ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรียนครูที่ไหน ไม่ภูมิใจเท่า มศว (หลักสูตร กศ.บ. 5 ปี มศว)

    ลำดับตอนที่ #60 : [[ ความเป็นครู ]] ของนิสิตครู มศว

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.48K
      0
      3 เม.ย. 53

    ความเป็นครูของ

    นิสิตครู มศว

                  นิสิตครู หรือ นิสิต กศ.บ. 5 ปี ทุกวิชาเอก ทั้งคณะศึกษาศาสตร์และคณะร่วมผลิต อันได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะพลศึกษา คณะสังคมศาสตร์ กศ.บ. 5 ปี รุ่นที่ 2 จบการศึกษาปีการศึกษา 2552 รวม 261 คน ทางคณะศึกษาศาสตร์ได้จัดสัมมนาวิชาการหลังการปฏิบัติการสอนและฝึกประสบการณ์ 2-3 มีนาคม 2553 ณ อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

                 

                  อธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ได้เปิดสัมมนาและให้โอวาท ความเป็นครูแก่นิสิตครู เนื้อความดังนี้

                  มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ คณะร่วมผลิต โรงเรียนสาธิต และโรงเรียนฐานปฏิบัติการสอนและฝึกประสบการณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการปฏิบัติการสอนและฝึกประสบการณ์ใช้เวลา 2-3 ปี ขณะนี้เข้มแข็งน่าชื่นชมดีมาก 2-3 เรื่องด้วยกัน

                  1. เรื่องการจัดการระบบอาจารย์นิเทศการสอนที่เข้มแข็งทั้ง 3 กลุ่ม คือ อาจารย์นิเทศวิชาชีพครู อาจารย์นิเทศวิชาเฉพาะ และอาจารย์นิเทศประจำโรงเรียน

                  2. กำหนดให้นิสิตปฏิบัติการสอนและฝึกประสบการณ์ 2 ภาคการศึกษา โรงเรียนสาธิต มศว แห่งใดแห่งหนึ่ง 1 ภาคการศึกษา และโรงเรียนอื่นอีกแห่งหนึ่ง 1 ภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่กว้างและหลากหลาย

                  3. นิสิตต้องทำวิจัยในชั้นเรียน (Action Research) ระหว่างปฏิบัติการสอนและฝึกประสบการณ์

                  นอกจากนั้นยังต้องมีแผนการสอน บันทึกการสอน แฟ้มสรุปงานที่เข้มแข็งอีกด้วย

                 

                  อธิการบดีได้ให้โอวาทฝากนิสิตครูไว้ 5 ประเด็น

                  ประการแรก นิสิตครู มศว ทุกวิชาเอก ทุกคน ผ่านการเรียนวิชาเอก วิชาโท วิชาชีพครู วิชาศึกษาทั่วไป 5 ปี ทุกคนมีความรู้ที่เข้มแข็งและความรู้พื้นฐาน พื้นและ ฐานเหมือนกับพื้นและเสาเข็ม ฐานของบ้านที่มีความสำคัญมาก รู้กระบวนการถ่ายทอดและสืบทอดความรู้ ความรู้อาจพิจารณาได้ 2 ด้าน คือ รู้ลึกและรู้รอบ เราต้องรู้วิชาชีพของเราให้ลึกล้ำที่สุด และเราต้อง รู้รอบ ด้วย รู้รอบมาจากการแสวงหา การเรียนรู้ตลอดชีวิต การรักการอ่าน การอ่านที่นอกเหนือจากศาสตร์ในวิชาชีพของเรา การรู้รอบทำใหเป็นครูที่ดี เป็นนักวิชาการ เป็นนักคิดในอนาคต รู้เฉพาะวิชาเอกไม่สามารถเป็นครูที่ดีได้

                  ความรู้ต้องผ่านการแสวงหา ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายเข้มแข็ง ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จึงจะตกตะกอนเป็นผลึกความรู้ความคิด Crystalแล้วจึงจะก่อเกิดสติปัญญา สติ และ ปัญญา สติที่เป็นหางเสือของปัญญา

                 

                  ประการที่สอง  ทุกคนมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการสอนและฝึกประสบการณ์ที่ดีมาก ทั้งการสอนและประสบการณ์ที่หลากหลายในระบบโรงเรียน ประสบการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักเรียน ในโรงเรียนแต่ละแห่ง ประสบการณ์จากการทำวิจัยในชั้นเรียน การทำแผนการสอน บันทึกการสอน แฟ้มผลงาน และอื่นๆอีกมากมาย ประสบการณ์พื้นฐานที่ดีย่อมก่อให้เกิดศรัทธา เกิดพลังในการเป็นครูที่ดีในอนาคตแล้วประสบการณ์วันแล้ววันเล่า ถ้าเราทุ่มเทและจริงใจกับประสบการณ์เหล่านั้น เราจะเป็น ครูพันธุ์ใหม่ ครูมืออาชีพที่เป็นคุณค่าแก่งสังคมและประเทศชาติที่แท้จริงตลอดไป

     

                  ประการที่สาม อาชีพครูนั้น อาจเรียกได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้สอน อาจารย์ ครู คำว่า ครู เกี่ยวข้องกับ ความเป็นครู ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับผู้คนในอาชีพนี้ การเป็นผู้สอน การเป็นอาจารย์นั้นง่าย แต่การเป็นครูที่ มีความเป็นครู ย่อมยากยิ่งขึ้นและถ้าต่อยอดเป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักคิด ก็นับว่ายากยิ่งขึ้น ต้องมีผลึกสติปัญญาเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

                  เรารู้คำว่า ครู มาจากคำว่า ครุ หรือ คุรุ ที่แปลว่าหนัก ฝรั่งก็ใช้คำว่า Guru หรือกูรู ที่เกี่ยวข้องกับการแบกรับงานหนัก ความดีงาม ความเก่งกาจ คุณธรรมความดีงามไปพร้อมกัน ในอินเดีย ครุ ยังหมายถึง รด เช่น การรดน้ำต้นไม้ให้เจริญงงอกงาม เติบโตไม่เหี่ยวเฉา เมื่อครูรดน้ำก็ต้องรดให้หมด ให้ความรู้ให้หมด เราจะได้แสวงหาความรู้มาเติมอีก และยังหมายถึง เย็น ใครเข้ามาหา นักเรียนเข้ามาหา ลูกศิษย์เข้ามาหา ต้องเย็นกลับไป ไม่ใช่ทุกข์กลับไป ร้อนกลับไป ความเป็นครู จึงมีสันติภาพมากมายหลายอย่าง

                  การเป็นครูที่ดีจึงต้องมีความอดทนเป็นเลิศ เสียสละเป็นเลิศ ถ้านอกเหนือจากนี้สมควรเปลี่ยนอาชีพ ครูต้องเป็นผู้ขจัดความมืด ครูต้องเป็นผู้ขจัดอวิชา มศว เอาคำว่า วิชชา มาใช้เป็นชื่อ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ซึ่งหมายถึง การรู้แจ้ง ปฏิบัติแจ้ง บนฐานภูมิปัญญาที่ติดดิน ตีนติดดิน

                 

                  ประการที่สี่ ครูต้องเป็นผู้มีคุณธรรมความดีงาม เป็นต้นแบบสังคม เป็นตัวอย่างของสังคม เป็นแรงบันดาลใจให้กับสังคม เด็กและเยาวชน เป็น ปราชญ์ผู้ทรงศีล ประหนึ่งผู้ทรงศีลในแต่ละศาสนา มีคุณธรรมความดีงาม ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โลกใบนี้

                  และขอฝากสังคหวัตถุ 4 ทางพุทธธรรมไว้ให้กับคุณครูทุกคน

                  ทาน ผู้ให้ ผู้เสียสละ ผู้อุทิศสิ่งต่างๆ

                  ปิยวาจา วาจาอันเป็นที่รัก เป็นกัลยาณมิตร เป็นแรงบันดาลใจ

                  อัตถจริยา เป็นผู้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น

                  สมานัตตตา เป็นผู้เอาตัวเองเข้าสมานเพื่อความดีงาม เพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งปวง

     

                  ประการสุดท้าย ประการที่ห้า พลังแห่งอุดมการณ์ สิ่งที่มักขาดในทุกวิชาชีพและทำให้วิชาชีพนั้นอ่อนแอ คือ พลังอุดมการณ์ รวมทั้งระบบข้าราชการไทยที่เราไม่สามารถจะได้ข้าราชการทุกคนที่มีอุดมการณ์ เพื่อปฏิบัติงาน ข้าของราชการ ที่ทุ่มเท เสียสละ กัดติด และเฉลียวฉลาดได้ อาชีพครูอาจารย์ก็เช่นกัน

                  อุดมการณ์เป็นการกระทำ ความคิด จุดยืน พฤติกรรมที่มุ่งมั่น ดิ่งเดี่ยว ยั่งยืน ในสิ่งที่เป็น อุดม ถูกต้อง ดีงาม เสียสละ เพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม เพื่อชุมชน เพื่อองค์กร อย่าลืมว่ามีคำว่า เพื่อ อยู่ด้วย เป็นการ กัดติด ในวิชาชีพ ในสิ่งที่เป็นคุณแก่สังคม ในสิ่งที่มีความดีงาม เป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมด้วยเช่นกัน อุดมการณ์ต้องอาศัย ศรัทธา อย่างแรงกล้าต่อสิ่งนั้น ต่อวิชาชีพนั้น ต่อเรื่องนั้นๆ อารยวัฒิ 5 ประการ วิถีแห่งความเจริญงอกงาม ปรัชญา การศึกษาคือความเจริญงอกงาม ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาอารยวัฒิประการแรก ศรัทธา จึงเป็นหลักชัยแห่งอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ถ้าใครเป็นครูอาจารย์ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแล้วขาดศรัทธา ขาดอุดมการณ์ ก็สมควรตาย

                 

                  อธิการบดีเชิญชวนให้ดูภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ในโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ฉายเป็นตอนๆ วันจันทร์และวันอังคาร เรื่อง หมอหงวน แสงดาวแห่งศรัทธา แสงดาวแห่งศรัทธา เป็นเพลงประกอบแต่งคำร้องและทำนองโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ศิษย์เก่าของ มศว เป็นเพลงโปรดของชาว 14 ตุลาคม 2516 อธิการบดีและรองอธิการบดี ผศ.อำนาจ เย็นสบาย ด้วยเช่นกัน หมอหงวน คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หนึ่งในผู้มีอุดมการณ์ช่วง 6 ตุลาคม 2519 ไปทุกข์ยากเสียสละอยู่ที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกศ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล

     

                  หมอ ศิษย์เก่าต้นแบบ มศว คุณหมอวรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ที่ไปทุกข์ยากเสียสละอย่างยิ่งอยู่ที่อุ้มผาง จังหวัดตาก จนถึงวันนี้ ก็มี อุดมการณ์สูงส่ง ไม่น้อยหน้าใคร

                  หลักแนวคิดความเป็นครูของนิสิตครู ครูพันธุ์ใหม่ มศว จึงเป็นแก่นสาระที่สำคัญยิ่งของการอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ความเป็นครูอย่างแท้จริง

     

     

    ขอผู้มีอาชีพครูบาอาจารย์พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ

                 

    ที่มา คอลัมน์ นวัตกรรมและจุดเปลี่ยน โดย ลมแล้ง

    SWU WEEKLY 24 มีนาคม 2553 ฉบับที่ 139

     

     

    หากวิเคราะห์เนื้อความให้ดีดี

    ผลผลิตนิสิตครู กศ.บ. 5 ปี ของ มศว

    คือ การเป็นปราชญ์ผู้ทรงศีล

    เน้นครูที่มีอุดมการณ์ พลังแห่งศรัทธา และคุณธรรมงามดีงามทำเพื่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติ เด่นนำครูที่เก่งแต่เนื้อหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นครูที่เป็นผู้ที่เจริญงอกงาม ต้องเดินก้าวนำเอาการศึกษาและความดีงามประกอบกันไป ตามปรัชญาของ มศว ที่ว่า การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม ด้วยการงอกงามตามอารยวัฒิ 5 ประการ

    เพราะเรามั่นใจว่า ครู มศว, แพทย์ มศว, ทันตแพทย์ มศว, พยาบาล มศว, นักพัฒนาชุมชน มศว, รวมทั้งนิสิตวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง และหลากหลายอาชีพ คือผลผลิตที่สำคัญของ มศว ที่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นของประเทศไทย
    เป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้บุกเบิกการศึกษา เป็นผู้สร้างสังคมให้เข้มแข็ง
    เราสร้างผลผลิตที่ติดดิน รู้ร้อนรู้หนาวไปกับสังคม
    ดังนั้นจึงมั่นใจได้เลยว่า 
    "ผลผลิตของ มศว คือผลผลิตที่ลงสู่ชุมชนโดยแท้จริง และทำเพื่อชุมชนโดยแท้จริง"

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×