ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #177 : [ลิเก] รายละเอียดลิเกทรงเครื่อง

    • อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 50



    ลิเกทรงเครื่อง



                 1. สถานที่แสดง แต่โบราณมาก็คงเป็นรูปแบบเดียวกับโรงละครใน ละครนอก คือมีฉากตายตัว ซึ่งมีประตูเข้าออก 2 ข้าง มีเตียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งหน้าฉาก 1 เตียง ผ้าฉากอาจเป็นลายอย่างผ้าม่านหรือเป็นภาพเขียน เช่น ภาพท้องพระโรง เป็นต้น

                 2. การรำ ลิเกทรงเครื่องต้องใช้ศิลปการรำเหมือนกันกับละคร เพราะในการแสดง จะต้องรำเพลงหน้าพาทย์ รำใช้บท เช่นเดียวกับละคร แต่ว่าความมุ่งหมายของลิเกคือ ต้องดำเนินเรื่องให้รวดเร็วอย่างหนึ่ง กับให้แลดูแปลกตาจากละครอย่างหนึ่ง ท่ารำจึงมักตัดทอนลงบ้าง ดัดแปลงให้เป็นเชิงกล้องแกล้งพริ้งเพราไปบ้าง เช่น ท่าเชิดของลิเก มักจะย่อเข่าลงมากกว่าละคร ท่าเชิดแบบนี้ นายสังวาลย์ พระเอกลิเกรุ่นเล็กมีชื่อ ของ พระยาเพชรปาณี เป็นผู้ประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้น ซึ่งบรรดาศิลปินลิเกได้ยึดถือต่อมาจนปัจจุบัน

                3. การร้อง เพลงร้องอันเป็นปกติของลิเกคือ เพลง 2 ชั้น และชั้นเดียว เหมือนกับแบบของละคร แต่เพื่อให้ฟังแปลกหูกระตุ้นใจผู้ดูผู้ฟังขึ้น วิธีร้องเพลงต่างๆมักจะดัดทำนองให้ดีดดิ้นไพเราะแปลกไปกว่าการร้องอย่างละคร แต่ไม่ใช่ดัดจนน่าเกลียดหรือเกือบไม่เป็นเพลง ส่วนเพลงสำหรับดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียวมาดัดแปลง ให้ร้องด้นเดินเนื้อความไปได้มากๆแล้วจึงจะลงให้ปี่พาทย์รับครั้งหนึ่ง เพลงหงส์ทองนี้นับว่าเป็นเพลงที่แสดงสัญลักษณ์ของลิเกทีเดียว เพลงหงส์ทองที่ใช้ร้องดำเนินเรื่องนี้ยังแยกออกไปอีกหลายอย่าง เมื่อลิเกแสดงเรื่องที่เป็นภาษาต่างๆ ก็ประดิษฐ์เพลงให้เป็นสำเนียงภาษานั้นๆ เช่น แปลงจากเพลงลาวชมดง ก็เรียกหงส์ทองลาว แปลงจากเพลงพม่ากองแว เรียกหงส์ทองพม่า จากเพลงมอญดอกโสน เรียกหงส์ทองมอญ จากเพลงสดายง ก็เรียกว่าหงส์ทองแขก เป็นต้น

    ต่อมา นายดอกดิน เสือสง่า ลิเกมีชื่อเสียงได้ประดิษฐ์เพลงอันเป็นสัญลักษณ์ของลิเกขึ้นเพลงหนึ่ง คือ "เพลงรานิเกริง" ซึ่งดัดแปลงจากเพลงมอญครวญของลิเกบันตน อันเป็นเพลงใช้ในบทเศร้าโศก แต่ที่นายดอกดินประดิษฐ์ขึ้นนี้ ได้ดัดทำนองเปลี่ยนเสียงตกให้เป็นเพลงแสดงความรัก และใช้กลอนสัมผัสแบบเดียวกับเพลงมอญครวญของเดิม ในสมัยต่อมานายหอมหวล นาคศิริได้ประดิษฐ์วิธีร้องเพลงรานิเกริงขึ้นอีกแบบหนึ่ง ใช้กลอนอย่างลำตัดซึ่งทำให้ร้องด้นดำเนินเรื่องได้มาก จึงจะลงให้ปี่พาทย์รับครั้งหนึ่ง ก็ได้รับความนิยมแพร่หลายอยู่มาก สิ่งสำคัญในเรื่องการร้องเพลงของลิเก ซึ่งไม่มีการบอกบท หรือดูบทได้ (นอกจากการร้องลิเกออกกระจายเสียงทางวิทยุ) ผู้แสดงจะต้องคิดด้นร้องเป็นกลอนสดด้วยปฏิภาณของตนเอง อันนับว่าเป็นศิลปที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า "ปฎิภาณกวี"

                 4. การพูด ตามปกติจะเห็นว่าสำเนียงการเจรจาโขนหรือสำเนียงพูดของละคร จะต่างไปจากการพูดของสามัญชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว ยิ่งลิเกนั้นเดิมทีจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน ผู้ที่แสดงเป็นตัวนางจึงต้องดัดเสียงให้ละม้ายไปทางอิสตรี เพื่อให้สมบทบาท และหน้าที่ของตัว เพิ่งจะมีผู้หญิงแสดงเป็นตัวนางในสมัยต่อมานี้เอง



                 5. เครื่องแต่งตัว โขน และครรำ (ละครนอก และละครใน) ตามที่ผู้รู้ได้วินิจฉัยแล้ว มีความเห็นว่าเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา การแต่งกายของโขนและละครรำ ซึ่งถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ ตัวนายโรงซึ่งโดยมากในเรื่องมักจะเป็นตัวกษัตริย์ ก็แต่งเครื่องเลียนแบบพระเครื่องต้นของกษัตริย์ มีมงกุฎ สังวาล ทับทรวง เจียระบาด สนับเพลา ชายไหว ชายแครง เป็นต้น เมื่อโขน ละครแต่งเลียนแบบพระเครื่องต้นของกษัตริย์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีกฎหมายห้ามมิให้โขน ละคร แต่งกายด้วยเครื่องทรงบางอย่างเหมือนเครื่องทรงของกษัตริย์ เพิ่งมาผ่อนผันอนุญาตเมื่อรัชกาลที่ 4 ส่วนลิเกซึ่งเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ผู้ประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวซึ่งมุ่งหมายที่จะให้พราวแพรวแวววับเหมือนกัน แต่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำแบบกับโขน ละคร จึงต้องคิดหาเครื่องทรงกษัตริย์อย่างอื่นมาเลียนแบบขึ้นใหม่ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งตัวลิเกได้นำเอาเครื่องทรงของกษัตริย์ที่ไม่ใช่พระเครื่องต้น มาเลียนแบบโดยตรงบ้าง ดัดแปลงบ้าง แต่งให้แก่นายโรง และตัวสำคัญอื่นๆ เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบ สวมเยียรบับแขนใหญ่ถึงข้อมือ มีเข็มขัดรัดนอกเสื้อ และยังนำเอาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกหลายอย่างมาแก้ไข เช่น นำเอาปันจุเหร็จ ซึ่งละครรำเคยใช้เฉพาะตัวอิเหนามาต่อกับยอดมงกุฎของกษัตริย์  ปักขนนกวายุภักษ์อย่างพระมหามงกุฎ 5 ยอด ที่เรียกว่า "พระมหาชมพู" ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มาสวมศีรษะ นำเอาพระมหาสังวาลนพรัตน์ ซึ่งของจริงทำด้วยเพชรพลอย 9 อย่าง เป็นดอกๆรูปดาวล้อมเดือน มีสร้อยเชื่อมเป็น 2 สาย มี 3ต ดอก สวมรอบคอ เรียกว่า "พระสังวาลแฝด" แต่มาแปลงเสียเป็นเพชรขาวสีเดียว ติดดอกเรียงห้อยลงมาเต็มหน้าอก ทุกๆดอกมีสร้อยเชื่อมถึงกัน ที่ปลายไหล่ติดริบบิ้นสีต่างๆเป็นพวง ซึ่งแปลงมาจากแถบริบบิ้นที่ติดประจำพระสังวาลตราจักรี นพรัตน์ และจุลจอมเกล้าฯ ภายหลังมีผู้เปลี่ยนมาใช้อินทรธนูอย่างละคร แต่เล็กกว่า และทำด้วยเพชรเป็นรูปกนกแทนก็มี แต่บางทีก็ติดทั้งอินทรธนูเพชร และติดริบบิ้นสีต่างๆด้วยก็มี ส่วนสายสะพาย หากจะใช้ผ้าแถบอย่างเครื่องราชอิสริยยศ ก็ไม่แพรวพราวสมกันกับเครื่องแต่งกายส่วนอื่น จึงใช้สายสะพายปักดิ้นเลื่อมลายต่างๆ เลียนแบบสายสะพายตำรวจหลวง ในรัชกาลที่ 5 เครื่องแต่งตัวนาง ก็นุ่งจีบด้วยผ้ายกทอง สวมเสื้อกระบอกยาวถึงข้อมือ มีผ้าห่มสไบเฉียงปักด้วยดิ้นเลื่อมเป็นลายต่างๆ อันเลียนแบบมาจากสายสะพายราชอิสริยภรณ์จุลจอมเกล้าฯฝ่ายใน ส่วนเครื่องสวมศีรษะนั้น ถ้าเป็นนางชั้นสามัญ ก็ใช้กระบังหน้าที่มีมาแล้วในการแต่งกายละครพร้อมๆกับปันจุเหร็จ แต่ถ้าเป็นนางกษัตริย์ ก็ใช้กระบังหน้านั้นติดต่อยอดเป็นมงกุฎขึ้น เรียกว่า "มงกุฎสตรี" การแต่งกายตามแบบนี้ใช้แต่งกับลิเกทรงเครื่อง ที่ใช้ท่ารำซึ่งถอดมาจากละครรำ ในสมัยนี้การแสดงลิเกมักจะแสดงเป็นเรื่องสามัญชน และไม่ค่อยจะใช้ท่ารำ เครื่องแต่งกายอย่างที่กล่าวนี้ จึงชักจะบางตาลงทุกที จนหาได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเท่าๆกันกับลิเกแบบรำที่ค่อยๆน้อยลงไปจนไม่รำ

                 6. ดนตรี เครื่องบรรเลงประกอบการแสดงลิเกใช้ปี่พาทย์ จะเป็นขนาดวงเครื่องห้า เครื่องคู่ เครื่องใหญ่ ก็แล้วแต่ฐานะของงานนั้นๆ แต่ว่าจะต้องมีเครื่องประกอบภาษา เช่น กลองจีน กลองต๊อก โทน กลองชาตรี กลองยาว กลองแขก หรือกลองฝรั่ง ซึ่งเรียกกันติดปากว่ากลองมะริกัน ประกอบด้วย ส่วนกลองรำมะนาแต่เดิมเป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้แสดงหามา และมักจะตีเองด้วย เพราะเพิ่งกลายมาจากลิเกบันตน ที่ต้องมีเครื่องประกอบภาษามาในวงปี่พาทย์ด้วย เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงตามธรรมดาสามัญไปจนจบแล้ว จะต้องบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" เมื่อบรรเลงถึงเพลงฝรั่งแล้วจะต้องลงโรงได้ เพราะเมื่อสิ้นสุดเพลงฝรั่งแล้ว ก็ถึงเพลงแขกอันประกอบด้วยรำมะนา ซึ่งเป็นเพลงสำหรับปล่อยตัวแขกออกมาเบิกโรงคำนับครู และดำเนินเรื่องต่อไป ในการบรรเลงประกอบเรื่อง ปี่พาทย์จะต้องดำเนินเพลงจังหวะให้ค่อนข้างเร็ว ให้เหมาะสมกับความมุ่งหมาย และบทบาทของตัวแสดงที่ต้องการรวบรัด และวิธีบรรเลงร้องรับก็มักจะใช้วิธีพลิกแพลงไปบ้าง ยิ่งเพลงรานิเกริงด้วยแล้ว ปี่พาทย์จะยิ่งหาทางเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ถ้ารับไม่ซ้ำทำนองกันเลยได้ตลอดการแสดง จะยิ่งถือว่ามีความสามารถ การรับเพลงรานิเกริงจึงถึงแก่นำเอาเพลงอื่นทั้งเพลงมารับ แล้วบากท้ายเป็นทำนองเพลงรานิเกริงส่งให้ร้องเท่านั้นก็มี

    http://www.anurakthai.com/

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×