ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อรรถกถาชาดก ๕๔๗ เรื่อง

    ลำดับตอนที่ #27 : อรรถกถา อภิณหชาดก ว่าด้วย การเห็นกันบ่อยๆ | พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมาสำคัญว่า พระยาช้างตัวเชือกประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ.

    • อัปเดตล่าสุด 25 ก.พ. 65


    อรรถกถา อภิณหชาดก

    ว่าด้วย การเห็นกันบ่อยๆ

    “ พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมาสำคัญว่า พระยาช้างตัวเชือกประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ.”

    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่งกับพระเถระแก่ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นาลํ กพลํ ปทาตเว ดังนี้. 

    ได้ยินว่า ในนครสาวัตถี มีสหาย ๒ คน บรรดาสหายทั้งสองนั้นคนหนึ่งบวชแล้วได้ ไปยังเรือนของสหายนอกนี้ทุกวัน สหายนั้นได้ถวายภิกษาแก่ภิกษุผู้สหายนั้น แม้ตนเองก็บริโภคแล้ว ได้ไปวิหารพร้อมกับภิกษุผู้สหายนั้น นั่นแหละ. นั่งสนทนาปราศัยอยู่จนพระอาทิตย์อัสดง จึงกลับเข้าเมือง. ฝ่ายภิกษุผู้สหายนอกนี้ ก็ตามสหายนั้นไปจนถึงประตูเมือง แล้วก็กลับ. ความคุ้นเคยของสหายทั้งสองนั้น เกิดปรากฏในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. 

    อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งกล่าวถึง ความคุ้นเคยของสหายทั้งสองนั้น ในโรงธรรมสภา. 

    พระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยกถาเรื่องอะไรหนอ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ด้วยกถาเรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า. 

    พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สหายทั้งสองนี้เป็นผู้คุ้นเคยกัน แต่ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกันเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้. 

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัตนั้น. ในกาลนั้น สุนัขตัวหนึ่งไปยังโรงช้างมงคล กินเมล็ดข้าวสุกแห่งภัต ที่ตกอยู่ในที่ที่ช้างมงคลบริโภค สุนัขนั้นเติบโตด้วยโภชนะนั้น นั่นแล. จึงเกิดความคุ้นเคยกับช้างมงคล บริโภคอยู่ในสำนักของช้างมงคล นั่นเอง. สัตว์แม้ทั้งสองไม่อาจเป็นไป เว้นจากกัน. ช้างนั้นเอางวง จับสุนัขนั้น ไสไปไสมาเล่น ยกขึ้นวางบนกระพองบ้าง. 

    อยู่มาวันหนึ่ง มนุษย์ชาวบ้านคนหนึ่งให้มูลค่าแก่คนเลี้ยงช้าง แล้วได้พาเอาสุนัขนั้น ไปบ้านของตน. ตั้งแต่นั้น ช้างนั้น เมื่อไม่เห็นสุนัขก็ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่อาบ. พวกคนเลี้ยงช้างจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระราชา. พระราชาทรงสั่งพระโพธิสัตว์ไป ด้วยพระดำรัสว่า บัณฑิต ท่านจงไป จงรู้ว่า เพราะเหตุไร ช้างจึงกระทำอย่างนั้น. 

    พระโพธิสัตว์ไปยังโรงช้าง รู้ว่า ช้างเสียใจ คิดว่า โรคไม่ปรากฏในร่างกายของช้างนี้ ก็ความสนิทสนมฐานมิตรกับใครๆ จะพึงมีแก่ช้างนั้น ช้างนั้นเห็นจะไม่เห็นมิตรนั้น จึงถูกความโศกครอบงำ ครั้นคิดแล้ว จึงถามพวกคนเลี้ยงช้างว่า ความคุ้นเคยกับใครๆ ของช้างนี้ มีอยู่หรือ? 

    พวกคนเลี้ยงช้างกล่าวว่า มีจ้ะ นาย ช้างนี้ถึงความคุ้นเคยกันมากกับสุนัขตัวหนึ่ง. 

    พระโพธิสัตว์ถามว่า บัดนี้ สุนัขตัวนั้นอยู่ที่ไหน? พวกคนเลี้ยงช้างกล่าวว่า ถูกมนุษย์คนหนึ่งนำไป. พระโพธิสัตว์ถามว่า ก็ที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์คนนั้น พวกท่านรู้จักไหม? พวกคนเลี้ยงช้างกล่าวว่า ไม่รู้จักดอกนาย. 

    พระโพธิสัตว์ได้ไปยังสำนักของพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ อาพาธไรๆ ของช้างไม่มี แต่ช้างนั้นมีความคุ้นเคยอย่างแรงกล้า กับสุนัขตัวหนึ่ง ช้างนั้นเห็นจะไม่เห็นสุนัขนั้น จึงไม่บริโภค แล้วกล่าวคาถานี้ว่า 

    พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่สามารถจะรับเอาหญ้า ไม่สามารถจะขัดสีกาย. ข้าพระบาทมาสำคัญว่า พระยาช้างตัวประเสริฐได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ. 

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาลํ แปลว่า ไม่สามารถ. บทว่า กพลํ ได้แก่ คำข้าวที่ให้เฉพาะทีแรก ในเวลาบริโภค. บทว่า ปทาตเว แปลว่า เพื่อรับเอา. พึงทราบการลบ อา อักษร เนื่องด้วยวิธีสนธิการเชื่อมศัพท์. อธิบายว่า เพื่อถือเอา. บทว่า น ปิณฺฑํ ได้แก่ ไม่สามารถเพื่อรับเอาแม้ก้อนภัตที่เขาปั้นให้. บทว่า น กุเส ได้แก่ ไม่สามารถรับเอา แม้หญ้าทั้งหลายที่เขาให้กิน. บทว่า น ฆํสิตุ ความว่า ให้อาบอยู่ ก็ไม่สามารถจะขัดสีแม้ร่างกาย. พระโพธิสัตว์กราบทูลแด่พระราชา ถึงเหตุทั้งปวงที่ช้างนั้นไม่สามารถจะกระทำ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะกราบทูลถึงเหตุที่ตนกำหนด ในเพราะช้างนั้นไม่สามารถ จึงกราบทูลคำ มีอาทิว่า มญฺญามิ ข้าพระบาท สำคัญว่า ดังนี้. 

    พระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า ดูก่อนบัณฑิต บัดนี้ ควรกระทำอย่างไร? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ได้ยินว่า มนุษย์ผู้หนึ่งพาเอาสุนัข ผู้เป็นสหายของช้างมงคลแห่งข้าพระบาททั้งหลาย ไป. ขอพระองค์จงให้คนเที่ยวตีกลอง ประกาศว่า ชนทั้งหลาย แม้เห็นสุนัขนั้นในเรือนของคนใด คนนั้นจะมีสินไหมชื่อนี้ ดังนี้ พระเจ้าข้า. พระราชาทรงให้กระทำอย่างนั้น. บุรุษนั่นได้สดับข่าวนั้น จึงปล่อยสุนัข. สุนัขนั้นรีบไป ได้ไปยังสำนักของช้างทีเดียว. ช้างเอางวงจับสุนัขนั้นวางบนกระพอง ร้องไห้รํ่าไร แล้วเอาลงจากกระพอง เมื่อสุนัขนั้นบริโภค ตนจึงบริโภคภายหลัง. 

    พระราชาทรงพระดำริว่า พระโพธิสัตว์รู้อัธยาศัยของสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้ประทานยศใหญ่แก่พระโพธิสัตว์. 

    พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสองรูปนี้เป็นผู้คุ้นเคยกัน ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกันมาแล้ว. 

    ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงเปลี่ยนแสดงด้วย กถาว่าด้วยอริยสัจ ๔ ทรงสืบอนุสนธิ แล้วทรงประชุมชาดก. ชื่อว่าการเปลี่ยนมาแสดง กถาว่าด้วย สัจจะ ๔ นี้ ย่อมมีแม้ทุกชาดกทีเดียว แต่เราทั้งหลายจักแสดงการเปลี่ยนกลับมาแสดง กถาว่าด้วย อริยสัจ ๔ เฉพาะในชาดก ที่ปรากฏอานิสงส์แก่บุคคลนั้น เท่านั้นแล. 

    สุนัขในกาลนั้น ได้เป็น อุบาสก ในบัดนี้ 

    ช้างในกาลนั้น ได้เป็น พระเถระแก่ ในบัดนี้ 

    พระราชาในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้ 

    ส่วนบัณฑิตผู้เป็นอำมาตย์ได้เป็น เรา แล.

     

    จบอรรถกถาอภิณหชาดกที่ ๗
           --------------------------------------------------

     

    ที่มา | อรรถกถา อภิณหชาดกว่าด้วย การเห็นกันบ่อยๆ 84000.org

    อ่านต้นฉบับอรรถกถาชาดกทั้งหมด | หมวดแนะนำชาดก 84000.org

     

    -----------------------------------------------------

    ข้าพเจ้าขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระคุณของอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย

    ด้วยกุศลผลบุญอันเกิดจากการเผยแพร่ชาดกเพื่อเป็นวิทยาทานนี้

    ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งผู้มีพระคุณแก่ข้าพเจ้า พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร แลสรรพสัตว์ทั้งที่เคยเห็น แลไม่เคยเห็นมิมีที่สุดมิมีประมาณ ขอท่านทั้งหลายจงทราบถึงกุศลผลบุญนี้ หากผู้ใดไม่ทราบ ขอเทวดาทั้งหลายโปรดบอกกล่าวแก่เขาเหล่านั้น เมื่อทราบแล้ว ขอท่านทั้งหลายได้โปรดอนุโมทนากุศลผลบุญเหล่านี้เอาเองเถิด

    สาธุ

    -----------------------------------------------------

    เพื่อนๆ ได้ความรู้ ข้อคิด คติธรรม อะไรจาก อรรถกถา อภิณหชาดกว่าด้วย การเห็นกันบ่อยๆ

    ขอเชิญแบ่งปันเพื่อเป็นวิทยาทานแก่กันและกัน ในช่องความคิดเห็นได้นะคะ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×