ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #164 : [นักดนตรีไทย] คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง

    • อัปเดตล่าสุด 3 มิ.ย. 50



         คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง



               “ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือปล่าว......” เมื่อเพลงนี้ดังขึ้นเมื่อไหร่ เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักเพลงกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นเพลงที่พวกเราได้ยินได้ฟัง และได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็กและร้องได้ขึ้นใจกันทุกคน จนน่าจะนับเป็นเพลงฮิตติดอันดับตลอดกาลเพลงหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้ แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า เพลงช้างนี้เป็นผลงานการดัดแปลงเพลงไทยเดิมให้มาเป็นเพลงสำหรับสอนเด็กของ คุณหญิงขิ้น ศิลปบรรเลง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย พ.ศ.๒๕๓๐

    คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง
     
     
    อันมณฑปได้งดงามแวววามสี
     
      ก็ด้วยมี “ชิ้น” กระจกกระจายแต่ง  
      อันเพลงไทยได้เพริศพริ้งสิ่งพลิกแพลง  
    ก็ด้วยแรงครู “ชิ้น ศิลปบรรเลง”  
     
    คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ ปีมะเมีย ที่บ้านหน้าวังบูรพาภิรมย์ กรุงเทพฯ เป็นบุตรีของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และนางโชติ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ๗ คน คือ
    ๑. ด.ญ. สร้อยไข่มุกด์
    ๒. ด.ญ. ศุกร์ดารา
    ๓. คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง
    ๔.นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง สาคริก)
    ๕.ด.ช. ศิลปสราวุธ
    ๖.นายประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง
    ๗. นางชัชวาลย์ จันทร์เรือง
     
    คุณหญิงชิ้นสมรสกับ นายประสงค์ ไชยพรรค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีทายาทคือผู้ช่วยศาสตราจารย์มธุรส (ไชยพรรค) วิสุทธกุล
     
    ทางด้านการศึกษา ท่านจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ แผนกภาษา (อังกฤษและฝรั่งเศส) เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ จากโรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด, พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้รับประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.), พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบได้ชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ ชุดครูมัธยม, พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้ชุดวิชาดุริยางค์สากล ชุดครูมัธยม, พ.ศ. ๒๔๗๘สอบได้ชุดวิชาภาษาไทย ชุดครูมัธยม, พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) และได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓
     
    นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ ยังได้สั่งสมความรู้วิชาชีพศิลปะด้านต่างๆอยู่ตลอดเวลา อาทิ วิชาการฝีมือเรียนกับคุณครูนิล และคุณหญิงศรีธรรมราช (เป้า วิมุกตายน), การเขียนลายกนกศิลปะลายไทย เรียนกับหลวงวิศาลศิลปกรรม, การดนตรี เรียนกับท่านบิดาคือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), เดี่ยวซอด้วง เรียนกับท่านครูพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์), ซอสามสาย เรียนกับเจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์, ดนตรีสากล (ทฤษฎีโน้ตสากล) เรียนกับพระเจนดุริยางค์, คุณครูโฉลก เนตตสูต, การขับร้องโน้ตสากล เรียนกับหลวงประสานบรรณวิทย์ และคุณครูนันทน์ ทรรทรานนท์, ไวโอลิน เรียนกับคุณครูกิจ สาราภรณ์, ได้รับมอบเป็นผู้อ่านโองการพิธีไหว้ครู จากท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ และสืบทอดจนตลอดชีวิตของท่าน
     
     
    คุณหญิงชิ้นได้อุทิศเวลาในชีวิตให้กับการสอนดนตรีไทยกับศิษย์หลายสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว, ชมรมดนตรีไทย ส.จ.ม. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, โรงเรียนนายเรือ สมุทรปราการ, สอนดนตรีไทยคุรุสภาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามัคยาจารย์สมาคม, วิทยาลัยครูพระนคร, วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, โรงเรียนบวรนิเวศ, โรงเรียนศรีอยุธยา, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนวัดคณิกาผล ฯลฯ
     
    บทบาทหน้าที่ และผลงานของท่านในทางดนตรีไทยและนาฏศิลป์
    • เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจวิทยานิพนธ์และผลงานวิชาการของอาจารย์ที่ขอตำแหน่งวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ สาขาวิชาดนตรี และนาฎกรรม
    • เป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และเผยแพร่ดนตรีไทย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ
    • เป็นคณะบรรณาธิการทำสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ราชบัณฑิตยสถาน
    • กรรมการสอบไล่วิชาดนตรี กองส่งเสริม กระทรวงศึกษาธิการ
    • กรรมการจัดทำบทเรียนวิทยุโรงเรียน กองเผยแพร่ กระทรวงศึกษาธิการ
    • เป็นกรรมการประกวดขับร้องงานศิลปหัตถกรรม
    • เป็นกรรมการสอบวิชาชุดโน้ตสากลและขับร้อง
    • เป็นหัวหน้าวงดนตรี “ศรทอง” ไปบรรเลงออกอากาศวิทยุ อ.ส. ในพระที่นั่งอัมพรสถานติดต่อกันหลายปีจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๔
    • เป็นผู้ริเริ่มและส่งเสริมการจัดงาน “ดนตรีไทยมัธยมศึกษา” โดยโรงเรียนบวรนิเวศ เป็นแกนนำ
    • ก่อตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในวาระครบรอบร้อยปีเกิดของท่านบิดา (พ.ศ. ๒๕๒๔) และจัดกิจกรรมส่งเสริมดนตรีไทยในนามมูลนิธิฯมากมาย
    • เป็นผู้แต่งเพลงให้แก่รายการบทเรียนทางวิทยุโรงเรียนในชุดวิชา “ดนตรีนาฎศิลป์” จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาสังคมศาสตร์ และเรื่องจริยธรรม บทเพลงหลายเพลงบรรจุอยู่ในหลักสูตรขับร้องของกระทรวงศึกษาธิการ เพลงสำหรับเด็กเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือ เพลงช้าง ได้รับยกย่องคัดเลือกเป็นเพลงจากประเทศภาคพื้นเอเซียเพลงหนึ่ง โดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเซียเพื่อสหประชาชาติ (Asian Cultural Centre for Unesco : ACCU) ACCU
    • ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้กับละครอิงประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการเมื่อครั้งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงเรียนนาฎดุริยางค์ กรมศิลปากร
    • เป็นผู้บรรจุเพลงใส่ทำนองและควบคุมการร้องเพลงของละครหลวงวิจิตรวาทการทุกเรื่อง โดยท่านได้ขอให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะบิดาแต่งเพลงประกอบละคร ทั้งเพลงออกไทย เขมร พม่า มอญ ลาว และจีน ทำให้เกิดเพลงใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายเพลงจากการแสดงละครชุดนั้น
    • ผลงานด้านวิชาการ ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ศิลปะของการสอนดนตรีและละครซึ่งมีเรื่องความรู้ทั่วไปในการดนตรีไทยของวิเชียร กุลตัณฑ์ รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาหนังสือเล่มนี้ใช้อ่านประกอบในโรงเรียนมัธยมแบบประสม จัดพิมพ์โดยโครงการมัธยมแบบประสม พ.ศ. ๒๕๑๕ อีกเล่มหนึ่งคือ คู่มือครูศิลปศึกษาวิชาขับร้อง-ดนตรี ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นของกรมวิชาการ
     
    คุณหญิงชิ้นเป็นศิลปินสตรีไทยตัวอย่าง ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถในวิชาครูอันเป็นวิชาพื้นฐานที่ได้ศึกษามาผนวก กับทักษะวิชาการดนตรีไทยที่ได้เล่าเรียนสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ในสายสกุล “ศิลปบรรเลง” ผลงานการประพันธ์ทำนองและบทร้องเพลง เป็นจำนวนมากนอกจากจะนำไปใช้ในเชิงศิลปะการแสดงแล้ว ยังก่อให้เกิดคุณประโยชน์ได้อย่างดียิ่งในวงการศึกษา นับตั้งแต่เด็กระดับก่อนวัยเรียนไปจนถึงระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ยังได้ทุ่มเท อุทิศกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา เวลา และทุนทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ในการที่จะถ่ายทอดความคิดก้าวหน้าในการเรียนการสอนดนตรีไทย ทั้งในเชิงทฤษฎี ปฏิบัติ และการส่งเสริมให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในวงการดนตรีไทย เป็นผู้ตั้งมั่นในความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงดนตรีไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งยังเผยแพร่ความรู้สาขาวิชาดนตรีไทยแก่ชาวต่างประเทศ
     
    ผลของคุณความดีที่ท่านได้กระทำอย่างมุ่งมั่นตลอดชีวิต ด้วยความรักชาติ ศรัทธาพระพุทธศาสนา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ กตัญญูต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ "ครูชิ้น"ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้าฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ และตติยจุลจอมเกล้าฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐
     
     
    คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลงถึงแก่กรรมด้วยโรคระบบหายใจล้มเหลว เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ครูอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการอุทิศศพให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อการศึกษาทางการแพทย์
     
    อ้างอิงจาก
    ๑. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒
    ๒. http://www.geocities.com/thethaimusic/teacher/teacher4.htm
    ๓. http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?p=4144&

    http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th/
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×