พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
ราชทินนาม “ประดิษฐ์ไพเราะ” เป็นราชทินนามเก่าที่มีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่โปรดพระราชทานแต่งตั้งให้แก่ครูดนตรีไทย ผู้ที่มีความสามารถในกระบวนเพลง ทั้งการเล่นและการแต่งเพลง ให้เป็นที่นิยมได้อย่างเยี่ยมยอด ผู้ที่ได้รับราชทินนามนี้ จึงเท่ากับเป็นการสานต่อชีวิตให้แก่ดนตรีไทยอย่างแท้จริง ครูดนตรีไทยท่านแรกที่ได้รับราชทินนามนี้คือ พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก (ไม่ทราบปีที่เกิดและปีที่ถึงแก่กรรม แต่พอประมาณได้ว่า ท่านเกิดราวปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ และถึงแก่กรรมประมาณต้นรัชกาลที่ ๕) เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ |
|
ตามประวัติว่ากันว่า เมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ (ท่านเกิดแถวบริเวณสุเหร่าเหนือวัดอรุณราชวราราม) ท่านมีสิ่งขาวๆคล้ายกระเพาะครอบศีรษะออกมาด้วย ดูเหมือนกับหมวกแขกจึงได้รับสมญานามว่า "แขก" ตั้งแต่เล็ก (แต่บางท่านก็ว่าครูมีผู้นี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายแขก จึงได้ชื่อว่าครูมีแขก เช่นนี้ก็มี) |
|
ท่านสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ที่ได้รับยกย่องเป็นพิเศษคือ ปี่ ถึงกับมีกล่าวไว้ในกลอนเสภาว่า “ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทะยอยลอยลั่นบรรเลงลือ” (เพลงทะยอยที่กล่าวถึงนี้คือ เพลงทะยอยเดี่ยว ซึ่งครูมีแขกท่านได้ประดิษฐ์ทางขึ้นไว้สำหรับเดี่ยวปี่) นอกจากนี้ท่านยังมีฝีมือในการบรรเลงซอสามสายได้เป็นอย่างดี |
|
ท่านเป็นต้นตำรับการแต่งเพลงที่มีลูกล้อลูกขัดหรือประเภทเพลงทยอย ได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก ประเภทเพลงสองชั้น เช่น เพลงเชิดจีน (พ.ศ. ๒๓๙๖) เพลงจีนแส เพลงอาเฮีย เพลงชมสวนสวรรค์ เพลงแป๊ะ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ประเภทเพลงสามชั้น เช่น เพลงทยอยนอก เพลงทยอยเขมร เพลงจีนขิมเล็ก เพลงจีนขิมใหญ่ เพลงแขกมอญ กำสรวลสุรางค์ ประเภทเพลงเถา เช่น เพลงแขกบรเทศ เถา เพลงตวงพระธาตุ เถา ประเภทเพลงโหมโรง เช่น โหมโรงขวัญเมือง เป็นต้น |
|
เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ครูมีแขกซึ่งขณะนั้นเป็นครูปี่พาทย์ประจำวังหน้า ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พอพระทัยยกย่องอยู่เสมอ และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๖ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก ได้กำกับกรมปี่พาทย์ฝ่ายพระราชวังบวร ดังข้อความต่อไปนี้
|
และระหว่างเดือนพฤศจิกายนกับเดือนธันวาคมปีนั้นเอง ครูมีแขกได้แต่งเพลง “ เชิดจีน ” ขึ้น แล้วนำขึ้น น้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพอพระทัยมาก โปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประดิษฐ์ไพเราะ ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๙๖ ดังข้อความต่อไปนี้ |
|
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) ได้เป็นครูมโหรีของหัวหน้าวงปี่พาทย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น นายสิน ศิลปบรรเลง นายรอด พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) นายต้ม พาทยกุล นายแดง พาทยกุล |
|
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาส์นสมเด็จฯ เล่มที่ ๒๓ ว่าดังนี้ “ครูมีแขกนั้น หม่อมฉันรู้จักแต่เมื่อหม่อมฉันไว้ผมจุกไปเรียนภาษาอังกฤษ ที่สมเด็จพระราชปิตุลาประทับ ณ หอนิเพทพิทยา เห็นแกเดินผ่านไปหัดมโหรีทูลกระหม่อมปราสาทที่มุขกระสัน พระมหาปราสาททุกวัน เวลานั้นแกแก่มากอายุกว่า ๗๐ ปีแล้ว มีบ่าวแบกซอสามสายตามหลังเสมอ วันหนึ่ง กรมหลวงประจักษ์ตรัสเรียกให้แกแวะที่หน้าหอ แล้วยืมซอสามสายแกมาสี แกฉุนออกปากว่า “ถ้าทรงสีอย่างนั้นก็ไฟลุก” จำได้เท่านั้น” |
|
ครูมีแขกเป็นต้นสกุลของดุริยางกูร บุตรหลานของท่านได้เปิดร้านจำหน่ายเครื่องดนตรีและอุปกรณ์อยู่ที่ร้าน ดุริยบรรณมาจนถึงทุกวันนี้ |
|
บรรณานุกรม ๑. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน , ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒ ๒. บทความเรื่อง “เพลงเชิดจีน” ของครูเงิน, หนังสือที่ระลึกมหกรรมดนตรีมัธยมศึกษา ครั้งที่ ๑๖ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓๖ พรรษา, ๒๕๓๔ |
http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th
ความคิดเห็น