ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #109 : Angel’s Judgment : Angel’s War

    • อัปเดตล่าสุด 20 พ.ค. 57


    Angel’s Judgment : Angel’s War
    http://my.dek-d.com/hikarusungel/writer/view.php?id=1062107

              Angel’s Judgment : Angel’s War  นวนิยายแฟนตาซีขนาดยาว แนวการต่อสู้ระหว่างตัวแทนสวรรค์กับนรก  ผลงานของ Blazing Flare   ซึ่งเป็นเรื่องราวของ พรหมมาส มหาศาสตรา หรือ เกล เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ผู้ที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไปในสงครามกลางเมือง  ทั้งยังได้รับบาดแผลเป็นรอยคมดาบยาวกรีดตั้งแต่หน้าผากผ่านดวงตาด้านขวายาวถึงขอบจมูก  ในขณะที่เขากำลังเอาชีวิตรอดเพื่อให้พ้นวันแต่ละวันไป แต่ได้รับพลังพิเศษที่จะกอบกู้วิกฤตการณ์ของโลกที่กำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ  ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่เขากระทำร่วมกับกลุ่มผองเพื่อนร่วมผู้ได้พลังวิเศษจากสวรรค์เช่นเดียวกันเขา ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 22 แล้ว

                นวนิยายแฟนตาซีเรื่องนี้  แม้ว่าแก่นเรื่องหลักจะเป็นเรื่องราวสงครามระหว่างตัวแทนสวรรค์และนรก  ซึ่งคล้ายกับ
    นวนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก  แต่ 
    Blazing Flare  สามารถสร้างความแตกต่างให้กับนวนิยายเรื่องนี้ได้  โดยนำภัยพิบัติและวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่ผู้คนในปัจจุบันต้องเผชิญมาสร้างเป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายตัวเอกต้องฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้โลกกลับมาให้มีสภาพที่ดีดังเดิม  ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกับเร่งสร้างความเลวร้ายของภัยพิบัติเหล่านี้ให้รุนแรงเพิ่มขึ้น  จึงนับเป็นงานแฟนตาซีเชิงนิเวศสำนึกที่ไม่ค่อยพบในกลุ่มงานแฟนตาซีบ้านเรา  ทั้งนี้  Blazing Flare    มุ่งเน้นไปที่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก  ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ในเขตอนุรักษ์ในประเทศไทย  การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก  แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนละเลยไปอย่างน่าเสียดายในการนำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมคือ  การชี้ให้เห็นว่ามูลเหตุของปัญหาเหล่านั้นเกิดมาจากสิ่งใด  และคนส่วนใหญ่จะช่วยแก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร   เนื่องจากผู้เขียนปล่อยหน้าที่ของการแก้ไขให้เป็นการใช้พลังพิเศษของเกลและเพื่อนๆ ไป  มากกว่าที่เป็นความร่วมมือกันฟื้นฟูระหว่างพวกเกลกับคนในพื้นที่นั้นๆ หากผู้เขียนเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวนิเวศสำนึกทั้งระบบ ซึ่งน่าจะช่วยสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบของผู้อ่านต่อการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง    

                ความเด่นประการที่สอง คือ การผสานตำนานและลักษณะเฉพาะของเทพเจ้าทั้งตะวันตกและตะวันออกเข้ากับเรื่องที่นำเสนอ  นับเป็นจุดแข็งของผู้เขียนที่สามารถทำได้อย่างน่าสนใจและลงตัว  เมื่อนำเทพเจ้าแต่ละองค์มาใช้ได้อย่างเหมาะสมในการเสนอเรื่องราวในแต่ละตอน  ขณะเดียวกันช่วยเปิดพรมแดนความรู้ให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับตำนาน  ความเชื่อ  จุดเด่น และประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์ต่างๆ จากทั่วโลก  ซึ่ง  Blazing Flare   เลือกใช้ได้อย่างพอเหมาะพอดี  จึงไม่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นการเล่าตำนานเทพปกรณัมมากจนเกินไป

                การเปลี่ยนฉากของเรื่องไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกนับว่ามีความน่าสนใจ  เนื่องจาก Blazing Flare   สอดแทรกประวัติบุคคลสำคัญ หรือ ประวัติศาสตร์ที่น่ารู้ของประเทศและภูมิภาคนั้นไว้อย่างเป็นอย่างดี  ซึ่งไม่ได้ทำแบบยัดเยียดจนเกินไป  แต่ข้อมูลสาระความรู้เล่านี้  ผู้เขียนใช้กลวิธีการให้ตัวละครตัวหนึ่งเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง  จึงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เหล่านี้ไปโดยปริยาย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของกลุ่ม KKK (Ku Klux Kian) ที่เกิดขึ้นทั้งในอเมริกาและแอฟริกาใต้  ประวัติของ สืบ นาคะเสถียร และ ประวัติความรุ่งเรืองของอียิปต์ยุคโบราณ

                การสร้างตัวละครพบว่า Blazing Flare   สร้างตัวละครในลักษณะคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน  ตัวละครระหว่างฝ่ายดี คือ เทพสวรรค์ ทูตสวรรค์ ตัวแทนเทวทูต  กับ  ตัวละครฝ่ายร้าย คือ ทูตนรก และ จอมมาร  ซึ่งดูเหมือนว่าตัวแทนจากสวรรค์จะดูเป็นรองตัวแทนจากนรกอยู่  โดยเฉพาะในเรื่องพละกำลังและความสามารถในเชิงการต่อสู้  เนื่องจากเทพสวรรค์ (ผู้มีพลังอำนาจสูง) ติดพันธะสัญญาห้ามมิให้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้บนโลกมนุษย์ได้  ขณะที่จอมมารและทูตนรกไม่มีกฎข้อนี้กำกับอยู่  ขณะเดียวกันทูตนรกมี 2 ชีวิต  มีโอกาสฟื้นคืนชีพได้หนึ่งครั้งเมื่อตาย  แต่ตัวแทนสวรรค์ขาดโอกาสนั้น   ด้วยเหตุนี้ Blazing Flare   จึงทดแทนข้อจำกัดนี้ด้วยการให้ตัวละครโดยเฉพาะ เกล ที่มีโอกาสพัฒนาพลังฝีมืออย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นไปแบบแบบก้าวกระโดดอยู่เสมอๆ   ในขณะที่ตัวละครอื่นๆ กลับขาดโอกาสดังกล่าวไป  จึงเห็นว่าหาก Blazing Flare  ควรเฉลี่ยหรือให้โอกาสตัวแทนทูตสวรรค์คนอื่นๆ ได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถของตนเองได้เหมือนเกล  ก็จะทำให้เนื้อเรื่องสมจริงและน่าสนใจเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ บางครั้งยังพบว่าการอธิบายความสามารถของตัวละคร  กับความสามารถที่แท้จริงที่ปรากฏในเรื่องดูจะขัดแย้งกันเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เอมิลี แฟร์ ที่ในฉากเปิดตัวอธิบายว่า เธอเป็นหน่วยรบแนวหน้าของทูตสวรรค์  มีฝีมือระดับเดียวกับเทพสวรรค์  แต่เธอแทบจะไม่มีได้แสดงศักยภาพดังกล่าวในการต่อสู้ครั้งใดๆ เลย  จนดูเหมือนว่าเธอจะมีฝีมือเกือบอ่อนที่สุดในกลุ่มไป  แต่อย่างไรก็ดี  ผู้วิจารณ์เชื่อว่านวนิยายเรื่องนี้คงจบลงคล้ายๆ กับนวนิยายที่สร้างตัวละครคู่ตรงข้ามเรื่องอื่นๆ  กล่าวคือ ในท้ายที่สุดแล้วความดีย่อมชนะความชั่ว หรือ ธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ

                สำหรับข้อด้อยของเรื่องที่พบ คือ Blazing Flare  ยังไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างสัดส่วนการใช้บทสนทนากับบทบรรยายได้  เนื่องจากพบว่าในนวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่บทสนทนามากกว่าบทบรรยาย  ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว  การเขียน
    นวนิยายจะต้องมีสัดส่วนของบทบรรยายที่มากกว่า  วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ ปรับบทสนทนาบางตอนให้เป็นบทบรรยาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่าเหตุการณ์  เล่าประวัติความเป็นมา  หรือ การสะท้อนความรู้สึกภายในจิตของตัวละคร 

                ข้อด้อยอีกประการหนึ่งที่ Blazing Flare  ควรจะต้องปรับปรุงโดยด่วนคือ คำผิด  เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้มีคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ  อาทิ  1) การสะกดผิด เช่น ปะทะ เขียนเป็น ประทะ  พาหนะ เขียนเป็น ภาหนะ เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขียนเป็น อนุสาวรีย์ไชยสมรภูมิ ล็อค เขียนเป็น ล้อค ฉัน เขียนเป็น ชั้น ปรมาจารย์ เขียนเป็น บรมจารย์ ยันต์ เขียนเป็น ยัน กึ่งกลาง เขียนเป็น กึ่งกาง เซ็นชื่อ เขียนเป็น  เซ็นต์ชื่อ  ทรัพยากร  เขียนเป็น  ทรัพยากรณ์  เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์  ทูต เขียนเป็น ฑูต  กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา  บางประการ เขียนเป็น บางประการณ์  ว้าก เขียนเป็น ว๊าก 
    นกเพนกวิน
    เขียนเป็น นกเพนกวิ้น เพลี่ยงพล้ำ เขียนเป็น เพรี่ยงพล้ำ เอกเทศ เขียนเป็น เอกเทศน์ แอปเปิ้ล เขียนเป็น แอบเปิ้ล เชอร์รี่ เขียนเป็น เชอรี่ พันธนาการ เขียนเป็น พันธนาการณ์  เฮลิคอปเตอร์ เขียนเป็น เฮลิค็อปเตอร์  เผาเป็นจุล เขียนเป็น เผาเป็นจุลย์ จินตนาการ เขียนเป็น จินตนาการณ์  ว้าว เขียนเป็น ว๊าว ตะครุบ เขียนเป็น ตะครุป พิพิธภัณฑ์ เขียนเป็น พิพิธพันธ์  เดนมาร์ก เขียนเป็น เดนมาร์ค/เด็นมาร์ค ริษยา เขียนเป็น ริศยา  ตัณหา เขียนเป็น ตันหา เอเชีย  เขียนเป็น เอเชียร์ หยักศก เขียนเป็น หยักสก ย้อมผม เขียนเป็น ยอมผม ช็อต เขียนเป็น ช๊อต ฉิบหาย เขียนเป็น ชิบหาย กรงเล็บ เขียนเป็น กงเล็บ  ปาง เขียนเป็น ปางค์  ซีเมนต์ เขียนเป็น ซีเม็นต์ สักครู่ เขียนเป็น ซักครู่ พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม ซิตี้ เขียนเป็น ชิตตี้  เลศนัย เขียนเป็น เลสนัย แดงกล่ำ  เขียนเป็น แดงก่ำ เคลิ้มหลับ  เขียนเป็น คล้อยหลับ บัลลังก์ เขียนเป็น บรรลังค์ ไอยคุปต์ เขียนเป็น ไอยคุป์/ไอย์คุปต์  บัญญัติ  เขียนเป็น บรรญัติ เป๊ะ เขียนเป็น เป้ะ ถี่ถ้วน เขียนเป็น ถี่ท้วน  ผลลัพธ์ เขียนเป็น ผลลัพท์ คฑา  เขียนเป็น คทา เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ เคลือบ เขียนเป็น เคลือน พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรน พลการ เขียนเป็น พละการ  ฟาโรห์ เขียนเป็น ฟาโร เงื่อนไข เขียนเป็น เงื่อนขัย กุมภาพันธ์ เขียนเป็น กุมพาพันธ์ และ  เปรมปรีดิ์ เขียนเป็น เปรมปรีย์  2) การเลือกใช้คำไม่เหมาะสม  เช่น ท้ายปากกา ควรใช้เป็น  ด้ามปากกา หรือ ปลายปากกา  3) การใช้ลักษณนามผิด เช่น ลูกธนู 10 ดอก ใช้เป็น ลูกธนู 10 นัด และ 4)  การใช้คำไม่สม่ำเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเฉพาะ  จะพบว่าคำๆ หนึ่งเขียนหลายแบบ  จึงเห็นว่า
    Blazin Flare น่าจะเลือกวิธีเขียนแบบหนึ่งแบบใดไปเลย และควรใช้คำๆ เดียวโดยตลอดทั้งเรื่อง  ไม่เช่นนั้นจะสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านได้  เช่น อาธิมิส-อธิมิส-อาเทมิส  หรือ ทานาทอส-ธานาทอส   หรือ เซ็ท-เซท-เซ็ต หรือ ฮอรัส-โอรัส  ด้วยเหตุนี้  หาก Blazing Flare   ปรับแก้คำผิดทั้งหมดที่นำเสนอไว้ข้างต้นก็จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์ในเชิงการเขียนที่ชวนอ่านมากขึ้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×