ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    นักเรียนหมอขอเมาท์

    ลำดับตอนที่ #50 : เมาท์ : การ์ตูนกับแพทย์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.77K
      0
      30 ก.ค. 53

     

    น้องๆส่วนใหญ่คงรู้แล้วว่าจะเป็นหมอต้องสอบเข้ายังไง เรียนกี่ปี เรียนอะไรบ้าง ฯลฯ  แต่น้องๆคงยังไม่รู้ว่าหลังจากเรียนจบ 6 ปีแล้วชีวิตของหมอจะเป็นยังไงต่อ วันนี้เราจึงจะพาน้องๆไปสัมผัสชีวิตของหมอผ่านทางลายเส้นการ์ตูนกัน




                    เรื่องแรกเป็นผลงานของอาจารย์
    Yamada Takatoshi เรื่อง " คุณหมอกะโปโล "  หรือ Dr.Coto shin  ryojo  ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิบูรณ์กิจ เป็นเรื่องราวของคุณหมอโกะโต เคนสุเกะ(ชาวบ้านมักจะเรียกแบบชินๆปากว่า หมอโกโต้) ศัลยแพทย์ฝีมือดีจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ผันชีวิตตัวเองมาเป็นหมอที่สถานีอนามัยประจำเกาะโคชิกิ ที่นั่นเขาต้องเผชิญกับทัศนคติที่ไม่ดีของคนบนเกาะที่มีต่อหมอที่มาจากฝั่งเมือง แต่ด้วยการอุทิศตนและความห่วงใยที่มีต่อคนไข้ของหมอโกโต้ ทำให้ชาวเกาะโคชิกิเริ่มเปิดใจรับหมอใหม่คนนี้มากขึ้น

    หมอโกโต้ เป็นหมอร่างสูง อารมณ์ดีจนบางทีก็ดูป๋ำๆเป๋อๆ ชอบกินมาม่าเป็นชีวิตจิตใจ แต่มักถูกพยาบาลโฮชิโนะ พยาบาลประจำสถานีอนามัยเกาะโคชิกิ เอาของโปรดเขาไปซ่อนเป็นประจำ ด้วยสถานะเป็นหมอเพียงคนเดียวบนเกาะโดดเดี่ยวกันดารนี้ ทำให้หมอโกโต้ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอ อย่างเช่น คนแก่เป็นมะเร็ง เด็กคลอดยาก เหตุการณ์ดินถล่ม โรคระบาดบนเกาะ ฯลฯทำให้ศัลยแพทย์โกโต้แทบจะกลายเป็นหมอสารพัดประโยชน์ และด้วยความสามารถและฝีมือผ่าตัดที่ถือว่าเก่งกาจรับรองได้จาก รพ.มหาวิทยาลัย กอปรกับวีรกรรมที่ช่วยเหลือคนบนเกาะ ทำให้มีคนจากฝั่งเมืองมาขอรับการรักษาจากหมอโกโต้เช่นกัน

    การ์ตูนเรื่องนี้เสนอชีวิตของหมอ ความยากลำบาก ความกดดันของหมอบนเกาะที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ห่างไกลเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย(อารมณ์ประมาณหมอใช้ทุนที่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด) แต่ด้วยความที่เป็นหมอ ต้องรักษาชีวิตคนไข้ไว้ให้ได้ หมอโกโต้จึงพยายามประยุกต์ใช้อุปกรณ์เท่าที่มีทำการรักษาให้คนไข้ นอกจากนี้การ์ตูนเรื่องนี้นำเสนอทัศนคติของคนท้องถิ่นที่มีต่อหมอที่มาจากในเมือง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์และความเจริญด้านการแพทย์ในชนบทห่างไกล ประมาณว่าไปอยู่สถานีอนามัยในต่างจังหวัด ทั้งสถานีอนามัยมีแค่พารากับยาแดง o_o (ได้รับคำบอกเล่ามาจากอาของเพื่อนที่เป็นหมอแล้วไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด เมื่อประมาณ 25 ปีก่อนสภาพเป็นเช่นนี้จริงๆ) และการเข้าถึงผู้ป่วยในท้องที่นั้นๆ

    ด้านเนื้อหาถือว่าเป็นการ์ตูนแนวดราม่า แต่ก็ไม่เครียดมาก อ่านพอขำๆ ได้ มีเหตุการณ์ให้พอลุ้นบ้าง อาจมีศัพท์แพทย์โผล่มาบ่อย ทำให้คนอ่านงงได้ เช่น กระบวนการเพาะเชื้อไวรัสเดงกิ การผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อ Latissimus dorsi(ลาติสสิมุส ดอสาย) กับกล้ามเนื้อ Surratus anterior(เซอราทัส แอนทีเรีย) ฯลฯ

    สรุปแล้วการ์ตูนเรื่องนี้สามารถสื่อถึงชีวิตของหมอที่ต้องออกไปใช้ทุนในต่างจังหวัด หรือหมอที่ทำงานอยู่ในถิ่นทุรกันดารได้เป็นอย่างดี น้องๆคนไหนที่สนใจอยากรู้ว่าชีวิตหมอตอนใช้ทุนเป็นยังไงก็ลองไปหามาอ่านดูได้ (แต่ว่ามันไม่เหมือนซะทีเดียวนะ เพราะนี่มันการ์ตูนนี่น่า แถมยังไม่ใช่ประเทศเราอีก)


     

    เรื่องต่อมาคือ หัตถ์เทวดา เทรุ   เป็นผลงานของอาจารย์ คาซึกิ ยามาโมโต้ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิบูรณ์กิจ โดยเป็นเรื่องราวของ “มาฮิงาชิ เทรุ” นายแพทย์หนุ่มผู้ซึ่งมีอดีตฝังใจกับเหตุการณ์เครื่องบินตก จากเหตุการณ์นั้นทำให้คุณพ่อของเขา มาฮิงาชิ โคสุเกะ ผู้ซึ่งมีฉายาว่า "ก็อดแฮนด์" นั้นเสียชีวิต โดยก่อนตายคุณพ่อของเขาได้ช่วยชีวิตของเทรุให้รอดชีวิตโดยการปั๊มหัวใจ จนเกิดรอยมือสีแดงบนที่หน้าอกของเทรุ และจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เทรุตั้งใจจะเป็นหมอที่เก่งกาจเหมือนกับคุณพ่อของเขา เทรุนั้นได้เป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลยาซึดะของ ผอ.ยาซึดะ จุนจิ โดยโปรเจ็คโรงพยาบาลในฝันของเขานั้น จะต้องรวบรวมนายแพทย์ที่มีความสามารถสูงมากหลายคน จนหลายคนต่างเรียกโรงพยาบาลนี้ว่า "วาลฮาล่า" เทรุได้รับการดูแลจาก คิตามิ ชูอิจิ หัวหน้าหมอแผนกศัลยกรรม และเป็นหมอที่มีชื่อเสียงมากจนได้รับฉายาว่า “เมสน้ำแข็ง” แต่กว่าที่เทรุจะเป็นหมอที่เก่งและได้รับการยอมรับเหมือนคุณพ่อเขานั้นยังต้องผ่านอุปสรรคอีกมาก เนื่องมาจากนิสัยที่ซุ่มซ่ามของตนเอง ยามใดที่เทรุเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ หรือมีความตั้งใจในการรักษาคนไข้ รอยฝ่ามือบนหน้าอกของเขาก็จะส่องประกายออกมาเป็นตัวเพิ่มพลังทำให้ผ่าตัดรักษาคนไข้จนหายดี

    สำหรับจุดเด่นๆที่มีในเรื่องนี้ก็คือเรื่องของงานภาพ ลายเส้นดูแล้วค่อนข้างจะสบายตาเมื่อเทียบกับการ์ตูนแนวเดียวกันเรื่องอื่นๆ ทำให้อ่านแล้วรู้สึกสบายๆไม่ค่อยมืดมนซักเท่าไหร่ แถมเรื่องนี้ได้มีการเสนอ ฉากการใช้ชีวิตประจำวันของคุณหมอและพยาบาลในแง่มุมที่ดูสบายๆ ไม่ค่อยจะซีเรียสเท่าใดนัก เหมือนกับผู้แต่งจะบอกเราว่าถึงอาชีพหมอดูจะทำงานหนัก แต่พวกเขาก็ยังคงรีแลกซ์ ดูสบายๆกว่าที่คิดไว้ซะอีก(ซึ่งความจริงมันไม่เห็นเป็นยังงั้นเลยT T) ทำให้อ่านแล้วรู้สึกเพลินและอ่านไปได้เรื่อยๆ และนิสัยอันซุ่มซ่าม ป้ำๆเป๋อๆ ของหมอเทรุนั้น ก็กลายเป็นมุขตลกเล็กๆน้อยที่ทำให้อ่านแล้วไม่รู้สึกเครียดเลย

     

     



                   ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ด้านการแพทย์ที่เรื่องนี้ได้นำเสนอนั้น แม้ว่าจะทำให้คนอ่านบางกลุ่มได้รับสาระ ได้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ได้รู้จักร่างกายของตนเองมากขึ้น ฯลฯ แต่สำหรับคนอ่านที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการแพทย์มาพอสมควรนั้น อาจไม่ชอบใจเนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้ เพราะข้อมูลหลักการแพทย์ในเรื่องนี้ค่อนข้างจะหลุดจากความเป็นจริงไปมาก เหมือนกับว่าผู้แต่ง(อาจรวมถึงคนแปล)ยังทำการบ้านมาไม่ดีพอ เสริมแต่งเติมเรื่องจนทำให้การรักษาคนไข้ของคุณหมอในเรื่องนี้นั้นค่อนข้างจะเกินจริง(รู้สึกว่าเรื่องนี้มันส่อเค้าความเว่อร์มาตั้งแต่ตอนที่ฝ่ามือของคุณพ่อของเทรุ ติดบนหน้าอกของเทรุแล้วแถมยังเปล่งแสงได้อีกต่างหาก!!!) แต่ถ้าใครไม่ค่อยจะติดใจกับเรื่องเหล่านี้มากนัก อ่านๆไปก็สนุกพอประมาณได้ ฆ่าเวลาว่างๆไปได้บ้าง ส่วนเรื่องความรู้ทางการแพทย์นะ ไม่ว่าจะได้รับจากการอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ หรือจะการ์ตูนแนวเดียวกันเรื่องอื่นๆนั้น ถ้าเป็นไปได้ กรุณาหาตำราการแพทย์มาอ่านซ้ำ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์จริงๆ
                    แต่ถึงข้อมูลจะผิดเพี้ยนไปบ้าง การ์ตูนเรื่องนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของการเป็นแพทย์ที่ดี มีจรรยาบรรณนั้นมันเป็นอย่างไร  บุคลิกภาพของแพทย์ที่ทำการรักษานั้นมีผลต่อความเชื่อถือหรือความไว้ใจของคนไข้มากน้อยเพียงใด เห็นได้จากการที่ ชิโนมิยะ นั้นถึงจะเป็นหมอผ่าตัดที่เก่งกาจ แต่กับการซื้อใจ หรือผูกมิตรเข้ากับผู้ป่วยนั้น แต่เทรุกลับทำได้ดีกว่า(แต่การซุ่มซ่ามของหมอเทรุไม่นับว่าเป็นหมอที่ดีนะครับ ^^) และยังได้สะท้อนถึงความพยายามในการศึกษาหาความรู้และฝึกฝนวิธีการผ่าตัดที่ไม่มีที่สิ้นสุดของเทรุด้วย สุดท้ายแล้วความพยายามเหล่านั้นช่วยให้การรักษาคนไข้ของเทรุ ประสบความสำเร็จอยู่ร่ำไป

     

    โปรดติดตามตอนต่อไป...

     

    เด็กบ้าการ์ตูน@วชิระ


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×