปฏิเสธ "เงื่อนไข" ความแตกแยกในพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะกรณี นายเสนาะ เทียนทอง ที่ "เอื้อ" ให้อย่างสูงด้วย

    นายอภิสิทธิ์ ยังคงต้องพิสูจน์ตนในเรื่อง "การบริหารจัดการ" เพื่อให้เทียบเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างหนักต่อไป เพื่อลบล้างเสียงปรามาส


    เก่งแต่การเป็นฝ่ายค้านในสภาเท่านั้น !


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×