ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #112 : Please Forget Me กรุณาลืมฉัน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 78
      0
      9 มิ.ย. 57

    Please Forget Me กรุณาลืมฉัน
    http://my.dek-d.com/dekdee/writer/view.php?id=1028495

    นวนิยายของ เคี้ยวหมาก เรื่อง Please Forget Me กรุณาลืมฉัน  ที่โพสต์ถึงตอนที่ 23 แล้ว  เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างทัศคานี  เคียวชินคุปต์ หรือ เตชินห์ ที่ต้องเป็นคู่หมั้นของ ภัควาริน โภคิน หรือ พิมฐา ด้วยข้อตกลงระหว่างผู้ใหญ่ของสองตระกูลที่เขาไม่ต้องการ  เพราะเขามีผู้หญิงที่เขารักมาอยู่แล้ว นั่นคือ ราณี  เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะยกเลิกข้อตกลงนี้  แต่ยิ่งเขาหนีมากเท่าไร  เขาต้องเข้าไปพัวพันและใกล้ชิดกับภัควารินมากขึ้นเท่านั้น  ในขณะที่ภัควารินก็มีอัษศดิณย์ (หรือโยฮัน) ที่ชอบเธอมาตั้งแต่ครั้งที่เธอยังไม่สูญเสียความทรงจำ  พยายามจะเข้ามาดูแล ปกป้อง และทำให้เธอจำเขาได้  เรื่องราวความรักระหว่างพวกเขาจะดำเนินไปในทิศทางใด  ต้องติดตามกันต่อไป

              นวนิยายเรื่องนี้เปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจาก เคี้ยวหมาก  เลือกเหตุการณ์ด้วยการให้หนุ่มสาวคู่หนึ่งถูกชายชุดดำกลุ่มหนึ่งไล่ล่า  และชายหนุ่มก็คนนั้นถูกยิง  ขณะที่หญิงสาวถูกจับตัวไป  ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยใคร่รู้ต่อไปว่า  ชายหนุ่มและหญิงสาวคู่นี้เป็นใคร  เหตุใดจึงถูกตามล่า  กลุ่มคนที่ตามล่าเป็นใคร  ชายหนุ่มที่ถูกยิงจะตายหรือไม่ และหญิงสาวที่ถูกจับตัวไปจะเป็นอย่างไรต่อไป  นับเป็นการสร้างปริศนาหรือปมปัญหาทิ้งค้าง
    ไว้ให้ผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องราวในตอนต่อไป  นอกจากนี้  เคี้ยวหมากยังใช้กลวิธีนี้เป็นหลักในการดำเนินเรื่องต่อๆ มา  ซึ่งเราจะพบว่า เคี้ยวหมาก สร้างปมปริศนาและปมปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลับและเบื้องหลังของตัวละคร ซึ่งบางปมหรือบางปริศนาก็ได้คลี่คลายและเฉลยไปแล้ว  แต่บางปมก็ยังเปิดทิ้งค้างไว้อยู่ 

    โดยส่วนตัวเห็นว่ากลวิธีนี้นับว่าช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจและติดตามการคลี่คลายของปมปัญหาเหล่านี้ได้   แต่การสร้างเรื่องโดยใช้กลวิธีนี้เป็นหลักในการดำเนินเรื่อง  ผู้เขียนต้องเลือกนำเสนอปมปัญหาหรือปริศนาเพียงไม่กี่ปม  และปมที่ใช้ควรที่จะเป็นปมปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเรื่องโดยตรง   แต่หากผู้เขียนสร้างปริศนาไว้เป็นจำนวนมากเกินไป   และบางปริศนาก็ยังเปิดค้างไว้นานเกินไป  จนดูเป็นการถ่วงเวลาไม่เฉลยปมปัญหานี้เสียที   การใช้กลวิธีเช่นนี้อาจจะกลายเป็นข้อด้อยของเรื่องได้  เพราะลดทอนความน่าสนใจและน่าติดตามของเรื่องลง   เมื่อพิจารณาในนิยายเรื่องนี้  ผู้วิจารณ์เห็นว่า  เคี้ยวหมาก  นำกลวิธีนี้มาใช้มากเกินไป  เนื่องจากเปิดปมปริศนาบ่อยครั้งเกินไป  ด้วยการสร้างให้ตัวละครหลักทุกตัวต่างมีปมและอดีตที่ปกปิดไว้  ไม่ว่าจะเป็น
    ทัศคานี  ภัควาริน อัษศดิณย์ และ ราณี  แต่ในตอนเฉลยปริศนาและคลี่คลายปมปัญหา เคี้ยวหมาก กลับเลือกเฉลยความลับเฉพาะของ ทัศคานี เท่านั้น  จนทำให้ดูเหมือนว่าความลับของตัวละครอื่นๆ ที่เปิดไว้ไม่มีสำคัญกับเรื่องที่ต้องการเสนอเท่าใดนัก  ทั้งๆ ที่ปริศนาที่เกี่ยวกับอดีตของภัควาริน  ในขณะที่เป็นพิมฐา  ความรักความผูกพันระหว่างพิมฐา กับ อัษศดิณย์  หรือ สถานะของราณีในตระกูลโภคิน  ก็นับว่ามีความสำคัญกับเรื่อง และอยู่ในความสนใจของผู้อ่านไม่แพ้กัน   ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า เคี้ยวหมาก  ควรที่จะเปิดเผยความลับของตัวละครอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับทัศคานี   ก็จะสร้างความสมดุลให้กับเรื่องได้มากขึ้น

    ความโดดเด่นอีกประการของเรื่อง คือ การสร้างตัวละคร  จะพบว่า เคี้ยวหมาก  สร้างตัวละครแต่ละตัวได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เด่นชัด ทั้งรูปร่างหน้าตา และอุปนิสัยใจคอ  ซึ่งทำให้ผู้อ่านจดจำตัวละครแต่ละตัวได้  ทั้งนี้ต้องยกความดีให้กับการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาต่างๆ ในเรื่อง  ที่ช่วยสร้างและเสริมให้ตัวละครที่สร้างขึ้นมีชีวิตและโลดเล่นอยู่ในเรื่องได้อย่างมีชีวิตชีวาและน่าติดตาม

    แม้ว่า เคี้ยวหมาก จะไม่มีปัญหาในการสร้างบทบรรยายและบทสนทนา  แต่ยังพบคำผิดอยู่เป็นระยะๆ  ซึ่งลดทอนความสมบูรณ์และความน่าอ่านของเรื่องลง  จึงอยากให้ปรับปรุงในส่วนนี้ก็จะช่วยให้การเขียนถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น  ทั้งนี้ คำผิดที่พบ เช่น ปุ่ม เขียนเป็น  ปุ๋ม  พะยูน เขียนเป็น  พยูน   ฮ่ะ เขียนเป็น ห้ะ  แปรเปลี่ยน  เขียนเป็น แปลเปลี่ยน  เฮ้ย  เขียนเป็น  เห้ย  ตื้อตัน(ตรงศีรษะ) เขียนเป็น  ตื้นตัน(ตรงศีรษะ)  เลือดกบปาก เขียนเป็น เลือกกบปาก  กัดฟัน  เขียนเป็น  กันฟัน  ชะง่อนหิน  เขียนเป็น  ชะงอยหิน  กวาดตาหา  เขียนเป็น  กราดตาหา  แว้บ  เขียนเป็น  แว๊บ  คุกเข่า เขียนเป็น  คุเข่า  ผมเผ้า เขียนเป็น  ผมเพล้า  แหง เขียนเป็น แหง่  ประโยชน์ เขียนเป็น ประโยค  เปิดโปง  เขียนเป็น  เปิดโปรง  ครุ่นคิด  เขียนเป็น  คุ้นคิด  ฉุกคิด เขียนเป็น ฉุดคิด  เซ็ง เขียนเป็น เซง  พะรุงพะรัง  เขียนเป็น พะลุงพะลัง  อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น อินเตอร์เนท  อนาถ  เขียนเป็น  อนาต  ถือไพ่ เขียนเป็น  ถือไผ่  ตัดพ้อต่อว่า  เขียนเป็น  ตัดท้อต่อว่า  ม้า ไหม  หรือ มั้ย เขียนเป็น  ม๊า  เพี้ยะ เขียนเป็น เผี๊ยะ  ตัวเก็ง เขียนเป็น ตัวเกร็ง สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ  กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ  เฮอะ เขียนเป็น เห๊อะ ไฉน เขียนเป็น  ฉไน  ขี้มูกโป่ง  ขี้มูกโปร่ง ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพัน เว้ย เขียนเป็น เว๊ย  เฮ้ย  เขียนเป็น  เฮ๊ย  อ้าว เขียนเป็น อ่าว  หมั่นไส้  เขียนเป็น  หมั้นไส้  คร้าบ  เขียนเป็น คร๊าบ หนำใจ  เขียนเป็น  หน่ำใจ  หอบแฮกๆ  เขียนเป็น  หอบแหกๆ  น้า เขียนเป็น  น๊า  พัลวัน เขียนเป็น พลวัน ยั้วเยี้ย เขียนเป็น  ยั้วเยี๊ย เนรมิต เขียนเป็น เนริมิต คร่ำครึ เขียนเป็น  ค่ำคึก  แทรก เขียนเป็น  แซก  กะเผลกๆ เขียนเป็น  กระเพกๆ  เกียรติ เขียนเป็น  เกียรติ์  เหลียวซ้ายแลขวา  เขียนเป็น  เลี้ยวซ้ายแลขวา  ซอมซ่อ เขียนเป็น ซอมซอ บัดซบ เขียนเป็น ปัดซบ  ตะกละ  เขียนเป็น ตละกะ

    ข้อด้อยอีกประการที่พบคือ ความสมจริงของเรื่อง  เนื่องจากพบว่ามีเหตุการณ์หลายตอนที่ยังขาดความสมจริงอยู่  อาทิ การเปิดเรื่องให้พิมฐาที่ยังเป็นเด็กเล็กขนาดนั้น  จะสามารถถูกทิ้งให้ดำเนินชีวิตอยู่ตามลำพังในสภาพที่คล้ายขอทานหลังจากที่คุณยายเสียชีวิต  โดยไม่มีองค์กรใดเข้ามาดูแล  ทั้งเธอยังมีโอกาสมาเรียนหนังสือร่วมเพื่อนๆ ที่ฐานะดี  โดยเฉพาะอัษศดิณย์และตรีชฏา ที่ผู้เขียนปูพื้นฐานว่าฐานะดีได้  หรือ  การพบกันระหว่างภัควาริน กับ อัษศดิณย์  บนเครื่องบิน  เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะพาเธอไปเลี้ยงอาหารได้ เพราะอาหารบนเครื่องบินระหว่างประเทศเป็นอาหารชุดที่ทางสายการบินจัดเตรียมบริการมาไว้แล้ว  ไม่มีพื้นที่เปิดบริการเป็นห้องอาหารที่ผู้โดยสารสามารถสั่งอาหารได้เหมือนในรถไฟ 

    ข้อสังเกตอีกประการเกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง  พบว่ามีตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่  เคี้ยวหมาก ละเลยแทบจะไม่กล่าวถึงเลย  จนดูเหมือนกับว่าตัวละครตัวนี้ไม่เคยมีตัวตน และไม่มีความสำคัญต่อเรื่อง  ทั้งๆ โดยส่วนตัว  ผู้วิจารณ์เห็นว่าตัวละครตัวนี้น่าจะมีส่วนสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เธอน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญในความรักระหว่างอัษศดิณย์กับพิมฐา (หรือภัควาริน)  นั่นคือ  ตรีชฏา  หากพิจารณาตามที่ผู้เขียนปูพื้นฐานของตัวละครไว้อย่างชัดเจนว่า  ตรีชฏา รัก อัษศดิณย์ มาตั้งแต่เด็ก  และเธอหวงเขามาก  จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าเมื่อเธอถูกอัษศดิณย์ทิ้งในวันแต่งงานเพื่อไปหาพิมฐา  ตรีชฏาจะทนอยู่เฉยๆ ให้อัษศดิณย์อยู่ใกล้ชิดกับพิมฐา ศัตรูหัวใจหมายเลขหนึ่งของเธอได้อีกครั้ง  หรือผู้แต่งยังคงเก็บไปให้ปมปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตอนต่อไป
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×