ครูเลื่อน สุนทรวาทิน
เมื่อคราวมีสมโภชฉลองพระประสูติกาลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เมื่อกลางปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ นั้น ได้มีการรื้อฟื้นเพลงปลาทอง อันเป็นเพลงที่หาฟังได้ยากขึ้นมาบรรเลงขับร้องอีกครั้ง โดยเนื้อเพลงปลาทองที่ใช้ขับร้องในครั้งนั้น เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ โดยทรงตั้งพระทัยว่าจะใช้เห่กล่อมพระบรรทมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระราชโอรสที่คาดว่าจะมีพระประสูติกาลแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี แต่ด้วยเหตุที่พระวรราชเทวีทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงแทน ดังนั้น บทเพลงพระราชนิพนธ์ดังกล่าวจึงไม่ได้มีการอัญเชิญมาขับร้องถวายแต่ประการใด จนกระทั่งได้นำมาบรรเลงขับร้องในศุภวโรกาสดังกล่าวข้างต้น โดยผู้ที่ได้รับเกียรติให้ขับร้องในงานสมโภชดังกล่าวนี้ ก็คือ คุณครูเลื่อน สุนทรวาทิน นักร้องหญิงอาวุโส ผู้มีวัยสูงถึง ๘ รอบ (๙๖ ปี ใน พ.ศ.๒๕๔๘)
ครูเลื่อน ได้กล่าวถึงเพลงปลาทองไว้หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า ๓๓ ดังนี้ |
|
"
รัชกาลที่ ๖ ทรงแต่งเนื้อ เพราะตอนนั้นตั้งพระทัยจะนิพนธ์ให้พระโอรส เพราะทรงคิดว่าลูกต้องเป็นผู้ชายแน่ๆ ท่านแต่งเนื้อชมลูกชายเลย ตอนนั้นตั้งวงปี่พาทย์ไว้ทั้ง ๘ ทิศ ถ้าประสูติออกมาเป็นผู้ชาย ให้ประโคมหมดทั้ง ๘ ทิศ แล้วถ้าครบเดือนลงพระอู่ก็ให้ทำขวัญ แล้วให้ฉันเป็นคนกล่อมพระบรรทม ไกวเปลกล่อม แล้ววางไว้ว่าอีกเดือนสองเดือนก็จะแสดงละครเรื่องนี้ แต่ฉันไม่ใช่คนร้อง คนที่ร้องคือน้องสาวชื่อ เจริญใจ ส่วนฉันเป็นคนเป่าขลุ่ย แต่ฉันก็ร้องได้ด้วยเพราะหัดมาตั้งแต่เล็ก พอถึงวันประสูติเข้าจริงกลายเป็นผู้หญิง ทุกอย่างเงียบหมดเลย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพลงปลาทองก็ไม่ได้ร้อง ไม่ได้เล่นละคร ไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น แล้วหลังจากนั้นรัชกาลที่ ๖ ท่านก็สวรรคต ทุกคนเลยกลับบ้านกันหมด
" |
|
"
.วงชาวเกาะมาถามฉันว่า ไปเล่นงานเฉลิมฉลองดีไหม ฉันบอกว่าดี เพราะฉันอยากร้องเพลงปลาทอง คราวนี้ต้องร้องให้ได้ ขอร้องเองเลย เพราะหัดร้องมาตั้งแต่เล็ก ยังไม่ได้ร้องสักที คนที่ทำมาด้วยกันก็ตายหมดแล้ว ฉันต้องทำให้ได้ ไม่ได้ร้องให้ลูกพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งนี้ขอร้องให้หลานพระเจ้าแผ่นดินก็ยังดี" |
|
นี่คือความตั้งใจของยอดหญิงอีกท่านหนึ่งแห่งวงการดนตรีไทยที่ชื่อ คุณครูเลื่อน สุนทรวาทิน
|
|
และนี่เอง ที่เป็นมูลเหตุให้ชมรมของเรา อยากบอกเล่าถึงประวัติของครูท่านนี้ ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้รู้จัก
.ด้วยความศรัทธาและเคารพยิ่ง |
|
|
ไม่เหนื่อย ไม่หน่าย |
|
เรียบง่าย ติดดิน |
|
ครูเลื่อน สุนทรวาทิน |
|
ศิลปินธรรมดา |
|
ไม่ใฝ่ ไม่ฝัน |
|
ไม่รั้น โหยหา |
|
หมดสิ้น อัตตา |
|
สุขสบาย กายใจ |
|
|
|
(อานันท์ นาคคง ประพันธ์) |
|
ครูเลื่อนเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๓ ที่บ้านมอญบางไส้ไก ธนบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ภายหลังย้ายไปอยู่ในซอยวัดประดิษฐาราม (วัดมอญ) ท่านเป็นบุตรีคนที่ ๒ ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และคุณหญิงเสนาะดุริยางค์ (เรือน) มีพี่สาวชื่อเลียบ (เป็นพยาบาล) น้องสาวคนรองชื่อเชื้อ (ถึงแก่กรรม) และคนเล็กชื่อเจริญ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นนางเจริญใจ สุนทรวาทิน) |
|
ชื่อเลื่อนนี้ เป็นชื่อได้รับประทานมาจากสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ตามความหมายของ “เลื่อน” ที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย คือ “การขับร้อง อ่านทำนองเสนาะ ขับขาน” ด้วยทรงหมายให้ครูเลื่อนขับร้องเพลงไทยได้เป็นเลิศ |
|
ด้านการศึกษา ครูศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนศึกษานารี (ซึ่งต่อมาได้แลกสถานที่กับโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ อันเป็นชั้นสูงสุด และด้วยความอยากรู้ภาษาอังกฤษ ครูจึงไปเรียนที่โรงเรียนซานตาครูส โดยเรียนครึ่งวันและช่วยสอนภาษาไทยให้กับนักเรียนโรงเรียนนี้ครึ่งวัน ต่อมาครูได้เรียนตามหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง จนสอบได้ประกาศนียบัตร (certificate) ด้วยเหตุนี้ ครูจึงมีความรู้สามัญสูงมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน |
|
ส่วนวิชาดนตรีไทยและคีตศิลป์นั้น ครูเลื่อนเล่าว่าในวัยเด็กท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในวัง เพราะพระยาเสนาะดุริยางค์ผู้เป็นบิดานั้นได้เข้าไปสอนดนตรีในวัง ครูเลื่อนจึงได้เข้าไปด้วย และเนื่องจากครูได้ยินเสียงขับร้องและเสียงดนตรีไทยตั้งแต่เกิด จึงทำให้ครูมีความรู้พื้นฐานโดยไม่ต้องเรียนแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมา ท่านก็ได้รับการสั่งสอนอย่างจริงจังจากพระยาเสนาะดุริยางค์ผู้เป็นบิดา โดยเริ่มเรียนซออู้ ซอด้วง ขลุ่ย และจะเข้เป็นหลัก (ใช้เวลาฝึกฝนตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน และตอนค่ำทุกวัน) |
|
เมื่อครูเลื่อนเจริญวัยพอควรแล้ว พระยาเสนาะดุริยางค์ได้พาเข้าไปถวายตัวเป็นนักร้องนักดนตรีไทย วงมโหรีในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่นี่ท่านได้มีโอกาสร่วมขับร้องและบรรเลงดนตรีไทยตั้งแต่อายุยังเยาว์ อันเป็นการศึกษาเพิ่มเติมในแง่การฝึกฝนปฏิบัติไปในตัว การศึกษาฝึกฝนส่วนมากเป็นช่วงกลางคืน บางคืนก็ต้องนอนค้างที่วัง ดังที่ท่านเล่าว่า “กลางคืนเข้าวัง กลางวันเรียนหนังสือ” ซึ่งชีวิตในวังนี้เองทำให้ครูเลื่อนได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านดนตรีที่แตกฉานยิ่ง |
|
"
อยู่สำนักพระราชวัง เป็นมโหรีวงข้าหลวงของรัชกาลที่ ๖ กับ รัชกาลที่ ๗ เรื่องดนตรีหัดกับพ่อตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน และเล่นได้ทุกอย่าง พ่อบอกว่าที่สอนให้นี่ไม่ได้สอนให้เล่นเอง แต่สอนให้ไปเป็นครูเขา จะได้ไม่ต้องลำบาก พ่อหวังจะให้ลูกไปเป็นครูพวกในวัง เพราะเรามันรูปร่างไม่สวย พ่อกลัวหาผัวได้ยาก แล้วคนโบราณก็ไม่ชอบพวกเต้นกินรำกิน ไม่อยากได้ไปเป็นเขยเป็นสะใภ้ พ่อก็บอกว่าต้องไปสอนที่ในวัง ไม่ต้องง้อใคร เงินเดือนก็มีกิน
" |
|
ครูเลื่อนเล่นดนตรีเป็นมโหรีวงข้าหลวงมาตลอด ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาดนตรีไทยเพิ่มเติมจากผู้ร่วมงานกับผู้ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิสูงกว่าอีกหลายท่าน อาทิ ครูเจริญ ศัพท์โสภณ ครูปี่ของวังเพชรบูรณ์ พระเพลงไพเราะ ครูมนตรี ตราโมท และศิลปิน นักร้อง นักดนตรีไทยของกรมมหรสพ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ อีกหลายท่าน และสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้ ท่านยังได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ร้องส่งในการบันทึกเสียงของราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ อีกด้วย |
|
ต่อมาเมื่อกรมมหรสพโดนยุบ เพราะมีวิกฤติเศรษฐกิจและแผนกดนตรีถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ ครูก็กลับออกมาอยู่บ้าน ต่อมาไม่ถึงปีมีข้าราชการผู้ใหญ่รื้อฟื้นดนตรีขึ้นมาใหม่ เพราะเห็นว่าตามธรรมเนียมของหลวงนั้นไม่มีดนตรีไม่ได้ พระยาเสนาะดุริยางค์จึงถูกเรียกเข้าไปและตั้งกรมมหรสพขึ้นมาอีกครั้ง และตัวครูเลื่อนเองก็ถูกเรียกกลับเข้าไปเช่นกัน โดยเล่นอยู่ฝ่ายในเป็นผู้หญิงล้วน ทำหน้าที่เป่าขลุ่ย แต่บางทีก็ร้องด้วยถ้ามีโขน ละครหลวง แต่กรมมหรสพตั้งมาได้ไม่กี่วันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลสั่งให้เลิกเล่นดนตรีไทย ครูก็กลับไปอยู่บ้าน |
|
ครูเลื่อนเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ต่อไปว่า ในช่วงเวลานั้นจนถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดนตรีไทยเงียบเหงามาก มาถึงช่วงของนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดนตรีไทยจึงคึกคักขึ้นมา แต่ก็ไม่ค่อยเจริญ ไม่ค่อยมีคนนิยมเล่น เพราะคนไปเห่อรำวงกัน แต่นั้นมาดนตรีไทยก็โทรมลงเรื่อยๆ จนมาถึงยุคปัจจุบันดนตรีไทยที่กลับฟื้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเจริญด้วยดีด้วยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรื้อฟื้นและทรงให้ความอุปถัมภ์เรื่อยมา |
|
"
.ปี ๒๔๙๓ มีประกวดร้องเพลง ฉันไปประกวดด้วย ชนะใจคนทั้งบ้านทั้งเมือง แต่ไม่ชนะใจกรรมการเพียงคนเดียว สุดท้ายแพ้การแข่งขัน เป็นเหตุการณ์ที่ทำลายความรู้สึกมาก สุดท้ายเลยเลิกเล่นดนตรีเลิกร้องมาตั้งแต่นั้น เปลี่ยนชีวิตไปสอนหนังสือที่จังหวัดสุโขทัยจนเกษียณก็กลับมาอยู่บ้าน
” |
|
“
.ต่อมาวิทยาลัยบ้านสมเด็จอยากได้ครู มาขอแต่บอกว่าเลิกร้องแล้ว เขาก็ตื้อ ทนลูกอ้อนลูกตื้อไม่ไหวก็รับสอนร้องเพลงให้นักศึกษา แต่ให้มาเรียนที่บ้าน ก็อยู่กับวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๖
" |
|
เมื่อเป็นครูสอนที่บ้านสมเด็จ ครูเลื่อนเป็นคนเดียวที่สอนทุกอย่าง ตั้งแต่ร้องเพลงจนเครื่องดนตรีทุกประเภทเพราะยังหาครูไม่ได้ จนกระทั่งได้ครูเครื่องสาย ได้ครูปี่พาทย์มา ครูเลื่อนจึงเหลือหน้าที่เดียว คือ สอนร้องเพลง และต่อมาท่านก็ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรอาจารย์พิเศษหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น |
|
และด้วยความรู้ ความสามารถ และชำนาญการดนตรีไทยเป็นอย่างดี คุณครูเลื่อนจึงได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ |
|
ทุกวันนี้ครูเลื่อนสอนดนตรีและขับร้องให้กับวงชาวเกาะ ซึ่งเป็นวงที่รวมตัวกันด้วยหัวใจที่รักดนตรีไทยล้วนๆ มีวินัย ขวัญยืนเป็นหัวหน้าวง เล่นประจำอยู่ที่สวนสันติชัยปราการ ท่าพระอาทิตย์ |
|
วินัย ขวัญยืน ได้กล่าวว่าเป็นบุญที่ได้พบครูเลื่อน เพราะท่านเป็นครูที่มีความสามารถมาก ใครอยากได้เพลงอะไรมาถาม ครูเลื่อนจะบอกให้หมดเปลือก ไม่มีเก็บไว้ บอกให้ตามความสามารถของเธอ ความจริงครูเลื่อนทำเพลงไว้เยอะ แต่ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดลง เทปหายหมดเหลืออันเดียวคือร้องศึก 9 ทัพ เรื่องพระอภัยมณี ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย |
|
ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์เคยเล่าถึงครูเลื่อน สุนทรวาทินไว้ว่า ท่านเป็นคนสนุกสนาน เสียงดังฟังชัด เวลาไปหาทีก็ตะโกนเรียกเข้าบ้านดังลั่น ได้ยินกันไปทั้งซอย เป็นนักร้องที่มีลูกเล่นเก๋ๆ มากมาย ทั้งยังไม่เคยหวงวิชา เวลาครูสุรางค์ไปถามเพลงจากครูเลื่อนนั้น สิ่งไหนท่านจำได้ท่านก็บอกจนหมด สิ่งไหนที่จำไม่ได้ ท่านก็บอกว่าจำไม่ได้ ไม่มีปกปิด |
|
ทางด้านชีวิตครอบครัว ครูเลื่อน สุนทรวาทิน สมรสกับนายมิ่ง ผลาสินธุ์ มีบุตรธิดา ๕ คน สามีของครูเสียชีวิตตั้งแต่ครูอายุ ๒๙ ทำให้ครูต้องเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองเรื่อยมา ครูเลื่อนมักจะเล่าว่า ตัวเองเป็นคนอาภัพ ถ้าใครมีชีวิตเหมือนอย่างตัว อย่างน้อยต้องฆ่าตัวตายไปแล้ว ๓ ครั้ง แต่ด้วยเพราะเป็นคนสู้ชีวิต เมื่อสามีตายจึงมานั่งคิดจะทำอย่างไรดีในการเลี้ยงดูลูกเล็กๆ มาได้ข้อคิดเมื่อวันหนึ่งเห็นหมาขี้เรื้อนเดินมา สภาพอดโซ คุ้ยหาขยะกิน ก็คิดว่าหมาขี้เรื้อนยังไม่ยอมตายเลย แล้วฉันจะยอมตายทำไม
|
...ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ครูเลื่อนประสบอุบัติเหตุหกล้มกระดูกเชิงกรานแตก ต้องเข้าทำการผ่าตัด ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขณะพักรักษาตัว แพทย์ตรวจพบอาการปอดติดเชื้อและอื่นๆเพิ่มเติม ครูจึงต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่เคารพรักในตัวครูเดินทางไปเยี่ยมเยียนอยู่ตลอดด้วยความเป็นห่วง |
ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บด้วยความเข้มแข็งมาตลอด แต่ด้วยร่างกายครูที่ชราภาพ ทำให้ไม่สามารถต้านทานกับอาการป่วยที่รุนแรงได้ จนเมื่อเวลา ๑๒.๓๕ น. ของวันศุกร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ครูเลื่อนก็ได้ถึงแก่กรรมลง ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า สิริรวมอายุได้ ๙๗ ปี ยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาและผู้นิยมชมชอบในตัวท่านเป็นอันมาก |
|
อาจารย์อานันท์ นาคคง ได้แต่งบทรำลึกถึงครูเลื่อนไว้ ดังนี้ |
|
|
เลื่อนลอยเมฆหมอกพ้นจางหาย |
|
|
พริบพริบพรายประกายดาวพร่างพราวหล้า |
|
|
เด่นดวงเดือนเลื่อนลอยเคลื่อนคล้อยมา |
|
|
กล่อมโลกหล้าให้หลับใหลในราตรี |
|
|
เจื้อยเจื้อยแจ้วแว่วหวานกังวานแว่ว |
|
|
ลมพลิ้วแผ่วน้ำไหลเอื่อยเรื่อยระรี่ |
|
|
เสนาะเพลงบรรเลงรื่นชื่นฤดี |
|
|
ทิพย์มณีมิ่งมนต์ดนตรีทิพย์ |
|
|
เลื่อนลั่นสนั่นจักรวาลไหว |
|
|
เลื่อนโลกร้ายให้คลายหายหยาบดิบ |
|
|
เลื่อนโศกเลื่อนเภทภัยไปไกลลิบ |
|
|
เลื่อนทุกข์สู่นิพพานพ้นวังวนกรรม |
|
|
ครูเลื่อน ผลาสินธุ์ |
|
|
สุนทรวาทิน เลื่องลือร่ำ |
|
|
เสนาะดุริยางค์แสนเสนาะล้ำ |
|
|
ดำรงธรรมดำรงหลักให้รู้เรียน |
|
|
เรียบเรียบง่ายง่ายก็งามสม |
|
|
ความอุดมคือเพียงพอไม่หันเหียน |
|
|
ไม่ห่วงหวงไม่เสาะหาบ้าเบียดเบียน |
|
|
รู้แปรเปลี่ยนรู้ละวางทุกอย่างรู้ |
|
|
เลื่อนลอยเมฆหมอกหม่นมัวหมองหมาง |
|
|
หยาดน้ำค้างตกรายพร่างพรายอยู่ |
|
|
หยาดน้ำตารินหลั่งมาพรั่งพรู |
|
|
บูชาครู เลื่อนไม่เลือน ไม่เคลื่อนคลาย ฯ.... |
|
|
แหล่งข้อมูลอ้างอิง |
|
๑. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒ ๒. วิศิษฏศิลปินปิ่นสยาม : การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์โดยครูสตรีอาวุโส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๘, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๔๙ ๓. บทความเรื่อง เลื่อนลอยเมฆหมอกพ้น จางหาย โดย อ.อานันท์ นาคคง อ้างอิงจาก http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?p=3265& ๔. บทความเรื่อง ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ศิลปิน (แห่งชาติ)ในใจชน จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า ๓๓ เขียนโดยชมพูนุท นำภา |
http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th
ความคิดเห็น