ลำดับตอนที่ #271
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #271 : ไฮน์ กูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะของเยอรมัน
ไฮน์ กูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะของเยอรมัน
นายพลไฮน์ กูเดเรียน เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1888 ที่เมืองคลุม (Culm) ซึ่งตอนนั้นอยู่ในปรัสเซียตะวันตกของเยอรมัน ปัจจุบันชื่อเมือง Chelmno อยู่ในประเทศโปแลนด์ จบการการศึกษาทางทหาร จากโรงเรียนนายร้อยในเบอร์ลิน ในปี 1908 ได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรี
ต่อมา ในปี 1913 สมรสกับภรรยาชื่อ Margarete Goerne มีบุตรชายสองคน ซึ่งทั้งตัวเขาและลูกชายทั้งสองคน ต่างก็ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายคนโต ซึ่งต่อมาได้เป็นพลตรีของกองทัพเยอรมันในช่วงหลังสงคราม
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กูเดเรียน เป็นครูฝึกในโรงเรียนนายร้อยในเบอร์ลิน เขาเริ่มแสดงแนวความคิดใหม่ๆในการใช้ยานยนต์ในการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะเมื่อเขาเป็นพันตรี ในปี 1927 เยอรมันถูกจำกัดด้วยสนธิสัญญาแวร์ซาย หน่วยของเขามีแต่มอเตอร์ไซค์และรถบรรทุก เพราะเยอรมันไม่ได้รับอนุญาติให้พัฒนาอาวุธสงคราม เขาพยายามพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการเคลื่อนพลอย่างรวดเร็ว
เขาเดินทางไปดูการพัฒนารถถังของนาซีอย่างลับๆในรัสเซีย แล้วกลับมาติดตั้งรถบรรทุกของเขาด้วยป้อมปืนไม้ แล้วใช้รถบรรทุกเหล่านี้ทำการรบแบบรถถัง เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิด แนวความคิดของการใช้รถถังในการรุก และเป็นผู้ให้กำเนิด หน่วย Panzer หรือ หน่วยยานเกราะของเยอรมัน โดยกูเดเรียนได้อ่าน แนวคิดการใช้ยานเกราะของอังกฤษ ซึ่งเขียนโดย J.F.C Fuller ในปี 1929 และนำมาปรับใช้อย่างจริงจังครั้งแรกในกองทัพนาซีเยอรมัน
เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์ได้เดินทางไปชมการฝึกซ้อมของหน่วยยานเกราะเล็กๆ ของกูเดเรียน ซึ่งมีความคล่องตัว แตกต่างไปจากรถถังในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รถถังจำลองของกูเดเรียนวิ่งไปรอบสนามฝึก สร้างความประทับใจให้กับฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการใช้รถถังเป็นกำลังหลักในการรุกนั้น กูเดเรียนต้องประสบกับการต่อต้าน แนวความคิดนี้ จนในปี 1937 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง 3 ปี กูเดเรียนได้เขียนหนังสือชื่อ Achtung Panzer (อาคตุง แพนเซอร์ - ระวัง ยานเกราะ) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอแนวคิด ในการใช้รถถังเป็นกำลังหลักในการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ หรือที่เรียกว่า Blitzkrieg
ต่อมาฮิตเลอร์ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย เริ่มสะสมอาวุธ และสร้างกองทัพอย่างขนานใหญ่ กองพลยานเกราะ (Panzer Division) 3 กองพลถูกตั้งขึ้นอย่างเปิดเผย กูเดเรียนซึ่งขณะนั้นมีความโดดเด่นจากแนวคิดการใช้ยานเกราะนี้ ทำให้เขาใกล้ชิดกับฮิตเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Division) พร้อมๆกับครองยศ พลตรี (Major General) และอีกไม่ถึงปีครึ่ง เขาก็ได้เป็นพลโท พร้อมกับตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ 16 (XVI Army-Corps)
อีกเพียงสิบเดือนต่อมา เขาก็ดำรงพลเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (Chief of fast troops) ซึ่งรับผิดชอบการจัดตั้ง การฝึก และการใช้ยุทธวิธีในการรุกด้วยยานเกราะ ซึ่งตำแหน่งนี้ ส่งผลให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การรบสมัยใหม่ ด้วยยานเกราะ มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งส่งผลให้ หน่วย Panzer กลายเป็นหน่วยรบที่น่ากลัวที่สุดในโลกขณะนั้น
กูเดเรียน ได้มีโอกาสใช้ทฤษฎี สงครามสายฟ้าแลบ หรือ Blitzkrieg อย่างแท้จริง เมื่อเยอรมันรุกเข้าสู่ฝรั่งเศส เขาคุมกำลังยานเกราะของเขา รุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจคำสั่งจากฝ่ายเสนาธิการในเบอร์ลิน ที่ให้เขาหยุดกำลังเอาไว้ก่อน
กูเดเรียนสั่งยานเกราะของเขาเจาะแนวตั้งรับของฝรั่งเศส บริเวณแม่น้ำเมิร์ส (Meuse) ที่เมืองซีดาน (Sedan) แล้วใช้ความเร็วพุ่งเข้าสู่กองบัญชาการของข้าศึก จับกุมฝ่ายเสนาธิการของฝรั่งเศส ในกองบัญชาการ ทิ้งให้กำลังทหารฝรั่งเศสที่เหลือตามแนวรบ ตกอยู่สภาพไร้หัว หรืออยู่ในสภาพไร้การควบคุมสั่งการ ก่อให้เกิดการสับสน ขวัญเสีย และยอมจำนนในที่สุด
การรุกที่แม่น้ำเมิร์ส ถือเป็นเรื่องราวความมหัศจรรยของกูเดเรียน และหน่วย Panzer ที่เล่าขานกันไม่รู้จบเลยทีเดียว
บางทฤษฎีอาจกล่าวว่าชัยชนะที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากแสนยานุภาพที่มีอย่างท่วมท้น ของนาซีเยอรมัน จริงๆแล้ว เยอรมันขณะนั้นมีรถถัง Panzer IV เท่านั้นที่มีความทันสมัย ส่วนที่เหลือเป็น Panzer I Panzer II Panzer III ที่มีสมรรถนะเท่าๆกับ รถถังของฝรั่งเศส และอังกฤษ หรืออาจจะด้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ เช่นรถถังมาทิลด้าของอังกฤษ ที่ประจำการ อยู่ในฝรั่งเศส มีปืนใหญ่และเกราะที่เหนือกว่ารถถังเยอรมันมาก ฝ่ายเยอรมันต้องใช้ปืน 88 มม.ในการหยุดยั้งมัน เมื่อปะทะกันครั้งแรกๆ
เหตุผลที่แท้จริงของชัยชนะเหนือฝรั่งเศส ก็คือ ยานเกราะของเยอรมัน มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูง บำรุงรักษาตัวมันเองในสนามได้ระดับหนึ่ง มีความคล่องตัว และใช้ยุทธวิธีที่เหนือชั้นของกูเดเรียนในการเจาะแนวข้าศึก และกระจายกันออกในแนวหลัง แต่ละหน่วยปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับหน่วยทหารราบ แต่ใช้การประสานงานด้วยวิทยุประจำรถ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในขณะนั้น
ที่สำคัญที่สุด คือนายทหารที่บังคับบัญชาหน่วย Panzer ในขณะนั้น ล้วนแต่ได้รับการปลูกฝังแนวความคิด และได้รับการฝึกฝนในการรบในสงครามสายฟ้าแลบจากตัวผู้คิดค้นทฤษฎีเอง นั่นคือ ไฮน์ กูเดเรียน นั่นเอง
เกียรติยศนี้ถือเป็นเกียรติสูงสุด เมื่อรถถังทุกคันในหน่วย Panzer กลุ่มกูเดเรียน ต่างพร้อมใจกัน ประดับตัวอักษร G ไว้ที่ตัวรถถัง ยานยนต์ และมอเตอร์ไซค์
ในยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) เมื่อเยอรมันบุกเข้าไปในรัสเซีย กูเดเรียน ในฐานะผู้บัญชาการ หน่วย Panzer กลุ่ม 2 (Panzergruppe 2) ฝากผลงานไว้มากมาย จนได้รับกางเขนเหล็ก ประดับใบโอ็ค
แต่ในที่สุด เขาก็ขัดแย้งกับนายพล ฟอน บ็อค (Von Bock) ผู้บัญชาการ กลุ่มกองทัพกลางในรัสเซีย ที่พยายามหยุดการเคลื่อนที่ของกูเดเรียน จนในที่สุด กูเดเรียน ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง เมื่อขัดคำสั่งของฟอน บ็อค ในการถอนกำลัง Panzer ของเขา ออกจากจุดอันตราย และเสี่ยงต่อการสูญเสียอย่างไม่คุ้มค่า
ในเดือน ก.พ. 1943 หลังจากกองทัพที่ 6 ของนายพล ฟอน เปารุส พ่ายแพ้ในสตาลินกราด กูเดเรียนถูกเรียกกลับมาอีกครั้ง ในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนายานเกราะให้มีความทันสมัย
เขาเริ่มต้นด้วยการเพิ่มอัตราการผลิตยานเกราะในแต่ละเดือน นอกจากนี้ ยังไม่ยอมให้มีการยกเลิกสายการผลิต Panzer IV เพื่อหันไปผลิต Panzer V หรือรู้จักกันในนาม Panther และ Panzer VI หรือ Tiger
ซึ่งแม้ Panzer IV จะด้อยกว่ารถถังของรัสเซีย ที่ออกมาใหม่เกือบทุกอย่างก็ตาม แต่กูเดเรียนก็ให้เหตุผลว่า Panzer IV นั้นมีเครื่องยนต์ที่ไว้ใจได้ พลประจำรถถังเยอรมันมีความคุ้นเคยกับมันขนาดบังคับได้ แม้เวลาหลับ (could handle it in their sleep) ต่างจากรถถังรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนพลประจำรถใหม่ ในเวลาปกติคงไม่น่าเป็นปัญหา แต่ในขณะที่รัสเซียกำลังรุกเข้ามาทุกทิศทุกทางเช่นนี้ คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะนัก สำหรับการมานั่งฝึกการบังคับรถรุ่นใหม่ๆ
กูเดเรียน จบการรับใช้กองทัพนาซีเยอรมัน ในตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก (Chief of army staff) และยอมจำนนต่อกองทัพอเมริกา ในเดือน พ.ค. 1945 เขาถูกส่งตัวขึ้น ศาลอาชญากรสงคราม ที่นูเรมเบอร์ก ฝ่ายรัสเซียต้องการดำเนินคดีเขาในฐานะ อาชญากรสงคราม
แต่ฝ่ายอังกฤษ อเมริกา ไม่เห็นด้วย เขาถูกคุมขังที่ Neustadt และได้รับการปล่อยตัวใน 3 ปีต่อมา คือ ปี 1948 นายพล ไฮน์ กูเดเรียน เสียชีวิต เมื่อ 14 พ.ค. 1954 ในเยอรมันตะวันตก (ขณะนั้น) เป็นเวลา 14 ปีหลังจากการรุกที่แม่น้ำเมิร์ส อันยิ่งใหญ่ของเขา ในฝรั่งเศส
Heinz Guderian
จาก http://www.geocities.com/saniroj
โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
---------------------------------
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น