ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อรรถกถาชาดก ๕๔๗ เรื่อง

    ลำดับตอนที่ #29 : อรรถกถา กัณหชาดก ว่าด้วย ผู้เอาการเอางาน | ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องทางลุ่มลึก ในกาลนั้น ชนทั้งหลายย่อมเทียมโคดำทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้ โดยแท้.

    • อัปเดตล่าสุด 25 ก.พ. 65


    อรรถกถา กัณหชาดก

    ว่าด้วย ผู้เอาการเอางาน

    “ ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องทางลุ่มลึก ในกาลนั้น ชนทั้งหลายย่อมเทียมโคดำทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้ โดยแท้.”

    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภยมกปาฏิหาริย์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยโต ยโต ครุ ธุรํ ดังนี้. 

    ยมกปาฏิหาริย์นั้นพร้อมกับการเสด็จลงจากเทวโลก จักมีแจ้งในสรภังคชาดก เตรสนิบาต. 

    ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ แล้วเสด็จอยู่ในเทวโลก ในวันมหาปวารณาเสด็จลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ แล้วเสด็จเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร พร้อมด้วยบริวารใหญ่. 

    ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งกล่าวถึงพระคุณของพระศาสดาว่า อาวุโสทั้งหลาย ชื่อว่าพระตถาคต มีธุระไม่มีผู้เสมอ คนอื่นชื่อว่าผู้สามารถเพื่อจะนำเอาธุระที่พระตถาคตนำไปแล้ว ย่อมไม่มี. ครูทั้ง ๖ กล่าวว่า พวกเราเท่านั้นจักกระทำปาฏิหาริย์ พวกเราเท่านั้นจักกระทำปาฏิหาริย์ แม้ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งก็ไม่ได้ทำ. น่าอัศจรรย์ พระศาสดาทรงมีธุระไม่มีผู้เสมอ. 

    พระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ? 

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอื่นหามิได้ นั่งสนทนากันด้วยเรื่องพระคุณเฉพาะของพระองค์ชื่อเห็นปานนี้. 

    พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครๆ จักไม่ได้นำไปซึ่งธุระที่เรานำไปแล้ว ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน เราแม้บังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็ไม่ได้ใครๆ ผู้มีธุระเสมอกับตน แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ 

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดโค ครั้นในเวลาที่ยังเป็นลูกโคหนุ่มนั่นแล เจ้าของทั้งหลายอยู่ในเรือนของหญิงแก่คนหนึ่ง กำหนดค่าเช่าที่อยู่อาศัย จึงได้ให้ลูกโคนั้น. หญิงแก่นั้นปฏิบัติลูกโคหนุ่มนั้นด้วยข้าวยาคูและภัตเป็นต้น ตั้งไว้ในฐานะบุตร ให้เติบโตแล้ว. ลูกโคนั้นปรากฏชื่อว่า อัยยิกากาฬกะ. ก็โคนั้นเจริญวัยแล้ว เป็นผู้มีสีเหมือนดอกอัญชัน เที่ยวไปกับโคบ้าน ได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ. พวกเด็กชาวบ้านจับที่เขาบ้าง ที่หูบ้าง ที่คอบ้าง โหนบ้าง จับที่หางเล่นบ้าง ดึงมาบ้าง นั่งบนหลังบ้าง. 

    วันหนึ่ง โคนั้นคิดว่า มารดาของเรายากจน ตั้งเราไว้ในฐานเป็นบุตร เลี้ยงดูมาโดยลำบาก ถ้ากระไร เราทำการรับจ้าง ปลดเปลื้องมารดานี้ให้พ้นจากความยากจน. 

    จำเดิมแต่นั้น โคนั้นเที่ยวทำการรับจ้าง. 

    อยู่มาวันหนึ่ง บุตรพ่อค้าเกวียนคนหนึ่งมีเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปประจวบเอาท่าที่ไม่ราบเรียบ โคทั้งหลายของพ่อค้าเกวียนนั้น ไม่สามารถจะยังเกวียนทั้งหลายให้ข้ามขึ้นได้ โคทั้งหลายในเกวียน ๕๐๐ เล่ม ที่เจ้าของเอาแอกมาเทียมต่อๆ กัน ก็ไม่ได้อาจเพื่อจะให้เกวียน แม้เล่มเดียวข้ามขึ้นไปได้. ฝ่ายพระโพธิสัตว์กับพวกโคชาวบ้าน เที่ยวไป ณ ที่ใกล้ท่า. 

    ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียนก็เป็นผู้รู้สูตรโค เขาใคร่ครวญอยู่ว่า ในระหว่างโคเหล่านี้ โคอุสภอาชาไนยผู้สามารถยังเกวียนเหล่านี้ให้ข้ามพ้น มีอยู่หรือหนอ? ได้เห็นพระโพธิสัตว์แล้วคิดว่า นี้โคอาชาไนยจักอาจยังเกวียนทั้งหลายของเราให้ข้ามพ้นได้ ใครหนอเป็นเจ้าของโคตัวนี้ จึงถามพวกคนเลี้ยงโคว่า ท่านผู้เจริญ ใครหนอเป็นเจ้าของโคตัวนี้ เราจักเทียมโคนี้ในเกวียนทั้งหลาย เมื่อเกวียนทั้งหลายอันโคนี้ให้ข้ามขึ้นได้ จักให้ค่าจ้าง. 

    พวกคนเลี้ยงโคเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงจับมันเทียมเถิด เจ้าของโคตัวนี้ในที่นี้ไม่มี บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นจึงเอาเชือกผูกพระโพธิสัตว์นั้นที่จมูกแล้วดึง ไม่ได้อาจแม้จะให้เคลื่อนไหวได้. 

    ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ไม่ได้ไปด้วยคิดว่า เมื่อบอกค่าจ้าง เราจักไป. บุตรพ่อค้าเกวียนรู้ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า นาย เมื่อท่านให้เกวียน ๕๐๐ เล่มข้ามขึ้นแล้ว เราจักเก็บเกวียนละ ๒ กหาปณะให้เป็นค่าจ้างแล้วจักให้ ๑,๐๐๐ กหาปณะ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ได้เดินไปเองทีเดียว. 

    ลำดับนั้น บุรุษทั้งหลายจึงเทียมพระโพธิสัตว์นั้นที่เกวียนทั้งหลาย. ทีนั้น พระโพธิสัตว์ยกเกวียนนั้นขึ้นโดยกำลังแรงครั้งเดียวเท่านั้น ให้เกวียนไปตั้งอยู่บนบก ยังเกวียนทั้งหมดให้ข้ามขึ้น โดยอุบายนี้. บุตรพ่อค้าเกวียนเก็บกหาปณะหนึ่งต่อเกวียนเล่มหนึ่งๆ กระทำทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะให้เป็นห่อมีภัณฑะ แล้วผูกที่คอของพระโพธิสัตว์นั้น. 

    พระโพธิสัตว์นั้นคิดว่า บุตรพ่อค้าเกวียนนี้ไม่ให้ค่าจ้างแก่เราตามที่กำหนดไว้. บัดนี้ เราจักไม่ให้บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นไป จึงได้ไปยืนขวางทางข้างหน้าเกวียนเล่มแรกสุด คนทั้งหลาย แม้จะพยายามเพื่อให้หลีกไป ก็ไม่ได้อาจเพื่อจะให้พระโพธิสัตว์นั้นหลีกไป. บุตรพ่อค้าเกวียนคิดว่า โคนี้เห็นจะรู้ว่า ค่าจ้างของตนหย่อนไป จึงเก็บ ๒ กหาปณะในเกวียนเล่มหนึ่งๆ ผูกทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ให้เป็นห่อมีภัณฑะแล้วคล้องที่คอ โดยกล่าวว่า นี้เป็นค่าจ้างในการยังเกวียนให้ข้ามขึ้นของท่าน. 

    พระโพธิสัตว์นั้นพาเอาห่อทรัพย์พันหนึ่ง ได้ไปยังสำนักของมารดา พวกเด็กชาวบ้านได้ไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ด้วยคิดกันว่า นี่ชื่ออะไรที่คอของโคอัยยิกากาฬกะ. พระโพธิสัตว์นั้นถูกเด็กชาวบ้านติดตาม จึงหนีไปไกลได้ไปยังสำนักของมารดา. ก็เพราะให้เกวียน ๕๐๐ เล่มข้ามขึ้น จึงปรากฏเป็นผู้เหน็ดเหนื่อย มีตาทั้งสองข้างแดง. 

    ยายเห็นถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ที่คอของพระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า พ่อ นี้ เจ้าได้มา ณ ที่ไหน แล้วถามพวกเด็กชาวบ้าน ได้ฟังเนื้อความนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า พ่อ เราต้องการเลี้ยงชีวิต ด้วยค่าจ้างที่เจ้าได้มาหรือ เพราะเหตุไร เจ้าจึงเสวยทุกข์เห็นปานนี้ จึงให้พระโพธิสัตว์อาบนํ้าอุ่น เอานํ้ามันทาทั่วร่างกาย ให้ดื่มนํ้า ให้บริโภคโภชนะอันเป็นสัปปายะ ในเวลาสิ้นชีวิต ได้ไปตามยถากรรมพร้อมกับพระโพธิสัตว์. 

    ฝ่ายพระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้มีธุระไม่มีผู้เสมอ ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็เป็นผู้มีธุระไม่มีผู้เสมอเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงสืบต่ออนุสนธิ เป็นพระผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า 

    ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องทางลุ่มลึก ในกาลนั้น ชนทั้งหลายย่อมเทียมโคดำทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้ โดยแท้. 
     

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต ยโต ครุ ธุรํ ความว่า ในที่ใดๆ มีธุระหนัก คือหยาบ โคพลิพัทอื่นๆ ไม่อาจยกขึ้นได้. 

    บทว่า ยโต คมฺภีรวตฺตนี ความว่า ชื่อว่า วตฺตนิ ทาง เพราะเป็นที่ไปของคน คำว่า วัตตนิ นี้เป็นชื่อของหนทาง. อธิบายว่า ในที่ใดมีหนทาง ชื่อว่าลึก เพราะมีนํ้าและโคลนมาก หรือเพราะความเป็นทางขรุขระและชัน. 

    ศัพท์ว่า อสฺสุ ในบทว่า ตทาสฺสุ กณฺหํ ยุญฺชนฺติ นี้ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ในกาลนั้น ย่อมเทียมโคดำ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ในกาลใดมีธุระหนัก และมีหนทางลึก ในกาลนั้น ชนทั้งหลายจึงเอาโคพลิพัทตัวอื่นออกไป แล้วเทียมโคดำเท่านั้น. 

    ศัพท์ว่า อสฺสุ แม้ในบทว่า สฺวาสฺสุ ตํ วหเต ธุรํ นี้ ก็เป็นศัพท์นิบาตเหมือนกัน. อธิบายว่า โคดำนั้นย่อมนำธุระนั้นไป. 

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลนั้น โคดำเท่านั้นนำธุระนั้นไป ดังนี้ ด้วยประการอย่างนี้แล้ว ทรงสืบต่ออนุสนธิ ประชุมชาดกว่า 

    หญิงแก่ในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุณีอุบลวรรณา 

    ส่วนโคอัยยิกากาฬกะได้เป็น เรา แล.


    จบอรรถกถากัณหชาดกที่ ๙
    -----------------------------------------------------

     

    ที่มา | อรรถกถา กัณหชาดก ว่าด้วย ผู้เอาการเอางาน 84000.org

    อ่านต้นฉบับอรรถกถาชาดกทั้งหมด | หมวดแนะนำชาดก 84000.org

     

    -----------------------------------------------------

    ข้าพเจ้าขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระคุณของอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย

    ด้วยกุศลผลบุญอันเกิดจากการเผยแพร่ชาดกเพื่อเป็นวิทยาทานนี้

    ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งผู้มีพระคุณแก่ข้าพเจ้า พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร แลสรรพสัตว์ทั้งที่เคยเห็น แลไม่เคยเห็นมิมีที่สุดมิมีประมาณ ขอท่านทั้งหลายจงทราบถึงกุศลผลบุญนี้ หากผู้ใดไม่ทราบ ขอเทวดาทั้งหลายโปรดบอกกล่าวแก่เขาเหล่านั้น เมื่อทราบแล้ว ขอท่านทั้งหลายได้โปรดอนุโมทนากุศลผลบุญเหล่านี้เอาเองเถิด

    สาธุ

    -----------------------------------------------------

    เพื่อนๆ ได้ความรู้ ข้อคิด คติธรรม อะไรจาก อรรถกถา กัณหชาดก ว่าด้วย ผู้เอาการเอางาน

    ขอเชิญแบ่งปันเพื่อเป็นวิทยาทานแก่กันและกัน ในช่องความคิดเห็นได้นะคะ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×