ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ••× Mix Room ห้องรวมความรู้× ••

    ลำดับตอนที่ #17 : ==>Science

    • อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 51


    วาฬบรูด้า




              หลังจากที่มีข่าวชาวประมงพบวาฬบรูด้า จำนวน 4 ตัว เกยตื้นที่หาดบางแสน จ.ชลบุรี ซึ่งห่างจากชายหาดเพียงแค่ 1.5 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านหลายคนหวั่นวิตกว่าการเกยตื้นของวาฬบรูด้า เป็นสัญญาณเตือนพิบัติภัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เหตุการวาฬเกยตืนไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องการเตือนภัย แต่น่าจะเป็นเพราะวาฬว่ายน้ำตามฝูงปลาเข้ามาหาอาหารกินมากกว่า

              เมื่อพูดถึงเรื่องวาฬบรูด้าแล้วหลายคนอาจจะสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงเรียกวาฬบรูด้า … เจ้าวาฬบรูด้านี้มีลักษณะเป็นอย่างไร ลำตัวเหมือนวาฬทั่วไปหรือไม่ และทำไมจึงไม่เรียกว่าปลาวาฬบรูด้า … ฯลฯ วันนี้เรามีคำตอบมาเฉลยค่ะ

              วาฬบรูด้า หรือ วาฬชนิดอื่นๆ ไม่เรียกปลาเนื่องจาก วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงเลือดอุ่น และก็เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างจากปลาชนิดอื่นๆ ที่เป็นสัตว์เลือดเย็น และก็ออกลูกเป็นไข่ แต่คนไทยจะติดเรียกว่าปลาวาฬ

              สำหรับวาฬบรูด้า เป็นสัตว์ห้ามค้าระหว่างประเทศ ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของไทย และเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Balaenoptera edeni และ Balaenoptera brydei โดยอ่านออกเสียงว่า "บรูด้า" เหตุที่ชื่อว่า บรูด้า นั้นมาจากการตั้งให้เป็นเกียรติ แก่กงสุลชาวนอร์เวย์ ในประเทศแอฟริกาใต้ที่ชื่อ โยฮัน บรูด้า (Johan Bryde) วาฬบรูด้าอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae ซึ่งมีวาฬสีน้ำเงิน และวาฬฟิน รวมอยู่ด้วย

              ลักษณะทั่วๆ ไปของวาฬบรูด้า เป็นวาฬขนาดปานกลาง มีรูปร่างค่อนข้างเพรียว ลำตัวของวาฬชนิดนี้สีเทาเข้ม มีลายแต้มสีขาว ประปรายตรงใต้คางและใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวก็ มีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน 3 สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ในขณะที่วาฬชนิดอื่นๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียง สันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำ จะเห็นหัวและน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา

              จุดเด่นของวาฬบรูด้า คือ ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตาม แนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลมและมีความยาวเป็น 10% ของความยาวลำตัว ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ 40-70 ร่อง ซึ่งพาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจาก ปากบนมีจำนวน 250-370 แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดยาว 60 เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ

              วาฬบรูด้า เมื่อโตเต็มที่จะยาว 14 – 15.5 เมตร หนัก 20 – 25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง เนื่องจากวาฬบรูด้า เป็นวาฬชนิดไม่มีฟันแต่มีบาลีน (Baleen) เป็นแผ่นกรองคล้ายหวี สีเทา 250 – 370 ซี่ ใช้กรองแพลงก์ตอน และฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น ปลาหมึก ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ 1-2 ตัว

              วัยเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-13 ปี วาฬบรูด้าจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัวทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร วาฬบรูด้าอายุยืนถึง 50 ปี เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ

              อย่างไรก็ตาม วาฬบรูด้า เป็นวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่า อาศัยอยู่ประจำถิ่นในอ่าวไทยและมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติหลายท่านพยายามศึกษาและตั้งชื่อวาฬบรูด้า ในอ่าวไทยให้เป็นวาฬชนิดใหม่ของโลก ปัจจุบันพบซากโครงกระดูกและสถิติทั่วประเทศรวมกว่า 100 แห่ง แต่จะพบบ่อยที่ทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

              สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่ไปเที่ยวทะเลแล้วมีโอกาสได้ยลโฉมเจ้าวาฬบรูด้าล่ะก็ ขอแนะนำว่า ไม่ควรเข้าไปดูวาฬใกล้ๆ เพราะแม้วาฬชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เราก็ไม่ควรเข้าไปดูหรือถ่ายภาพใกล้จนเกินไป ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนวาฬบรูด้า ซึ่งตามหลักสากลควรอยู่ห่างประมาณ 200-300 เมตร

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×