ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #114 : My Mind ดวงตา ณ ดวงใจ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 231
      1
      16 มิ.ย. 57

    My Mind  ดวงตา ณ ดวงใจ
    http://writer.dek-d.com/rinyada3579/story/view.php?id=902423

              นวนิยายแนวซึ้งกินใจ จำนวน 45 ตอนจบ เรื่อง  My Mind  ดวงตา ณ ดวงใจ  ของ ริญญดา เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่าง อมลวัทน์  ภมรพรรณ หรือ ออมสาวน้อยที่ตาบอดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์  กับ ชลกมล หรือ มายด์  พี่เลี้ยงสาวที่คอยดูแลและเป็นกำลังใจให้ออมดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

    My Mind  ดวงตา ณ ดวงใจ  นับว่าเป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวของการดูแลและการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตาในสังคม  ที่มักไม่ค่อยกล่าวถึงตัวละครลักษณะนี้เท่าใดนัก  การเขียนเรื่องราวเฉพาะของตัวละครกลุ่มพิเศษกลุ่มนี้  ริญญดา  หาข้อมูลเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาและการดูแลมาเป็นอย่างดี  จึงสามารถถ่ายทอดให้ผู้อ่านเชื่อได้  ขณะเดียวกันยังเห็นว่า ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องเพื่อสื่อถึงผู้พิการทางสายตามเท่านั้น  แต่ต้องการจะถ่ายทอดให้คนรอบๆ ข้างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมให้เข้าใจผู้พิการทางสายตา และเข้าใจวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการให้ความช่วยเหลือพวกเขาในวาระต่างๆ  ด้วย  ซึ่งนับว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

    ความน่าสนใจประการหนึ่ง  คือ การตั้งชื่อเรื่องว่า My Mind  ดวงตา ณ ดวงใจ  นับเป็นการสรุปแนวคิดหลักของเรื่องที่ ริญญดา  ต้องการเสนอไว้ทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าผู้เขียนล่นคำทั้งคำว่า  My Mind  ซึ่งสามารถตีความหมายได้ในสองระดับคือ การตีความตามตัวอักษร คือ “หัวใจของฉัน” หรือ “ที่รักของฉัน”  และยังมีนัยความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำตีความได้อีกระดับว่า  “พี่มายด์ที่รักของฉัน”  ก็ได้  ขณะเดียวกัน  คำว่า “ดวงตา ณ ดวงใจ” ก็เป็นคำที่ผู้เขียนมักนำมาเล่นสลับกันอยู่แล้วโดยตลอดเรื่องเพื่อสื่อความว่า  “ตา” กับ “ใจ” สามารถแทนกันได้  และ “ใจ” ยังมีความสำคัญมากกว่าตาเสียดี  เช่น
    ใจ สามารถมองเห็นได้มากกว่า ตา  ถ้า ใจ บอด  ต่อให้ตา ดีก็ไม่เห็นอะไรเลย”  หรือ “อีกคนให้ดวงตา  ไม่แค่ เปิดตาที่มืดบอด  แต่ยังช่วย เปิดใจ ที่ไร้เรี่ยวแรงให้มีความหวัง  มีกำลังใจชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า” เพื่อต้องการจะสื่อแนวคิดของผู้เขียนที่ว่า  แม้จะตาบอด  แต่ก็สามารถมี “ดวงตา ณ ดวงใจ” ที่ช่วยทำให้มองเห็นความ “รัก” ได้

    ผู้เขียนพยายามแทรก ข้อคิด  ความรู้สึก และทัศนคติด้านดีในการมองโลกไว้เป็นระยะๆ ทั้งเรื่องของมุมมองความรักทั้งความรักระหว่างคนในครอบครัว  คนรักของคนรัก  ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และความรักต่อสังคมและประเทศชาติ   ซึ่งผู้เขียนมักจะใช้ตัวหนาเพื่อเน้นทัศนคติทางด้านดีเหล่านี้อยู่โดยตลอดเรื่อง  ในแง่หนึ่ง  การแทรกข้อคิดและมุมมองดีๆ ต่อผู้อ่านนับเป็นเรื่องดี  แต่หากมากเกินไปก็จะดูเป็นการยัดเยียดให้กับผู้อ่านได้  ขณะเดียวกันผู้อ่านก็อาจรู้สึกเหมือนกับว่าถูกผู้เขียนสอนอยู่ก็ได้   จนทำให้ปฏิเสธไม่สนใจความคิดดีๆ เหล่านี้ก็เป็นได้  จึงเห็นว่าอาจจะต้องเลือกเสมอบางแนวคิด  ซึ่งเป็นแนวคิดที่เด่นจริงๆ เพื่อสร้างความกระทบอารมณ์ให้ผู้อ่านอย่างรุนแรง   แม้ว่าเมื่ออ่านเรื่องจบไปแล้วก็ยังจดจำได้ไม่ลืม   อีกประการหนึ่ง การแทรกความคิดดีๆ ในเรื่องส่วนใหญ่ ริญญดา มักจะใช้ตัวหนาเพื่อเน้นข้อความ  ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่โจ่งแจ้งเกินไป  เพราะมีการสอดแทรกมุมมองดีๆ ต่อชีวิตไว้เป็นระยะๆ โดยตลอดเรื่องอยู่แล้ว (ในเรื่องจึงเต็มไปด้วยตัวหนา)  จึงเห็นว่าหากผู้เขียนไม่เน้นข้อความด้วยตัวหนาและใช้ตัวปกติแทน  อาจทำให้ข้อคิดเหล่านี้กลืนไปกับเนื้อเรื่อง และจะช่วยลดอคติของผู้อ่านบางคนที่รู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกสอนลงได้

    ริญญดา  ไม่เพียงแต่กล้าเพียงแต่จะนำเสนอเรื่องราวของผู้พิการทางสายตาและการดูแลเท่านั้น  แต่เธอยังกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวของคนทั้งคู่ผ่านความรักของ “หญิงรักหญิง”  ซึ่งเป็นแนวเรื่องที่ไม่ค่อยมีผู้แต่งมากนัก   ในเรื่องนี้
    ริญญดา  เน้นการถ่ายทอดให้ผู้อ่านเห็นพัฒนาการทางอารมณ์  ความรัก และความผูกพันของออมและมายด์ สองตัวละครหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ซึ่งความใกล้ชิดและความผูกพันของคนทั้งคู่นั้นสามารถที่จะพัฒนาเป็นความรักได้ไม่ยากนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อผู้ที่เริ่มต้นสานสัมพันธ์ในครั้งนี้คือ ออม หญิงสาวตาบอดผู้หมดหวังที่จะดำเนินชีวิตต่อไป  แต่เมื่อมี มายด์ ผู้เข้าใจและเป็นเสมือนความหวังและหลักที่เธอยึดติดเพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข   ขณะเดียวกันในระหว่างที่เล่าเรื่อง  ริญญดา   ยังพยายามที่จะให้ผู้อ่านคล้อยตามและยอมรับความรักของคนทั้งคู่ในหลากหลายวิธี  ทั้ง การนำเรื่องราวความรักทั้งในหนังสือซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “
    Yes or No  และการเปิดเปลือยความรู้สึกของตัวละครทั้งคู่  ที่ทั้งสองพยายามต่อสู้กับความรู้สึกผิดในความรักครั้งนี้  แม้ว่าท้ายที่สุดพวกเธอยอมทำตามความต้องการของหัวใจมากกว่าก็ตาม    ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ริญญดา  ฉลาดที่จบนวนิยายเรื่องนี้เพียงแค่  เมื่อตัวละครทั้งคู่รู้ใจและยอมรับใจตัวเอง  และพร้อมที่จะต่อสู้ต่ออุปสรรคต่อไป  หากเขียนต่อจะยากมากขึ้น  เพราะเรื่องจะไม่ได้เป็นเรื่องของตัวละครสองตัวอีกแล้ว  แต่จะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของคนรอบข้าง และค่านิยมของสังคม  ริญญดา  จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะตัดสินตอนจบของความรักของคนทั้งคู่นี้เอาเอง

    ในเรื่องของกลวิธีการเขียนนั้น  ผู้เขียนใช้การเล่นคำ  และการสลับตัวอักษร เป็นกลวิธีหลัก  เช่น ตาบอด กับ ตาดี  วันพรุ่งนี้กับ วันนี้  กล้ากับ กลัว ได้แค่รัก กับ รักได้แค่   ทำให้รัก กับรักทำให้  และ ได้รักกับ รักได้ นับเป็นกลวิธีที่น่าสนใจ และสามารถสื่อความคิดที่กระทบใจผู้อ่านได้   แต่กลวิธีนี้จะก่อให้เกิดความประทับใจเมื่ออ่านพบในช่วงแรกๆ  แต่ในช่วงหลังเมื่อผู้เขียนยังคงใช้กลวิธีนี้ถี่จนเกินไป  โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ เรื่อง    ซึ่งเมื่อผู้อ่านจับทางได้แล้ว  มนตร์ขลังของการสร้างความประทับใจด้วยกลวิธีนี้ก็คลายลงด้วยเช่นกัน  จึงเห็นว่า  ริญญดา  ไม่ความใช้กลวิธีนี้เพียงกลวิธีเดียว  แต่อาจต้องการกลวิธีอื่นๆ เพิ่มเข้ามาช่วยสลับกับกลวิธีนี้ก็จะสร้างให้เรื่องมีมิติละน่าสนใจมากขึ้นได้

    สำหรับข้อด้อยที่พบคือ  ริญญดา  การสร้างตัวละครหลักทั้งหมดเป็นอุดมคติมากๆ  ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความดีรอบด้าน  ทั้งบุคลิกลักษณะ รูปร่างหน้า  ความคิด และอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ  ออม และมายด์   โดยเฉพาะมายด์   ซึ่งเป็นตัวละครที่ยากที่จะเชื่อได้ว่ามีคนที่มีคุณลักษณะครบถ้วนเช่นนี้มีอยู่ในสังคมจริง  แม้ว่าในช่วงท้าย ผู้เขียนจะสร้างข้อด้อยให้กับตัวละครตัวนี้แล้วก็ตาม

    ประการต่อมาคือ  การเน้นอารมณ์และพัฒนาการในเรื่องความรักของออมและมายด์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เนื้อเพลง  ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสื่ออารมณ์ที่ซ่อนเร้นในใจของตัวละครเท่านั้น   แต่ยังช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับตัวละครด้วย  แต่  ริญญดา  ใช้กลวิธีนี้ซ้ำมากเกินไป  ใช้เพลงมาอธิบายอารมณ์ตัวละครมากถึงประมาณ 4-5 เพลง  ซึ่งพบในช่วงกลางเรื่องถึงท้าย  ซึ่งทำให้เรื่องไม่กระชับและเหมือนว่าถูกยืดออกไป  นอกจากนี้  กลวิธีนี้ยังไม่นิยมนักในการสร้างเรื่อง  เพราะหากเรื่องนี้ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์อาจติดปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงได้  ทั้งนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่า ริญญดา  มีความสามารถในการเขียนทั้งบทบรรยายและบทสนทนาอยู่แล้ว  ผู้เขียนน่าจะสร้างบทบรรยายขึ้นมาเองก็จะสื่อความได้ตรงใจของตัวละครได้มากกว่าใช้บทเพลงก็เป็นได้

    ความผิดพลาดอีกประการที่พบคือ ชื่อตัวละครที่ใช้ไม่ตรงกัน  นั่นคือ ชื่อแฟนเก่าออม  จริงๆ แล้วชื่ออะไรกันแน่  เพราะในตอนที่ 1 ผู้เขียนบอกว่าชื่อ “ดอม”  แต่ในตอนที่ 36 และ 47 บอกว่าชื่อ “โดม”  เช่นเดียวกับลูกเพื่อนสนิทของแม่มายด์ที่แต่งงานนั้น  แท้ที่จริงเป็นลูกสาวหรือลูกชายกันแน่  เพราะในบทที่ 46 บอกว่า ลูกสาวเพื่อนสนิท  แต่ในบทที่ 47 บอกว่า ลูกชายเพื่อนสนิท  จึงเห็นว่าผู้เขียนควรตอบสอบประเด็นนี้อีกครั้ง  เพื่อแก้ไขข้อสงสัยเหล่านี้ให้ถูกต้อง

    ประการสุดท้ายคือ คำผิด  ซึ่งพบประปราย  ทั้งนี้พบว่าคำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้วรรณยุกต์ตรีผิดพลาด เช่น   ผ้ม เขียนเป็น ผ๊ม มั้ง  เขียนเป็น  มั๊ง  ครั้บ  เขียนเป็น ครั๊บ  แว้บ เขียนเป็น  แว็บ  น้ะ เขียนเป็น น๊ะ  (สำหรับการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวา มีข้อควรจำง่ายๆ คือ  รูปวรรณยุกต์ทั้งสองจะใช้เฉพาะกับอักษรกลาง 9 ตัวเท่านั้น คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ)   และคำเขียนผิดอื่นๆ เช่น เว็บไซต์  เขียนเป็น  เว็ปไซด์   มื้อ  เขียนเป็น มิ้อ   แท็กซี่  เขียนเป็น  แท๊กซี่   หนู  (เป็นคำที่มีเสียงจัตวาอยู่แล้ว  ไม่ต้องใส่เครื่องหมายจัตวาเพื่อกำกับเสียงอีก) เขียนเป็น  หนู๋  เลิก เขียนเป็น  เลิ้ก กะทันหัน เขียนเป็น กะทันหัน  ปรากฏ เขียนเป็น  ปรากฎ  สถานทูต  เขียนเป็น สถานฑูต  อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตสาห์  เกรี้ยวกราด เขียนเป็น  เกรียวกราด  รสชาติ เขียนเป็น รสชาด  กาลเทศะ เขียนเป็น  กาละเทศะ  เดินเหม่อ เขียนเป็น เดินเหมอ หลงใหล เขียนเป็น  หลงไหล 


     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×