คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #141 : Barakamon บ้านนอกนี้มีแต่เสียงหัวเราะ
(Review) รีวิวอนิเมใหม่ของซีซั่นนี้
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2219878
ปกติแล้วผมไม่ค่อยชอบการ์ตูนแปลไทยของเนชั่นมากนัก ไม่ใช่ไม่ชอบตรงตัวการ์ตูน หากแต่ไม่ชอบตรงนโยบายของสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นไม่ค่อยสนับสนุนนักวาดการ์ตูนไทยสักเท่าไหร่(เห็นแต่การ์ตูนมีดที่ 13 ไม่ก็พระอภัยมณีซาก้า อันหลังๆ ออกทะเลจนกู่ไม่กลับ) นอกจากนั้นกระดาษหนังสือก็แสนจะบางแทบฉีกได้ แต่ราคาหนังสือเท่ากับสำนักพิมพ์การ์ตูนเรื่องอื่นๆ อีกทั้งหลายเรื่องดองอย่างน่าเกลียดโดยไม่ชี้แจงเลยว่าจะได้ตีพิมพ์เมื่อไหร่( เช่น การ์ตูนที่ผมชอบอย่าง นักข่าวหัวเห็ดกับนางสาวไซ่ง่อน เป็นต้น) อีกทั้งพูดถึงในแง่คุณภาพโดยรวมของการ์ตูนในสำนักพิมพ์นั้น หลายคนอาจเห็นว่า นอกจาก นารูโตะ บลิซ แล้วหลายคนแทบไม่สนการ์ตูนเรื่องอื่นๆ เลย ลิขสิทธิ์ที่สำนักพิมพ์ซื้อมามีแต่เรื่องที่หลายคนไม่ค่อยพูดถึงนัก(หรือไม่ดังนั้นเอง)
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการ์ตูนหลายเรื่องที่ผมชอบที่เป็นลิขสิทธิ์ของเนชั่น ไม่ว่าจะเป็น นักข่าวหัวเห็ดกับนางสาวไซ่ง่อน, ปลาหมึกโจ, รักนี้เหมียวจัดให้ ฯลฯ และล่าสุดคือเรื่อง บารากะมอน หนึ่งในเรื่องที่ผมกำลังจะเอามาพูดถึงในบทความนี้นี่เอง
คอมมาดี้, ชีวิตวันต่อวัน
Barakamon เป็นผลงานเป็นงานชิ้นที่สอง ของนักเขียนที่เราไม่คุ้นหูมากนักชื่อ Satsuki Yoshino ที่ก่อนหน้าเขียนเรื่อง Seiken Densetsu - Princess of Mana(5เล่มจบ ในปี 2007) ส่วนเล่มล่าสุดคือ Mishikaka! (1 เล่มจบ ในปี 2010) และBarakamon เป็นผลงานเรื่องยาวที่ตีพิมพ์เกินแล้ว 4 เล่มและยังไม่จบ และได้ลิขสิทธิ์แปลไทย โดยสำนักพิมพ์เนชั่น ในชื่อ บารากะมอน เกาะมีฮาคนมีเฮ
Barakamon เป็นเรื่องราวของหนุ่มหล่อวัยใสอายุ 23 คนหนึ่งชื่อฮันดะ เซย์ซู ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นลูกคุณหนู ที่มีความสามารถพิเศษอย่างเดียวคือเขียนพู่กัน นอกนั้นยังไม่ปรากฏ แต่ที่แน่ๆ ทำกับข้าวไม่เป็นอย่างแหละ ค่อนข้างมีมนุษย์สัมพันธ์แย่พอสมควร มองโลกในแง่ร้าย หยิ่งชอบคิดว่าตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของโลก จนกระทั้งวันหนึ่งชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไป เมื่อเขาไปต่อยคนใหญ่คนโต ในงานเลี้ยงฉลองรางวัลเขียนพู่กันของเขาเข้า ทำให้ถูกลงโทษด้วยการเนรเทศไปยังเมืองหนึ่งชื่อเมืองนานะทาเกะ บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งของนางาซากิ แน่นอนว่าเจ้าพระเอกคนดังกล่าวเป็นลูกคุณหนูที่ไม่เคยใช้ชีวิตบ้านนอกมาก่อน เลยลำบากหลายเรื่องที่ต้องใช้ชีวิตที่ไม่คุ้นเคย อีกทั้งเพื่อนบ้านที่เขาอยู่นั้นมีแต่ชาวเกาะที่เป็นกันเองสุดขั้ว โดยเฉพาะ “นารุ” เด็กข้างบ้านน่ารำคาญที่ชอบมาบ้านของเขาทุกวัน และนี้คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาจิตใจของฮันดะ เซย์ซูที่เต็มไปด้วยความไร้เดียงสาและเสียงหัวเราะ
พล็อตเนื้อหาโดยรวมของ Barakamon ไม่แตกต่างจากการ์ตูนจำพวกพระเอกย้ายบ้านไปบ้านนอกสักเท่าไหร่นัก แต่กระนั้นพล็อตดังกล่าวส่วนมากมักเป็นแนวฮาเร็ม หรือไม่ก็ผจญภัย ดังนั้นหายากที่จะมีการ์ตูนไร้มลพิษและสามารถอ่านได้เรื่อยๆ ได้ความรู้สึกดีๆเหมือนการ์ตูนเรื่องนี้
การดำเนินเรื่องของการ์ตูน Barakamon จะเหมือนการ์ตูนแนวใช้ชีวิตบ้านนอกทั่วๆ ไปครับ (หรือภาษาอังกฤษหรูๆ ว่าแนวเปลี่ยนวิถีชีวิต Lifestyle Change) โดยพล็อตดังกล่าวประมาณว่าตัวเอกเคยมีชีวิตการงานที่รุ่งเรืองจำพวกคุณหนู พ่อรวย เก่งเท่ระเบิด แต่แล้วด้วยเหตุการณ์อะไรบางอย่าง(หรือมีปัญหาทางใจอะไรสักอย่าง) ต้องย้ายบ้านมาอยู่บ้านนอกเพื่อใช้ชีวิตแบบสามัญชน(หรือบางครั้งก็จำพวกย้ายมาอยู่ต่างมิติ) ซึ่งบ้านใหม่ของตัวเอกในที่ไม่ใช่ที่ของเขา ทำให้ตอนแรกปรับตัวไม่ค่อยได้ จนกระทั้งตัวเอกได้พบตัวละครต่างๆ ที่สอนให้ตัวเอกรู้สึกดีๆ ในสถานที่แห่งใหม่ จนทำให้ตัวเอกเริ่มเรียนรู้และอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ การสร้างความสัมพันธ์กับคนในท้องที่ การพัฒนาด้านจิตใจ สุดท้ายตัวเอกสามารถค้าหาตัวเองว่าต้องการเป็นคนแบบใด จุดประสงค์ที่ตนมาบ้านนอกแห่งนี้เพื่ออะไรได้ จนสามารถปรับตัวสถานที่แห่งนั้นและอยู่อย่างมีความสุขตลอดไป
ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้การ์ตูนญี่ปุ่นจะมีเนื้อหาสนับสนุนให้คนอื่นๆ ไปใช้ชีวิตบ้านนอกมากขึ้นน่ะครับ แม้ว่าสังคมในเมืองของญี่ปุ่นจะเต็มไปด้วยความระเบียบวินัยหรือความทันสมัย แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าต่างประเทศ(โดยเฉพาะบ้านเรา) ก็เริ่มมองสังคมญี่ปุ่นด้านลบ ว่าเป็นสังคมแห่งความเครียด การแก่นแย่งชิงดีชิงเด่น ตัวใครตัวมัน มนุษย์สัมพันธ์แย่ โดดเดี่ยว อึดอัด ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่สายตาคนทั่วโลกเท่านั้นนะครับ คนญี่ปุ่นหลายคนเหมือนกันที่มองเห็นเรื่องดังกล่าว ถ้าจำไม้ผิดดูเหมือนปัจจุบันคนญี่ปุ่นหลายรายเริ่มหลีกหนีสังคมเมืองหันมาอยู่สังคมชนบทแทน(บางคนหันมาอยู่ประเทศไทยเลยก็มี)
การ์ตูนญี่ปุ่นจึงเป็นสื่อการที่ดีที่จะทำให้หลายคนได้เห็นว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ไร้น้ำใจไปเสียหมด โดยเฉพาะในสังคมชนบทบ้านนอกของญี่ปุ่น ที่ยังคงรักษาธรรมเนียมตั้งแต่โบราณเอาไว้ ไม่ว่าจะเป้นความมีน้ำใจ วิถีชีวิตพอเพียง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ประเพณีเฉพาะในท้องถิ่น ฯลฯ
และการ์ตูนแนวเปลี่ยนวิถีชีวิตไปบ้านนอก จะทำให้มันเรื่อยๆ เฉยๆ อะไรก็ดีไปเสียหมด มันคงน่าเบื่อแย่ ดังนั้นการ์ตูนจึงสร้างปม สร้างนิสัยเสียแก่ตัวเอกขึ้นมา เพื่อให้บ้านนอกได้สอนให้ตัวเอกรู้ซึ้งถึงข้อคิดปรัชญาแห่งชีวิตในการพัฒนาจิตใจ ที่ปรัชญาดังกล่าวไม่สามารถหาได้ในสังคมเมืองของญี่ปุ่นได้เลยในปัจจุบัน
ตัวเอกฮันดะ เซย์ซูคนนี้ตอนแรกเป็นคนค่อนข้างมีอีโก้สูงครับ คำว่า “อีโก้” นี้หากพูดตามทฤษฏีจิตวิทยานี้ค่อนข้างเข้าใจยากสักหน่อยนะครับ ดังนั้นเรามาพูดแบบเข้าใจง่ายกันดีกว่า
ตามทฤษฏีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์นั้นได้อธิบายโครงสร้างบุคลิกภาพว่า มันประกอบไปด้วยสามอย่างคือ คือ อิด (id) อีโก้ (ego) และซุปเปอร์อีโก้ (superego)ทั้งสามอย่างมีความสัมพันธ์กันและกัน โดยอันแรกอิด คือแรงขับธรรมชาติที่ทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับสัตว์โลกทั่วไป เช่น กิน ขี้ บี้ นอน ถ้าเกิดกลัวขึ้นมาก็สู้หรือหนี นอกจากนั้นยังมีปัจจัยกิเลสมาช่วยเสริมให้มนุษย์ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อความต้องการของตนเองด้วย ส่วนที่สองคือ อีโก้ คือส่วนที่คิด ส่วนที่รับรู้และส่วนที่ประมาณสถานการณ์ พูดง่ายความรู้สึกนึกคิดของเรา และส่วนที่สามคือ ซุปเปอร์อีโก้ ก็คือจิตที่รู้สึกนึกที่เรียนรู้จากหลายๆ อย่าง ไม่ว่า การปลูกฝังสั่งสอนจากพ่อแม่ ครู และศาสนา จริยธรรมทางสังคม
แน่นอนหากโครงสร้างอิด อีโก้ และซุปเปอร์อีโก้อย่างใดอย่างหนึ่งมีอำนาจสูงเกินไป บุคคลนั้นจะมีบุคลิกภาพที่เด่นชัดไปด้วย โดยเฉพาะพวกที่มีอีโก้ค่อนข้างสูง บุคคลนั้นจะมีความเอาแต่ใจตนเอง พวกมั่นใจในตัวเองสูงกว่า คนทั่วไป และไม่ค่อยจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ความจริงแล้วพวกมีอีโก้สูงนี้ใช่ว่าจะไม่ดีไปเสียหมดครับ ความมั่นใจตนเองนั้นดีด้วยซ้ำไป มันเป็นสิ่งหลายๆ คนอยากมี อยากเป็น เพราะเชื่อว่าหากเรามีความมั่นใจแล้วจะทำให้เกิดความกล้าที่จะฝ่าฟันและก้าวไปอยู่จุดสูงสุดของเป้าหมายในชีวิตของตัวได้
แต่บางครั้งความมั่นใจตนเองมากเกินไปก็เสมือนดาบสองคมที่คอยทิ่มแทงคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว ท นั่นเพราะเรากำลังแข่งขันด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเอาชนะคนเหล่านั้น ด้วยความมั่นใจว่าตนเก่ง ตนทำได้ ตนถูกเสมอ แต่ลืมไปว่าสิ่งที่คุณกำลังก้าวนั้นไปทำอะไรกับเขาไว้บ้าง หากวันใดวันหนึ่งเราต้องเผชิญกับความสุญสิ้นมาปรากฏต่อหน้าเรา ถึงตอนนั้นคนรอบข้างพร้อมที่จะขย้ำคุณหากพลาดขึ้นมา
ตัวเอกฮันดะ เซย์ซูเป็นคนที่ค่อนข้างมั่นใจเรื่องการเขียนพู่กันมากครับ เนื่องจากความสามารถอย่างอื่นเขาเขานั้นไม่ได้เก่งอะไรเลย ดังนั้นสิ่งที่เขาพออวดคนอื่นได้ก็คือการเขียนพู่กันนั้นเอง ซึ่งเขาก็กวาดรางวัลการเขียนพู่กันมาเพียบ หลายคนชื่นชมความสามารถ ได้รับคาดหมายเป็นคนเขียนพู่กันอนาคตไกล ฯลฯ แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับได้รับคำวิจารณ์ที่รุนแรงฟังแล้วโครตจิ๊ด ประมาณว่า “งานของคุณเขียนเพื่อหวังเงินรางวัลใช่เปล่า? ตรงแบบตำราเป๊ะ น่าเบื่อมาก ดูแล้วเสียสายตาเปล่าๆ ฯลฯ” มันโครตจิ๊ดจริงๆ เป็นคุณรับได้เปล่าครับ
ก็น่าเห็นใจแหละครับ เพราะหากเราติดตามไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่าเจ้าตัวเอกฮันดะคนนี้เขาไม่มีพรสวรรค์การเขียนพู่กันเลยครับ สิ่งที่เขามาจุดนี้ได้มันพรแสวงล้วนๆ เขียนตัวอักษรเป็นแสนเป็นหมื่นตัวอักษรกว่าที่จะได้ตัวอักษรที่ถูกใจ ชีวิตนี้ตรูเอาดีแต่เรื่องเขียนอักษรอย่างเดียว งานของเขามาจากความตั้งใจ พอโดนคนอื่นว่านี้เป็นน็อตหลุดธรรมดา แต่กระนั้นถ้าเป็นคนอื่นอาจเก็บความรู้สึกแบบนี้ไว้ข้างในครับ เก็บไว้เงียบๆ จิตสำนึกสั่งห้ามทำไม่งั้นเกิดปัญหาใหญ่ได้ อย่างมากก็แค่ด่าในใจ หรือไม่ก็เก็บไว้ไปปล่อยอารมณ์ที่บ้าน แต่ตัวเอกฮันตะนี้ไม่เลยครับ เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน ทุกวันเจอแต่คนชม ไม่มีคนติ พอตินิดหน่อย แม่งต่อยมันก่อนล่ะ เรื่องไรมาต่อว่าผลงานตรูฟ่ะ
ผลคือจากฮันดะสูญสิ้นทุกอย่าง เสียชื่อเสียง เพื่อนฝูงคนรอบข้างไม่อยากคบด้วย แถมทางบ้านยังไล่ให้ไปชีวิตบ้านนอกเป็นการลงโทษอีก แต่ใช่ว่าเป็นการลงโทษที่ไร้เหตุผล จำพวกปล่อยเกาะอะไรหรอกนะครับ แบบว่าไปสงบจิตสงบใจที่บ้านนอกแล้วไปเรียนรู้สิ่งที่ไม่มีในสังคมของเขาดีกว่าว่าเขาทำผิดอะไรไว้ สมควรที่จะถูกลงโทษหรือเปล่า?
การใช้ชีวิตในบ้านนอกนั้นแม้จะไม่สะดวกสบายเหมือนการใช้ชีวิตในเมือง ไม่มีรถแท็กซี่ ไม่มีสะดวกซื้อ ไม่มีแอร์ ไม่มีห้างสรรพสินค้า ไม่มีความทันสมัย การงานก็ไม่ค่อยมี แต่กระนั้นบ้านนอกก็ยังมีสิ่งที่ในเมืองไม่มี และหลายคนมีความคิดที่อยากมาบ้านนอก ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติที่สวยงาม อากาศสะอาด ผู้คนเป็นมิตร การอยู่อย่างพอเพียง ฯลฯ
ตอนแรกตัวเอกฮันดะก็เหมือนกับเด็กเมืองกรุงมาใช้ชีวิตบ้านนอกแหละครับ คือทำหน้าเก็กฮวยตลอด ปรับตัวบ้านนอกไม่ค่อยได้ ไม่คุ้นเคยกับชาวบ้าน สภาพแวดล้อมที่ต้องช่วยเหลือเอง อีกทั้งยังแปลกใจพฤติกรรมนิสัยของชาวบ้านบางคนด้วยซ้ำ(ทั้งๆ ที่เจตนาชาวบ้านหวังดี) จนมีหลายครั้งที่พระเอกมีความคิดประมาณว่า “ตรูมาทำไมในที่แห่งนี้นี่” แต่เมื่อปรับตัวได้ก็พบว่ามันดีกว่าที่คิด เพราะบ้านนอกนั้นเงียบสงบ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ความเรียบง่ายทำให้ จิตใจสงบ จนมีเวลาคิด คิดทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด พิจารณาตัวเอง ว่าอดีตเราทำอะไรผิด ตนเองมีนิสัยเสียอย่างไร ความปรับปรุงนิสัยอย่างไร
ตอนที่พระเอกมาถึงใหม่ๆ สิ่งที่ตัวเอกเรียนรู้สิ่งแรกก็คือ ความอิสระและความสนุก ซึ่งตอนแรกตัวเอกยังไม่รู้ตัวครับว่าตนเองผิดอะไร และงานเขียนของตนเองมีจุดผิดพลาดตรงไหน ทำไมตนถึงมองไม่ออก และเมื่อพระเอกได้เจอเด็กสาวน้อยที่ร่าเริงนาม “นารุ”พระเอกก็เริ่มรู้ว่าสิ่งที่ขาดไปในผลงานของตนนั้นก็คือ “ความอิสระ และความสนุก” และนั้นเอง
แต่กระนั้นก็ใช่ว่าตัวเอกฮันดะนั้นจะสามารถละลายอีโก้ลงในระหว่างอยู่บนเกาะนี้ในคืนเดียว อีโก้คนนั้นมันลดง่ายเสียเมื่อไหร่ การมองโลกแง่ร้ายยังคงอยู่ เวลาสิ่งที่ตนคิดว่าจะได้กลับไม่ได้ หรือไม่ได้ดั่งใจ จะเกิดอารมณ์ขุ่นมัว โทษโน้นโทษนี้ไปทั่ว เช่นเหตุการณ์ที่ผลงานตนเองได้รางวัลงานประกวดอันดับ 2 โดยคนที่ได้อันดับ 1 เป็นแค่เด็กมีอายุแค่ 18 ปี แค่นี้พระเอกก็รับไม่ได้ เนื่องจากนิสัยอีโก้สูงไม่เคยแพ้อะไรมาก่อน เมื่อแพ้ขึ้นมาก็มีความคิดถึงขั้นเลิกเขียนพู่กันไปเลย และเมื่อพระเอกรู้สึกเครียดกดดัน เด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ อย่างฮารุ จะเข้ามาเล่นกับฮันดะและสอนอะไรบางอย่างที่ไม่มีในตัวผู้ใหญ่ ทำให้ฮันตะคิดได้ และพัฒนาจิตใจด้านบวกอีกครั้ง
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเอกฮันตะกับนารุนั้นไม่ใช่ความรักของชายหญิง หรือการ์ตูนเลี้ยงต้อย เหมือนการ์ตูนโอตากุเรื่องอื่นๆ หากแต่คู่ฮันตะและนารุเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เหมือนการ์ตูนเรื่อง Yotsuba &!และ Bunny Drop โดยฮันตะเป็นผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างมีนิสัยเสีย ทำอะไรไม่ค่อยเป็น ไม่ค่อยสัมพันธ์กับคนอื่น ชอบอารมณ์เสีย เนื่องจากใช้ชีวิตเรียนรู้ในสภาพสังคมญี่ปุ่นแบบในเมืองมานาน ส่วนนารุนั้นเป็นเด็กร่าเริง ชอบเรียนรู้ กล้าพูด กล้าแสดงออกซึ่งทั้งนี้มาจากสภาพแวดล้อมบ้านนอกที่ผู้ใหญ่เอาใจใส่ แม้ทั้งสองจะมีนิสัยแตกต่างกัน อายุต่างกัน แต่สามารถเข้ากันได้ พระเอกได้เริ่มเรียนรู้สิ่งที่เขาไม่มีนารุ ก็คือการสร้างความสัมพันธ์คนใกล้ตัวที่ตอนแรกเริ่มจากคนใกล้ตัว การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น การเชื่อมั่นตนเอง ก่อนขยายไปสู่สังคมวงกว้างต่อไป ซึ่งก็น่าแปลกดีเพราะด้านจิตวิทยาส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่สอนในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ จะเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่จะสอนเด็กให้เป็นคนดีทั้งกายและจิตใจเสียมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากการ์ตูนที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นแนวเด็กสอนผู้ใหญ่
สรุปคือบารามะมอนเป็นการ์ตูนดีๆ เหมาะสำหรับคนที่ชอบบ้านนอก และเนื้อหาไม่เครียด ไม่ดราม่า หรือไม่มีเรื่องรักใคร่ๆ เซอร์วิสแต่อย่างใด เนื้อหาเน้นตลก อ่อนโยน น่ารัก สอดแทรกคิดสอนใจ ปรัชญาบ้านนอก การใช้ชีวิตและการเข้าสังคมกับเพื่อนบ้าน อีกทั้งลายเส้นยังน่ารัก สะอาดตา ตัวละครในเรื่องล้วนโดดเด่นนิสัยชัดเจนราวกับมีชีวิตจริงๆ และเนื้อหาบางครั้งจะมีสูตรสำเร็จบ้าง(ตามภาษาการ์ตูนเปลี่ยนวิถีชีวิต) แต่กระนั้นก็อ่านสนุกครับ การันตีเลย คุ้มค่า ข้อเสียอย่างเดียวก็ตามประสาสำนักพิมพ์เนชั่น คือกระดาษบางไม่คุ้มราคา 45 บาทที่เราเสียเลยพับผ่าสิ
ปล. พึ่งรู้ว่าบารากะมอนแปลว่าอะไร พอดีตอนที่ผมเขียนบทความแนะนำ ผมลืมอ่านหน้าแถมท้าย โดยบารากะมอนมาจากบารามอนแปลว่าผู้ร่าเริงซึ่งเป็นภาษาถิ่นของเกาะโกะโตซึ่งเป็นบ้านเกิดของผุ้เขียนและเป็นเวทีสำหรับเรื่องนี้นั้นเอง(แต่คนในท้องถิ่นจะพูด บารากะมอน) ซึ่งเนื้อหาการ์ตูนก็มาจากเรื่องจริงของเกาะนี้เอง
ความคิดเห็น