ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #170 : [นักดนตรีไทย] ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ

    • อัปเดตล่าสุด 3 มิ.ย. 50




    ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ



    ทุกครั้งทุกหนที่ได้มีโอกาสฟังเสียงซอของคุณครูเบ็ญจรงค์ ไม่ว่าจะบรรเลงร่วมอยู่ในวงหรือบรรเลงเดี่ยว ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม เสียงซอของครูก็จะหวานเจื้อยแจ้วอยู่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะครูมีความรักต่อดนตรีเป็นที่สุด ครูจึงสามารถถ่ายทอดความรักนั้นออกมาเป็นเสียงซอที่ไพเราะอย่างที่บรรยายเป็นตัวอักษรไม่ได้ นานกว่า ๘๐ ปีแล้ว ที่ครูได้บรรเลงซอขับกล่อมคนไทยมาตลอด ทุกวันนี้แม้ครูจะมีวัยสูงถึง ๘๘ ปีแล้ว แต่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็ยังคงหลงไหลในมนต์เสน่ห์เสียงซอของครูเสมอมา และในโอกาสนี้ ชมรมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงถือเป็นความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้เป็นอีกหนึ่งแรง ที่จะเผยแพร่ประวัติและผลงานของครูดนตรีอาวุโสท่านนี้ อาจารย์เบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ ให้กับท่านผู้ที่รักและหลงใหลในเสียงซอของครูทุกๆ ท่าน

    เสียงซอดังซอทิพย์แก้ว
     แว่วหวานผ่านหูมิรู้หาย
    ดังกนกเพชรรัตน์จำรัสราย
     เลื่อมพรายสมดังเป็น “เบ็ญจรงค์”
     
    ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ นามเดิมว่า “เติม” เกิดเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๑ ณ ตำบลวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ครูเป็นบุตรีของครูเตียงกับครูทองอู่ ธนโกเศศ ครูเตียงบิดาของครูนั้นเป็นนักดนตรีเครื่องสายที่มีชื่อเสียง และเป็นเจ้าของวงเครื่องสายชื่อ “วงบางขุนพรหมใต้” ส่วนครูทองอู่ มารดาของครูนั้นเป็นนักร้องเพลงไทย
     
    เนื่องจากที่บิดาครูเป็นนักดนตรีและเป็นเจ้าของวงดนตรี ส่วนมารดาของครูเป็นนักร้อง รวมทั้งละแวกบ้านของครูนั้น ก็แวดล้อมด้วยศิลปินชั้นเยี่ยมของวงการดนตรีไทย อาทิ บ้านครูหลวงไพเราะเสียงซอ บ้านครูละเมียด จิตตเสวี บ้านครูปลั่ง ครูไปล่ วรรณเขจร (บ้างว่า “วนเขจร”) ด้วยเหตุนี้เอง ครูจึงได้คลุกคลีอยู่กับเสียงดนตรีไทยมาตั้งแต่เกิด
     
    จนเมื่ออายุ ๕ ปี ครูก็ได้เริ่มเรียนซอด้วงอย่างจริงจัง โดยครูท่านแรกที่จับมือในการสีซอด้วงให้แก่ท่าน คือ ครูไปล่ วรรณเขจร โดยเริ่มจากเพลงโหมโรงไอยเรศเป็นเพลงแรก ต่อมาก็ได้เรียนต่อเพลงต่างๆ จากครูปลั่ง วรรณเขจร (ครูไปล่และครูปลั่ง วรรณเขจร นี้เป็นพี่น้องกัน และมีศักดิ์เป็นหลานน้าของหลวงไพเราะเสียงซอ บรมครูซอในยุค ๑๐๐ ปีก่อน) จนเมื่อท่านสามารถบรรเลงวงเครื่องสายได้คล่องแคล่วและจำเพลงได้แม่นยำแล้ว ครูปลั่ง วรรณเขจร จึงได้ต่อเพลงเดี่ยวซอด้วงให้ท่าน จนสามารถเดี่ยวเพลงซอได้อย่างชำนาญตั้งแต่อายุไม่ถึง ๑๐ ปี
     
    นอกจากการฝึกหัดสีซอด้วงแล้ว ครูยังได้มีโอกาสต่อทางร้องกับครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา ครูเชื้อ นักร้อง และครูท้วม ประสิทธิกุล ซึ่งได้ทำให้ครูมีความสามารถในทางการขับร้องเพลงไทยเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากนั้นครูก็ได้มาต่อเพลงหุ่นกระบอกกับ ครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา และสีซออู้เพลงหุ่นกระบอก จนมีความชำนาญ
     
    ทางด้านหน้าที่การงานนั้น ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๓ แล้ว ครูเบ็ญจรงค์ได้เข้าทำงานครั้งแรกเป็นเสมียนกรมที่ดิน (ซึ่งสมัยนั้น นายเสริม สาลิคุปต์ เป็นเลขานุการกรมฯ และได้ก่อตั้งวงดนตรีเครื่องสายประจำกรมที่ดินเป็นครั้งแรก) และที่นี่เองที่ครูได้พบกับครูชิต แฉ่งฉวี (เรือเอกชิต แฉ่งฉวี) ผู้ซึ่งได้ชักชวนให้ครูไปร่วมบรรเลงดนตรีไทยกับวงดนตรีไทยของกรมที่ดิน และได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา ครูเบ็ญรงค์ทำงานอยู่ที่กรมที่ดินเป็นเวลา ๘ ปี หลังจากนั้น ท่านได้รับการชักชวนให้ไปเป็นครูสอนพิเศษให้กับวงดนตรีไทยขององค์การเชื้อเพลิงอยู่เป็นเวลา ๒ ปี แล้วจึงได้ย้ายไปทำงานเป็นพนักงานฝ่ายสลากออมสินที่ธนาคารออมสินจนเกษียณอายุราชการ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่ธนาคารออมสิน ท่านก็ได้ร่วมกิจกรรมทางด้านดนตรีไทยของทางธนาคารอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด



    ผลงานสำคัญทางด้านดนตรีไทยของครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ มีหลากหลายประการทั้งด้านการสืบทอดดนตรีไทย การอนุรักษ์เพลงไทย และการแสดงดนตรีไทย จากการที่ท่านได้รับการฝึกฝนถ่ายทอดวิชามาจากครูบาอาจารย์ท่านสำคัญๆ ในอดีตหลายท่าน ประกอบกับการที่เป็นผู้ที่มีปฏิภาณในทางดนตรีเป็นเอก ทำให้ท่านสามารถจดจำทางเพลงต่างๆ เอาไว้ได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังสามารถร้องเพลงหุ่นกระบอกและร้องเพลงไทยได้ทุกเพลง ท่านได้พยายามถ่ายทอดให้กับบรรดาลูกโดยมุ่งหวังที่จะอนุรักษ์เพลงเหล่านั้นไว้มิให้สูญหาย
     
    ครูเบ็ญจรงค์ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลและที่บัญฑิตพัฒนศิลป์ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้คิดทางเดี่ยวเพลงขึ้นหลายเพลง อาทิ ตับต้นเพลงฉิ่งทั้งตับ ได้แก่ เพลงจระเข้หางยาว สามชั้น เพลงตวงพระธาตุ สามชั้น และเพลงนกขมิ้น สามชั้น เป็นต้น ทั้งยังได้แต่งทางร้องไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
     
    ในด้านการแสดงนั้น ท่านได้ร่วมบรรเลงดนตรีไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งซอด้วงในโอกาสต่างๆ ตลอดมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากว่า ๗๐ ปี รวมทั้งแสดงออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งมีผลงานที่บันทึกแผ่นเสียง และเทปบันทึกเสียงอีกมากมาย โดยเฉพาะกับที่ได้บรรเลงไว้ให้กับวงเสริมมิตรบรรเลง ของนายเสริม สาลิคุปต์
     
    เกียรติคุณในวิชาชีพที่ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศได้รับมีหลายประการ ที่สำคัญคือเมื่อครั้งที่สอนดนตรีไทยอยู่ที่สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ท่านเคยได้ถวายการสอนซอด้วงแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่อักษรศาสตร์เมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งในชีวิต และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ ครูเบ็ญจรงค์ก็ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพเนื่องมาจากเกียรติประวัติอันงดงามที่ท่านได้บำเพ็ญมา
     
    ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ นับเป็นปูชนียบุคคลท่านสำคัญของวงการดนตรีไทยยุคปัจจุบันที่ได้หมั่นเพียรฝึกฝนดนตรีไทยจนมีความสามารถสูงยิ่ง มีผลงานการแสดงอันเป็นที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไป ทั้งยังได้นำความสามารถนั้นมาถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังด้วยเจตนาที่จะอนุรักษ์สืบทอดดนตรีไทยให้ยั่งยืนอย่างมั่นคงต่อไป ท่านจึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๑
     
    ปัจจุบัน ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ พักอยู่บ้านเลขที่ ๔๓๗/๓๗๗ บ้านแก้ววิลล่า ตำบลบางขุนศรี อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
     
    เอกสารอ้างอิง 
    ๑.
    นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๔๐๕ ปีที่ ๔๗ ประจำวันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
    ๒.
    สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒
    ๓.
    วิศิษฏศิลปินปิ่นสยาม : การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์โดยครูสตรีอาวุโส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๘, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๔๙

    http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×