คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #14 : เมาท์ : นศพ.เรียนอะไรกันบ้าง ?
สวีดัด..สวัสดีน้องๆ ทุกคนนนน ในส่วนนี้พี่จะพาน้องๆ ไปดูกันว่า นักศึกษาแพทย์อะ เค้าเรียนอะไรกันบ้าง
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ในประเทศไทยนั้นเป็นหลักสูตร 6 ปี โดยที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ
ชั้นปีที่1 เตรียมแพทยศาสตร์(Pre-medical)
ชั้นปีที่ 2-3 พรีคลินิก (Pre-clinical)
ชั้นปีที่ 4-5-6 คลินิก(Clinical)
โดยเบ็ดเสร็จแล้วนั้นจะต้องเรียนไม่น้อยกว่า 250 หน่วยกิตกันเลยทีเดียว (วชิระเรียน 257++)
Pre-Medical Period
ในช่วงปีแรกของการเป็น นศพ. นั้น ก็จะเรียนวิชาที่เป็น basic science ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ต่อยอดมาจาก ม.ปลาย (เรียนขอบเขตเดิมแต่ลึกขึ้นและละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะมีวิชาหน้าตาแปลกใหม่เข้ามาให้เราเรียนด้วยเหมือนกัน แต่จะขอบอกว่าปี1เนี่ยแหละ สบายที่สุดแล้ววว~) มาดูกันว่า มีวิชาอะไรบ้าง
Physics Chemistry Biology
เป็นการเอา ม.ปลายสามปีมายำรวมกันให้เหลือแค่ในเทอมเดียว และที่สำคัญมันยากกว่าเดิมอะ - -“
Calculus&ODE
ว่ากันด้วยเรื่องของ ดิฟๆ และอินทิเกรต....ทำกันจนหัวเป็นถั่วงอกไปเลยยยย
Statistics
สถิติอะแหละน้อง...แต่ทว่ามันไม่ยักกะเหมือนที่เรียนมาตอน ม.ปลายเลยอะ...เพราะมันเอาความน่าจะเป็นเข้ามาร่วมด้วยนี่สิ
Organic chemistry
วิชาอันเลื่องชื่อ “เคมีอินทรีย์” ...อิเล็คตรอนวิ่งโดดไปมาๆ มันส์พะยะค่ะ!
วิชาศึกษาทั่วไป
ก็พวกภาษาอังกฤษ ภาษาไทย แล้วก็สังคมไรพวกเนี้ยอะ (ถ้าน้องได้เรียนมหิดลมันก็ คือ MUGE อันเลื่องชื่อ!!)
วิชาเลือกเสรี
วิชานี้น้องจะมีอิสรเสรีในการเลือก ซึ่งมีตั้งแต่โยคะ ตีแบด ว่ายน้ำ ไปจนถึงเปิดฟลอร์เต้นลีลาศ~~
Pre-Clinical Period
หลังจากลั่ลล้า~ กับชีวิตเฟรชชี่เมื่อปีแรกไปแล้ว พอเปิดเทอมปีสอง (ซึ่งมักจะเปิดเร็วกว่าโรงเรียนประถมซะอีก) เราก็จะเริ่มเข้ามาเรียนเนื้อหาที่เกี่ยวกับหมอๆ กันบ้างล่ะ
ปีสอง ว่าด้วยเรื่อง “ร่างกายที่เป็นปกติ”
ชีวเคมี (Biochemistry)
วิชานี้ศึกษาเรื่องของ กระบวนการที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตที่ระดับโมเลกุล ปฏิกิริยาต่างๆ ที่ทำให้เราเป็นสิ่งมีวิต นั่งร่ายกันตั้งแต่อาหารที่เข้าไปว่าร่างกายเราเอาไปใช้ได้ยังไงจนออกมาเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต ตลอดจนเมื่อเราอดอาหารร่างกายมีกระบวนการอย่างไรในการรักษาระดับสารอาหารในกระแสเลือด และรวมไปถึงกระบวนการทางพันธุศาสตร์ในระดับโมเลกุลด้วย
กายวิภาคศาสตร์ (Gross Anatomy)
ศาสตร์แห่งความเข้าใจโครงสร้างร่างกายของมนุษย์ในระดับที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า...น้องจะได้มีโอกาสเรียนกับ “อาจารย์ใหญ่” ผู้มีพระคุณที่จะไขความกระจ่างแห่งองค์ความรู้แก่แพทย์ทุกคน
วิทยาเอ็มบริโอ (Embryology)
วิชาที่ว่าด้วย พัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่เป็น zygote จนกระทั่งคลอดออกมาเป็นคน....มานั่งศึกษากันว่าจากที่เป็นก้อนๆ เนี่ยมันพัฒนามาเป็นรูปร่าง เป็นอวัยวะที่ทำงานสมบูรณ์ได้ยังไง
มิญชวิทยา (Histology)
เรื่องราวของโครงสร้างร่างกายมนุษย์ในระดับที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น...วิชานี้เราจะนั่งส่องเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายด้วยกล้องจุลทรรศน์ (อีกชื่อหนึ่งของวิชานี้คือ จุลกายวิภาคศาสตร์ หรือ Microanatomy นั่นเอง)
สรีรวิทยา (Physiology)
ก่อนที่เราจะไปรู้จักโรคได้ เราก็ต้องรู้ก่อนใช่มั้ย ว่าร่างกายปกติเนี่ยมันทำงานยังไง ซึ่งเป็นศาสตร์ของวิชานี้นี่เอง ที่จะให้พวกเรารู้และเข้าใจถึงการทำงานของร่างกายที่สมบูรณ์ (เค้าว่ากันว่าเนี่ยแหละ หนึ่งในวิชาเอกของแพทย์)
ประสาทวิทยาศาสตร์ (Neurosciences)
วิชาที่ศึกษาเรื่องของ สมองและไขสันหลัง ว่ามันเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร อย่างเช่น การที่เราจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างหนึ่งที่มากระตุ้นเนี่ย มันมีวงจรไปอย่างไรบ้างนะ ผ่านสมองหรือเปล่า แล้วสมองส่วนไหนล่ะ...วิชานี้เป็นหนึ่งในวิชาที่โหดสุดของ พรีคลินิกเลยก็ว่าได้
ปีสาม มาทำความรู้จักกับ “ร่างกายที่เป็นโรค”
วิทยาภูมิคุ้มกัน (Immunology)
วิชานี้จะศึกษาเรื่องของกลไกทางสรีวิทยาที่ร่างกายใช้ในการปกป้องตัวเอง เมื่อเกิดภาวะที่ไม่ปกติขึ้นกับร่างกาย หรือเกิดพยาธิสภาพขึ้น จากสิ่งแปลกปลอมภายนอก
ปรสิตวิทยา (Parasitology)
วิชาที่จะทำให้เรารู้จักกับ ปรสิตชนิดต่างๆ (ไม่ใช่แค่พยาธิอย่างเดียวนะเออ) ที่ทำให้เกิดโรค เราต้องทำความรู้จักกับมันว่าหน้าตาเป็นไง และต้องรู้ไปถึงวงจรชีวิตของมันด้วย
พันธุศาสตร์การแพทย์ (Medical genetics)
เป็นวิชาที่ศึกษาการถ่ายทอดของโรคผ่านทางสายเลือด(ไม่ใช่ติดต่อทางเลือดน้า...)จากบุพการีสู่บุตร(ฟังดูดีเนอะ) ก็น้องๆ คงรู้จักวิชานี้กันดีอยู่แล้ว...เมนเดลอะน้อง ตามมาหลอกหลอน
จุลชีววิทยา (Microbiology)
วิชาที่ศึกษาไปถึงจุลชีพก่อโรคต่างๆ อันได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์ ไวรัสและผองเพื่อน ว่ามันทำให้เกิดโรคอะไร และเกิดได้ยังไง รวมไปถึงการแพร่เชื้อด้วย
พยาธิวิทยา (Pathology)
วิชานี้ ถึงจะชื่อ พยาธิๆ แต่มันไม่ใช่อย่างที่น้องเข้าใจนะ มันอ่านว่า “พะ-ยา-ทิ” ครับน้อง ซึ่งก็คือ ภาวะที่ร่างกายเป็นโรคนั่นเอง เราต้องดูว่าอวัยวะต่างๆ ที่ไม่ปกติเนี่ยหน้าตามันเป็นยังไงตั้งแต่ระดับที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงระดับเนื้อเยื่อและเซลล์ และต้องมาดูกันว่าการทำงานทางสรีรวิทยามันเป็นไปอย่างไร เมื่อเกิดโรค รวมไปถึงเราจะสังเกตทางห้องทดลองได้อย่างไร
เภสัชวิทยา (Pharmacology)
ศาสตร์ของเวชภัณฑ์ที่เรียกว่า “ยา” ที่จะทำให้เราเข้าใจไปถึงคุณสมบัติและกลไกการออกฤทธิ์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการที่ว่าเราจะใช้ยาอะไรได้บ้างกับคนไข้ ใช้อย่างไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดผลในการรักษา วิชานี้เป็นอาวุธที่สำคัญของคุณหมอทุกคนเลยนะจะบอกให้
จริงๆ แล้วในแต่ละสถาบันอาจจัดเรียงลำดับวิชาต่างๆ แตกต่างกันออกไปได้นะครับ แต่ทั้งหมดแล้วหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต จะต้องเรียนกระบวนวิชาต่างๆ เหล่านี้จนครบเหมือนกัน อย่างเช่น วิชา Biochemistry พวกพี่ก็เรียนตอนอยู่ปีหนึ่ง ส่วนวิชา Pharmacology พวกพี่ก็เรียนตั้งแต่อยู่ปีสองครับ
Clinical Period
ครึ่งหลังของการเรียนแพทย์นั้น เราก็จะได้เริ่มเป็น “คุณหมอ” กันจริงๆ เสียที ได้ใส่กาวน์เดิน (ร่อน?) ไปมาในโรงพยาบาล โดยการเรียนในช่วงนี้จะไม่ได้มีแค่ lecture หรือ lab อีกต่อไป เราจะเริ่มมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ภารกิจมากมาย ตอนเช้าต้องตื่นมา round ward ต้องเขียนรายงานผู้ป่วย และดูแลผู้ป่วยของเราบนหอผู้ป่วย
การเรียนในชั้นคลินิกนี้จะต้องแบ่งกันเป็นกลุ่มๆ วนเรียนไปจนครบทุกวอร์ดตลอดหนึ่งปี (ไม่ได้แบ่งเป็นเทอมแล้ว) ปีหนึ่งๆ จะมีวันหยุดแค่ 1-2 อาทิตย์เท่านั้น ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่า มีวอร์ดอะไรบ้างในระดับคลินิก
Major Ward (เมด สูติ ศัลย์ เด็ก...)
อายุรศาสตร์ (Medicine)
ศาสตร์แห่งการดูแลรักษาด้วย”ยา” ศึกษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ วอร์ดนี้เป็นศาสตร์ที่กว้างขวางมากที่สุดศาสตร์หนึ่งในวงการแพทย์ และมีปริมาณคนไข้มหาศาลที่สุดอีกด้วย
สูตินรีเวชวิทยา (Obstetrics & Gynecology)
เรียนถึงการดูแลสตรีโดยเฉพาะ ที่รวมไปถึงการคลอดบุตรด้วย
ศัลยศาสตร์ (Surgery)
ศาสตร์แห่งการ “ผ่าตัด” ในวอร์ดนี้จะเน้นไปที่โรคที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดนั่นเอง แต่จริงๆ แล้วงานมีมหาศาลไปจนถึงเช็ดแผล ทำแผล และหัตถการอื่นๆ อีกมากมาย วอร์ดนี้จัดว่าต้องอาศัยความอดทนที่สูงมาก เพราะต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดันสูงซึ่งบางทีอาจใช้เวลานานมากด้วย
กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
ศาสตร์ที่เรียนเพื่อดูแลเด็กโดยเฉพาะ เพราะว่าเด็กย่อมอ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆ มากกว่าผู้ใหญ่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเฉพาะ
Minor Ward
จิตเวชศาสตร์ (Psychiatry)
ศาสตร์ที่บำบัดความผิดปกติที่เกิดขึ้นทางจิตของผู้ป่วย ซึ่งจิตแพทย์สามารถรักษาได้ทั้งวิธีการให้ยา ผ่าตัด ไปจนถึงการช็อตด้วยไฟฟ้า
รังสีวิทยา (Radiology)
ศาสตร์ที่ใช้ประโยชน์และความรู้ทางรังสี เพื่อการวินิจฉัยโรค ไปจนถึงการรักษาโรคด้วยรังสี เครื่องมือของวอร์ดนี้ ก็มีตั้งแต่ X-rayท่าต่างๆ CT-scan และMRI
นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine)
ศาสตร์ที่ศึกษาเพื่อการค้นหาสาเหตุการตาย วิชานี้เราจะได้รู้ว่าการตายแบบนี้จะพบร่องรอยแบบไหน รอยกระสุนปืน เข้า-ออกเป็นอย่างไร วิชานี้สำคัญต่อแพทย์เพราะตามกฎหมายแล้ว ทุกครั้งที่มีการตายที่ผิดธรรมชาติเกิดขึ้น แพทย์จะต้องเป็นคนแรกที่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ
วิสัญญีวิทยา (Anesthesiology)
ศาสตร์ที่ใช้ความรู้ไนการเตรียมการเพื่อการผ่าตัดด้วยวิธีต่างๆ (ดมยา บล็อกหลัง etc )และคอยดูแลคนไข้ให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมในการผ่าตัดอยู่ตลอดเวลา และรวมไปจนถึงดูแลจนกว่าคนไข้จะฟื้นขึ้นภายหลังการผ่าตัด
จักษุวิทยา (Ophthalmology)
ศาสตร์ที่ดูแล อวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ดวงตา” จักษุแพทย์มีหน้าที่ในการวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา สายตา และมีหน้าที่ในการรักษาไม่ว่าจะวิธีใช้อุปกรณ์เสริม หรือการผ่าตัด เพื่อให้ดวงตาของผู้ป่วยสมบูรณ์
เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine)
ศาสตร์ที่ดูแลผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด หรือวิธีอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมาให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedics Surgery)
ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของการรักษาความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกระดูก ทั้งกระดูกหัก กระดูกคด ผิดรูป หรืออื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางกายภาพของกระดูก
โสต ศอ นาสิกวิทยา (Oto-Rhino-Laryngology)
ศาสตร์ที่ดูแลรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญบริเวณคอ หู จมูก นั่นเอง
เวศศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Medicine)
ศาสตร์แห่งการจัดการดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาที่ทุกวินาทีหมายถึงชีวิตของคนไข้
อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Medicine)
วิชาที่ศึกษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน อย่างเช่น คนงานในโรงงานทอผ้า ก็มักจะเป็นโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากสูดเอาเศษฝุ่นขี้ด้ายเข้าไป
เวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน (Family and Community Medicine)
วิชาที่สำคัญในการจัดการและเข้าถึงประชาชน เพื่อการดูแลทางด้านสุขภาพโดยเฉพาะใน primary care unitเช่น สถานีอนามัย อันเป็นหน้าด่านของระบบสาธารณสุข
เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม (Preventive and Social Medicine)
วิชาที่เรียนเพื่อการเข้าใจและเข้าถึงการดูแลและป้องกันด้านสุขภาพของประชาชน โดยเน้นไปที่การรู้จักและเข้าใจอย่างแท้จริง มองภาพการดูแลรักษาอย่างเป็นองค์รวม เป็นระบบ เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีประสิทธิภาพ
สำหรับรายวิชาระดับคลินิกนั้นยังมีนอกเหนือจากนี้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละสถาบัน แต่ที่กล่าวมานั้นเป็นกลุ่มรายวิชาที่ทุกสถาบันมักจะมีเหมือนๆ กัน
เป็นยังไงกันบ้างครับน้องๆ ทั้งหมดนี้แค่เป็นการเล่าคร่าวๆ ให้น้องๆ รู้จักศาสตร์ต่างๆ ทางการแพทย์ที่ นักศึกษาแพทย์ทุกคนจำเป็นต้องฝ่าฟัน ตลอดระยะเวลา 6 ปี สิ่งสำคัญของการผลิตแพทย์ไม่ใช่แค่ผลิตเพื่อให้ออกไปเป็นแพทย์ที่เก่งเพียงอย่างเดียว ตลอดหลักสูตรกว่า 6 ปีนั้น ยังมีการหล่อหลอม ปลูกฝัง ให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรณยาบรรณแห่งวิชาชีพที่ดีอีกด้วย
ความคิดเห็น