ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #118 : Servent Love ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 41
      0
      10 ต.ค. 57

    Servent Love  ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่
    http://my.dek-d.com/coffee-in-love/writer/view.php?id=969072

     

               นวนิยายแนวหวานแหวว เรื่อง Servent Love  ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่   ผลงานของ 1.6.18  เป็นเรื่องราวของกล้วยหอม  สาวน้อยผู้น่าสงสารที่ถูกเพื่อนแกล้งจนต้องย้ายโรงเรียนหนี  แต่ที่โรงเรียนใหม่เธอกกลับต้องลดสถานะจากนักเรียนกลายเป็นคนใช้จำเป็นของคริษฐ์หรือไคเบอร์ ประธานนักเรียนสุดหล่อ กับบรรดาคณะกรรมการนักเรียนเพื่อนสนิททั้ง 5 คนของเขา  ซึ่งความใกล้ชิดนี้ได้พัฒนาเป็นความรักที่เกิดขึ้นท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายต่างๆ

    Servent Love  ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่   ไม่เพียงจะไม่ต่างจากนวนิยายสูตรสำเร็จแนวนี้เรื่องอื่นๆ มากนัก ที่พระเอกของเรื่องต้องเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ  รวย เป็นที่หมายปองของผู้หญิงจำนวนมาก  แต่ไม่สนใจใครมาก่อน แต่ต้องมาตกหลุมรักผู้หญิงที่ด้อยกว่าในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา  ฐานะ หรือแม้แต่ความสามารถ ซึ่งทั้งสองมักจะเริ่มต้นด้วยความไม่ชอบหน้า ทะเลาะ และกลั่นแกล้งกัน  ก่อนที่จะพัฒนาเป็นความรักในที่สุด  แต่นวนนิยายเรื่องนี้ยังมีโครงเรื่อง จังหวะการดำเนินเรื่องและทิศทางของเรื่องคล้ายคลึงกับละครชุดยอดนิยมทางโทรทัศน์เรื่อง  F4  ไม่ว่าจะ
    เวอร์ชั่นของไต้หวัน  เกาหลี หรือ ญี่ปุ่น อีกด้วย  แต่จะต่างกันในรายละเอียดประเด็นสำคัญคือ ใน
    Servent Love  ภารกิจหัวใจยัยคนใช้มือใหม่   กลุ่มของพระเอกมีกัน 6 คน   แต่ F4  มี 4 คน  และนางเอก F4 เป็นนักเรียนทุน  ขณะที่กล้วยหอมเป็นนักเรียนปกติ  แต่ต้องยอมเป็นคนรับใช้พระเอก  เพราะเขาได้ยึดสร้อยคอสำคัญของเธอไว้เป็นตัวประกัน 

    สีสันของเรื่องที่เน้นการสร้างความสนุกสนานให้กับเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการสร้างอารมณ์ที่ล้นเกิดความเป็นจริงในทุกๆ ด้าน  ซึ่งเทคนิคการนำเสนอเรื่องในลักษณะเช่นนี้มักจะปรากฏการ์ตูน  หรือละครชุดทางโทรทัศน์ที่ตัวละครแสดงในลักษณะของ over acting เพื่อสร้างความสนุกสนานในการผู้ชม  มากกว่าที่จะปรากฏในงานงานเขียนประเภทนวนิยาย   ดังนั้น  เมื่อนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้กับการเขียนนวนิยาย  นอกจากจะเป็นการสร้างฉากและเหตุการณ์ที่รุนแรงเกินความจำเป็นแล้ว  ยังลดทอนความสมจริงของเรื่องลงไปอย่างมากด้วย  ซึ่งพบว่ามีเรื่องราวในหลายฉากหลายตอนในที่ผู้อ่านไม่เชื่อว่าจะเกิดลักษณะเช่นนี้ในชีวิตจริงได้  เช่น  การที่กล้วยหอมต้องทนให้เชอรี่และเพื่อนๆ ของเธอแกล้งอย่างรุนแรงมาตั้งแต่อนุบาล จนถึง ม. 6   ทั้งๆ ที่สถานะทางบ้านเธอก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกจนต้องยอมอดทนถึงขนาดนั้น  อีกทั้งในโรงเรียนแห่งนี้ก็ไม่มีอะไรที่ดึงดูดให้เธอต้องทน  เพราะว่าเพื่อนๆ ทุกคนในห้องก็ยินดีที่จะเห็นกล้วยหอมถูกแกล้งซ้ำๆ ทุกวัน  หรือกลุ่มแฟนคลับที่หลงรักไคเบอร์จะรุมตบตีผู้หญิงทุกคนที่พวกเธอคิดว่าไคเบอร์ให้ความสนใจอย่างรุนแรงมาก  ซึ่งเป็นการยากที่นักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกผู้ดีมีตระกูลเหล่านี้จะต้องทนรับสภาพที่ถูกกระทำอย่างเงียบๆ อยู่เพียงฝ่ายเดียว

                    ความไม่สมจริงในนวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะฉากการกลั่นแกล้งเท่านั้น  แต่ยังมีปรากฏอยู่เป็นระยะๆ โดยตลอดเรื่อง  อาทิ  เช่น  ความรักที่ไคเบอร์มีต่อกล้วยหอม  เพราะตลอดช่วงต้นของเรื่อง 1.6.18  ไม่ได้สร้างเรื่องราวให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการทางอารมณ์ของไคเบอร์ที่มีต่อกล้วยหอมว่า  อะไรในตัวกล้วยหอมที่ทำให้เขาสนใจ  จนกระทั่งพัฒนาเป็นความรักได้  เพราะการพบกันระหว่างไคเบอร์กับกล้วยหอมจะเป็นการสร้างความหงุดหงิด  โกรธ  และไม่พอใจ ระหว่างกันเท่านั้น  ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความรักได้เลย  จึงเห็นว่า 1.6.18   ควรจะเพิ่มเรื่องราวที่สร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่ไคเบอร์มีต่อกล้วยหอม และกล้วยหอมมีต่อไคเบอร์ให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อพัฒนาไปสู่ความรักระหว่างเขาและเธอในที่สุด  ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือและอารมณ์ร่วมของผู้อ่านได้มากกว่าที่เป็นอยู่     นอกจากนี้ยังมีหอพักและห้องพักที่กล้วยหอเข้าไปอยู่ในวันแรกที่มีสภาพแย่ยิ่งกว่าห้องเก็บของ  จึงทำให้ผู้อ่านยากที่จะเชื่อได้ว่าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ดีที่หรูหราอย่าง  St. High School  จะให้นักเรียนที่เสียงเงินค่าเล่าเรียนแพงขนาดนี้อยู่ในห้องเช่นนั้นได้  หากเรื่องนี้จะสมเหตุผล  1.6.18   คงจะต้องลดสถานะของกล้วยหอมจากเด็กนักเรียนปกติลง  เหลือเป็นแค่เด็กนักเรียนทุนของโรงเรียน  จึงทำให้เธอต้องทนอยู่ในห้องเล็กๆ แคบๆ และสกปรกเช่นนั้น  รวมทั้งยังกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสภาพคนรับใช้ของประธานนักเรียนและเพื่อนๆ ของเขาด้วยความจำใจและอดทน  เพราะไคเบอร์และเพื่อนๆ เป็นคนกุมชะตาชีวิตของเธอไว้ว่าเธอจะได้ทุนเพื่อเรียนที่โรงเรียนนี้ต่อหรือไม่   และ ฉากที่มีโจรปล้นสวาทเข้ามาดักทำร้ายนักเรียนอยู่ในหอหญิงของโรงเรียน  ซึ่งขัดกันการบรรยายมาตั้งแต่ต้นเรื่องว่า โรงเรียนแห่งนี้มีความเข้มงวดในเรื่องการเข้าออกจากโรงเรียนของนักเรียน ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดรัดกุม  จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีโจรเล็ดลอดเข้าแฝงตัวอยู่ในโรงเรียนได้  การสร้างความรุนแรงจนถึงระดับสูงสุด  โดยที่ตัวละครไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นนี้   ไม่เพียงแต่จะไม่สร้างความสมจริงให้กับเรื่องเท่านั้น  แต่ยังถือว่าเป็นการปลูกฝังและสั่งสมความรุนแรงให้กับผู้อ่านไปพร้อมกันด้วย  จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นักเขียนจะต้องพึงระวัง  เพรานักเขียนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเขียนและสร้างขึ้นมาด้วย    

    ทั้งนี้ เหตุผลประการสำคัญของความไม่สมจริงส่วนใหญ่ในนวนิยายเรื่องนี้มาจากความพยายามของ  1.6.18   ที่ต้องการสร้างเรื่องให้สนุกด้วยการสร้างอารมณ์ต่างๆ ของตัวละครในเรื่องไปยังจุดสูงสุดเสมอ  เช่น  ฉากการแกล้งกันก็ต้องแกล้งให้รุนแรงที่สุด อาทิ การถูกรุมตบ  การถูกตัดผม หรือ การถูกขังไว้ในห้องน้ำและเอาน้ำถูพื้นราด  ฉากความรุนแรงก็จะแสดงความรุนแรงที่สูงสุด อาทิ ฉากการสอนต่อสู้ของโบลัน  ก็ทำให้ลูกศิษย์บาดเจ็บ  หรือ กล้วยหอมป้องกันตัวจากการถูกไคเบอร์ลวนลามด้วยการเตะเขาจนสลบด้วยท่าจระเข้ฝาดหาง  และฉากการแสดงความรักของไคเบอร์ที่แสดงต่อกล้วยหอมในครั้งแรกโดยการพยายามลวนลามเธอ  อันเป็นผลเนื่องมาจากการกินยาผิด    

    1.6.18   ไม่มีปัญหาในเรื่องการสร้างตัวละคร  เนื่องจากตัวละครแต่ละตัวที่ปรากฏในเรื่องต่างมีบุคลิก ลักษณะ และอุปนิสัยใจคอที่โดดเด่น ชัดเจน  ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำและแยกแยะตัวละครต่างๆ เหล่านี้ได้ง่าย  รวมทั้งไม่มีปัญหาในเรื่องของการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาด้วย แม้ว่าปริมาณของบทบรรยายในเรื่องยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับบทสนทนาก็ตาม   แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอย่างมากในนวนิยายเรื่องนี้คือ คำผิดมีพบเป็นจำนวนมาก  ซึ่งเห็นว่า 1.6.18   ควรต้องระมัดระวังในเรื่องการสะกดคำมากขึ้น  เพื่อจะผู้อ่านอ่านเรื่องได้เรื่องลื่นไหล  ราบรื่น และต่อเนื่อง  โดยไม่สะดุดกับคำผิดเป็นระยะๆ เช่นนี้  ซึ่งคำผิดที่พบ อาทิ   หนำซ้ำ  เขียนเป็น  หน่ำซ้ำ  บรา  เขียนเป็น  บลา  จราจร   เขียนเป็น  จลาจล  เอ็กซ์   เขียนเป็น เอ๊กซ์    คุกรุ่น  เขียนเป็น  คุกกรุ่น    กะพริบตา  เขียนเป็น  กระพริบตา  ขนมจีบ  เขียนเป็น  ขนมจีน  ต้นหางนกยูง  เขียนเป็น  ต้นนกยูง  พิรุธ เขียนเป็น  พิรุท  ฟองฟ่อด เขียนเป็น  ฟองฟ๊อด  พิเรนทร์ เขียนเป็น  พิเรน  แฮะ เขียนเป็น  แหะ  ทุลักทุเล  เขียนเป็น  ทุกลักทุเล   อัจฉริยะ  เขียนเป็น  อัจริยะ  และ หน้าร้อนผ่าวๆ   เขียนเป็น  หน้าร้าวผ่าวๆ  การใช้วรรณยุกต์ตรีผิด  เช่น  ว้าย  เขียนเป็น  ว๊าย   ไม่มี้  เขียนเป็น ไม่มี๊  น้า  เขียนเป็น  น๊า  คลิ้ก  เขียนเป็น  คลิ๊ก และ  นุ้มนุ่ม เขียนเป็น  นุ๊มนุ่ม   การแก้ไขข้อผิดพลาดในประเด็นนี้มีหลักการช่วยจำง่ายๆ คือ วรรณยุกต์ตรีและจัตวาจะใช้เฉพาะกับอักษรกลาง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ  เท่านั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×