ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #107 : Undecryption รหัสลับ โจรกรรมสะท้านโลก

    • อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 56


    Undecryption รหัสลับ  โจรกรรมสะท้านโลก

             นวนิยายแนวผจญภัย เรื่อง Undecryption รหัสลับ  โจรกรรมสะท้านโลก  ของ Neung  เพิ่งโพสต์ถึงบทที่ 7  ซึ่งเป็นเรื่องราวของ เลออน ไลน์เนอร์  ไคล์น  คาล์เชียน  และ แบล็ก  เลโอแนล กลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมปลายอัจฉริยะที่ต้องการปล้นเอกสารลับของ DD Bank  แต่กลับต้องไปเกี่ยวพันกับอาวุธชีวภาพนิวเคลียร์อย่างไม่ตั้งใจ  จนทำให้ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยความวุ่นวายและอันตราย   

                Neung   เปิดเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้นและชวนติดตาม  ขณะเดียวกันยังสร้างเรื่องให้มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย  เพราะโดยที่นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่เพียงโครงเรื่องหลัก (main plot)  ที่ผูกพันชะตาชีวิตของตัวละครหลักทั้งสามคนไว้กับอาวุธชีวภาพนิวเคลียร์  ซึ่งมีความลับซุกซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ตามล่าที่ต้องการต้นฉบับเอกสารลับแท้ที่จริงแล้วเป็นใครกันแน่  หรือความสำคัญของต้นฉบับเอกสารลับคืออะไร  รวมทั้งปริศนาที่ปรากฏในเอกสาร  ทั้งรหัสลับแปดหลัก  และ อัศวินทั้ง 5 ที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์   ขณะเดียวกันยังได้สร้างโครงเรื่องย่อย (sub plot) และปริศนาและปมปัญหาต่างๆ ที่น่าสนใจไว้เป็นจำนวนมาก   อาทิ ปริศนาการตายของพ่อแม่ไคล์น และแบล็ก  การหายตัวไปของคาร์ล  พี่ชายคนเดียวของไคล์น   และ ความสัมพันธ์ระหว่างคาร์ลกับกลุ่มคนลึกลับที่ตามล่าพวกเด็กหนุ่มทั้งสามคน   ซึ่งคาดว่าผู้เขียนจะค่อยๆคลี่คลายปม ปริศนา และความลับเหล่านี้ต่อไป

                ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าผู้เขียนเน้นการสร้างฉากบู้ล้างผลาญตามแบบภาพยนตร์ action ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูด  ที่ต้องมีฉากระเบิดที่อลังการและฉากซากอาคารที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความสูญเสียจากการต่อสู่อันรุนแรงนี้  ฉากความรุนแรงเหล่านี้จะดูสมจริงได้ก็เมื่อมีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ  เช่นระหว่างผู้ก่อการร้ายทุนหนาข้ามชาติ กับรัฐบาลของสหรัฐ  เช่น FBI  SWAT  หรือหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ   แต่เมื่อในนวนิยายเรื่องนี้กำหนดให้คู่ต่อสู้ของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการเอกสารลับที่เกี่ยวกับอาวุธชีวภาพนิวเคลียร์กลับเป็นเพียงเด็กหนุ่มมัธยมปลายสามคน   จึงเห็นว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มีศักยภาพทั้งเรื่องอาวุธ  กำลังคน และมีทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมากกลุ่มนี้  น่าจะมีวิธีการจัดการกับการนำเอกสารลับจากเด็กทั้งสามได้อย่างเงียบเชียบและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะเลือกปฏิบัติการแหวกหญ้าให้งูตื่น  โดยการท้าทายรัฐบาลสหรัฐด้วยการระเบิดสถานีตำรวจ 4 แห่ง และ DD Bank ก่อนที่ตัวเองจะมีเอกสารสำคัญที่เป็นไพ่ไม้ตายไว้ในครอบครอง  ขณะเดียวกันการตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ดูจะด้อยประสิทธิภาพมากกว่าที่ควรจะเป็น  เนื่องจากเมื่อเกิดระเบิดที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเช่นนี้  หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่น่าจะเป็นเพียง FBI ที่มีผู้รับผิดชอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นเพียงตำรวจหญิงมิเชล  รอนสัน เท่านั้น  แต่ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ควรที่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหลายหน่วยงานร่วมมือกัน และผู้ที่คุมปฏิบัติการนี้น่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสั่งการมากกว่า มิเชล  รอนสัน

                    ในส่วนของการเขียนนั้น  ผู้เขียนสามารถที่จะสร้างตัวละครแต่ละตัวอย่างชัดเจน และมีบุคลิกภาพ  ลักษณะนิสัย  และความถนัดเฉพาะตัวที่โดดเด่น  โดยเฉพาะตัวละครเอกวัยรุ่นทั้งสาม แต่มีข้อสงสัยประการหนึ่งเกี่ยวกับการบรรยายรูปร่างของเลออน  ไลน์เนอร์  ในอารัมภบท  ที่มีเนื้อความขัดกัน  กล่าวคือ  ตอนหนึ่งบรรยายว่า  เลออน ใบหน้าเรียวยาว  แต่ต่อมากลับบรรยายว่า ใบหน้าอันกลมมน  จึงสงสัยว่าแท้จริงแล้วผู้เขียนต้องการให้เลออนหน้ายาวหรือหน้ากลมกันแน่ ขณะเดียวกันการสร้างบทบรรยายต่างๆ ก็บรรยายได้ละเอียดและเห็นภาพ  ทั้งฉากการต่อสู้  และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น   เช่นเดียวกับบทสนทนาระหว่างตัวละครต่างๆ ก็สร้างได้อย่างสมจริงและชวนให้เรื่องราวน่าติดตาม  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามีคำผิดปรากฏเป็นจำนวนมาก  จึงลดทอนความถูกต้องและสมบูรณ์ของบทบรรยายและบทสนทนาเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย 

    คำผิดที่พบมีจากหลายสาเหตุ  เช่น  1) การใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น  อึมครึม เขียนเป็น  อึ่มครึ้ม ยียวน เขียนเป็น  ยี่ยวน  รุงรัง เขียนเป็น  รุ่งรัง  จ้ำอ้าว เขียนเป็น  จ่ำอ้าว รายล้อม เขียนเป็น  ร่ายล้อม ว้ากกกกก เขียนเป็น  ว๊ากกกกก
     
    2) การสะกดผิด  เช่น  อิริยาบถ  เขียนเป็น  อริยบท  ซูบผอม เขียนเป็น  สูบผอม  ผมหยักศก  เขียนเป็น  ผมหยักโศก  กะพริบตา  เขียนเป็น  กระพริบตา (ลมหวีดหวิว)กระโชก เขียนเป็น  (ลมหวีดหวิว)กระโซม  ตระการตา  เขียนเป็น  ตระกานตา เขม็ง  (หมายถึง ตึง  เกร็ง  แข็ง  แน่วแน่) เขียนเป็น   เขม่น  (หมายถึง รู้สึกไม่ชอบหน้าหรือไม่พอใจ)  สังเกต เขียนเป็น  สังเกตุ  เอาน่า  เขียนเป็น  เอาหน่า ทิฐิ  เขียนเป็น  ทิถิ  เลศนัย  เขียนเป็น  เลิศนัย  ทอด(ยาว)  เขียนเป็น  ถอด อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น  อินเตอร์เน็ต  อิเล็กทรอนิกส์  เขียนเป็น  อิเล็คทรอนิกส์ (หน้าตา)เหยเก  เขียนเป็น  เหยแก่ อัมพาต  เขียนเป็น   อัมภาต  ประเมิน เขียนเป็น  ประเมิณ  ระลึก เขียนเป็น ระรึก  ระลอก เขียนเป็น  ระรอก พิสดาร เขียนเป็น  พิศดาล  ฝ้าเพดาน เขียนเป็น  ฟากเพดาน ทรมาน เขียนเป็น  ทรมาณ  วิมาน เขียนเป็น  วิมาร  กฎ  เขียนเป็น  กฏ  เวท เขียนเป็น  เวทย์ ประจันหน้า เขียนเป็น  ประจันทร์หน้า กระปรี้กระเปร่า เขียนเป็น  กระปี้กระเปร่า   ตะครุบ เขียนเป็น  ตระคุบ หลา (หมายถึง มาตราวัด) เขียนเป็น  หรา (หมายถึง ก๋า ร่า)  แผนการ  เขียนเป็น  แผนการณ์  ประจัน เขียนเป็น  ประจัณฑ์  สังเกตการณ์ เขียนเป็น  สังเกตุการณ์  เอ้อระเหย เขียนเป็น เอ้อละเหย  หวงแหนเขียนเป็น  แหงหวน  โอ่อ่า เขียนเป็น  โอ่อาห์  สถานการณ์  เขียนเป็น  สถานะการณ์  คอลัมน์  เขียนเป็น  คอลัมภ์ อันธพาล  เขียนเป็น  อันตพาล  เมามัน  เขียนเป็น  เมามันส์  ก้าวเท้า  เขียนเป็น  ก้าวท้าว ผ้าก็อซ (ผ้าพันแผล) เขียนเป็น  ผ้าสก็อต  ทรัพย์สิน เขียนเป็น  สรรพสิน  กบดาน เขียนเป็น  กบดาล  ปืนพก เขียนเป็น  ปืนผก  ค่อย(ยังชั่ว)  เข้า(ยังชั่ว) ผลีผลาม เขียนเป็น  พลีพลาม กฎหมาย  เขียนเป็น  กฏหมาย  พิภพ เขียนเป็น ภิภพ  ประจวบเหมาะ เขียนเป็น  ประจบเหมาะ  3)  การใช้คำที่ไม่มีความหมาย เช่น  กระโชม  นั่งต่อม่อ  4)  การใช้คำขยายผิด  จมูกสันทัด  สันทัดมักใช้ในการขยายรูปร่าง ไม่นิยมใช้ขยายจมูก   จมูกมักใช้ว่า จมูกได้รูป  จมูกโด่งเป็นสัน  จมูกเล็ก  จมูกโต  เป็นต้น   บุคคลบริสุทธิ์  ไม่นิยมใช้  ส่วนมากจะใช้ว่า ผู้บริสุทธิ์   รหัสยี่ยั๊ว (ในที่นี้คำที่ถูกต้องคือ ยั้วเยี้ย) ยั้วเยี้ย ใช้มักขยายคนหรือสัตว์จำนวนมากที่เคลื่อนไหวขวักไขว่ไปมา  แต่รหัส  มักใช้ว่า  รหัสจำนวนมาก รหัสจำนวนมหาศาล  อารมณ์โกรธพลุกพล่าน (พลุกพล่าน หมายถึง เกะกะชวักไขว่)  ควรใช้ว่า  อารมณ์โกรธพลุ่งพล่าน (พลุ่งพล่าน หมายถึง เดือดพล่าน  (อารมณ์)ไม่ปกติเพราะโมโห)  ช้อยสายตามอง  ควรใช้ว่า ช้อนสายตามมอง หรือ ช้อนตามอง  และ ควันโขมงโฉงสีขาว  ควรใช้ว่า  ควันโขมงสีขาว หรือ ควันคลุ้งสีขาว  เพราะคำว่า โขมงโฉงเฉง  มักใช้ขยาย เสียง  หมายถึง เสียงเอ็ดอึง  เช่น เสียงดังโขมงโฉงเฉง

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×