คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #15 : ==>Science
Storm Surge ร้ายแรงกว่าสึนามิ พอกันกับนาร์กีส
รูปแบบการเคลื่อนตัวที่เป็นเหมือนคลื่นขนาดใหญ่ แล้วพัดเข้าชายฝั่งของ Storm Surge เป็นลักษณะเดียวกันกับคลื่นยักษ์สึนามิ แต่แตกต่างกันตรงที่ ลักษณะของการเกิด คือ สึนามิ เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง แต่กับ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ
สำหรับ ความเสียหายนั้น ว่ากันว่า Storm surge เลวร้ายมากกว่า กล่าวคือ การเกิดสึนามิจะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ โดยท้องฟ้าอาจจะแจ่มใส อากาศเป็นปกติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทางฝั่งอันดามันของไทย แต่หากเป็น Storm surge จะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วน ไม่แจ่มใส สภาพอากาศเลวร้าย มีการก่อตัวของเมฆฝน ฝนตกอย่างหนัก ลมพัดแรง บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง แต่เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามา ก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ
อย่างไรก็ตาม แม้จะเลวร้ายมากกว่า แต่ก็สามารถรับมือได้ดีกว่า เพราะเมื่อ Storm surge เกิด มักจะมาพร้อมกับพายุโซนร้อน ดังนั้น เราจะเห็นสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น การเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจากการสังเกตลักษณะอากาศที่จะค่อยๆ เลวร้ายลง ทำให้เรารู้ตัวล่วงหน้าหลายวัน และสามารถหาทางอพยพได้ทัน แต่กับสึนามิอาจจะไม่รู้ได้เลย เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีสัญญาณบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด แต่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ในช่วงหลายปีมานี้ก็เป็นอะไรที่คาดเดา พยากรณ์ได้ยากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดภาวะโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศในทุกมุมโลกเกิดความแปรปรวน และยิ่งทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ขึ้น สิ่งนี้จึงเรื่องที่ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในทะเลอ่าวไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา หนองหาร จังหวัดสกลนคร หรือกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา เพราะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดคลื่นพายุหมุน หรือ Storm surge?
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า สิ่งที่น่าจับตามากที่สุดคือ ปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกิดขึ้นของคลื่นพายุหมุน และน่าจะมีลักษณะเดียวกับการเกิดของพายุนาร์กิสที่ประเทศพม่า ซึ่งเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ไม่มีสัญญาณบ่งชี้เรื่องของภูมิอากาศที่แปรปรวน ก่อนที่จะเกิดสึนามิหรือนาร์กีส ท้องฟ้ายังแจ่มใส ไม่มีการตั้งเค้าของพายุ
"แนวชายฝั่งของ 3 จังหวัดอ่าวไทยคือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีภูมิประเทศเป็นรูปตัว ก.ไก่ คือเป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง แต่บริเวณพื้นที่ชั้นในค่อนข้างต่ำเป็นแอ่ง ฉะนั้น หากเกิดปรากฏการณ์คลื่นพายุหมุน น้ำทะเลน่าจะทะลักเข้าทางถนนสุขุมวิท ย่านบางนา รวมทั้งเข้าทางฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะถึงเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ก็น่าคิดหามาตรการเตรียมรับมือ" รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์กล่าว
รับมืออย่างไร กับ Storm Surge
สำหรับการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับ Storm surge นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรับข่าวสาร และทำความเข้าใจ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรศึกษาลักษณะของการเกิด และความรุนแรงเพื่อที่จะได้หาทางหนีทีไล่ได้ทัน โดยการหนีนั้นจะมีหน่วยงานที่ร่วมทำแผนที่เสี่ยงภัย ซึ่งหากบริเวณไหนมีประชากรหนาแน่น บริเวณนั้นจะมีความเปราะบางมาก จึงต้องทำแผนที่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมืองท่องเที่ยว
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการเกิดพายุหมุน หรือคลื่นซัดเข้าชายฝั่ง (Storm Surge) นั้นมีอยู่หลายแนวทาง ซึ่ง รศ.อัปสรสุดา ศิริพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ การช่วยกันรักษาป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง หรือปลูกป่าชายเลนเพิ่มในพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของ Storm surge อีกทั้งควรกำหนดเป็นหลักสูตรในเรื่องของภัยพิบัติลงในแบบเรียน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดความตื่นตัว จึงต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น และต้องมีการซ้อมแผนเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวเกิดขึ้นจริง จะได้ช่วยลดความเสียหายจากชีวิตและทรัพย์สินได้
ความคิดเห็น