ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #269 : การรบเหนือเกาะอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สอง

    • อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 52


    การรบเหนือเกาะอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สอง

    การรบเหนือเกาะอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2

    Battle of Britain

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    -----------------------------------




    วิหารเซนต์พอล ในกรุงลอนดอน ขณะถูกฝูงบินเยอรมันทิ้งระเบิดใส่กรุงลอนดอน




    ภายหลังจากที่เยอรมันพิชิตเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสแล้ว กองทัพเยอรมันก็รุกมาอยู่ที่ชายฝั่งของฝรั่งเศสตรงข้ามกับเกาะอังกฤษ ฮิตเลอร์ก็วางแผนที่จะบุกเกาะอังกฤษ เป็นขั้นตอนต่อไป โดยมุ่งบุกไปทางตอนใต้ของเกาะ ภายใต้ชื่อยุทธการ สิงโตทะเล (Sealion) ซึ่งความสำเร็จของยุทธการนี้ จะขึ้นอยู่กับการทำลายกองทัพอากาศของอังกฤษ (Royal Air Forces's fighter Command) โดยกองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe)

    การโจมตีของกองทัพอากาศเยอรมันเริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 10 กรกฎาคม 1940 และอีก 3 สัปดาห์ต่อมา นักบินของเยอรมัน และอังกฤษก็เข้าต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด

    การโจมตีเดินทางมาถึงช่วงสูงสุดในเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในวันที่ 15 สิงหาคม กองทัพอากาศเยอรมัน หรือลุฟวาฟ เข้าโจมตีครั้งสำคัญ ภายใต้รหัส แอดเลอร์ (Adler = Eagle) หรือ นกอินทรี เพื่อกวาดล้างกองทัพอากาศอังกฤษให้สิ้นซาก

    แต่ผลกลับออกมาในทางตรงกันข้าม ฝ่ายเยอรมันต้องสูญเสียเครื่องบินไปถึง 72 เครื่องในการรบเพียงวันเดียว จนมีการขนานนามวันนี้ว่า วันพฤหัสทมิฬ หรือ the black thursday

    นักบินอังกฤษต่อสู้อย่างทรหด แม้จะอิดโรยอย่างมากจากการโจมตีของเยอรมันระลอกแล้ว ระลอกเล่า ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งนี้เพื่อรักษาแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน

    ในขณะที่นักบินเยอรมัน ก็สู้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยความมีประสบการณ์ จากสมรภูมิสงครามกลางเมืองในสเปน มาจนถึงสมรภูมิในยุโรป ทำให้นักบินเยอรมัน เป็นนักบินที่น่ากลัวที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

    แต่เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระบบเรดาห์เตือนภัย ที่อังกฤษนำมาใช้ในการแจ้งเตือน ถึงการมาถึงของฝูงบินเยอรมัน ทำให้อังกฤษมีเวลาเตรียมตัวรับมือ การต่อสู้บนแผ่นดินอังกฤษ ที่นักบินเยอรมันมีขีดจำกัดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน เช่น เครื่องบินแมสเซอร์สมิท Bf 109 ของเยอรมันสามารถบินอยู่เหนืออังกฤษได้เพียง 30 นาที

    เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่มีน้ำมันเพียงพอบินกลับฐาน ทั้งที่สมรรถนะของเครื่องบินชนิดนี้ ไม่ได้ด้อยไปกว่าเครื่องบินสปิตไฟร์ และเฮอร์ริเคนของอังกฤษเลย นักบินเยอรมันถึงกับบอกว่า เยอรมันเหมือนสุนัขที่ถูกล่ามโซ่ มันต้องการโจมตีข้าศึก แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะสายโซ่ที่มีอยู่รั้งคอมันเอาไว้

    ส่วนเครื่องบินโจมตีสองเครื่องยนต์ีแบบ แมสเซอร์ชมิท บี เอฟ 110 ที่เคยสร้างผลงานอันน่าประทับใจในสมรภูมิยุโรป ก็กลายเป็นเป้าเคลื่อนที่ให้กับนักบินอังกฤษ ที่มีความคล่องตัวกว่าอย่างมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัด ที่ส่งผลถึงความสูญเสียของกองทัพอากาศเยอรมันเหนือน่านฟ้าอังกฤษทั้งสิ้น

    ตลอดเวลาที่เยอรมันโจมตีเกาะอังกฤษ เยอรมันจะเปลี่ยนเป้าหมายสลับไป สลับมา จากเป้าหมายทางทหาร มาเป็นเป้าทางพลเรือน สถานีเรดาห์ชายฝั่ง สนามบิน ตลอดจนโรงงานผลิตเครื่องบิน แต่ก็ไม่สามารถทำลายเป้าหมายใด เป้าหมายหนึ่งลงได้อย่างสิ้นซาก

    7 กันยายน ฝูงบินเยอรมันโจมตีกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก ลุฟวาฟเชื่อว่า มีเครื่องบินอังกฤษเหลือปกป้องนครลอนดอนเพียง 100 เครื่องเท่านั้น

    แต่แท้ที่จริง ปรากฏว่า เยอรมันต้องพบกับเครื่องบินอังกฤษเหนือน่านฟ้านครลอนดอนถึงกว่า 300 เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันกว่า 300 ลำ ทิ้งระเบิดกว่า 300 ตันลงสู่นครหลวงของอังกฤษ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

    เพลิงลุกไหม้ลอนดอนสว่างไสวราวกับกลางวัน และเพลิงยังทำหน้าที่เสมือนคบเพลิง บอกทิศทางให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันอีกกว่า 250 ลำที่บินเลาะแสงสีเงินของลำน้ำเทมส์ เข้าโจมตีลอนดอนเป็นระลอกต่อมา ชาวอังกฤษที่เห็นเหตุการณ์ถึงกับกล่าวว่า โลกทั้งโลกกำลังลุกเป็นไฟ (the whole bloody world is on fire)

    นับจากวันนั้นมาอีก 56 คืน ลอนดอนก็ถูกโจมตีตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงรุ่งอรุณ (from dusk to dawn) การโจมตีอันยาวนานนี้ ส่งผลให้ชาวลอนดอนเสียชีวิตกว่า 13,600 คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อีกกว่า 250,00 คนไร้ที่อยู่อาศัย

    ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันสูญเสียไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ปืนต่อสู้อากาศยานของอังกฤษสามารถยิงเครื่องบินเยอรมันตกได้น้อยมาก ในอัตราส่วน ยิงตกเพียง 1 ลำจากทุกๆ 300 ลำที่บินเข้ามาโจมตีลอนดอน

    การโจมตีที่หนักที่สุดมีขึ้นในวันที่ 16 เมษายน 1941 จนเกิดคำศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมว่า Blitz ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้ถนนหนึ่งในสามของลอนดอนถูกทำลาย ครอบครัว 160,000 ครอบครัวไม่มีน้ำปะปา ไฟฟ้า และแก๊สใช้

    ปลายเดือนมิถุนายน ภายหลังจากสูญเสียครื่องบินไปเป็นจำนวนมาก เยอรมันก็เริ่มอ่อนล้า ประกอบกับฮิตเลอร์เริ่มมองไปที่แนวรบด้านตะวันออก พร้อมทั้งเตรียมการบุกรัสเซีย เครื่องบินสองในสามถูกย้ายไปเพื่อเตรียมการใน ยุทธการบาร์บารอสซ่า

    12 ตุลาคม 1941 ฮิตเลอร์ก็เลื่อนยุทธการสิงโดทะเลออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหันไปเปิด แนวรบด้านตะวันออก กับรัสเซียแทน ปล่อยให้อังกฤษมีเวลาฟื้นตัว และกลายเป็นฐานทัพของฝ่ายพันธมิตรในการส่งกองทัพอากาศเข้าโจมตีเยอรมัน และเป็นฐานในการยกพลขึ้นบกครั้งสำคัญใน วัน ดี เดย์ ซึ่งส่งผลให้เยอรมันตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด







    แมสเซอร์ชมิท บี เอฟ 109 (Messerschmitt Bf 109) เครื่องบินขับไล่ที่เป็นแกนหลักของเยอรมันในการโจมตีเกาะอังกฤษ มันถูกออกแบบมาให้มีโครงสร้างที่เล็ก คล่องตัว มีเครื่องยนต์ที่ทรงพลัง มีอัตราความเร็วในการบินดำดิ่ง เร็วกว่าเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษทุกชนิด

    นอกจากนี้ยังติดปืนกลขนาด 7.9 มม. แบบ MG 17 ที่เหนือเครื่องยนต์สองกระบอก โดยทำการยิงลอดใบพัด ส่วนปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม.แบบ MG FF อีกสองกระบอก ติดที่ปีกทั้งสองข้าง ข้างละหนึ่งกระบอก ในช่วงต้นของการรบที่เกาะอังกฤษ เยอรมันมีเครื่องบินขับไล่แบบนี้และแบบ บี เอฟ 110 อยู่ 1,290 ลำ




    เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมัน แบบ ไฮน์เกล 111 (Heinkel He III) ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหลักที่เข้าโจมตีเกาะอังกฤษ มันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบที่สเปน และโปแลนด์ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง

    แต่เมื่อต้องมาพบกับเครื่องบิน สปิตไฟร์ และ เฮอร์ริเคนของอังกฤษ ไฮน์เกล 111 ก็พบว่า ตัวมันมีอาวุธน้อยเกินไป ที่จะต่อต้านเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ เครื่องบินรุ่นนี้ติดตั้งปืนกลขนาด 7.92 มม. จำนวน สามกระบอก บรรทุกระเบิดได้ 1,800 กก. มีความเร็ว 398 กม. ต่อ ชม. เครื่องยนต์สองเครื่องยนต์ของไฮน์เกล 111 เป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ไว้ใจได้

    อย่างไรก็ตาม นักบินอังกฤษพบว่า บริเวณส่วนหัวของเครื่องบิน เป็นกระจก และไม่มีเกราะป้องกันใดๆให้กับนักบิน ทั้งนี้มุ่งหมายเพื่อทัศนวิศัยที่ดีของนักบิน นักบินอังกฤษจะบินพุ่งสวนเข้าหาไฮน์เกล 111 จากด้านหน้า แล้วยิงเข้าใส่ฝูงบินทิ้งระเบิดของเยอรมันจากด้านหน้า ก่อนที่บินฉีกออกไปด้านข้าง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับฝูงบิน และนักบินของไฮน์เกล 111 เป็นอย่างมาก




    แม้ว่าเครื่องบินฮอว์คเกอร์ เฮอริเคนจะมีการผลิตเป็นจำนวนมาก แต่สุดยอดของเครื่องบินขับไล่เหนือน่านฟ้าอังกฤษ ในปี 1940-1941 ก็คือ เครื่องบินซุปเปอร์มารีน สปิตไฟร์ (Supermarine Spitfire) มันมีความเร็ว 580 กม. ต่อ ชม. ติดปืนกลขนาด .303 นิ้ว ถึงแปดกระบอกที่ปีกทั้งสองข้าง

    นักบินอังกฤษที่ใช้เครื่องสปิตไฟร์ จะทำการปรับปืนทั้งแปดกระบอกให้มีระยะรวมศูนย์อยู่ที่ 594 เมตร คือกระสุนทั้งแปดกระบอกจะมารวมกันที่ระยะ 594 เมตรจากลำกล้อง แต่ก็มีนักบินบางคนพยายามปรับระยะรวมศูนย์ให้ลดมาอยู่ที่ 200 หลา หรือ 183 - 274 เมตร ระยะที่แตกต่างนี้มีผลในเรื่องของการต้องการเพียงสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบินเยอรมัน หรือทำลายเครื่องบินเยอรมัน

    การสร้างความเสียหายนั้น อังกฤษเชื่อว่า จะทำให้เยอรมันต้องเสียเวลาในการซ่อมแซม และต้องใช้บุคคลากรจำนวนมาก เป็นการทำให้เยอรมันต้องพะว้าพะวัง ทำการรบได้ไม่เต็มที่ ในช่วงแรกของการรบ อังกฤษมีเครื่องบินสปิตไฟร์ และเฮอร์ริเคนอยู่ 591 ลำ




    เครื่องบินฮอว์คเกอร์ เฮอริเคน ของอังกฤษ แม้ว่าจะเก่าแก่กว่าสปิตไฟร์แต่ก็มีความเร็ว 523 กม.ต่อ ชม. และติดปืนกลขนาด .303 นิ้ว แปดกระบอก มีอำนาจการยิงสูง และสามารถสร้างความเสียหายให้กับเยอรมันได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ในการรบเหนือเกาะอังกฤษ




    เจ้าหน้าที่ Home Guard ของอังกฤษในกรุงลอนดอน กำลังเฝ้าดูท้องฟ้า จากหลังคาที่พักอาศัย กรุงลอนดอนตกเป็นเป้าทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศเยอรมันอย่างหนัก แต่ชาวอังกฤษก็ยืนหยัดต่อสู้การโจมตีอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวก็ตาม

    เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

    ".... นี่คือเวลาที่ชาวอังกฤษทุกคนจะต้องร่วมมือกัน และรวมกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (was united as never before) ทั้งชาย และหญิง จะต้องทุ่มเทกับภารกิจของตัวเอง จนกระทั่งทรุดตัวลงกับพื้น ด้วยความอ่อนล้า จนต้องได้รับการบอกกล่าว ให้กลับบ้านไปพักผ่อน ในขณะเดียวกันบ้านพักของชาวอังกฤษก็จะมีผู้เข้ามาร่วมอยู่อาศัย จากการลี้ภัยสงคราม ความปรารถนาของทุกคน คือ การมีอาวุธ ชาวอังกฤษจะไม่หวั่นต่อการรุกราน เพราะพวกเราทุกคนได้เลือกแล้วว่า จะปราชัยต่อผู้รุกราน หรือ จะสละชีพเพื่อชาติ ...."




    เพลิงจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินเยอรมัน กำลังลุกไหม้อยู่ในกรุงลอนดอน โดยมีสะพานทาวเวอร์บริด (Tower Bridge) ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า ปัจจัยที่ทำให้ยุทธการสิงโตทะเล ในการโจมตีเกาะอังกฤษ ไม่ประสบความสำเร็จนั้น มีผู้วิเคราะห์กันว่า มี 3 ประเด็นคือ

    ประการแรก จอมพลแฮร์มาน เกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ เขาเคยเป็นเสืออากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็จริง แต่การเป็นนักบิน กับการเป็นผู้บัญชาการกองทัพนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง การที่เขาเปลี่ยนเป้าหมายในการโจมตีทางอากาศไปเรื่อยๆ แทนที่จะโจมตีเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น โจมตีลิเวอร์พูลวันหนึ่ง แล้วไปโจมตีเมืองปอร์ตสมัธในวันต่อมา แล้วก็เปลี่ยนไปโคเวนตรี้อีกวันหนึ่ง วิธีนี้ เท่ากับให้เวลากับเมืองเหล่านั้นในการฟื้นตัว เท่าๆกับให้เวลาในการเรียกขวัญและกำลังใจ ของชาวเมืองกลับมา

    ประการที่สอง คือ นักบินอังกฤษสู้ในผืนดินตัวเอง เมื่อถูกยิงตก ก็จะได้รับการช่วยเหลือแล้วกลับขึ้นบินใหม่ ส่วนนักบินเยอรมัน รบไกลบ้าน มีขีดจำกัดทั้งด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และความชำนาญในภูมิประเทศ เมื่อถูกยิงหากไม่เสียชีวิตหรือ บาดเจ็บก็จะถูกจับเป็นเชลย บางส่วนที่เครื่องบินตกในช่องแคบอังกฤษ ถ้าโชคดีก็จะได้รับการช่วยเหลือจากเรือของเยอรมัน แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย

    ประการสุดท้ายคือ การใช้ระบบเรดาห์เตือนภัยของอังกฤษ ซึ่งสามารถทำให้อังกฤษรู้ว่า เครื่องบินของเยอรมันกำลังมุ่งไปทางทิศใด มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ระบบเรดาห์นี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอังกฤษในการรบเป็นอย่างมาก



    จอมพลแฮร์มาน เกอริง (Reichsmarschall Hermann Goering) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันหรือ Luftwaffe สร้างชื่อเสียงในการเป็นเสืออากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เกิดในปี 1892 และเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในปี 1946 ขณะถูกดำเนินคดีฐานเป็นอาชญากรสงคราม เมื่อเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง


    -------------------------------------
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×