ครูเตือน พาทยกุล
ครูเตือน พาทยกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ เป็นบุตรของนายพร้อมกับนาง ตุ่น ชาวจังหวัดเพชรบุรี บิดาของท่านเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงและเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ เมื่ออายุได้ประมาณ ๗ ปี ครูเตือนได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดโพธาราม กระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ตามเกณฑ์บังคับในสมัยนั้น พร้อมกันนั้น ก็ได้เริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่และระนาด จากบิดาและปู่ คือนาย แดง พาทยกุล และนาย ต้ม พาทยกุล ซึ่งเป็นศิษย์ของพระดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
เล่ากันว่า ราวปีพุทธศักราช พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๒ นายแดงและนายต้มได้บรรเลงปี่พาทย์ ถวายทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ซึ่งเสด็จไปทรงควบคุมการสร้างพระราชวังบ้านปืน จนเป็นที่ต้องพระทัยเป็นที่ยิ่ง ถึงกับตรัสชมว่าบรรเลงได้ไพเราะ อีกทั้งเครื่องปี่พาทย์ก็งดงาม และทูลกระหม่อมบริพัตรฯ นี้เอง ที่ได้ประทานนามสกุล “พาทยกุล” แก่นายแดงและนายต้มในกาลต่อมา |
|
เมื่อครูเตือนอายุได้ ๑๐ ปี บิดาได้พามาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี ครูเตือนได้เล่าเรียนดนตรีโดยเริ่มต้นจากเพลงทะแยซึ่งเป็นพื้นฐาน จนกระทั่งแตกฉานเชี่ยวชาญถึงเพลงเดี่ยวสําคัญและหน้าพาทย์ชั้นสูงในเวลาต่อมา |
|
ครูเตือนเคยเล่าให้ฟังถึงชีวิตในช่วงนั้นว่า “
สมัยก่อนจะตื่นตี ๕ เพื่อบรรเลงเพลงจนกว่าพระจะเข้าวัด ตอนเย็น ก็จะมาเล่นจนถึงหนึ่งทุ่ม ที่สําคัญคือ ห้ามยกของหนัก ห้ามพายเรือ ห้ามยกคันนา เพราะจะทำให้มือเสีย
” |
|
ในกาลต่อมา ครูเตือนได้มีโอกาสเรียนดนตรีและต่อเพลงเพิ่มเติมกับครูอีกหลายท่าน เช่น พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ครูฉัตร-ครูช่อ สุนทรวาทิน ครูแถม สุวรรณเสวก และหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) เป็นต้น |
|
|
|
ครูเตือน พาทยกุล เป็นบุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นศิลปินที่มีความสามารถด้านดนตรีไทยเป็นเลิศโดยเฉพาะในทางปี่พาทย์นั้น นับได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถสูงสุดคนหนึ่ง ครูเตือน พาทยกุล มีความเชี่ยวชาญในการบรรเลงดนตรีไทยได้รอบวง สามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทั้งระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และซอสามสาย จนปรากฏลือเลื่องไปหลายวงการ โดยท่านถนัดทางระนาดเอกมากที่สุด ครูเตือนได้รับมอบให้ทำพิธีไหว้ครูจากปู่และเจ้ากรมจันทร์ ซึ่งเป็นครูปี่พาทย์วงบ้านหม้อ นอกจากนี้ ท่านยังได้ร่วมกับนายปุ่น คงศรีวิไล ตั้งวงปี่พาทย์ขึ้นที่บ้านจังหวัดนนทบุรี นับเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดวงหนึ่ง |
|
ครูเตือนเป็นครูสอนวงปี่พาทย์บางประทุนของนายชุน สอนวิชาดนตรีไทยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่สถาบันต่างๆ เช่น วิทยาลัยครูเพชรบุรี โรงเรียนวิสุทธิกษัตริย์และโรงเรียนราชประชาสมาสัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก โรงเรียนศรีอยุธยา วิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ |
|
ครูเตือนได้ประพันธ์เพลงไว้เป็นจำนวนมาก เช่น เพลงโหมโรงอัศวิน โหมโรงสดุดีอัสสัมชัญ โหมโรงเพชรศรีอยุธยา เพลงนกจากสองชั้น แขกมอญบางช้าง สองชั้น ทางเปลี่ยน เพลงลาวต่อนก เถา เพลงลาวดำเนินทราย เที่ยวกลับ เป็นต้น |
|
นอกจากการสอน การบรรเลงดนตรี การเป็นเจ้าของวงดนตรี และการแต่งเพลงต่างๆ แล้ว ครูเตือน พาทยกุล ยังเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปในฐานะของผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย ซึ่งท่านสามารถประดิษฐ์ได้หลายชนิด อาทิ ตะโพน ระนาด ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ เป็นต้น |
|
ส่วนสิ่งที่ถือเป็นความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งของครูเตือนก็คือ การประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กได้เป็นคนแรก โดยย่อส่วนจากขนาดมาตรฐานให้มีขนาดเล็กแต่ยังคงเหมือนจริงทุกประการ อีกทั้งสามารถบรรเลงได้เหมือนเครื่องดนตรีขนาดมาตรฐาน |
|
อาจารย์บำรุง พาทยกุล หนึ่งในทายาทของครูเตือน พาทยกุล เล่าถึงการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยย่อส่วนของครูเตือนว่า “....เหตุการณ์ที่ทำให้คุณพ่อเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีผู้ชายคนหนึ่งมาที่บ้านบอกว่า เสด็จพระองค์ชายใหญ่ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ให้มาตามคุณพ่อไปพบท่าน เพื่อไปดูเครื่องดนตรีเก่าๆของท่านหน่อย พระองค์ท่านอยากจะซ่อม เพราะทรงสะสมเครื่องดนตรีเก่าๆ ไว้เยอะหลังจากนั้นคุณพ่อก็จะเข้าไปทำงานให้พระองค์ท่านเป็นประจำมีอยู่วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงดำริว่าเครื่องดนตรีใหญ่ๆ เอาไปเมืองนอกลำบากเราจะหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไรดี คุณพ่อก็นึกได้ว่า เมื่อครั้งที่อยู่เพชรบุรีคุณพ่อเคยจำลองตะโพนขนาดใหญ่ให้เหลือเล็กๆ แล้วเอาขึ้นไปบนหิ้งบูชาเพราะตามความเชื่อของนักดนตรีไทย “ตะโพน” เป็นสิ่งสมมุติแทนองค์“พระปรคนธรรพ”เป็นเทพแห่งดนตรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งองค์หนึ่ง พ่อจึงเรียนท่านว่าทำได้พระองค์ชายใหญ่ก็ทรงออกทุนทรัพย์ให้...” |
|
หลังจากนั้นมาครูเตือนก็มาคิดและค่อยๆ ประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนขึ้นมาทีละชิ้นจนครบทั้งวง โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ ๒ ปี ถัดมาพระองค์ชายใหญ่ก็ทรงหารายการทีวีให้ออกแสดง ในวันรุ่งขึ้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวชมเชยฝีมือการประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนของครูเตือนผ่านทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐในยุคนั้น ส่งผลให้ชื่อเสียงของครูเตือน พาทยกุล เป็นที่รู้จักในวงกว้างนับแต่นั้นมา |
|
ครูเตือนเคยนำเครื่องดนตรีไทยย่อส่วนออกบรรเลงถวายหน้าพระที่นั่งประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์จนทำให้ครูเตือนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และต่อมา ครูเตือนยังได้ปรับขนาดเครื่องดนตรีไทยย่อส่วนลงไปอีกจนมีขนาดเล็กจิ๋ว นับเป็นคนไทยคนแรกที่ประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กและขนาดจิ๋วได้อย่างครบวงอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งเครื่องดนตรีย่อส่วนที่ครูเตือนประดิษฐ์สามารถใช้เป็นสื่อการสอนวิชาทางการดนตรีไทยแก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี |
|
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ครูเตือน พาทยกุล ได้รับเกียรติยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) และในอีก ๓ ปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๕๓๘ ครูเตือนได้ก่อตั้ง "โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์" ขึ้นเพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้และมีความสามารถทางศิลปะในการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติให้คงอยู่สืบไป |
|
|
|
ทางด้านชีวิตครอบครัวนั้น ครูเตือน สมรสกับนางกิมไล้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ มีบุตรชายหญิงรวมกัน ๔ คน ต่อมานางกิมไล้ถึงแก่กรรมลง จึงสมรสใหม่กับนางบุญเรือง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีบุตรชายหญิงรวม ๔ คน ที่มีชื่อเสียงทางดนตรี คือ นายอรุณ พาทยกุล และนายบำรุง พาทยกุล |
|
|
|
ครูเตือน พาทยกุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เนื่องด้วยปอด เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๓.๔๐ น. ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมสิริอายุได้ ๙๘ปี
http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th/ |
ความคิดเห็น