คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #31 : [ผลตรวจรายงาน l อาจารย์มิไร] Zirolist Revenge มหาประลัยคนตายยาก
สวัสดีค่ะ วันนี้มาส่งรายงานเรื่อง Zirolist Revenge นะคะ ต้องขออภัยจริงๆ ที่ส่งช้า (อย่างที่เราแจ้งไปแล้วคือท่านสั่งตอนเราออฟไลน์ งานนี้รับเป็นกรณีพิเศษ) เนื่องจากตัวเราเองติดภารกิจหลายอย่างด้วย จึงมีการส่งต่อให้มิตรสหายท่านหนึ่งของเราช่วยดูให้ และร่วมกันออกความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม ขออภัยที่ส่งช้าค่ะ
Send: Zirolist Revenge มหาประลัยคนตายยาก
เรื่องย่อ (สปอยล์)
เรื่องเริ่มจากตัวเอก ‘จารัค เซอร์ ลีวาน’ ผู้เป็นประธานบริษัทฟอลเลนที่ผลิตอาวุธให้กับจักรวรรดิเฮเรด แล้วอยู่ๆ ก็เกิดเหตุวินาศกรรมที่ทำให้เขาตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย แต่พอเขาลืมตาตื่นอีกครั้งเขากลับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตด้วยโรคประหลาดที่เรียกว่า ‘เซอร์โรริส’ จากนั้นเขาก็ถูกกองกำลังไลท์การ์เดี้ยนพาไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดิเฮเรด พร้อมทั้งได้รับชื่อใหม่ว่า ‘กิลเซ่’ โดยแท้จริงแล้วกิลเซ่คือซาร์ส พ่อบ้านของจารัค ที่วางแผนมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยศัลยกรรมจนเหมือนกับจารัค ใช้ชีวิตแทนจารัคที่ตายไปแล้วมาตลอด ทำแม้กระทั่งสะกดจิตตัวเองเพื่อความแนบเนียน เพื่อจัดการกับโรคเซอร์โรริสนี้ (ที่จริงๆ แล้วเป็นโรคทางความคิด เป็นโรคคิดไปเองว่าตัวเองตายไปแล้ว) ด้วยการนำระบบไทแรนท์ไปทำลายระบบแพทริออท ซึ่งแพทริออทเป็นระบบปฏิบัติการที่มีความคิดเป็นของตนเองและควบคุมอาวุธอื่นๆ ได้ทั้งหมด หากสุดท้ายแล้วไทแรนท์กลับจะทำให้ระบบ Advance ขึ้น จึงต้องจบด้วยการใช้ขีปนาวุธทำลายเมืองทั้งเมือง โดยมีกิลเซ่และจารัคเป็นผู้เสียสละ เท่าที่มิไรจับใจความคร่าวๆ ได้คือประมาณนี้ค่ะ
โครงเรื่อง
ในส่วนของโครงและการดำเนินเรื่อง เราขอแบ่งปัญหาใหญ่ๆ เป็น 2 ปัญหา คือ 1.) ความสมเหตุสมผล และ 2.) ความน่าติดตาม
ในส่วนของข้อ 1. ความสมเหตุสมผล เราจะไม่แตะต้องส่วนที่เป็นพล็อตหลักอย่างที่กล่าวไว้ในส่วนบน แต่อยากพูดถึงความสมเหตุสมผลเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรื่องค่ะ เป็นรายละเอียดที่อ่านไปแล้วจะชะงัก อารมณ์สะดุดไปได้พอสมควรทีเดียว จริงๆ เข้าใจว่าจะทิ้งไว้ให้เป็นปริศนา แต่ด้วยความที่มันขัดแย้งกันเกินไป ทำให้เรารู้สึก “ไม่เนียน” และจะพลอยทำให้คนอ่านรู้สึกไม่สมเหตุสมผลได้ง่ายๆ ถึงแม้จะมีคำอธิบายในภายหลังก็ตาม
ตัวอย่างนะคะ
ในตอนแรกที่กิลเซ่มาถึงห้องพักที่อยู่กับเซอร์โรริสคนตายคนอื่น คำบรรยายบอกว่ามีซากไก่และมีกลิ่นคาวเลือด (ในตอนที่ห้า) แต่พอมาตอนที่กิลเซ่กินข้าวผัดอยู่ (ตอนที่เก้า) กลับกลายเป็นว่ามีเป็ดไก่ออกมาเต็มไปหมด... อ้าว แล้วซากไก่ล่ะคะ
แล้วถ้าเซอร์โรริสไม่ได้อยากกินเนื้อดิบ แล้วสัญชาตญาณในตอนแรกล่ะ ตอนที่รู้สึกว่าเนื้อดิบอร่อย ตอนที่กระโจนเข้าหาบิลลี่ล่ะ
หรืออย่างที่กิลเซ่ตื่นมาเป็นเซอร์โรริสครั้งแรก ตอนนั้นบรรยายไว้ว่าพูดไม่ได้ ร้องได้แต่แฮ่ๆ แต่ยังไม่จบตอนดีเลยกลับพูดได้แล้ว สื่อสารกับคนรู้เรื่องดีเสียด้วย
หรือเรื่องสมรรถภาพหูที่ดีเกินคนของกิลเซ่ ตอนแรกๆ แทบไม่ได้กล่าวถึงเลย สักพักก็พบว่าสามารถฟังได้ทั้งเสียงหัวใจ เสียงความคิด ทั้งๆ ที่ตอนเธอร์น่าหรือบิลลี่ปากแข็งใส่แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน กิลเซ่กลับอ่านไม่ออก แถมศักยภาพแบบนั้น ถ้าได้ยินเสียงระเบิดใกล้ๆ น่าจะมีอาการพอสมควรเลย ไม่ใช่ชิวๆ ไปแบบนี้ ฯลฯ
ควรระวังรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ด้วยค่ะ ลองไล่อ่านซ้ำอีกหลายๆ รอบดูนะคะ จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น เราเห็นอยู่หลายจุดพอสมควรที่ตอนแรกพูดอย่าง ตอนหลังเปลี่ยนไปอีกอย่าง
ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องการหาข้อมูลค่ะ ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นไซ-ไฟ (หรืออาจจะแม้แต่แฟนตาซี) แต่ความสมเหตุสมผลเป็นสิ่งที่ควรมีในนิยายทุกๆ ประเภทค่ะ ยิ่งในเรื่องที่อ้างอิงโลกจริงด้วยบางส่วนยิ่งจำเป็น
ตัวอย่างความไม่สมเหตุสมผลง่ายๆ นะคะ ในการทดลองวิทยาศาสตร์ของฟรีสกับกิลเซ่ ส่วนนั้นเป็นส่วนที่อ่านแล้วรู้สึกไม่เชื่อแทบจะทุกส่วนว่าสองคนนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์
กรณี “ข้าวผัด” (อันที่จริงแล้ว ข้าวผัดเป็นจุดเดียวในพล็อตหลักที่เราสะดุดค่ะ ด้วยความที่บริบทเป็นฝั่งตะวันตก ข้าวผัดเป็นอาหารเอเชีย ออกจีนด้วยซ้ำ มันขัดกันมากเกินไปจนรู้สึกว่าเอ๊ะ อ่านผิดเรื่องอยู่หรือเปล่า อย่างน้อยๆ เป็นรีซ็อตโต้ก็ยังดีค่ะ) สำหรับการทดลองที่ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเซอร์โรริสคืออะไรกันแน่ เราสามารถตอบคำถามที่สองคนนี้งงได้เลยนะคะ คือ ถ้าใส่สารอาหารให้เซอร์โรริสแล้วเกิดปฏิกิริยา ใส่น้ำตามไปทำให้เกิดปฏิกิริยายิ่งกว่า แต่ใส่น้ำเพียงอย่างเดียวไม่เกิดอะไรขึ้น
นั่นแปลว่าน้ำเป็น “stimuli” หรือ “ตัวกระตุ้น” ค่ะ
เป็นข้อสรุปง่ายๆ แบบพื้นฐานที่สุดตามหลักการวิทยาศาสตร์ทั่วไป ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย
อีกเรื่องคือกระบวนการทดลอง เราเข้าใจว่าการเขียนถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีศัพท์เทคนิคมากมาย เพียงแต่อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมีหลักการพื้นฐานอยู่บ้าง อย่างพื้นฐานในการทดลองคือการควบคุมตัวแปรค่ะ ตัวแปรควบคุมจะต้องเหมือนเดิมเป๊ะๆ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ปริมาณ วิธีการทดลอง ตัวสารอื่นๆ นอกเหนือจากตัวแปรศึกษา ฯลฯ แต่เท่าที่อ่านมาแทบไม่มีการควบคุมตัวแปรเลย
อย่างเช่น การฉีดสารอาหารใส่ในหัวใจ -- ไม่กลัวผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างจากการฉีดใส่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เลยหรือคะ เซอร์โรริสกินข้าวผัดแล้วลงสู่กระเพาะไม่ใช่หรือ กระบวนการระหว่างนั้นล่ะ -- กรณีนี้นับว่าไม่ได้ควบคุมตัวแปรค่ะ
ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องนิยามตัวแปรให้ชัดเจนด้วย อย่างเรื่องข้าวผัด -- โอเค -- สกัดข้าวผัดได้สารออกมาเป็น วิตามิน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ไอโอดีน… (ว่าแต่ข้าวผัดมีสารอาหารแค่นั้นจริงๆ หรือคะ อันนี้เราไม่รู้ ฮ่าๆ) แล้วเป็นวิตามินอะไร ไขมันประเภทไหน คาร์โบไฮเดรตอะไร ปริมาณเท่าไร เป็นไปได้จริงๆ หรือที่จะทำข้าวผัดให้ได้แบบเดียวกันเป๊ะๆ ทุกครั้ง ในเมื่อเคยมีครั้งหนึ่งที่บอกประมาณว่า “ถ้ารสชาติเปลี่ยน ก็ควบคุมเซอร์โรริสไม่ได้” แปลว่าข้าวผัดจะต้องเหมือนเดิมตลอด แต่ในเรื่องมีหลายคนทำมากจนเราไม่แน่ใจว่าทุกคนใช้สูตรเดียวกันหรือ แล้วต้องทำยังไงให้ได้เป๊ะแบบเดิมขนาดนั้น
(หรือถ้าจะบอกว่าเป็นโรคเกี่ยวกับความรู้สึก แปลว่าส่วนนี้เข้าข่ายข้อมูลในเรื่องขัดแย้งกันเองค่ะ)
ถ้าไม่ควบคุม ไม่ว่าจะทดลองซ้ำอีกเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็หาคำตอบไม่ได้ค่ะ
แล้วในเมื่อสกัดสารอาหารออกมาได้แล้ว อันนี้เป็นแค่ความสงสัยของเราเฉยๆ นะคะ ว่าทำไมถึงไม่ทำออกมาเป็นหัวเชื้อสำหรับฉีดเข้าสู่ร่างกายไปเลย ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งทำข้าวผัดตามสูตรอีกให้เสียเวลา
ฟังดู humiliate แต่ช่วงที่กล่าวถึงเซอร์โรริสแรกๆ เรารู้สึกได้ถึงการเหยียดความเป็นมนุษย์มากพอสมควรอยู่แล้ว คือถูกปฏิบัติยิ่งกว่าสัตว์ ไม่ใช่มนุษย์ เป็นแค่เครื่องมืออะไรสักอย่างที่ไม่มีชีวิตจิตใจ (จนกิลเซ่ยอมรับสภาพได้ง่ายๆ จนเราค่อนข้างตกใจ) ซึ่งเราไม่ว่าอะไรถ้าจะนำเสนอไปในมุมมองนั้น (ยกเว้นการยอมรับของกิลเซ่) จะทำหัวเชื้อออกมาฉีดอัดแทนการให้อาหาร เราก็ไม่รู้สึกว่าจะเหยียดหนักกว่าเดิมไปสักเท่าไร แถมสะดวกสบายกว่ากันด้วย ไม่ต้องเสี่ยงว่าจะผิดสูตร หรืออะไรแบบนั้น
จริงๆ ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่เรารู้สึกไม่เชื่อและสงสัย ด้วยความที่ธาตุอาหารมีเป็นร้อยเป็นพัน ทดลองสกัด ผสม ปรับเปลี่ยนทุกอย่างครบแล้วจริงๆ หรือ การที่เซอร์โรริสมีปฏิกิริยาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้กินเข้าไป นั่นแปลว่าได้ทดลองเรื่องกลิ่นหรือยัง เรื่องระบบประสาทล่ะ แล้วกว่าข้าวผัดจะลงไปถึงกระเพาะ กว่าจะย่อย กว่าจะหล่อเลี้ยง ต้องใช้เวลานานแค่ไหน มี threshold หรือปริมาณสารที่น้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นเท่าไร แล้วระบบการย่อยอาหารของเซอร์โรริสทำงานแบบไหน ระบบเลือดล่ะ ฯลฯ
หรือในตอนที่สรุปว่าเซอร์โรริสเป็นโรคทางจิตใจ จากข้อมูลที่ว่าโรคเข้าสู่กระแสเลือด ทำปฏิกิริยากับสารอาหารที่กล่าวไป ฉีดรวมกันแล้วเกิดการตอบสนอง เมื่อให้น้ำเปล่ายิ่งตอบสนองมาก แต่เมื่อให้เกลือ จะทำให้เซลล์ตาย (อ้อ ไอโอดีนไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกลือเสมอไปนะคะ)
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีส่วนไหนลากโยงไปถึงเรื่องความรู้สึกเลยค่ะ
การทดลองเรื่องพลาเซโบ อันนั้นสมเหตุสมผลนะคะ เราชอบด้วย เป็นวิธีที่ดีเลยแหละ แต่ข้อสรุปของการทดลองไม่ควรจะออกมาเป็นแบบนั้นค่ะ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าเซอร์โรไมน์เป็นเรื่องของความรู้สึก
การสรุปว่าเป็นผลทางจิตใจจัดว่าเลื่อนลอยมากสำหรับการทดลอง ด้วยความที่เรื่อง “จิตใจ” เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แม้แต่สายจิตวิทยาก็ยังต้องสรุปจากการทดลองซ้ำๆ เก็บเป็นสถิติ ค่าสหสัมพันธ์ หรืออะไรก็ว่าไป ต้องมีอะไรที่วัดค่าได้แน่นอนมากกว่านี้จึงจะสรุปได้ค่ะว่ามันไม่ใช่เรื่องทางกายภาพ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า “ใครก็สามารถสรุปผลแบบนี้ออกมาได้” ไม่จำเป็นจะต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ ด้วยความที่มันไม่มีเหตุผลหรือการทดลองอื่นใดมารองรับเลย
ปัญหาในตอนนี้คือยิ่งลงรายละเอียดเยอะเท่าไรยิ่งทำให้เกิดช่องโหว่ค่ะ
อย่างตอนที่ทดลอง แล้วฟรีสบอกว่าเซอร์โรไมน์มีลักษณะคล้ายฮีโมโกลบินในเลือด (ไม่ใช่เฮโลโกบินเน้อ) มีค่าเป็นฉนวนไฟฟ้า เนื่องจากเคยทดสอบจุดเดือด จะระเหยออกไปถ้ามีความร้อนถึง 100 องศา
ฉนวนไฟฟ้า แปลว่าจะไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับไฟฟ้า แต่ไม่เกี่ยวกับความร้อนค่ะ
ส่วนเรื่องการระเหย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น น้ำธรรมดา ที่ใกล้กับ 0 องศาก็มีการระเหยอยู่ดี เพียงแค่เมื่อถึงจุดเดือดจะระเหยเป็นไออย่างรวดเร็วเท่านั้น ซึ่งจุดเดือดกับความเป็นไฟฟ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ยกเว้นแต่จะแค่อธิบายคุณสมบัติเฉยๆ ว่าเซอร์โรไมน์เป็นฉนวนไฟฟ้า จุดเดือดสูง ความหนาแน่นต่ำ ฯลฯ
วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ ไม่จำเป็นจะต้องลงรายละเอียดของการทดลองมากนักก็ได้ค่ะ เพียงแต่ต้องปรับคำนิดหน่อย เขียนให้ครอบคลุม จะตัดฉากไปเลยก็ได้ หรือใช้คำพูดคร่าวๆ แค่ว่า “ทดลองทุกวิถีทาง” หรือ “เช็กทุกระบบในร่างกายแล้ว” ก็จะตัดปัญหาไปได้เยอะ ลองหาทางทำให้เนียนดูค่ะ
แต่ถ้าต้องการคำพูดที่แสดงถึงการทดลอง จุดนี้ต้องหาข้อมูลแล้วล่ะ ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมดก็ได้ ส่วนไหนไม่แน่ใจก็ไม่ต้องพูดถึง -- ไม่ใช่แค่ข้อมูลเรื่องนี้นะคะ ยังมีอีกหลายๆ ส่วนที่เราอยากชี้ให้เห็น คืออย่างที่บอกไปว่าการทำการบ้านเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ ซึ่งการหาข้อมูลพวกนี้ไม่ได้ยากเลย แค่กูเกิ้ลเสียหน่อยก็ได้แล้ว เพียงแต่ต้องให้เวลากับมันหน่อย
play safe เข้าไว้ค่ะ รับรองว่างานคุณจะน่าเชื่อถือขึ้นเยอะแน่ๆ
ยกตัวอย่างข้อมูลที่พบว่าผิดพลาดนะคะ
ภาวะสับสนภายในจิตใจ (hallucination) >> Hallucination คือการเห็นภาพหลอนค่ะ การมีสองตัวตนขัดแย้งกันเอง (ที่โซอี้กำลังสับสนอยู่ตอนนั้น) จะเรียกว่า Bipolar ไบโพลาร์ค่ะ คือสองบุคลิก
ร่างกายของเรซัสเป็นเหล็กไหล >> เหล็กไหล จะใช้ได้ในคำเปรียบเปรยว่า “แข็งแกร่งราวเหล็กไหล” หรืออะไรแบบนั้นค่ะ เพราะเหล็กไหลไม่ใช่ธาตุ ไม่มีสูตรเคมี แต่เหล็กไหลเป็น “ความเชื่อ” ของคนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไสยศาสตร์อย่างหนึ่งค่ะ เป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่ว่ากันว่ามีจิตวิญญาณอาศัยอยู่ คนจะไปเอาได้ต้องมีของและบารมีมากพอ เป็นเครื่องป้องกันภยันตราย อาวุธอะไรก็ใช้ไม่ได้เมื่อมีเหล็กไหลอยู่ใกล้ๆ ค่ะ
เครื่องบินรุ่น Air Force 1 >> AF1 ไม่ใช่รุ่นเครื่องบินค่ะ แต่เป็น radio call name (รหัสสัญญาณที่ใช้ระหว่างคุยวิทยุสื่อสาร) ที่ใช้เรียกเครื่องบินที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั่งอยู่ ทาสีขาวฟ้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์
ทีนี้ เครื่องที่ใช้เป็น AF1 ปัจจุบันคือ Boeing 747-200B เร่งความเร็วได้สูงสุด 0.84 มัค อย่างมากก็ 0.9 มัค แต่เครื่อง F-16 ที่บอกว่าไล่ตามไม่ทัน ความเร็วสูงสุดแบบบินต่ำอยู่ที่ 1.2 มัค บินสูงที่ 2.0 มัค… แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยค่ะที่ F-16 จะไล่ไม่ทัน (และ F-16 นี่จริงๆ ก็อายุพอๆ กับโบอิ้งเลยนะคะ ออกมาในยุคเดียวกัน ถ้าโบอิ้งเก่า F-16 ก็เก่าเหมือนกันค่ะ)
F-16 เร็วที่สุดในโลก >> ความเร็วอย่างที่ว่าไป แต่ F-16 ไม่ได้เร็วสุดเลยนะคะ อย่างน้อยๆ เครื่องที่ใช้งานปัจจุบันอยู่อย่าง F-22 ก็เร็วกว่าครึ่งมัคแล้ว
ว่าแต่… อันนี้ก็แค่สงสัยนะคะ คือถ้านับพวกที่ปลดประจำการไปแล้ว รุ่น SR-71 ที่เร็วที่สุดในโลก เร่งได้สูงสุด 3.3 มัค สร้างมาแล้วตั้งแต่ปี 1966 รุ่นที่พัฒนาตามมาก็เหยียบ 3 มัคได้เช่นเดียวกัน ในเรื่องของคุณวิทยาการน่าจะล้ำหน้าไปไกลพอสมควร จะไม่มีรุ่นไหนเร่งได้เร็วกว่า F-16 จริงๆ น่ะหรือ (ถึง F-22 จะเร็วกว่าอยู่แล้วก็เถอะ เราไม่รู้ว่าเครื่องบิน in-service ที่เร็วที่สุดในโลกตอนนี้คือรุ่นอะไร แต่ไม่ใช่ F-16 แน่ๆ ค่ะ)
จริงๆ มีเรื่องที่สู้กันบนท้องฟ้าอีก (เรื่องกฎฟิสิกส์ การต้านกระแสลม ฯลฯ) แต่ตรงนั้นเราอ่านแล้วค่อนข้างมึนๆ พอสมควร ขออนุญาตไม่พูดถึงนะคะ เดี๋ยวจะกลายเป็นพูดถึงผิดๆ ไป ส่วนอื่นๆ ขอจบไว้แค่นี้ก่อน เพราะแค่นี้ก็ยาวมากแล้ว
ส่วนข้อ 2. ความน่าติดตาม เราชอบการเปิดและปิดเรื่องของคุณมากค่ะ คุณเปิดเรื่องได้น่าติดตาม และจบได้สวยมาก การบิ้วด์อารมณ์ช่วงนั้นถือว่าทำได้ดีมากๆ ไม่เร่งรัดเกินไป มีช่วงทิ้งจังหวะและตัดฉากที่กำลังดี อย่างในตอนต้นคุณทิ้งปมและความน่าค้นหาของเนื้อเรื่องเอาไว้ได้ดีมากๆ ส่วนตอนจบคุณเก็บปมได้น่าสนใจไม่น้อย อ่านแล้วไม่ค้างคา แต่ก็ไม่บอกจนหมดเกินไป เล่นได้เข้าถึงอารมณ์ที่ควรจะเป็น
แต่ระหว่างนั้น ตั้งแต่พระเอกฟื้นขึ้นมาเป็นเซอร์โรริส ความน่าติดตามกลับไม่เข้าตาเราค่ะ
เรารู้สึกว่าการบรรยายเปลี่ยนไป เนื้อเรื่องยืดขึ้น อารมณ์ร่วมก็เทียบตอนต้นหรือตอนจบไม่ได้เลย กระแสเรื่องที่เอื่อยลงแบบนี้มันพานจะทำให้คนอ่านหมดกำลังใจอ่านไปได้ง่ายๆ ค่ะก่อนจะยิ่งหายไปเมื่อตัวร้ายชุดที่สองเข้ามา (กลุ่มไมน์ครัชน่ะค่ะ) อาจจะเพราะเริ่มรู้สึกยืดเยื้อ เน้นไปทางความตื่นตาตื่นใจกับศัตรูใหม่ๆ กับบทแอคชั่นที่ค่อนข้างยาวเสียมากกว่า ในขณะที่ปมต่างๆ ถูกทิ้งไว้รัวๆ โดยแทบไม่ได้เฉลย เยอะจนเราอ่านไปแล้วก็มึนค่ะ เราเก็บได้ไม่หมด บางส่วนก็จำไม่ได้ กลับมาเริ่มพีคอีกทีเอาตอนที่กิลเซ่คุยกับแพทริออทตอนท้ายๆ แล้วก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนจบ
การตัดตอนระหว่างบทก็มีส่วนมากนะคะ ถ้าทำให้คนอ่านรู้สึกค้างได้ จะเรียกความรู้สึกอยากอ่านได้อีกมากเลยล่ะ เพียงแต่ต้องมีตอนที่ได้ “พัก” ด้วย -- ตอนนี้ไม่มีช่องว่างให้คนอ่านพักหายใจเลย เรื่องเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดแบบนี้จะทำให้เหนื่อยได้ค่ะ ลองจับจังหวะดูดีๆ (แต่การพักนี่จะไม่ซีเรียสเท่าไร ถ้าทำให้กระแสของเรื่องตื่นเต้นน่าติดตามได้ตลอดเวลา)
ส่วนที่เหลือขอเก็บไว้ในเรื่องของภาษานะคะ น่าจะเข้ากับหัวข้อมากกว่า
ตัวละคร
เรื่องนี้จะว่าตัวละครเยอะก็ไม่ใช่ แต่บางฉากเปิดตัวละครใหม่มาหลายๆ ตัวพร้อมกันเลยทำให้งงว่าตกลงใครเป็นใคร เกี่ยวข้องยังไงกันแน่ ซึ่งจุดนี้ไม่ใช่ปัญหาเท่าไรค่ะ
หลักๆ จะขอพูดอยู่สองเรื่อง คือ 1.) นิสัยตัวละคร และ 2.) มิติของตัวละคร
ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อน ว่า “ “คาแร็กเตอร์” ตัวละครที่ชัด สมเหตุสมผล จะทำให้ตัวละครมี “มิติ” และจะทำให้เรื่อง “สมจริง” ค่ะ
ข้อ 1.) นิสัยตัวละคร ในเรื่องของนิสัยและการตีความ ขอออกตัวไว้ก่อนว่าจริงๆ เราไม่อยากแตะต้องในจุดนี้นัก เพราะไม่รู้ว่าคุณตั้งใจวางตัวละครให้เป็นคนอย่างไร จะพูดได้เต็มปากก็แค่ความไม่สมเหตุสมผลในการกระทำต่างๆ ของตัวละคร แต่เรื่องนิสัย พื้นฐานความคิด ฯลฯ ถือเป็นความคิดเห็นของเราแต่เพียงผู้เดียวในฐานะคนอ่านมากกว่าคนวิจารณ์ อาจจะตีความผิดหรือเข้าใจอะไรผิดก็เป็นได้ ต้องขออภัยล่วงหน้านะคะ
ปัญหาในตอนนี้คือ เรา “ไม่เชื่อ” ตัวละครหลายๆ ตัวในเรื่องนี้ค่ะ
ต้องยอมรับว่าเราสับสนกับนิสัยของตัวละครมาก อย่างจารัค (รวมไปถึงกิลเซ่ตอนที่ยังเข้าใจว่าตนเป็นจารัค) ที่ควรจะเป็นอัจฉริยะกลับดูไม่อัจฉริยะอย่างที่ระบุไว้ ด้วยวิธีการคิดที่ดูตื้นๆ พิกล เหมือนตามความคิดและสถานการณ์ต่างๆ ไม่ทัน ดูงงๆ คิดอะไรไม่ออก อีกทั้งการกระทำยังคล้ายวัยรุ่นใจร้อนมากกว่า
ถึงจะบอกว่าอัจฉริยะไม่จำเป็นจะต้องเข้าสังคมเก่ง ค่ะ เขานิสัยเสียได้ เขาไม่เพอร์เฟ็กต์ได้ แต่ลักษณะของจารัคที่ปูมาตั้งแต่ต้นดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ มีเหตุผลมากกว่า คิดอะไรลึกซึ้งกว่านี้
ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ตื่นขึ้นมาที่กองกำลังในตอนแรก คือเข้าใจว่าคงโมโหที่โดนศาลเตี้ย แต่การตะโกนแหกปากไล่คนแบบนั้นจัดว่าไม่ฉลาดเอามากๆ เลยค่ะ แถมยังจะดื้อดึงสู้ต่อทั้งๆ ที่อีกฝ่ายขอความร่วมมือให้อยู่นิ่งๆ แล้วอีก จะว่าเพราะกำลังสับสนชั่วขณะก็ไม่ได้ เพราะเจ้าตัวดูยังมีสติอยู่ และมีอะไรแบบนี้อยู่อีกเรื่อยๆ จนกระทั่งกลางๆ เรื่อง ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนมุมมองการบรรยาย
แถมหลังจากรับรู้เรื่องราวต่างๆ แล้ว กิลเซ่ก็กลับยอมรับการเป็นเซอร์โรริสได้ง่ายมากๆ ดูสนุกสนานมาก ไม่เหมือนคนสิ้นหวังที่เพิ่งฆ่าตัวตายมาหมาดๆ อารมณ์ที่ควรจะเป็น “เออ ดี ฉันยังมีชีวิตอยู่” หรือ “ทำไมไม่ตายๆ ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป” กลับกลายเป็น “โอเค เป็นเซอร์โรริสก็ได้ I will be the best Zirolist” อย่างง่ายๆ ทั้งๆ ที่สภาพที่ต้องเจอตอนแรกมัน humiliate มาก เหยียดความเป็นมนุษย์มากอย่างที่เคยว่าไป แค่คนทั่วไปมาเจอก็เป็นสภาพที่น่าหดหู่มากๆ แล้ว แล้วอัจฉริยะที่มีอีโก้สูงคนหนึ่งจะยอมรับสภาพนี้ได้จริงๆ หรือคะ ในเมื่อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างทะเลาะกันกับเธอร์น่าหรือบิลลี่ กิลเซ่ยังไม่ยอมเลย เขาควรจะเป็นคนที่ดื้อดึงกว่านี้ อารมณ์รุนแรงกว่านี้ และไม่ได้เข้มแข็งขนาดจะยอมรับความเป็นจริงได้ง่ายๆ
ในเมื่อตอนที่ถูกไล่ล่า เขายังเลือกที่จะหนีชะตากรรมด้วยการตายอยู่เลย
เมื่อบรรยายคนคนหนึ่งออกมาแล้ว ความคิดกับการกระทำของเขาควรจะเป็นไปตามคำบรรยายค่ะ การกระทำหลายๆ อย่างตอนนี้ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล (หมายถึงทุกคน ไม่ใช่แค่กิลเซ่/จารัค) ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหตุผลดูอ่อนมากๆ เหมือนแค่เล่นไปตามบทมากกว่าจะมีชีวิตอยู่จริงๆ
คนที่มีปัญหาเรื่องนี้ชัดๆ คือบิลลี่ค่ะ คำบรรยายกับพฤติกรรมไม่ไปด้วยกันเลย เท่าที่จับใจความได้หลักๆ คือเขาเป็นคนเลือดร้อน แต่มีพื้นฐานของความ “อ่อนโยน” อยู่ ซึ่งเราแทบไม่เห็นพื้นฐานของความอ่อนโยนในตัวบิลลี่เลยค่ะ
ไม่ใช่ด้วยสถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มาจากพื้นฐานความคิดลึกๆ ของตัวละคร จากเท่าที่อ่านมา เขาไม่ใช่คนอ่อนโยนที่พร้อมจะให้ แต่เป็นคนแข็งกระด้างที่อีโก้จัดเสียมากกว่า
อย่างในตอนที่บิลลี่ทะเลาะกับเธอร์น่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ในความคิดบิลลี่ไม่มีการให้เกียรติผู้หญิงอยู่เลย ไม่พยายามจะทำความเข้าใจด้วย ทั้งๆ ที่เราเข้าใจว่าเขารู้จักกันมานานแล้ว รักกันมานานแล้ว บิลลี่ควรจะรู้ดีว่าเธอร์น่าปากร้าย เอาแต่ใจ และชอบสั่งมานานแล้ว ด้วยพื้นฐานเธอเป็นคนแบบนั้น
แต่บิลลี่กลับสรุปว่าเธอร์น่าบ้าอำนาจ จำเป็นจะต้องดัดนิสัย ทั้งๆ ที่เหตุผลของฝั่งเธอร์น่าไม่มีอะไรเลยนอกจาก “เป็นห่วง” (นี่คือสิ่งที่เราจับได้นะคะ)
การทะเลาะกันครั้งนี้ควรจะอิมแพค ควรจะรุนแรง แต่เหตุผลที่มาซัพพอร์ทการกระทำกลับอ่อนมาก
บิลลี่เหมือนไม่ฟังอะไรเลย ปิดหู ปิดตา แล้วสรุปเธอร์น่าไปเองแบบผิดๆ มันทำให้เราสงสัยว่าเขารักกันจริงๆ หรือคะ ยิ่งในยามสงครามที่พร้อมจะจากกันทุกเมื่อแบบนี้ ความรักของบิลลี่กับเธอร์น่าควรจะลึกซึ้งมากแล้ว แต่มันกลับเป็นเหมือนวัยรุ่นตอนต้นที่เพิ่งมีปั๊บปี้เลิฟและเพิ่งเคยเห็นข้อเสียของแฟนเป็นครั้งแรก
เรื่องอีโก้นี่ ไม่ใช่แค่บิลลี่นะคะ แต่เราสังเกตว่าผู้ชายหลายๆ คน (โดยเฉพาะตัวหลักๆ หนักไปทางกิลเซ่ จารัค และบิลลี่) มีความคิดที่ค่อนข้าง “กด” คนที่ด้อยกว่าลงต่ำ อย่างน้อยๆ ก็ในด้านเพศสภาพ
ต้องเข้าใจก่อนว่าการด่าและตะคอกไปตามอารมณ์ไม่เหมือนกับการเหยียด สองอย่างแรกคือเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ แต่อย่างหลังเกิดจากพื้นฐานความคิด และความคิดของผู้ชายในเรื่องกำลังเป็นอย่างหลัง มุมมองที่บิลลี่ใช้มองเธอร์น่า หรือความคิดของกิลเซ่(ช่วงแรก)ที่จะถ่ายรูปสภาพโทรมๆ ของผู้หญิงไปลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก มัน… เอ้อ… (ต้องขอโทษด้วยจริงๆ นะคะ แต่เรานึกคำอื่นไม่ออกแล้ว) มันไม่แมนเอาซะเลยค่ะ
ซึ่งนอกจากกดคนอื่นลงแล้ว แนวโน้มที่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็มากตามไปด้วย ในความคิดบอกว่าเขารู้ เขาเห็น เขาเข้าใจ เขาเก่ง แต่พฤติกรรมต่างๆ กลับเป็นไปทางตรงกันข้าม อย่างตอนที่บิลลี่ฟื้นขึ้นมาเป็นเซอร์โรริสคนตาย… เราอดตงิดใจไม่ได้จริงๆ ค่ะ ด้วยความที่เรื่องปูมาตลอดว่าบิลลี่รักพี่สาวมาก พี่สาวแทบจะเป็นทุกอย่างเลยมั้ง ออกจะติดพี่มากเสียด้วย
แต่บิลลี่ดูถูกเซอร์โรริสคนตาย -- หรืออีกนัยหนึ่ง -- สิ่งที่โซอี้เป็น
นั่นคือศักดิ์ศรีของทหารจริงๆ หรือคะ
เราอาจจะนิยามคำว่าอ่อนโยนได้หลากหลาย แต่หลักๆ คือต้องเป็นคนที่คำนึงถึงใจคนอื่น อย่างน้อยๆ ก็คนที่รัก แล้วความรักที่บิลลี่มีให้โซอี้มีค่าแค่ไหน สรุปแล้วเขาให้ความสำคัญกับอะไรกันแน่ จากที่อ่านตอนนี้ มันเหมือนที่บิลลี่บอกว่ารักพี่สาวมากเป็นแค่คำโกหกลอยๆ เพราะสิ่งที่แสดงออกมาคือเขารักแต่ตัวเองเท่านั้น
ถามว่าคนแบบนี้มีอยู่จริงไหม มีค่ะ ผู้ชายที่ปากร้าย นินทา ลอบกัด และกดเพศหญิงลงต่ำมีมากมาย ผู้ชายที่อีโก้จัดไม่ยอมฟังใคร ไม่คิดถึงใครนอกจากตัวเองก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ลักษณะนิสัยแบบนี้มันผิดจากคำบรรยายหลายๆ อย่างที่เราเห็นภายในเรื่อง เขาดูไม่ใช่ผู้ชายแบบนี้เลย
กรณีบิลลี่ไม่ใช่ผู้ชายที่อ่อนโยนเลยค่ะ ในสายตาเรา เขาบ้าอำนาจกว่าเธอร์น่าหลายเท่า เจ้ายศเจ้าอย่าง พูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง อีโก้สูง ไม่ฟังใคร และยังไม่โต ยังยืนด้วยตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ ดูจากการที่ต้องพึ่งพาโซอี้ขนาดนั้น
ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคุณตั้งใจให้ออกมาเป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่สำหรับเรา เขาไม่มีคุณสมบัติให้เราหลงรักและเชียร์เขาในฐานะตัวละครหลักเลยค่ะ
การกระทำสำคัญกว่าคำพูดค่ะ พฤติกรรมและกรอบความคิดของแต่ละคนแสดงความเป็นตัวตนได้ดีกว่าคำบรรยายมาก ระวังด้วยนะคะ
คนอื่นๆ ที่มีปัญหา เอาจริงๆ แล้วลักษณะนิสัยของแต่ละคนไม่ค่อยคงที่เท่าไรค่ะ อย่างลูเฟอร์เรียก็เป็นตัวละครที่มีเหตุผลอ่อนมากๆ ด้วยวิธีแสดงออกหลายๆ อย่างที่ทำให้ดูโลเล ขัดแย้งกันเองในตัวมาก แต่เราโฟกัสไปที่โซอี้มากกว่าเพราะเธอเด่นกว่า
เราเข้าใจว่าคุณอยากให้โซอี้เป็นผู้หญิงที่แข็งนอกอ่อนใน เข้มแข็งแต่แอบมีมุมอ่อนโยนอ่อนไหว ไม่ได้หยาบกระด้างจนเกินไปนัก ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่แปลกอะไร นิสัยแบบนี้สร้างให้สมจริงได้ค่ะ เพียงแต่ต้องจับจุดที่คอนทราสกันให้ดีๆ
ความจริงแล้ว ประเด็นความรักของโซอี้เล่นอะไรได้เยอะมากนะคะ และจะเป็นฉากที่ติดตาตรึงใจมากด้วย ด้วยความที่กิลเซ่หน้าเหมือนกับจารัค (ซึ่งจริงๆ ก็คือกิลเซ่นั่นแหละ แต่ก็เอาเถอะ) ซึ่งนั่นเป็นคนที่เปลี่ยนชีวิตเราเลยนะคะ ยิ่งใหญ่กึ่งๆ พระเจ้า แทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต… แล้วจู่ๆ เขาก็กลับมา เป็นใครก็ไม่รู้ที่อ้างชื่อคนคนนั้น ทำให้เห็นภาพซ้อนของคนคนนั้น
มันลึกซึ้งมากเลยนะคะ เราเสียดายตรงจุดนี้แทนมากจริงๆ ในตอนแรกๆ ที่บรรยายผ่านคนอื่น โซอี้โอเคมากเลยนะคะ โอเคหมดทุกอย่างเลยล่ะ เราชอบเธอมากด้วย ตอนที่ดูสับสนเงียบๆ นั่นก็ดีมากๆ แต่พอสลับมุมมาเป็นสายตาของโซอี้แล้วหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป
ตอนแรกเธอดูนิ่งๆ เป็นผู้ใหญ่ ค่อยๆ สังเกตกิลเซ่ไปเรื่อยๆ และพยายามเก็บความรู้สึกลงไปไม่ให้ใครรู้ พอได้อ่านความคิดของโซอี้ปุ๊บ จากที่ดูลึกซึ้งนั่นกลับกลายเป็นแบบใสๆ ปั๊บปี้เลิฟไปแทน เหตุผลต่างๆ เลยพลอยดูเบาตามไปด้วย
ถามว่าจะแก้ไขความไม่สมเหตุสมผลนี้อย่างไร (ใช้ได้กับทุกตัวละคร) อย่างแรกคือต้องตอบให้ได้ก่อนว่า
1. พื้นฐานของตัวละครเป็นคนอย่างไรกันแน่
2. อดีตของเขาเป็นอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อปัจจุบันและความคิด
3. สิ่งที่เขาให้ความสำคัญ (Priority) ในชีวิตเขาคืออะไร
ลองลิสต์ออกมา บรรยายออกมาให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทุกข้อควรจะเชื่อมโยงและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันค่ะ พอคาแร็กเตอร์ชัดแล้ว ค่อยเอาพื้นฐานตรงนั้นมาคิด ว่าถ้าเจอสถานการณ์อะไรสักอย่าง เขาจะคิดและแสดงออกอย่างไร
อย่างเช่นโซอี้ (จากมุมมองของเราแบบสั้นๆ นะคะ) เขาเป็นผู้หญิงห้าวๆ แต่ว่าไม่ได้หยาบกระด้าง มีอดีตร่วมกันกับกิลเซ่ ให้ความสำคัญกับครอบครัวและอดีตของตนเอง
ทีนี้ ลองคิดดูค่ะว่าเวลาเขาชอบใครสักคน (แถมเป็นกิลเซ่) เขาจะทำอะไรก่อน แน่นอนค่ะ ผู้หญิงห้าวๆ คงไม่มานั่งคุยกับตัวเองในหัวด้วยคำพูดสาวน้อยๆ ซึ่งปกติตัวเองก็ไม่ได้พูด การนั่งเพ้อฝันถึงใครสักคนเหมือนสาวน้อยแรกรัก เป็นอะไรที่ “เสียฟอร์ม” มากๆ เลยนะคะสำหรับผู้หญิงที่แกร่งและห้าว เราเดาจากที่บอกว่าโซอี้แต่ก่อนก็ไม่ได้คิดอะไรแบบนี้ แปลว่าเขาไม่มีพื้นฐานตรงนี้ การที่เขาจะยอมรับความคิดนี้ได้เลยดูผิดเอามากๆ
คือเราไม่ได้ห้ามนะคะ โซอี้เขินได้ค่ะ นั่งคิด นั่งฝันได้ แต่คำพูดที่ใช้ในตอนนี้ดูเด็กเกินไป ยอมรับความรักง่ายมากๆ ซึ่งผิดลุคกับที่เคยปูมาตั้งแต่ต้นเรื่อง และขัดกับอดีตที่เคยมีกับกิลเซ่ ที่ควรจะทำให้สับสนหรือเจ็บปวดมากกว่านี้
โซอี้อาจเกิดมโนภาพว่าเอ๊ะ เราอาจจะเป็นคู่แท้กันก็ได้นะ (แบบไม่ได้ตั้งใจ) แล้วก็เขินตัวเองที่คิดอะไรบ้าๆ ออกมาได้ แต่คงไม่นั่งฝันต่อเองโดยเจตนา ยิ่งไม่ใช่รักแรกพบด้วยยิ่งแล้วใหญ่
ที่สำคัญ ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ “หน้ากาก” ค่ะ คนที่หลอกตัวเองจะมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งใช้อธิบายแทนเหตุผลตรงนี้ไม่ได้
คนอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ประปราย แต่ที่หลักๆ จะเป็นประมาณนี้ค่ะ ลองวางคาแร็กเตอร์ของเขาให้ชัดเจนดูนะคะ พอมันชัดเจนและคงที่เมื่อไร การกระทำของเขาจะสมเหตุสมผลตามไปด้วย
ส่วนในด้านของข้อ 2.) มิติ จะต่อยอดมาจากข้อที่แล้วค่ะ เราเชื่อว่าคุณวางตัวละครทุกตัวให้มีข้อดีและข้อเสีย มีพัฒนาการ มีอดีต มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อนิสัยตัวละครคงที่แล้ว มิติที่แบนราบเพราะความไม่สมเหตุสมผลจะกลมขึ้นมาเอง
ฝั่งตัวละครหลักไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ ถ้าแก้เรื่องความชัดเจนได้ก็น่าจะช่วยให้มิติของแต่ละคนสมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ตัวละครที่แบนราบมาตั้งแต่แรกแล้วคือฝั่งตัวร้ายมากกว่า แทบทุกคนมีเพียงนิสัยเดียวโดดๆ และเราเห็นเพียงด้านเดียวของเขาเท่านั้น ดูไม่มีความสำคัญอะไรมากไปกว่าออกมาหัวเราะแบบตัวร้ายธรรมดาๆ แล้วก็โดนฝั่งพระเอกจัดการไป
จริงๆ มีส่วนเบอร์เซิร์กเกอร์ที่นำไปโยงกับอดีตของบิลลี่ ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีค่ะ เกือบจะทำให้กลมแล้ว เพียงแต่เหตุผลยังอ่อนอยู่ เพราะการที่มีคนเอาเรื่องเราไปฟ้องเบื้องบนจนโดนพักการเรียนไม่ใช่เรื่องสาหัสขนาดจะอาฆาตแค้นไปชั่วชีวิต แถมยังผ่านมาหลายปีแล้วด้วย ยกเว้นแต่จะเพิ่มเหตุผลอื่นๆ เช่น ลักษณะทางจิตใจของเบอร์เซิร์กเกอร์ มีอะไรแอบซ่อนอยู่ มีปมอะไรลึกๆ ฯลฯ ซึ่งสามารถจับขึ้นมาบิ้วด์ได้ค่ะ
ขอให้จำไว้ว่าเมื่อตัวละครขาดเสน่ห์ สีสันของเรื่องก็จะขาดตามไปด้วยค่ะ
ถ้าตัวร้ายดูไม่สำคัญและรู้สึกว่า “ร้าย” พอ ความลุ้นก็หายไป -- ร้ายในที่นี้ คือร้ายที่ร้ายจากตัวตนของเขาเองจริงๆ ไม่ใช่ “สร้างมาเพื่อให้ร้าย” แค่สร้างมาเปรียบเทียบเฉยๆ
ตัวอย่างง่ายๆ ก็เหมือนนิยายรักทั่วไปที่นางอิจฉาร้ายไปหมดทุกอย่าง ไม่มีข้อดีเลยนั่นล่ะค่ะ ในขณะที่ฝั่งนางเอกมีทุกอย่าง นั่นคือการ “สร้างให้ร้าย” ใช้ข้อเปรียบเทียบทำให้นางอิจฉาดูร้ายขึ้น แบบนี้ใครก็รู้ค่ะว่าพระเอกจะเลือกใคร ใครจะชนะ
แต่ถ้านางอิจฉาคนนั้นร้ายเพราะมีเหตุผล (ไม่ใช่แค่บอกลอยๆ ว่าถูกสปอยล์จนเสียคน แล้วก็จบ แต่เป็นการบอกว่าในอดีตนางมีปมอะไร เคยเจออะไร มีบทที่บอกว่าทำไมนางถึงคิดแบบนั้น ในฐานะคนธรรมดาๆ คนหนึ่งเหมือนกับนางเอก)
นั่นแหละค่ะที่เราเรียกว่า “ร้าย” จริงและน่าลุ้นกว่ากันเยอะ
ภาษา
พาร์ทนี้เป็นพาร์ทสุดท้ายแล้ว ขอแบ่งอีกเช่นเคย คือ 1.) การบรรยาย 2.) บรรยากาศเรื่อง และ 3.) การใช้ศัพท์ นะคะ ไปกันต่อเลย
ข้อ 1.) การบรรยาย เริ่มกันตรงนี้เลยเนอะ เราชอบการบรรยายช่วงแรกๆ มากเลยค่ะ ได้อารมณ์ลึกลับ น่าค้นหา น่าติดตามมากๆ แต่ก็อย่างที่กล่าวไปว่าเรารู้สึกว่าตั้งแต่ตอนที่กิลเซ่ฟื้นขึ้นมาเป็นเซอร์โรริส ภาษาค่อนข้างเปลี่ยนไปพอสมควร คือระดับภาษาดูเด็กลงน่ะค่ะ ออกวัยรุ่นๆ แต่ก็ไม่สุดเท่าไร จะใช้คำเด็กก็ไม่ใช่ ทางการก็ไม่เชิง จากตอนแรกที่ดูเป็นผู้ใหญ่ขรึมๆ เลยดร็อปลงไป
ตอนแรกๆ มีลูกเล่นด้านจังหวะเรื่อง การใช้คำเชื่อม และการเรียงประโยคมากกว่านี้ค่ะ หลังๆ เริ่มเอื่อยๆ ซ้ำๆ การหันมาถามคนอ่านไม่เนียนเท่าช่วงแรกๆ (เช่น “...ฉันเห็นกิลเซ่ยืนอยู่ตรงนั้น เขามาทำอะไรกันล่ะ คำตอบคือ…” ฯลฯ ตรงคำว่า “คำตอบคือ” นี่แหละค่ะที่ยืดเยื้อ) ตัวประโยคเองก็ไม่รวบรัดเท่าไร อ่านแล้วเหมือนประโยคที่แปลมาจากภาษาอังกฤษแบบทื่อๆ น่ะค่ะ จะเป็นประโยคที่มี that หรือ which เชื่อมหลายๆ ประโยคเข้าด้วยกัน มีคำขยายนู่นนี่เต็มไปหมด เลยกลายเป็นว่ายาวมากและไม่กระชับ
การเรียบเรียง ยังมีบางส่วนที่งงๆ อยู่ แทนที่จะเล่าตามลำดับเหตุการณ์ 1 2 3 4 บางครั้งกลับเป็น 1 แล้วข้ามไป 4 แล้วจู่ๆ กลับมา 2 -- ในขณะเดียวกัน จุดที่เล่าแบบเรียงลำดับก็อธิบายละเอียดมากจนเกินความจำเป็น เรื่องละเอียดๆ นี่เหมาะกับการบิ้วด์อารมณ์ค่ะ ตอนดำเนินเรื่องเน้นกระชับจะดีกว่า ไม่งั้นคนอ่านอาจจะสับสนและ “หลุด” ได้ง่าย (ทั้งหลุดประเด็นและสมาธิหลุด)
ช่วงที่เฉลยปมตอนท้ายๆ ยอมรับว่าต้องใช้เวลาอ่านซ้ำหลายรอบมากค่ะ ลองเรียบเรียงความคิดดูอีกทีนะคะ จะช่วยได้มากขึ้น
อีกอย่างที่ตัดอารมณ์เรามากคือซาวด์เอฟเฟ็กต์ทั้งหลายค่ะ ไม่ควรมีเยอะเกินไป แค่บรรยายเรื่องราวไปแล้วให้คนอ่านจินตนาการเอาเองก็พอแล้ว เพราะหลายๆ เสียงคนฟังไม่เหมือนกัน เช่น เสียงกระสุนดัง ปุๆๆๆ อาจจะฟังดูเบากว่า ปังๆๆๆ หรือเสียงเซอร์โรริสร้อง แฮ่ๆๆๆ อาจฟังเหมือนเสียงเด็กส่งเสียงเล่นๆ มากกว่าเสียง โฮกกก หรือ กรรรร ก็เป็นได้
หรืออย่างเสียงดมกลิ่นดัง “ฟุดฟิด” เสียงเดินดัง “ด๊อกแด๊ก” เราเข้าใจนะคะ เรานึกภาพนึกเสียงออก แต่มันตัดฟีลมากจนเราขำค่ะ อดไม่ได้จริงๆ ปล่อยให้คนอ่านนึกเอาเองอาจจะดีกว่าค่ะ เราว่ามีเสน่ห์กว่าบอกทุกเสียงที่เกิดขึ้น แต่นานๆ ใช้ทีกับช่วงที่ต้องการกระชากอารมณ์ก็ไม่ว่ากัน เช่น เสียงต่อยดังโครม เปรี้ยง ผัวะ หรืออะไรพวกนั้น
เอาจริงๆ ซาวด์เอฟเฟ็กต์นี้กับชื่อท่าตอนปล่อยพลัง ได้อารมณ์การ์ตูนโชเน็นมากเลยค่ะ
จริงๆ เราแอบสงสัยด้วยแหละ ว่าใครเป็นคนพูดชื่อท่า หรือมันลอยๆ ขึ้นมาเฉยๆ ระบุหน่อยก็ดีค่ะ ตอนนี้อ่านไปแล้วเหมือนตอนลูฟี่ต่อยแล้วมีตัวอักษรลอยอยู่ข้างๆ ว่า “หมัดยางยืดดด!!!” เลยค่ะ อย่าลืมว่าคุณกำลังเขียนด้วยมุมมองของบุคคลที่หนึ่งนะคะ ไม่ใช่มุมมองพระเจ้า
ที่สำคัญคือชื่อท่าเยอะมาก ยอมรับว่าจำไม่ได้ค่ะ ข้ามไปอ่านบทบรรยายเอาแทน orz
ไหนๆ ก็พูดถึงตรงนี้แล้ว เราเห็นบทบรรยายบางส่วนเคยแซวตัวเองไว้ขำๆ ว่าจุดนี้เหมือนการ์ตูน ตรงนั้นเหมือนละคร... การแซวแบบนี้เป็นดาบสองคมค่ะ คมที่ดีคือเป็นการดักคอคนอ่านให้รู้สึกว่า “เออว่ะ จริงด้วย” ตลกเสียดสีดี ซึ่งจริงๆ แล้วเราออกจะชอบมุกแบบนี้เลยล่ะ เพียงแต่อีกคมหนึ่งคือ มันอาจจะตอกย้ำว่าเรากำลังเล่นพล็อตซ้ำๆ อยู่ ซึ่งตราบใดที่งานไม่ได้ฉีกแนวจริงๆ หรือมีอะไรที่โดดเด่นจริงๆ จนมองข้ามไปได้ อาจโดนคมตรงนี้ได้ง่ายมาก ขอให้ระวังด้วยนะคะ
ในตอนนี้ เราต้องยอมรับว่าอารมณ์หลักของเรื่องเหมือนได้อิทธิพลจากการ์ตูนโชเน็นมาเยอะมากๆ (ถ้าเราเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วยค่ะ สามารถข้ามหัวข้อนี้ไปได้เลย และน้อมรับความผิดค่ะ)
อย่างแรก เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าสื่อนิยายกับการ์ตูนนั้นไม่เหมือนกัน สื่อการ์ตูนสามารถปล่อยมุกตลก ฮาไปได้เรื่อยๆ ซ่อนแก๊กไว้ในภาพภาพเดียวแล้วข้ามไปเรื่องจริงจังต่อได้ ด้วยความที่มันเป็น “รูปภาพ” แล้วเวลาอ่าน สายตาเราจะไล่จากซ้าย ขวา บน ล่าง รวมทั้งตัวอักษร ไม่สามารถจับรายละเอียดทุกอย่างหมดได้ในทีเดียว แต่สามารถมองเพียง 1 วินาทีแล้วบอกได้ว่าอยู่ในอารมณ์ไหน สถานที่ไหน กำลังเกิดอะไรขึ้น
แต่สำหรับนิยาย เราอ่านไล่ไปทางเดียวคือไปตามตัวอักษร อารมณ์จะเป็นเนื้อเดียวกันไปหมด ไม่สามารถสอดแทรกตรงนู้นตรงนี้ได้ ถ้ามีอะไรขัดขึ้นมาจะชะงักไปได้ทันที เพราะเราไม่สามารถมองปราดเดียวแล้วรู้เรื่องได้
การแทรกมุกของคุณถือว่าน่าสนใจมากสำหรับสื่อการ์ตูนค่ะ มีหลายมุกทีเดียวที่เราว่าน่าเอาไปวาดแทรกๆ ระหว่างช่อง และมันจะทำให้เรื่องสนุกมาก เพียงแต่มันยังไม่เนียนพอสำหรับสื่อนิยายค่ะ สำหรับตัวอย่าง หาดูได้ง่ายๆ ตรงที่คุณแซวนิยายของตัวเองนั่นแหละว่านี่มันจะการ์ตูนเกินไปแล้ว ฯลฯ ค่อนข้างชัดเจนในตัวพอสมควรค่ะ
อีกเรื่องคือมุมมองค่ะ
เรื่องนี้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งในการบรรยายมาตลอด ซึ่งเข้าใจค่ะว่าเราจะไม่รู้ความคิดของคนอื่นเลยนอกจากตัวเอง เลยต้องย้ายมุมมองบ่อยๆ เพื่อความหลากหลาย รวมถึงจะได้ไม่สปอยล์ความคิดของกิลเซ่ที่ความทรงจำกลับมาแล้ว
แต่ประเด็นสำคัญคือ เรื่องเริ่มด้วยมุมมองของกิลเซ่ ลากมายาวมากจนเราคิดว่าจะเป็นมุมมองของกิลเซ่ตลอดไป แล้วจู่ๆ ก็ตัดเข้ามุมมองของบิลลี่ เราเห็นชื่อบทนะคะ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่อ่านชื่อบท (กรณีที่หนังสือตีพิมพ์เป็นเล่ม) เรารู้สึกว่าตัดมุมมองได้กะทันหันมากเกินไป ดูตามใจฉันจนคนอ่านอาจเกิดความรู้สึกว่ามั่วและไม่ได้วางแผนมาได้
ถ้าจะเขียนหลายๆ มุมมอง ก็ควรเปลี่ยนมาตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าจะให้ดี ควรสลับเวียนอย่างมีลำดับด้วยค่ะ เช่น มุมมองกิลเซ่ > บิลลี่ > โซอี้ > ลูเฟอร์เรีย แล้ววนกลับไปที่กิลเซ่ใหม่ แต่อันที่จริงไม่ควรใช้มุมมองมากเกินไปค่ะ จะทำให้สับสน
ถ้าจะเปลี่ยนมุมมอง อีกอย่างที่ควรเปลี่ยนตามคือการบรรยายค่ะ จุดนี้จะเชื่อมต่อกับพาร์ทตัวละครโดยตรงเลย
ในตอนนี้ ถ้าไม่มีวงเล็บตรงชื่อตอน อ่านแวบแรกเราไม่รู้จริงๆ ว่าลูเฟอร์เรียกำลังบรรยาย ไม่ใช่โซอี้ หรือถ้าเปิดขึ้นมา เราตอบไม่ได้เลยค่ะว่าสรุปแล้วนี่ใครกำลังพูด รู้แค่ว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้นเอง ด้วยความที่วิธีบรรยายเหมือนกันหมด กลายเป็นว่านิสัยทุกคนคล้ายคลึงกัน ความคิดคล้ายกัน อายุเท่ากัน ประสบการณ์เดียวกัน
ตอนอ่านมุมมองของบิลลี่คือแทบไม่ต่างอะไรกับมุมมองของกิลเซ่เลย แค่สลับชื่อกันเท่านั้น จะว่าไงดีล่ะ คือตอนที่กิลเซ่บรรยาย บิลลี่เป็นคนแบบหนึ่ง แต่พอบิลลี่บรรยาย ตัวบิลลี่กลับดูเหมือนจะมีนิสัยเดียวกับกิลเซ่ ส่วนกิลเซ่ไปมีนิสัยแบบบิลลี่แทน (งงไหมคะนี่ orz)
ถ้าทำคาแร็กเตอร์ของแต่ละคนให้ชัดได้ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ค่ะ
จุดที่ 2.) บรรยากาศเรื่อง บทสนทนามีส่วนมากค่ะ เพราะนั่นคือหนึ่งในความสมจริงที่จะทำให้รู้สึกว่าตัวละครดูฉลาดขึ้น แต่ตั้งแต่กิลเซ่ฟื้นขึ้นมา บทสนทนากลับไม่ลื่นไหลเท่าไรจนเหมือนกำลังอ่านบทให้ฟัง หรือถูกบังคับพูด แล้วคำพูดก็ออกจะเป็นเด็กๆ กันมาก ผิดกับวัย และขัดกับตอนต้นที่ดูเป็นผู้ใหญ่กว่ากันเยอะเลย
มุกบางส่วนเราว่าแป้กเบาๆ แต่อันนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลค่ะ
แถม…
“ก็เพราะหัวใจมันบอก ว่าต้องใช่~”
อันนี้แป้กจริงค่ะ คือ… เอ่อ… ผ… ผิดยุค ผิดสถานที่ และผิดธีมมาก นั่นเพลงแอน ธิติมา ใช่ไหมคะ (ฮา) อะไรแบบนี้อย่าใส่เลยค่ะ ตัดอารมณ์เรื่องมากๆ ดูไม่สมจริงอย่างแรงเลยล่ะ
เรื่องของบรรยากาศนี่ ขึ้นอยู่กับการจับจังหวะค่ะ เหมือนกับการดูหนังสักเรื่องนั่นแหละ ทำไมหนังสักเรื่องถึงขยี้อารมณ์มาก ทำไมถึงลุ้นตาม ทำไมรู้สึกร่วมไปกับเขา นั่นแหละค่ะคือความสำคัญของจังหวะ
ปัญหาตอนนี้คือ เมื่อยังไม่ถึงจุดแตกหัก กลับแตกหัก ยังไม่ถึงจุดที่ควรพีค กลับมีบทเด้งขึ้นมา
อย่างเช่น ตอนที่เจรจากับเบอร์เซิร์กเกอร์ บทสนทนาตอนนั้นไม่มีความเครียดในอากาศเลย ยังพูดๆ อยู่ไม่ทันได้ประกาศศึกก็ย้ากๆ เข้าใส่กัน ความกดดันยังหนักหน่วงไม่พอ บวกกับภาษาสนทนาบางส่วนที่เหมือนการ์ตูนมากๆ ไปๆ มาๆ ยังดึงอารมณ์ไปได้ไม่เท่าไรก็โดนขัดซะแล้ว อะไรแบบนั้น
(คำพูดที่ออกแนวการ์ตูน เช่น เสียงร้องย้ากกกก คำลงท้ายประเภท ง่ะ ง่า ฯลฯ ซึ่งอันนี้แล้วแต่ก็แล้วกันค่ะ เราอาจจะชินกับนิยายที่ค่อนข้างผู้ใหญ่สักหน่อย ถ้าต้องการให้ธีมเรื่องออกวัยรุ่นๆ เบาๆ ไม่หน่วงมาก จะใช้ก็ได้ค่ะ ^ ^)
แต่!! (เอ็กไซต์มาก) บรรยากาศเรื่องตอนจบนั่นดีมากๆ เลยนะคะ ตั้งแต่ช่วงที่ไทแรนท์โผล่มาแล้วเป็นต้นไป ดีกว่าตอนต้นอีกมั้ง (แต่ตอนต้นก็ดีอยู่แล้วนะสำหรับเรา) ดึงอารมณ์ได้ดีเลย จังหวะดีมาก จับคนอ่านอยู่เลยแหละ
สุดท้าย 3.) การใช้ศัพท์ เราเห็นการเล่นคำพอสมควรทีเดียว แต่ก็เห็นศัพท์ที่ใช้ผิดมากพอดูเช่นกัน รวมถึงคำตกหล่นและการเรียงคำด้วย ซึ่งไม่สามารถเช็กคำผิดในเวิร์ดได้ ต้องอ่านทวนหลายๆ รอบแล้วค่อยๆ แก้ไปค่ะ
ตัวอย่างนะคะ
“...เคยคิดเล่นๆ ว่า_ผมตายจุดจบจะเป็นยังไง…” >> ตกคำว่า ถ้า ตรง _ ค่ะ
“...แต่ทำไมล่ะผมถึงโดนเคราะห์ร้ายไปด้วย…” >> คำว่า ล่ะ ควรอยู่ท้ายประโยคมากกว่า
“...กำปั้นผมแหลกหัวรบมาหลายสิบลูก…” >> แหลกเป็นคำขยาย ไม่ใช่กริยาค่ะ
“...แรงหมัดที่หนักพอๆ กับพ่วงลูกตุ้มเหล็กทำเอาฉันเกือบสติขาดผึงไปตั้งแต่แรก…” >> ควรเป็น พ่วงด้วยลูกตุ้ม หรือเปล่า? และสติขาดผึง จะได้อารมณ์ว่าปรี๊ดแตก โมโห มากกว่าจะเป็นหมดสติค่ะ ถ้าจะเป็นสลบควรเป็น “สติดับวูบ” หรืออื่นๆ มากกว่า
“พวกเจ้าขี้โกงข้า” >> “พวกเจ้าโกงข้า”
ฯลฯ
เราสังเกตอีกอย่างคือคุณมีปัญหานิดหน่อยกับคำว่า “เข้ามา” ค่ะ
เช่น “ความตื่นเต้นกำลังเข้ามา” หรือ “ผมนิ่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสียงที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตเข้ามา” -- อะไรเข้ามา เข้ามายังไง -- ดังเข้ามา ไหลเข้ามา หรือว่าอย่างไร
แล้วก็การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ คุณให้เหตุผลเรื่องที่ภาษาเฮเรดออกเสียงไม่ตรงกับการเขียนได้ดีเลยค่ะ แทบจะตัดทุกปัญหาไปได้เลย เพียงแต่ในชื่อท่าต่างๆ ยังตงิดใจเราอยู่ เพราะพื้นศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ หากเขียนแล้วทำให้ไปนึกถึงคำอื่น ความหมายก็เปลี่ยนไปด้วย ไม่จำเป็นต้องทับเป๊ะก็ได้ เพียงแต่อย่างน้อยเสียงหลักๆ ควรจะยังอยู่ค่ะ
เช่น
เกรวี่บอล >> กราวิตี้ Gravity ใช่ไหมคะ เพราะ Gravy เกรวี่นี่เป็นน้ำซอสกินกับพวกสเต็กค่ะ
เบิร์นนิ่งสกูว >> สกรูว์ Screw สินะคะ ตอนนี้ออกเสียงเหมือนสคูล School โรงเรียนมากเลย
อินดัสตี้ >> อินดัสตรี้ Industry
เป็นต้น
ที่เหลือเป็นเรื่องวิธีการเขียนทั่วไปค่ะ เช่น การเว้นวรรคในประโยค (ประโยคยาวเกินไปจนไม่มีที่ให้หายใจ) หรือการเว้นหลังไม้ยมก (ๆ) เว้นวรรคหน้า-หลังตัวเลข ภาษาอังกฤษ เครื่องหมายคำพูด (ไม่ต้องเว้นภายในเครื่องหมาย) คำว่า “ทำการ” จัดว่าฟุ่มเฟือย ตัดทิ้งได้ ฯลฯ นี่เป็นมาตรฐานการเขียนทั่วไปค่ะ ถ้าต้องการหลักแบบเต็มๆ สามารถเสิร์ชหาดูในกูเกิ้ลได้ มีรวบรวมไว้เยอะแยะค่ะ
แล้วก็คำผิด -- ไม่ได้จดเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไร อาจจะมีอีก แต่ไม่ได้จดคำที่ผิดเพราะรีบพิมพ์มานะคะ เอามาเฉพาะคำที่เห็นซ้ำบ่อยๆ เป็นคำที่น่าจะผิดเพราะไม่รู้มากกว่า ดู ร.เรือ ล.ลิง ดีๆ ค่ะ เห็นสับสนพอสมควร
นึง >> หนึ่ง
เสื้อกราวน์ >> เสื้อกาวน์
อำพลาง >> อำพราง
ดิ้นลน >> ดิ้นรน
อาระวาด >> อาละวาด
ตะข่าย >> ตาข่าย
ที่ๆนึง >> ที่ที่หนึ่ง
คนๆนึง >> คนคนหนึ่ง
มุขตลก >> มุกตลก
ระรอก >> ระลอก
สะนั่น >> สนั่น
โพลงจมูก >> โพรงจมูก (โพรง = ลึกเข้าไป เช่น ขุดโพรง / โพลง = ลืมตาเบิกโพลง)
เกร่ง >> เกร็ง
ตัวแปล >> ตัวแปร
รอมล่อ >> รอมร่อ
ทุลนทุลาย >> ทุรนทุราย
ร้อนลุ่ม >> ร้อนรุ่ม
ประธานพร >> ประทานพร (ประธาน = หัวหน้า)
จมปรัก >> จมปลัก
พลุน >> พรุน
พิศสวาท > พิศวาส
อุกกาบาตร >> อุกาบาต
บรอนซ์ >> บลอนด์ (ที่หมายถึงสีทอง บรอนซ์เป็นสีสำริด)
เสียงแป้นแล้น >> เสียงแป๋นแหลน (ที่หมายถึงเสียงวีนแจ๊ดๆ แหลมๆ เสียงแป้นแล้นจะออกสดใสลัลล้า)
ภาพพจน์ >> ภาพลักษณ์
(ภาพพจน์ = ภาพจินตนาการที่เกิดจากคำบรรยาย (figure of speech)
ภาพลักษณ์ = ภาพที่ติดใหัวว่าอะไรสักอย่างควรจะเป็นอย่างไร (image))
ฯลฯ
แนะนำให้เขียนพล็อตออกมาแบบเรียงตามลำดับเหตุการณ์ ใช้ภาษาง่ายๆ แบบที่เข้าใจเองคนเดียวก็พอค่ะ แล้วก็วางคาแร็กเตอร์กับรายละเอียดอื่นๆ ในโลกของคุณให้ชัด เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลเลย แล้วค่อยไปหาอย่างอื่นทำ ทำหัวให้ว่างๆ กลับมาแบบเฟรชๆ แล้วไล่อ่านอีกรอบรวดเดียวเพื่อรีไรท์ค่ะ
การเว้นวรรคใช้วิธีอ่านออกเสียงก็ได้ (จะช่วยเรื่องความซับซ้อนของประโยคด้วย ว่ายาวไปมั้ย เชื่อมเยอะไปหรือเปล่า) การบิ้วด์อารมณ์ก็ดูว่าเราอินไปกับเขาแค่ไหน สมมติว่าเราไม่ใช่คนเขียน แต่เป็นคนอ่าน แล้วก็ทำการบ้านมาเยอะๆ เรียบเรียงความคิดดีๆ
ลองดูนะคะ ทำได้อยู่แล้วเนอะ สู้ๆ ^ ^
ที่เขียนมาคุณอาจจะคิดว่ามีข้อติมาก แต่เราเชื่อว่าคุณสามารถพัฒนาได้ค่ะ ไม่ยากเกินความสามารถคุณหรอก สู้ๆ นะคะ
ความคิดเห็น