ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วังอสุรา

    ลำดับตอนที่ #3 : สิิ้นกลิ่นสุคนธา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 339
      2
      23 พ.ค. 59


    สิ้นกลิ่นสุคนธา






    ปีพุทธศักราช 247จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม

     

    โทรเลข ทางไกลถูกส่งมาจากปีนัง ทันทีที่ผู้รับกวาดสายตาอ่านข้อความสั้นๆ เพียงบรรทัดเดียว ใบหน้าก็พลันซีดเผือด โทรเลขในมือหลุดปลิว แข้งขาอ่อนแรงทรุดฮวบลงกับพื้นโดยฉับพลัน ข้าบ่าวพากันหวีดร้องตรงเข้ารับร่างนั้นแทบไม่ทัน

    “หม่อมเจ้าคะ หม่อม!

    หม่อม ที่พวกบ่าวกำลังประคองอยู่ เป็นหญิงวัยกลางคนร่างผอมบาง ผมตัดซอยระดับหู สวมเสื้อแพรแขนกุดตัวยาวถึงสะโพกนุ่งซิ่นยาวครึ่งแข้ง ร่างกายประดับประดาเครื่องเพชรแพรวพราว บ่งบอกฐานะชั้นสูง 

    “โทรเลข นั่นเขียนไว้ว่ากระไร ? เอ็งอ่านให้ข้าฟังทีซิ แม่พลับ” เสียงเข้มงวดดังมาจากประตู หญิงชราซึ่งห่มสไบแพรสีจำปากับโจงกระเบนสีดอกโศกปรากฏตัวขึ้น ทำเอาความวุ่นวายเมื่อครู่สงบลงทันควัน

    หม่อมปราง ผู้ กุมอำนาจเด็ดขาดในวังแห่งนี้ประคองไม้เท้าเข้ามา ด้วยวัยที่ก่ำลังย่างเข้าเจ็ดสิบปี ทำให้เส้นผมซึ่งตัดสั้นเสยเป็นทรงดอกกระทุ่มขาวโพลนทั้งศีรษะ และเพราะเติบโตอยู่ในรั้ววังตั้งแต่เมื่อครั้นสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง หม่อมปรางจึงมีนิสัยเข้มงวดพิถีพิถันทุกเรื่อง แม้ออกจากวังมาแล้วหลายสิบปี ก็ยังไม่คลายความเด็ดขาด จนพวกข้าบ่าวพากันหวั่นเกรง

    พลับ ซึ่งรับใช้หม่อมปรางมานานคลานไปฉวยโทรเลขที่หล่นพื้นมาอ่านออกเสียง

    “คุณชายธีระพงษ์สิ้นแล้วด้วยโรคปอดปวมที่ปีนัง...เจ้าค่ะ”

    หม่อม ปรางนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ หญิงชรากำลังรู้สึกอย่างไรนั้น ไม่มีผู้ใดตอบได้ แต่พลับเชื่อว่าหม่อมปรางคงร้าวรานใจมิใช่น้อย คุณชายธีระพงษ์เป็นหลานรัก เป็นหนึ่งในทายาทที่ราชสกุลสินธพบริภักดิ์หลงเหลืออยู่ ทว่าหม่อมปรางผ่านยุคผ่านสมัยมานาน เห็นความสูญเสียนับไม่ถ้วน แม้สะเทือนใจก็จำต้องทรงตัวเข้มแข็งเป็นหลักให้คนในบ้าน

    หม่อมวิมลเสียอีกที่กลั้นน้ำตาไม่ได้ สะอึกสะอื้นจนตัวโยน บ่าวไพร่ต้องช่วยกันปลอบ

    แม่วิมล...” หม่อมปรางทอดเสียงอ่อนโยนแก่ลูกสะใภ้ “ลูกชายของเจ้าไปดีแล้ว ชายพงษ์เองก็ได้ทำหน้าที่สมเป็นลูกผู้ชาย เป็นราชองค์รักษ์ภัคดีต่อเจ้าต่อนาย ผู้คนจะจดจำแต่ความดีงาม”

    คน ในห้องต่างเงียบกริบ เมื่อครั้นคณะราษฎร์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย เจ้านายหลายพระองค์ที่จงรักภัคดีต่อล้นเหล้ารัชกาลที่ 6 รวม ถึงสมเด็จฯ กรมพระยา ที่คุณชายธีระพงษ์รับราชการด้วย ล้วนจำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ครั้งนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาตัดสินพระทัยไปประทับอยู่ที่เกาะปีนัง คุณชายธีระพงษ์ตามเสด็จไปด้วยความจงรักภัคดี

    นับ จากวันนั้นได้หลายเดือนแล้ว คุณชายไม่เคยมีจดหมายติดต่อกลับมาแม้แต่ฉบับเดียว ยามหมดสิ้นอำนาจราชศักดิ์ หม่อมปรางขอความช่วยเหลือจากใครมิได้สักคนเดียว มิตรสหายคุณหญิงคุณนายทั้งหลายต่างถอยห่าง ยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดของราชสกุลสินธพบริภักดิ์ได้จบสิ้นลงแล้ว

    จนกระทั่งในวันนี้มีนายทหารแต่งตัวโก้หรูนำโทรเลขทางไกลมาส่งข่าว...เป็นข่าวแรกและข่าวสุดท้ายที่วังสินธพบริภักดิ์ได้รับจากเกาะปีนัง

    หม่อม ปรางทอดมองลูกสะใภ้อย่างสังเวช ก่อนจะกวาดสายตามองห้องโถงโอ่อ่าอันประดับประดาด้วยเครื่องทองของมีค่า ข้าวของทุกชิ้นล้วนมีประวัติความเป็นมา อย่างชุดน้ำชาขลิบทองนั่น...ก็เป็นของพระราชทานเมื่อครั้นท่านชายผู้เป็น เจ้าของวังตามเสด็จไปยุโรป ราชสกุลสินธพบริภักดิ์เคยมีอำนาจราชศักดิ์ เคยหมอบเฝ้าใกล้ชิด ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบชื่นนาสา...แต่บัดนี้ ทั้งอำนาจวาสนาและกลิ่นสุคนธ์หอมหวนได้หมดสิ้นไปเสียแล้ว

    เนตร ฝ้ามัวเหม่อมองผ่านหน้าต่างไปยังวังเก่าแก่ที่โดดเด่นใต้แสงสลัวของฤดูฝน วังดูอ้อยสร้อย คล้ายคนแก่ที่จมกับปัจจุบันอันมืดมน หม่อมปรางสะกดกลืนความขมขื่นไว้ในลำคอ หวนนึกถึงคำสอนท่านว่า

    ยามจนคนเคียดแค้น          ชิงชัง

    ยามมั่งมีคนประนัง                        นอบน้อม

    เฉกพฤกษ์ดกนกหวัง          เวียนสู่ เสมอมา

    ปางหมดผลนกพร้อม         พรากสิ้นบินหนีฯ (1)

    “วัง ใหญ่โตปานนี้ ลำพังข้าคงดูแลไม่ไหว" หม่อมปรางละสายตาจากวัง "จะขายก็ใช่ที เพราะเป็นของล้นเกล้าพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทาน เห็นทีข้าคงจะต้องคืนกลับหลวงเสียแล้วเสียรอด ข้าดูแลไม่ไหว”

    “หม่อมจะคืนกลับหลวง แล้วพวกเราจะอยู่ที่ไหนเจ้าคะ ?” หม่อมวิมลที่กำลังร่ำไห้ได้สติขึ้นมาทันใด

    ตึกหงสบาท ที่ อยู่กันนี่ก็ไม่ได้คับแคบนี่น่ะ ข้าก็พอดูแลไหว ทรัพย์สินยังพอมีเหลือ ถ้าไม่สิ้นเปลืองมากนักก็อยู่กันได้ ข้าจะคืนเฉพาะตึกใหญ่” หม่อมปรางว่าพลางประคองไม้เท้าไปหยุดที่หน้าต่าง ทอดสายตาออกไปมองอุทยานกว้างขวางกว่าสิบไร่ แลเห็นวังสีขาวโดดเด่นท่ามกลางทิวก้ามปู ในแววเนตรขมขื่นและปวดร้าว

    “แต่ ท่านชาย ทรง หวงวังนี้มาก หม่อมอย่าคืนหลวงไปเลยนะเจ้าคะ อิฉันเห็นแล้วเสียดาย” หม่อมวิมลรีบคลานเข้ามาใกล้ เอ่ยค้านอย่างรวดเร็วด้วยสุ้มเสียงสั่นเครือ

    “แม่วิมลพูดเอาแต่ได้” หม่อมปรางเหลียวไปเอ็ดใส่ลูกสะใภ้ “ข้าจะเอาเงินที่ไหนไปบำรุง สิ้น ท่านชาย ข้า ก็ขนของเก่ามาขายจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่รู้จะหวงไว้ทำไมกับตึกโบราณเก่าแก่แบบนี้ เราเองก็เหลือกันอยู่แค่ไม่กี่คน จะไปหาบ่าวไพร่ที่ไหนมาอยู่ให้เต็ม...ท่านชาย เข้าใจแม่ใช่ไหมลูก ?” ประโยคสุดท้าย หม่อมปรางเอ่ยเสียงสั่นเครือกับภาพวาดสีน้ำมันขนาดเท่าตัวจริงซึ่งติดอยู่บนฝาผนังด้านหนึ่ง

    ท่านชาย ผู้เป็นโอรสของหม่อมปราง เป็นบุรุษหนุ่มรูปงามวรกายสูงสง่า ฉลององค์สูทสากลแบบตะวันตกที่ถือกันว่าโก้นักในสมัยนั้น ไรมัสสุ(2)บางเบาขับดวงพักตร์ให้ดูเคร่งขรึม เนตรคมเฉียบทอดลงต่ำลงมาฉายแววเมตตา ริมโอษฐ์ขยับแย้มนิดๆ คล้ายเปล่งคำปราศรัยทักทาย

    หม่อมปรางสะท้อนใจเมื่อมองพระรูปสีน้ำมัน  สุดท้ายจึงเบือนหน้าหนีไปทางอื่น สะกดน้ำตามิให้ไหล

    “เปิด วังให้เขาเช่าดีไหมเจ้าคะหม่อม ?” หม่อมวิมลออกความเห็น พลางปาดน้ำตาตั้งสติ “เดี๋ยวนี้พวกที่ได้ดิบได้ดีเป็นเศรษฐีใหม่มีเกลื่อนเมืองนะเจ้าคะ ข่าวว่าท่านผู้หญิงไพศาลอยากได้วังเก่าไว้ทำเป็นสโมสรเจ้าค่ะ แหม! ก็สามีของเธอเพิ่งได้เป็นใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้ คนเข้าไปกราบกรานถวายตัวกันใหญ่”

    “แม่เจ้าประคุณ ข้าไม่เอาด้วยหรอก!” หม่อมปรางแทบจะเกรี้ยวกราดออกมา ทำเอาพวกบ่าวไพร่พากันลนลานนั่งไม่ติดพื้น “วังของเจ้าของนายจะ ให้พวกไพร่มาเหยียบไม้กระดานรึ ข้าไม่ยอมทีเดียวล่ะ คืนหลวงเสียยังดีกว่า ยังพอเกียรติเป็นศักดิ์ศรีกับวงศ์ตระกูล ได้ทำประโยชน์บ้าง ไม่ใช่ปิดร้างไว้”

    “โธ่...หม่อมเจ้าขา แต่ถ้าให้ยกวังคืนหลวงไป ท่านชาย จะ โทมนัสขนาดไหน วังนี้เป็นพระเกียรติของราชสกุล  ถึงจะสิ้นชายพงษ์ไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือชายวัฒน์ที่ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาอีกนะเจ้าคะ”

    หม่อมปรางหัวเราะหึๆ ในลำคอ มิใช่ว่าหญิงชราจะไม่รู้ว่าหม่อมวิมลต้องการอะไร

    “ถ้า แม่วิมลอยากจะเก็บวังนี้ไว้ให้ชายวัฒน์ ลูกชายของหล่อน หล่อนก็รับหน้าที่หาอัฐหาเบี้ยมาดูแลบริวารเอาเองแล้วกัน ส่วนข้าล่ะจนปัญญา!

     

    Grab your coat and get your hat, leave your worry on the doorstep.Just direct your feet, to the sunny side of the street.(3)

    สาว น้อยในผ้าซิ่นสีพื้นยาวคลุมเข่าคลานไปไขลานเครื่องเล่นแผ่นเสียง ก่อนจะบรรจงวางปลายเข็มลงบนจานเสียงที่กำลังหมุนติ้วๆ แว่วเสียงเพลงใสแจ๋วของหลุยส์ อาร์มสตรองก้องกังวาน เธอยิ้มกว้างจนเห็นรอยบุ๋มที่สองข้างแก้ม ก่อนจะคลานกลับไปกอดออเซาะหญิงวัยกลางคนที่กำลังปั้นแป้งทำขนมช่อม่วง

    “วันนี้ลูกขอช่วยคุณแม่ทำขนมนะคะ” สาวน้อยว่าพลางคว้าแป้งมากำหนึ่งก่อนจะพยายามปั้นให้เป็นรูปดอกช่อม่วงอย่างทุลักทุเลเต็มแก่ จนคุณหญิงราชโยธินผู้เป็นมารดาอดหัวเราะออกมาไม่ได้

    “มาประจบแม่วันนี้ คงอยากได้อะไรล่ะซี แม่อมรา ?” คุณหญิงถาม

    “คุณแม่รู้ทันอยู่เรื่อยเลย” หญิงสาวยิ้มกว้างอย่างไม่ปิดบัง จนเห็นฟันขาวราวไข่มุกเรียงสวย 

    “มีอะไรก็ว่ามาสิ” คุณหญิงราชโยธินวางขนมลงในถาด แล้วรอคอยฟัง

    “คือ อย่างนี้ค่ะคุณแม่ขา” อมรานั่งตัวตรงอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะเล่า “คุณแม่จำคุณหญิงสาวิตรีได้ใช่ไหมคะ ? เธอจะร่วมหุ้นกับหลวงเมธาประศานส์สามีของเธอค่ะ ได้ยินว่าจะเปิดร้านหนังสือที่แถวเจริญกรุง ร้านใหญ่เชียวนะคะ มีทั้งหนังสือภาษาอังกฤษจากเมืองนอก หนังสือเก่า หนังสือดีๆ ของบ้านเรา”

    “แล้วแม่อมราจะมาออเซาะขออะไรจากแม่รึ ?” คุณหญิงถามด้วยท่าทางขรึมๆ

    “คุณ หญิงเธออยากให้ลูกไปช่วยเป็นเมเนเจอร์ดูแลร้านหนังสือค่ะ” เธอว่าก่อนจะยืดตัวด้วยท่าทางภูมิอกภูมิใจ แต่คุณหญิงราชโยธินถึงกับลมจับ รีบคว้าพัดมาวีแทบไม่ทัน

    “เป็นเสมียนรึแม่อมรา! พุทโธ่พุทธัง! ชาวบ้านเขาได้ลือกันน่ะสิ ว่าบุตรีคนเดียวของพันเอกพระยาราชโยธินอดอยากสิ้นเนื้อประดาตัวถึงขนาดต้องไปเป็นเสมียนให้เขา”

    “ไม่ ได้เป็นเสมียนนะคะคุณแม่” อมราร้องค้านทันที เธอเข้าใจดีว่าคุณหญิงราชโยธินผู้เป็นแม่ เก็บตัวอยู่ในโลกยุคเก่าจนไม่รู้ว่าโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว “เป็นเมเนเจอร์ต่างหากค่ะ ตำแหน่งนี้พวกฝรั่งเขานับหน้าถือตากันจะตาย มีอำนาจเป็นรองก็แต่เจ้าของเท่านั้น คุณหญิงเธอเห็นว่าลูกเป็นภาษาอังกฤษค่ะ เธออยากให้ลูกไปช่วย แล้วเธอจะแบ่งกำไรที่ได้ให้ลูกด้วย...นะคะคุณแม่” ว่าแล้วก็กอดมารดาอย่างประจบประแจง

    “ถึง อย่างนั้นก็เถอะ” คุณหญิงราชโยธินส่ายพัดอย่างแรง “ถนนเจริญกรุงกับบ้านของเราก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ต้องนั่งรถรางนั่งเรือข้ามฟาก เราเป็นผู้หญิงยิงเรือ จะเทียวไปเทียวมาในพระนครเหมือนเป็นผู้หญิงหากินก็ใช่ที แม่ไม่ยอมหรอก” คุณหญิงพูดไม่ผิดไปจากความจริง เพราะหลังจากพันเอกพระยาราชโยธินเกษียณ ก็ย้ายมาอยู่ริมคลองลัดมะยม กว่าจะไปถึงถนนเจริญกรุง ต้องสิ้นเปลืองระยะเวลาไม่น้อย แต่อมราเตรียมแก้ปัญหาไว้แล้ว

    “โธ่...คุณ แม่ขา ลูกจะหาบ้านสวยๆ ไว้เช่า คราวนี้ก็ไม่ต้องเทียวไปเทียวมาแล้ว แต่ลูกจะกลับมาเยี่ยมคุณแม่ทุกสัปดาห์เลยนะคะ” อมราพยายามยกข้ออ้างร้อยแปด แต่กลายเป็นว่ากลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คุณหญิงราชโยธินรีบคว้ายาหอมมาสูดแรงๆ ทันที

    “ตายจริงแม่เจ้าประคุณ! บ้านช่องเรารึก็ใหญ่โต แม่เป็นคุณหญิง พ่อเป็นพระยาพานทองมีหน้ามีตา แต่ให้ลูกสาวไปเช่าบ้านเขาอยู่ ชาวบ้านเขาจะลือกันว่าอย่างไร ?”

    “คุณแม่...” อมราร้องครางออกมาจะอธิบาย แต่มารดาชิงค้านเสียก่อน

    “แม่ อมรา อยู่บ้านกับแม่เถอะ นั่งเย็บปักถักร้อย หัดทำขนมเป็นแม่บ้านแม่เรือนดีกว่า นี่แม่ได้ข่าวว่าลูกชายเจ้าคุณวิศาลจะกลับจากเยอรมัน แม่คุยไว้แล้ว คุณหญิงวิศาลเธอจะพาลูกชายมาเยี่ยมดูตัวลูก”

    “อี๋! คุณแม่จะคลุมถุงชนหรือคะ ?” อมราถึงกับขนลุก ยังไม่ทันได้เอ่ยอะไร ก็พอดีกับเสียงทุ้มๆ ของพันเอกพระยาราชโยธินดังขัดขึ้นเสียก่อน

    “คุณ หญิงอย่าด่วนห้ามลูกไปเลย ลูกเราอุตส่าห์ไปเรียนเมืองฝรั่งหลายปี คงร้อนวิชา” บุรุษผู้พูดสวมกางเกงแพรสีน้ำเงินและเสื้อขาวบาง ใบหน้ามีหนวดเคราจางๆ เส้นผมมีสีเทาแซมแต่ง

    “เจ้า คุณพ่อ” อมราร้องออกมาอย่างดีใจ เจ้าคุณพ่อของเธอเปิดประตูออกมาจากห้องหนังสือก่อนจะเดินเข้ามานั่งใกล้ๆ ด้วยท่วงท่าสง่างาม พวกบ่าวพากันคลานเข้ามาพัดวี

    “บ้าน เมืองเราไปไกลแล้วนะคุณหญิง จะให้ลูกสาวจับเจ่าอยู่แต่ในบ้านคอยผัวอย่างเดียว มันไม่ได้หรอก แม่พริ้ง” บางครั้งเจ้าคุณพ่อของอมราจะเรียกคุณหญิงราชโยธินผู้เป็นภรรยาว่า แม่พริ้ง เหมือนเมื่อสมัยยังเป็นหนุ่มเป็นสาว

    “แล้ว เจ้าคุณจะปล่อยให้ลูกไปตะลอนๆ เช่าบ้านเขาอยู่หรือคะ ?” คุณหญิงทำน้ำเสียงประชดประชัน ก่อนจะเหลียวมาหาลูกสาวอย่างเอาเรื่อง “แม่อมรา แม่ว่าลูกน่ะ ทำตัวสงบเสงี่ยม ให้น่ารักเข้าไว้ แล้วแม่จะหาผู้ชายดีๆ มาให้ ถึงตอนนั้นลูกจะออกเรือนไปไหนก็ได้แม่ไม่ห่วง โบราณว่า เป็นสตรีสุดดีแต่เพียงผัว  ผู้หญิงเราอยู่คนเดียวได้ที่ไหนกันล่ะลูก ไม่แคล้วต้องมีคู่ทั้งนั้น เคยได้ยินไหม ? โบราณท่านว่าไว้

    อันตัวนางเปรียบอย่างปทุเมศ          พึ่งประเวศผุดพ้นชลสาย

    หอมผกาเกสรขจรขจาย                  มิได้วายภุมรินถวิลปอง(4)”

    “แต่ลูกขอยกเอาคำท่านว่าอีกคำมาแย้งเถอะค่ะคุณแม่...แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เลยจะดีกว่า(5)”

    “ต๊าย! แม่อมรา!” คุณหญิงเหวเสียงแหลม แต่เจ้าคุณผู้เป็นสามีหัวเราะชอบใจ

    “แล้ว นี่มองบ้านเช่าไว้ที่ไหนล่ะ แม่อมรา” เจ้าคุณพ่อเหลียวถามลูกสาว “ย่านเจริญกรุงผู้คนพลุกพล่าน พ่อเห็นมีบ้านช่องผู้ดีตกยากอยู่มาก มีตำหนักเจ้านายเก่าที่ปิดร้างให้เช่าก็หลายที่ พ่อจะช่วยหาดูให้อีกแรง”

    “เจ้าคุณจะยอมให้แม่อมราไปจริงหรือเจ้าคะ ?” คุณหญิงเหลียวไปถามสามี มือข้างหนึ่งพัดวีอย่างแรง

    พันเอกพระยาราชโยธินมองลูกสาวด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

    “ลูกอยากทำอะไร ถ้าไม่เสื่อมเสียศีลธรรม พ่อไม่ห้ามหรอก”

    คำ พูดสั้นๆ เพียงแค่นั้นทำให้อมราแทบจะกรีดร้องลั่นบ้านด้วยความดีใจ อมรารู้ดีว่าเจ้าคุณพ่อของเธอเป็นคนทันยุคทันสมัย ตั้งแต่ยังหนุ่มเจ้าคุณพ่อเคยตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปเมืองนอกหลายหน เห็นโลกกว้างมาก็มาก ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าคุณพ่อจึงรู้จักการวางตน ไม่ดื้อดึงต้านทานความเปลี่ยนแปลง ทำให้ตระกูลราชโยธินยังอยู่ยั้งมาได้แม้ในยุควิกฤติการเมืองเช่นนี้

    “อมรา รักเจ้าคุณพ่อที่สุดเลยค่ะ เรื่องบ้านเช่าไม่ต้องห่วงนะคะ คุณหญิงสาวิตรีเธอจะช่วยหาอีกแรง ทีแรกเธอชวนลูกไปอยู่ด้วยเหมือนกันค่ะ แต่ลูกเกรงใจหม่อมแม่ของเธอน่ะค่ะ น่ากลั๊วน่ากลัว”

    “หม่อมพรรณราย ขึ้นชื่อนักเรื่องตระหนี่ถี่เหนียว อย่าไปพึ่งเขาเลยดีกว่า” คุณหญิงราชโยธินบ่นอุบอิบ ก่อนจะหันไปคว้าแป้งมาปั้นขนมต่อ

    อมรา ซ่อนรอยแผลเล็กๆ ไว้ในใจ...คุณหญิงราชโยธินคงไม่ทราบว่าเหตุที่อมราไม่อยากพักบ้านเดียวกับ คุณหญิงสาวิตรี มิใช่เพราะหม่อมพรรณรายผู้ตระหนี่ถี่เหนียวเลยสักนิด!

    “คุณ แม่ขา" หญิงสาวสะบัดไล่ความคิดในใจออก ก่อนจะกอดออเซาะมารดาเสียงหวานใส "วันนี้ลูกขอแวะไปซื้อผ้าที่พาหุรัตนะคะ จะเอามาตัดผ้าสวยๆ ใส่ไปทำงาน  แล้วเดี๋ยวจะไปแวะดูภาพยนตร์ที่ศาลาเฉลิมกรุง วันนี้จะมีหนังฝรั่งเข้าฉาย  คุณแม่ขา...ลูกขอสตางค์หน่อยสิคะ” ว่าแล้วสาวน้อยก็คลานเข้าไปออเซาะมารดา ดวงตาใสแป๋วทำให้คุณหญิงราชโยธินใจอ่อนคว้าเงินออกมาให้ลูกสาวหลายบาท

    “เจ้า คุณล่ะนะ...ชอบสอนให้ลูกหัวนอก ถ้ารู้อย่างนี้ อิฉันไม่ส่งไปเรียนฝรั่งเศสให้กลายเป็นแหม่มจ๋าแบบนี้หรอก สู้เรียนการเรือนเหมือนลูกสาวบ้านอื่น จะได้ทำตัวเป็นผู้ลาภมากดีกับเขาบ้าง”

    พัน เอกพระยาราชโยธินไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงอะไรนอกจากหัวเราะในลำคอ ดวงตาของชายวัยกลางคนเฉียบแหลมพอที่จะรู้ว่าโลกต่อไปภายหน้าจะเปิดกว้างขึ้น กระแสความเปลี่ยนแปลงมากมายจะถาโถมเข้ามา หากมิรู้ทันเตรียมตัวตั้งรับให้พร้อม...ก็คงเป็นได้เพียงไม้ใหญ่ที่รอวันหัก โค่นเท่านั้น

     

     (1) โคลงโลกนิติ ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

    (2) มัสสุ ราชาศัพท์แปลว่า หนวด

    (3) เพลง On the Sunny Side of the Street(1933) ทำนองเพลงโดย  Jimmy McHugh ประพันธ์เนื้อโดย  Dorothy Fields ขับร้องโดย Louis Armstrong

    (4) สุภาษิตสอนหญิง ประพันธ์ โดยสุนทรภู่

    (5) พระราชนิพนธ์อิเหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย





     









    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×