ซูสีไทเฮา ผู้หญิงที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ - ซูสีไทเฮา ผู้หญิงที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ นิยาย ซูสีไทเฮา ผู้หญิงที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ : Dek-D.com - Writer

    ซูสีไทเฮา ผู้หญิงที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์

    โดย delilah_doll

    สำหรับหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ประจำวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2550 โดยวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ

    ผู้เข้าชมรวม

    5,679

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    11

    ผู้เข้าชมรวม


    5.67K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  8 มิ.ย. 51 / 00:28 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ในชีวิตของผมมีโอกาสสัมผัสถึงความเป็นผู้นำของผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก เพราะเติบโตมาจากครอบครัวที่ผู้หญิงมีบทบาทสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นคุณย่า คุณป้า หรือแม้กระทั่งแม่ หรือแม้กระทั่งในบางช่วงเวลาผมอาศัยอยู่กับคุณยาย  ทำให้ผมมองว่าผู้หญิงเป็นหัวหน้าและเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์หลายเรื่องในขณะนั้น  เมื่อโตขึ้นมาผมได้รู้จักกับผู้หญิงที่มีความสามารถหลายต่อหลายคน และมักได้ยินบ่อย ๆ ว่าหากผู้หญิงไม่ถูกจำกัดด้วยวัฒนธรรม คติความเชื่อ หรือถูกตีกรอบด้วยขนบธรรมเนียมโบราณ พวกเธอคงจะสามารถแสดงออกถึงความสามารถที่มีอยู่ไม่น้อยไปกว่าผู้ชายหรือในบางเรื่องอาจจะดีกว่าผู้ชายด้วยซ้ำไป ทั้งที่ผู้หญิงนั้นมีความละเอียดรอบคอบและความจริงจังมากกว่าผู้ชาย แต่มีข้อเสียเปรียบในเรื่องของสรีระและประกอบกับวัฒนธรรมและกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชายมากกว่า

       

      ในอดีตหากมีผู้หญิงคนใดที่มีความเก่งกาจโดดเด่นหรือมีความเป็นผู้นำของกลุ่มและชุมชนมักจะถูกเปรียบเปรยว่าเป็น ซูสีไทเฮา เสมอ ถือเป็นการยกตัวอย่างที่เปรียบเทียบถึงความเก่งกาจของซูสีไทเฮาที่สามารถครอบครองบัลลังค์จีนมายาวนานถึง 47  ปี  ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  จีนเป็นประเทศมหาอำนาจมาตั้งแต่โบราณ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล ประกอบกับมีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่เหมือนใคร ถือได้ว่าเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมที่สำคัญของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม หรือแม้กระทั่งไทย ก็ล้วนแต่มีพื้นเพทางวัฒนธรรมมาจากจีนยุคโบราณทั้งสิ้น

       

      จึงไม่แปลกใจหากพระนางซูสีไทเฮาได้ยกย่องให้เป็นผู้หญิงที่มีอิทธิพลทางด้านการปกครองของจีนในอดีต ซึ่งยังไม่มีใครสามารถเทียบชั้นอำนาจและความยิ่งใหญ่ได้นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์จีนกว่า 5,000 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนตัวแล้วผมยังมองไม่ออกว่าในอนาคตจะมีผู้หญิงที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เท่าพระนางได้ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีนหรือประเทศอื่นใดในโลก

       

       

       

       

      พระนางซูสีไทเฮา หรือที่ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ฉือสี่ไท่โฮ่ว เป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในราชสำนักจีนยุคของราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ก่อนที่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะล่มสลายกลายเป็นสาธารณรัฐ และคอมมิวนิสต์ ไปในที่สุด โดยพระนางทรงอยู่ในอำนาจตั้งแต่ ค.ศ. 1861 จนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1908 โดยพระนางกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังฮ่องเต้ถึง 3 พระองค์ คือถงจื่อ กวงสูหรือกวงชวี่ และปูยี ไม่มีใครสามารถโค่นพระนางลงจากอำนาจได้สำเร็จ

       

                  พระนางซูสีไทเฮาสามารถไต่เต้าจากตำแหน่งสาวใช้มาจนกลายเป็นพระมเหสีของฮ่องเต้เสียนเฟิง และกุมอำนาจปกครองอาณาจักรจีนนานถึงครึ่งศตวรรษจนกระทั่งสวรรคต ซึ่งถือว่าพระนางเก่งมากที่ก้าวมาจากจุดที่ไม่มีอะไรเลยจนได้กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน  แต่พระนางก็ถูกตำหนิอย่างหนักว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศจีนล่มจม ถูกชาติตะวันตกรุกรานเสียเกียรติภูมิ เพราพระนางมัวแต่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมัวเมาในอำนาจ และไม่สนใจผลประโยชน์ของบ้านเมือง

       

                  ด้วยความที่พระนางมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและมองจีนเป็นจุดสูงกลางอันยิ่งใหญ่ มองชาติตะวันตกนั้นป่าเถื่อน (ผีทะเล ) เป็น ปิศาจผมแดง ทำให้ชาติตะวันตกที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าเข้ามามีอิทธิพลเหนือแผ่นดินจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ราชสำนักของราชวงศ์ชิงและประเทศจีนในที่ด้อยเรื่องเทคโนโลยีกว่าถูกต่างชาติครอบงำในที่สุด

       

      ประวัติ

       

      พระนางซูสีไทเฮา เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 ที่หมู่บ้านซีพัว อำเภอฉางจื้อ มณฑลซานซี ในครอบครัวที่ยากจนของชาวฮั่น เดิมทีมีชื่อว่า หวังเสี่ยวเชี่ยน เมื่ออายุ 4 ขวบ ถูกขายให้แก่ซ่งซื่อหยวนของหมู่บ้านซั่งฉิน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ซ่งหลิงเอ๋อ เมื่ออายุได้ 12 ปี ก็ถูกขายให้แก่ ฮุ่ยเจิง ผู้ว่าราชการเมือง และเปลี่ยนชื่อเป็น หลานเอ๋อ และอาศัยที่จวนผู้ว่าฯ โดยได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามประวัติชีวิตของพระนางซูสีไทเฮาตอนต้นไม่ชัดเจน จึงไม่อาจสรุปได้ว่าพระนางซูสีไทเฮาเป็นชาวแมนจูหรือชาวจีนฮั่น แต่ส่วนใหญ่จะระบุว่านางเป็นชาวแมนจู

       

      ปี ค.ศ. 1852 หลานเอ๋อได้ถูกคัดเลือกเข้าวังในฐานะที่เป็นบุตรสาวของผู้ว่าฮุ่ยเจิง ซึ่งมีนามสกุลหรือแซ่ว่า เย่เหอนารา ซึ่งเป็นแซ่ของพวกแมนจู ซึ่งเป็น 2 ปีหลังจากที่จักรพรรดิเต้ากวงสิ้นพระชนม์ และจักรพรรดิเสียนฟงราชโอรสขึ้นครองราชย์แทนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ ซึ่งจีนในยุคตอนปลายราชวงศ์ชิงนั้นเต็มไปด้วยกบฏต่อต้านราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูและชาติตะวันตกก็ต่างเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในจีน

       

      ใน 3 ปีแรกของการเข้าวัง หลานเอ๋อไม่มีโอกาสได้พบกับพระจักรพรรดิเสียนเฟิงเลย แต่นางได้ใช้ความสามารถในทางร้องรำจนทำให้ได้พบปะกับจักรพรรดิจนได้ เนื่องจากว่าหลานเอ๋อมีความเฉลียวฉลาดและรู้จักหนังสือแต่งบทกวี ทำให้เป็นที่โปรดปรานของจักพรรดิเสียนเฟิง และด้วยชั้นเชิงความทะเยอทะยานของนาง หลานเอ๋อได้เป็นสนมเอกในจักรพรรดิเสียงเฟิงในที่สุด ยิ่งต่อมานางตั้งครรภ์และได้ให้ประสูติกาลเป็นพระโอรสเมื่อปี ค.ศ. 1835 เหตุการณ์นี้ทำให้นางได้เลื่อนขั้นจากสนมชั้นที่สามเป็นสนมชั้นที่หนึ่งหรือ กุ้ยเฟย

       

      เป็นที่ทราบกันดีว่าจักรพรรดิเสียนเฟิงนั้นทรงอ่อนแอเชื่อคนง่าย เมื่อกองทัพพันธมิตรอังกฤษและฝรั่งเศสบุกเข้ากรุงปักกิ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1860 จักรพรรดิเสียนเฟิงพร้อมเชื้อพระวงศ์คนสนิทก็เสด็จหนีไปเมืองเรอเหอ และให้เจ้าชายกงพระอนุชาออกหน้าทำหน้าที่เจรจากับมหาอำนาจตะวันตกแทน แต่หลังจากการเจรจาเสร็จสิ้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จกลับเนื่องจากทรงอับอาย

       

      หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ก็ทรงสวรรคตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1861 มีพระชนมายุเพียง 30 พรรษาเท่านั้น และฉืออันไทเฮา หรือที่เรียกกันว่าพระมเหสีฝ่ายตะวันออกนั้น ไม่มีพระโอรสหรือพระธิดา แต่ฝ่ายพระสนมเอกหลานเอ๋อ หรือฉือสี หรือซูสี มีพระโอรสอยู่พระองค์หนึ่งคือเจ้าชายไช่ชุน มีพระชันษา 5 ขวบ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีฝ่ายตะวันตก หรือไทเฮาฝ่ายตะวันตกและมีพระนามแต่งตั้งว่า เสี้ยวชินเซียนฮองเฮา แต่ก็มีฐานันดรต่ำกว่าฉืออันไทเฮา พระมเหสีฝ่ายตะวันออก

       

      ซู่ชุนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ อ้างพระบรมราชโองการขององศ์จักรพรรดิก่อนสิ้นพระชนม์แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 8 คน มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินไปจนกว่าเจ้าชายไช่ชุนจะทรงบรรลุนิติภาวะ ซึ่งทำให้พระมเหสีทั้งสองกริ้วมากอีกทั้งยังแต่งตั้งให้พระมเหสีทั้งสองขึ้นเป็นไท่โฮ่วหรือพระพันปีหลวง ในฐานะพระราชมารดาขององค์จักรพรรดิ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลของแมนจูแล้วตำแหน่งไท่โฮ่วนี้ไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าซู่ชุนมีเจตนาที่จะกุมอำนาจปกครองจีนเอง ทำให้ซูสีไทเฮาได้มอบหมายให้อานเตไห่ขันทีคนสนิทลอบถือหนังสือไปให้เจ้าชายกง พระอนุชาของจักรพรรดิเสียนเฟิง เพื่อวางแผนชิงอำนาจกลับ โดยมีฉืออันไทเฮาพระมเหสีฝ่ายตะวันออกรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนด้วย

       

      หลังจากที่จักพรรดิเสียนเฟิงสวรรคตไปได้ราวเดือนเศษ ขุนนางที่ปักกิ่งได้ถวายความเห็นให้มเหสีทั้งสององค์ร่วมรับผิดชอบในการบริหารงานบ้านเมือง โดยมีหน้าที่รับฟังรายงานจากขุนนางอยู่หลังม่านประเพณี  พอซู่ชุนรู้เข้าก็โกรธมาก เมื่อจักรพรรดิเสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ที่เมืองเรอเหอ ทำให้ต้องมีการอัญเชิญพระศพกลับกรุงปักกิ่ง มเหสีทั้งสองได้ใช้ข้ออ้างของประเพณีแมนจูที่ห้ามหญิงหม้ายเดินทางร่วมกับขบวนแห่ศพเพื่อกลับปักกิ่งก่อน แต่ซู่ชุนได้สั่งให้นายทหารรักษาพระองค์ชาวแมนจูผู้หนึ่งคุมกำลังทหารติดตามมาโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัย ซึ่งความเป็นจริงแล้วเป็นการวางแผนให้สังหารพระนางทั้งสองทิ้งกลางทาง แต่ด้วยความโชคดี นายทหารรักษาพระองค์ผู้นั้นชื่อว่าหยงลุเคยรู้จักสนิทสนมกับพระนางซูสีไทเฮาตั้งแต่ยังเด็ก จึงไม่ทำตามคำสั่ง และพาพระมเหสีทั้งสองเดินทางไปถึงกรุงปักกิ่งโดยสวัสดิภาพเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1861

       

      พอไปถึงปักกิ่งพระนางก็ได้ร่วมมือกับเจ้าชายกงตระเตรียมแผนก่อรัฐประหาร พอขบวนพระศพมาถึงซู่ชุนและพวกก็ถูกจับกุมตัวพร้อมข้อกล่าวหาว่าปลอมแปลงพระราชโองการ และทำการถอดถอนอำนาจขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 8 คน ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในสมัยนั้นออกไป ส่วนซู่ชุนถูกประหารชีวิต ดังนั้น พระพันปีหลวงทั้งสองก็ได้อำนาจสิทธิ์ขาดร่วมกันปกครองอาณาจักรจีนต่อไป  พระมเหสีทั้งสองจึงว่าราชการหลังม่านจนกว่าเจ้าชายไช่ชุนจะบรรลุนิติภาวะ โดยรัชกาลนี้มีชื่อว่า ถงจื้อ แปลว่าปกครองร่วมกัน

       

      เมื่อได้ครองอำนาจพระนางซูสีไทเฮามีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น เนื่องจากว่าพระนางซูสีไทเฮามีอุปนิสัยเป็นคนทะเยอทะยาน มีสติปัญญาสูง และก็รู้จักใช้อำนาจอย่างเฉลียวฉลาด ดังนั้นจึงสามารถกุมอำนาจของราชสำนักไว้ในพระหัตถ์ของพระนางแต่เพียงผู้เดียว สำหรับฉืออันไทเฮาพระมเหสีฝ่ายตะวันออกแท้จริงแล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก ความรู้ก็น้อยเมื่อเทียบกับพระนางซูสีไทเฮา อีกทั้งพระนางยังทรงทราบดีว่าซูสีไทเฮามีอุปนิสัยอย่างไร ถ้าหากพระนางแสดงภูมิอะไรไปอาจจะไม่ปลอดภัยต่อตัวพระองค์เองก็เป็นได้

       

      ซูสีไทเฮา เคยเอ่ยปากว่าพระนางเป็นผู้หญิงที่ฉลาดกว่าหญิงใด และนางก็มีผู้คนในปกครองมากมายหลายล้านคน ในราชสำนักนั้นพระนางมีอำนาจมากโดยไม่มีใครกล้าโต้แย้ง พระนางเป็นผู้บรรจุแต่งตั้งบรรดาผู้คนทั้งปวงในราชสำนัก ตลอดจนสำนักราชการต่างๆ ยิ่งนานไปทุกคนต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียว หลังจากที่จักรพรรดิเสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ไปจนกระทั่งสิ้นราชวงศ์ชิงล้วนแต่มีฐานะเป็นหุ่นเชิดของพระนาง กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1861 เป็นต้นมาจนถึงกาลอวสานของราชวงศ์ชิงนั้น อำนาจของรัฐบาลแมนจูตกอยู่ภายใต้กำมือของสตรีเพียงคนเดียว

       

      พระนางใช้หลักขงจื๊อมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินคือเรื่อง ลูกกตัญญู ที่ ลูกต้องเชื่อฟังแม่ มาใช้กับองค์จักรพรรดิถงจื่อ และเมื่อบรรดาเหล่าขุนนางทั้งหลายต้องถวายความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ก็ต้องถวายความจงรักภักดีต่อพระราชมารดาขององค์จักรพรรดิก่อน ดังนั้นสุภาษิตของขงจื้อที่ว่าไว้ว่า ผู้มีปรีชาญาณต้องเอาความกตัญญูมาปกครองอาณาจักรจึงเป็นหลักปฏิบัติที่ถูกยกขึ้นมาอ้างบ่อยครั้งที่สุดในรัชสมัยของพระนาง

       

      พระนางมีขันทีคนสนิทอยู่คนหนึ่งคืออานเตไห่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในราชสำนักระหว่างปี ค.ศ. 1862 – 1869 จึงทำให้อานเตไห่เหลิงอำนาจ เมื่อพระนางซูสีไทเฮามีพระบัญชาให้อานเตไห่เดินทางไปเมืองกว่างโจวเพื่อซื้อฉลองพระองค์ลายมังกร แต่มีกฎมณเฑียรบาลห้ามขันทีเดินทางออกนอกเมืองหลวง ถ้าผู้ใดล่วงละเมิดจะถูกประหารชีวิตทันที และแทนที่อานเตไห่จะลอบเดินทางไปเงียบๆ เขากลับเดินทางไปอย่างเอิกเกริกเพราะคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ไม่กลัวใคร เมื่อไปถึงซานตงเจ้าหน้าที่ก็รายงานให้เจ้าชายกงทราบ เจ้าชายเห็นเห็นคราวที่จะได้แก้เผ็ดซูสีไทเฮา จึงรีบรายงานและขอคำสั่งประหารชีวิตมายังฉืออันไท่โฮ่วพระพันปีหลวงฝ่ายตะวันออก ซึ่งพระนางย่อมมีรับสั่งให้ทำตามกฎ ประจวบเหมาะกับที่พระนางซูสีไทเฮากำลังพระราชเกษมสำราญกับงิ้ว และมีรับสั่งมิให้ใครเอาเรื่องงานอื่นมารบกวน อานเตไห่จึงถูกประหารชีวิต พระนางซูสีไทเฮาเมื่อรู้เข้าก็โกรธเจ้าชายกง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการประหารชีวิตขันทีคนสนิทชอบด้วยกฎหมาย

       

      และในปี ค.ศ. 1873 จักรพรรดิถงจื่อก็สามารถว่าราชการได้ด้วยพระองค์เอง แต่พระนางซูสีไทเฮาก็ใช้ข้ออ้างในฐานะที่เป็นพระราชมารดาเข้าแทรกแซงการบริหารบ้านเมืองของจักรพรรดิ และเมื่อทรงอัดอั้นพระทัย พระองค์จึงหันไปใช้ชีวิตอย่างเสเพล ด้วยการตระเวนลอบเสด็จโดยทางลับไปเที่ยวตามซ่องโสเภณีต่างๆ นอกวัง และในที่สุด วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1875 จักรพรรดิถงจื่อก็ทรงพระประชวรและสวรรคตในที่สุดโดยไม่มีรัชทายาท

       

      ภายหลังการสิ้นพระชนม์พระนางซูสีไทเฮาได้เรียกประชุมลับระหว่างเชื้อราชวงศ์ชิง องคมนตรีและเสนาบดี เสนอให้ตั้งเจ้าชายไจ้เทียน โอรสของเจ้าชายจุนซึ่งมีอายุเพียง 3 ขวบเป็นจักรพรรดิแทน เพราะพระนางต้องการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการต่อไปอีก เพราะเจ้าชายจุนมีความดีความชอบในตอนจับซู่ชุน และอยู่ภายใต้อำนาจของพระนางตลอดมา ประกอบกับเจ้าชายน้อยวัย 3 ขวบก็เป็นบุตรของน้องสาวพระนางซูสีไทเฮาอีกด้วย ไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้านแม้จะผิดกฎมณเฑียรบาลก็ตาม

       

      หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1881 พระมเหสีฝ่ายตะวันออกสวรรคตอย่างกะทันหันและลึกลับ พระนางซูสีไทเฮาจึงกุมอำนาจการบริหารแผ่นดินทั้งหมด มีนักประวัติศาสตร์จีนบางคนยืนยันว่าพระนางซูสีไทเฮาเป็นผู้วางยาพิษพระนางฉืออันไท่โฮ่ว และในปี ค.ศ. 1889 เจ้าชายกงก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง  หลังจากนั้นพระนางทรงเล็งเห็นถึงภัยของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว รวมถึงกบฎต่าง ๆที่เกิดขึ้นซึ่งล้วนเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชวงศ์ชิง พระนางจึงได้อาศัยกำลังของชาวต่างชาติคืออังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาช่วยสู้รบกับกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้พระนางตระหนักว่าจีนไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกที่รายลอบไปด้วยอาณาจักรของคนป่าเถื่อนอีกต่อไป และจีนจำเป็นต้องตั้งสำนักราชการเพื่อติดต่อกับต่างประเทศโดยตรง

       

      พระนางซูสีไทเฮาสามารถรักษาฐานะของตนและราชวงศ์ชิงไว้ได้ เพราะใช้กุศโลบายในการปกครองอย่างการแบ่งแยกแล้วปกครอง ทั้งสนับสนุนกลุ่มโน้นทางหน้าฉาก แต่หลังฉากกดดันกลุ่มนี้ เป็นต้น รายได้ส่วนพระองค์ของพระนางนั้นมากมาย เพราะได้จากเงินก้อนโตที่ขุนนางทั่วราชอาณาจักรต้องถวายให้หากยังต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไป

       

      ในสมัยที่พระนางครองอำนาจเกิดสงครามจีนกับฝรั่งเศสขึ้น เพราะฝรั่งเศสบังคับให้จักรพรรดิเวียดนามลงพระนามในสนธิสัญญายอมให้เวียตนามเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1874 จีนก็ส่งกำลังลงมาที่เวียดนาม ทหารจีนและฝรั่งเศสจึงเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด ทำให้ฝรั่งเศสรุกคืบเข้ายึดเมืองต่างๆ ของจีนตามพรมแดนได้หลายเมือง พระนางซูสีไทเฮาพิโรธมาก หาว่าเป็นความบกพร่องขององคมนตรีและขุนนางทั้งหลาย จึงปลดขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคน จีนจึงทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศส จีนจึงทำสนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1885 ยอมสละเวียดนามให้ฝรั่งเศส

       

      จีนมีข้อพิพาทกับญี่ปุ่นเรื่องเกาหลี และจีนก็พ่ายแพ้การรบทางเรือกับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1895 ทำให้จีนต้องลงนามใน สนธิสัญญาโมโนเซกิ โดยจีนต้องสละอำนาจอธิปไตยเหนือเกาหลี รับรองเอกราชและการปกครองตนเองของเกาหลี ต้องยกไต้หวัน หมู่เกาะเพสคาดอเรส และแหลมเหลียวตงที่อยู่ภาคใต้ให้กับญี่ปุ่น และชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม ถึงแม้สถานการณ์จีนจะย่ำแย่ แต่ทางราชสำนักแมนจูพระนางซูสีไทเฮาก็ยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ พอแพ้จากสงครามกับฝรั่งเศสแล้วเจ้าชายกงก็ถูกเรียกให้เข้ามารับราชการอีกครั้งในวัย 61 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1894 แต่สุขภาพของเจ้าชายกงทรุดโทรมมากเนื่องจากติดฝิ่น ภายหลังจักรพรรดิกวงซวี่บรรลุนิติภาวะและสามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 18 ชันษา แต่พระนางซูสีไทเฮาก็ยังไม่วางมือจากการบริหารประเทศ หนังสือราชการสำคัญๆ ทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบจากพระนางก่อน ท้ายที่สุด พระนางซูสีไทเฮาได้ก่อรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 21 เดือนกันยายน พระนางได้สั่งให้ทหารเข้าคุมตัวจักรพรรดิแล้วนำไปคุมขังที่เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งในทะเลสาบจงหนานไห่นานถึง 10 ปี และพระนางเข้ายึดอำนาจโดยอ้างว่าจักรพรรดิกวงซวี่ทรงประชวร

       

      หลังจากกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง สถานการณ์ในประเทศไม่สู้ดีนัก เพราะมีกลุ่มคนที่เกลียดชังต่างชาติก็กบฎขึ้น จนในวันที่ 21 เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1900 พระนางซูสีไทเฮาก็ประกาศสงครามกับมหาอำนาจต่างชาติ และพระนางก็ฉวยโอกาสใช้กบฏนี้ยืมมือมาต่อต้านต่างชาติ ถ้าฝ่ายกบฏมีชัยก็สนับสนุนต่อ แต่หากแพ้ก็จะปราบให้ต่างชาติเห็นว่าตนไม่ได้สนับสนุน โดยกบฎกลุ่มนี้ได้ทำการปิดล้อมโบสถ์และสถานทูตของต่างชาติ ฝ่ายพันธมิตร 8 ชาติ เช่นญี่ปุ่น รัสเซีย อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส และออสเตรียน ก็ยกกองทัพเข้ากรุงปักกิ่งเพื่อปลดปล่อยโบสถ์และสถานทูตที่ถูกปิดล้อมโดยพวกกบฏ และเปิดฉากสงคราม เมืองหลวงถูกปล้นสะดม

       

      หลังจากกองทัพพันธมิตรเข้ากรุงปักกิ่งได้วันเดียว พระนางซูสีไทเฮาก็เสด็จหนีออกจากราชวังในวันที่ 15 สิงหาคม โดยปลอมตัวเป็นหญิงชาวนา และบังคับให้จักรพรรดิกวงซวี่ไปกับตนด้วย โดยเดินทางไปด้วยเกวียนพร้อมข้าราชบริพารที่ไว้ใจได้จำนวนหนึ่งไปพำนักที่ซีอาน และมีขุนนางที่ต่อต้านต่างชาติเดินทางไปด้วย และให้หลี่หงจางซึ่งมีอายุถึง 77 ปีแล้วมีอำนาจเต็มเพื่อเจรจากับต่างชาติ และหลี่หงจางต้องทำตามที่ต่างชาติสั่งทุกอย่าง โดยมีข้อยกเว้นอยู่เพียงข้อเดียวว่าพระนางซูสีไทเฮาจะต้องไม่เป็นผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ก็ตาม และจักรพรรดิกวงซวี่จะไม่กลับมาครองราชย์ โดยพระนางพยายามทำให้ต่างชาติเชื่อว่าพระนางไม่ได้สนับสนุนกบฏก่อนหนีไป ด้วยการสั่งให้จับขุนนางที่สนับสนุนให้รัฐบาลแมนจูประนีประนอมกับกบฏและให้ประหารชีวิตเสียหลายคน  การเจรจายืดเยื้อนานถึงปีเศษกว่าจะตกลงกันได้ เพราะฝ่ายชาติตะวันตกตกลงเรื่องผลประโยชน์กันไม่ได้ สุดท้ายแล้วจึงมีการลงนามสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901

      ทางด้านของพระนางซูสีไทเฮาสวรรคตท่ามกลางการสาปแช่งของชาวจีน คือเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 มีเรื่องเล่าว่าก่อนสวรรคตพระนางส่งคนไปวางยาพิษจักรพรรดิกวงซวี่ที่ยังทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทำให้จักรพรรดิกวงซวี่สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้าพระนางเพียงวันเดียว จากนั้นพระนางได้ ให้ปูยีเป็นจักรพรรดิทั้งๆ ที่ปูยียังมีอายุไม่ถึง 3 ขวบปีดี ในที่สุดพระนางก็ได้สิ้นสุดอำนาจการปกครองต่อราชวงศ์ชิงนานถึง 47 ปี และสวรรคตก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะถึงแก่กาลอวสานไปไม่ถึง 3 ปี นับเป็นการปิดฉากการปกครองแบบราชวงศ์เพื่อเข้าสู่ยุคปฎิวัติและรวมประเทศจีนด้วยการปกครองแบบสาธารณรัฐดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

       

       

       

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×