ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #172 : [นักดนตรีไทย] ครูเฉลิม บั่วทั่ง

    • อัปเดตล่าสุด 3 มิ.ย. 50





    "ครูเฉลิม บั่วทั่ง" เป็นครูเพลงอีกท่านที่ได้ฝากผลงานต่างๆ ที่มีคุณค่ายิ่งไว้ให้แก่แผ่นดินทองสุวรรณภูมิแห่งนี้ ท่านได้ประพันธ์เพลงต่างๆ ไว้มากมายหลายบทเพลง อีกทั้งได้สร้างคุณประโยชน์ต่างๆ แก่วงการดนตรีไทยไว้นานานับประการ ถึงแม้ขณะนี้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่เราควรระลึกถึงท่านไว้เป็นบูรพาจารย์ในใจเสมอไป

    ครูเฉลิม บัวทั่ง เป็นบุตรคนสุดท้องของครูปั้น และนางถนอม บัวทั่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ปีจอ ที่บ้านบางศรีราษฎร์ ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
     
    บิดาของครูเฉลิมเคยเป็นนักดนตรีอยู่ในสังกัดวังของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม (ผู้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน) เมื่อกรมหมื่นพิชัยฯสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น นักดนตรีในวงนี้ก็แยกย้ายกันไป ครูปั้นจึงกลับไปตั้งวงดนตรีของตนเองที่บ้านจังหวัดนนทบุรี
     
    เมื่อครูเฉลิมอายุได้ ๖ ขวบ บิดาก็จับมือให้ตีระนาด และฝึกฝนกระทั่งไม่นานก็สามารถเล่นได้รอบวง พออายุได้ ๘ ขวบ บิดาก็ถึงแก่กรรม ครูเฉลิมจึงย้ายไปอยู่กับพี่ชายซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ที่ปากคลองอ้อมนนท์ จังหวัดนนทบุรี
     
    เมื่อครูเฉลิมอายุได้ ๑๐ ขวบเศษ พี่ชายได้นำไปฝากเรียนกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งเป็นเพื่อนรักกับบิดาครูเฉลิมและต่อเพลงเดี่ยวระนาดกับขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์) พร้อมกันนั้นก็เรียนหนังสือไปด้วยที่โรงเรียนพรานหลวงสวนมิสกวัน ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ อยู่มาไม่นาน พระยาประสานดุริยศัพท์ก็ส่งครูเฉลิมขึ้นไปตีระนาดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงเครื่องใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งชมเชยว่ามีฝีมือดี จะเก่งต่อไปข้างหน้า
     
    เมื่อพระยาประสานดุริยศัพท์ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้พระยาอนิรุธเทวา (ฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา) นำครูไปอยู่ด้วย และมีรับสั่งให้พาครูเข้าเฝ้าทุกเย็น และตีระนาดซ้อมละครในวังพญาไท ในช่วงนี้เองที่ครูได้มีโอกาสไปศึกษาเพลงมอญจากสำนักของจางวางทั่ว พาทยโกศล และได้ต่อเพลงเดี่ยวระนาดกับขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์)



    ครูได้เข้าราชการเป็นนักดนตรีประจำกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กรมศิลปากร กรมที่ดิน และกรมตำรวจ ตามลำดับ นอกจากนั้นยังได้สอนดนตรีแก่วงดนตรีและสถาบันต่างๆ เช่น สามัคยาจารย์สมาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี วงดนตรีไทยสโมสรธนาคารกรุงเทพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้าฯ โรงเรียน ภปร. ราชวิทยาลัย อีกทั้งยังได้สอนและควบคุมวงเสริมมิตรบรรเลงของนายเสริม สาลิคุปตอีกด้วย
     
    ท่านได้ตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ชื่อ วงศิษย์ดุริยศัพท์ มีทั้งวงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงมโหรี วงเครื่องสาย แตรวง และวงอังกะลุง ได้นำเอาราชทินนามของพระยาประสานดุริยศัพท์เป็นชื่อวง
     
    ครูเฉลิม บัวทั่งได้รับยกย่องว่ามีฝีมือในการบรรเลงเครื่องดนตรีได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะระนาดเอก และได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก อัจฉิรยภาพด้านนี้กล่าวกันว่าขณะนั่งรถหรือนั่งเรือจากบ้านพักถึงที่ทำงาน ท่านสามารถแต่งเพลงได้จบ ๑ เพลง
       
      ประเภทเพลงโหมโรง ๑๑ เพลง
    ๑. โหมโรงประสานเนรมิต
    ๒. โหมโรงลาวสมเด็จ
    ๓. โหมโรงสรรเสริญพระจอมเกล้า
    ๔. โหมโรงรามาธิบดี
    ๕. โหมโรงมหาปิยะ
    ๖. โหมโรงจามจุรี
    ๗. โหมโรงพิมานมาศ
    ๘. โหมโรงสาวไหม
    ๙. โหมโรงมงกุฏเพชร์
    ๑๐. โหมโรงกุหลาบน้อย
    ๑๑. โหมโรงประเวศชล
       
      ประเภทเพลงเรื่อง ๓ เพลง
    ๑. เรื่องอารยะวิถี เพลงชุดนี้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลทรงมีพระดำรัสชมเชยไว้ว่า “…ในกระบวนแต่งเพลงบรรเลงเพื่อลำดับเรื่องราวต่างๆเท่าที่ท่านเคยประสบมานั้น ถัดจากทูลกระหม่อมบริพัตรฯแล้ว ก็เห็นจะมีแต่นายเฉลิม บัวทั่งเท่านั้นที่ทำได้ดี…”
      ๒. เรื่องวานรินทร์
      ๓. เรื่องนิ้วเพชร์
       
      ประเภทเพลงเถา ๕๒ เพลง อาทิเช่น
      - เพลงเขมรพายเรือ เถา
      - เพลงแขกเชิญเจ้า เถา
      - เพลงเขมรราชบุรี เถา
      - เพลงตวงพระธาตุ เถา
      - เพลงหงส์ทอง ทางฝรั่ง เถา
      - เพลงมอญอ้อยอิ่ง เถา
      - เพลงจระเข้หางยาว ทางสักวา เถา
      - เพลงสาวสอดแหวน เถา
      - เพลงลาวเลียบค่าย เถา (เพลงนี้ได้รับรางวัลจากอธิบดีกรมศิลปากร)
      - เพลงล่องลม เถา
      - เพลงเทพบรรทม เถา
      - เพลงเทพนิมิต เถา
      - เพลงเฉลิมพิมาน เถา
      - เพลงปิ่นนคเรศ เถา (ชนะเลิศการประกวด รางวัล “พิณทอง” ของธนาคารกสิกรไทย)
      - ฯลฯ
       
      ประเภทเพลงระบำ ๔ เพลง
      ๑. เพลงปทุมบันเทิง
      ๒. เพลงระบำส้ม
      ๓. เพลงระบำตะกร้อ
      ๔. เพลงระบำเก็บกระวาน
       
      ประเภทเพลงที่แต่งขึ้นในโอกาสพิเศษ
      1. เพลงชุดถวายพระพรในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระชนมายุครบ ๔ รอบ พ.ศ.๒๕๑๘
      2. เพลงประชุมเทพ ในวาระเฉลิมพระยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ.๒๕๒๐
      3. เพลงเกริ่นเจ้าฟ้า
      4. เพลงสำเนียงโปรตุเกส
      5. เพลงประนมกร
      6. เพลงระบำสี่ภาค ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์เป็นผู้ขอร้องให้ครูเฉลิมช่วยแต่งให้
       
      ประเภทเพลงเดี่ยว
      ๑. เพลงทะแยเดี่ยว ทางซอด้วง น้อมเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
      ๒. เพลงแขกมอญเดี่ยว ทางซอด้วง น้อมเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
      ๓. เดี่ยวระนาดเอก เพลงลาวแพน ให้ไว้แก่ ครูพัฒน์ บัวทั่ง
      ๔. เดี่ยวจะเข้ เพลงลาวแพน ให้ไว้แก่ ครูสุธาร บัวทั่ง (ครูสุธารเรียกชื่อใหม่ว่า “ลาวแคน”)
      ๕. เดี่ยวปี่ เพลงทยอยเดี่ยว ให้ไว้แก่ พ.จ.อ.สุวิทย์ แก้วกระมล
      ๖. เดี่ยวซออู้ เพลงนกขมิ้น ให้ไว้แก่ คุณจรวยพร ร.พ.รามาธิบดี
      ๗. เดี่ยวซออู้ เพลงแขกมอญ ให้ไว้แก่ คุณจรวยพร ร.พ.รามาธิบดี
      ๘. เดี่ยวซอด้วง เพลงนกขมิ้น ให้ไว้แก่ คุณชัชวาล มาพ่วง
      ๙. เดี่ยวจะเข้ เพลงจระเข้หางยาว ให้ไว้แก่ คุณต่อพงษ์ แจ่มทวี
       
      งานสร้างสรรค์ผลงานดนตรีไทย
      - เป็นผู้ริเริ่มทำอังกะลุงของไทย จาก ๒ กระบอก มาเป็น ๓ กระบอก
      - เป็นผู้ริเริ่มบันทึกโน้ตเพลงไทย สำหรับเครื่องตี คือระนาด ฆ้อง ขิม โดยเขียนเป็นสกอร์ ๒ บรรทัดคู่
      - เป็นผู้ริเริ่มการบรรเลงอังกะลุงประสานเสียงแบบสากล
      
    ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการของสมาคมสตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่อให้ได้รับรางวัลพระราชทานโล่เกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะนักดนตรีไทยตัวอย่าง ซึ่งมีนักดนตรีไทยที่ได้รับพระราชทานโล่ครั้งนี้เพียง ๔ คน คือ ครูมนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง ครูบุญยง เกตุคง และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ครูเฉลิมได้กล่าวกับคนใกล้เคียงว่าเป็นรางวัลที่ท่านภูมิใจที่สุดในชีวิต
     
    ครูเฉลิม บัวทั่งได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙



    ทางด้านชีวิตครอบครัว ครูเฉลิมได้แต่งงานกับแม่ไสว มีบุตรธิดารวม ๑๑ คน เสียชีวิตแต่เล็กๆ ๓ คน เหลืออยู่ ๘ คน
     
      ๑. พ.จ.ต.หญิง สุพัฒน์ บัวทั่ง เป็นนักร้องอยู่กองดุริยางค์ทหารเรือ
      ๒. นางวัลลีย์ บัวทั่ง ประกอบอาชีพค้าขาย
      ๓. นางลาวัลย์ แดงวิสูตร เป็นนักแสดง
      ๔. นายพัฒน์ บัวทั่ง เป็นคนระนาดฝีมือดี ถ่ายทอดทางระนาดจากครูไว้มาก
      ๕. นางสุธาร บัวทั่ง (สุขสายชล) คนจะเข้ฝีมือดี เป็นมือจะเข้ของวงวัยหวาน เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดวงเครื่องสายไทยในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ จัดโดยกรมประชาสัมพันธ์และธนาคารกรุงไทย จำกัด
      ๖. นางอารีย์ เพชรนาค เป็นอาจารย์สอนอยู่โรงเรียนวัดปราสาท
      ๗. นางวชิรา คล้ายปาน เป็นอาจารย์สอนโรงเรียนราษฎร์
      ๘. จ.ส.ต.อุรา บัวทั่ง เป็นครูฝึกอยู่กองร้อยที่ ๒ ร.ร.ตำรวจนครบาล บางเขน
      
    ครูเฉลิม บัวทั่งถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๐ สิริรวมอายุได้ ๗๖ ปี กับ ๘ เดือน การสูญเสียครูเฉลิมในครั้งนี้ยังความเสียใจ เสียดาย อาลัยให้กับลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านเป็นอย่างยิ่ง
     


    ครูมนตรี ตราโมท ได้กล่าวถึงครูเฉลิมไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพครูเฉลิม บัวทั่ง ว่า “…นายเฉลิมเป็นผู้ที่มีนิสัยสนุกสนาน ไม่เย่อหยิ่งหรือทับถมใคร เขาเรียกข้าพเจ้าว่าพี่มาตั้งแต่เล็กๆ และเรียกตลอดมาจนโต เมื่อมาถึงแก่อนิจกรรมไปเสียตั้งแต่วัยยังไม่สมควรเช่นนี้ ก็เป็นที่น่าเสียดาย ทำให้ญาติมิตรโศกเศร้าอาลัยเป็นอันมาก…”
     
    บรรณานุกรม
      ๑. หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพครูเฉิลม บัวทั่ง
      ๒. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน , ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒


    http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×