ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    โน๊ตไวโอลิน ( free sheet music )

    ลำดับตอนที่ #63 : ไวโอลินสตราดิวาริอุส

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 4.37K
      3
      3 ก.ค. 52

    หากเอ่ยชื่อ Strdivarius บรรดานักดนตรีผู้ถนัดในเรื่องของเครื่องสายฝรั่งเป็นต้องร้องซู้ดปากไปตามๆกัน เพราะหากใครได้มีโอกาสสัมผัสและได้เล่นเพลงโปรดด้วยเครื่องดนตรีชื่อนี้สักครั้งในชีวิต ก็นับว่าตายตาหลับ

    เครื่องดนตรีที่ถูกประทับตราชื่อ Stradivariusทุกชิ้น ถือว่าได้รับการรับรองคุณภาพในเรื่องของความใสพริ้วและความกังวานของเสียงที่ออกมาว่าไพเราะสุดที่จะพรรณา นักดนตรีไม่ว่าอาชีพหรือสมัครเล่นทุกคน ล้วนถวิลหาที่ใคร่จะได้เครื่องดนตรีชื่อนี้มาเป็นสมบัติของตน โดยเฉพาะไวโอลินที่ถูกผลิตออกมามากชิ้นที่สุด 

    Antonio Stradivariusเป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องดนตรีชื่อ Stradivarius ซึ่งนำมาจากนามสกุลของเขานั่นเอง เขาถือกำเนิดในปีค.ศ.1644 โดยเป็นนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงและมีความสามารถในการผลิตเครื่องดนตรีที่ทำด้วยมือ และเปิดร้านจำหน่ายเครื่องดนตรีที่เมือง Cremona ในประเทศอิตาลีในต้นศตวรรษที่18 ประมาณปีค.ศ.1700 จนถึงแก่กรรมในปีค.ศ.1737 

    คุณสมบัติที่เด่นของสินค้าที่ทำด้วยมือของเขาคือรูปทรงที่เหมาะมือและกระชับในการวางที่ซอกคอโดยเฉพาะไวโอลิน ซึ่งบ่งบอกถึงการออกแบบที่คำนึงถึงสรีระของผู้เล่น การเลือกใช้วัสดุที่คัดจากไม้ที่เบาหวิวและให้เสียงก้องกังวานที่วิเศษ เนื้อไม้ที่ถูกคัดเฉพาะแผ่นไม้ที่มีลวดลายสวยงามนำมาใช้ อวดถึงความงามเฉพาะตัว และการลงวัสดุเคลือบผิวและขัดอย่างละเอียดถึงเก้าครั้ง น้ำหนักของเครื่องดนตรีของ Stradivarius ทุกชิ้นมีน้ำหนักเบาหวิวและฝีมือสุดที่จะประณีต ยามที่อยู่ในมือของนักดนตรีจึงดูเป็นสิ่งที่มีค่าส่งประกายวิบวับเห็นเด่นชัดอยู่บนเวที 

    Stradivari ยังประดิษฐ์เครื่องดนตรีอื่นๆเช่น พิณฝรั่งหรือ Harp กีตาร์ วิโอล่า และ เชลโล่ อีกด้วย รวมทั้งสิ้นประมาณ1,100 ชิ้น และยังคงมีเครื่องดนตรีประมาณ 650 ชิ้นที่ยังคงใช้เล่นบรรเลงอยู่ในวงดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลก
    หลังจากที่ Antonio Stradivariusถึงแก่กรรมไปแล้วยังมีไวโอลินอีกนับพันชิ้นที่ถูกผลิตขึ้นตามรูปแบบดั้งเดิม และมีการประทับตรา Stradivarius ไว้ด้วย 

    ตราที่ใช้ประทับไม่ว่าจะเป็นของแท้หรือของที่ทำขึ้นใหม่ก็ตาม จะใช้คำเป็นภาษาลาตินว่า Antonius Stradivarius Cremonensis Faciebat Anno (Date) ซึ่งหมายถึงชื่อผู้ประดิษฐ์ Antonio Stradivari ชื่อเมือง Cremona ปีที่ประดิษฐ์ และตามด้วยวันที่ ซึ่งอาจจะเป็นการพิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือก็ได้ 

    ส่วนของที่ผลิตขึ้นภายหลังตามแบบดั้งเดิมนั้น ผลิตขึ้นหลังจากปีค.ศ.1891 เป็นต้นมาซึ่งจะมีการใส่ประเทศผู้ผลิตเป็นภาษาอังกฤษเติมที่ข้างท้ายลงไปด้วยเช่น Made in Czechoslovakia หรืออาจจะเป็นคำสั้นๆว่า Germany ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา และต้องใส่รายละเอียดต่างๆตามระเบียบที่ถูกกำหนดขึ้นสำหรับสินค้านำเข้า

    ปัจจุบันในพิพิธภัณฑ์ Smithsonian's National Museum of American History มี"Servais"อันเป็นเชลโล่ซึ่งประดิษฐ์โดย Stradivari เองในปีค.ศ.1701 โดยได้รับการดูแลและบำรุงรักษาเป็นอย่างดี ชื่อของ Servais นั้นได้มาจากชื่อของนักดนตรีเอกชาวเบลเยี่ยมผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่19 Adrien Francois Servais (1807-1866) ผู้ที่ใช้เชลโล่คันนี้เล่นประจำตัวตลอดเวลา ซึ่งเชลโล่คันนี้ยังถูกนำออกมาเล่นในการบันทึกเสียงให้กับการแสดงดนตรีของพิพิธภัณฑ์ด้วย 

    เมือง Cremona ณ ศาลาว่าการประจำเมือง ที่บนชั้นสองเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องดนตรีที่มีชื่อของโลกถึงเก้าชิ้น และสองในเก้าเป็นเครื่องดนตรีของ Strdivarius ที่ถูกผลิตขึ้นในปีค.ศ.1715 ทั้งสองชิ้นถูกตั้งชื่อว่า "Clisbee" และ "Cremonese "
    เครื่องดนตรีทั้ง 9 ชิ้นจะถูกนำออกมาจากตู้ทุกวันเพื่อให้ Andrea Mosconi ผู้มีหน้าที่ดูแลเครื่องดนตรีทั้งหมดให้อยู่ในสภาพเหมือนวันวาน โดยที่เขาจะต้องมีหน้าที่เล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในระหว่างเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเขาต้องใช้โสตประสาทที่ละเอียดอ่อนของเขาสังเกตถึงความพริ้วไหวและอ่อนหวานของเสียงจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นด้วย หากเครื่องดนตรีชิ้นใดมีเสียงเพี้ยนหรือบกพร่อง ก็จะได้ทำการส่งไปยัง"หมอเสียง" ให้ทำหน้าที่ปรับปรุงหรือซ่อมแซมเสียแต่ต้นมือ Andrea Mosconi กล่าวว่า"เครื่องดนตรีจะไร้วิญญาณอย่างสิ้นเชิง หากห่างจากการเล่นแม้เพียงวันเดียว" 

    ในกระบวน"หมอเสียง"หรือผู้ชำนาญในการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายนั้น มีจำนวนน้อยมากเรียกได้ว่าแทบนับคนได้ บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่หลงไหลในเครื่องดนตรีเหล่านี้อย่างมาก และทุกคนอาจนับได้ว่าเป็นนักดนตรีชั้นครูได้เช่นกัน เขาต้องใช้เวลาในการเสาะหาวัสดุต่างๆที่มีการใช้มาแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันล้วนร่อยหรอไม่มีมากเช่นก่อนซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการเสาะหาจากดินแดนแสนไกล เพื่อนำใช้ในการซ่อมแซมดูแลรักษาให้เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีสภาพเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงกับของเดิมที่สุด และการซ่อมแซมก็ยังคงใช้มือเหมือนวิธีดังเดิมซึ่งต้องปฏิเสธการใช้เครื่องจักรกลและเครื่องทุ่นแรงทั้งหลาย เพราะหากผิดพลาดไปแล้วก็ไม่อาจเรียกคืนได้ 

    ผลงานทุกชิ้นของ Stradivarius จึงกลายเป็นเพชรน้ำเอกของวงการดนตรีของโลก หากวงดนตรีใดมีเครื่องดนตรีของ Stradivarius แม้นเพียงชิ้นเดียว ก็สามารถยืดอกเชิดหน้าได้อย่างภาคภูมิใจ ที่มีของวิเศษแห่งปฐพีนี้อยู่ในครอบครอง

    อ้างอิงจาก http://www.debsirinband.com/nuke/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=22

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×