ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แฟนตาซีบุ๊คคริติก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

    ลำดับตอนที่ #21 : บทวิจารณ์ The Last Guardian โดย Witherwink (ได้รับเหรียญทองแดง)

    • อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 53


    The Last Guardian โดย Witherwink
    ผู้วิจารณ์ : ผู้สร้าง
       


    ภาษาที่ใช้ : 15/25 คะแนน

        - เอกลักษณ์
        ภาษาที่ใช้อยู่ในระดับที่แตกต่างจากนิยายเด็กดีส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้มีเอกลักษณ์ปรากฏออกมาอย่างเห็นได้ชัด

        - การบรรยาย
        การบรรยายทำได้ค่อนข้างดี ผู้อ่านสามารถนึกภาพตามได้ แต่ลักษณะการบรรยายจะเป็นไปเรื่อย ๆ ไม่มีเทคนิคการบรรยายที่ปรากฏเห็นได้ชัด และมีคำผิดความหมายอยู่เยอะ ในส่วนนี้ขอให้ลองตรวจสอบความหมายของคำก่อนนำมาใช้

        - การสะกดคำ
        มีทั้งสะกดผิดเพราะความไม่รอบคอบในการพิมพ์ (ซึ่งส่วนนี้เป็นปัญหาเล็ก ๆ ทางเทคนิค) และสะกดผิดไปเลยเพราะไม่รู้วิธีสะกดที่แท้จริง แนะนำให้เปิดพจนานุกรมดูศัพท์ก่อนพิมพ์ เพราะนอกจากจะได้คำศัพท์ที่สะกดถูกต้องแล้ว ยังได้ทางเลือกในการใช้คำอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษนิดหน่อยนะครับ การเขียนทับศัพท์ควรคำนึงถึงตัวสะกดในภาษาอังกฤษ
       
        - บทพูด
        ในบทแรก บทพูดของตัวละครในบางจุด มีลักษณะเป็นภาษาเขียนมากกว่าภาษาพูด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่สมดุลของบทพูดกับบทบรรยาย กล่าวคือ บทบรรยายอยู่ในระดับธรรมดา แต่บทพูดอยู่ในระดับสูงกว่า แต่เหล่านี้ปรากฏในเฉพาะบทแรก
        บทต่อ ๆ ไป ที่เห็นมีหลายจุดคือการแทรกการกระทำบางอย่างเข้าไปในบทพูด ขอยกตัวอย่างเพียงสองจุดให้พอเข้าใจ เช่น "ฮ่า ๆ ๆ มาสิ มาจับฉันให้ได้ก่อนเถอะ" ในที่นี้กระทำที่ถูกแทรกเข้ามาคือการหัวเราะ การกระทำควรจะถูกดึงออกมาจากบทพูด และนำไปใส่ในส่วนบรรยายแทน เช่น ชายหนุ่มหัวเราะ ยิ้มยั่ว ๆ นิดหนึ่ง "จับฉันให้ได้ก่อนเถอะ" อีกจุดที่ขอยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างคือ "ฮือ...ฮือ ไปกับนายที่อาณาจักรบ้าอะไรนั่น" ฯลฯ
       


    ความน่าสนใจ หรือความน่าติดตาม : 14/20 คะแนน

        - บทแรก
        อารมณ์ในบทแรกค่อนข้างจริงจัง ภาษาที่ใช้ก็อยู่ในระดับค่อนข้างดี บทแรกทิ้งท้ายเกี่ยวกับความหวังที่หญิงสาวจะสามารถชุบชีวิตคนรักของนางขึ้นมาได้
       
        - ความน่าสนใจ
        บรรยากาศของบทแรกค่อนข้างจริงจัง แต่ช่วงแรก ๆ ของบทต่อมากลับให้ความรู้สึกเหมือนการ์ตูน (ส่วนนี้คือจุดติ) ทว่าเมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ อารมณ์เดิมจะเริ่มกลับคืนมา  สำหรับผู้อ่านที่ชื่นชอบนิยายที่มีลักษณะบรรยายค่อนข้างดี ก็อาจเห็นว่านิยายเรื่องนี้ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ในเมื่อเป็นนิยายที่มีลักษณะการบรรยายที่ค่อนข้างดี ไม่ใช่ ดี หรือ ดีมาก ผู้อ่านที่ชื่นชอบนิยายภาษาสละสลวยอาจไม่เห็นว่านิยายเรื่องนี้มีความน่าสนใจเท่าไร อีกทั้งนิยายเรื่องนี้ไม่ปรากฏการนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ อันจะกล่าวต่อไป
       
        - แนวคิด
        บทแรกทิ้งท้ายด้วยความหวังที่หญิงสาวจะสามารถชุบชีวิตคนรักขึ้นมาได้ ในส่วนนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะแนวคิดว่าไม่ใช่แนวคิดใหม่ ทั้งนี้ไม่คำนึงถึงรายละเอียดปลีกย่อยของวิธีการชุบชีวิต เนื่องจากไม่ว่าจะด้วยวิธีการอย่างไร ก็ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการชุบชีวิตคนรัก ในบทที่สองมีการกล่าวถึงเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับเลือก นอกจากแนวคิดนี้จะมีให้เห็นทั่วไปหรือไม่ใช่แนวคิดใหม่แล้ว รูปแบบการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวของนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย ในตอนท้ายของบทที่สอง จู่ ๆ ตัวเอกของเราก็ได้พบกับชายแก่ ผู้ซึ่งต่อมาบอกตัวเอกของเราว่าเขาเป็นผู้ได้รับเลือก "เอาเป็นว่าถ้าเจ้าไม่มีคุณสมบัติพอ กระจกคงไม่เลือกให้เจ้ามาเป็นเจ้าของหรอก" การนำเสนอที่ปรากฏให้ความรู้สึก แรนดอม คือ ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จู่ ๆ ก็เกิดขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุผล เนื่องจากเหตุผลอาจตามมาในภายหลังได้ แต่ในที่นี้เป็นเหตุมาจากรูปแบบการนำเสนอล้วน ๆ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
       
        - รูปแบบการนำเสนอ
        การนำเสนอสิ่งใหม่ที่ไม่ปรากฏแน่นอน -- กล่าวคือ ผู้อ่านไม่รู้สึกว่ามีอะไรใหม่เกี่ยวกับเรื่องราว -- อาจถูกขับเน้นความน่าสนใจได้ด้วยรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งในที่นี้ไม่มีรูปแบบการนำเสนอที่โดดเด่นหรือน่าสนใจเท่าไร แม้ว่าภาษาที่ใช้จะอยู่ในระดับค่อนข้างดี ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ เช่น เด็กชาย ก กับ เด็กชาย ข ไปเที่ยวสวนสนุกมาด้วยกัน วันต่อมาจึงมาเล่าเรื่องราวให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนฟัง ซึ่งการบอกเล่า (รูปแบบการนำเสนอ) ของเด็กชายทั้งสองย่อมไม่เหมือนกัน อีกคนอาจเล่าไม่สนุกเท่าอีกคน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน



    ความมีมิติของตัวละคร ความมีลักษณะเฉพาะของตัวละครแต่ละตัว : 9/15 คะแนน
       
        - ลักษณะเฉพาะของตัวละคร
        ตัวละครไม่ปรากฏลักษณะเฉพาะที่แน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นนิยายมุมมองบุคคลที่สาม และนำเสนอผ่านมุมมองของตัวละครตัวเดียว คือ เวลรอส ในที่นี้ เมื่อไม่สามารถแสดงลักษณะเฉพาะของตัวละครตัวอื่นได้ด้วยความคิด ก็สามารถแสดงได้ด้วยการกระทำต่าง ๆ ทว่าการกระทำต่าง ๆ ของตัวละครอื่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะอนุมานลักษณะเฉพาะของตัวละครนั้น ๆ นอกจากนี้ตัวละครหลักก็ไม่ปรากฏลักษณะเฉพาะที่แน่นอนด้วย มีการนำเสนอความคิดของตัวเอกไม่เพียงพอ ในที่นี้แนะนำให้เพิ่มในส่วนของความคิดของตัวเอกอีก



    ความสมจริงของฉาก ความเป็นเหตุเป็นผล ความน่าเชื่อถือ การตัดสินใจของตัวละคร ความเป็นมนุษย์ ฯลฯ  : 9/15 คะแนน
       
        - ความเป็นมนุษย์
        การตอบสนองต่อเหตุการณ์ของตัวละครก็อยู่ในระดับค่อนข้างดีแล้ว



    ความสามารถในการสื่ออารมณ์ถึงผู้อ่านผ่านตัวอักษร ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครได้แค่ไหน : 9/15 คะแนน
       
        - อารมณ์ตัวละคร
        ในที่นี้ผู้อ่านสามารถรับรู้อารมณ์พื้นฐานของตัวละครได้ กล่าวคือ ผู้อ่านรู้ว่าตัวละครมีอารมณ์ไหน สุข เศร้า โกรธ ฯลฯ แต่นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีอารมณ์ลึกซึ้งอะไร ผู้อ่าน "รู้" ความรู้สึก แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวละครได้



    การค้นคว้าของผู้เขียน / ผู้อ่านได้ความรู้บางอย่างเพิ่มเติมในการอ่านนิยายเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ เพียงใด : 1/5 คะแนน

        - การค้นคว้าของผู้เขียน
        ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าผู้เขียนมีการค้นคว้าอะไรเป็นพิเศษ ทั้งนี้การค้นคว้าไม่ได้หมายถึงว่าจะปรากฏออกมาในรูปแบบวิชาการเท่านั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ของนิยาย อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าผู้เขียนได้ทำการศึกษามาก่อนจะมาปรากฏในนิยาย ทว่าในที่นี้ไม่ปรากฏสิ่งที่ดูเหมือนจะผ่านการค้นคว้ามาก่อนเท่าไรนัก



    และ
    คะแนนพิเศษ (ขึ้นอยู่กับผู้วิจารณ์) : 3/5 คะแนน
        ภาษาที่ใช้อยู่ในเกณฑ์ที่เกือบจะไม่ใช่การ์ตูนแล้ว



    รวม : 60/100 คะแนน

    เหรียญที่ได้รับ : เหรียญทองแดง

    กรุณาไปกรอกเอกสารเพื่อขอรับเหรียญรางวัลต่อไป


    โพล79152

    หากว่าท่านผู้ใดมี ความเห็นที่แตกต่างไปจากนี้ -- ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ ภาษา ความน่าสนใจ ความสมจริง และส่วนอื่น ๆ ที่ประกฏในบทวิจารณ์ -- โปรดอย่าลังเลที่จะแสดงความคิดเห็น ความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานวิจารณ์ต่อไป และที่สำคัญไปกว่านั้น ความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานเขียนนี้ด้วย

    (แสดงความเห็นไว้ในหน้านี้เลยนะครับ อย่าไปโพสต์ที่หน้าหลักของบทความ)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×