เนื่องจากการทันตกรรมในประเทศไทยยังขาดแคลนทันตแพทย์อยู่มาก ทั้งนี้มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความพร้อมในการเปิดสอนคณะในกลุ่มแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงได้มีการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตทันตแพทย์เพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนทันตแพทย์ในปัจจุบันร่วมกับภาครัฐ (มหาวิทยาลัยรัฐบาล) และเนื่องจากในอีกไม่กี่ ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นผู้นำในด้านการแพทย์ในภูมิภาคเอกเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้เปิดสอนในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ Bilingual เพื่อเตรียมพร้อมให้บัณฑิตทันตแพทย์ มีความพร้อมในด้านภาษาเป็นอย่างดีด้วย และได้มีการเปิดศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยอยู่ที่อาคารวานิช เพื่อบริการทันตกรรมให้แก่ประชาชนภายนอน ,บุคลากรในมหาวิทยาลัยและเป็นที่ทำการของคณาจารย์ด้วย ทั้งนี้คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2548 จำนวน 80 คน
คณะทันตแพทยศาสตร์
( Faculty of Dentistry )
หลักสูตร
ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต
สาขาวิชา
ทันตแพทยศาสตร์ ( Bilingual Program )
ชื่อปริญญา
ภาษาไทย : ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ( ท.บ.)
ภาษาอังกฤษ : Doctor of Dental Medicine ( D.M.D.)
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มีปรัชญาในการผลิตทันตแพทย์ในลักษณะที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบต่อผู้ป่วย โดยสามารถนำเอาความรู้ และความเข้าใจในสภาพสังคมและจิตใจของผู้ป่วยมาประมวลในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาโรค โดยสามารถฟื้นฟูสภาพในช่องปากและอวัยวะที่เกี่ยวข้องด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย ตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ เน้นให้ผู้ป่วยสามารถดูแลและพึ่งพาตัวเองได้ โดยมุ่งผลิตทันตแพทย์ที่มีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณและจริยธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคม
เพื่อผลิตทันตแพทย์ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก การตรวจ วินิจฉัย การวางแผนการรักษา เวชบำบัด หรือการผ่าตัดรักษาโรค และสามารถวิเคราะห์ปัญหาความผิดปกติของช่องปาก กระดูกขากรรไกร และอวัยวะที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งมีความมั่นใจในการฟื้นฟูสภาพของอวัยวะในช่องปาก และอวัยวะข้างเคียง ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
2. ใฝ่รู้ และติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาตนเองทั้งในด้านความรู้ และทักษะทางวิชาชีพ ประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมทุกระดับ
3. สามารถสนับสนุน จัดกิจกรรม เพื่อสร้างสุขภาพช่องปากได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่ม เป้าหมาย ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับชุมชนโดยให้สอดคล้องกับชุมชน นโยบายด้านสุขภาพของประเทศ
4. มีความรู้ในหลักการบริหารงาน มีความเป็นผู้นำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
5. มีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย ต่อสังคม ตระหนักถึงปัญหาและมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษา การแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ปัญหา และส่งต่อให้กับผู้ชำนาญงานเฉพาะทาง
6. เป็นผู้มีจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
1. ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่า และมหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นสมควรเข้ารับศึกษา
2. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
3. มีผู้รับรอง ซึ่งมีที่อยู่ที่ทางมหาวิทยาลัยสามารถติดต่อได้
4. มีความรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในระดับดี |
1. การเรียนการสอนในลักษณะของ Bilingual ในความหมายดังต่อไปนี้
1.1 การศึกษาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ
1.2 ลักษณะข้อสอบ คู่มือปฏิบัติการ ตำราและเอกสารประกอบคำบรรยาย จัดทำเป็นภาษาอังกฤษ
1.3 การศึกษาในหมวดวิชาเฉพาะ (วิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิชาชีพ) จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในกรณีที่ผู้สอนมีความพร้อม และต้องการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
2. ใช้ระบบการศึกษาแบบทวิภาค โดยแบ่งเวลาการศึกษาในหนึ่งปีออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ คือภาคเรียนที่ 1 และ ภาคเรียนที่ 2 มีระยะเวลาเรียนในแต่ละภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ และอาจมีภาคฤดูร้อนอีก 1 ภาคการศึกษาก็ได้ ซึ่งจะมีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์
3. การนับหน่วยกิต
3.1 รายวิชาภาคทฤษฏี ที่ใช้เวลาบรรยาย หรืออภิปรายปัญหา ไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
3.2 รายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลอง ไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
3.3 การฝึกงาน หรือฝึกภาคสนามที่ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
3.4 การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใด ที่ได้รับมอบหมาย ที่ใช้เวลาทำโครงงาน หรือกิจกรรมนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
3.5 การปิดและเปิดภาคการศึกษา ให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยรังสิตกำหนด
3.6 นักศึกษาต้องได้หน่วยกิตสะสมครบตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรในสามปีแรกและได้แต้มระดับขั้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 และต้องได้แต้มระดับขั้นเฉลี่ยสะสมในหมวดวิชาเฉพาะอันได้แก่กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพและกลุ่มวิชาชีพ ไม่ต่ำกว่า 2.00 จึงจะได้รับการพิจารณาให้ศึกษาต่อในชั้นปีที่ 4 ของหลักสูตรได้ |
ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร 6 ปี อย่างมากไม่เกิน 12 ปีการศึกษา |
และพี่มีบทสัมภาษณ์จากท่านอธิการบดี อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่กล่าวถึงการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ จากสารรังสิตฉบับที่ 116 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 มาให้น้องๆได้อ่านครับ | |
" ปี 2548 รัฐบาลมีความต้องการผลิตทันตแพทย์เพิ่มจาก 450 คนต่อปี เป็น 600 คนต่อปี นั่นเพราะทั้งประเทศไทยมีหมอฟันเพียง 3,600 กว่าคน ต่อประชากร 60 กว่าล้านคน หรือมีทันตแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 16,000 คน ดังนั้นรัฐบาลไม่สามารถผลิตทันตแพทย์ทันต่อความต้องการได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนด้านบุคลากรที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพปากและฟันของประชากรไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเดินหน้าเต็มกำลัง เปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ ระบบ 2 ภาษา แห่งแรกของมหาวิทยาลัยเอกชนขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งมุ่งผลิตทันตแพทย์ข้ามชาติ และเป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาสุขภาพในระดับนานาชาติ
ปั้นหมอฟันสู่สากล
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปิดตัวคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นการเรียนการสอนแบบ 2 ภาษา แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งที่จริงตั้งใจจะเปิดพร้อมคณะแพทยศาสตร์เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดได้เพราะก่อนหน้านี้ถูกต่อต้านมาตลอด เพิ่งมีโอกาสเนื่องจากตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาฉบับใหม่ให้สภามหาวิทยาลัยเป็น ผู้อนุมัติหลักสูตรเองได้ และกว่าคณะแพทยศาสตร์ของรังสิต จะเป็นที่ยอมรับได้ต้องใช้เวลา ตอนนี้เป็นที่ยอมรับทั้งในเรื่องคุณภาพและจรรยาบรรณ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน และสามารถสอบผ่านวิชาชีพได้ การเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์เพราะเราเห็นว่าหมอฟันบ้านเรามีไม่เพียงพอ ทำให้สุขภาพฟันของคนไทยแย่มาก "
ความคิดเห็น