ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรียนครูที่ไหน ไม่ภูมิใจเท่า มศว (หลักสูตร กศ.บ. 5 ปี มศว)

    ลำดับตอนที่ #54 : [[ มศว ๖๐ ปี ศรีสง่ามหานคร ]]

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.31K
      1
      28 มี.ค. 53

    "จุดเปลี่ยน มศว"

    และแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
    มศว
    60 ปี ศรีสง่ามหานคร

    จากรากฐานของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือ "โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง" และ "วิทยาลัยวิชาการศึกษา" ที่ได้วางรากฐานทางการศึกษาไว้อย่างเข้มแข็งในสังคมไทย ในสังคมประชาธิปไตย รากฐาน 6 ทศวรรษ ที่ได้ส่งผ่านอุดมการณ์และแนวคิดทางการศึกษาหยั่งรากลึกและกระจายไปทั่วสังคมไทย การปรับเปลี่ยนและพัฒนาจาก สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเฉพาะทาง มาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยพหุศาสตร์ หรือ มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ในห้วงเวลา 3 ทศวรรษเศษ มหาวิทยาลัยพหุศาสตร์ที่มุ่งสร้างพลังร่วมจากศาสตร์ที่หลากหลาย พลังร่วมเพื่อการขับเคลื่อนสติปัญญาสังคมให้ทรงพลัง บนฐานการค้นคว้าวิจัยและความเป็นเลิศทางวิชาการ

    แม้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลาของการฟักตัว ความรุ่งเรือง การปรับตัว มีประสบการณ์ มีจุดแข็ง มีจุดอ่อน ตามวิสัยและพฤติกรรมขององค์กร ของการบริหารจัดการในแต่ละช่วงกาลเทศะ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางพัฒนาการและการปรับเปลี่ยนนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ได้สั่งสมทุนและศักดิ์ศรีแห่งความเข้มแข็งดีงามไว้มากมาย มีศักดิ์ศรี มีตัวตน มีอัตลักษณ์ ที่ชาวมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและสังคมไทยต้องภาคภูมิใจร่วมกัน เฉกเช่นองค์กรการศึกษาอื่นๆ

    หลังจากการปรับตัวเป็นมหาวิทยาลัยพหุศาสตร์ ในห้วงเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สงครามเย็นระหว่างซีกทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างรุนแรง กระแสสังคมและกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้สังคมโลกเปลี่ยนไป คอมมิวนิสต์ล่มสลาย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ ทั้งบวกและลบ ทุนนิยมปรับตัวจนแข็งกระด้าง วิกฤตโลกขยายตัวทั้งด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จำนวนประชากร สุขภาวะ อาหาร พลังงาน คุณธรรม จริยธรรม ท่ามกลางกระแสและการปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็อยู่ในช่วงเวลาที่ปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย เช่นกัน

    ปัจจุบัน ศาสตร์เก่าที่เป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่วนหนึ่งดำรงความเข้มแข็งไว้ได้ ส่วนหนึ่งต้องปรับตัวหรือพัฒนาอย่างจริงจัง ศาสตร์ใหม่ได้ก่อเกิดและพัฒนามาระยะหนึ่ง ระดับหนึ่ง จนสามารถลงหลักปักฐานทางวิชาการได้อย่างเข้มแข็งพอสมควร ซึ่งต้องทำงานหนักต่อไป พัฒนาการของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาถึงรอยต่อ ก่อนและหลัง 6 ทศวรรษ ท่ามกลางกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว วิกฤตโลกทวีความรุนแรง การศึกษาในกระแสโลกและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก การตรวจสอบและประเมิน การจัดอันดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในสังคมโลกบีบคั้นมหาวิทยาลัยมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้ตองขับเคลื่อนและผลักดันตนเองอย่างรุนแรง ท่ามกลางตลาดมหาวิทยาลัยนับร้อยในสังคมไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะมีพื้นที่อยู่ตรงไหนของสังคมไทยและสังคมโลก เราจะกำหนดคุณภาพและศักดิ์ศรีไว้ตรงไหน เราทุกคนต้องร่วมกันตอบโจทย์และแก้โจทย์ที่แสนยากนี้

    ด้วยภาวะปัจจัยมากมาย

    ด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

    ด้วยความเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิ

    ด้วยศักดิ์ศรีทางวิชาการที่เข้มแข็งแต่อดีต

    หนึ่งไม่เป็นสองรองใคร

    และด้วยการคาดหวังของสังคมอย่างสูง

    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงประกาศเกียรติคุณ "มศว 60 ปี ศรีสง่ามหานคร" 28 เมษายน 2552 และประกาศ "จุดเปลี่ยน มศว" ในห้วงเวลาเดียวกัน

    จุดเปลี่ยน มศว

    "จุดเปลี่ยน" มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในช่วงเปลี่ยนผ่านวาระ 60 ปี เปลี่ยนผ่านสามมิติ ดังนี้

    1.       มิติวิสัยทัศน์ (Vision)

    2.       มิติสารัตถะ (Essence)

    3.       มิติภูมิสังคม (Sociogeographic)

    "วิสัยทัศน์องค์กรใหม่" บนรากฐานของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่สะท้อนใน 9 ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการมหาวิทยาลัย

    1.       ยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย

    2.       ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคม

    3.       ยุทธศาสตร์การสืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมและศิลปะ

    4.       ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพนิสิต

    5.       ยุทธศาสตร์การประกันคุณภาพการศึกษา

    6.       ยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อสังคม

    7.       ยุทธศาสตร์การบริหารระบบและบุคคล

    8.       ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารทรัพย์สิน

    9.       ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

    "สารัตถะของการเป็นมหาวิทยาลัย" คือแก่นสาระทางด้านวิชาการและวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ความเป็นเลิศทางวิชาการ และ "ภูมิสังคม" การสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมใหม่ระหว่างชุมชนวิชาการกับชุมชน สังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้งวัฒนธรรมการทำงานและการสร้างพลังร่วม (Synergy) ประชาคมมหาวิทยาลัย โดยมุ่งการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่ออนาคต อนาคตที่เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันด้วยปัญญาและสันติสุข

    วิสัยทัศน์

    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีปรัชญาและอุดมการณ์ที่แสดงนัยสำคัญของการเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ก้าวหน้า เปลี่ยนแปลง สอดรับบริบทโลกและสังคมสืบเนื่องมาคือ "การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม"

    "สิกฺขา วิรุฬฺหิ สมฺปตฺตา"

    "Education is Growth"

    ปรัชญาและอุดมการณ์ที่ชาว มศว ต้องตีบทให้แตก เรามีวัฒนธรรม จรรยาบรรณ หรือธรรมะ ที่ทรงคุณค่าคือ "ปัญญาธรรม คารวธรรม สามัคคีธรรม" ใครอยู่ในองค์กรโดยไม่ใช้ปัญญา ใครขาดความนับถือซึ่งกันและกัน ใครก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานอิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว ล้วนเป็นบุคคลที่อยู่นอกเหนือ "ความเป็น มศว" ซึ่งต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน

    วิสัยทัศน์และ "จุดเปลี่ยน มศว"

    1.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นองค์กรวิชาการในระดับอุดมศึกษา ที่มีพื้นที่และมีความสง่างามในสังคมไทยและสังคมโลก

    2.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีอัตลักษณ์ ความเข้มแข็งและลุ่มลึกทางวิชาการ สร้างนวัตกรรมทางวิชาการ ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ชุมชน ติดดินและเป็นผู้ให้

    3.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บริหารจัดการบนฐานอัตลักษณ์ มาตรฐานและดัชนีชี้วัดที่เป็นมาตรฐานสากล

    4.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาในเชิงรุกบนฐานสติปัญญา วิชาการและวิจัย

    5.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สร้างวัฒนธรรมบูรณาการ (Integral Culture) ในการพัฒนาพันธกิจและภารกิจของ "ความเป็นมหาวิทยาลัย"

    6.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เชื่อมั่นว่า นิสิตคือดวงดาวที่มีคุณค่าของมหาวิทยาลัยและสังคม ที่ต้องพัฒนาศักยภาพสูงสุด

    7.       มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ร่วมเรียนรู้และพัฒนาชุมชน พัฒนาชุมชนและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ 

    การปรับรื้อและสร้างสรรค์องค์กร

    ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไม่สามารถบริหารจัดการอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยหรือปล่อยไปตามยถากรรมได้ "คุณภาพย่อมรอมชอมไม่ได้" (Quality cannot be compromised) เราต้องบริหารมหาวิทยาลัยเพื่ออนาคต บริหารบนมาตรฐานและดัชนีชี้วัดคุณภาพ บนอัตลักษณ์ บนวัฒนธรรมองค์กร การพัฒนาที่ต้องก้าวไปสู่การปฏิรูป การปรับรื้อและสร้างสรรค์องค์กร

    การปรับรื้อและ "จุดเปลี่ยน มศว"

    1.       การปฏิรูปการศึกษาศาสตร์ และสร้างพลังทางการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนศาสตร์ทุกศาสตร์

    2.       การพัฒนาศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชีวิต ชุมชน และโลกสีเขียว (Green University) ที่เอื้อต่อเกษตรอินทรีย์และพลังงานทดแทน ในสังคมทุนนิยมยั่งยืน (Sustainable Capitalism)

    3.       การพัฒนาศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทางเลือกและสุขภาวะชุมชน ผสานวิทยาศาสตร์สุขภาพกระแสสากล

    4.       การพัฒนาศาสตร์ทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง บนฐานสังคมและวัฒนธรรมหลังสมัยใหม่ (Postmodern Society and Culture) ที่ตระหนักในคุณค่าของจิตวิญญาณการเป็นมนุษย์ การแบ่งปัน คุณธรรมและจริยธรรม และการอยู่บนโลกสีเขียวใบนี้อย่างสงบสุข

    5.       การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (New Image of SWU) ทั้งรูปธรรมและนามธรรม สภาพกายภาพ สาระที่สะท้อนวิสัยทัศน์และพฤติกรรมที่ดีงาม 

    ท้ายที่สุด ก็วาดหวังว่าการประกาศ "จุดเปลี่ยน มศว" ร่วมกัน จะส่งผลไปสู่พลังร่วมของชาวมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทุกคนบนฐานของความศรัทธาที่เรามีต่อตนเอง ต่อศาสตร์และวิชาชีพ ต่อความเป็นองค์กรวิชาการ ต่อมหาวิทยาลัย ต่อสังคมไทยและสังคมโลก ร่วมกันขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทั้งระบบ ซึ่งวิสัยทัศน์ สารัตถะ และภูมิสังคมในการประกาศ "จุดเปลี่ยน มศว" จะบูรณาการไว้ใน แผนกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ด้วยเช่นกัน


    ที่มา: 
    http://swu60.swu.ac.th/home/Default.aspx?tabid=3307&articleType=ArticleView&articleId=51

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×